โควิด 19 ส่งผลให้ค่าเทอมที่ลงทุนไปกับการศึกษา “สูญเปล่า”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

1. โรคระบาดและค่าเทอม

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 นั้นเกิดขึ้นไปทั่วโลก เกิดมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อรักษาและป้องกันภัยอันอาจเกิดผลเสียต่อมนุษย์ ทำให้กิจกรรมบางอย่าง เช่น การรวมกลุ่ม ถูกสั่งระงับจากภาครัฐ สร้างผลกระทบและความกังวลต่อประชาชนในหลากหลายด้าน เช่น ด้านการเงิน ด้านการเมืองและสังคม โดยเฉพาะในด้านการศึกษานั้น ส่งผลให้นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่และนักเรียนที่กำลังเข้ามหาวิทยาลัยผ่านระบบ TCAS ตั้งคำถามเกี่ยวกับความคุ้มต่อต่อค่าเทอมหรือค่าหน่วยกิต “ลงทุน” ไป

#คืนค่าเทอมให้นักศึกษา เป็นแฮชแท็กที่มาแรงในโลกออนไลน์ เกิดจากเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบหนึ่งในยุคดิจิตอล ที่เราไม่สามารถออกไปประท้วงข้างนอกได้ เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 แฮชแท็กดังกล่าวส่งผลให้นักศึกษาเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยคืนเงินค่าเทอมส่วนหนึ่งเนื่องจากผลกระทบของไวรัส แต่ใช่ว่าทุกมหาวิทยาลัยจะคืนเงินให้นักศึกษาเหล่านั้น 

ยิ่งไปกว่านั้น หากแบ่งนักศึกษาเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. หลักสูตรปกติ 2. หลักสูตรโครงการพิเศษ 3. หลักสูตรพิเศษประเภทนานาชาติ นั้น นักศึกษาจากกลุ่มที่ 2 และ 3 ซึ่งนับได้ว่านักศึกษาเป็นหลักสูตรที่สร้างเงินทุนหล่อเลี้ยงบำรุงพัฒนาการศึกษา ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งนั้น แต่นักศึกษาเหล่านี้ไม่ได้รับการเยี่ยวยา คืนเงินหรือลดหย่อนค่าเทอม ต่างจากนักศึกษาจากหลักสูตรปกติ แม้จะเป็นนักศึกษาในสาขาเดียวกันก็ตาม

2. ทุนนิยมในหลักสูตรมหาวิทยาลัย

โครงการพิเศษหรือหลักสูตรพิเศษเป็นหลักสูตรที่ “ขาย” ความต้องการด้านการศึกษา บางหลักสูตรสอนในหรือนอกเวลาปกติ บางหลักสูตรออกแบบเป็นพิเศษโดยใช้ภาษาและคณาจารย์จากต่างประเทศ บางหลักสูตรสร้างเพื่อตอบสนองการเรียนรู้แบบใหม่ เช่น นำระบบ Active Learning, Flipped Classroom, Student-Centered Instruction, Integrative Learning มาใช้ โดยทั้งหมดที่กล่าวมาแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่เป็น “ต้นทุน” สูงกว่าปกติ

หากใช้สายตามองผ่านระบบทุนนิยม เราจะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างหลักสูตรพิเศษและรายได้จำนวนมากของมหาวิทยาลัย ถ้าเทียบหลักสูตรทั่วไปกับหลักสูตรพิเศษที่เป็นแบบนานาชาติหรือทวิภาษาแล้ว ค่าใช้จ่ายนี้อาจจะต่างกันถึงหลักแสน จนคำพูดที่ว่า “การศึกษาคือการลงทุน” จะยังคงใช้ได้อยู่ในสังคมทุนนิยมเช่นนี้ ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้หลายมหาวิทยาลัยเริ่มออกนอกระบบ เนื่องจากเกิดความสะดวกในการบริหารและจัดการหลักสูตร “พิเศษ” เพื่อจุนเจือและป้องกันให้มหาวิทยาลัยล้มตายในอีกไม่กี่ศตวรรษข้างหน้า 

3. คุ้ม “ค่าเทอม” หรือไม่ ?

ค่าเทอมประมาณ 2 หมื่นบาท ได้แบ่งไปบำรุงหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น ค่าซ่อมแซมสถานที่ออกกำลังกาย ค่าอุปกรณ์กีฬา แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้เราไม่ได้รับประโยชน์จาก “ค่าเทอม” ในส่วนดังกล่าว อีกทั้งการเรียนออนไลน์นั้น มีผลกระทบโดยตรงกับนักศึกษาบางกลุ่มที่ไม่มีอุปกรณ์เข้าถึงโลกออนไลน์ ทำให้นักศึกษากลุ่มดังกล่าวไม่สามารถเข้าเรียนและรับประโยชน์จาก “ค่าเทอม” มากขึ้นไปอีก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักศึกษาโครงการพิเศษของบางมหาวิทยาลัยเข้าถึง “ประโยชน์จากค่าเทอม” ได้ยากกว่านักศึกษาภาคปกติ เนื่องจากใช้ระเบียบข้อบังคับต่างกัน เช่น มีค่าใช้จ่ายในการทดสอบภาษาอังกฤษเพิ่มเติม หรือ การกู้ยืมเรียนและขอทุนซึ่งเข้าถึงได้ยากยิ่งกว่านักศึกษาภาคปกติ หรือ ห้ามนักศึกษาโครงการพิเศษลงรายวิชาเดียวกับนักศึกษาภาคปกติ จนเกิดความคิดว่า “มหาวิทยาลัยเดียวกันแต่แยกกันอยู่” อีกทั้งต่อยอดไปถึงข้อถกเถียงอย่าง “อาจารย์ภาคปกติกับภาคพิเศษใครสอนดีกว่ากัน”

หากว่าที่กล่าวมาใช้ “ค่าเทอม” ไม่คุ้มเงินแล้ว นักศึกษากลุ่มโครงการพิเศษแบบนานาชาตินั้น มีค่าใช้จ่ายสูงมากจนแทบ “ลมจับ” เนื่องจากหลักสูตรดังกล่าว มีรูปแบบการสอนที่ละเอียดมากกว่าปกติ ใกล้เคียงกับความเป็นโลกสากลมาก สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายดังกล่าว เช่น การถกเถียงระหว่างผู้เรียนในห้อง การเรียนแบบ Experiential Based การสอนเน้น Critical Thinking และการเรียนรู้นอกตำราเป็นสำคัญ เป็นต้น แต่สิ่งที่ทั้งเกิดขึ้นเช่นเดียวกับกลุ่มนักศึกษาภาคอื่น คือ การนั่งเรียนกับวีดิทัศน์ “เฉื่อย ๆ” ไม่มีบรรยากาศกระตุ้นให้เกิดการเรียน ส่งผลให้หลักสูตรนานาชาติบางหลักสูตรทำให้มาตรฐานการศึกษามีคุณภาพต่ำลงเนื่องจากการสื่อสารและการเข้าถึงความรู้ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อรูปแบบการสอนและกิจกรรมการสอน หากลองคิดถึง “ค่าเทอม” หลักแสนแล้วนั้น เราได้อะไรกับการนั่งเรียนผ่านวีดิทัศน์ 

มีมุกตลกหลายอย่างผุดขึ้นมามากมายเพื่อล้อเลียนปัญหาดังกล่าว แม้มันอาจจะตลกแต่ก็ยังแฝงความกังวลมาถึงนักศึกษาและผู้ปกครองว่า “ค่าเทอม” ที่เสียไปจะคุ้มค่ากับการ “ลงทุน” หรือไม่ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมควรคืน “ค่าเทอม” บางส่วนให้กับนักศึกษา จากสภาวะที่เรียนไม่คุ้ม “ค่าเทอม” ที่เสียไป การที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ดำเนินได้ยากลำบาก จนไม่เกิดการทำงานร่วมกันและปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ เพราะฉะนั้น “ค่าเทอม” ที่เสียไปเพื่อแลกกับการศึกษาที่ดี ที่เรายอมจ่ายเพื่อแลกกับอนาคตในวิชาชีพและการทำงาน ซึ่งจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต

4. ปัญหาที่ยิ่งกว่าไวรัส

เมื่อคุณนึกถึงมหาวิทยาลัย คุณอาจจะนึกถึงสถานที่ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศทางวิชาการ เหล่านักศึกษาเดินทางมาแลกเปลี่ยนความรู้ อยู่การสังสรรค์กับเพื่อนฝูงและการได้สนทนากับอาจารย์อย่างออกรสชาติ ถึงแม้ว่าเราจะมีโลกออนไลน์มาช่วยอำนวยความสะดวกแล้วก็ตาม แต่การพบปะผู้คนต่อหน้า ได้สัมผัสและออกไปเรียนรู้จริง เป็นสิ่งที่โลกออนไลน์ให้ไม่ได้ 

ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนเคยพบขณะที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยซึ่งอ้างว่ามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว คือ อาจารย์ที่ผู้เขียนเรียนด้วยนั้น อธิบายเนื้อหาแล้วนักศึกษาไม่เข้าใจ อาจเป็นเพราะไม่ได้สอนตรงความเชี่ยวชาญ แต่ด้วยเป็นคณะเปิดใหม่และเป็นโครงการพิเศษหลักสูตรนานาชาติ จึงจำเป็นต้องให้อาจารย์ท่านดังกล่าวมาสอน เพราะการจัดหาอาจารย์ค่อนข้างลำบาก นอกจากนี้ วิชาการสอนชื่อวิชาการคิดเชิงวิพากษ์ประยุกต์ ซึ่งเนื้อหาควรจะสอนโดยใช้กระบวนการคิดเป็นหลัก แต่รูปแบบการสอนที่เกิดขึ้นการเน้นท่องจำไปสอบ ไม่เกิดการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความรู้ในห้องเรียน เมื่อเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัส ทำให้ห้องเรียนย้ายไปอยู่บนโลกออนไลน์ อาจารย์ท่านดังกล่าวเปิดหนังสือแบบเรียนที่มีอายุประมาณ 15 ปี และมีธงคำตอบชัดเจนประหนึ่งมีความเป็นเผด็จการที่ล้าหลัง ไม่สนับสนุนให้นักศึกษาเกิดการวิพากษ์และโต้เถียง 

การ “ลงทุน” ในราคาหลักหมื่นจนเกือบแสนของผู้เขียน จึงดู “สูญเปล่า” ไปมาก การคาดหวังที่สูงแต่ผลได้ที่รับกลับกลายเป็นเหมือนนั่งเรียนกับวีดิทัศน์ในสมัยที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่จ่ายในราคาหลักพัน คือ เรียนเพื่อสอบ แต่การจ่ายหลักแสนในตอนนี้นั้น ไม่เกิดการพัฒนาความคิดและประยุกต์ใช้ได้จริง ไม่สอดคล้องกับชื่อรายวิชาที่กล่าวมาข้างต้น อีกทั้งผู้เขียนยังต้องเผชิญกับปัญหาของโครงการพิเศษตามที่กล่าวมาข้างต้น 

5. มูลค่าที่ “สูญเปล่า” 

แม้คุณยอมที่จ่ายมากไปเพื่อให้รอดในสังคมที่โหดร้าย ยอมเรียนเพื่อให้ได้จบมามีงานทำให้พ่อแม่เรามีความสุข ลงทุนกับการศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ “ต้นทุน” ที่จ่ายไปควรมีความหมายและคุ้มแก่ค่าแก่การลงทุน อย่างไรก็ตามไม่ว่าคุณจะเป็นนักศึกษาแบบปกติหรือโครงการพิเศษ จะจ่ายต่างกันเท่าไร แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนกันคือคุณภาพการศึกษาที่ไม่คุ้มกับ “ค่าเทอม”

ผู้เขียนคิดว่าการลดค่าเทอมแค่ร้อยละ 25 ก็ยังขาดทุนจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเหล่านักศึกษาและเหล่านักเรียนที่กำลังสอบเข้ามหาวิทยาลัย เนื่องจากพวกเขาอยากใช้ “วัยมหา’ลัย” ตามที่มุ่งหวัง ยอม “ลงทุน” ในราคาที่สูงเพื่อสิ่งตอบแทนที่สมกับเม็ดเงินที่ลงทุน แต่ถ้าหากสินค้าไม่มีคุณภาพเท่ากับเงินที่ “ลงทุน” ไปแล้ว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรทำอย่างไร ?

การฟังเสียงเหล่านักศึกษาและนักเรียนมีความสำคัญ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ทั้งตัวสถาบันการศึกษาเอง กระทรวงและองค์กรที่เกี่ยวข้องย่อมต้องเห็นความสำคัญของเสียงของพวกเรา หากเสียงของเรามีความหมาย “ค่าเทอม” ของพวกเราก็เช่นกัน #คืนค่าเทอมให้นักศึกษา จึงเป็นสิ่งที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องคืนโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับพวกเรา ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม การนิ่งเฉยต่อเสียงของพวกเราเป็นการทำลายระบบการศึกษาของสังคมนี้ และทำให้เกิดความ “สูญเปล่า” ทางการศึกษา ของสังคม
 

  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท