Skip to main content
sharethis

24 พ.ค. 2563 ศบค.แถลงวันนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในไทย ถือเป็นครั้งที่ 4 ในรอบเดือน พ.ค. ผู้ป่วยสะสมคงที่ 3,040 คน กลับบ้านได้เพิ่ม 5 คน รวมหายสะสม 2,921 คน รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 63 คน และไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม คงที่ 56 คน 'ภูเก็ต' ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่-ห้ามพาลูกหลานเดินตลาด ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติเผยไทยเตรียมทดลองวัคซีนในคนหลังทดลองในลิงได้ผลดี คาดปลายปี 2564 ไทยสามารถผลิตวัคซีนใช้ในประเทศเองได้ 


พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงข่าวการรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ประจำวันที่ 24 พ.ค. 2563

24 พ.ค. 2563 พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.แถลงข่าวการรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยว่าวันนี้มีข่าวดีว่าผู้ป่วย COVID-19 เป็นศูนย์ นับเป็นครั้งที่ 4 ทำให้มีผู้ป่วยสะสมคงที่ 3,040 คน กลับบ้านได้เพิ่ม 5 คน รวมสะสม 2,921 คน รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 63 คน และไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม คงที่ 56 คน

“ประเทศไทยมีตัวเลขเป็นศูนย์มา 4 ครั้งแล้ว และยังคงเน้นย้ำถ้าออกไปทำงานนอกบ้าน ต้องมีมาตรการป้องกันตัวเองให้ดี เพื่อไม่ให้เอาเชื้อไปติดคนที่บ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะจะมีอัตราเสี่ยงการเสียชีวิต มากกว่าใคร”

พญ.พรรณประภา กล่าวว่าสถานการณ์โลกวันนี้มีผู้ป่วย COVID-19 สะสม 5,403,979 คน ป่วยเพิ่มวันเดียว 99,987 คน อาการหนัก 53,562 คน รักษาหายแล้ว 2,246,636 คน และเสียชีวิต 343,975 คน โดยสหรัฐอเมริกา ยังมีผู้ป่วยสะสมมากสุด 1,666,828 คน

ขณะที่วันนี้บราซิลมีผู้ป่วยสะสมมากกว่ารัสเซียแล้ว โดยมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นวันเดียว 16,731 คน ส่งผลให้ยอดรวมอยู่ที่ 349,113 คน ส่วนไทยมีผู้ป่วยอยู่ที่อันดับ 75 ของโลก

“ในฝั่งเอเชีย อินเดียยังมีผู้ป่วยสะสมมากที่สุด 131,423 คน โดยป่วยเพิ่มวันเดียว 6,629 คน เป็นอันดับที่ 11 ของโลก และมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”

สำหรับสถิติผู้ป่วย COVID-19 ของไทยในเดือนพ.ค.นี้ พบว่ามีตัวเลขเป็นศูนย์ ถึง 4 วัน คือวันที่ 4 พ.ค.,14 พ.ค.,16 พ.ค. และ 24 พ.ค.นี้

จีน เดินหน้าทดลองผลิตวัคซีนในคน

พญ.พรรณประภา กล่าวอีกว่า ขณะที่ผลทดลองวัคซีนต้าน COVID-19 ของจีน ผ่านการทดลองคลินิกระยะที่ 1 พบปลอดภัย และสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต้านเชื้อไวรัสได้ และการทดลองแบบเปิดในผู้ใหญ่สุขภาพดี 108 คน พบผลลัพธ์เชิงบวกหลังเวลาผ่านไป 28 วัน โดยจะประเมินผลลัพธ์สุดท้ายใน 6 เดือน

นอกจากนี้ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้อเมริกาใต้ เป็นศูนย์กลางระบาดใหม่ของ COVID-19 หลังตัวเลขผู้ป่วยสะสมของบราซิลมีจำนวนเกือบ 350,000 คน อยู่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา แต่ผู้เชียวชาญระบุว่า การที่ไม่มีการตรวจโรคอย่างกว้างขวาง ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้มาก ขณะที่รัฐบาลบราซิล เพิ่งอนุมัติยาต้านมาลาเรีย ไฮดรอกซีคลอโรควิน เพื่อใช้ในวงกว้างช่วงการระบาดของ COVID-19

'ภูเก็ต' ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่-ห้ามพาลูกหลานเดินตลาด 

คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ภูเก็ต รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ไม่พบผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ โดยตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. - 23 พ.ค.2563 จ.ภูเก็ต มีผู้ติดเชื้อยืนยันโรค COVID-19 แล้วจำนวน 226 คน ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน 210 คน เสียชีวิต 3 คน และกำลังรักษาพยาบาลอยู่ 12 คน ซึ่งทุกคนอาการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ส่วนผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 6,766 คน (รายใหม่ 26 คน) โดยยังคงรักษาพยาบาล 26 คน (เป็นผู้ติดเชื้อยืนยัน 12 คน อยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 14 คน) กลับบ้านแล้ว 6,740 คน

จ.ภูเก็ต ได้ผ่อนปรนเปิดกิจการและกิจกรรมต่างๆ ในระยะนี้ รวมทั้งให้เปิดกิจการสถานที่ ค้าขาย รวมทั้งร้านค้า หาบเร่ และแผงลอยที่ขายอาหารในตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้เน้นย้ำให้ประชาชนที่ไปใช้บริการใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา ยืนห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ไม่ให้สัมผัสอาหารสดโดยตรง เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล

ส่วนการชำระเงินด้วยเงินสด ต้องไม่สัมผัสมือกับผู้ค้าโดยตรง เช่น ให้ใส่เงินในตะกร้า และต้องมีการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยครั้ง รวมทั้งห้ามนำบุตร-หลานมาเดินตลาดโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ยังเน้นย้ำประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด แต่หากพบว่ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก มีไข้หรือไม่มีไข้ ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทันที

ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติคาดปลายปี 2564 ไทยสามารถผลิตวัคซีนใช้ในประเทศเองได้ 

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ร่วมแถลงความก้าวหน้าวัคซีนโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุข 

ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ภายใต้การกำกับของกระทรวงสาธารณสุข  ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ วช.ภายใต้การกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ไบโอเทค สวทช. มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ขณะนี้ถือว่ามีความก้าวหน้า เริ่มทำการทดสอบในสัตว์ทดลองทั้งหนูและลิง  ซึ่งการพัฒนาวัคซีนนั้นทำในหลายรูปแบบ แต่ที่มีความก้าวหน้า คือ DNA วัคซีน และ mRNA วัคซีน โดย DNA วัคซีน บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และไบโอเทค ทดสอบในหนูทดลอง ส่วน mRNA วัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทดสอบในหนู และเริ่มทดสอบในลิงเมื่อวันที่ 23 พ.ค.   

ซึ่งวัคซีนที่ผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลองต้องให้ได้ผลเป็นที่พอใจ ผ่านเงื่อนไขทั้งความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สัตว์ทดลองถึงจะนำมาเริ่มทดสอบในคนได้ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนจะสามารถเริ่มทดสอบวัคซีนในคนปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งการทดสอบในคนจะมี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ดูความปลอดภัย ทดสอบในอาสาสมัคร 30-50 คน ระยะที่ 2 ดูการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทดสอบในอาสาสมัคร250-500 คน และระยะที่ 3 ดูว่าให้ผลในการป้องกันโรค ทดสอบในอาสาสมัครมากกว่า 1,000 คน  และคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนใช้ภายในประเทศได้ปลายปี64  นักวิจัยไทยกำลังพยายามกันอยู่ ซึ่งไทยมีโรงงานในการผลิตวัคซีนอยู่ คือบริษัทไบโอเนท-เอเชีย ที่มีศักยภาพ แต่ต้องได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีบางส่วนจากต่างประเทศ ซึ่งได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย รวมถึงประเทศจีนแล้ว แต่หากยังไม่สามารถผลิตได้อาจต้องซื้อวัคซีนจากประเทศต้นทางมาใช้ในช่วงสั้นๆไปก่อน  ย้ำว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน  แต่หากแผนสะดุดต้องมีปรับกันใหม่อีกรอบ  ซึ่งจะเห็นว่าการพัฒนาวัคซีนต้นแบบของไทยใช้เวลาเพียง 50 วัน ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่เร็วเพื่อให้ทันต่อการป้องกัน 

ขณะที่นานาชาติเริ่มทดสอบในคนแล้วเป็นวัคซีน 10 ชนิด คือ ประเทศจีน สหรัฐเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และออสเตรเลีย  ซึ่งก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญให้ประเทศที่กำลังพัฒนาวัคซีนนำไปเป็นข้อมูลเพื่อปรับปรุงวัคซีนให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net