#1: หนึ่งร้อยปีแห่งประวัติศาสตร์การข่มขืนในไทยที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงใต้กรอบ 'ผู้หญิงที่ดี'

 

ตอนแรกของซีรีส์ความรุนแรงทางเพศ ทำความรู้จักประวัติศาสตร์การข่มขืนในไทยกับ ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์  จากคดี ‘อำแดงอ่อนสา’ ถึงปัจจุบัน หนึ่งร้อยปีที่รัฐและสังคมเลือกปฏิบัติและไม่เคยแก้ทัศนคติ ‘ผู้หญิงที่ดี’ ยังเป็นมาตรฐานที่ใช้จัดการคดี

 

 

ข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลที่รวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศในปี พ.ศ.2560 จำนวน 317 ข่าวพบว่า มีข่าวข่มขืน 153 ข่าว, ข่าวพยายามข่มขืน 40 ข่าว, ข่าวอนาจาร 52 ข่าว, ข่าวรุมโทรม 10 ข่าว, ข่าวพรากผู้เยาว์ 5 ข่าว, ข่าวการบังคับค้าประเวณี 25 ข่าว, ข่าวความรุนแรงทางเพศกรณีชายกระทำต่อชาย 9 ข่าว และอื่นๆ เช่น โจรขโมยชุดชั้นใน, โชว์อวัยวะเพศ 23 ข่าว

นี่เป็นเพียงความรุนแรงทางเพศที่ปรากฏเป็นข่าว แท้จริงแล้วจะมีอีกกี่กรณีเกิดขึ้นนั้นยากหาสถิติได้ สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือสังคมไทยอยู่คู่กับวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงทางเพศมาเนิ่นนาน ภายใต้สังคมแบบชายเป็นใหญ่และอำนาจนิยมที่ตีกรอบวาดลักษณะของ ‘ผู้หญิงที่ดี’ ในแบบที่รัฐคาดหวัง ทำให้เกิดปัญหาในการเลือกปฏิบัติของสังคมรวมถึงรัฐที่ใช้จัดการกับกรณีการข่มขืน และหลังจากเราได้คุยกับ ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และนักศึกษาปริญญาเอก วิทยาลัยเอเชียและแอฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ก็พบว่าตลอดระยะเวลากว่า 100 ปี รัฐไทยยังมีมุมมองต่อเรื่องการข่มขืนไม่ต่างไปจากเดิมเลย

 

ย้อนรอยวรรณคดี: ผู้ถูกข่มขืนไม่ได้ถูกประณามว่าทำตัวไม่เหมาะสม

ภัทรัตน์มองว่า ด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีอย่างจำกัดทำให้เรามีความรู้เกี่ยวกับการข่มขืนในสังคมไทยโบราณค่อนข้างน้อย แต่จากร่องรอยวรรณคดีที่ควรนับว่าเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ในบางแง่ สะท้อนให้เห็นการมีปฏิสัมพันธ์ของตัวละครในลักษณะที่เรียกว่าเป็นการข่มขืนได้ เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน นางวันทองก็ถูกขุนช้างปล้ำจนมุ้งขาด นางแก้วกิริยาเองก็ควรถูกนับว่าถูกขุนแผนข่มขืนเพราะนางถูกเป่ามนต์จนงงงวยก่อนที่ขุนแผนจะลงมือโอ้โลมปฏิโลม หรือเรื่องอิเหนา อิเหนาก็จัดฉากปล้นเมืองใหญ่โตเพื่อลักพาตัวนางบุษบาไปไว้ที่ถ้ำ เรียกได้ว่าวรรณคดีขึ้นหิ้งหลายเรื่องของไทยตัวเอกเริ่มต้นรักกันด้วยการข่มขืนทั้งนั้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้นักวิชาการที่สนใจเรื่องวรรณคดีก็ศึกษากันมาบ้างแล้ว

แต่เธอเห็นว่าสังคมยังไม่ค่อยได้คิดกันอย่างจริงจังถึงสิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์การข่มขืน” หรือในความหมายว่าการข่มขืนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงภายใต้เงื่อนไขและบริบทของสังคมไทยแต่ละยุคสมัยเหมือนกับกิจกรรมอื่น

