Skip to main content
sharethis

แรงงานเมียนมากว่า 50,000 คน เตรียมกลับประเทศ หลังตกงานจากพิษ COVID-19

ทางการเมียวดี ประเทศเมียนมา ได้รับแจ้งจากสถานทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย ว่าขณะนี้มีแรงงานเมียนมาที่ทำงานในประเทศไทยกว่า 50,000 คน ได้มาลงชื่อแสดงความจำนงเดินทางกลับประเทศ ทางด่านพรมแดนไทย-เมียนมา อำเภอแม่สอด บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 บ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

โดยชุดแรกจะออกเดินทางคืนนี้ และจะแวะพักรถที่จังหวัดนครสวรรค์เพียงจุดเดียวเท่านั้น ซึ่งจะถึงอำเภอแม่สอด เช้าวันพรุ่งนี้ (23 พ.ค.) โดยสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย จะออกหนังสือรับรองการเดินทางให้ และฝ่ายความมั่นคงก็จะออกหนังสือรับรองการออกนอกเคหสถานช่วงเคอร์ฟิว

สำหรับแรงงานทั้ง 50,000 คนนี้ อยู่ในกลุ่มตกงาน เนื่องจากสถานประกอบการหยุดกิจการ, ถูกเลิกจ้าง และเป็นกลุ่มที่อยากกลับบ้านตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ แต่ไม่สามารถกลับได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้จังหวัดตากออกประกาศห้ามการเคลื่อนย้ายแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนแรงงานเมียนมาที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการผ่อนปรน ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่

ที่มา: ch7.com, 22/5/2563

ศบค.มท.แจ้งทุกจังหวัดชายแดนอำนวยความสะดวกแรงงานเมียนมากลับประเทศ

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2563 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ด้วยได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการนำแนวทางปฏิบัติในการเดินทางกลับประเทศของแรงงานชาวเมียนมาผ่านช่องทางในพื้นที่จังหวัดชายแดน ซึ่งที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ (ศปก.กต.) ได้ให้ความเห็นชอบและเสนอที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบและให้ความเห็นชอบในหลักการให้แรงงานเมียนมาเคลื่อนย้ายไปยังจังหวัดชายแดนไทย – เมียนมา เพื่อเดินทางกลับเมียนมาได้ และกระทรวงการต่างประเทศได้ขอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่

เพื่อให้การเดินทางกลับประเทศของแรงงานชาวเมียนมาผ่านช่องทางในพื้นที่จังหวัดชายแดนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แจ้งแนวทางปฏิบัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ (22 พ.ค.63) เป็นต้นไป โดยในช่วงแรกจะใช้ช่องทางจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมาข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพียงแห่งเดียวก่อน และสำหรับจุดผ่านแดนถาวรสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และจุดผ่านแดนถาวรอำเภอเมืองระนอง (ท่าเทียบเรือ) อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง จะแจ้งให้ทราบต่อไป โดยผู้เดินทางต้องแสดงหนังสือรับรองการเดินทางที่ออกให้โดยสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย สำนักงานแรงงานเมียนมาในจังหวัดเชียงใหม่ หรือสำนักงานแรงงานเมียนมาในจังหวัดระนอง ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งรูปแบบของต้นฉบับหนังสือ และสำเนาหนังสือหรือเอกสารอิเล็กทรอนิกส์จากโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต่อเจ้าหน้าที่ และผู้เดินทางต้องออกเดินทางตามกำหนดวันและช่องทางผ่านแดนที่ระบุไว้ในหนังสือรับรอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการ โดยถึงจุดผ่านแดนก่อนเวลา 15.00 น. ของทุกวัน ซึ่งผู้เดินทางสามารถเดินทางได้ด้วยตนเอง หรือเดินทางกับรถบัสของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จากสถานีขนส่งหมอชิต

ศบค.มท. ได้เน้นย้ำให้จังหวัดที่เกี่ยวข้องกับบริหารจัดการ ทั้งจังหวัดต้นทาง จังหวัดพื้นที่เส้นทางผ่าน และจังหวัดปลายทางซึ่งเป็นที่ตั้งของจุดผ่านแดนถาวร อำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของแรงงานเมียนมา ทั้งการพิจารณาอนุญาตในการเดินทางข้ามเขตจังหวัดของแรงงานผู้มีหนังสือรับรอง การจัดเตรียมสถานที่รองรับและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด การบริหารจัดการการเดินทางออกจากประเทศไทยของแรงงานเมียนมาตามจำนวนที่ได้รับแจ้งในแต่ละวัน และมีการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ตามมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่เหมาะสม

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 22/5/2563 

เตรียมช่วยเหลือกลุ่มกีฬาอาชีพ 13 ชนิด เพื่อเยียวยาช่วง COVID-19 คนละ 5,000 บาท 3 เดือน คาดจะเริ่มจ่ายเงินได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาโดยคณะกรรมการกีฬาอาชีพ ได้พิจารณางบประมาณจำนวนกว่า 182 ล้านบาท เพื่อเตรียมช่วยเหลือกลุ่มกีฬาอาชีพ 13 ชนิด แบดมินตัน โบว์ลิ่ง ฟุตบอล กอล์ฟ สนุกเกอร์ เทนนิส ตะกร้อ วอลเลย์บอล บาสเกตบอล เทเบิลเทนนิส กีฬาแข่งรถยนต์ แข่งรถจักรยานยนต์ และ มวยไทย โดยผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ ทั้ง 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. นักกีฬาอาชีพ 2. บุคลากรกีฬาอาชีพ 3. สมาคมกีฬาอาชีพ 4. สโมสรกีฬาอาชีพ 5. ผู้จัดการแข่งขัน โดยจะเยียวยาคนละ 5,000 บาท 3 เดือน คาดจะเริ่มจ่ายเงินได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้

