คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (3): เมื่อกฎหมายปิดปาก ความยุติธรรมก็เงียบงัน

ชีวิตของหญิงคนหนึ่งกลายเป็นผู้นำยาเสพติดเข้าราชอาณาจักร ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต แต่สารภาพ ความยุติธรรมจึงปราณีลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 25 ปี คุณคิดว่าเธอนำเข้ายาบ้ากี่แสน กี่ล้านเม็ด ‘ประชาไท’ พาสำรวจกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดียาเสพติด ผ่านซีรีส์ ‘คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง’

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (1): ที่ไหนๆ ก็มีแต่ ‘พวกค้ายา’?, 21 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (2): กฎหมายปิดปาก, 22 พ.ค. 63

การเขียนกฎหมายเป็นทักษะที่ต้องร่ำเรียน เราไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเขียนแบบนี้ ทำไมต้องใช้คำคำนั้น แต่การเปลี่ยนถ้อยคำในกฎหมายไม่กี่พยางค์ส่งผลกระทบมากกว่าที่เราคิด

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ก่อนปรับปรุงปี 2560 มาตรา 15 วรรค 3 เขียนว่า

‘การผลิต นําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการผลิต นําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย’

ส่วนฉบับปรับปรุงฉบับที่ 6 มาตราเดียวกัน วรรคเดียวกัน เขียนว่า

‘การผลิต นําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย’

ตอนอ่านเร็วๆ ผมมองไม่เห็นความแตกต่าง แต่พออ่านทวนอีกรอบอย่างช้าๆ ถึงพบว่า ฉบับปรับปรุงมีการเปลี่ยนถ้อยคำลงเพียง 3 พยางค์

จาก ‘ถือ’ เป็น ‘สันนิษฐาน’ แค่นี้ แต่ส่งผลกระทบมากกว่าที่คาดคิด

ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดที่คุณไม่มีสิทธิ์ปริปาก

คำว่า ‘ให้ถือว่า’ ในกฎหมายยาเสพติดให้โทษก่อนการปรับปรุงปี 2560 เรียกว่าเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด ผลก็คือหากจําเลยมียาเสพติดประเภท 1 ตามปริมาณที่กําหนดถือว่าจําเลยมี ‘เจตนา’ กระทําความผิดในการผลิต นําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่ายทันที โดยไม่สามารถนําสืบเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานเด็ดขาดให้เป็นอื่นได้เลยและศาลเองก็ต้องถือข้อเท็จจริงไปตามนั้น แล้วพิพากษาลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด

ในแง่มุมของผู้บังคับใช้กฎหมาย จิตรนรา นวรัตน์ ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เล่าที่มาที่ไปให้ผมฟังว่า สมัยก่อนคำว่า เพื่อจำหน่าย ไม่ได้ใช้เกณฑ์จำนวนที่ตายตัว แต่ให้เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานจนทำให้เกิดการทุจริต บางสถานีตำรวจเห็นว่า 100 เม็ดถือว่ามีไว้เพื่อครอบครองเฉยๆ บางสถานีเห็นอีกอย่าง 20 เม็ดก็ถือว่าจำหน่ายแล้ว ทำให้กระบวนการเกิดความวุ่นวาย มีการลงโทษไม่เท่ากัน ปี 2545 จึงมีการแก้ไขเพื่อวางมาตรฐานให้เหมือนกัน

“ทำไมต้อง 15 เม็ด เขาก็ไปตามหมอมาถามว่ายาบ้าโดยทั่วไปน้ำหนัก 90 มิลลิกรัม ถ้าคนเสพยาทั่วๆ ไปจะเสพได้มากน้อยแค่ไหน หมอบอกว่าต้องไม่เกินวันละ 1 เม็ด ถ้ามากกว่านี้ร่างกายจะเอาไม่อยู่ ต่อมาก็ไปตามคนเสพมาถามว่าซื้อยามาเสพเก็บไว้ครั้งละกี่เม็ด พวกนี้บอกว่าไม่ซื้อเยอะหรอก เพราะมันแพง ซื้ออย่างมากก็เม็ดสองเม็ด หมดแล้วค่อยซื้อใหม่ ส่วนพวกที่เสพบ่อยๆ ก็บอกว่า ถ้ามีบางคนที่ไม่อยากไปซื้อบ่อยและพอมีเงิน ยังไงก็ตามก็จะไม่ซื้อมากเกินไป มากที่สุดที่ซื้อมาเก็บไม่เกิน 2 อาทิตย์ เมื่อย้อนกลับมาที่ข้อมูลของหมอว่าเสพได้วันละเม็ด สองอาทิตย์ก็ 14 เม็ด เม็ดที่ 15 ขึ้นไปจึงถือว่าเกินกว่าจะเก็บไว้เพื่อเสพ แต่ตัวนี้ไม่สามารถอธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ได้ เป็นการตั้งตัวเลขสมมติจากการสอบถามแพทย์กับคนที่ซื้อมาเสพ”

