Skip to main content
sharethis

'เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์' ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ แจง 4 ข้อค้านถอดถอนศิลปินแห่งชาติ หวั่นเป็นประเด็นทางการเมือง 'ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ' ชี้ควรเปิดรายชื่อกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรม ตั้งคำถามหน้าที่ของคนเหล่านี้คืออะไร


เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

24 พ.ค. 2563 เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความในเพจเฟสบุ๊คส่วนตัว เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ระบุว่า...กรณีมีกฎใหม่เกี่ยวกับการให้อำนาจถอดถอนศิลปินแห่งชาติได้นั้น มีสื่อมวลชน (มติชน) ถามความเห็นมา ผมได้ให้ความเห็นด้วยวาจาไปแล้ว จึงขอแสดงความคิดเห็นยืนยันความ “ไม่เห็นด้วย” กับมาตรการนี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. เป็นเกียรติคุณที่มีพระราชวงศ์ทรงเป็นองค์พระราชทานโดยเฉพาะ การถอดถอนภายหลัง จะเป็นการกระทบกระเทือนต่อพระเกียรติยศของพระองค์ท่านด้วยโดยปริยาย

2. การกำหนดมาตรการถอดถอนหลังการประกาศยกย่องในทุกเกียรติคุณ เป็นการหลู่เกียรติตำแหน่งนั้นๆ เสียแต่ต้น สร้างความไม่แน่นอนมั่นคงให้กับตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งไม่เคยมีกติกาทำนองนี้กับการยกย่องเกียรติคุณใดๆมาก่อน

3. ความผิดพลาด บกพร่องของศิลปินแห่งชาติ หรือผู้ได้รับยกย่องเกียรติคุณใดๆ ย่อมถือเป็นกรณีส่วนตัวโดยเฉพาะ หาใช่ความรับผิดชอบของหน่วยงานหรือสถาบันผู้มอบเกียรติคุณนั้นไม่ กล่าวคือเป็นความผิดต่อภายหลังซึ่งย่อมเป็นไปตามเฉพาะกรณีแห่งความผิดนั้นๆเอง เช่น สังคมจะประณาม เป็นส่วนตัว หรือ ตามกฎหมายที่ว่าด้วยความผิดต่อการกระทำนั้นๆ

4. มาตรการนี้จะถูกใช้เป็นประเด็นทางการเมืองนำมาอ้างโจมตีกันได้ ดังที่กำลังเป็นกระแสข่าวอยู่ในขณะนี้

'ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ' ชี้ควรเปิดชื่อกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรม

มติชนออนไลน์ รายงานว่าศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ในรายงานหน้า 2 หนังสือพิมพ์มติชนว่าความเห็นเรื่องนี้คงมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม หากแต่เราไม่รู้รายละเอียดที่นำเสนอเรื่องนี้เข้าไปในกระทรวงวัฒนธรรมว่าเป็นใคร ให้เหตุผลอย่างไร กรรมการอภิปรายกันไหมว่ามีฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร กว่าจะออกมาเป็นกฎหมายนี้มีกระบวนการอย่างไร ซึ่งควรมีแบ๊กกราวด์เหล่านี้ประกอบ

ดาว่าก็เป็นการเมือง ไม่ได้เป็นเรื่องการส่งเสริมวัฒนธรรมแต่อย่างใด และเป็นการกำจัดคนที่เห็นไม่ตรงกัน ดังนั้นหากสื่อมวลชนไปช่วยขุดหรือทำการวิเคราะห์ในส่วนนี้มาพร้อมสัมภาษณ์ผู้เสนอไปเลยว่าเป็นอย่างไร แต่นั่นก็เป็นการเผชิญหน้ากันเกินไป ทั้งนี้ก็เป็นตัวอย่างง่าย ๆ ว่าข่าวนี้จะมีเนื้อหาที่ให้ความรู้คนนอกเหนือจากการสู้กันระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

อย่างไรก็ดีถ้ามองว่าในกรณีแบบนี้สะท้อนจุดอ่อนอะไรในกระทรวงวัฒนธรรม หรือเพราะเหตุใดจึงมาทำเรื่องแบบนี้ ก็ต้องรู้เรื่องว่าเขาทำอย่างไรกัน เช่น ไปขุดหามาเลยว่ากรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมมีใครบ้าง หน้าที่ของคนเหล่านี้คืออะไร ซึ่งภายหลังเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากถึงออกมาเป็นแบบนี้

สงสัยว่ากรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมคิดอะไรอยู่ และกระทรวงรับลูกมาได้อย่างไร หรือผ่านมาได้อย่างไร เนื่องจากบางทีกรรมการไม่ได้เสนอ หรือเสนอแต่มีผู้ไม่เห็นด้วย เพราะส่วนตัวเจอมาหลายอย่างในอดีต เช่น บางเรื่องผ่านเข้าไปถึง ครม.และออกมาโดยที่เราไม่เห็นด้วย ก็ไม่ทราบว่าไปได้อย่างไร โดยรัฐมนตรีหรืออธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเขาทำงานการเมืองกัน รู้ว่าหากส่งเรื่องเช่นนี้รัฐบาลในขณะนั้นเอาด้วย ดังนั้น กรรมการมีประโยชน์ในเรื่องแบบนี้ใช่หรือไม่

"ขอเสนอให้นำกรณีนี้เป็นตัวอย่างถึงเบื้องหลังความจำเป็นของการมีกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรม หรือกระทรวงวัฒนธรรมมีไว้ทำไม เพราะชาวบ้านมีวัฒนธรรมแน่ๆ อยู่แล้ว แต่กระทรวงนี้จะมีไว้ทำไม เพราะชาวบ้านขายวัฒนธรรมตัวเองได้อยู่แล้ว"ศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ ระบุ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net