Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางความกลัวและปีศาจที่ชื่อว่า ยาเสพติด เรามองคนที่เกี่ยวกับยาเสพติดด้วยสายตาเดียวและเรียกรวมๆ เพื่อความสะดวก แต่มันอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ‘ประชาไท’ พาสำรวจกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดียาเสพติด ผ่านซีรีส์ ‘คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง’

หากเรายังมองยาเสพติด ผู้ใช้ยา และผู้พึ่งพิงยาเป็นปีศาจในทุกกรณี ยามที่เรานำพวกเขาขึ้นชั่งบนตราชั่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มันไม่ยากเลยที่เราจะเลือกกำจัดปีศาจก่อนมองเห็นว่าพวกเธอและเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นเดียวกันเรา...

นานมาแล้วผมถูกกฎหมายพาเข้าไปอยู่ในห้องขังของศาลจังหวัดแห่งหนึ่งประมาณสองสามชั่วโมงเพื่อรอฟังคำพิพากษาในคดีเล็กๆ อันเกิดจากความไม่รู้ของตนเอง โทษก็แค่ปรับนิดๆ หน่อยๆ ยังจำได้ว่าห้องขังวันนั้นค่อนข้างแน่น มีทั้งคนที่แต่งตัวธรรมดาเหมือนผมและคนที่อยู่ในชุดผู้ต้องขังพร้อมโซ่ตรวน มีส้วมที่ไม่มีประตูกับกำแพงเตี้ยๆ สูงประมาณเอว

แค่ห้องขังของศาลคนยังแน่น แล้วคุณคิดว่าในเรือนจำหรือคุกจะแน่นขนาดไหน

ตัวเลข ณ วันที่ 1 เมษายน 2563 มีผู้ต้องขังทุกประเภท ทั้งชายและหญิง 373,169 คน

ตัวเลข ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 มีผู้ต้องขังทุกประเภท ทั้งชายและหญิง 375,148 คน

คุณจะเห็นตัวเลขขยับขึ้นประมาณ 2,000 คน แต่มองไม่เห็นความแออัดยัดเยียด เพราะไม่รู้ว่าคุกในประเทศไทยทั้งหมดรับผู้ต้องขังได้เท่าไหร่ คำตอบคือประมาณ 100,000 คน แต่กฎหมายไทยสั่งจำคุกคนมากกว่าที่คุกจะรับได้ประมาณ 4 เท่า

นายเอเล่าว่า “อยู่ข้างในยังกับนรกทั้งเป็น ผมได้ยินแต่ข้างนอกว่านอนสลับฟันปลานะ นอนสลับฟันปลาจริงๆครับ ห้องห้องหนึ่งจุคนได้ 23 คน แต่เขาเอาเข้าไปห้องละ 75-76 คนในแต่ละห้อง คิดดูว่าจะนอนแบบไหน ขาใหญ่ก็นอนติดฝาหน่อย เข้ามาใหม่ก็นอนตรงกลาง สลับฟันปลากัน ถ้าลุกไปห้องน้ำคือไม่เหลือที่แล้วครับ เราจะมาปลุกให้คนอื่นตื่นเดี๋ยวเขาเตะเอาอีก ส่วนมากตี 5 ผมจะลุกขึ้นไปห้องน้ำ แล้วก็นั่งอยู่ตรงนั้นจนสว่างผมก็รอนับวันนับคืน ให้ครบ 48 วัน ทรมานมากผ้าห่มก็ไม่มีสำหรับคนใหม่”

นายเอถูก ‘ฝากขัง’ -แค่ฝากขังเท่านั้น ยังไม่ได้ถูกพิพากษาให้จำคุก- เพื่อรอการพิจารณาของศาลในข้อหา 'เสพขับ' ตามมาตรา 43 ทวิ ใน พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษ

‘พวกค้ายา’ ในคุกไทย?

ผู้ต้องขังประมาณ 370,000 คน ในจำนวนนี้ติดคุกเนื่องจากคดีเกี่ยวกับยาเสพติด 298,517 หรือร้อยละ 79.57 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด นี่เป็นตัวเลขของวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 หมายความว่าถ้าเอาผู้ต้องขังคดียาเสพติดออกไป คุกไทยจะโล่งขึ้นจนผิดหูผิดตา

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะเห็นด้วยว่าคุกไทยแออัดมากเกินไป ในเวลาเดียวกันก็คงคิดว่าสมควรแล้วสำหรับพวกค้ายา ถ้าอย่างนั้น ทางออกคืออะไรล่ะ?

“สร้างคุกเพิ่ม”

เป็นวิธีคิดที่ตรงไปตรงมา ทว่า ในความเป็นจริงอาจไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะกฎหมายยาเสพติดของไทยสร้างสถานการณ์ที่เรียกว่า overcriminalization หรือกฎหมายอาญาเฟ้อ หรือมุ่งใช้โทษทางอาญาเพื่อลงโทษโดยการบัญญัติกฎหมายให้การกระทำบางอย่างเป็นอาชญากรรมจนเกิดภาวะล้นเกินความจำเป็น

แล้วยังไง? ในจิตใจคุณอาจกำลังโต้เถียงว่าไอ้พวกค้ายาเสพติดสมควรโดนลงโทษ ล้นเกินตรงไหน?

เวลาเราพูดถึงคดีเกี่ยวกับยาเสพติด เรามักเผลอพูดรวมๆ ว่า ‘ไอ้พวกค้ายา’ ‘ไอ้พวกค้ายา’ และ ‘ไอ้พวกค้ายา’ ทั้งที่ฐานความผิดคดียาเสพติดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มีถึง 7 ฐาน ได้แก่ เสพ ครอบครองเพื่อเสพ ครอบครองเพื่อจำหน่าย จำหน่าย ผลิต นำเข้า และส่งออก นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ยังมีความผิดฐานสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดด้วย

แต่คุณคิดว่าคุกไทยกำลังขัง ‘พวกค้ายา’ ใช่หรือไม่?

“ข้อมูลปี 2552-2558 ตอนนั้นคดียาเสพติดอยู่ประมาณ 182,000 คดีต่อปี ยาม้า ยาไอซ์ กัญชา เฮโรอีน มีโคเคนเล็กน้อย พอมาแยกดูคดีที่เกี่ยวกับเฮโรอีนและโคเคนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์มีของกลางอยู่ 3 กรัม ไอซ์กับม้า 90-95 เปอร์เซ็นต์ของคดีมีของกลางน้อยกว่า 10 กรัม กัญชา 94.82 เปอร์เซ็นต์ มีของกลางน้อยกว่า 100 กรัม คุกเมืองไทยขังใคร?” เป็นคำถามของ วีระพันธ์ งามมี ผู้อำนวยการมูลนิธิโอโซน ที่ทำงานด้านยาเสพติดและผู้ใช้ยามากว่า 10 ปี

อ่านบทสัมภาษณ์ประกอบ | วีระพันธ์ งามมี : 'คนเสพยาเสพติดไม่ใช่อาชญากร', 23 พ.ย. 2562

ความกลัวและไม่รู้ จากยาม้าสู่ยาบ้า

วีระพันธ์ งามมี ผู้อำนวยการมูลนิธิโอโซน

“กฎหมายยาเสพติดที่เกิดจากการเขียนของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีความเป็นกลาง” วีระพันธ์ กล่าว “แต่มีความกลัว มีอคติ เนื่องมาจากการได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนรอบด้านและไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เกินจริงและฉายซ้ำๆ การเขียนกฎหมายบนฐานแบบนี้ซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ระหว่างทางและปลายทางมันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะอำนวยความยุติธรรม

“แล้วการเพิ่มความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ก็เท่ากับการเขียนกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐทำงานได้สะดวกและบรรลุตามตัวชี้วัดของหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย และยังไปกำหนดมาตรการที่จำกัดการต่อสู้หรือการพิสูจน์ข้อเท็จจริง”

ก่อนปี 2530 แอมเฟตามีนหรือยาม้าเป็นยาที่ผู้ใช้แรงงานกินเป็นเรื่องปกติ เพราะฤทธิ์ของมันช่วยให้มีเรี่ยวแรงทำงาน ขยัน ไม่ง่วง อย่าว่าแต่คนทำงานเลย นักเรียน นักศึกษายุคนั้นก็พึ่งยาม้าเพื่อให้อ่านหนังสือสอบได้ทั้งคืน มันเป็นยาที่หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา แม้จะจัดอยู่ในยาเสพติดประเภท 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยา

“แอมเฟตามีนมีใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามเพื่อให้ทหารมีแรง ไม่ง่วงนอน ต่อมาคนขับรถบรรทุกเอาไปใช้ จัดเป็นสารกระตุ้น บ้านเราก็สั่งยาม้าเข้ามาขายในช่วงปี 2520 พอยาม้าขายดีมากๆ ก็มีตระกูลหนึ่งคิดจะผลิตเองโดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ผลิตได้สักพักก็โดนจับโดย ป.ป.ส. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) แต่ตอนนั้นโทษเบามาก เข้าคุกไปไม่นาน ระหว่างเข้าคุกลูกน้องไม่โดนจับทั้งหมดก็ออกไปทำยาม้าขายเอง สูตรยาม้าจึงยังอยู่ในเมืองไทย มีคนแย่งตลาดไป พอตระกูลนี้ออกจากคุก ก็เลยคิดสูตรใหม่ให้เข้มข้นขึ้นจากแอมเฟตามีนเป็นเมธแอมเฟตามีน เสพแล้วติดเลย” จิตรนรา นวรัตน์ ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เล่าความเป็นมา

เมื่อเมธแอมเฟตามีน อร่อยกว่า สนุกกว่า ค่อยๆ เข้าแทนที่แอมเฟตามีน แต่ยังถูกเรียกว่ายาม้าเหมือนเดิม ช่วงทศวรรษ 2530 ข่าวคราวผลกระทบของยาม้าเริ่มปรากฏตามหน้าสื่อมากขึ้น เช่น ปี 2533 อุบัติเหตุรถบรรทุกแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 89 ราย บาดเจ็บกว่าร้อย ที่สันนิษฐานว่าเกิดจากผู้ขับใช้ยาม้า เมื่อม้าหลับ คนขับจึงหลับใน หรือข่าวที่พบเห็นบ่อยในช่วงนั้นอย่างกรณีผู้เสพยาม้าจับเด็กเอามีดจ่อคอเป็นตัวประกันเพราะความคลุ้มคลั่ง

ปี 2539 เสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้นได้ออกนโยบายทำให้ยาม้าหมดไปโดยเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ยาบ้า’ และเปลี่ยนจากยาเสพติดประเภท 3 เป็นยาเสพติดประเภท 1 โดยถือว่ายาบ้าเป็นยาเสพติดให้โทษร้ายแรงเท่ากับเฮโรอีนที่ถือเป็นปัญหาใหญ่สุดนับตั้งแต่ปี 2502 แต่หลังปี 2540 เป็นต้นมายาบ้ากลับเป็นยาเสพติดที่รัฐให้ความสำคัญกับการปราบปรามมากยิ่งกว่าเฮโรอีน

ยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้ากลายเป็นปีศาจในสังคมไทยที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก กระทั่งเมื่อทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศสงครามกับยาเสพติด ช่วงเวลาเพียง 3 เดือน นับจาก 1 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน 2546 มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัดตอนถึง 2,000 กว่าราย

ผู้ใช้ยา-ผู้พึ่งพิงยา

สำหรับวีระพันธ์ นี่คือตัวอย่างของความไม่รู้และมายาคติ เขาบอกว่าไม่เคยมีรายงานว่าเมตแอมเฟตามีนตัวเดียวทำให้เกิดภาวะทางจิต แต่คนที่มีประวัติครอบครัวหรือประวัติความเจ็บป่วยทางจิต การใช้เมตแอมเฟตามีนมีโอกาสกระตุ้นให้เกิดการกำเริบ เนื่องจากมันไปรบกวนแบบแผนการนอนหลับ พักผ่อนไม่ได้ นอนไม่หลับ แต่ถ้าใช้เฮโรอีนซึ่งออกฤทธิ์กดทั้งระบบก็สามารถหลับได้ เขาจึงเห็นว่าการที่สังคมไทยปฏิเสธการพูดคุยเรื่องยาเสพติดอย่างตรงไปตรงมา รอบด้านต่างหากที่ทำให้ผู้ใช้ยาอยู่ในภาวะเสี่ยง ทั้งที่มีองค์ความรู้ที่สามารถช่วยให้ผู้ใช้ยาปลอดภัยได้ โดยไม่ต้องจับเข้าคุก

จิตรนราบอกกับผมด้วยว่า ในทางการแพทย์ ผู้ที่เสพเมธแอมเฟตามีนจะเลิกเสพเองเมื่ออายุ 40 ขึ้นไป และจากคดีที่เขาทำมาจำนวนมาก คดีเสพส่วนใหญ่ผู้ต้องหามักอายุไม่เกิน 40 ปี

คุณคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ความรู้หรือเป็นเพียงข้ออ้างของ ‘คนติดยา’?

รายงานวิชาการ World Drug Report เมื่อปี 2010 ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crimes: UNODC) และรายงานของศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือโดย นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ระบุไว้ค่อนข้างตรงกันว่า ในบรรดาผู้ใช้สารเสพติดมีเพียงร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 12 เท่านั้นที่เป็นกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงหรือเป็นกลุ่มที่ใช้ยาแล้วอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อตนเองและคนรอบข้าง ซึ่งแยกออกเป็นผู้พึ่งพิงยาในระดับเล็กน้อย ปานกลาง และระดับรุนแรง ขณะที่อีกประมาณร้อยละ 90 เป็นผู้ที่ใช้สารเสพติด แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตนเองและคนอื่น คนเหล่านี้ยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้และดูแลจัดการตนเองได้

ข้อมูลข้างต้น วีระพันธ์บอกกับผม สำหรับเขาแล้วจึงไม่มี ‘คนติดยา’ มีเพียง ‘ผู้ใช้ยา’ และ ‘ผู้พึ่งพิงยา’ เอาล่ะ คุณอาจบอกว่าพวกพึ่งพิงยาก็คือพวกติดยานั่นแหละ ผมไม่เถียง แต่วีระพันธ์ตั้งข้อสังเกตอย่างนี้

“พึ่งพิงกับติดยา เหมือนกัน แต่คำถามก็คือว่าคนในสังคมแยกได้ไหม มีเครื่องมืออะไรในการแยก หมอวัดได้ไหมว่าใครใช้ยาหรืออยู่ในภาวะพึ่งพิงยา ประเทศไทยใช้อะไรเป็นเครื่องมือ อันนี้เป็นความท้าทาย”

เขายกตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้แพร่หลายในปัจจุบันอย่างการตรวจปัสสาวะ ผู้อำนวยการมูลนิธิโอโซนย้อนถามผมว่า เมื่อตรวจปัสสาวะแล้วผลเป็นสีม่วงมันบ่งบอกอะไร แน่นอนว่าผมไม่รู้ เขาเฉลยว่ามันบ่งบอกว่าร่างกายเมตาบอไลซ์สารบางอย่างออกมาทางปัสสาวะ เมื่อตรวจเจอสารนั้นแสดงว่าผู้นั้นอาจใช้สารเสพติด แต่การที่ร่างกายเมตาบอไลซ์เมธแอมเฟตามีนจนได้สารตัวหนึ่งออกมา ไม่ได้หมายความว่ามาจากเมธแอมเฟตามีน อย่างเดียว เนื่องจากยาแก้ไอ ยาแก้หวัดบางชนิด ก็สามารถเมตาบอไลซ์ออกมาได้สารที่ใกล้เคียงกับยาไอซ์หรือยาม้า กฎหมายจึงต้องให้มีกระบวนการตรวจพิสูจน์เพิ่มเติมโดยแพทย์และเครื่องมือที่มีความน่าเชื่อถือ การตรวจปัสสาวะจึงไม่ได้บ่งบอกว่าคนคนหนึ่งใช้ยาเสพติด 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงแค่ใกล้เคียงหรืออาจสงสัยได้ว่าคนคนนี้ใช้สารเสพติด

“ใน พ.ร.บ.ยาเสพติด ไม่มีคำว่าผู้ใช้ยา”

“ในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้านกฎหมาย เราทำงานตามกฎหมายใน พ.ร.บ.ยาเสพติด ไม่มีคำว่าผู้ใช้ยา เพราะฉะนั้นทัศนคติของผู้ทำงานด้านยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ยาหรือผู้ติดยา สำหรับผมคือผู้เสพยาเสพติดในสังคมมันสามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งนั้นแหละ แต่ตราบใดที่คุณทำผิดกฎหมาย คุณก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย เขาจะอยู่ร่วมกับสังคมได้ไหมมันก็อยู่ที่ตัวเขาเอง ถามว่าถ้ายาเสพติดมันดีมันก็คงไม่ผิดกฎหมาย” นายตำรวจที่ทำงานด้านปราบปรามยาเสพติด แสดงทัศนะ

ผมถือเป็นเรื่องธรรมดาที่แต่ละคนจะมีมุมมองต่อยาเสพติดต่างกันไปตามหน้างานที่ตนรับผิดชอบ บางคนมองว่ายาเสพติดเป็นปัญหา บางคนไม่

แต่ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์คือจำนวนคนล้นคุก ซึ่งทำให้การบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมด้อยประสิทธิภาพลง และเมื่อใครสักคนได้ชื่อว่าเคยติดคุก ก็แทบไม่มีทางล้างสาบคุกจากตัวได้ ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นผู้เสพหรือผู้ค้ารายย่อย ไม่ใช่พ่อค้ายารายใหญ่ เกิดการทุจริตเรียกรับเงินของเจ้าหน้าที่บางราย หรือการฆ่าตัดตอนอย่างกว้างขวางในยุคทักษิณ

เป็นไปได้หรือไม่ว่า แนวทางการปราบปรามยาเสพติดของไทยมีประสิทธิภาพไม่มากเท่าที่ฝ่ายรัฐและเราคาดหวัง พร้อมกับสร้างปัญหาอีกแบบหนึ่งขึ้นมา

ตอนต่อๆ ไป ผมจะพาไปสำรวจกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ชีวิตของคนกับยาและกระบวนการยุติธรรม การทำงานของเจ้าหน้าที่ ไปดูคำว่า ‘สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน’ เป็นจริงแค่ไหน และอื่นๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net