คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (4): ยอดต้องได้ เป้าต้องถึง

คุณจะคิดอย่างไร ถ้าคุณเป็นตำรวจและถูกสั่งให้จับคดีในฐานความผิดหนึ่งตามเป้าที่เบื้องบนสั่งมา สงสัยหรือเปล่าว่า มันกำหนดได้ด้วยหรือ? แต่นั่นเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำยอดคดียาเสพติดให้ได้ตามเป้าทุกเดือน ‘ประชาไท’ พาสำรวจกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดียาเสพติด ผ่านซีรีส์ ‘คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง’

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (1): ที่ไหนๆ ก็มีแต่ ‘พวกค้ายา’?, 21 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (2): กฎหมายปิดปาก, 22 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (3): เมื่อกฎหมายปิดปาก ความยุติธรรมก็เงียบงัน, 23 พ.ค. 63

“ครั้งแรกทำงานอยู่ที่ภาคใต้ ผมขี่มอเตอร์ไซค์เจอด่านตรวจ ผมก็ไม่มีของ แต่ตรวจฉี่พบว่ามีสีม่วงและขึ้น 2 ขีดแสดงว่ามียาเสพติดในกระแสเลือดก็ถูกจับและเชิญตัวไปโรงพัก ซึ่งเขาจะส่งฉี่ไปตรวจที่โรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่งเพื่อยืนยันว่ามีสารเสพติดและตั้งข้อหาผมว่าเสพขับ ใครขับมอเตอร์ไซค์ผ่านก็จับตรวจฉี่น่าจะเป็นนโยบายเร่งรัดที่จะเอาผู้ใช้ยาเข้าบำบัด พอได้ผมปุ๊บ เลิกด่านเลย ครั้งแรกเสียค่าปรับ 8,000 บาทเพราะว่ามัน 16,000 บาทรับสารภาพก็เหลือกึ่งหนึ่ง” นายเอที่ผมเคยเอ่ยถึงในตอนแรก เล่าประสบการณ์ให้ฟัง

มีกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดฉบับหนึ่งที่เรียกว่า พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ภาครัฐเองก็มีแนวทางให้ปฏิบัติกับผู้เสพเสมือนผู้ป่วย ถึงกระนั้น การเสพยาเสพติดยังถือเป็นโทษทางอาญาอยู่

จากคำพูดของนายเอจะสังเกตเห็นคำว่า ‘น่าจะเป็นนโยบายเร่งรัดที่จะเอาผู้ใช้ยาเข้าบำบัด’ ถ้าคุณอยู่ในแวดวงตำรวจ บุคลากรสาธารณสุขที่งานด้านการบำบัดผู้ติดยา ผู้ใช้ยา หรือคนที่ทำงาน harm reduction (การลดปัญหาหรือภาวะเสี่ยงอันตราย การแพร่ระบาด การสูญเสียจากการใช้ยาเสพติด ที่อาจเกิดกับตัวบุคคล ชุมชน และสังคม) จะคุ้ยเคยกับคำว่า ทำยอด ทำเป้า

มันหมายถึงการทำคดียาเสพติดหรือส่งผู้ใช้ยาเข้าบำบัดให้ได้ตามจำนวนเป้าหมายที่เบื้องบนกำหนดลงมา

คุณคงรู้สึกเชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่ง ผมก็เหมือนกัน ผมจึงถามแหล่งข่าวที่เป็นนายตำรวจด้านปราบปรามยาเสพติดว่ามีเป้าอย่างที่พูดกันหรือเปล่า

เขาตอบว่า “มี”

“พอไม่เหลือใครให้จับแล้ว ก็ต้องไปจับในพื้นที่ข้างเคียง”

“เพราะในฐานะผู้ปฏิบัติงานตามโรงพักไม่มีใครอยากจะทำงานหนัก แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาระดับบน ไม่ว่าจะเป็นระดับโรงพัก ระดับกองบังคับการ ระดับกองบัญชาการ และระดับ สตช. มีคำสั่งลงมาเป็นทอดๆ ให้ทำ เช่น สตช. ตั้งเป้าว่าเดือนนี้จะต้องมีคดียาเสพติดคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เท่านี้ๆ โดยส่วนใหญ่จะเอาจากผลการจับกุมของเดือนนี้ในปีที่แล้วมาตั้ง แล้วเพิ่ม 20 เปอร์เซ็นต์ มันเป็นการวางแผนของฝ่ายยุทธศาสตร์สำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งมาที่ระดับภาค ภาคก็สั่งมาที่กองบังคับการ แล้วก็สั่งมาที่โรงพัก” นายตำรวจผู้นี้อธิบายเพิ่มเติม

สำหรับเจ้าหน้าที่ คดียาเสพติดแบ่งเป็น 2 ประเภทคือรายเล็กหมายถึงผู้เสพและผู้ครอบครองเพื่อเสพที่มียาบ้าไม่ถึง 15 เม็ดและไม่มีพฤติการณ์จำหน่าย กับประเภทที่ครอบครองเกิน 15 เม็ดขึ้นไปและมีพฤติการณ์จำหน่าย กรณีนี้ถือว่าเป็นรายสำคัญ เวลานี้ นโยบายของ สตช. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พยายามผลักดันให้ผู้เสพและผู้ครอบครองเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ไม่นำมาเป็นคดี ถ้าจำเป็นต้องจับก็จับให้น้อยที่สุด

“ทีนี้ ยอดที่ตั้งมาของคดีเสพจะใช้คำว่าไม่ควรเกิน เช่น เดือนนี้ไม่ควรเกิน 5 ราย ส่วนคดีที่เป็นรายสำคัญมีเป้าหมาย 2 คดี แต่ถามว่าจับเกินได้ไหม ได้ ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ควรมีใช่ไหม ในความคิดผมคิดว่าไม่ควรมีเป้า สมมติว่าถ้าผมทำได้ตามเป้า แล้วเกิดคดีขึ้นมาอีก ผมก็ต้องจับอยู่ดี แต่ถ้าคุณตั้งเป้าไว้สูง แล้วเป็นการกดดันผู้ปฏิบัติงาน มันก็สุ่มเสี่ยงกับการทำงานแบบไม่รัดกุม ทำงานแบบบิดเบือนทางคดีก็มี สมมติในพื้นที่จับจนไม่เหลือใครให้จับแล้ว แต่ละโรงพักจะมีพื้นที่สอบสวนของตัวเองเช่น 3 ตำบล พอไม่เหลือใครให้จับแล้ว ก็ต้องไปจับในพื้นที่ข้างเคียง แล้วโยกจุด จริงๆ มันก็ทำไม่ถูก”

นายตำรวจคนนี้อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าเขาอยู่ในพื้นที่สถานีตำรวจ เอ ก็ต้องส่งคดีให้กับพนักงานสอบสวนของพื้นที่สถานีตำรวจ เอ ถึงจะนับยอดให้ แต่ถ้าในพื้นที่สถานีตำรวจ เอ ไม่มีแล้ว ก็ต้องข้ามไปจับในพื้นที่ของสถานีตำรวจ บี แต่เปลี่ยนว่าจับในพื้นที่สถานีตำรวจ เอ แล้วก็มาส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจ เอ

“วิธีการนี้ไม่มีใครบอกกันหรอก มันเป็นการทำผิดกฎหมายเพราะวิธีการจับกุมของคุณผิด มันก็เท็จหมด เพราะมันต้องเป็นยอดของสถานีตำรวจ บี แต่ถ้าสถานีตำรวจของผมไม่มีแต้มขึ้น ไม่มีผลการทำงาน ไม่มีผลการจับกุมก็ต้องพยายามดึง พยายามบิด จนเป็นการจับในพื้นที่เราไม่ได้ ถามว่าผิดกฎหมายไหม มันก็ผิดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะถ้ากระทำความผิดตรงไหนก็ต้องจับส่งตรงนั้น แต่มันไม่มีใครบอกหรอกเรื่องแบบนี้

“มันมาจากการตั้งยอดบีบให้ต้องทำ ทุกพื้นที่เจอปัญหาเดียวกันหมด ถ้าไม่ถึงเป้าผู้กำกับหรือหัวหน้าสถานีก็ถูกเรียกให้ไปรายงาน ชี้แจง หรือถูกตำหนิ แล้วก็ไล่กันตามลงมา แต่ไม่มีการลงโทษทางวินัยให้เห็นชัดเพราะความผิดทางวินัยไม่มี แต่จะถูกประเมินเรื่องการทำงานไม่สนองนโยบาย เขาก็จะบอกว่าเป็นไปไม่ได้หรอกที่ในพื้นที่คุณไม่มียาเสพติดเลย”

“รัฐมีความเชื่อว่าคนที่มีสารเสพติดต้องได้รับการบำบัด”

นายตำรวจคนเดิมยังเล่าด้วยว่า ถ้าจับกุมฐานครอบครองเพื่อเสพ เมื่อเจ้าหน้าที่ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนมีอำนาจว่าจะใช้กฎหมายใด เช่น ใช้กฎหมายฟื้นฟูฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ด้วยนโยบายที่ลงมาไม่ว่าจะเป็นคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือนโยบายของภาครัฐที่ให้ถือว่าผู้เสพคือผู้ป่วย พนักงานสอบสวนจะผลักดันผู้เสพให้เข้าสู่กระบวนการบำบัด แต่ต้องส่งขึ้นศาลก่อน เพื่อใช้คำสั่งศาลส่งผู้เสพเข้ารับการบำบัด กับอีกส่วนหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ส่งพนักงานสอบสวน แต่ยังต้องทำบันทึกประจำวันและทำบันทึกส่งโรงพยาบาล ในส่วนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถนำตัวผู้เสพส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการบำบัดหรือส่งที่ศูนย์ปราบปรามยาเสพติดของอำเภอหรือฝ่ายปกครองเพื่อเข้าค่ายบำบัด

“การเข้าค่ายบำบัดก็มีการตั้งเป้าไว้เหมือนกัน ถามว่าทำไมต้องมี การตั้งเป้าการทำงานในระบบราชการมันต้องมีงบประมาณ การมีงบประมาณก็ต้องมีเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมายก็คือเป้า มันก็เป็นเรื่องปกติของการทำงานในระบบราชการ”

ผมถามลงรายละเอียดว่า ถ้าผมครอบยาบ้า 10 เม็ด แล้วขาย 3 เม็ด แล้วถูกจับกุม ผลจะเป็นอย่างไร เขาตอบว่าถือเป็นพวกแบ่งขายรายย่อย เจ้าหน้าที่ต้องจับไปตามพฤติการณ์ ตั้งข้อหาจำหน่าย และก็เหมือนพนักงานสอบสวนจะพิจารณาว่าดำเนินการตามกฎหมายฉบับใด ซึ่งกรณีไม่เกิน 5 เม็ดจะใช้ พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ

“แล้วถ้าผมมี 10 เม็ด แต่แบ่งขายให้เกิน 5 เม็ดล่ะ”

“ถ้าถามผมในฐานะผู้จับกุมไม่ว่าจะขาย 3 เม็ด 5 เม็ด 6 เม็ด สำหรับผมมีค่าเท่ากันคือต้องจับกุมในข้อหาจำหน่าย ในส่วนที่ว่าจะต่างหรือไม่ต่างอยู่ในขั้นตอนของการสอบสวนว่าพนักงานสอบสวนจะใช้กฎหมายตัวไหนมาดำเนินการ สมมติปีนี้โรงพักของผมได้ยอดมาให้จับจำหน่าย 1 เป้า ถ้าผมล่อซื้อ 3 เม็ดกับจับครอบครองยาเสพติด 100 เม็ด ค่าเท่ากัน คือ 1 คดีเท่ากัน เพราะฉะนั้นในฐานะผู้จับกุมจึงไม่มีผล”

ระบบการบำบัดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.สมัครใจบำบัดคือกลุ่มที่เดินเข้าไปพบแพทย์ด้วยตัวเองหรือญาติพาไป

2.บังคับบำบัดคือกลุ่มที่ถูกจับกุมและต้องเข้ารับการบำบัดผ่าน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 เพื่อแลกกับการไม่ต้องรับโทษทางอาญา

3.บำบัดระหว่างต้องโทษคือกลุ่มที่ถูกดำเนินคดียาเสพติดหรืออาชญากรรมอื่นๆ และมีประวัติการใช้สารเสพติด ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่สุดและจะได้รับการบำบัดภายในเรือนจำ

“รัฐมีความเชื่อว่าคนที่มีสารเสพติดต้องได้รับการบำบัด” วีระพันธ์ งามมี ผู้อำนวยการมูลนิธิโอโซน กล่าว “จึงนำมาสู่ตั้งเป้าในเชิงปริมาณ คาดการณ์ว่ามีคนใช้ยาประมาณเท่าไหร่ แต่ละปีควรจะตั้งเป้าการจับกุมเท่าไหร่ เพื่อจะนำเอาคนเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการบำบัด เมื่อได้ตัวเลขเชิงปริมาณมาเกิดการจัดสรรไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับไป ต้องตอบตัวชี้วัด เช่น ตำรวจรับไปแต่ละเดือนต้องทำยอดให้ครบ ถ้าไม่ครบก็จะมีปัญหา เมื่อไม่ครบก็ต้องหาให้ครบ ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือการตั้งด่านตรวจปัสสาวะตามถนน ตามแยกต่างๆ”

ผู้เสพคือผู้ป่วย(1): ส่องภารกิจสู้ยาเสพติดแบบใหม่ บำบัดฟื้นฟูแทนขังล้นคุก, 12 ก.ค. 61

แต่การบังคับบำบัดฟื้นฟูตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ ผู้กระทำผิดต้องเป็นไปตามเกณฑ์มาตรา 19 ศาลจึงจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติด ซึ่งจำกัดเฉพาะความผิดฐานเสพ เสพหรือมีไว้ในครอบครอง เสพหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่าย ดังนั้น ผู้ที่ต้องพึ่งพายาเสพติดที่กระทำผิดอาญาอื่นจะไม่อยู่ภายใต้เกณฑ์การเข้ารับการฟื้นฟูตามกฎหมายนี้

“เราไปแค่ว่าเราต้องไป”

คำถามมีอยู่ว่ากระบวนการบำบัดที่รัฐจัดให้ได้ผลหรือไม่?

นางสาวบี เล่าประสบการณ์การบำบัดว่า ตอนที่โดนจับครั้งที่ 3 ช่วงนั้นเธอใช้ยาหนัก ถูกศาลสั่งบำบัดฟื้นฟู แทนการจำคุก เธอต้องไปรายงานตัวและรับการบำบัดรักษาด้วยโปรแกรมเมทริกซ์ (matrix program) ซึ่งเป็นโปรแกรมบำบัดรักษาผู้ติดสารแอมเฟตามีนแบบผู้ป่วยนอกที่ศูนย์แห่งหนึ่ง ด้วยการเข้ากลุ่มทุกอาทิตย์จนครบ 4 เดือน แล้วเธอก็จะได้ใบบริสุทธิ์จากศูนย์คุมประพฤติ คดีถูกลบ

“ก็บำบัดแบบคุยพูด เรามองว่าไม่ได้ผล เพราะพยาบาลก็มานั่งอ่านๆๆ มันไม่จริงจัง พยาบาลก็ไม่ได้ชักชวนหรือทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเลิกยาอะไรเลย ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เราไปแค่ว่าเราต้องไป ก็ไม่แปลกที่กลับมาอีกหลายๆ รอบพยาบาลบอก”

หรือกรณีนายบัส (นามสมมติ) วัย 39 ปี ที่เคยถูกจำคุก 2 ครั้งในคดียาเสพติด ทว่า ในช่วงที่ถูกคุมขัง เขาไม่เคยได้รับการบำบัดใดๆ ภาพที่เขาเห็นมีเพียงนักโทษกว่า 700 คนในทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ซึ่งเป็นที่คุมขังผู้ต้องหาคดีครอบครองยาเสพติดปริมาณมากหรือเอเย่น

“ไม่เห็นจะมีอะไรบำบัดเลย ผมไปอยู่ก็เหมือนกับไปรอการตัดสิน รอย้ายเรือนจำ ไม่เคยเห็นใครไปบำบัดอะไรเลย บำบัดคือการฟื้นฟูร่างกายใช่ไหม แต่นี่มีแค่ออกกำลังกายตอนเช้าแล้วก็หมดไป แล้วมันเรียกว่าการบำบัดได้ยังไง”

‘ผู้เสพคือผู้ป่วย’(จบ): ระบบบังคับบำบัด เมื่อยังไปไม่ถึงจึงเป็นได้แค่อาชญากร, 16 ก.ค. 61

ผมบอกไม่ได้ว่าทุกคนที่เข้ารับการบำบัด ไม่ได้ผล แต่คำบอกเล่าของทั้งสองคน อย่างน้อยก็เห็นว่าระบบการบำบัดที่ใช้อยู่ยังมีจุดอ่อน และการทำยอดให้ได้ตามที่ถูกสั่งมาก็ส่งผ่านแรงกดดันลงมาเป็นทอดๆ ตั้งแต่ตำรวจ บุคลากรสาธารณสุข และผู้ใช้ยา

“ตอนอยู่ในเรือนจำผมได้คุยกับคนหนึ่งเป็นคนอีสานเหมือนกัน เขาเป็นเซลล์แมนมาขายของ แล้วก็โดนเพื่อนฉลองกินเหล้าด้วยกัน เพื่อนก็ให้ลองใช้ เขาไม่เคยใช้ยาเลยนะ ครั้งแรกของเขา พอออกไปปุ๊บ เจอด่านตรวจฉี่ เขาก็โดนเข้ามาเหมือนผมข้อหาเสพขับเขาเสพแค่ครั้งแรกโดนเข้ามาแบบนี้ มาอยู่อย่างนี้ ก็เหมือนกับเป็นอาชญากรเต็มตัวแล้ว แค่โดนฝากขังเหมือนกัน หลายคนครับที่โดนแบบนี้” อีกเรื่องเล่าหนึ่งของนายเอ

“แต่บางทีระบบราชการกับกระบวนการยุติธรรมก็ดูแปลกๆ”

นอกจากยอดคดีที่ต้องทำให้ได้แล้ว คดียาเสพติดยังมีรางวัลนำจับให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย เพื่อเป็นแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ ทุกอย่างมีสองคม เรื่องนี้ก็เช่นกัน มันสร้างแรงจูงใจได้ทั้งทางบวกและลบ

จิตรนรา นวรัตน์ ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายว่า ของกลางยาเสพติดสามารถนำไปขึ้นรางวัลได้ คิดเม็ดละ 2 บาท แต่เขากำหนดขั้นสูงไว้ไม่เกิน 1 ล้านเม็ด ทำให้เกิดกรณีเช่นการแยกจับเป็น 2 คดีหรือจับแล้วปล่อยผู้ต้องหาแต่ให้ทิ้งของกลางไว้เพื่อนำไปขึ้นรางวัล

“บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็มีส่วนได้เสีย เช่นถ้าอ่านข่าวเราจะแปลกใจมากว่าผู้ร้ายขนยาเสพติดมาเจอด่าน แล้วก็วิ่งหนีไปหมดเลย ทิ้งของกลางเอาไว้ คุณเชื่อหรือว่าวิ่งหนีไปได้ต่อหน้าต่อตา เป็นไปได้หรือไม่ว่าพอจับแล้วมีการเสนอผลประโยชน์กันโดยรถคันหลังที่วิ่งตามมา แล้วยังได้ของกลางเอาไปขึ้นรางวัล”

ส่วนนายตำรวจบอกกับผมว่า

“ถามว่าจะมีตำรวจสักกี่หน่วยที่จะจับได้เยอะขนาดนั้น ส่วนใหญ่ก็ ป.ป.ส. ซึ่งเขาก็ทำอยู่แล้ว เขาเป็นหน่วยที่ทำงานเฉพาะด้าน ยกตัวอย่างชุดเฉพาะกิจของผมจับมาได้ 75,000 เม็ด เท่ากับได้แสนกว่าบาท อันนี้ยังไม่ได้ทำเรื่องเลย เพราะทำไปก็ไม่รู้ว่าจะได้หรือเปล่า ใช่ว่าจะได้ทุกเคส ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาพิจารณาจากอะไรว่าเคสไหนได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการร่วมระหว่าง ป.ป.ส. กับตำรวจ แล้วไม่ใช่ว่าส่งหนังสือไปแล้วได้เลย จะต้องมีการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลพิสูจน์ตัวยา ต้องไปค้นผลคดี คนที่จะเป็นคนลงมือทำต้องเหนื่อยต้องวิ่งไปนู่นไปนี่ แล้วตัวเขาได้เท่าไหร่ ตัวเขาอาจไม่ได้เงินเลยก็ได้ แล้วใครจะทำเพราะไม่ได้แปลว่าทำไปแล้วได้แน่นอน นอกเสียจากว่านายจะบี้สั่งให้ทำ แต่โดยปกติแล้วไม่มีใครอยากทำหรอก”

การตั้งเป้ายอดคดีและเงินรางวัลอาจทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเฉไฉได้ ผมถามนายตำรวจรายนี้

“ในฐานะผู้บริหาร มันก็ต้องตั้ง เพราะถ้าไม่ตั้งเป้าก็กำหนดทิศทางการบริหารงานไม่ได้ วางแผนการทำงานไม่ได้ แต่ในฐานะผู้ปฏิบัติ ถ้าคุณตั้งเป้า คุณรู้ได้ยังไงว่าผู้กระทำความผิดจะกระทำความผิดช่วงนี้ เท่านี้ ซึ่งจะกดดันให้เจ้าหน้าที่ต้องทำให้ได้ตามเป้าและอาจทำให้เจ้าหน้าที่นอกแถวใช้วิธีทุจริต ในฐานะคนทำงาน มันก็ไม่ควรมีหรอก แต่บางทีระบบราชการกับกระบวนการยุติธรรมก็ดูแปลกๆ ว่าสามารถระบุเป้าได้ด้วยหรือว่าต้องมีคนเท่านี้ๆ ในการกระทำความผิด”

ที่เล่ามานี้ยังไม่นับรวมการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์โดยตรงจากผู้ต้องสงสัยแลกกับการไม่ดำเนินคดีซึ่งทั้งนายเอและนางสาวบีล้วนเคยเผชิญมาด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการเห็นพ้องกันคือการทุจริตมีทุกวงการ มันเป็นปัญหาพฤติกรรมของคน ไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมาย ต่อให้มีกลไกตรวจสอบออกมา ในฐานะผู้ถืออำนาจย่อมสามารถหาช่องทางได้เสมอ

ซีรีส์ชุด คนกับยา 'ปีศาจ' บนตาชั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท