Skip to main content
sharethis

‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน’ การ์ตูนของ ‘สะอาด’ นักวาดการ์ตูนไทย ที่ใช้เวลา 6 ปีสำหรับการเขียน และประสบการณ์ชั่วชีวิตในระบบการศึกษาไทย ผ่านระบบแบบค่ายทหารในโรงเรียนประถม จุดเริ่มต้นของประสบการณ์เลวร้ายในวัยเรียน สู่การเป็นเด็กแสบที่ขึ้นไปพูดเรื่องการคอร์รัปชั่นของ ผอ. และการบ่มเพาะความสนใจต่อประเด็นการเมืองและสังคม จนเป็นการ์ตูนที่เขาตั้งใจให้ทั้งสนุกและเห็นปัญหาของระบบการศึกษาไทย

 


ภูมิ-ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ หรือ 'สะอาด' 

 

ความทุกข์ในวัยเด็กของคุณเป็นแบบไหน ดื้อซนจนโดนพ่อดุ แม่ตี ร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน เจอครูดุเข้มงวดหวดเป็นหวดจนน่าขยาด 

ความทุกข์ในวัยเด็กของ ภูมิ-ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ หรือนักเขียนการ์ตูนเจ้าของนามปากกา ‘สะอาด’ เริ่มต้นในชั้นประถม ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอปากช่อง ด้วยกฎระเบียบเข้มงวด ข้อห้ามมากมาย และการลงโทษที่ง่ายดาย ไม่ต่างจากค่ายทหารตามความเห็นของเขา 

ความทรงจำในวัยประถมของเขา คือการต้องตากแดดเข้าแถวเป็นระเบียบเป๊ะหน้าเสาธง ห้ามยุกยิก ห้ามคุยกัน ใครทำผิดต้องโดนลงโทษทั้งระดับชั้น ให้คุกเข่ากับพื้นทรายกรวดกลางแดดจ้า หลายคนเคยเป็นลมในแถว รวมทั้งเขา 

เขากลายเป็นคนขี้กลัว กลัวว่าจะทำอะไรผิด กลัวว่าจะโดนลงโทษ เขารู้สึกผิดง่าย หลายครั้งที่เขาแอบเล่นซน ก็มักจะโดนครูจับได้เสมอ เหมือนความรู้สึกผิดเป็นออร่าที่ทำให้ครูเห็นพิรุธ

“โรงเรียนสำหรับเรามันเป็นความรู้สึกกลัวตลอดเลย” ภูมิเล่าแบบนั้น

และด้วยจุดเริ่มต้นอันขมขื่นในช่วงวัยเด็กนี้เอง ที่ทำให้การ์ตูน ‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน’ เริ่มต้นขึ้น แต่กว่าประสบการณ์ในวัยเรียนและการขับเคี่ยว ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบกับตัวเองอย่างเข้มข้นจะพาเขาไปถึงตรงนั้นก็อีกหลายปี 

ไอเดียของหนังสือเล่มนี้กำเนิดขึ้นตอนเขาเรียนจบจากคณะวารสารและสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ ในปี 57 ปีเดียวกับที่มีการรัฐประหารครั้งล่าสุดของเมืองไทย อีกปีที่เป็นจุดเปลี่ยนของทั้งระบบการเมืองและสังคม รวมไปถึงความล่มสลายของวงการสิ่งพิมพ์ 

‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน’ เริ่มขึ้น ณ ตอนนั้น จนถึงวันนี้กว่า 6 ปีที่เขาใช้เวลาในการคิด เขียน และวาด การ์ตูนเล่มนี้ก็คลอดออกมาในที่สุด

และนี่คือการเดินทางของเด็กขี้กลัวคนหนึ่งสู่การเป็นนักวาดการ์ตูนที่อยากทำงานขับเคลื่อนประเด็นเรื่องการศึกษาของไทย

 

