Skip to main content
sharethis

เสวนา 'Breaking the silence' เนื่องในวันยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน หรือ IDAHOT อนุสรณ์ สร้อยสงิม ผู้กำกับหนัง 'Present Still Perfect 2' พูดถึงการฝ่าฝันอุปสรรคเมื่อเกย์ต้องเป็นผู้กำกับหนังในสังคมที่ขีดกรอบให้ LGBTQ ต้องปฏิบัติตาม "เขาก็จะตีตราแล้วว่าเป็นเกย์ ถ้าจะเป็นผู้กำกับ ทำไมไม่ทำหนังตลกล่ะ มาทำหนังเศร้าทำไม หรือว่าทำไมไม่เป็นช่างแต่งหน้า ไม่ไปเป็นแอคติ้งโค้ช สอนการแสดงดีกว่าไหม”

เสวนาออนไลน์ “ศิลปินอิสระ เควียร์ กับสิ่งที่เราจะไม่เงียบอีกต่อไป” พูดคุยกับอนุสรณ์ สร้อยสงิม 

เนื่องจากวันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศหรือวัน IDAHOT ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันดังกล่าวกว่าร้อยประเทศทั่วโลกเพื่อเป็นการสนับสนุนสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติ กลุ่ม Queer Riot จึงได้จัดมีการจัดกิจกรรมขึ้นภายใต้แนวคิด “Breaking the silence” หรือเราจะไม่เงียบอีกต่อไป โดยมีการจัดกิจกรรมออนไลน์พูดคุยกับ อาร์ม 'อนุสรณ์ สร้อยสงิม' ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Present Perfect และ Present Still Perfect 2 ในหัวข้อ “ศิลปินอิสระ เควียร์ กับสิ่งที่เราจะไม่เงียบอีกต่อไป”

อนุสรณ์ซึ่งเริ่มต้นสร้างภาพยนตร์ 'Present Perfect' ในสมัยที่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ใช้เวลาช่วงน้ำท่วมและปิดมหาวิทยาลัยในปี 2554 ไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่เขาใหญ่ และสามารถส่งภาพยนตร์ไปประกวดในเทศกาลภาพยนตร์ที่เกาหลีใต้ เขาเล่าถึงประสบการณ์การเป็นศิลปินผู้มีความหลากหลายทางเพศในวงการภาพยนตร์ว่าต้องพบกับอุปสรรคและการตีตราจากคนรอบข้างมากมาย โดยเฉพาะคนที่มักจะเหมารวมว่าศิลปินที่เป็นชายรักชายควรจะมีลักษณะอย่างไร นอกจากนี้เขายังเล่าว่าเพศสภาพของตนมักทำให้คนรอบข้างไม่เชื่อถือ

“อาร์มเป็นคนที่บอกตัวเองตั้งแต่แรกเริ่มเข้าวงการมา ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยว่าเราเป็นเกย์” อนุสรณ์เล่า “แล้วพอเป็นเกย์แล้วเรียนภาพยนตร์ เขาก็จะตีตราแล้วว่าเป็นเกย์ ถ้าจะเป็นผู้กำกับ ทำไมไม่ทำหนังตลกล่ะ มาทำหนังเศร้าทำไม หรือว่าทำไมไม่เป็นช่างแต่งหน้า ไม่ไปเป็นแอคติ้งโค้ช สอนการแสดงดีกว่าไหม”

“การที่คุณเป็นเกย์ แล้วคุณทำหนังซีเรียส มันจะไม่ค่อยมีคนเชื่อถือเท่าไหร่ แล้วอีกปัญหาหนึ่งคือว่าบ้านเรายังมีเรื่องของอายุมาแบ่งเกณฑ์ความน่าเชื่อถือ เขาจะชอบอ้างประสบการณ์ว่าเขามีประสบการณ์เยอะกว่า แต่ตามหน้าที่คืออาร์มเป็นผู้กำกับ เป็นผู้กำกับแล้วอายุน้อยที่สุดในกองถ่ายแล้วก็เป็นเกย์ด้วย แล้วก็จะมีสั่งนู่นสั่งนี่ให้กับบรรดาผู้ชาย ช่างกล้องช่างไฟเขาก็จะรำคาญ เพราะว่าเราเป็นเกย์ แต่ถ้าเป็นผู้ชายปกติ สั่งแบบเดียวกันเขาจะไม่รำคาญ” 

นอกจากนี้อนุสรณ์ยังเล่าว่าในกองถ่ายภาพยนตร์ชายรักชาย เขายังต้องพบเธอกับพฤติกรรมของทีมงานที่มีลักษณะเหยียดผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย 

“อย่างเช่นมีฉากเลิฟซีนให้เล่นกัน พอผู้ชายจูบกันปุ๊บ หันไปอ้วก ทำมาเป็นอ้วก อะไรแบบนี้ มันเหมือนกับว่ามันน่าเกลียดเหรอ คุณมาทำหนัง LGBT คุณมาทำหนัง BL เพราะอะไร มันก็เกิดคำถามมากมาย” 

โปสเตอร์กิจกรรมออนไลน์ "Breaking the silence" (ที่มา: Facebook/Queer Riot)

อนุสรณ์กล่าวว่าเขาพบว่าสังคมมักมีกรอบที่กำหนดไว้ว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร และถ้าไม่ปฏิบัติตามกรอบนั้นก็จะไม่ได้รับการยอมรับ 

“เขาจะมองเราแบบไม่ตลกเลยก็เหวี่ยงเลย ไม่มีมนุษย์ปกติแบบน่านับถือ หรือว่าตัวเองทำตัวไม่น่านับถือก็ไม่รู้นะ” อนุสรณ์เล่า “เราว่าการเป็นเกย์ การเป็นเพศทางเลือก มันต้องประสบความสำเร็จมากกว่าเพศธรรมดาทั่วไปคูณสามคูณสี่ สมมติว่าคนธรรมดาทั่วไป จบปริญญาตรีก็ได้ แต่ถ้าคุณจะเป็นเพศทางเลือกที่ดี อาจจะต้องจบปริญญาโท ปริญญาเอกถึงจะน่านับถือ อะไรแบบนี้ ถ้าจบมัธยมจะแบบ ต่ำต้อย ยิ่งแบบพวกช่างแต่งหน้า บางทีช่างแต่งหน้าก็จะเป็นเกย์เป็นกะเทยกัน เขาก็จะถูกตีตราว่าอีพวกนี้ปากหมา จะแบบนินทาชาวบ้านรู้ความลับของนักแสดงเอาไปแฉ ก็จะถูกตีตราแบบไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ทั้ง ๆ ที่บางคนก็เป็นเพื่อนเราที่ดี”

“ตอนที่อาร์มเรียนมหา'ลัย อาร์มเป็นเกย์ไม่พอนะ อาร์มเป็นเสื้อแดงด้วยตอนนั้น เพราะว่าทางการเมืองก็ชัดเจนมากว่าตัวเองเข้าข้างคนเสื้อแดงแล้วก็เห็นด้วยกับคนเสื้อแดงมากกว่า แล้วก็เป็นผู้กำกับที่ทำหนังรักดราม่า ไม่ยอมทำหนังตลก มันก็เลยกลายเป็นแบบว่า มึงนี่ มึงเป็นทั้งเกย์ แล้วมึงยังเป็นควายแดงอีกเหรอ แล้วมึงมาทำหนังดราม่าซีเรียส หนังเรียกร้องสิทธิอะไร หนังอาร์มฉายในงานเทศกาลหนังกลางแปลงที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง โดนด่าว่าหนังควายแดง ซึ่งเราก็งงมากว่าผิดตรงไหน”

นอกจากนี้อนุสรณ์ยังเล่าว่าประสบการณ์การไปเรียนต่อที่ต่างประเทศทำให้เขาพบว่าโรงเรียนในประเทศไทยเป็นสถานที่ที่จำกัดให้นักเรียนอยู่ในกฏเกณฑ์และให้ครูมีสิทธิเหนือร่างกายนักเรียน ในขณะที่นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศถูกตีตรา ถูกกำหนดกรอบของสิ่งที่ควรจะเป็น ซึ่งเขาเล่าว่านักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศมักจะถูกคาดหวังว่าถ้าไม่เรียนเก่งไปเลยก็สนใจทำแต่กิจกรรม 

Present Still Perfect แค่นี้...ก็ดีแล้ว 2 ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของอนุสรณ์เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งทำให้อนุสรณ์กลายเป็นหนึ่งในศิลปินผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากหลังจากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเข้าฉายได้ไม่นาน ภาครัฐก็มีมาตรการสั่งปิดโรคภาพยนตร์เพื่อควบคุมสถานการณ์โรคระบาด 

“เรียกได้ว่าพินาศเลยก็ว่าได้” อนุสรณ์กล่าว “เพราะว่าหนังของอาร์มฉายได้ประมาณสี่วันแล้วหลังจากนั้นโควิดก็ทำงาน รัฐบาลก็สั่งชัตดาวน์ โรงหนังปิด ทำให้หนังที่กำลังฉายอยู่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ก็คือหยุดฉายกะทันหัน แล้วก็เคว้งเลยคราวนี้ ไม่รู้จะทำอะไร เพราะว่าเราไม่มีคำตอบจากไหน มีคำถามมากมายแต่ไม่ได้รับคำตอบ แต่เราก็เข้าใจเขาว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรแบบนี้ ศิลปินอย่างผมที่ไม่ได้มีอำนาจ ไม่ได้มีพื้นที่ใหญ่โตก็เลยลำบากมาก ไม่รู้จะพึ่งใคร ไม่มีใครให้พึ่งเลย มีแต่เพื่อนให้พึ่ง เพื่อนก็ส่งข้าวส่งน้ำมาให้กิน”

“พอสี่วันมันถูกปิด เราเสียศูนย์เลยนะ เราไม่รู้ว่าเราจะเอาหนังเรื่องนี้ไปไหนต่อ เราถามใครก็ไม่ได้คำตอบ ถามรัฐบาลก็ไม่ได้ ไม่มีใครช่วยเราได้ แล้วเรามีอะไรที่ต้องรับผิดชอบอีกเยอะแยะมากมาย เราเลยต้องหาทางด้วยตัวเอง วันที่ปล่อยPresent Perfect ออนไลน์ วันที่ขายดีวีดี ร้องไห้หนักมากเพราะในที่สุดมันมีทางออกแล้ว และทางออกตรงนั้นมันมีคำตอบที่มันมีค่าต่อใจเราเพราะเราให้กับหนังเรื่องนี้มาก เหมือนลูกเราเรียนจบมหา'ลัยสักทีแล้วก็ได้ไปอยู่ในสังคมอะไรแบบนี้ แล้วตอนนี้สังคมก็ตัดสินเอาเองว่าลูกเราเป็นยังไง”

“งานศิลปะของอาร์ม เหมือนกับงานที่บำบัดตัวเอง เพราะว่าในบางเรื่องที่เราพูดไม่ได้ในสังคมไทย อย่างเช่นเรื่องของศาสนา เรื่องของ เฮ้ย มันไม่เป็นไรถ้านะมึงทำผิดพลาด มันไม่เป็นไรถ้ามึงจะไม่เพอร์เฟค บางทีเราพูดไปนะ เขาแบบไม่ฟัง อาจจะเป็นเพราะตัวเราด้วยแหละมั้ง พอเราพูดผ่านหนังไป คนเขาฟัง คนเขาเข้าใจในข้อความที่เราอยากจะสื่อว่าเราเป็นเราในรูปแบบนี้นะ มันเลยมีค่ากับจิตใจอาร์มมาก หนังทุกเรื่องที่อาร์มทำ แบบ บางกอกสยอง ที่แบบ รู้สึกอยากฆ่าคนมากเลย แต่การฆ่าคนมันผิดกฎหมายไง มันเข้าคุกถูกปะ เราก็เลยไประบายกับงานศิลปะของเรา ในสิ่งที่เราอยากจะทำ ในจินตนาการของเรา ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งเป็นศิลปะที่ดี เป็นการบำบัดที่ดี” 

กิจกรรมออนไลน์ "Breaking the silence" ช่วงการแสดงของ Ashley A Queer

กิจกรรมดังกล่าวดำเนินรายการโดย เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ นอกจากนี้ ระหว่างกิจกรรมยังมีการฉายคลิปการแสดงของศิลปินอิสระผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น SUBHISARA AND Queer Riot TAM และ Ashley A Queer

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net