Skip to main content
sharethis

เอฟทีเอว็อทซ์ และเครือข่ายสุรา ยาสูบ บุกสภา ยื่นหนังสือถึงประธานสภา จี้ตั้งกรรมมาธิการวิสามัญ ศึกษาผลดีผลเสียและเสนอแนะทางนโยบายต่อกรณีการเข้าร่วม CPTPP และ เรียกร้องรัฐบาลยุติผลักดัน CPTPP แบบลักไก่

22 พ.ค.2563 ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา รายงานว่า วันนี้เวลา 09.00 ณ อาคารรัฐสภา สัปปายะสภาสถาน เครือข่ายศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กว่า 10 คนนำโดย คำรณ ชูเดชา วศิน พิพัฒนฉัตร เข้าพบท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร  เพื่อยื่นหนังสือแสดงถึงความห่วงใย ตามที่มีความพยายามของบางฝ่ายที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเข้าร่วมในความตกลง CPTPP โดยจะดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโดยเร็ว เพื่อยื่นขอเข้าร่วมต่อฝ่ายเลขานุการของ CPTPP ให้ทันการประชุมที่จะเกิดขึ้นของสมาชิก CPTPP ในเดือนสิงหาคม 2563 นี้นั้น

วศิน พิพัฒนฉัตร  ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “ความตกลง CPTPP ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการควบคุมยาสูบของประเทศไทย เช่น ปัญหาลำดับศักดิ์ของ ความตกลง CPTPP กับ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก หรือ FCTC ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ว่า ความตกลงระหว่างประเทศฉบับใดจะมีข้อบังคับเหนือกว่า ปัญหาข้อบทว่าด้วยความตกลงอุปสรรคเทคนิคทางการค้า ที่เปิดช่องให้การออกกฎระเบียบใดๆ ภาครัฐต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องนั้นเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำกฎเกณฑ์ กฎหมายหรือนโยบายต่างๆ ซึ่งกรณีถ้า ต้องการออกมาตรการควบคุมยาสูบใดๆ ซักเรื่อง ก็อาจจะต้องให้บริษัทบุหรี่เข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ ซึ่งขัดต่อ FCTC มาตรา 5.3 ชัดเจน ในเรื่องการปกป้องนโยบายควบคุมยาสูบจากการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ ตลอดจนปัญหาอื่นๆ ที่มีผลกระทบเป็นวงกว้าง ได้แก่ การเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยและประชาชนโดยรวม ในประเด็นเกี่ยวกับ ความมั่นคงทางอาหาร จำกัดมาตรการ CL (compulsory licensing) และการเข้าถึงยา ส่งผลในแง่ลบต่อมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสินค้าอื่นๆ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ การพิจารณาการเข้าร่วมความตกลงการค้าระหว่างประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆอย่างกว้างขวาง อีกทั้งเกิดขึ้นในสถานการณ์วิกฤตด้านสุขภาพจากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังระบบการค้า และเศรษฐกิจของโลกอย่างร้ายแรงนั้น มีความจำเป็นต้องทบทวนหรือยุติเอาไว้ก่อน และเปิดให้มีการระดมความคิดเห็นอย่างกว้างขวางจากประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีปกติใหม่ทางเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้พื้นฐานของการมีหลักประกันเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านอาหาร ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนได้อย่างยั่งยืน เป็นสำคัญ”

คำรณ ชูเดชา และเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา และเป็นผู้แทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า “ทางเครือข่ายฯ มีความกังกลต่อท่าทีรวบรัด ลักไก่ ต่อการเข้าร่วม CPTPP ของรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นที่มีผลกระทบต่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย เช่น อาจต้องปรับแก้ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเรื่องรูปภาพคำเตือนบนฉลาก”

จึงเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาหารือกับพรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการจัดตั้ง “กรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและเสนอแนะทางนโยบายต่อกรณีการเข้าร่วม CPTPP ภายใต้บริบทใหม่ของสถานการณ์วิกฤตด้านสุขภาพและวิกฤตเศรษฐกิจอันเนื่องจาก COVID-19”  โดยเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาและเสนอแนะดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้คำแนะนำต่อรัฐบาลและเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจของสภาผู้แทนราษฎรเอง ในการพิจารณาให้ความเห็นในการเข้าร่วมความตกลงการค้าระหว่างประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ โดยทางเครือข่ายฯ จะติดตามการทำงาน และเป็นกำลังใจต่อบทบาทสภาผู้แทนฯต่อเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด”

CPTPP ตามคำอธิบายของเพจ ธนาคารแห่งประเทศไทย - Bank of Thailand อธิบายไว้เมื่อวันที่ 17 ต.ค.61 ว่า เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ โดยมีประเทศสมาชิก 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ความตกลง CPTPP ไม่ใช่การจัดตั้งขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการปรับโฉมจากความตกลง TPP (Trans-Pacific Partnership) โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิกด้วย แต่หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกไปเมื่อปี 2560 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net