ภัทรัตน์วิเคราะห์ว่า ในวรรณคดีนอกเหนือจากฉากที่พระเอกข่มขืนนางเอกจะพบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ นั่นคือมันมีสิ่งที่เรียกว่า “การรับผิด” หรืออย่างน้อยที่สุดคือการแสดงความรับผิดชอบต่อนางเอก อย่างขุนช้างขุนแผน หลังจากขุนช้างปลุกปล้ำนางวันทองครั้งแรกในวันเข้าหอก็ไม่ปรากฏว่าขุนช้างข่มขืนนางวันทองอีก ขุนแผนเองก็รับนางแก้วกิริยาเป็นเมียอีกคน อิเหนาเองก็รับนางบุษบาเป็นมเหสี

“ดังนั้นในแง่นี้การข่มขืนของคนในอดีตจึงไม่ควรถูกมองเป็นการใช้กำลังเพื่อให้สมอารมณ์หมายของผู้ชายเพียงอย่างเดียว แต่ส่วนหนึ่งเป็นข้อผูกมัดให้ผู้ข่มขืนต้องรับผิดชอบอะไรบางอย่างต่อผู้หญิง อีกประเด็นคือ การถูกข่มขืนของผู้หญิงในวรรณคดีไทยไม่ได้มาจากสาเหตุว่าพวกเธอทำตัวไม่เหมาะสม ทั้งนางวันทอง นางแก้วกิริยาและนางบุษบาเป็นกุลสตรีที่อยู่กับบ้านกับวังทั้งนั้นและเมื่อทั้งสามถูกข่มขืนแล้วก็ไม่พบว่าทั้งฝ่ายชาย ครอบครัว หรือสังคมประณามว่าพวกเธอเป็นเหยื่อของการถูกข่มขืนหรือเพราะพฤติกรรมของพวกเธอเองที่ทำให้ถูกข่มขืนแต่อย่างใด”

ภัทรัตน์เห็นว่า ดังนั้นเวลาที่จะกล่าวว่าการข่มขืนมีอยู่ตลอดมาในสังคมไทย สิ่งสำคัญที่ต้องคิดต่อ คือ มันมีจุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าการข่มขืนบางกรณีสมควรได้รับการยกเว้น หรือทำไมพฤติกรรมส่วนบุคคลของเหยื่อที่ถูกข่มขืนกลายมาเป็นตัวชี้วัดว่าสมควรจะถูกข่มขืนหรือไม่ ซึ่งความคิดทั้งสองแบบปรากฏในสังคมไทยปัจจุบันอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าจะลดลง

 

จุดเปลี่ยน: เมื่อรัฐส่งเสริมให้ผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชายและสร้างกรอบ ‘ผู้หญิงที่ดี’

ภัทรัตน์มองว่าจุดเปลี่ยนสำคัญเกี่ยวกับความคิดเรื่องการข่มขืนเริ่มต้นจากการที่สถานภาพของผู้หญิงได้รับการส่งเสริมให้เท่าเทียมกับผู้ชายมากขึ้น ซึ่งฟังดูย้อนแย้ง

ภัทรัตน์เล่าว่าในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงออกประกาศอนุญาตให้ฝ่ายในขออนุญาตลาออกจากวังไปแต่งงานใหม่ได้ เพราะพระองค์ไม่ต้องการ “หวงแหนกักขัง” ผู้หญิงเอาไว้[1] แม้ว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการข่มขืนโดยตรง เธอเห็นว่านี่เป็นหมุดหมายสำคัญมากของการที่ชนชั้นนำไทยหยิบยกเรื่องความยินยอมพร้อมใจ (consent) ของผู้หญิงขึ้นมาเป็นประเด็น เพราะหลังจากนี้จะพบว่าชนชั้นนำไทยพยายามเน้นสถานภาพที่ดีขึ้นของผู้หญิงโดยตลอดเพื่อแสดงให้เห็นว่าสยามมีอารยธรรมทัดเทียมชาติตะวันตกและไม่มีการกดขี่ผู้หญิง ไม่เห็นผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศตามที่ชาวตะวันตกยุคนั้นมักวิพากษ์วิจารณ์

ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานภาพของผู้หญิงก็ยังคงได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เจ้านายฝ่ายหญิงจำนวนหนึ่งก้าวออกมาจากพื้นที่ในบ้าน-วัง สู่พื้นที่สาธารณะ เป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียน โรงพยาบาล การสาธารณสุข สังคมสงเคราะห์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ภัทรัตน์กล่าวว่า ขณะที่ทำให้ผู้หญิงเป็นภาพแทนความมีอารยะของชาติ ชนชั้นนำสยามก็ได้สร้างมาตรฐานหรือกรอบให้กับผู้หญิงไปพร้อมกัน หากย้อนไปดูงานเขียนของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก” ที่เป็นงานเขียนเกี่ยวกับประวัติขุนนางและคนสำคัญในสยามขณะนั้น จะพบว่าแบบแผนของผู้หญิงที่น่ายกย่องและควรจะเป็นในทัศนะของพระองค์ คือ ผู้หญิงที่ทำประโยชน์ให้กับชาติ ศาสนาและครอบครัว หรือก็คือแบบแผนของ “ลูกสาว เมียและแม่”[2] ที่เราคุ้นเคยและสืบทอดความคิดนี้มาถึงปัจจุบัน

“เรียกได้ว่าผู้หญิงไทยได้รับการส่งเสริมให้เป็นอะไรก็ได้ภายใต้กรอบที่รัฐขีดเส้นเอาไว้แล้ว สถานภาพของผู้หญิงไทยที่ว่ากันว่าพัฒนาให้เท่าเทียมกับผู้ชายจึงไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง คำถาม คือ นโยบายของรัฐสยามที่มีต่อการพัฒนาสถานภาพของผู้หญิงครอบคลุมผู้หญิงทุกกลุ่มหรือไม่ ถ้าหากผู้หญิงคนหนึ่งๆ ไม่ได้อยู่ภายในกรอบผู้หญิงที่ดีที่รัฐกำหนดจะเป็นอย่างไร รัฐจะยังคุ้มครองผู้หญิงคนนั้นอยู่หรือไม่” ภัทรัตน์ตั้งคำถาม

 

คดีข่มขืนอำแดงอ่อนสา: รัฐมีอำนาจ จะจัดการคดีหรือไม่ ขึ้นกับการเป็น ‘ผู้หญิงที่ดี’

สำหรับภัทรัตน์ เธอมองว่า ‘คดีข่มขืนอำแดงอ่อนสา’ คือคดีสำคัญที่แสดงให้เห็นทัศนคติของรัฐต่อการล่วงละเมิดทางเพศ โดยวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2457 มีรายงานของกระทรวงกลาโหม ถึงคดีข่มขืนที่เกิดเหตุขึ้นที่จังหวัดมุกดาหารหรือขณะนั้นคือเมืองมุกดาหาร ระบุว่าในปี 2456 เมื่อรัฐบาลสยามส่งนายทหารออกไปรับรองทหารฝรั่งเศส ปรากฏว่านายทหารทั้งสองนายร่วมกันก่อเหตุข่มขืนผู้หญิงท้องถิ่น ชื่อ อำแดงอ่อนสา อายุ 17 ปี จนล้มป่วยและเสียชีวิตหลังจากนั้น 19 วัน

รายละเอียดของคดีคือ นายทหารสองนายพบกับอำแดงอ่อนสาตอนที่มาแสดงหมอลำ นายทหารคนหนึ่งเกิดพอใจขึ้นมาจึงขอแต่งงานแต่ผู้หญิงไม่ยินยอม เมื่อผู้หญิงไม่ยอมตกลงปลงใจจึงได้มีการว่าจ้างให้แสดงหมอลำต่ออีกสามวันสามคืน ในระหว่างนั้นอำแดงอ่อนสาถูกกันออกจากนักแสดงหมอลำผู้หญิงคนอื่น ถูกย้ายไปกักขังที่บ้านนายอำเภอและปลัดอำเภอ พร้อมกับถูกนายทหารทั้งสองคน ปลัดอำเภอและคนอื่นๆ เวียนกันข่มขืนเป็นเวลาหลายวัน ในเอกสารระบุว่านายทหารคนหนึ่งข่มขืนอำแดงอ่อนสา ด้วยความ “ผิดธรรมดา” และอำแดงอ่อนสาถึงกับมีอาการถ่ายปัสสาวะออกมาเป็นเลือดและปวดที่ท้องน้อย “ที่ลับมีรอยฉีกหนองไหลปัสสาวะเปนโลหิตแลให้ปวดที่ท้องน้อยแล้วเปนไข้ แต่พอมีอาการบิดหนักบิดเบา” แพทย์ผู้ชันสูตรพบว่า “ช่องสังวาสชอกช้ำจนเกิดเปนพิศม์อักเสบ ตลอดจนถึงมดลูกซึ่งตั้งอยู่ในช่องท้อง จึงได้มีอาการต่างๆ”

เมื่อเกิดการสอบสวนเรื่องราวขึ้น นายทหารหนึ่งในสองนายอ้างว่าตนเองกับอำแดงอ่อนสาแต่งงานกันแล้ว ตนกับพวกไม่ได้กักตัวเอาไว้แต่อย่างใดและอำแดงอ่อนสายังติดตามตนไปราชการต่างเมืองด้วย เป็นไปได้ว่าการอ้างว่าตนเองแต่งงานกับอำแดงอ่อนสาเนื่องจากกฎหมายลักษณอาญาที่ประกาศใช้ในปี 2451 มาตราที่ 243 ระบุเฉพาะโทษที่เกิดจากการข่มขืนผู้ที่ไม่ใช่ภรรยาเท่านั้น

“ผู้ใดบังอาจใช้อำนาจด้วยกำลังกาย หรือด้วยวาจาขู่เข็ญกระทำชำเราขืนใจหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของมันเอง ท่านว่าผู้นั้นข่มขืนทำชำเรา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปถึงสิบปี แลให้ปรับตั้งแต่ห้าสิบบาทขึ้นไปจนถึงห้าร้อยบาท...ถ้าแลหญิงนั้นถึงตาย ท่านว่ามันผู้ข่มขืนนั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี แลให้ปรับตั้งแต่ร้อยบาทขึ้นไปจนถึงสองพันบาท”[3]

บทสรุปของเรื่องนี้ คือ เนื่องจากไม่มีโจทย์ฟ้อง รัฐบาลสยามตัดสินใจถอดยศนายทหารทั้งสองนายและไล่ออกจากราชการเท่านั้น เนื่องจากเห็นว่าการจะไต่สวนคดีนี้ต่อไป “ก็จะเอิกเกริกมากนัก ทั้งจะชักช้าโยกโย้มากมาย เพราะพยานอยู่ที่มณฑลอุบลราชธานีทั้งสิ้น”[4] 

ภัทรัตน์วิเคราะห์ว่า มีสองประเด็นหลักที่สะท้อนให้เห็นจากคดีนี้ ประเด็นแรก รัฐกลายมาเป็นผู้มีอำนาจตัดสินว่าการข่มขืนแต่ละกรณีควรจะได้รับการจัดการหรือไม่สมควรได้รับการจัดการ คดีนี้เป็นคดีที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกส่งออกไปจากส่วนกลาง การไต่สวนเพิ่มเติมย่อมทำให้ชื่อเสียงของรัฐบาลสยามต่อท้องถิ่นด่างพร้อยและอื้อฉาว ดังนั้นการข่มขืนอำแดงอ่อนสาจึงสมควรถูกทำให้เงียบหายไปมากกว่าจะรื้อคดีขึ้นมาอีก

ประเด็นที่สอง คือ ผู้หญิงประเภทใดที่สมควรได้รับความคุ้มครองจากการล่วงละเมิดทางเพศ เราจะพบว่าขณะที่ศูนย์กลางของประเทศไทยหรือสยามขณะนั้น สถานภาพของผู้หญิงกำลังได้รับการส่งเสริมจากรัฐให้ดีขึ้น แต่สถานภาพและความเป็นหญิงของอำแดงอ่อนสา คือ คนท้องถิ่นห่างไกลจากกรุงเทพ เป็นมณฑลที่เพิ่งถูกผนวกใต้อำนาจของสยามไม่กี่สิบปี อีกทั้งอำแดงอ่อนสาในฐานะนักแสดงหมอลำ อาชีพเต้นกินรำกินที่ต้องเดินทางเร่แสดงตามงานหรือแล้วแต่ผู้จะว่าจ้าง ซึ่งเป็นสถานะที่ห่างไกลจากความเป็น “ผู้หญิงที่ดี” ตามที่รัฐสร้างขึ้น

“ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อำแดงอ่อนสาให้ตกเป็นเหยื่อของการถูกรุมข่มขืนของนายทหารและข้าราชการท้องถิ่น เวียนกักตัวตามบ้านของคนเหล่านี้เป็นเวลาหลายวันได้อย่างที่ไม่มีใครกล้าตั้งคำถาม ความยุติธรรมที่อำแดงอ่อนสาในฐานะพลเมืองสยามคนหนึ่งสมควรได้รับจึงถูกทำให้หายไป สถานะของอำแดงอ่อนสาที่ล่อแหลมอยู่แล้วต่อการที่จะถูกล่วงละเมิดกลายเป็นความชอบธรรมที่รัฐเลือกที่จะไม่ดำเนินคดีต่อ เพื่อไม่ให้ศักดิ์ศรีและอำนาจของรัฐสั่นคลอน” ภัทรัตน์กล่าวสรุป

 

หญิงสาวผู้ถูกละเมิดในเช้าวันที่ 6 ตุลา 2519 เมื่อรัฐปิดตาข้างหนึ่งให้คนบางกลุ่มไม่ต้องรับผิด

ภัทรัตน์ยกตัวอย่างอีกเหตุการณ์ที่ใกล้ตัวขึ้นอีกหน่อยคือกรณีเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 การล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากบันทึก 6 ตุลา เรื่อง “หญิงสาวผู้ถูกละเมิดในเช้าวันที่ 6 ตุลา 2519”[5] แม้จากการชันสูตรพบว่านักศึกษาหญิงจะไม่ได้ถูกข่มขืนหรือทำร้ายทางเพศ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือ หลังจากเสียชีวิตเธอถูกจับเปลื้องผ้าเป็นการประจาน แม้ว่าจะไม่มีการข่มขืนเกิดขึ้น ก็นับว่าเป็นการล่วงละเมิดทางร่างกายรูปแบบหนึ่ง ทั้งยังเป็นการเหยียบย่ำทั้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีของเพศหญิง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะการปักป้ายให้กับนักศึกษาว่าเป็นผู้มีความคิดแบบคอมมิวนิสต์และตั้งใจจะบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ ในฐานะนักศึกษาเพศหญิงที่มีความคิดต่อต้านรัฐ บทลงโทษคือการล่วงละเมิดร่างกายผ่านการประจานเรือนร่างความเป็นหญิงของเธอ แน่นอนว่าผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล อีกครั้งที่รัฐเลือกปิดตาข้างหนึ่งให้กับการล่วงละเมิดทางเพศของผู้หญิงที่ไม่ตรงกับมาตรฐาน ‘ผู้หญิงที่ดี’ ของรัฐ

 


ภาพ วัชรี เพชรสุ่น นักศึกษาชั้นปี 3 คณะวิทยาศาสตร์ ม.รามคำแหง จากบทความ 'การทำร้ายศพเมื่อ 6 ตุลา 2519: ใคร อย่างไร ทำไม' ของ พวงทอง ภวัครพันธุ์ และ ธงชัย วินิจจะกูล

 

โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ระบุว่า เอกสารชันสูตรฯ ระบุว่าวัชรีเสียชีวิตด้วยกระสุน 3 นัดที่เข้าด้านหลังตรงกับบริเวณหน้าอก ร่างของวัชรีถูกจับเปลือย มีไม้หน้าสามวางอยู่บนร่างของเธอ ปลายชี้ไปที่อวัยวะเพศของเธอ ซึ่งทำให้ตีความได้ว่าเธออาจถูกล่วงละเมิดทางเพศหลังจากเสียชีวิตแล้ว แต่เอกสารชันสูตรพลิกศพไม่ระบุว่ามีร่องรอยการถูกทำร้ายเช่นนั้น 

 

“ยังมีการข่มขืนอีกหลายเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ การข่มขืนและผู้หญิง การข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศเป็นส่วนเสี้ยวของประวัติศาสตร์ของสังคมไทยมาโดยตลอด เพียงแต่ไม่ได้รับการพูดถึงมากนักเพราะเราคิดว่าการข่มขืนก็คือการข่มขืน ไม่มีอะไรมากกว่านั้น”

“ดังนั้นเวลาพูดถึงประวัติศาสตร์การข่มขืน จึงไม่ควรเป็นประเด็นเพียงว่าใครถูกข่มขืน การข่มขืนเกิดขึ้นตอนไหน มีรายละเอียดอย่างไร แต่การข่มขืนควรถูกเชื่อมโยงเข้ากับสังคมไทยมากขึ้น กล่าวได้ว่าการข่มขืนเปลี่ยนแปลงไปบนเงื่อนไขที่หลากหลายและการข่มขืนมักมีนัยแฝงที่มากไปกว่าการระบายความใคร่ ส่วนใหญ่การข่มขืนเป็นการยืนยันความเหนือกว่าทั้งทางอำนาจและกำลังของผู้ข่มขืนและเหยียบย่ำความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ถูกข่มขืนไปพร้อมกัน ทั้งนี้ในท้ายที่สุดด้วยความที่รัฐมีอำนาจในการตัดสินว่าการข่มขืนแบบไหนยอมรับได้หรือยอมรับไม่ได้ การไม่ต้องรับผิดของคนบางกลุ่มจึงเกิดขึ้น” ภัทรัตน์กล่าว

 


ภาพนักศึกษาหญิงในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่ถูกจับกุมร่วมกับนักศึกษา/ผู้ชุมนุมชาย และถูกถอดเสื้อ

 

จาก ‘อำแดงอ่อนสา’ ถึงปัจจุบัน หนึ่งร้อยปีที่รัฐ-สังคมเลือกปฏิบัติและไม่เคยแก้ทัศนคติ

สำหรับการข่มขืนในปัจจุบัน ภัทรัตน์คิดว่าไม่ต่างไปจากเดิม เธอมองว่าปัญหาการข่มขืนเป็นปัญหาที่ซับซ้อนในสังคมมากกว่าที่มองเห็น

"จะพบว่าอำนาจทั้งในเชิงอำนาจรัฐและอำนาจของความเป็นชายที่ฝังลึกทำให้เมื่อเกิดการข่มขืนขึ้นในสังคมไทย คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า “คุณถูกใครข่มขืน?” และ “คุณเป็นผู้หญิงแบบไหน?” หากคนที่ข่มขืนคุณมีอำนาจไม่ว่าจะในเชิงอำนาจความเป็นชายหรืออำนาจหน้าที่ เท่ากับว่าการข่มขืนของบุคคลนั้นมีความชอบธรรมอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ส่วนคำถามที่สอง คุณเป็นผู้หญิงที่ดีงามตามแบบแผนของสังคมไทยหรือไม่? หากคุณเป็นผู้หญิงที่ดีตามมาตรฐานศีลธรรมไทย คุณจะได้รับความสงสาร คุณคือเหยื่อที่ไม่สมควรถูกข่มขืน ตรงกันข้ามหากคุณเป็นผู้หญิงที่ไม่ตรงตามมาตรฐานความดีงามของสังคม เช่น คุณแต่งตัวล่อแหลม คุณมีพฤติกรรมชอบเล่นหยอกล้อกับผู้ชายอยู่แล้ว หรือคุณไปเดินตามทางเปลี่ยวมืดค่ำ แน่นอนว่าการข่มขืนคือบทลงโทษที่สมควรได้รับ อำนาจทั้งทางสถานภาพและหน้าที่ และความเป็นผู้หญิงที่ดีจึงเป็นสองประเด็นหลักที่ชี้ว่าผู้ถูกข่มขืนจะได้รับการปฏิบัติอย่างไรและรัฐจะมอบความยุติธรรมให้คุณหรือไม่” ภัทรัตน์กล่าว

ลองเปรียบเทียบระหว่างกรณีเด็กสาววัย 14 ปีที่ถูกข่มขืนในจังหวัดมุกดาหาร กับกรณี ‘ลัลลาเบล’ พริตตี้สาวที่ถูกข่มขืนและเสียชีวิต ความเห็นของสังคมต่อทั้งสองกรณีนี้ต่างกันอย่างชัดเจน

“แม้จะผ่านมาร้อยปีแล้ว หลายคดีที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันก็มีลักษณะคล้ายคดีของอำแดงอ่อนสา ทั้งท่าทีของรัฐและสิ่งที่ผู้มีอำนาจกระทำเหนือผู้หญิง เท่ากับว่าหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาเราไม่สามารถแก้ปัญหาการข่มขืนได้เลย โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงความยุติธรรมจากรัฐ ถ้าเรายังติดกรอบเรื่อง “ผู้หญิงที่ดี”-“ผู้หญิงไม่ดี” ตามมาตรฐานของสังคม ตลอดจนการเลือกปฏิบัติที่ไม่ก่อให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้ถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหาเรื่องการข่มขืนจะไม่มีวันหมดไปจากสังคมไทย ดังนั้นควรทำให้คนในสังคมมองว่าการข่มขืนเป็นความผิดที่ไม่ควรมีข้อยกเว้นและการข่มขืนไม่ใช่บทลงโทษที่มีไว้สำหรับผู้หญิงที่ไม่ปฏิบัติตามกรอบที่สังคมต้องการ” ภัทรัตน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภัทรัตน์ยังเห็นว่าประเด็นการข่มขืนในเพศชาย (รวมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ) เด็กและคนชรายังไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก ทั้งที่คนสามกลุ่มนี้ก็เป็นผู้ประสบกับการคุกคามทางเพศเช่นกัน การเป็นผู้ชายไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยงที่จะพบกับการข่มขืนหรือถูกคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะสังคมที่ประกอบไปด้วยเพศชายล้วน อย่าง พระ ทหาร โรงเรียนประจำชายล้วน หรือแม้แต่คุก มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุเหล่านี้สูงมาก แม้ว่าทุกกรณีไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยการข่มขืนก็ตาม และเมื่อถูกข่มขืนหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายจะไม่รู้สึกเจ็บปวดเหมือนกับที่ผู้หญิงเผชิญ เช่นเดียวกับกรณีของเด็กและคนชรา จะพบว่าข่าวเกี่ยวกับการข่มขืนของคนสองกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาก

“ขณะที่เรามีมาตรการจำนวนหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้ผู้หญิงเสี่ยงต่อการถูกข่มขืน จะเห็นว่าอีกสามกลุ่มที่เหลือยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นการตระหนักถึงความเลวร้ายของการข่มขืนจึงควรรวมคนทุกกลุ่มในสังคม การข่มขืนไม่ใช่และไม่ควรจำกัดว่าเป็นปัญหาของเพศหญิง ทุกคนเสี่ยงกับการถูกข่มขืนได้หมดภายใต้โครงสร้างอำนาจทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติของรัฐ” ภัทรัตน์กล่าว

 

ประกายความหวัง

ภัทรัตน์เห็นว่าปัจจุบันคำนิยามของการข่มขืนถูกขยายออกไปมากขึ้น ไม่ได้หมายความแค่การใช้กำลังอย่างเดียว แต่รวมถึงการใช้อำนาจข่มขู่ให้เหยื่อต้องจำยอม การให้เงินหลังข่มขืนทั้งเพื่อทำให้ผู้ข่มขืนรู้สึกว่าตนเอง ‘จ่าย’ ค่าตอบแทนให้กับเหยื่อหลังเสร็จกิจ หรือไปถึงการล่วงละเมิดทั้งทางคำพูดและความรู้สึก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี นอกจากนี้ยังเห็นว่ามีเฟสบุ๊คเพจที่พยายามรณรงค์ประเด็นเหล่านี้อยู่ไม่น้อย เช่น Thaiconsent, Feminista และ Spectrum ที่เน้นความเข้าใจและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถูกล่วงละเมิด ซึ่งเธอคิดว่าน่าสนใจและนี่อาจเป็นความหวังหนึ่งที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ได้มากขึ้น

 

#2: เมื่อการข่มขืนถูกทำให้เป็นเรื่องระหว่างบุคคล จึงไม่ต้องแก้เชิงโครงสร้าง

#3: 'เข้มแข็งไม่พอ ก็เป็นนักกิจกรรมไม่ได้' คำตอบต่อการถูกคุกคามทางเพศ?

#4: ความเงียบอันขมขื่นในที่ทำงาน เมื่อปัญหาคุกคามทางเพศถูกซุกไว้ใต้พรม

#5: กม.ความรุนแรงทางเพศ แม้โทษแรงขึ้น เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ก็คุ้มครองไม่ได้

 

อ้างอิง:

[1] https://vajirayana.org/ประชุมประกาศรัชกาลที่-๔-ภาค-๒/๔๐-ประกาศทรงอนุญาตข้าราชการฝ่ายในลาออก เข้าถึงมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2563

[2] สายชล สัตยานุรักษ์. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: การสร้างอัตลักษณ์เมืองไทยและชั้นของชาวสยาม. (กรุงเทพ:มติชน, 2546).

[3]กฎหมายลักษณอาญา.ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 25 1 มิถุนายน ร.ศ.127 หน้า 260-261

[4] ม.ร.6 ก.3/7 ถอดข้าราชการพแนกกระทรวงกลาโหม

[5]หญิงสาวผู้ถูกละเมิดในเช้าวันที่ 6 ตุลา 2519  https://doct6.com/archives/13421 เข้าถึงมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท