Skip to main content
sharethis

ครบรอบ 10 ปี Big cleaning day ที่หลายคนออกมาล้างกรุงเทพฯหลัง รบ.-กองทัพสลายเสื้อแดง มีคนขุดรูป 'วรรณสิงห์' ร่วมกิจกรรมดังกล่าวพร้อมถามได้ทบทวนตัวเองอย่างไร เจ้าตัวออกมาทวีตขอโทษที่ร่วมทำลายหลักฐานและการไม่ให้เกียรติผู้ตาย

ภาพวรรณสิงห์ ที่ร่วมกิจกรรม Big cleaning day เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่วันนี้มีคนนำมาโพสต์เพื่อทวงถามความคิดเห็นและการทบทวนตัวเองของเจ้าตัว

23 พ.ค.2563 ครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ Big cleaning day กิจกรรมที่คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพและกลุ่มกิจกรรมทางสังคมจำนวนหนึ่งออกมาล้างทำความสะอาดพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เพิ่งถูกรัฐบาลและกองทัพสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีการวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายจำนวนมา ด้านบวกคือเรื่องทำความสะอาดและการร่วมแรงร่วมใจเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่อีกด้านคือการทำลายหลักฐานและพยายามลืมเลือนความรุนแรงที่เกิดขึ้น ท่ามกลางกระแสที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่และอาคารที่ถูกเผาไหม้ มากกว่าพูดถึงผู้ชุมนุมและผู้ที่ถูกปราบปรามหรือเสียชีวิต

วันนี้เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปีกิจกรรมดังกล่าว มีผู้นำภาพ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล พิธีกรรายการโทรทัศน์ที่เคยร่วมกิจกรรมดังกล่าวมาโพสต์ เพื่อตั้งคำถามว่า วรรณสิงห์ ได้ทบทวนประวัติศาสตร์ของตัวเองหรือไม่ว่าใบหน้ายิ้มแย้มจับไม้กวาดในวันนั้นมันเป็นสิ่งที่ร้ายแรงขนาดไหน

นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้ทวิเตอร์ กระดกดื้บดึ๊ยดื้บดืบ REST. @nongfierceheee แท็ค @wannasingh ซึ่งเป็นบัญชีของ วรรณสิงห์ เพื่อทวีตตั้งคำถาม

จนต่อมาเวลาประมาณ 18.00 น. วรรณสิงห์ ทวีตตอบว่า ยอมรับครับตอนนี้ไม่ได้เข้าใจอะไรเรื่องบ้านเมืองมากนัก อายุ 25 ปี ชนชั้นกลาง ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมถึงมีการชุมนุม แต่ตอนชุมนุมก็พยายามลงไปคุยกับผู้ชุมนุมอยู่หลายๆครั้งเพราะอยากจะเข้าใจมากขึ้น ทำให้ตอนนั้นไม่ได้มองคนเสื้อแดงเป็นคนน่ากลัวอย่างที่หลายๆ เคยรอบตัวรู้สึก ก็เลยไป คิดว่าความรู้สึกหลักๆคืออยากไปสำรวจเพื่อ make sense ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองเรา วันนั้นจำได้ว่าเห็นตึกเซ็นทรัลเวิลด์หลังไฟไหม้ถล่ม ก่อนจะถูกเอาฉากกั้นมาปิดไว้ ยอมรับว่าไม่ได้เข้าใจว่าการไป ตอนนั้นในเชิงการเมือง มันมีความหมายอะไร

"มองย้อนกลับไป เข้าใจแล้วว่ามันเป็นเข้าร่วมการทำลายหลักฐาน และการไม่ให้เกียรติผู้ตายอย่างไรบ้าง ตอนนั้นไม่เข้าใจ "ขอโทษครับ" หลังจากนั้นก็พยายามเข้าใจ สังคมไทย และบริบทของสิ่งต่างๆให้มากขึ้นเรื่อยมาครับ อย่างไรก็ตามแต่ ขอโทษด้วยครับ ไม่น่าไปเลยครับ" วรรณสิงห์ ทวีต

 

 

ล้างทิ้งเพื่อลืมความขัดแย้งที่จบลงอย่างโหดร้ายไว้ข้างหลัง

โพสต์ทูเดย์, วันที 24 พ.ค. 2553.

The Nation, 24 May 2010.

ทั้ง 2 ภาพข้างต้น อ้างถึงใน ความจริงคือหนทางสู่ความยุติธรรม: รายงานแสวงหาข้อเท็จจริงฉบับภาษาไทย ของ ศปช.
 

ในรายงาน ความจริงคือหนทางสู่ความยุติธรรม: รายงานแสวงหาข้อเท็จจริงฉบับภาษาไทย ของ ศปช.  กล่าวถึงกิจกรรมนี้ด้วยว่า ภาพและรายละเอียดของผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ คนชนบทที่อยู่ผิดที่ผิดทางมาหลายเดือน ไม่สําคัญเพียงพอและถูกลบเลือนไปในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยภาพของคนกรุงเทพฯ ที่ร่วมกันทําความสะอาดบ้านเมืองอย่างแข็งขัน ด้วยภาพของผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ ขายของกันอย่างคึกคักในความพยายาม “ก้าวไปข้างหน้า" ไว้ข้างหลังอย่างไม่สนใจไยดีสิ่งหนึ่งที่น่าผิดหวังก็คือเราได้ยินการถกเถียงหรือพูดถึงเหตุการณ์ในมุมต่าง ๆ ทั้งทางด้วยวาระหลักที่กลายเป็นเรื่องของแผนการปรองดองในฐานะย่างก้าวสําคัญต่ออนาคตของประเทศ นัยที่อํามหิตของกรณีดังกล่าวนี้ก็คือ การบอกเป็นนัยว่าสังคมไทยควรทิ้งและลืมความขัดแย้งที่จบลงอย่างโหดร้ายไว้ข้างหลัง มีคนน้อยมากออกมาพูดถึงประเด็นทางศีลธรรมโดยเฉพาะจริยธรรมผู้ปกครองที่ไม่มีสิทธิเกลียดประชาชนหรือใช้อำนาจที่ประชาชนมอบให้ออกคำสั่งฆ่าประชาชน

อนุสนธิจากเหตุการณ์ครั้งนี้ อีกประการหนึ่งก็คือ ความอํามหิตที่เกิดขึ้นนั้นได้ทิ้งร่องรอยไว้ในสังคมไทย ฝังลึกอยู่ในจิตใจผู้คนจํานวนไม่น้อย ในรูปของความขุ่นเคือง เคียดแค้น และความโกรธ เกลียดชิงชัง ที่ไม่ได้รับความเป็ นธรรมและถูกเลือกปฏิบัติด้วยความอํามหิต 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net