Skip to main content
sharethis

10 ปี พ.ค.53: ผาสุข ทาบุดดา - เมีย ‘ดีเจต้อย’ ผู้ต้องโทษตลอดชีวิต คดีเผาศาลากลางอุบลฯ
10 ปี พ.ค.53 : คำพลอย นะมี อิสรภาพพร้อมความทุพพลภาพ

ธนูศิลป์ ธนูทอง เป็นจำเลยที่ 14 จากทั้งหมด 21 คน ที่พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีสั่งฟ้องในข้อหาความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ความคิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายฯ

10 มิถุนายน 2553 เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พร้อมหมายศาลและภาพจากสำนักทะเบียนราษฎร์เดินทางไปจับกุมเขาในสวนมันสำปะหลังที่บ้านฟ้าห่วน ตำบลนาคำ อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีไปราว 90 กิโลเมตร จากนั้นก็นำตัวเขาไปที่สภ.พิบูลมังสาหาร พร้อมเขียนบันทึกการจับกุมในข้อหาเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 แล้วนำตัวเขาฝากขังที่เรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานี

“ตอนเขามาจับนั้น ผมจูงวัวไปกินน้ำที่ห้วย ก็ถามเขาว่าจะจับกันไปยังไง ผมไม่ได้ทำอะไรผิด ผมยืนยันตลอดว่า ผมไม่ผิด เจ้าหน้าที่ดีเอสไอบอกว่าภาพถ่ายในหมายจับนั้นไม่ใช่ผม แต่ตำรวจท้องที่ยืนยันบันทึกการจับกุมแล้วส่งฟ้อง ทุกครั้งที่ขึ้นให้การต่อศาลผมก็ยืนยันคำเดิมว่า ผมไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะตอนที่มีเหตุการณ์เผาศาลากลางผมอยู่ที่สวนมันสำปะหลัง ห่างจากหมู่บ้านสิบกิโลเมตร และผมต้องขี่มอเตอร์ไซค์รับส่งลูกชายคนเล็ก (ตอนนั้นอายุ 9 ขวบ) ไปกลับโรงเรียนทุกวัน”


ธนูศิลป์และดอกจันทร์

ดอกจันทร์ ธนูทอง ภรรยาของเขากล่าวเสริมว่า ตอนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาจอดรถที่บ้าน เธอได้เดินไปดูที่รถตำรวจเห็นอาวุธปืนจำนวนมาก เธอจึงถามว่าจะเอาอาวุธมายัดแล้วตั้งข้อกล่าวหาหรือเปล่า เจ้าหน้าที่บอกว่า เอามาไว้ป้องกันตัวเฉยๆ

เธอเล่าว่าตอนที่สามีถูกจับนั้นไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะตัวเองก็อยู่กันลำพังในสวนกับลูกชายคนเล็ก ส่วนลูกชายคนโตเป็นทหารเกณฑ์ประจำการที่อุบลราชธานี ขณะที่ลูกสาวคนกลางทำงานเป็นแคดดี้อยู่ที่กรุงเทพฯ

ตอนนั้นเธอพยายามวิ่งเต้นหาเงินประกันตัวสามีจากหลายทาง ทั้งขายวัว 5 ตัว (ได้เงิน 21,000 บาท) กู้ยืมเงินดอกเบี้ยรายเดือน (ร้อยละ 7 บาท) 20,000 บาท และลูกสาวส่งเงินมาสมทบอีก จนครบ 50,000 บาท แต่ก็ไม่สามารถประกันตัวได้ และเงินที่มีก็หมดไปกลับการเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านกับจังหวัด

“พอยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นรัฐบาล เราก็พอจะมีความหวังว่า เราจะได้รับความเป็นธรรมบ้าง หากเป็นคนอื่นก็อาจมีแต่เพิ่มหรือยัดข้อหาให้หนักขึ้นไปอีก” ดอกจันทร์กล่าว

เมื่อถามว่ามันเกี่ยวกับการเป็นเสื้อแดงไหมที่ทำให้เขาถูกจับ ธนูศิลป์บอกว่า “ถ้าพูดเช่นนั้นคนบ้านฟ้าห่วนก็เป็นเสื้อแดงกันทั้งหมู่บ้านนั่นล่ะ” เขาอธิบายว่า ความเป็นเสื้อแดงของเขาและชาวบ้านที่นี่คือ พวกเขาชอบทักษิณ ชินวัตร และเลือกพรรคไทยรักไทย เพราะเป็นพรรคที่ทำให้เศรษฐกิจดี ทำให้ประชาชนมีกินมีเก็บ ทำให้ชีวิตชาวบ้านดีขึ้น

“ที่ใครมากล่าวหาว่าชาวบ้านเลือกเพราะการซื้อเสียงนั้น ทุกพรรคก็ซื้อเสียงกันทั้งนั้น คนที่เห็นแก่เงินก็มี แต่รับเงินมาแล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องเลือกเพราะเงิน เพราะเราก็มีพรรคที่เราชอบ ต่อให้ถูกยุบและเปลี่ยนชื่อพรรคมา 3 ครั้งก็จะตามไปเลือก ความเป็นเสื้อแดงของชาวบ้านที่นี่คือ เราเลือกพรรคไทยรักไทยหรือพรรคเพื่อไทยในทุกวันนี้”

ปี 2553 เขากับชาวบ้านเคยรวมตัวกันเดินทางไปฟังปราศรัยทางการเมืองในตัวจังหวัดอุบลราชธานีเพียงครั้งเดียว โดยมีหลักใหญ่ใจความที่ต้องการความเป็นธรรม

ระหว่างที่ติดคุกนั้น ธนูศิลป์เชื่อมั่นเสมอว่า เขาไม่มีความผิดและจะต้องได้รับการปล่อยตัวในที่สุด ขณะที่ภรรยาของเขาพยายามวิ่งเต้นเพื่อประกันตัว ร้องขอความเป็นธรรมจากสำนักงานยุติธรรมจังหวัด และเคยไปร้องเรียนถึงสำนักปลัดกระทรวงยุติธรรมที่ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ก็มีตัวแทนออกมารับคำร้อง แต่ศาลก็ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

จนกระทั่งวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เขาพ้นความผิดหลังจากติดคุกเป็นเวลา 1 ปี 2 เดือนกับ 14 วัน

“สิ่งที่เป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยคือ เราใช้ระบบกล่าวหา พอใครสักคนถูกกล่าวหาว่ามีความผิดก็จะต้องเป็นฝ่ายหาพยานหลักฐานมาหักล้างว่าไม่ผิด ซึ่งในคุกนั้นมีแต่คนจนที่ถูกขังด้วยคดีเล็กๆ น้อยๆ เต็มไปหมด อยากให้คนในกระบวนการยุติธรรมใช้ระบบกฎหมายเพื่อความถูกต้องเป็นธรรมไม่ใช่ใช้เพื่อรับใช้นายหรือรับใช้อำนาจ เพราะคนที่จะเดือดร้อนก็คือประชาชนคนทุกข์ยากที่ไม่มีพลังต่อรองใดๆ”

ทุกวันนี้ธนูศิลป์และดอกจันทร์ยังคงทำสวนมันสำปะหลังและยางพาราเหมือนเดิมและมองความเป็นไปของบ้านเมืองปัจจุบันว่า เศรษฐกิจตกต่ำทุกอย่างฝืดเคือง

“อยากให้คนเสื้อแดงเหนียวแน่น ร่วมกันสู้เพื่อความเป็นธรรมต่อไป ขณะที่กระบวนการยุติธรรมไทยต้องยกเลิกระบบกล่าวหา และการออกหมายจับนั้น หากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอก็ไม่ควรจะออกกันง่ายๆ”ธนูศิลป์กล่าวย้ำ

=========

ข้อสังเกตจากรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณีเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)

การออกหมายจับและการจับกุม

"คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯ (รวมถึงคดีอื่นๆ ในจังหวัดอุบลฯ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมปี 2553) ไม่มีการจับกุมผู้ต้องหาในที่เกิดเหตุ ดังนั้น การจับกุมผู้ต้องสงสัยจึงเป็นการจับตามหมายจับทั้งหมด แต่กระบวนการออกหมายกลับไม่รัดกุมและไม่ยึดหลักการของกฎหมายที่่ต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าได้กระทำผิด คณะกรรมการสอบสวนทำการรวบรวมหลักฐานจากภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่เจ้าหน้าที่หรือนักข่าวถ่ายในวันเกิดเหตุ หาพยานบุคคลยืนยันบุคคลในภาพว่าอยู่ในเหตุการณ์ แล้วเสนอต่อศาลออกหมายจับ กระบวนการดังกล่าวมีปัญหา เนื่องจากออกหมายจับทั้งคนที่อยู่ภายนอกและภายในบริเวณศาลากลาง โดยอ้างว่าเป็นบุคคลที่อยู่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุ แม้จะมีพยานบุคคลซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ถ่ายภาพ ยืนยันว่าบุคคลเหล่านั้นอยู่ในเหตุการณ์ แต่ไม่ได้ยืนยันว่าร่วมก่อเหตุด้วยหรือไม่

“นอกจากนี้ภาพถ่ายที่เป็นหลักฐานบางภาพเป็นภาพถ่ายระยะไกล บางภาพมืด มองไม่เห็นชัดเจน บางภาพปิดหน้าตาบอกไม่ได้ว่าเป็นบุคคลใด บางภาพอยู่ในบริเวณศาลากลางขณะยังไม่มีเหตุการณ์ไฟไหม้ บางคนมีภาพถ่ายขณะขว้างก้อนหินใส่ป้อมยามเท่านั้น บางคนยืนอยู่ด้านนอกและไม่ได้มีพฤติการณ์อื่นใด กระทั่งจำเลยบางคนในคดีนี้ถูกออกหมายจับโดยภาพถ่ายการชุมนุมครั้งอื่นที่ไม่ใช่การชุมนุมในปี 2553"

"ในคดีนี้ผู้ต้องหาถูกละเมิดสิทธิ โดยหลายคนถูกจับกุมโดยตำรวจไม่แสดงหมายจับ หรือไม่แจ้งข้อกล่าวหา หลายคนถูกหลอกล่อให้มาที่สถานีตำรวจ เช่น ตำรวจบอกให้มาตัดหญ้า หรือให้มาให้ปากคำในคดีอื่น หรือให้มาเป็นพยาน แต่เมื่อไปถึงสถานีตำรวจกลับถูกควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องหา บางคนถูกจับโดยใช้กำลังประทุษร้าย เช่น จำเลยที่ 5 ถูกตำรวจจับกดศีรษะลงกับพื้น เอาปืนจ่อศีรษะและลากคอเสื้อขึ้นรถ นอกจากไม่แจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องหาในขณะจับกุมแล้ว ยังมีการบังคับข่มขู่ให้ผู้ต้องหารับสารภาพและให้ลงลายมือชื่อรับรองภาพถ่ายแนบท้ายหมายจับว่าเป็นภาพตน ผู้ต้องหาบางคนถูกขู่ว่าจะจับเพื่อน หรือยัดยาบ้าให้ หากไม่รับสารภาพ...การลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นคนเดียวกับบุคคลในภาพถ่ายแนบท้ายหมายจับเป็นหลักฐานที่ศาลรับฟัง แต่ผู้ต้องหาไม่รู้ เพราะไม่มีทนายความให้คำปรึกษา และไม่ได้รับการแจ้งสิทธิดังกล่าว"

การปล่อยชั่วคราว

"วันที่ 6 มิถุนายน 2554 จำเลยที่ 20 มีอาการอัมพฤกษ์ครึ่งซีก จนเรือนจำจังหวัดอุบลฯ ต้องส่งตัวออกมารักษาที่รพ.สรรพสิทธิประสงค์ แพทย์วินิจฉัยว่า เส้นเลือดในสมองตีบเพราะเครียด จำเลยนอนพักรักษาตัวที่ รพ.จนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2554 อาการทุเลาจึงถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ วันต่อมาทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 20 โดยอ้างเหตุจากอาการเจ็บป่วย พร้อมทั้งขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 14 โดยอ้างเหตุเรื่องที่ตำรวจจับผิดตัว ซึ่งมีหลักฐานคำให้การของ พ.ต.อ.ไอยศูรย์ สิงหนาท รอง ผบก.ตร.ภ.เมืองอุบลราชธานี ต่อคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แต่ผู้พิพากษาได้วินิจฉัยว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ 14 ที่ว่าเป็นการจับผิดตัวนั้น ศาลต้องพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนเป็นหลัก ส่วนจำเลยที่ 20 นั้น การที่แพทย์อนุญาตให้ออกจากรพ.มาพักรักษาตัวได้ เชื่อว่าอาการคงจะดีขึ้น และหากอาการถึงขั้นต้องพบแพทย์อีกทางเรือนจำก็มีหน้าที่ดำเนินการให้อยู่แล้ว อีกทั้งเรือนจำมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์คอยดูแลอยู่ด้วย หรือไม่อีกทางหนึ่งสามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้ดังเช่นที่ผ่านมา จึงยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำเดิม ให้ยกคำร้อง”

“ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2554 จำเลยที่ 20 ถูกต้องส่งเข้า รพ.อีก ทนายจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง สุดท้ายศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 20 ในสภาพเป็นอัมพาต เดินไม่ได้ และตามองไม่เห็น เขาเป็นจำเลยเพียงรายเดียวที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณาคดี ก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาไม่นาน"

คำพิพากษา (ศาลชั้นต้น)

“ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย 9 คน เนื่องจากหลักฐานที่โจทก์มีอยู่ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง .... ขณะที่ตัดสินลงโทษจำคุกจำเลย 4 คนเป็นเวลา 2 ปี ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปกระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมั่วสุมก่อความวุ่นวาย เนื่องจากโจทก์มีหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยเข้าไปในบริเวณศาลากลาง แม้จะไม่มีพฤติการณ์ว่ามีส่วนร่วมในการเผาศาลากลาง แต่ศาลเห็นว่ามีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าเข้าร่วมการชุมนุม”

“ส่วนจำเลยอีก 4 คนซึ่งโจทก์มีเพียงหลักฐานว่าอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มคนที่ทุบทำลายอาคารหรือใกล้ชิดอาคารขณะมีไฟลุกไหม้นั้น ศาลพิพากษาจำคุกถึง 33 ปี 12 เดือน ในความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ที่เป็นโรงเรือน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ร่วมกันบุกรุกเข้าไปกระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ร่วมกันมั่วสุมก่อความวุ่นวาย และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยศาลเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะของตัวการร่วมพร้อมที่จะช่วยเหลือ มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นกับกลุ่มคนที่เผาศาลากลาง”

“จากการใช้ดุลพินิจขอผู้พิพากษาในการพิจารณาพยานหลักฐานว่าจำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่ดังกล่าว มีข้อสังเกตดังนี้

(1) ศาลมักให้น้ำหนักต่อปากคำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่เป็นพยานฝ่ายโจทก์ ด้วยการให้เหตุผลว่า "ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เชื่อว่าเบิกความและจัดทำพยานหลักฐานขึ้นตามข้อเท็จจริงที่ได้เห็นและรับรู้มา จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำให้จำเลยต้องรับโทษ" โดยไม่คำนึงถึงบริบททางการเมืองภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้ายกันเอง

(2) ศาลมักให้น้ำหนักต่อคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนมากกว่าคำเบิกความในศาล ด้วยเหตุผลว่า "ในชั้นศาลจำเลยมีเวลาที่จะคิดปรุงแต่งข้อเท็จจริงให้ตนเองพ้นผิด" โดยไม่ตั้งข้อสงสัยต่อกระบวนการสอบสวน ทั้งที่คำเบิกความของพยานบางคนแสดงถึงกระบวนการสอบสวนไม่ชอบ เช่น ในกรณีของจำเลยที่ 5 ซึ่งศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ด้วยนั้น จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมและในการสอบสวนครั้งแรก (จำเลยเล่าว่าเพราะถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่) แต่จำเลยปฏิเสธในการสอบสวนครั้งที่ 2 และในชั้นศาลว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในการเผาศาลากลาง โดยนำสืบว่าจำเลยได้ยินประกาศว่าทหารยิงคนตาย จึงรู้สึกโกรธ เมื่อมีคนชี้ว่าทหารอยู่ในอาคารชั้นล่าง จึงเข้าไปทุบกระจกและปาก้อนหินเข้าไปในอาคาร ต่อมามีคนยื่นขวดน้ำมันให้ขว้างเข้าไปในศาลากลาง จำเลยก็ไม่ได้ขว้าง ทนายจำเลยยังนำสืบให้เห็นด้วยว่า ขวดน้ำมันดังกล่าวถูกนำไปวางทิ้งไว้ข้างหน้าต่างของอาคาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาในการร่วมวางเพลิงเผาศาลากลาง อย่างไรก็ตาม ศาลไม่ได้ใช้น้ำหนักต่อหลักฐานและคำให้การดังกล่าว

(3) แม้ว่าศาลจะให้น้ำหนักต่อพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์มากกว่าของฝ่ายจำเลย แต่เมื่อพยานโจทก์เบิกความที่เป็นคุณต่อจำเลย ศาลกลับไม่หยิบมาเป็นเหตุผลประกอบการวินิจฉัย อย่างกรณีที่ จ.ส.อ.พัสกร อุ่นตา เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวของ กอ.รมน. เบิกความตอบทนายจำเลยว่า หลังจากเห็นบุคคลกลุ่มหนึ่งพยายามทำการเผาตัวอาคารธนารักษ์ เขากับบุคคลหนึ่งซึ่งร่วมอยู่ในการชุมนุมได้เข้าไปในตัวอาคารเพื่อช่วยดับไฟ ซึ่งบุคคลดังกล่าวคือ จำเลยที่ 12 แต่สุดท้ายศาลก็ยังพิพากษาว่า จำเลยที่ 12 มีความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์

ฯลฯ

กรุณาอ่านรายงานฉบับเต็ม ในหัวข้อ ‘คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี’ หน้า 71-90

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net