สำหรับกีฬามวย คณะกรรมการกีฬามวย ได้พิจารณางบประมาณช่วยเหลือเยียวยาบุคคลในวงการกีฬามวย ที่ขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย จำนวนกว่า 79 ล้านบาท ช่วยเหลือครอบคลุมทั้ง 7 กลุ่ม ได้แก่ นักมวย อายุ 15-17 ปี และนักมวย 18 ปีขึ้นไป ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน หัวหน้าค่ายมวย ผู้จัดการนักมวย ผู้จัดรายการแข่งขัน นายสนามมวย

ทั้งนี้ ในส่วนของสมาคม สโมสร จะได้รับเงินช่วยเหลือสมาคมหรือสโมสรละไม่เกิน 500,000 บาท และนักกีฬาจะได้รับคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยคาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ในลักษณะการจ่ายแบบครั้งเดียวรวมเป็นเงินคนละ 15,000 บาท ซึ่งกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จะนำส่งรายชื่อนักกีฬาและบุคลากรกีฬาอาชีพที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตาม พ.ร.บ.กีฬาอาชีพ ให้กระทรวงการคลังตรวจสอบสิทธิ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับมาตรการเยียวยา "เราไม่ทิ้งกัน" ที่มีการโอนเงินก่อนหน้านี้แล้ว

ที่มา: Thai PBS, 21/5/2563

นายจ้างนครหลวงถุงเท้าฯ ยอมจ่ายหนี้ลูกจ้าง-จ่ายให้แรงงานต่างชาติแค่ 62%

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2563 ที่สำนักงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ซอยหมอศรี ต.ท่าข้าม อ.สามพราน จ.นครปฐม เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม และเจ้าหน้าจากสำนักกาชาดจังหวัดนครปฐม ได้นำถุงยังชีพมาแจกจ่ายให้กับคนงานนครหลวงถุงเท้าไนล่อนจำกัด ทั้งแรงงานไทยและแรงงานพม่าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนงาน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 กลุ่มลูกจ้างของ บริษัทนครหลวงถุงเท้าไนล่อน จำกัด และเครือข่ายแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จ.นครปฐม ได้ไปยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เพื่อขอความเป็นธรรม กรณีลูกจ้างกว่า 180 ชีวิตถูกนายจ้างลอยแพนานกว่า 2 เดือน โดยนายจ้างอ้างผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 จึงไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้าง อีกทั้งบริษัทได้หักเงินเดือนลูกจ้างบางส่วนแต่กลับไม่นำส่งเงินประกันสังคม ทำให้ลูกจ้างเสียสูญสิทธิเรื่องการักษาพยาบาล นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องเงินสะสมที่นายจ้างไม่ทำตามข้อตกลง และเงินชดเชยเกษียณอายุ

นางสาวสุรินทร์ พิมพา ประธานสหภาพแรงงานนครหลวงถุงเท้าไนล่อน กล่าวว่า ภายหลังจากลูกจ้างได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดี กสร.ทำบางส่วนให้ได้รับการแก้ไขโดยมีเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่องลงพื้นที่ตรวจสอบ สอบถามอย่างทันท่วงที โดยเรื่องที่ได้รับการแก้ไข เช่น 1. การจ่ายเงินค่าจ้างให้กับพนักงานไม่ตรงตามวันที่กำหนดไว้ ซึ่งทางบริษัทฯได้นัดจ่ายเงินให้กับพนักงานในวันที่ 19 และ26 พฤษภาคม 2.กรณีที่นายจ้างเก็บเงินจากลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือนแต่ไม่ได้นำส่งสำนักงานประกันสังคมตามระเบียบ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 – เดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 7 เดือน ส่งผลทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับ และนำไปสู่การขาดสิทธิในการรับเงินเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม ตามมาตรา 33 กรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย ตามมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดนายจ้างยอมรับสภาพหนี้ลูกจ้างผู้ประกันตน

นางสาวสุรินทร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยังมีหลายประเด็นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ประเด็นเงินสะสมซึ่งเก็บจากลูกจ้างทุกเดือนๆ ละ 50 บาท และนายจ้างร่วมสมทบ เดือนละ 25 บาท รวม 75 บาท/เดือน/คน ซึ่งสะสมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 แต่มีผลบังคับจริงใช้ในปี พ.ศ. 2529 อย่างไรก็ตามนายจ้างไม่ได้เก็บเงินสะสมและสมทบเงินมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เมื่อสหภาพฯ ได้ทวงถามให้ปฏิบัติตามข้อตกลงกลับไม่ปฏิบัติตาม ทางสหภาพฯ จึงแจ้งยกเลิกโครงการและขอให้นายจ้างคืนเงินสะสมรวมเงินสมทบนายจ้าง เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท/คน แต่จนถึงปัจจุบันนายจ้าง ยังไม่ได้คืนเงินให้กับลูกจ้าง รวมถึงลูกจ้างบางคนที่ได้เกษียณอายุงานออกไปแล้วก็ยังไม่ได้รับเงินคืนในส่วนนี้ นอกจากนี้ยังมีกรณีเงินชดเชยเกษียณอายุของลูกจ้าง 16 คน บางคนได้รับบ้างแล้ว แต่ยังไม่ครบและจะมีเกษียณตามมาอีกหลายคน ซึ่งเกรงนายจ้างจะไม่จ่าย

“แรงงานพม่าที่นายจ้างไม่นำเข้าสู่ระบบประกันสังคมราว 50 คน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะไม่ได้รับสิทธิใดๆ ล่าสุดนายจ้างยอมรับว่าไม่ได้นำส่งจริง และยอมช่วยเหลือในในช่วงโควิดโดยจ่ายเงินให้ลูกจ้างพม่า 62% เท่ากับลูกจ้าง มาตรา 33 กรณีว่างงาน ส่วนกรณีของนางวา แรงงานพม่าท้อง 4 เดือน ขณะนี้ได้รับความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานเพื่อเตรียมกลับประเทศ”นางสาวสุรินทร์ กล่าว

นางวากล่าวว่า อยากกลับบ้านที่พม่า แต่รอค่าจ้างจากนายจ้างก่อน ซึ่งรอมาเกือบ 2 เดือนแล้ว ตอนนี้ไม่รายได้ใดๆก็อยากกลับไปคลอดลูกที่บ้านในเมืองมัณฑะเลย์เพราะอยู่ประเทศไทย หากคลอดลูกต้องใช้เงินเยอะ โดยล่าสุดได้มีเจ้าหน้าที่ของสถานทูตพม่าประจำประเทศไทยเดินทางมาหา พร้อมแจ้งว่านำรถตู้มารับไปส่งให้ถึงบ้าน หากข้ามแดนไปฝั่งพม่าแล้ว แต่ต้องถูกกักตัว 21 วัน ส่วนการเดินทางจากนครปฐมไปด่านแม่สอดนั้น ทางเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้แจ้งว่าจะมีรถมารับไปส่ง

“แต่ยังรู้ว่าจะได้เดินทางเท่าไร เพราะต้องรอเงินค่าจ้างก่อน จริงๆควรได้รับค่าจ้างที่ค้างไว้กว่า 1หมื่นบาท แต่ล่าสุดได้ยินว่านายจ้างจะจ่ายให้ 62% ซึ่งก็คงเหลือ 5-6 พันบาท ตอนนี้ขอให้ได้ก็ดีแล้วเพราะจะได้เอาเงินไปคลอดลูก เพราะช่วงนี้สามีก็ไม่ได้ทำอะไร ยังดีที่ตอนนี้มีคนเอาข้าวสารมาบริจาค”นางวา กล่าว

ด้านนางพิสมัย นิธิไพบูลย์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า หากนายจ้างไม่นำส่งเงินประกันสังคมที่เก็บจากลูกจ้างไปแล้วเป็นการทำผิดกฎหมาย และต้องถูกลงโทษเปรียบเทียบปรับ อย่างไรก็ตามไม่แน่ใจว่ากรณีขอ
ลูกจ้างแรงงานต่างด้าวนั้น นายจ้างได้นำมาขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประกันสังคมหรือไม่ ซึ่งขอตรวจสอบข้อมูลกับสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมก่อน

ที่มา: สยามรัฐ, 21/5/2563

รมว.แรงงาน ยันประกันสังคมมีงบฯ จ่ายเยียวยา ยอมรับล่าช้า เสียเวลาตรวจสอบ เหตุระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช่ออนไลน์

21 พ.ค. 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์เรื่องเงินเยียวยาในส่วนของประกันสังคม ว่าตนได้เชิญเลขาฯ ประกันสังคมมาพูดคุยแล้ว ยอมรับว่าต้องล่าช้าเพราะโดยลักษณะของระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช่ออนไลน์ต้องตรวจสอบ เราจะต้องรอ คงต้องใช้เวลาแก้ไข และการอนุมัติก็ต้องผ่านการตรวจสอบและเซ็นลงนามถึงสองคน คือเมื่อลูกจ้างขอมานายจ้างก็ต้องเซ็น ภาคราชการก็ต้องตรวจสอบก่อนที่จะจ่ายเงิน ขณะนี้ทางประกันสังคมสามารถรายงานให้คนทราบได้ทุกวันว่า วันนี้จ่ายได้กี่คน วันนี้ติดอยู่กี่คน กำลังพัฒนาอยู่

ส่วนการชดเชยไม่มีปัญหา เข้าใจว่าลูกจ้างเป็นห่วงว่าเงินจะหมด แต่ไม่หมด เพราะถ้าประมาณการว่าคนละ 20,000 กว่าบาท ถ้าคิด 1 ล้านคนก็สองหมื่นกว่าล้าน ก็ต้องรอดูก่อนว่าเขากลับไป ทำงานกันหมดแล้วหรือยังมีตกงานอีก จำนวนเพิ่มขึ้นหรือไม่ ตอนนี้ขอมาเพิ่มวันหนึ่ง 30,000 ราย ตนได้รับข้อมูลแล้วก็ต้องรอดู ทุกวันว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 4 หมื่น หรือ 5 หมื่นหรือไม่ หรือว่ามีกลับไปทำงานกันมากขึ้น ต้องรอดู 1-2 เดือน ด้วยว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มนิ่งหรือไม่ เปิดห้างสรรพสินค้าแล้ว พนักงานสามารถกลับไปทำงานได้กี่คน ผู้ผลิตขายของได้มากขึ้นหรือไม่ หรือหันไปซื้อออนไลน์กันหมด เราจะต้องประเมินจากของจริงด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/5/2563

สภาการสาธารณสุขฯ ร้อง กมธ.สธ. ช่วย 'หมออนามัย' ค่าตอบแทนวิชาชีพ-บรรจุ ขรก.สู้โควิด 19

21 พ.ค. 2563 ผู้แทนสภาการสาธารณสุขชุมชน นำโดยนายเอนก ทิมทับ กรรมการและเลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน ยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีการจัดสรรเงินค่าตอบแทนวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน และการบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีนางนาที รัชกิจประการ รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ

นายอเนก ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้ายื่นหนังสือดังกล่าวต่อกรรมาธิการสาธารณสุขฯ ว่า วันนี้ตนและผู้แทนสภาฯประมาณ 8 คน ได้เดินทางมายังสภาฯ เพื่อขอความเห็นใจแก่กรรมาธิการสาธารณสุขถึง 2 ประเด็น คือ กรณีค่าตอบแทนวิชาชีพ และการติดตามเรื่องการบรรจุลูกจ้างสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นข้าราชการตั้งใหม่จากกรณีการปฏิบัติงานโควิด-19 โดยเรื่องการบรรจุเป็นข้าราชการนั้น ในส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาชีพด้านสาธารณสุข เรียกว่า วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ปัจจุบันกระจายทำงานกว่า 7-8 หมื่นคนทั่วประเทศ เป็นสมาชิกในสภาการสาธารณสุขฯ 4 หมื่นกว่าคน และสอบขึ้นทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพแล้วกว่า 21,000 คน โดยทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ประมาณ 80-90% ที่ส่วนใหญ่จะเรียกกันว่า หมออนามัย ซึ่งหมออนามัยจะรวมกลุ่มนี้และกลุ่มหมอ พยาบาลที่ทำงานในชุมชนนั่นเอง

“ในเรื่องการบรรจุข้าราชการสำหรับคนกลุ่มนี้สำคัญมาก เพราะพวกเราทำงานร่วมกับพื้นที่มาตลอด ทั้งอสม. บุคลากรสาธารณสุข เคาะประตูบ้าน คอยตรวจคัดกรองผุ้เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อโควิด19 แต่ปัจจุบันยังเป็นลูกจ้าง ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ แม้ล่าสุดมติครม.ได้ให้ทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรการบรรจุตามบริบทนั้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยกลุ่มวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนจะอยู่ในระยะที่ 3 จำนวน 7,438 อัตรา ตั้งแต่เดือนพ.ย.2563เป็นต้นไป ซึ่งพวกเราอยากขอความเป็นธรรมให้การบรรจุพร้อมกันทั้งหมด เนื่องจากการรอถึงระยะ 3 ค่อนข้างมีความไม่แน่นอน เนื่องจากทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น ขอให้บรรจุพร้อมกันตั้งแต่รอบแรก หรือหากไม่ทันรอบที่ 2 ให้บรรจุช่วงเดือนส.ค.ก็ยังดี” กรรมการสภาฯ กล่าว

นายอเนก กล่าวอีกว่า ส่วนจำนวนตัวเลขการบรรจุ 7,438 อัตรา ทางพวกตนไม่ก้าวล่วง ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข แต่ขอเพียงได้รับการบรรจุรอบเดียวกันทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาได้ประสานขอเข้าพบเพื่อขอความเห็นใจกับทางกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่สามารถเข้าพบได้ จึงได้เดินทางมาขอความเห็นใจกับทางกรรมาธิการสาธารณสุข โดยทางกรรมาธิการฯ รับปากว่าจะหารือกับทางกระทรวงฯ และทางคุณนาที รัชกิจประการ รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข รับปากจะปรึกษาท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

นายอเนก กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องค่าตอบแทนนั้น เป็นการขอความช่วยเหลือในเรื่องการจัดสรรเงินค่าตอบแทนประเภทค่าตอบแทนวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่ไม่เคยได้รับเงินส่วนนี้เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งสภาการสาธารณสุขชุมชนได้เสนอเรื่องนี้ และติดตามสอบถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้วเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2562 และวันที่ 31 ม.ค.2563 จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับทราบข้อมูลใดๆ จึงขอความเห็นใจเรื่องนี้

“ทุกวันนี้ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนเงินเดือนที่ได้รับน้อยมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกจ้าง ทั้งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.) และพนักงานราชการ และอีกกลุ่มลูกจ้างรายเดือน บ้างก็รายคาบ หรือการจ้างรายวัน ซึ่งกลุ่มหลังไม่ได้รับสิทธิ์สวัสดิการอะไรเลย อย่างเงินเดือนที่ได้รับก็จะตามตำแหน่งเจ้าพนักงาน ซึ่งใช้วุฒิต่ำกว่าป.ตรี แต่ความเป็นจริงจบป.ตรีกันหมดโดยได้รับเงินเดือนประมาณ 8 พันกว่าบาท แต่หากได้บรรจุตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขก็จะได้รับเป็น 1.2 หมื่นบาท น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเสียอีก” กรรมการและเลขาฯสภาฯ กล่าว

ที่มา: Hfocus, 21/5/2563

กรมการจัดหางานหารือ ILO ส่งเสริมการจ้างงานเยาวชนในไทย

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวภายหลังการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ร่วมกับผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ว่า การประชุมจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือเพื่อระบุขอบเขตความร่วมมือที่มีศักยภาพร่วมกันด้านการจ้างงานเยาวชน อายุ 15-24 ปีระหว่างรัฐบาลไทยและ ILO ในปี 2563 รวมถึงส่งเสริมโอกาสการจ้างงาน การพัฒนาทักษะ ความสามารถในการจ้างงานและการแนะแนวอาชีพ โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนหญิงและผู้พิการหญิง

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวด้วยว่าในการจ้างงานเยาวชนในประเทศไทยนั้น พบว่ายังคงมีช่องว่างระหว่างความสามารถและความต้องการแรงงานที่ไม่ตรงกัน และอัตราการว่างงานของเยาวชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2553 แต่ภาพรวมของอัตราการว่างงานทั้งหมดก็ยังคงต่ำ ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 เยาวชนหญิงมีแนวโน้มจะว่างงานมากกว่าเยาวชนชาย สัดส่วนขนาดใหญ่ของแรงงานเยาวชนเกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรมและการบริการด้านการตลาด

อย่างไรก็ดีปัจจุบัน ILO ได้ร่วมกับภาคกิจการเพื่อสังคม เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวเนื่องกับงานของเยาวชนผู้พิการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์เศรษฐกิจละลอตัว ซึ่งจากอุปสงค์ทั่วโลกและการหยุดชะงักด้านอุปทานที่มีผลมาจากการระบาด ของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจและตลาดแรงงานในประเทศไทย ส่งผลให้เยาวชนมีความเสี่ยงในเรื่องความต้องการทางด้านตลาดแรงงานในประเทศไทยและเยาวชนจำนวนมากทำงานอยู่ในภาคส่วนที่มีความเสี่ยง เช่น ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกและธุรกิจประกอบการโรงแรมและบริการด้านอาหาร จากแนวโน้มเหล่านี้ จึงควรพิจารณาถึงความจำเป็นในการจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาทักษะความสามารถและโอกาสการจ้างงานที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลสำหรับเยาวชนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เช่นเดียวกับแรงงานเยาวชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากโควิด-19

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 21/5/2563

แพทย์เผยอาการของพยาบาลที่โหมงาน COVID-19 จนเส้นเลือดในสมองแตกดีขึ้น ไม่ต้องผ่าตัดเพิ่ม

19 พ.ค. 2563 ศ.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงความคืบหน้าอาการของนางรัชนีกร ถิรตันตยาภรณ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลถลาง จ.ภูเก็ต โหมทำงานป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จนเส้นเลือดในสมองแตกต้องส่งตัวมารักษาที่ รพ.ศิริราช ว่าเมื่อเช้าที่ผ่านมา (19 พ.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมาเยี่ยม ซึ่งอาการภาพรวมดีขึ้น สามารถพูดคุยตอบโต้ได้ และเชื่อว่าอาการจะดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเพิ่ม

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 19/5/2563

สหภาพการบินไทยเผยสิทธิ์ชดเชยพนักงานบินไทยหากถูกเลิกจ้าง

นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย กล่าวว่า หลังจากที่การบินไทยเข้าสู่ขบวนการฟื้นฟูกิจการภายในศาลล้มละลายกลาง บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) จะหลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ และหลุดพ้นจากพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 ทำให้สิทธิคุ้มครองแรงงานตามกฎหมายดังกล่าวจะหมดไปด้วย

นายนเรศ กล่าวต่อว่า โดยอาจจะเข้าสู่สิทธิ์ตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 แทน ซึ่งขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการตัวแทนที่เข้ามาบริหารแผนจะเข้ามาปรับโครงสร้างองค์กรทุกหน่วยงานเพื่อให้กิจการของบริษัทกลับมาเดินต่อไปได้ ดังนั้น ในส่วนของบุคคลากรของบริษัทซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 2.1 หมื่นคน ต้องยอมรับว่าบางส่วนอาจจะต้องถูกเลิกจ้างในระหว่างที่บริษัทกำลังจะเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเป็นสิทธิ์ตามกฎหมายของนายจ้าง ที่จะบอกเลิกจ้าง ก่อนที่พนักงานจะอายุครบเกษียณ ส่วนโครงการร่วมใจจากองค์กรคงไม่มีแน่นอน

ทั้งนี้ สหภาพฯขอชี้แจงว่า พนักงานทุกคนที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับการชดเชยตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ โดยจะได้รับสิทธิคุ้มครองตามกฎหมายเหมือนกัน โดยจะมีหลักเกณฑ์ใหม่ในการจ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง แบ่งออกเป็น ดังนี้

1.ทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน 2.ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ได้รับค่าชดเชย 90 วัน 3.ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี ได้ค่าชดเชย 180 วัน 4.ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปี ได้ค่าชดเชย 240 วัน 5.ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ได้ค่าชดเชย 300 วัน และ 6.ทำงานครบ 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน สำหรับเงินชดเชยเลิกจ้าง จะจ่ายให้ในกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยที่ไม่ได้มีความผิด หรือไม่ได้ลาออกเองโดยสมัครใจ

"วันนี้ผมต้องพูดความจริงกับเพื่อนพนักงาน มันเป็นความจริงที่เจ็บปวด ผมในฐานะประธานสหภาพไม่อยากจะพูด แต่ผมต้องพูดเพื่อให้พวกเราพนักงาน รับรู้ความเป็นจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อเพื่อนพนักงานจะได้วางแผน และเตรียมตัวเตรียมใจ รองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงกับพวกเราต่อจากนี้นี่คือภารกิจสุดท้ายที่ผมจะทำได้ ก่อนสหภาพถูกยุบ" นายนเรศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เดิม นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ได้นัดประชุม staff meeting พนักงานของการบิน เพื่อชี้แจงถึงฐานะของการบินไทยหลังจากเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายกลาง

แต่ล่าสุดพบว่า มีการแจ้งยกเลิกการประชุมกะทันหัน โดยขอเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยระบุว่า นายจักรกฤศฏิ์ติดภารกิจหากพร้อมชี้แจงจะแจ้งให้พนักงานรับทราบอีกครั้ง ทำให้พนักงานหลายคนไม่สบายใจและกังวล เพราะส่วนใหญ่รอคอยการชี้แจงจากฝ่ายบริหารมานานท่ามกลางกระแสข่าวที่สับสนเกี่ยวกับฐานะบริษัทและอนาคนของพนักงานต่อจากนี้

ที่มา: ข่าวสด, 20/5/2563

สหภาพแรงงานการบินไทยคัดค้านกระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนหุ้นลง

เพจเฟซบุ๊ก TG UNION โพสต์ข้อความระบุว่า...สหภาพฯ การบินไทย ขอคัดค้านที่กระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนหุ้นลง โดยออก แถลงการณ์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เรื่อง จุดยืนของสหภาพแรงงานฯ ในเรื่องแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้ คนร. และ ครม.พิจารณา

จากการที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อเสนอแผนฟิ้นฟูกิจการบริษัทการบินไทยมาโดยตลอด และได้รับทราบข้อมูลล่าสุดของแผนฟื้นฟูฯที่กระทรวงคมนาคมได้เสนอ คนร.พิจารณา มี 2 ประเด็นหลักคือ

