Skip to main content
sharethis

สภาฮังการีผ่านร่างกฎหมายให้นิยามเพศต้องเป็นไปตามเพศที่ถูกกำหนดให้แต่เกิดลิดรอนสิทธิคนข้ามเพศและผู้เกิดมาแบบสองเพศปกติหรือ Intersex ในการได้รับการรับรองเพศทางกฎหมาย ทำให้หน่วยงานสิทธิมนุษยชนยุโรปหลายหน่วยงานวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้

21 พ.ค. 2563 รัฐสภาฮังการีโหวตผ่านร่างชุดกฎหมายที่รวมหลายฉบับไว้ด้วยกันด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 133 ต่อ 57 เสียงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (19 พ.ค.) หนึ่งในมาตรตราของกฎหมายใหม่นี้ที่จะเป็นการลิดรอนสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะคนข้ามเพศและผู้ที่เกิดมามีสองเพศแบบปกติ (Intersex) ทั้งที่มีกระแสต่อต้านจากนานาชาติ

มาตราที่มีปัญหาของร่างกฎหมายชุดใหม่นี้คือมาตรา 33 ซึ่งระบุนิยาม "เพศ" ของบุคคลเป็นไปตาม "เพศที่ถูกกำหนดให้แต่กำเนิด" (sex assigned at birth) แทนที่จะเป็นไปตามการจดทะเบียนราษฎร์ ซึ่งนั่นจะทำให้ในเอกสารทางกฎหมายทุกฉบับจะระบุเพศตาม "เพศที่ถูกกำหนดให้แต่กำเนิด" โดยไม่ได้เลือกเองของบุคคลนั้นๆ ทำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงเพศในทางกฎหมายไม่ได้ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิของคนช้ามเพศและ Intersex เนื่องจากมันทำให้การยอมรับเพศสภาพทางกฎหมายให้เป็นไปตามอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ภายใต้กฎหมายมาตรา 33

สมาคมนานาชาติเพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศและผู้ที่เกิดมามีสองเพศแบบปกติประจำยุโรป (ILGA-Europe) ระบุว่าก่อนหน้าที่กฎหมายกีดกันทางเพศสภาพฉบับใหม่นี้จะถูกนำเสนอเข้าสภาสภาพชีวิตของคนข้ามเพศและ Intersex ในฮังการีก็มีความยากลำบากพออยู่แล้ว เคยมีผลสำรวจด้านสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้มีความหลากหลายทางเพศระบุว่าคนข้ามเพศในฮังการีร้อยละ 76 มองว่ารัฐบาลไร้ประสิทธิภาพในการต่อต้านอคติต่อบุคคลผู้หลากหลายทางเพศ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในยุโรปที่ร้อยละ 38 ทั้งนี้ คนข้ามเพศร้อยละ 84 เชื่อว่าสาเหตุที่ฮังการีมีอคติ การเหยียดและความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นเพราะนักการเมืองกับกลุ่มพรรคการเมืองมีจุดยืนทางลบและใช้วาทะทางลบในการพูดถึงชาว LGBTQ+

นานาชาติพยายามโต้ตอบการผ่านร่างกฎหมายนี้ มีผู้คนจำนวนมากเคลื่อนไหวทางออนไลน์ผ่านทางแฮชแท็ก #drop33 (ยกเลิกมาตรา 33) มีแถลงการณ์จากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป สภายุโรป หน่วยงานกลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ที่ออกมาต่อต้านเรื่องนี้ด้วย

แคทริน ฮูเกลดูเบล ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ของ ILGA ยุโรปกล่าวว่าการยอมรับเพศสภาพในทางกฎหมายเป็นพื้นฐานสำหรับการเข้าถึงความเท่าเทียม การไม่กีดกัน เลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศและ intersex หากขาดมันไปก็จะทำให้ประชากรคนข้ามเพศเผชิญกับการถูกตีตรา เหยียด ข่มเหงรังแก และเป็นเหยื่อความรุนแรงทุกครั้งที่พวกเขาใช้เอกสารแสดงตัวตนทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ธนาคาร กับแพทย์ การสมัครงาน หรือแม้กระทั่งการติดต่อทำธุรกรรมเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ

แดน คริสเตียน กัตตาส ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรด้านสิทธิมนุษย์ชนของ Intersex OII europe กล่าวว่าชาว Intersex ต้องการการรับรองเพศสภาพทางกฎหมายเช่นกัน และเมื่อไม่ได้รับการรับรองแล้วก็จะต้องเผชิญกับการกีดกันเลือกปฏิบัติและการตีตราจากสังคม เคยมีผลสำรวจระบุว่าชาว Intersex ในฮังการีร้อยละ 21 เชื่อว่าการปิดกั้นการยอมรับเพศสภาพทางกฎหมายถือเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดของพวกเขา

ศาลด้านสิทธิมนุษยชนของยุโรปแสดงจุดยืนเสมอมาว่าการยอมรับเพศสภาพตามกฎหมายนับเป็นส่วนหนึ่งของขอบข่ายการทำงานด้านกฎหมายด้านสิทธิการมีชีวิตครอบครัวและการมีชีวิตส่วนบุคคลของยุโรป เป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองจากมาตรา 8 ของอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ระบุว่า ลักษณะส่วนบุคคลทางเพศนั้น ตราบใดที่มีการบันทึกไว้โดยรัฐ ควรจะมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนข้ามเพศและบุคคล intersex ซึ่งเป็นสิทธิในการมีชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว มีสุขภาพที่ดี สิทธิในการตั้งครอบครัวและแต่งงาน รวมถึงการได้รับการยอมรับสถานภาพทางกฎหมาย

มาเซน ดาวิส รักษาการผู้อำนวยการบริหารขององค์กรคนข้ามเพศทรานเจนเดอร์ยุโรปแถลงการณ์ในฐานะตัวแทนกลุ่มว่าพวกเขารู้สึกผิดหวังที่มีการยกเลิกสิทธิของคนข้ามเพศและ intersex ทั้งที่พวกเขาก็สมควรได้รับการคุ้มครองทางสิทธิมนุษยชนโดยไม่ถูกกีดกันเลือกปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกับประชาชนชาวฮังการีอื่นๆ

เรียบเรียงจาก

Hungary rolls back legal protections, puts trans and intersex people at risk, ILGA Europe, May 19, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net