ค่ายทหารในรั้วโรงเรียน

มองย้อนกลับไป ภูมิเล่าว่า วัยเด็กของเขาแทบไม่มีความสุขเลย เขาไม่เคยคิดว่าอยากย้อนกลับไปอยู่ในช่วงวัยเด็ก และอาจด้วยการบ่มเพาะความกลัวจากที่โรงเรียนทำให้เขามองว่าตัวเองตอนนั้นเป็นคนอ่อนแอ

“เราเป็นลูกคนเล็ก วัยเด็กเรารู้สึกว่าตัวเองดูอ่อนแอ เล่นกีฬาก็ไม่เก่ง แถมขี้แง ขี้ลืม ชอบทำของหาย ไม่ค่อยมีความรับผิดชอบ เรารู้สึกตัวเองเป็นคนห่วยของครอบครัวและญาติ แล้วความรู้สึกนั้นมันก็ยังอยู่กับเรามาอีกนาน น่าจะหายไปเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน” เขาเล่า

วันพุธคือวันที่ภูมิเกลียดที่สุด วิชาลูกเสือน่าจะเป็นวิชาที่เพิ่มความกลัวให้ชีวิตเขามากขึ้นไปอีก เมื่อมันหมายถึงการต้องแต่งตัวตามระเบียบ เครื่องแบบต้องครบ ไม่ครบก็โดนลงโทษ ครั้งหนึ่งภูมิลืมแต่งชุดลูกเสือ วันนั้นทั้งวันก็กลายเป็นวันที่แย่สุดๆ สำหรับเขา หรือช่วงหนึ่งโรงเรียนก็เอาทหารมาฝึกเด็ก ฝึกกันเหมือนฝึก รด. ให้เด็กยืนตากแดด พอเด็กจะเป็นลมกัน ทหารก็บอกว่าทำไมไม่มีความอดทน

“นี่ขนาดเล่าย้อนไปยังทำให้เรารู้สึกแย่เลย” ภูมิพูดยิ้มๆ “ความสยองของประถมก็คือมันเซ็ทความคิดเราว่าโรงเรียนนี้คือโลกทั้งใบ โลกเป็นแบบนี้ โรงเรียนอื่นๆ ก็คงเป็นแบบนี้” 

ประถมจึงเป็นความหนักหน่วงที่สุดในชีวิตการเรียนของเขา และทำให้เขาไม่เคยชอบระบบทหารเลย

“ทุกวันนี้เวลาเราสื่อสารบางอย่างผ่านการเขียนการ์ตูน แล้วมีคนมาแย้ง ความรู้สึกแย่จะนำมาก่อน ต้องมาใช้เวลาคิดว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นเหตุเป็นผลไหม ถ้าจริงก็ปรับปรุงได้ แต่ความกลัวจะเข้ามาแทรกตลอดเวลา และมันไม่หายไปง่ายๆ กระทั่งการทำงานเราทุกวันนี้ ลึกๆ แล้วก็จะมีความกลัวเป็นเบสของงาน”

“เคยเอาเรื่องพวกนี้ไปฟ้องพ่อแม่ไหม” เราถาม

“ไม่เคย เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ผิดปกติจนเราต้องไปฟ้อง บวกกับพี่สาว พี่ชายเราก็เรียนโรงเรียนนี้ ทุกคนก็โดน มันเลยเป็นเรื่องปกติ มันจะไม่มีคำว่าบูลลี่หรือการทำร้ายร่างกายอยู่ในหัวเลยตอนนั้น” ภูมิตอบ และเสริมว่า “แต่ข้อดีอย่างหนึ่งคือมันทำให้เราทนมือทนตีนมาตั้งแต่เด็ก” 

ภูมิเริ่มวาดการ์ตูนตั้งแต่ตอนป.3 ฝึกฝนมาเรื่อยๆ ยิ่งวาดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งค้นพบว่านี่คือสิ่งที่เขาชอบ และอยากทำต่อไปเรื่อยๆ แม้การวาดของเขามันจะผิดหลักการศิลปะของวิชาศิลปะในโรงเรียน ที่ความสวยงามเท่ากับความเหมือนจริงและความสะอาดไม่เลอะเทอะ 

 

เด็กแสบที่ขึ้นไปพูดเรื่องการคอร์รัปชั่นของ ผอ. 

เมื่อภูมิขึ้นมัธยมเขาย้ายมาอยู่โรงเรียนในกรุงเทพฯ ด้วยสถานะ ‘เด็กเส้น’ เขาพยายามหนีจากความเป็นเด็กอ่อนแอในชั้นประถม เขาเริ่มเล่นกีฬา โดดเรียนไปเล่นเกม Dota (โดต้า) กับเพื่อน แล้วคิดว่ามันยังฝึกการเป็นทีมเวิร์คได้ดีกว่าการอยู่ในโรงเรียนแล้วเอาแต่ลอกการบ้านเพื่อน

“เพื่อนบอกว่าเราเป็นเด็กหยาบกระด้าง ขวานผ่าซาก มีอะไรก็พูดตรงๆ ด่าคนนั้นคนนี้ อาจเพราะวัยประถมเรารู้สึกเราไม่สามารถใช้ชีวิตแบบซื่อตรงได้เท่าไหร่ เราต้องระวังครูด่า ระวังเพื่อนจะเกลียดเราจากเงื่อนไขกฎเกณฑ์ของโรงเรียน มัธยมเรารื้อตัวตนตรงนั้นออกไป เราพูดโดยไม่คิดถึงจิตใจคน แต่ขอให้ซื่อสัตย์กับตัวเอง กลบความอ่อนแอ ความขี้แงในวัยเด็กทิ้ง แล้วมาเริ่มใหม่”

การอยากซื่อสัตย์ต่อตัวเองนี้เองทำให้เขาอยากแฉเกี่ยวกับเรื่องเด็กเส้น และการคอร์รัปชั่นของ ผอ. ในวันปัจฉิมนิเทศที่เขาได้โอกาสขึ้นไปพูด ตอนนั้นเขามองว่า ทั้งตัวเขาเองและโรงเรียนนี้ รวมถึงเพื่อนอีกหลายคนก็เป็นส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชั่น และทุกคนไม่ควรมองข้ามความจริงนี้

แต่ผลก็คือระหว่างที่เขาพูด มีเพื่อนคนหนึ่งตะโกนว่า “พอแล้ว” แล้วคนที่เหลือก็เฮเห็นด้วยกับเพื่อนคนนั้น 

“ตอนที่พูดเราไม่ได้ร่างใส่กระดาษไว้ มีแค่หัวข้อ แล้วเราต้องพูดยื้อเวลาไว้เพราะเพื่อนบอกว่าวิดีโอที่เตรียมจะเปิดมีปัญหา มันเลยพังไปหมด มีคนที่บอกว่าชอบที่เราพูด บางคนก็บอกตอนแรกตลกดี แต่หลังๆ น่าเบื่อ หรือบางคนก็โกรธ โมโห จะเข้ามาตบเรา แต่โดยรวมหลังจากนั้นมันคือความ chaos (ความสับสนวุ่นวาย) ครูก็เข้ามาจะให้เราถือพานไปขอขมา ผอ. สุดท้ายเราก็ไปไหว้ตัก ผอ. บอกว่า ‘โทษนะครับ ซ่าไปหน่อย’ ผอ. ก็บอก ไม่เป็นไร โตขึ้นเดี๋ยวเธอก็จะเข้าใจเอง แต่จนตอนนี้เราก็ไม่เข้าใจนะว่าจะให้เข้าใจอะไร” ภูมิหัวเราะ

“เราไม่ได้เป็นคนที่จะเป็นนักปฏิวัติ เราอาจจะเป็นแค่เด็กแสบที่อยากทำอะไรที่เราอยากทำ” เขากล่าวเสริม

“ถ้าย้อนกลับไปได้ยังจะทำไหม” เราถาม

“ถ้าย้อนกลับไปอาจต้องคิดไกลกว่านั้นหน่อย ในแง่การสื่อสารมันคือล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง มึงแค่ฟินกับการเป็นวัยรุ่นของมึง มันไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร แล้วเราก็พังเองในแง่สุขภาพจิต และความรุนแรงของเหตุการณ์นั้นก็ตามเรามานาน เราไม่กล้าพูดเรื่องนี้กับใครหลายปี พูดทีไรก็รู้สึกแย่ เพราะเราก็รักเพื่อน รักบรรยากาศของวันปัจฉิม แต่เรากลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มันพัง ก็มีความเสียดายว่าทำไมเราปิดฉากมัธยมแบบนี้ ทั้งที่ช่วงมัธยมเราก็ชอบมันนะ” คือคำตอบของเขา

วัยมัธยมยังเป็นวัยที่ภูมิได้สะสมความรู้นอกตำราเรียน เริ่มอ่านนิตยสารอย่าง a day และ Open ที่พาเขาไต่ระดับไปสู่การอ่านที่เชื่อมโยงไปถึงประเด็นสังคมต่างๆ และเริ่มมองหานักเขียนที่ชอบ (ในด้านการทำงาน) อย่าง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ หรือ บินหลา สันกาลาคีรี ที่ทุกคนล้วนเรียนไม่จบ และทำให้เขาคิดอย่างจริงจังว่าจะไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่จะมุ่งสู่การเป็นนักเขียนการ์ตูน ซึ่งความมุ่งมั่นนี้ถูกปัดตกทิ้งไปโดยแม่ของเขา

 

เขียนการ์ตูนไปเพื่ออะไร

เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ก็ยิ่งเปิดโลกทางความคิดอีกหลายอย่างให้เขา ภูมิเริ่มสนใจการเมืองอย่างจริงจัง และถึงกับทำมินิธีสิสเกี่ยวกับการเมือง 

เมื่อเขียนการ์ตูนมาถึงจุดหนึ่งเขาก็เริ่มรู้สึกผิดที่งานของเขานั้นมีเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว ขณะที่ประเทศนี้ยังมีปัญหาอีกร้อยแปด เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่างานที่สนุกนั้นเพียงพอแล้วหรือ 

“เซ้นส์ของการ์ตูนมันอาจเอาไว้หลบหนีความจริง มันคือโลกแฟนตาซีที่คนจะมาสนุกกับมัน นักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นหลายคนเขาเซ็ทงานตัวเองไว้ให้เป็นพื้นที่สำหรับหลบหลีกความเครียด ฆ่าเวลาเพื่อสร้างความสุข แม้การ์ตูนอย่างวันพีชอาจจะดูโคตรการเมือง แต่มันก็มีความสนุกนำ” 

“ตอนแรกเราคิดว่าทำไงให้คนอ่านชอบ สนุก แต่พอทำไปเรื่อยๆ เรารู้สึกมันไม่พอกับวิญญาณของเรา เขียนการ์ตูนมันก็ตัดต้นไม้ เปลืองทรัพยากร เปลืองเวลาคนอ่าน เราก็อยากทำอะไรให้มันมีเนื้อมีหนังกว่านั้น แต่ในแง่ทักษะตอนนั้นเรายังไม่สามารถเขียนงานที่เชื่อมโยงหรือเปลี่ยนสังคมได้ขนาดนั้น” 

ภูมิจริงจังกับการค้นหาคุณค่าจากการเขียนการ์ตูน ถึงขนาดเคยเขียนบทความเกี่ยวกับคุณค่าของมังงะในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขาอธิบายว่า ญี่ปุ่นทำให้มังงะเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่มีมูลค่าสูง เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ แต่ญี่ปุ่นคือเคสที่พิเศษมาก ด้วยวัฒนธรรมการอ่าน และศักยภาพของอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยยังไม่อาจเทียบได้ 

เมื่อถามตัวเองว่าแล้วสิ่งที่เขาจะสามารถสร้างคุณค่าให้กับการ์ตูนได้คืออะไร ภูมิจึงเริ่มคิดที่จะนำความสนุกแบบการ์ตูน เข้ามาเชื่อมกับการเล่าเรื่องต่อประเด็นทางสังคม

หลังจากค่อยๆ ถอด ค่อยๆ ถก ค่อยๆ นวด (หมายถึงกับการเขียนการ์ตูน) ภูมิก็เริ่มมีแก๊กที่เสียดสีสังคม วัฒนธรรมออกมาก่อน จากนั้นก็มีการ์ตูนสั้นที่สะท้อนประเด็นสังคม และโยงการเมืองนิดๆ ออกมา 

 

การศึกษาของกระป๋องมีฝัน

รัฐประหารในปี 57 เพื่อนรอบตัวของภูมิหลายคนเห็นด้วยและคิดว่าจำเป็นต้องทำเพื่อจัดการปัญหายุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นตอนนั้น แต่ภูมิเห็นว่ามันคือวิธีคิดแบบที่เพิกเฉยต่อปัญหาเกินไป และปีนั้นเขาก็เรียนจบพอดี เขาจึงเริ่มคิดจะนำประสบการณ์ในระบบการศึกษาทั้งหมดที่เขาผ่านมาเขียนเป็นหนังสือสักเล่ม

“เราตั้งใจจะเขียนงานชิ้นนี้เพื่อที่จะบอกเพื่อนๆ ว่าปัญหาสังคมมันเกี่ยวกับตัวพวกมึงนะเว้ย สนใจหน่อยดิ เพราะตัวเรากับการเมืองและปัญหาต่างๆ มันเชื่อมโยงกัน เราอยากใช้การ์ตูนเชื่อมยูนิตต่างๆ ของสังคมให้เขาเข้าใจกัน” 

ตั้งต้นด้วยความคิดแบบนั้น และเริ่มสะสมไอเดีย ลงมือวาดอยู่หลายดราฟท์ พร้อมๆกับที่เห็นพลวัตรของโลกการศึกษา และความคิดทางการเมืองของเพื่อนรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เขาจึงมีอีกหลายโจทย์ที่ต้องเผชิญ และท้ายสุดความคาดหวังของเขาคือการ์ตูนเล่มนี้จะสามารถเป็นสื่อการสอนในโรงเรียนได้

“พอหลังเลือกตั้งปี 62 เป็นต้นมา ทุกคนรู้แล้วว่าการเมืองมันสำคัญกับตัวเองมากๆ เพื่อนเราหลายคนที่เคยเห็นด้วยกับการรัฐประหารก็ด่า คสช. มากกว่าเราซะอีก บวกกับโลกของการศึกษามันเปลี่ยนไปมหาศาลในช่วง 6 ปี วิธีคิดเกี่ยวกับการศึกษา การจัดการมหา’ลัย การจัดการศึกษาให้แก่เด็ก มันเปลี่ยนหมด เท่ากับเราต้องมาเรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมด เราต้องมาเรียนรู้สิ่งที่โลกกำลังผลักดัน คือ ‘การศึกษาใน ศตวรรษที่ 21’ หรือก็คือ 5 ปี เราอาจต้องรื้อหลักสูตรใหม่แล้วเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำยังไงเราจะสามารถสื่อสารความเปลี่ยนแปลงอันนี้ ที่มันถ่ายทอดประสบการณ์ในอดีตของเราออกมาได้ ทำยังไงจะถ่ายทอดประสบการณ์ที่เราถูกบูลลี่ตั้งแต่เด็กออกมาได้ ในขณะที่ตอนนี้อาจแทบไม่มีการตีเด็กแล้ว”

“ขณะเดียวกัน เราจะเล่าเรื่องการเรียนสื่อของนักศึกษาคนหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่เรียนมามันเพิ่งมาเอาท์หลังปี 57 ที่สิ่งพิมพ์ล่มสลาย เราต้องเล่ายังไงให้สื่อที่มันเอาท์ไปแล้วยัง matter กับสังคมได้” 

ภูมิเล่าติดตลกว่า ตอนที่มีคลิปครูนิด สอนภาษาอังกฤษออกมา แม้เขาจะรู้สึกแย่ที่ไม่ว่ากี่ปีผ่านไปก็ยังมีเรื่องแบบนี้ แต่อีกมุมลึกๆ เขารู้สึกดีที่งานเขายังไม่เอาท์จนเกินไป เมื่อโรงเรียนส่วนใหญ่ยังแทบไม่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่เด็กเองกลับเปลี่ยนไปแล้ว

แต่ทั้งหมดนี้ยังอยู่บนฐานที่ว่า ต้องมีความสนุกเป็นตัวตั้ง และยังเชื่อมโยงกับภาพใหญ่ของสังคม งานที่ออกมาจากเรื่องส่วนตัว จึงต้องการคนมาคอยนวดไอเดีย และวิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ผลที่ออกมาก็คือ ภูมิคิดว่าอย่างน้อยมันน่าจะเป็นหนังสือการ์ตูนที่เด็กมัธยมและมหาวิทยาลัยจะอ่านได้สนุกและเข้าใจประเด็นได้ 

“โดยน้ำเสียงของเรื่องอาจไม่สื่อสารกับเด็กเท่าไหร่ มันไม่ไร้เดียงสา มันไม่ได้อ่อนโยนขนาดนั้น หรือเด็กบางคนอาจจะอ่านแล้วรู้สึก แต่ไม่สามารถสะท้อนออกมาได้ แต่เราคิดไม่ถึงว่ามันจะไปกระแทกใจคนในวัยใกล้ๆ กัน”

“ความประหลาดอย่างหนึ่งของระบบการศึกษาคือ เวลาเราเจออะไรที่เรารู้สึกแย่ เราจะรู้สึกว่าเราเจอปัญหานั้นคนเดียว เราจะรู้สึกโดดเดี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่หนังสือเล่มนี้มันกลายเป็นเพื่อนว่ามึงไม่ได้โดดเดี่ยว มึงมีกูนะ เลยเข้าใจว่าจริงๆ แล้วระบบที่เกิดขึ้นมาสร้างปัญหาให้คนหลายๆ คน แต่คนเหล่านั้นจะรู้สึกว่าตัวเองเจอปัญหาอยู่เพียงลำพัง และการรู้สึกแบบนั้นมันจึงไม่สามารถรวมตัวกันเปล่งเสียงออกมาได้ว่า ซึ่งมันเป็นปัญหา เพราะตัวเขาเองก็ไม่มีพลังพอที่จะมาแก้ไขความเลวร้ายที่เขาเจอตอนเด็กๆ” 

แต่ปัญหาถัดมาที่เขาค้นพบก็คือ 

“เด็กมัธยมไม่อ่านหนังสือการ์ตูน เขาอ่านเว็บตูน” ภูมิหัวเราะ “ซึ่งจริงๆ มันอาจจะผิดช่องทางการสื่อสาร แต่เราคิดว่าหนังสือเล่มนี้มีศักยภาพเป็นสื่อการสอนได้ เด็กมัธยมอ่านแล้วมีสิทธิที่ชอบมันอยู่” 

 

เปิดตัวสำนักพิมพ์ด้วง

หนังสือเล่มนี้มาพร้อมกับการเริ่มต้นของสำนักพิมพ์ด้วง ซึ่งแยกออกมาจากสำนักพิมพ์ ‘Kai3’ ซึ่งเป็นความตั้งใจของเขาที่อยากให้งานที่ออกมาสามารถเอาไปต่อยอดอย่างอื่นได้ ดังนั้นกำไร 15% ของหนังสือเล่มนี้จะถูกนำไปบริจาคให้มูลนิธิที่ทำงานด้านการศึกษา และภูมิยังคิดต่อเรื่องการนำหนังสือเล่มนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของการระดมทุนในเดือนหน้า เพื่อนำไปเป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กที่ไม่มีเงินทุนจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 

และต่อยอดจากหนังสือ คือกิจกรรมที่ให้ทุกคนที่สนใจส่งประสบการณ์เกี่ยวกับระบบการศึกษาเข้ามา และจะทำการคัดเลือกเรื่องเพื่อโพสต์ในเพจ Sa-ard สะอาด  ซึ่งเป็นการเชื่อมประสบการณ์การศึกษาส่วนตัวที่ภูมิเจอไปสู่เรื่องที่คนอื่นๆเจอ ให้เกิดการสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกัน 

“หลายคนเจอเรื่องเชี่ยในตอนเรียน เจอบาดแผลในใจ แล้วอาจจะเก็บมันมาตลอด แล้วเขาก็รู้สึกโดดเดี่ยว พอเขาเจอหลายคนที่เจอเหตุการณ์คล้ายๆ กัน ก็มีการแชร์ต่อๆ กันไป มีคนบอกว่าขอบคุณมากที่ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เขาเจอมันไม่โดดเดี่ยว” ภูมิเล่า

 

หนังสือเริ่มเปิดขายทางเพจ Sa-ard สะอาด วันที่ 25 พ.ค. นี้

ตัวอย่างเรื่องที่ได้โพสต์ลงในเพจ 

บทที่ 11

ตอนอนุบาลเรามีครูที่เรามองว่าคงเกิดมาเป็นเจ้ากรรมนายเวรกับตัวเองชื่อครูหมวย (นามสมมุติ) เริ่มแรกคือแอบรู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้มีการปฏิบัติ​กับเราแปลกๆ เริ่มจากคำพูด ตอนเด็กเราเป็นเด็กผิวขาว อวบจ้ำม่ำ ตัดผมหน้าม้า มองแล้วเหมือนตุ๊กตาผีหน่อยๆ5555 ครูคนอื่นจะชอบทักและหยิกแก้ม ครูหมวยก็พูดออกมาว่า ก็ขาวนะแต่ไม่น่ารัก น่าเกลียด เราได้ยินก็งงหน่อยๆ ยังตีความมาเซนสิทีฟกับตัวเองไม่ได้เพราะเราเป็นเด็กว่าง่ายมากๆ แถวบ้านมีแต่โรงงาน​ โดนพนักงานมาหยอกมาแซวบ่อย แต่จะเป็นบริบทที่มาทางเอ็นดู ครูหมวยคือคนแรกที่ทำให้เราได้รู้ว่าการถูกไม่ชอบมันเป็นยังไง

เหตุการณ์​จะไม่เรียงแต่เอาที่ฝังใจจนจำได้นะคะ

ปกติในโรงเรียนจะมี ‘บ้านบอล’ เป็นห้องใหญ่ๆติดแอร์ที่รวมของเล่นเยอะๆ พวกสไลเดอร์​ ชิงช้า โซนจำลองอาชีพต่างๆเช่น ครัว โรงพยาบาล จราจรไรงี้ เด็กๆจะชอบกันมาก รวมถึงเรา ซึ่งกว่าจะได้เล่นก็แรร์ไทม์เลย

วันนั้นครูหมวยบอกว่า เราจะไปบ้านบอลกัน ทุกคนก็เฮ ดีใจกัน คนอื่นทั้งกระโดด วิ่ง เราก็ดีใจ เลยลุกไปยืนบนเก้าอี้แล้วนั่งยองๆ โดดลงมาบ้าง​ ครูหมวยทุบโต๊ะทันทีแล้วสั่งทุกคนให้เงียบ แล้วพูดว่า จะไม่มีใครได้ไปบ้านบอลแล้ว เพราะเรากระโดดลงจากเก้าอี้ ในชั่วโมงนั้นที่ต้องนั่งว่างๆ เพื่อนๆหลายคนในห้องหันมามองเราแบบแค้นกันมาก เพราะเราคือสาเหตุที่ทำให้พวกเค้าอดไปบ้านบอล...

อีกอันคือวันเกิดเพื่อนในห้องคนนึง แม่ของเพื่อนเอาเค้กปอนด์มาให้ครู คุณแม่พูดกับทุกคนในห้องว่าวันนี้มีเค้กนะคะ กลางวันมากินกันนะ แล้วคุณ​แม่ก็กลับไป

พอถึงตอนกลางวัน ครูหมวยกับครูอีกคนก็ตัดเค้กแจกทุกคน ทุกคนได้เค้กเป็นชิ้น แต่เราได้เค้กเป็นคำ จำได้เลยว่าขนาดไม่เกินครึ่งนิ้วโป้งเราด้วยซ้ำ ครูหมวยพูดว่า อ้วนเป็นช้างแล้ว กินไปน้อยๆพอ แล้วเราก็นั่งมองเพื่อนๆกินเค้ก บางคนถือเป็นก้อนกินกันอร่อย เราก็เขี่ยๆเค้กในจาน ส่วนครูหมวยกับอีกคนนั่งเอาช้อนตักเค้กที่เหลืออยู่ตั้งครึ่งก้อนกินกัน

อีกวัน แม่เอาขนมโอเล่ใส่ไว้ในกระเป๋าเรา บอกไว้กินตอนพักนะ พอถึงตอนพักเราไปห้องน้ำ กลับมาพบว่าขนมหาย มองรอบๆมันไปอยู่ในมือกลุ่มเพื่อนด้านหลังห้อง เราเลยไปบอกครูหมวย แต่เรากลับโดนตี เค้าพูดประมาณว่าทำไมทำนิสัยแบบนี้ เป็นเด็กเป็นเล็กหัดใส่ร้ายคนอื่น

 

เรื่องอื่นๆก็ยิบย่อย ที่จำลางๆคือเวลาเราทำอะไรที่ไม่ถูกใจ เราจะถูกพาไปขังในห้องน้ำมืดๆ บางครั้งมีเด็กคนอื่นมาด้วย แต่หลักๆเราจะโดนคนเดียว ถ้าเพื่อนในห้องน้ำเริ่มร้องไห้ บางทีเราก็จะร้องตาม เค้าก็จะเปิดประตูมาชี้หน้าด่าเราคนเดียว สั่งให้เงียบ จำความรู้สึกได้เลยว่าเราถูกดันจนหลังติดกำแพง แต่บางทีเวลาโดนไปขังแล้วเราไม่ร้อง นางก็จะปิดไฟทุบๆๆประตูให้เรากลัวแล้วร้องออกมา

ตอนเล่าให้แม่ฟังหลังจากที่เราโตแล้ว ​แม่บอกโดนแบบนี้ทำไมไม่บอกแม่ เราตอบไปว่า ไม่รู้ว่าต้องแค่ไหนถึงจะบอกได้ เพราะตอนเด็กเราเคยได้ยินครูหมวยเสียงดังใส่เด็กที่เป็นลูกของผู้ปกครองที่มาตำหนิครูมั้ง ว่าทำแบบนี้เราจะทำให้พ่อแม่เราเสียเวลาทำงานนะ แทนที่จะได้ทำงานกลับต้องมาโรงเรียนแบบนี้ ไม่สงสารพ่อแม่เหรอ ถ้ารักพ่อแม่วันหลังก็อย่าบอก (วันนั้นหลังจากนางด่าเด็กคนนั้นเราก็โดนลากไปขังในห้องน้ำต่อ55555 แม่งกูโดนเรื่องไรอีกวะ)​

ถามว่ามีผลกระทบอะไรมาถึงปัจจุบันมั้ย เราไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกันมั้ย แต่เหมือนเรากลายเป็นคนสับสนกับความรู้สึ​กตัวเองค่ะ เราไม่รู้ว่าลิมิตไหนที่เราควรร้องไห้ ลิมิตไหนที่้เราสามารถพูดได้แล้วว่าเราโกรธ ต้องขนาดไหนที่เราถึงจะมีสิทธิพูดออกไปได้ว่าเราไม่พอใจ อาการเหล่านี้เป็นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ข้อดีและข้อเสียที่โตมาแบบนี้ คงเป็นที่เราเข้าได้กับคนทุกประเภทเพราะเป็นคนแทบจะโกรธใครไม่เป็นเลยค่ะ ขณะเดียวกันก็ถูกเอาเปรียบจากคนบางคนด้วย เพราะไม่เคยกล้าสู้แม้แต่จะสู้เพื่อสิทธิ​ของตัวเอง

 

- ชะวิ้ง (เรื่องและรูป)

#บทเรียนสำคัญที่ฉันเรียนรู้

#การศึกษาของกระป๋องมีฝัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net