1.เสนอให้บริษัทการบินไทย ใช้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งบรรจุอยู่ในกฎหมายล้มละลายโดยผ่านกระบวนการศาลล้มละลายกลาง เป็นทางเลือกในการฟื้นฟูบริษัทฯ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวและเชื่อมั่นว่าข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม ในประเด็นนี้จะส่งผลดีกับบริษัทการบินไทยที่จะฟื้นฟูได้จริงและสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและผลกำไรดีกว่าเดิม

2.ประเด็นที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือครองหุ้นโดยกระทรวงการคลังลง 2% นั้น สหภาพฯขอแสดงจุดยืนคัดค้านตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมในประเด็นนี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

2.1 บริษัทการบินไทยกำลังเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการโดยกระบวนการทางศาล ดังนั้นการที่กระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทฯในเวลานี้ อาจส่งผลให้เจ้าหนี้ยื่นคัดค้านการร้องขอต่อศาลในการขอฟื้นฟูกิจการ โดยอาศัยบทบัญญัติในกฎหมายล้มละลายได้ เนื่องจากการที่บริษัทฯสามารถออกหุ้นกู้ และ/หรือขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน ทั้งในและต่างประเทศ เจ้าหนี้และนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในบริษัทฯ ได้ก็โดยอาศัยสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของบริษัทฯ ดังนั้นการลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลัง ในช่วงที่บริษัทฯกำลังจะเข้าแผนฟื้นฟูฯ จึงเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของบริษัทฯในสายตาของเจ้าหนี้และนักลงทุน

2.2 การลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังลงเหลือต่ำกว่า 50% จะส่งผลทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยถูกยุบไปตามกฎหมาย (พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543) ซึ่งจะส่งผลทำให้พนักงานของบริษัทฯไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานในช่วงการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งในแผนฟื้นฟูฯจะต้องมีการปรับลดพนักงาน ลด หรือยุบบางตำแหน่งงาน รวมถึงลดสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอื่นๆบางประการของพนักงาน ดังนั้นการลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังในช่วงนี้ จึงอาจทำให้ถูกมองได้ว่า รัฐไม่มีความจริงใจในการสนับสนุนการคุ้มครองแรงงานตามวิถีทางของกฎหมายคุ้มครองแรงงานและเลือกปฏิบัติในแนวทางที่ไม่คำนึงถึงสิทธิของลูกจ้าง

สหภาพฯ จึงไม่เห็นด้วยในการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังและจะคัดค้านจนถึงที่สุด

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย
18 พ.ค. 2563

ที่มา: สยามรัฐ, 19/5/2563

'ซันสตาร์' บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ประกาศเลิกจ้างพนักงานบางส่วน

เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2563 บริษัท ซันสตาร์ เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ย่านนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานบางส่วน พร้อมให้เหตุผลว่าเป็นผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของโลก และโรคระบาดไวรัส โควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบต่อกิจการผลิตอะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะคำสั่งซื้อชิ้นส่วนในการประกอบยานยนต์ไม่มี ที่มีอยู่ก็มีจำนวนน้อยกว่าปกติมากนั้น

บริษัทฯได้รับผลกระทบมากมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าบริษัทได้พยายามแก้วิกฤตดังกล่าวโดยใช้มาตรา 75 ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 แล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับคำสั่งซื้อจากลูกค้าได้
จึงทำให้บริษัทประสบปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงมากเพราะจำนวนการผลิตลดลงอย่างต่อเนื่องและขาดทุนตลอดมา บริษัทมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงงานบางส่วนโดยให้พ้นจากสภาพการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2563

โดยบริษัทจ่ายเงินเดือนถึงสิ้นเดือน พ.ค. 2563 ซึ่งพนักงงานทุกคนจะได้รับสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 18/5/2563

Agoda ปลดพนักงาน 1,500 คน 25% จาก 30 ประเทศ ซีอีโอย้ำ เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย

Agoda เว็บไซต์จองโรงแรมยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียปลดพนักงาน 1,500 คนหรือประมาณ 25% จากจำนวนพนักงานทั้งหมดใน 30 ประเทศทั่วโลก โดยซีอีโอ John Brown ให้คำมั่นว่านี่จะเป็นการปลดพนักงานออกครั้งแรกและครั้งสุดท้าย สิ่งแรกที่บริษัททำเพื่อเป็นการลดต้นทุนของธุรกิจคือการงดเงินเดือนของซีอีโอเอง แต่ผลกระทบจากโควิด-19 นั้นรุนแรงยืดเยื้อมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ Brown กล่าวกับพนักงานผ่านงาน town hall แบบ virtual เมื่อวันจันทร์ช่วงบ่ายที่ผ่านมา

โดยฝ่ายที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงก็คือ CEG หรือ Customer Experience Group, IT, การเงิน, ฝ่ายพาร์ทเนอร์, ฝ่ายการตลาด จะเป็นส่วนที่ต้องถูกปลดออกมากที่สุด นอกจากนี้ พนักงานอาวุโสระดับสูงก็จะถูกลดเงินเดือนชั่วคราวอยู่ที่ 20% ตั้งแต่เดือน 1 มิถุนนายน

ซีอีโอระบุในอีเมล์ถึงพนักงานตามด้วย virtual Town Hall ว่า ก่อนที่จะมีการตัดสินใจเช่นนี้ ได้ใช้ทุกมาตรการเข้มข้นที่จะช่วยลดต้นทุนของธุรกิจได้ การลดจำนวนพนักงานจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะทำ ซึ่งการตัดสินใจเช่นนี้เต็มไปด้วยความลำบากใจ แม้เราจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดหลักในเอเชียแปซิฟิกแล้ว แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ถือว่าหนักหน่วงและหยั่งรากลึกเกินกว่าจะคาดการณ์

ที่มา: Brand Inside, 19/5/2563 

สหภาพออมสิน ยื่น ก.คลัง ขอเบี้ยตรากตำ เหตุทำงานหนักดูแลประชาชนช่วงโควิด

เพจเฟซบุ๊ก สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน - สร.อส.โพสต์จดหมายถึงรมว.คลัง ระบุว่า วันจันทร์ที่ 18 พ.ค. นายปริญญา เนียมปูน รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน และกรรมการสหภาพฯ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณาจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (เบี้ยตรากตรำ) ให้แก่พนักงานและลูกจ้างธนาคารออมสิน

ซึ่งได้ตรากตรำทำงานหนักเพื่อรองรับมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงการคลังออกมาเพื่อดูแลเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19)

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสินเล็งเห็นถึงภารกิจต่างๆ ที่พนักงานและลูกจ้างธนาคารออมสิน ต้องให้บริการประชาชนนอกเหนือจากภารกิจปกติของธนาคาร และยังสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 จากการที่ประชาชนเข้ามาใช้บริการที่สาขาเป็นจำนวนมาก

การดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าว เป็นการให้บริการประชาชนที่นอกเหนือภารกิจตามปกติของธนาคารออมสิน ส่งผลให้พนักงานต้องอยู่ปฏิบัติงานที่สำนักงานจนมืดค่ำ มีเวลาอยู่กับครอบครัวน้อยลง เพราะต้องมาปฏิบัติงานในวันหยุด(เสาร์-อาทิตย์)

และยังสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จากการที่ประชาชนเข้ามาใช้บริหารที่สาขาของธนาคารเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติตามมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ของกระทรวงการครัง จึงเห็นควรพิจารณาจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (เบี้ยตรากตรำ) จำนวน 2 เท่าของเงินเดือนที่นอกเหนือจากเงินโบนัสประจำปี ให้กับพนักงานและลูกจ้างธนาคารออมสินด้วย

ทั้งนี้หากมีความคืบหน้าประการใดทางสหภาพแรงงานฯ จะแจ้งให้สมาชิกทราบโดยเร็วต่อไป

ที่มา: ข่าวสด, 19/5/2563

เผยนักบินส่วนใหญ่ 5 พันคนต้องหยุดงานเกือบทั้งหมด สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศคาดคนทำงานภาคการบินจะตกงาน 2.7 ล้านคน

กัปตันสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการบินไทยว่า ต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมวันนี้ (18พ.ค.) ในฐานะพนักงานก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล

ซึ่งคาดว่าแม้การบินไทยจะยื่นขอฟื้นฟูต่อศาลล้มละลาย การดำเนินธุรกิจบางส่วนของการบินไทยก็ยังคงต้องดำเนินต่อไปแบบคู่ขนานกันไป เพื่อหารายได้เข้ามายังบริษัท โดยปัจจุบันยังมีการให้บริการคลังสินค้าแต่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนบริการขนส่งคนโดยสารเส้นทางระหว่างประเทศคาดว่าการบินไทยอาจจะเริ่มให้บริการได้ในเดือน ก.ค.นี้ แต่อาจจะทำการบินเพียงบางเส้นทางเท่านั้น

“อุตสาหกรรมการบินของไทยทั้งระบบมีนักบินไทยรวมประมาณ 5 พันคน โดยเป็นนักบินของการบินไทย 1.4 พันคน ปัจจุบันนักบินส่วนใหญ่ต้องหยุดงานเกือบทั้งหมดจากปัญหาฐานะบริษัท เนื่องจากเที่ยวบินคนโดยสารหยุดบิน ซึ่งในส่วนของการบินไทยเองก็ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะเลือกวิธีแก้ปัญหาการบินไทยอย่างไร แต่หากกลับมาบินได้ในช่วง ก.ค. ก็อาจจะใช้นักบินแค่บางส่วนเท่านั้นจากทั้งหมด 1.4 พันคน ที่เหลือก็อาจจะต้องหยุดงานต่อไปอีก”กัปตันสนอง กล่าว

กัปตันสนอง กล่าวว่า สำหรับสายการบินอื่น ๆ ของไทย อีก 8 สายการบินที่กลับมาเริ่มบินบ้างแล้วในเส้นทางในประเทศก็ยังถือว่าเป็นส่วนน้อย เพราะบินได้บางเส้นทาง บางจังหวัดเท่านั้น ขณะที่เส้นทางระหว่างประเทศยังไม่มีใครสามารถบินได้ รวมทั้ง 8 สายการบินก็เริ่มมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องจากการเสนอขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องเงินเสริมสภาพคล่องแต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งหากไม่มีเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องคาดว่า ภายใน1-2 เดือนก็อาจจะยังไม่สามารถทำการบินได้เต็มรูปแบบนักบินก็คงต้องหยุดงานกันต่อ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ก็ยังดำเนินไปต่อเนื่องไม่รู้ว่าจะยุติเมื่อไหร่

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นบุคคลากรในอุตสาหกรรมการบินคนหนึ่งได้เคยยื่นข้อเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อขอสิทธิ์ช่วยเหลือเยียวยา 5พันบาทแก่บุคคลกรในอุตสาหกรรมการบินที่มีเงินเดือนเดือนละหมื่นกว่าบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมระบุว่าได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงการคลังแล้ว แต่ขณะนี้เรื่องก็เงียบหายไป

กัปตันสนอง กล่าวต่อถึง ภาพรวมธุรกิจสายการบินของโลกหลังจากประสบปัญหาไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดว่า สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือไออาต้า คาดการณ์ว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19ผ่านพ้นไปจะมีบุคคลากรด้านการบินทั่วโลกตกงานประมาณ 2.7 ล้านคน เนื่องจากสายการบินต้องหยุดทำการบินทั่วโลกส่งผลกระทบทำให้มูลค่าในธุรกิจการบินลดลง 55% หรือสูญหายไปราว10 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นสูงขึ้นจากการคาดการณ์ในช่วงเดือนมี.ค. 63 ที่คาดว่ามูลค่าในธุรกิจการบินจะลดลง 44% หรือสูญหายไปราว 8 ล้านล้านบาท

ที่มา: ข่าวสด, 18/5/2563

ก.แรงงานชี้ ประกาศข้อพิพาทแรงงานฯ เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พบกิจการที่มีข้อพิพาทยังไม่ยุติ 10 แห่ง

จากกรณีที่กระทรวงแรงงาน ออกประกาศ “ให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ เข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมแรงงานสัมพันธ์ และห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกฉินซึ่งออกตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งมีหลายสถานประกอบการสอบถามเข้ามาในสถานการณ์โควิด-19 ว่าจำเป็นต้องปิดหรือเปิด และลูกจ้างที่สถานประกอบการปิดกิจการเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ต้องกลับเข้าไปทำงานหรือไม่

วานนี้ (15 พ.ค. 2563) ที่กระทรวงแรงงาน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อธิบายว่า กรณีประกาศกระทรวงแรงงานตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากต้องการให้ข้อพิพาทแรงงานในกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ ยุติในสถานการณ์ที่มีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ดังนั้น ในสถานประกอบการต่างๆ ที่มีประกาศจากส่วนราชการให้หยุดเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่การปิดกิจการตามกระบวนการแรงงานสัมพันธ์

“กระบวนการทางด้านแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การยื่นข้อเรียกร้อง การเจรจาต่อรอง จนกระทั่งการเข้าสู่ข้อพิพาทแรงงาน ไกล่เกลี่ย นำไปสู่การปิดงานหรือนัดหยุดงาน ดังนั้น ในกระบวนการตั้งแต่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ การยุติปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉินกฎหมายจึงกำหนดให้ว่า เมื่อมีการพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ให้นำเข้าสู่กระบวนการชี้ขาดของคณะกรรมการ ซึ่งเป็นไตรภาคี ที่ประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ”

“ขณะเดียวกัน สถานประกอบการที่ใช้สิทธิปิดงานอยู่แล้ว หรือลูกจ้างมีการนัดหยุดงานอยู่แล้ว กฎหมายกำหนดให้นายจ้างที่ปิดงานต้องเปิดงาน และลูกจ้างที่นัดหยุดงานก็ขอให้กลับเข้าทำงาน ส่วนข้อพิพาทแรงงานที่เป็นปัญหากันอยู่ ก็ให้เข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โดยใช้ระยะเวลาเข้าสู่กระบวนการพิจารณา 60 วัน”

สำหรับ สถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2562 – 15 พ.ค. 2563 มีข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จากนายจ้าง 377 แห่ง มีลูก 280,018 คน ซึ่งยังไม่สามารถยุติได้ในขณะนี้ 65 แห่ง ส่วนกรณีที่มีการยื่นข้อเรียกร้องไปแล้ว มีการเจรจาต่อรอง และยังตกลงกันไม่ได้ กลายเป็นข้อพิพาทแรงงาน ขณะนี้มีอยู่ 68 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 61,069 คน ในจำนวนนี้ ยังไม่ยุติ 10 แห่ง มีกรณีที่มีการนัดหยุดงานก่อนหน้านี้ 2 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง กับกรณีนี้ 95 คน ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงาน ขณะที่กรณีที่มีการเจรจาตกลงกันได้ นำไปสู่การจดทะเบียนข้อตกลงการจ้างทั้งหมด 340 แห่ง ในจำนวนนนี้ หากคิดเป็นตัวเงินที่ลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์อยู่ที่ 25,640 ล้านบาท

สำหรับ ข้อพิพาทแรงงานที่ยังไม่ยุติขณะนี้ซึ่งมีทั้งหมด 10 แห่ง แบ่งเป็น ในพื้นที่กทม. 2 แห่ง ได้แก่ กิจการร้านอาหาร มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องราว 1,200 คน และ กิจการบริการการวิจัย ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 240 คน จ.สมุทรปราการ 3 แห่ง ได้แก่ กิจการสิ่งทอ ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 240 คน กิจการรถเช่า ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 123 คน และ กิจการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 1,275 คน จ.ชลบุรี 2 แห่ง ได้แก่ กิจการผลิตเครื่องปรับอาการ ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 23 คน และ กิจการชิ้นส่วนยานยนต์ ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 450 คน จ.ระยอง 1 แห่ง ได้แก่ กิจการประกอบเครน ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 59 คน และอยุทธยา 2 แห่ง ได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนพลาสติก ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 61 คน และ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 70 คน

“ในจำนวนข้อพิพาทแรงงานที่ยังไม่ยุติ มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 3,741 คน จากลูกจ้างทั้งหมด 17,254 คน หลังจากออกประกาศไป ทั้ง 10 แห่งต้องเข้าสู่กระบวนการชี้ขาด โดยผู้ตัดสินชี้ขาด คือ คณะกรรมการส่วนกลางระดับประเทศ เพราะไกล่เกลี่ยแล้วยังตกลงกันไม่ได้” นายอภิญญา กล่าว

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ออกประกาศไปตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 25 และ 36 ระบุว่า หากประเทศมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐมนตรี ต้องออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ เข้าสู่กระบวนการชี้ขาด ที่มีการปิดงานก็ข้อให้กลับเข้าไปทำงานและส่งข้อพิพาท แรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เข้าสู่กระบวนการชี้ขาด ซึ่งหมายรวมถึงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในทุกกรณี แต่เป็นการประกาศเพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น เพราะไม่สามารถยืดเยื้อได้เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น ต้องเข้าสู่การชี้ขาดของคนกลาง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 16/5/2563 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net