นักวิเคราะห์มองผู้นำไต้หวัน ไช่อิงเหวิน ต้องเผชิญความท้าทายอย่างหนักตลอด 4 ปีข้างหน้า

หลังจากที่ไช่อิงเหวิน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานนี้ นักวิเคราะห์ก็มองเธอต้องรับศึกหนักตลอด 4 ปีหลังจากนี้เพราะการกดดันที่หนักข้อขึ้นจีนซึ่งต้องการควบรวมไต้หวันเป็นของตัวเอง ขณะเดียวกันความสำเร็จของไต้หวันในเรื่องการจัดการกับ COVID-19 ที่ได้รับการชื่นชมจากนานาชาติจะกลายมาเป็นสิ่งที่ช่วยให้ไต้หวันเผชิญหน้ากับสถานการณ์เหล่านี้ได้หรือไม่


ไช่ อิงเหวิน สาบานตนเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสาธารณรัฐจีน หรือ ไต้หวัน แฟ้มภาพเมื่อปี 2016

ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินของไต้หวันเพิ่งจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เธอเป็นผู้นำที่กำลังได้รับความนิยมสูงมากอย่างเป็นประวัติการณ์ ทั้งจากคะแนนสำรวจความนิยมประชาชนในไต้หวันเอง และจากความชื่นชมจากนานาชาติในเรื่องความสำเร็จของการจัดการการระบาดหนักโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดโรค COVID-19

ไต้หวันที่มีประชากร 23 ล้านคน มีจำนวนผู้ได้รับการตรวจว่าติดเชื้อไวรัสตัวนี้เพียง 440 กรณี และมีผู้เสียชีวิตเพียง 7 รายเท่านั้นถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่อยู่ติดกับจีน ที่รัฐบาลไต้หวันประสบควาสำเร็จในเรื่องนี้เป็นเพราะการตรวจคัดกรองโรคและติดตามผลมาตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้ไม่ต้องอาศัยการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดแบบในประเทศอื่นๆ ทำให้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่มาก

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ก็มองว่าในการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวันผู้นี้อาจจะต้องรับศึกหนักมากกว่าเดิม ทั้งจากการกดดันและปฏิบัติการก้าวร้าวจากจีนแผ่นดินใหญ่ จีนพยายามอ้างสิทธิเหนือประเทศไต้หวันว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ของประเทศตัวเองมานานแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการเรียกร้องตัดสายสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจีนอาจจะเกิดมากขึ้นจากภายในไต้หวันเท่านั้น จากที่เศรษฐกิจของไต้หวันต้องพึ่งพาเรื่องการส่งออกมากและมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับผลกระทบร้อยละ 4 เพราะการระบาดหนักของ COVID-19 ทำให้อุปสงค์ในตลาดโดยหลักๆ ลดลง

นาตาชา คัสซัม นักวิจัยจากสถาบันโลวีในออสเตรเลียกล่าวว่า ไช่อิงเหวินจะต้องเผชิญกับความท้าทายมหาศาลในตลอด 4 ปีข้างหน้า เธอจะต้องแสดงให้เห็นสมรรถนะและความพร้อมในแบบเดียวกับกับที่เธอเคยแสดงให้เห็นในช่วงการระบาดของ COVID-19

ถึงแม้ว่ามาตรการที่รวดเร็วและครอบคลุมของรัฐบาลไช่อิงเหวินจะช่วยให้เธอได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลก แต่การที่ไต้หวันได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามก็ทำให้ความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่แย่ลง

เจ ไมเคิล โคล นักวิเคราะห์จากสถาบันโกลบอลไต้หวันที่เป็นองค์กรผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ กล่าวว่าการระบาดหนักของ COVID-19 ทำให้เกิดความตึงเครียดในคาบสมุทรมากขึ้นจากการที่จีนแผ่นดินใหญ่ทำการปิดข่าวเรื่องการระบาดในอู่ฮั่นช่วงระยะต้นๆ ตรงกันข้ามกับไต้หวันที่มีปฏิกิริยาโต้ตอบไวรัสอย่างรวดเร็วและมีกาารเปิดให้รับรู้ข่าวสาร นั่นทำให้ทั่วโลกมีมุมมองต่อไต้หวันต่างไปจากจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ไม่ชอบใจในเรื่องนี้ ทำให้จีนอาจจะพยายามทำลายสิ่งที่ไต้หวันได้รับมาในทางยุทธศาสตร์โดยการทำตัวระรานมากขึ้น

ความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันมีสาเหตุมาจากความคลุมเครือในเรื่องสถานะของพื้นที่อาณาเขตเกาะไต้หวันเอง ซึ่งประเทศไต้หวันในปัจจุบันมีที่มาจากสงครามกลางเมืองจีนที่ฝ่ายของเหมาเจ๋อตุงสู้รบกับฝ่ายของเจียงไคเช็ก ทำให้ฝ่ายของเจียงไคเช็กถอยร่นไปอยู่ที่ไต้หวันและเรียกชื่อว่า "สาธารณรัฐจีน" (ซึ่งเป็นชื่อทางการของไต้หวัน) ในปี 2492 และหลังจากนั้นฝ่ายของเจียงไคเช็กก็เลิกล้มความตั้งใจจะกลับไปยึดจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะเดียวกันกลุ่มของพวกเขาที่อยู่ในไต้หวันก็ไม่ได้ประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตามอัลจาซีราระบุว่าการที่ไต้หวันมีกองทัพของตัวเองและมีกระทรวงการต่างประเทศของตัวเอง ก็ทำให้ไต้หวันมีอัตลักษณ์เฉพาะของตัวเอง จากการสำรวจเมื่อไม่นานนี้ก็พบว่าประชากร 2 ใน 3 ของประเทศมองว่าตัวเองไม่ใช่ชาวจีน โพลสำรวจอีกชุดหนึ่งในเดือน ต.ค. 2562 ระบุว่าประชากรเกือบ 1 ใน 3 ของไต้หวันสนับสนุนให้ไต้หวันเป็นอิสระ ขณะที่ร้อยละ 25 ระบุว่าพวกเขาอยากให้คงสถานะแบบกำกวมนี้ไว้

ฝ่ายรัฐบาลจีนนั้น ผู้นำคนปัจจุบันคือสีจิ้นผิง ดูจะต้องการหาที่ทางให้ตัวเองในประวัติศาสตร์ ในฐานะผู้ที่ทำให้ไต้หวันกลับมาเป็นของจีน ในสุนทรพจน์ปี 2562 เขาประกาศถึง "จีนหนึ่งเดียว" และขู่ว่าถ้าหากไต้หวันพยายามแยกตัวเป็นอิสระก็จะโต้ตอบด้วยกำลังทหาร

ไช่อิงเหวินโต้ตอบท่าทีก้าวร้าวของจีนด้วยการบอกให้จีนเคารพไต้หวัน และกล่าวย้ำว่าไต้หวันเป็นประเทศอิสระอยู่แล้ว เธอกล่าวเน้นย้ำในเรื่องนี้อีกในช่วงการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ไช่อิงเหวินยังเรียกร้องให้มีการเจรจาหารือรวมถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่ทางการจีนก็กลับกล่าวหาผู้นำไต้หวันว่าเป็นพวกแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนคิดกับไต้หวันแบบนี้มานานแล้ว

นับตั้งแต่ไช่อิงเหวินชนะการเลือกตั้งในสมัยแรกเมื่อปี 2559 จีนก็ตัดการสื่อสารกับรัฐบาลไต้หวันและเรียกร้องให้ 7 ประเทศตัดสายสัมพันธ์ทางการทูตจากไต้หวันไปสู่จีน นอกจากนี้ยังพยายามบีบเค้นเศรษฐกิจไต้หวันด้วยการห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปเยือนไต้หวันด้วย

แต่การกระทำของจีนก็ส่งผลย้อนแย้ง เพราะนักสังเกตการณ์เล็งเห็นว่าการกระทำของจีนส่งผลตรงกันข้ามคือกลับส่งผลตรงกันข้ามทั้งต่อฮ่องกงและไต้หวัน คือทำให้ไช่อิงเหวินได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้ง ม.ค. ปีนี้ โดยที่ความนิยมของเธอก็มาจากการแสดงออกสนับสนุนการประท้วงในฮ่องกงด้วย

การยืนกรานต้านทานอำนาจจากจีนนี้เองกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ไช่อิงเหวินได้รับความนิยมมากที่สุดเทียบกับผู้นำคนก่อนๆ ในไต้หวัน เธอยังกล่าวอีกว่าการที่เธอชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่สองเป็นการส่งสารให้จีนเคารพในอธิปไตยของไต้หวัน แต่ทางการจีนก็กลับเพิ่มกำลังทหารและเพิ่มการกดดันทางการทูตต่อไต้หวันมากขึ้น

ในช่วงไม่กี่เดือนที่่ผ่านมา กองทัพจีนรุกล้ำเส้นกึ่งกลางของพื้นที่น่านน้ำคาบสมุทรไต้หวันอย่างน้อย 3 ครั้ง ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาจีนได้เคลื่อนกำลังเรือบรรทุกอากาศยานและเรือรบ 5 ลำเข้าไปใกล้กับคาบสมุทรมิยาโกะ นอกจากนี้จีนยังขู่ว่าจะตัดสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเอสวาตินีในทวีปแอฟริกาถ้าหากเอสวาตินีไม่ยอมตัดสายสัมพันธ์กับไต้หวัน

โคลกล่าวว่าในอนาคตจีนอาจจะยิ่งพยายามกดดันไต้หวันมากกว่านี้ นอกจากการกดดันทางการทหารและทางการทูตแล้ว อาจจะมีการยกระดับสงครามการเมืองเพื่อทำลายประชาธิปไตยในไต้หวันและทำลายความสามารถของไต้หวันในการดำรงอยู่ในฐานะรัฐที่ทำงานประสานกันได้

อย่างไรก็ตามโคลมองว่าความสำเร็จทางด้านการป้องกันการระบาดของ COVID-19 ของไต้หวันก็มีข้อดีในเรื่องสร้างสายสัมพันธ์ทางการทูตให้พวกเขาแก้ไขปัญหาจากจีนได้เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือการที่พวกเขาใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากขึ้น

สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ค้ำประกันความมั่นคงให้กับไต้หวันได้ พวกเขาอาศัยจังหวะที่ความสัมพันธ์กับจีนแย่ลงในด้านข้อตกลงทางการค้าและเรื่องการระบาดของ COVID-19 ในการผูกสัมพันธ์กับไต้หวัน ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขอสหรัฐฯ ได้ลงนามในร่างกฎหมายใหม่ที่ระบุให้สหรัฐฯ ต้องกดดันเพื่อให้เกิดการยอมรับประเทศไต้หวันในที่ประชุมนานาชาติ ทำให้สื่อรัฐบาลจีนวิจารณ์ว่าสหรัฐฯ สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของไต้หวัน

แต่ทว่า นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งคือ บอนนี กลาเซอร์จากศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และกิจการนานาชาติก็ประเมินว่าเครื่องมือในสหรัฐฯ ในการจะช่วยเหลือไต้หวันยังมีจำกัดอยู่ดี โดยหลักๆ แล้วเพราะไต้หวันเองก็ถูกโดดเดี่ยวจากเวทีโลก ในตอนนี้มีอยู่เพียง 14 ประเทศเท่านั้นที่ยอมรับว่าไต้หวันเป็นพื้นที่อธิปไตย ทั้งนี้กลาเซอร์บอกอีกว่าแรงกดดันอีกอย่างหนึ่งที่ไช่อิงเหวินต้องเผชิญคือแรงกดดันจากจากกลุ่มสุดโต่งในพรรคการเมืองสายก้าวหน้าของเธอเองที่ต้องการให้ไช่อิงเหวินใช้โอกาสที่ไต้หวันมีภาพลักษณ์บวกเช่นนี้ในการผลักดันให้เกิดการประกาศอิสรภาพ

อีกกรณีหนึ่งที่กลาเซอร์วิเคราะห์ไว้ในฐานะผู้ที่ทำงานในโครงการวิเคราะห์อำนาจจีนคือเรื่องการใช้กำลังทหาร กลาเซอร์มองว่ายังเป็นไปได้ยากที่จะมีการใช้กำลังทหารโดยตรงจากจีนเพราะมันจะเป็นการเสี่ยงเกินไปในการปะทะกับสหรัฐฯ ในทางการทหารโดยตรง

ทั้งนี้ กลาเซอร์ก็บอกว่าเธอมีความเชื่อมั่นในเรื่องการรับศึกหนักของไช่อิงเหวิน เพราะไช่อิงเหวินในลายตาเธอเป็นคนที่เป็นนักฟังที่ดี มีความสุขุมเยือกเย็น และมีทักษะสูงในการเป็นนักเจรจา โดยก่อนหน้าที่เธอจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีไช่อิงเหวินเคยมีบทบาทในการเจรจาจนทำให้ไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลกหรือ WTO ได้ในปี 2545

กลาเซอร์ยังพูดถึงสมรรถภาพอีกอย่างหนึ่งของไช่อิงเหวินคือการที่เธอย้ำจุดยืนตัวเองแม้จะมีกระแสต่อต้านเช่นในกรณีการปฏิรูประบบบำนาญ การปฏิรูปบำนาญดังกล่าวเป็นการปรับลดบำนาญของทหารผ่านศึกลง โดยที่ทหารชั้นผู้น้อยจะถูกปรับลดน้อยกว่า สาเหตุที่มีการปรับลดเช่นนี้เพราะว่าต้องการลดภาระทางการเงินของรัฐบาล และถึงแม้ว่าเธอจะมีความนิยมดิ่งลงในสมัยแรกไช่อิงเหวินก็สามารถฟื้นฟูความนิยมกลับมาได้อีกครั้ง

เรียบเรียงจาก
'Immense challenges' as Taiwan's Tsai Ing-wen begins second term, Aljazeera, 20-05-2020
Taiwan passes bill to cut veterans’ pensions that sparked violent protests, South China Morning Post, 21-06-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท