Skip to main content
sharethis

'นิด้าโพล' ระบุผู้ปกครอง 46.9% ไม่เห็นด้วยเรียนออนไลน์ในทุกระดับชั้น 'บ้านสมเด็จโพล' ระบุคน 64% คิดว่าเคอร์ฟิวมีความจำเป็นในการควบคุมโควิด-19 'ซูเปอร์โพล' ระบุคนกลัวความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองหลังโควิด-19 ค่อนข้างมากถึงมากที่สุดถึง 74.5

24 พ.ค. 2563 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เรียนออนไลน์” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-21 พ.ค. 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,256 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับการศึกษาระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของนิด้าโพลสุ่มตัวอย่าง ด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการมีบุตรหรือเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่กำลังเรียนหนังสือในระดับอนุบาล ประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษา ในประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.87 ระบุว่า มีบุตรหรือเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่กำลังเรียนหนังสือ ขณะที่ ร้อยละ 47.13 ระบุว่า ไม่มีบุตรหรือเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่กำลังเรียนหนังสือ ซึ่งผู้ที่ระบุว่ามีบุตรหรือเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่กำลังเรียนหนังสือในระดับอนุบาล ประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษา ในประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.61 ระบุว่า มีบุตรหรือเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่กำลังเรียนหนังสือในระดับประถมศึกษา รองลงมาร้อยละ 29.37 ระบุว่า ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 27.26 ระบุว่า ระดับอนุบาล และร้อยละ 14.91 ระบุว่า ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

และเมื่อถามผู้ที่มีบุตรหรือเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่กำลังเรียนหนังสือในระดับอนุบาล ประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษา ในประเทศไทย ถึงบุตรหลานศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนหรือของรัฐบาล พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.48 ระบุว่า เป็นสถานศึกษาของรัฐบาล ขณะที่ ร้อยละ 23.19 ระบุว่า เป็นสถานศึกษาของเอกชน ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อคำสั่งให้เปิดเทอมสำหรับการศึกษาระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 พบว่า ร้อยละ 51.51 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 คงหมดแล้ว และโรงเรียนควรมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด เด็ก ๆ ควรจะสวมหน้ากากอนามัยไปเรียนทุกครั้ง ร้อยละ 28.27 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะช่วงระยะเวลาที่จะเปิดเรียน น่าจะปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แล้ว และอยากให้เปิดทีละชั้นเรียนหรือผลัดกันเปิดของแต่ละชั้นเรียนเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก ร้อยละ 9.87 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ อยากให้เปิดเร็วขึ้นกว่านี้ เนื่องจากการปิดเทอมนานทำให้พัฒนาการเด็กช้าลง และจะทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ร้อยละ 8.28 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะอยากให้เปิดเรียนเป็นวันที่ 16 มิ.ย. 2563 เนื่องจาก วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นานเกินไป และบางพื้นที่ก็ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แล้ว และร้อยละ 2.07 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับการศึกษาระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.90 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยในทุกระดับ เพราะ เด็กมีความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัด และบางครอบครัวผู้ปกครองไม่มีเวลาคอยดูแลหรือให้คำแนะนำระหว่างเรียนออนไลน์ รองลงมา ร้อยละ 29.86 ระบุว่า เห็นด้วยในบางระดับ ร้อยละ 22.05 ระบุว่า เห็นด้วยในทุกระดับ เพราะเด็กจะได้พัฒนาความรู้ระหว่างรอเปิดเทอม ได้ทบทวนเนื้อหาวิชาที่เรียน และทำให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และร้อยละ 1.19 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

ซึ่งผู้ที่ระบุว่าเห็นด้วยในการสอนออนไลน์บางระดับ พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.47 ระบุว่าควรสอนออนไลน์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะ มีวุฒิภาวะที่สามารถควบคุมตัวเองให้อยู่ในการเรียนได้ และมีความรับผิดชอบและความสามารถในการใช้อุปกรณ์สื่อสาร สื่อออนไลน์ได้ดี รองลงมา ร้อยละ 60.80 ระบุว่า ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพราะ เด็กมีความรับผิดชอบ มีสมาธิ ในการเรียนด้วยตัวเองได้ดี และสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ร้อยละ 21.33 ระบุว่าเป็น ระดับประถมศึกษา เพราะ ควรจัดให้มีการเรียนการสอนออนไลน์ตั้งแต่ประถมศึกษา เป็นต้นไป เนื่องจากเด็กจะมีความเข้าใจมากกว่าระดับอนุบาล และร้อยละ 10.40 ระบุว่าเป็น ระดับอนุบาล เพราะ ช่วงเวลานี้เด็กอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองสามารถเรียนออนไลน์ได้

'บ้านสมเด็จโพล' ระบุคน 64 % คิดว่าเคอร์ฟิวมีความจำเป็นในการควบคุมโควิด-19

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 หลังมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร ตรัง ชลบุรี ภูเก็ต ราชบุรี จำนวนทั้งสิ้น 1,112 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 18-21 พ.ค. 2563 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่าผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 หลังมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19  ถ่ายทอดผ่านการสัมผัสโดยตรงกับฝอยละออง จากลมหายใจของผู้ติดเชื้อ (ที่เกิดจากการไอและจาม) การสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน อาจอยู่รอดบนพื้นผิวเป็นเวลาหลายชั่วโมง แต่ก็ถูกทำลายได้ด้วยสารฆ่าเชื้อทั่วไป ในปัจจุบันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิดมีการระบาดของโรคดังกล่าวไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยที่สามารถควบคุมการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หรือ ศบค. แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ยังไม่สิ้นสุด หลายประเทศยังมีการแพร่ระบาดและมีการติดเชื้อสูงอยู่ การมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 และ มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 และการลดเวลาเคอร์ฟิวจาก 22.00 น.ถึง 04.00 น. มาเป็น 23.00 น. ถึง 04.00 น. ทำให้เกิดความกังวลถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังจากการผ่อนปรน ในส่วนของผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ด้านเศรษฐกิจและความต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอย่างไร และความพึงพอใจต่อการทำงานของรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ความรู้สึกตื่นตกใจทุกครั้งที่ท่านได้ยินข่าวเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ร้อยละ 65.8 และเกิดความกลัวการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ร้อยละ 70.9 

โดยคิดว่าศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (ศบค.) สามารถควบคุมสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ได้ ร้อยละ 65.4 และมีความพึงพอใจในการทำงานของ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (ศบค.) อยู่ในระดับพึงพอใจปานกลางร้อยละ 50.2 รองลงมาคือพึงพอใจมาก ร้อยละ 44.1 อันดับสุดท้ายคือพึงพอใจน้อย ร้อยละ 5.7

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่ามาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 และ มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ไม่แน่ใจว่าจะเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 38.5 รองลงมาคือ ไม่เพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 34.4 อันดับสุดท้ายคือเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 27.1 และคิดว่าหลังจากการมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง ร้อยละ 53

โดยมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวันจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ร้อยละ 57.6 และมีความพึงพอใจในการทำงานของ รัฐบาลในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 อยู่ในระดับพึงพอใจปานกลาง ร้อยละ 47.1 รองลงมาคือพึงพอใจมาก ร้อยละ 29.3 อันดับสุดท้ายคือพึงพอใจน้อย ร้อยละ 23.6

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขยับเวลาห้ามออกจากเคหะสถาน(เคอร์ฟิว) เป็นเวลา 23.00-04.00 น. โดยให้มีผลในวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ร้อยละ 65.8 และคิดว่า การห้ามออกจากเคหะสถาน(เคอร์ฟิว) มีความจำเป็นในการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ร้อยละ 64

และอยากให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ มากที่สุด อันดับหนึ่งคือการจ่ายเงินเดือนให้ประชาชนทุกคน ร้อยละ 27.4 อันดับสองคือการควบคุมราคาสินค้าสำหรับการดำรงชีวิต ร้อยละ 17.4 อันดับสามคือการส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ ร้อยละ 12.3 อันดับสี่คือการลดราคาน้ำประปาและไฟฟ้า ร้อยละ 9.9 อันดับห้าคือการเพิ่มการจ้างงานของภาครัฐ ร้อยละ 9.6 อันดับหกคือการพักชำระหนี้ให้กับประชาชน ร้อยละ 8.9 อันดับเจ็ดคือการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7.7 อันดับสุดท้ายคือการปรับลดภาษีส่วนบุคคล ร้อยละ 6.8

'ซูเปอร์โพล' ระบุคนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความสำเร็จในเรื่องความสามัคคีปรองดองคนในชาติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง สามัคคีปรองดอง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,097 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง 18 - 23 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงมาตรการรัฐบาลช่วงโควิด-19 ที่ประชาชนพอใจ พบ 5 อันดับแรกได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.5 ระบุมาตรการแจกเงิน รองลงมาคือ ร้อยละ 80.9 ระบุลดค่าไฟ ร้อยละ 63.1 ระบุ ลดราคาน้ำมัน ร้อยละ 34.9 ระบุ ลดราคาสินค้า และร้อยละ 33.9 ระบุลดค่าน้ำประปา ตามลำดับ

แต่เมื่อถามถึงความต้องการต่อมาตรการให้รัฐบาลขยายเวลาช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติมอีก พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.9 ระบุ ลดค่าไฟ รองลงมาคือร้อยละ 72.2 ระบุ แจกเงิน ร้อยละ 66.5 ระบุ ลดราคาน้ำมัน ร้อยละ 40.7 ระบุ ลดราคาสินค้า และร้อยละ 38.2 ระบุ ลดค่าน้ำประปา ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความพอใจของประชาชนต่อมาตรการต่าง ๆ เป็นผลงานของทีมคณะรัฐมนตรีทั้งคณะที่ช่วยเหลือประชาชนหรือเป็นผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.3 ระบุเป็นผลงานของทีมคณะรัฐมนตรีทั้งคณะที่ช่วยแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ในขณะที่เพียงร้อยละ 6.7 ระบุเป็นผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียว นอกจากนี้ เมื่อถามถึง การตัดสินใจของประชาชน ถ้าสมมติประชาชนเป็นนายกรัฐมนตรีว่า จะรักษาทีมคณะรัฐมนตรีนี้ไว้หรือจะไม่รักษาทีมนี้ไว้ หลังโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.8 จะรักษาทีมคณะรัฐมนตรีนี้ไว้ ในขณะที่ร้อยละ 5.2 จะไม่รักษาทีมคณะรัฐมนตรีนี้

ที่น่าเป็นห่วงคือ ระดับความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองหลังโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.5 ระบุค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 25.5 ระบุค่อนข้างน้อยถึงไม่รุนแรงเลย

ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.8 ระบุ รัฐบาลไม่สำเร็จเรื่องความสามัคคีปรองดองของคนในชาติเพราะคนในรัฐบาลเองมีแค่ไม่กี่คนยังไม่สามารถสามัคคีปรองดองกันได้เลย แย่งชามข้าว แย่งน้ำข้าว แย่งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วงเวลาชาวบ้านกำลังทุกข์ คนในรัฐบาลเป็นต้นเหตุความขัดแย้งเสียเอง ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีของความสามัคคีปรองดอง ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องความสงบสุขของบ้านเมือง ผู้ใหญ่ในรัฐบาลบางคนถูกลิ่วล้อยุยงปลุกปั่นเล่นเกมการเมืองกันมากเกินไปไม่ได้รักประชาชนกันจริง ๆ แบ่งพรรคแบ่งพวก เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 40.2 ระบุสำเร็จ เพราะรัฐบาลทำงานมาต่อเนื่อง สำเร็จแต่เป็นเพราะลักษณะปกติของคนไทยที่มีจิตใจรักสงบรักสามัคคีกันมากกว่าเป็นผลงานของรัฐบาล และสำเร็จเพราะประชาชนเห็นรัฐบาลมีผลงาน เป็นต้น

ผู้อำนวยการ "ซูเปอร์โพล" กล่าวว่า ใครเป็นพระเอกละครช่วงโควิด-19 คำตอบในละครการเมืองคือ ไม่มี เพราะชาวบ้านเขาบอกว่าเป็นผลงานของทีมคณะรัฐมนตรีทั้งคณะและประชาชนทั้งประเทศที่ยอมลำบากเดือดร้อน ชาวบ้านนับแสนนับล้านทิ้งที่ทำงานทิ้งอาชีพหนีเอาตัวรอด บ้างก็ติดเชื้อตายบ้างก็ฆ่าตัวตาย บ้างก็อดอยาก หิวโหย ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวไม่อาจเลี้ยงดูผู้คนในบ้านได้เพราะตกงานต้อง "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" จนไม่มีจะกิน แต่คนในรัฐบาลบางคนกลับมุ่งใช้ห้วงเวลาแห่งทุกข์ของประชาชนนี้แย่งชิงตำแหน่งแบ่งพรรค แบ่งพวกยุยงผู้ใหญ่ในรัฐบาลให้นั่งวางแผนเล่นเกมการเมืองหัวเราะเฮฮาเมื่อแผนของพรรคพวกของตนเองประสบความสำเร็จบนทุกข์ของประชาชนไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีของความรักความสามัคคีปรองดองและจะนำพาคนทั้งประเทศอีกกว่าหกสิบล้านคนไปสู่ความสามัคคีปรองดองได้อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net