ทันทีที่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดมาเจอกับปริมาณที่ขีดไว้ชัดเจน ก็เป็นอันจบ ต่อให้คุณเป็นเพียงผู้เสพ ถ้าคุณมียาบ้า 16 เม็ด คุณจะเปลี่ยนฐานะจากผู้เสพเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยไม่มีทางหักล้างข้อสันนิษฐานเด็ดขาดนี้ได้

หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนของกฎหมายอาญามีหลัก 2 ข้อตามที่ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไว้ว่าบทสันนิษฐานต้องได้สัดส่วน ไม่ใช่สันนิษฐานว่าจำเลยผิดแน่นอนซึ่งถือว่าไม่ได้สัดส่วน และต้องเปิดโอกาสให้จำเลยพิสูจน์เป็นอย่างอื่นได้ จึงถือว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน บทสันนิษฐานเด็ดขาดนี้จึงขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนและหลักกฎหมายอาญา

‘พวกค้ายา’ กับยาบ้า 1 เม็ดครึ่ง

ปลายปี 2550 หญิงไทยคนหนึ่งเดินทางไปทำงานที่ประเทศลาวและกลับเข้าไทยในวันเดียวกัน เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ใช้ยาบ้าเพื่อให้มีแรงทำงาน เธอซื้อยาบ้าที่ฝั่งลาว 3 เม็ด แต่ไม่ได้เสพจนหมด เหลือติดตัวกลับมา 1 เม็ดครึ่งเพื่อเสพต่อ อย่างที่พอเดาเรื่องได้ เธอถูกเจ้าหน้าที่จับกุม และถูกอัยการส่งฟ้องตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ฐาน ‘นำเข้า’ ยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร

เบื้องต้นหญิงคนนี้ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนจะทำการสืบพยาน เธอเปลี่ยนใจเป็นรับสารภาพ เธออาจรู้ว่าคดีแบบนี้ ‘สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน’ ซึ่งผมจะกลับมาเล่าเรื่องนี้อีกครั้งในภายหลัง

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษเธอฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำคุก 1 ปีและปรับ 20,000 บาท แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 6 เดือน ปรับ 11,000 บาท ทั้งไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อนและยังมีลูกต้องเลี้ยงดู จึงให้รออาญา 2 ปี สังเกตได้ว่าศาลชั้นต้นไม่ได้ลงโทษเธอฐานนำเข้ายาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 แต่ยกฟ้อง โดยพิจารณาว่าการนำเข้าตามมาตรา 4 คือการนำเข้ามาในราชอาณาจักรที่เป็นอันตรายแก่สังคมอย่างรุนแรง เมื่อเธอมีปริมาณยาบ้าเพียง 1.5 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 0.17 กรัม จึงถือว่าเป็นจำนวนน้อยและมีไว้เพื่อเสพเองโดยไม่มีวัตถุประสงค์ที่เป็นอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรง ถือว่าไม่มีความผิดฐานนำเข้า

แต่พนักงานอัยการไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้เธอมีความผิดฐานนำยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 1,000,000 บาท แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 25 ปี ปรับ 500,000 บาท
ปกติในคดียาเสพติดจะจบแค่ชั้นอุทธรณ์เท่านั้น แต่ก็เปิดช่องให้ฎีกาได้หากศาลรับฎีกาด้วยเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ควรวินิจฉัย ซึ่งเธอผู้นี้ฎีกาว่าไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นว่าเธอนำยาบ้าเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็รับฟังไม่ได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เธอให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้นก็ฟังข้อเท็จจริงได้ว่าเธอนำยาบ้าติดตัวมาจากประเทศลาวเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อเสพ ฎีกาในประเด็นนี้จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วในศาลชั้นต้นมาโต้เถียงใหม่ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

เธอยังไม่ยอมแพ้ ฎีกาต่อว่าการกระทำของเธอเป็นความผิดฐานนำเข้าหรือไม่? นี่แหละประเด็นสำคัญ

เมื่อกฎหมายปิดปาก ความยุติธรรมก็เงียบงัน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่เธอนำยาบ้า 1.5 เม็ดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้อนุญาต ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการนำเข้าตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ มาตรา 4 มาตรา 15 และมาตรา 65 วรรค 1 แล้ว ซึ่งมีโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษลงกึ่งหนึ่งให้จำคุก 25 ปี ปรับ 500,000 บาท

ประเด็นคือมาตรา 15 ไม่ได้ระบุว่าปริมาณเท่าไหร่ถือเป็นการนำเข้ายาเสพติด บอกเพียงแค่ว่าหากเกินจากปริมาณที่กฎหมายกำหนด ‘ให้ถือว่า’ เป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือครอบครอง ‘เพื่อจำหน่าย’
แปลว่าอะไร?

แปลว่าแม้ยาบ้าเพียง 1 เม็ดครึ่งที่เก็บไว้เพื่อเสพ หากคุณถือข้ามแดนเข้ามา คุณคือผู้นำยาเสพติดเข้าประเทศ

หากตีความตามตัวอักษรแบบเถรตรงชนิดไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย การพิพากษาของศาลชั้นต้นย่อมถือว่าไม่เป็นไปตามตัวบท เนื่องจากมาตรา 4 ในกฎหมายยาเสพติดให้โทษให้นิยาม ‘นำเข้า’ แค่ว่า ‘นำหรือสั่งเข้าในราชอาณาจักร’ ไม่มีการขยายความว่า ‘ที่เป็นอันตรายแก่สังคมอย่างรุนแรง’

สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เห็นว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายยาเสพติดให้โทษ อนุสัญญาเกี่ยวกับยาเสพติดทั้ง 3 ฉบับ และหลักสิทธิมนุษยชน ในขณะที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์กลับตีความตามลายลักษณ์อักษรในกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงเจตนาของจำเลยว่านำเข้ามาด้วยเหตุผลใด และน่ากังขาว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของยาเสพติดสากลหรือไม่

นอกจากนี้ ความผิดที่เธอกระทำในคดียังเป็นความผิดที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงและไม่มีผู้เสียหาย แต่การลงโทษกลับหนักกว่าความผิดฐานฆ่าผู้อื่นที่มีระวางโทษตั้งแต่ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี ซึ่งศาลสามารถเลือกได้ว่าจะลงโทษอย่างไร แต่กับข้อหานำเข้าที่มีข้อสันนิษฐานเด็ดขาด ศาลลงโทษได้เพียงตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้นคือจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000-5,000,000 บาท ซึ่งถือได้ว่าขัดกับหลักการลงโทษที่ได้สัดส่วน

คุณคิดอย่างไรกับ ‘ไอ้พวกค้ายา’ เช่นเธอคนนี้?

และแล้วกฎหมายก็ยอมให้พูด

มีการสำรวจพบว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้มีกรณีเดียว แต่มากกว่า 100 ราย ปี 2560 จึงทำการปรับปรุงกฎหมายยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 6 โดยเปลี่ยนข้อความในมาตรา 15 วรรค 3 จาก ‘ให้ถือว่า’ ที่เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด เปลี่ยนเป็น ‘ให้สันนิษฐานว่า’ การจับกุมผู้ต้องหาที่นำยาเสพติด 1 เม็ดครึ่งเข้ามาในประเทศจึงต้องดูพฤติการณ์ร่วมด้วย มิใช่แค่ของกลางอย่างเดียว ซึ่งพนักงานสอบสวนหรืออัยการจะต้องหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานของตนว่าจำเลยมีความผิดตามที่สันนิษฐานหรือไม่ ส่วนจำเลยก็มีสิทธิแก้ต่างเพื่อหักล้างได้

ขณะเดียวกันก็มีการปรับปรุงมาตรา 65 ทั้งมาตรา แต่ในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะวรรคแรก ของเดิมเขียนไว้ว่า

‘ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท’

ส่วนเนื้อหาที่ปรับปรุงแล้วเขียนว่า

‘ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท’

จะเห็นว่ากฎหมายที่ปรับปรุงมีการกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำไว้ที่ 10 ปี เพื่อให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยได้ เช่น กรณีของหญิงคนดังกล่าว ศาลอาจเลือกลงโทษจำคุก 10 ปี แต่จำเลยรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่งคือ 5 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษที่ศาลมีอำนาจสั่งให้รอลงอาญาได้

ในมุมมองของเจ้าหน้าที่

ในส่วนของผู้ปฏิบัติงาน เมื่อมีการปรับปรุงกฎหมายแล้วเป็นอย่างไร แหล่งข่าวที่เป็นนายตำรวจ กล่าวว่า
“สมมติว่าผมจะจับครอบครองเพื่อจำหน่าย ถ้ารู้อยู่แล้วว่ามีพฤติการณ์จำหน่ายจริง แล้วเราล่อซื้อ พวกผมก็ไม่สงสัยในข้อสันนิษฐานว่าครอบครองเพื่อจำหน่าย กับสมมติว่าขับรถไปเจอแล้วตรวจค้นเจอยาบ้าในตัว 20 เม็ดซึ่งเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด แต่กฎหมายใหม่ให้สันนิษฐานว่า ถ้าเราค้นอื่นๆ ประกอบ ตรวจสอบโทรศัพท์มีการสนทนากับลูกค้าผ่าน Facebook ว่ากำลังเอายาบ้ามาส่ง ค้นในกระเป๋าแล้วยังเจอถุงแบ่งเล็กๆ ก็สันนิษฐานได้ว่ามีครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนร้อยเวร พนักงานสอบสวน อัยการ ศาลจะเห็นว่าอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในชั้นจับกุมเรามีความเห็นว่าอย่างนี้

“แต่ถ้าเราค้นในกระเป๋าแล้วเจอแค่นั้น ไม่มีอะไรเลย เราก็ต้องแจ้งข้อหาครอบครองเพื่อจำหน่ายไว้ก่อน ชุดจับกุมสันนิษฐานว่าอย่างนี้ ส่วนศาลจะตัดสินอย่างไรก็เป็นอำนาจของศาล ศาลอาจจะเห็นว่าเขามีไว้เสพ นั่นก็เป็นดุลยพินิจของศาล ไม่เกี่ยวกับตำรวจ”

ขณะที่จิตรนรา นวรัตน์ ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นว่าควรใช้ทั้งข้อสันนิษฐานเด็ดขาดและการดูพฤติการณ์ผสมผสานกัน เนื่องจากบางครั้งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถหาหลักฐานได้หรือได้ของกลางโดยบังเอิญ เช่น ตั้งด่านตรวจพบยาบ้า 15 เม็ดขึ้นไป โดยที่ไม่ได้มีสืบเสาะพฤติการณ์ของคนคนนี้มาก่อน

“ถ้าเป็นสมัยก่อน เรื่องนี้ก็จบ ดำเนินคดีได้ ตอนนี้ไม่ได้แล้ว เป็นความวุ่นวายอย่างหนึ่ง ฉะนั้น น่าจะมีบรรทัดฐาน สมมติว่า 15 เม็ดมันตึงไป เราอาจขยับมาเป็น 50 เม็ดขึ้นไปตายตัว ถ้าเราแก้กฎหมายอีกทีหนึ่งเกิน 50 เม็ด เด็ดขาด ถือว่าเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่ายเลยก็ทำงานง่าย เพราะคงไม่มีใครมีถึง 50 เม็ด แต่เราก็จะมีต่อไปว่าถ้าต่ำกว่า 50 เม็ดและมีพฤติการณ์ด้วยก็สามารถฟ้องได้ แต่ถ้าไม่มีพฤติการณ์ต้องใช้ 50 เม็ด

“แบบนี้จะดีกว่าที่ต้องหาหลักฐานให้ได้ว่าเพื่อจำหน่ายทุกกรณีไป ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถลงโทษได้ ฉะนั้น การแก้กฎหมายที่ปลดทั้งหมดเป็นพฤติการณ์อย่างเดียวก็มากไป ควรจะปรับตัวเลขใหม่ เพราะต่อมาเราพบว่ามีคนที่ซื้อเก็บไว้จริงและได้รับโทษสูงเกินไป แต่การที่จะให้ทุกรายที่มีเยอะๆ ได้รับประโยชน์ก็ดูไม่เป็นธรรมกับการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเพราะเขาไม่สามารถหาพยานหลักฐานได้ทุกกรณี ถ้าเห็นว่า 15 เม็ดต่ำไปก็ขยับขึ้นไปว่าถ้าเลยจำนวนนี้ปุ๊บ ถือเป็นเด็ดขาด แบบนี้ไม่ว่ากัน ถ้าต่ำกว่านั้นลงมาคุณก็ต้องหาพยานหลักฐานเพิ่ม”

ถึงกฎหมายจะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ดีที่สุดตามที่มีการศึกษาและคิดทำกัน อีกด้านหนึ่ง นโยบายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็สร้างแรงกดดันการทำงานแก่เจ้าหน้าที่ และแรงกดสุดท้ายก็ตกอยู่กับผู้ใช้ยาเสพติด

ซีรีส์ชุด คนกับยา 'ปีศาจ' บนตาชั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท