นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ถ้าประชาชนชนะในปี 53

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แม้คำถามประเภท "ถ้า..." ไม่มีประโยชน์ที่จะทำให้เรารู้ว่าอะไรอุบัติขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ แต่มีประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยให้เราทำความเข้าใจกับอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วได้หลายอย่าง เช่นในบรรดาเงื่อนไขปัจจัยที่นำไปสู่อุบัติการณ์นั้นๆ เงื่อนไขปัจจัยอันใดมีความสำคัญที่สุด และอันใดมีส่วนช่วยสนับสนุน และยังช่วยให้เราหยั่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดมาก่อนหน้าอุบัติการณ์นั้น หรือหลังอุบัติการณ์นั้นได้กระจ่างขึ้น ฯลฯ เป็นต้น

ก่อนปี 53 ชนชั้นนำกลุ่มใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังหรือสนับสนุนการรัฐประหารใน 2549 รู้อยู่แล้วว่า การเลือกตั้งที่ให้สิทธิอย่างเท่าเทียมแก่พลเมืองทุกคนจะให้ผลเป็นความเปลี่ยนแปลงที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของชนชั้นนำ อันที่จริงนี่เป็นธรรมดาที่เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยทั้งหลาย แต่ชนชั้นนำในสังคมอื่นจะสั่งสมอำนาจที่"เนียน"กว่าในการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, หรือการเมือง โดยหลีกเลี่ยงที่จะทำลายสิทธิเสมอภาคของการเลือกตั้งอย่างโจ่งแจ้ง แต่ชนชั้นนำไทยประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายกว่า ซ้ำยังไม่ได้กลืนเข้าหากันภายใต้วัฒนธรรมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนัก เช่นระหว่างครอบครัวเจ้าสัวที่ยังพูดไทยไม่ชัด เจ้าสัวที่ทั้งบิดา-มารดาได้เรียนจนจบจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ไปแล้ว และเจ้าสัวที่มีมารดาเป็น ม.ร.ว. ครอบครัวเหล่านี้มีงานอดิเรกคนละอย่าง ฟังเพลงคนละชนิด อ่านหนังสือคนละเล่ม และสร้างเครือข่ายกันไปในหมู่คนต่างกลุ่มกัน (จึงถ้อยทีถ้อยเหยียดกันอยู่ในที)

ด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่สามารถพัฒนายุทธศาสตร์-ยุทธวิธีที่จะถ่วงดุลอาญาสิทธิ์ของการเลือกตั้งด้วยวิธีอื่นมากไปกว่าอำนาจดิบ นั่นคือที่มาของวงจรรัฐประหารในการเมืองไทย และวุฒิสภาจากการแต่งตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ รัฐธรรมนูญ 2540 มีความมุ่งหมายที่จะทำลายกลไกถ่วงดุลการเลือกตั้งเหล่านี้ (โดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม) แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ร่างขึ้นเพื่อนำเอากลไกดังกล่าวกลับมาใหม่เป็นบางส่วน โดยความเข้าใจว่าจะเพียงพอกับสถานการณ์ (มีวุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้งครึ่งเดียว และแยกการตัดสินใจของสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาออกจากกัน)

ผลการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 พิสูจน์ว่า ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่สามารถลดทอนอาญาสิทธิ์ที่มาจากการเลือกตั้งได้ตามที่มุ่งหวัง จำเป็นต้องสร้างพลังมวลชนในฝ่ายชนชั้นนำ กดดันจนการเมืองไม่อาจดำเนินไปได้โดยปรกติ แม้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งจะถูก"ตุลาการภิวัตน์"ไปถึงสองครั้ง อาญาสิทธิ์ของการเลือกตั้งก็ยังจะเปิดให้มีการตั้งรัฐบาลใหม่ ที่ชนชั้นนำควบคุมได้ยาก ในที่สุดก็ต้องหันไปทำรัฐประหารอีกครั้งในค่ายทหาร ตั้งรัฐบาลที่ชนชั้นนำพอไว้วางใจได้ให้ขึ้นสู่อำนาจใหม่

แต่ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งตื่นตัวทางการเมืองแล้ว กลับสามารถจัดองค์กรให้แก่ตนเอง เพื่อกดดันรัฐบาลของชนชั้นนำยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่

ผู้นำของนปช.บางท่านกล่าวว่า ข้อเรียกร้องของฝ่ายประชาชนให้ยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ ทั้งในพ.ศ.2552 และ 2553 เป็นข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นได้ในทุกสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่รุนแรง (เช่นให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญซึ่งใช้บังคับอยู่) ข้ออ้างนี้ฟังดูจริงในระบอบประชาธิปไตยทั่วไป แต่ในประเทศไทย การเลือกตั้งนั่นแหละคือตัวประเด็นหลักที่จะทำลายโครงสร้างอำนาจซึ่งดำรงอยู่มาตั้งแต่ 2490 ลงทั้งหมด การเลือกตั้งคือตัวปัญหาหลักที่ฝ่ายชนชั้นนำยังแก้ไม่ตก การเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ คือการบอกชนชั้นนำว่า "มึงถอยออกไป" นั่นเอง

ความรุนแรงที่ฝ่ายชนชั้นนำใช้ในการยุติข้อเรียกร้อง (ที่ฟังดูแสนปรกติธรรมดา) นี้ มักอธิบายกันว่า เป็นเพราะฝ่าย"เสื้อแดง"เลือกจะเสนอตนเองเป็นชนชั้นล่าง ซึ่งไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองและไม่ร่วมอยู่ในเครือข่ายไม่ว่าชิดใกล้หรือห่างไกลของชนชั้นนำเลย จึงทำให้ฝ่ายชนชั้นนำไม่มีความยับยั้งชั่งใจ หรือระงับความรุนแรงลงก่อนที่จะสูญเสียมากเกินไป อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเมืองไทย

แต่หากเรามองกลไกการควบคุมทางการเมืองซึ่งชนชั้นนำได้วางไว้ตั้งแต่ 2490 เป็นต้นมา ก็จะเห็นได้ว่าฝ่ายชนชั้นนำก็ไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากใช้ความรุนแรงอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ความรุนแรงจากการไล่ยิงประชาชนซึ่งปราศจากอาวุธเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงดึงเอากลไกรัฐทุกอย่าง โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมมารับใช้ระบอบอำนาจนิยมที่สถาปนาขึ้นจนหมดตัว และหมดทุน กลไกรัฐที่ถูกใช้ไปจนหมดตัวและหมดทุนเช่นนี้ ก็เป็นความ"รุนแรง"อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้ชนชั้นนำไทยไม่สามารถรองรับระบอบใดได้อีก นอกจากระบอบแห่งความรุนแรง

หากใช้ความเปรียบแบบฝรั่ง การปราบปรามประชาชนอย่างนองเลือดที่สุดซึ่งเกิดในปี 2553 คือการข้ามแม่น้ำรูบิคอนของชนชั้นนำไทย เช่นเดียวกับเมื่อจูเลียส ซีซาร์ตัดสินใจข้ามน้ำนั้นเพื่อปราบชนเผ่าเยอรมัน ชะตากรรมของตัวเขาเองและของกรุงโรมก็เปลี่ยนไปอย่างไม่มีทางหวนกลับไปเหมือนเดิมได้อีก

แม้แต่การรัฐประหารในปี 2557 และรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เป็นผลมาจากความรุนแรงที่นำมาใช้ในปี 2553 นับเป็นหนทางเดียวที่เหลืออยู่ของชนชั้นนำกลุ่มนั้น เมื่อได้ตัดสินใจข้ามแม่น้ำรูบิคอนในปี 2553 มาเสียแล้ว ทั้งรัฐประหาร 2557 และรัฐธรรมนูญ 2560 ทำทุกอย่างโดยโจ่งแจ้ง ที่จะปลดอำนาจของการเลือกตั้งออกไปจนไร้ความหมาย ในขณะเดียวกันก็ไม่เหลือทางออกสำหรับการประนีประนอมใดๆ แก่ฝ่ายประชาชนด้วย

ความรุนแรงเป็นวงจรอุบาทว์ที่น่ากลัว ไม่ว่าฝ่ายใดก่อขึ้น ก็ต้องใช้ความรุนแรงเพื่อปิดโอกาสที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งใช้ความรุนแรงตอบโต้ พื้นที่แห่งความขัดแย้งจึงยิ่งขยายออกไปจนครอบงำทุกส่วนของสังคม ช่องทางแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติจึงยิ่งหดลง (เช่นยังเหลือเหยื่อความรุนแรงในปี 53 สักกี่คนที่ยังคิดจะใช้วิธีการทางการศาล เพื่อบรรเทาบาดแผลของตน) แม้แต่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่นำไปสู่หนทางที่จะแก้ไขความขัดแย้ง หรือเข้าถึงความเป็นธรรมได้ เพราะการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 60ไม่เปิดโอกาสให้ได้ฝ่ายบริหารตามเจตนาของผู้เลือกตั้ง แต่ต้องเป็นฝ่ายบริหารที่ชนชั้นนำยอมรับเท่านั้น ดังนั้นฝ่ายบริหารที่ได้มาจึงเป็นฝ่ายที่มาจากการใช้ความรุนแรงในการทำรัฐประหาร และร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้เอง

ความรุนแรงปิดล้อมทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ใช้ความรุนแรง และเหยื่อของความรุนแรง ในที่สุดก็ดึงเอาทุกคนเข้ามาอยู่ในวงล้อมด้วย

สถานการณ์บังคับให้เราทุกฝ่ายต้องเดินสู่จุดจบที่รุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะจบลงที่การเลือกตั้งที่ไร้ความหมาย หรือลงที่การเลือกตั้งอันมีความหมายบริบูรณ์อย่างที่ควรเป็นก็ตาม

ดังนั้น ถ้าประชาชนชนะในปี 53 ประเทศไทยและเราทุกคนย่อมไม่เดินมาถึงจุดนี้

แต่ความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน และถูกเบียดเบียนบีฑาสืบมาจนถึงทุกวันนี้จากหลายฝ่าย ทำให้เราคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่ฝ่าย "เสื้อแดง" จะชนะ แต่ความเป็นไปได้นั้นพอมีให้เห็นอยู่บ้าง

ในระยะแรกของการเริ่มรวมตัวเพื่อชุมนุมในปี 53 มีความพยายามของฝ่ายปกครองในจังหวัดต่างๆ ที่จะสะกัดกั้นการรวมตัว ในจังหวัดที่เป็นแหล่งรวมตัวบ้าง ในจังหวัดที่ตั้งอยู่บนเส้นทางสู่กรุงเทพฯ บ้าง แต่เมื่อการรวมตัวยังทำได้ต่อไป จนกลายเป็นฝูงชนขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ แล้ว ความพยายามสะกัดกั้นของราชการส่วนภูมิภาคก็ยุติลง การเดินทางลงมาสมทบของผู้คน หรือแม้แต่การส่ง"กำลังบำรุง"ในรูปต่างๆ เป็นไปโดยสะดวก

นปช.อาจเสนอการรวมตัวของประชาชนจากหลายสิบจังหวัดเหล่านี้ว่า เกิดขึ้นได้อย่างพร้อมเพรียงด้วยความสมัครใจของแต่ละครอบครัวของผู้เข้าร่วมชุมนุม ผู้เขียนไม่คิดว่าการชุมนุมขนาดใหญ่ที่รวมคนหลายประเภทและหลายแหล่งที่มาขนาดนั้นจะเป็นไปได้โดยปราศจาก"การจัดตั้ง" โดยเฉพาะในแต่ละจังหวัดย่อมต้องมี"แกนนำ"ในการระดม "แกนนำ"เหล่านี้คือเครือข่ายที่ประกอบด้วยคนหลายสถานะ นับตั้งแต่นักการเมือง (ทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ), นายทุนท้องถิ่น, ผู้มีอิทธิพลทางใดทางหนึ่งในจังหวัด, เชื่อมโยงไปถึงผู้นำในระดับอำเภอ-ตำบล-และหมู่บ้าน

เพราะสถานะที่"ไม่ธรรมดา"ของบุคคลในเครือข่าย"จัดตั้ง"เช่นนี้ ทำให้ฝ่ายปกครองในส่วนภูมิภาคเลือกที่จะสะกัดการเดินทางของผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นเพียง"คนเล็กคนน้อย" แทนที่จะประกบหรือ"ล้อค"บุคคลในเครือข่ายจัดตั้ง ซึ่งจะได้ผลกว่า แต่การสะกัดกั้นคนเล็กคนน้อยทำให้ผู้มีอำนาจในส่วนกลางซึ่งจัดตั้งรัฐบาลได้ในเวลานั้นเห็นว่า ได้พยายามช่วยอย่างเต็มที่แล้ว

ประเด็นที่ต้องการกล่าวในที่นี้ก็คือ กลไกรัฐของไทยไม่มีความเป็นเอกภาพ ในยามที่มีการต่อสู้ทางการเมืองอย่างหนักในส่วนกลาง ข้าราชการมักเลือกจะ (ขอใช้สำนวนฝรั่งอีกครั้ง) "นั่งอยู่บนรั้ว" รอให้เห็นชัดว่าฝ่ายใดชนะเสียก่อนจึงกระโดดลงมายืนอยู่ฝ่ายนั้น

สรุปก็คือ ตกถึงปลายเมษายนและต้นพฤษภาคม 2553 ระบบควบคุมผ่านกลไกรัฐของรัฐบาลที่ชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งตั้งขึ้น ได้สลายลงไปเกือบหมดแล้ว เพราะระบบราชการเกือบทั้งหมดขึ้นไปนั่งอยู่บนรั้วรอสัญญาณที่ชัดเจนว่าฝ่ายใดจะชนะ

สิ่งที่น่าถามต่อมาก็คือ เมื่อกลไกรัฐส่วนที่เป็นราชการพลเรือนขาดเอกภาพ กองทัพเล่ามีเอกภาพมากน้อยเพียงไร ผู้เขียนเห็นว่าก็ขาดเอกภาพไม่ต่างจากกัน ยิ่งในพ.ศ.2553 มองเห็นได้ชัดแล้วว่า "มุ้ง"หรือ faction หนึ่งของกองทัพคือ"บูรพาพยัคฆ์"กำลังเข้ามาสืบทอดอำนาจครอบครองทั้งตำแหน่งและผลประโยชน์ (ที่เรียกกันในภายหลังว่า "ทุนสีเขียว" หรือ Khaki Capital) ของกองทัพไปอย่างสืบเนื่อง "มุ้ง"อื่นในกองทัพย่อมเลือกจะ"นั่งอยู่บนรั้ว"เช่นเดียวกัน

ตราบเท่าที่กองทัพยังจมดิ่งเสวยสุขอยู่กับ"ทุนสีเขียว"มูลค่ามหาศาลเช่นนี้ ก็ยากที่กองทัพจะมีเอกภาพได้

น่าสังเกตด้วยว่า ส่วนใหญ่ของหน่วยทหารที่ใช้ในการปราบปราม"เสื้อแดง"อย่างโหดเหี้ยมนั้น ล้วนเป็นหน่วยทหารในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก (คล้ายๆ กับการสังหารหมู่ประชาชนทุกครั้งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต) เหตุผลก็เพราะหน่วยทหารเหล่านี้มักอยู่ใต้การบังคับบัญชาของ "สาย" ที่ครองอำนาจอยู่ในกองทัพ เพราะเป็นพรรคพวกเดียวกันจึงได้รับมอบหมายให้คุมกำลังซึ่งอาจนำมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้ หรือป้องกันมิให้คู่แข่งนำไปใช้ประโยชน์บ้าง

ดังนั้นในปลายเมษายนและต้นพฤษภาคม รัฐบาลอภิสิทธิ์จึงตกอยู่ในที่ล้อม ไม่ใช่เพราะ"เสื้อแดง"ที่ราชประสงค์เพียงอย่างเดียว แต่สถานการณ์ของทั้งประเทศโดดเดี่ยวรัฐบาลอภิสิทธิ์ และกองทัพภายใต้บูรพาพยัคฆ์ไปอย่างเด็ดขาดด้วย หากทิ้งให้การชุมนุมประท้วงดำเนินต่อไปเป็นเวลานาน ทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์และบูรพาพยัคฆ์ย่อมตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงมากขึ้นทุกที

นี่คือเหตุผลที่การขอคืนพื้นที่และการกระชับวงล้อมต้องทำอย่างเด็ดขาด, รุนแรง, และเหี้ยมเกรียม เพื่อยุติการชุมนุมอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาอันสั้น ส่งสัญญาณที่ไม่มีทางอ่านผิดไปทั่วประเทศว่าใครคือฝ่ายชนะ (ผู้เขียนเชื่อว่ารัฐบาลถนอม-ประภาสในปี 2517 และรัฐบาลสุจินดาในพ.ศ.2535 ก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน)

ข้อสมมติว่า ถ้าประชาชนชนะในปี 53 จึงไม่ใช่ความเพ้อฝันถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว และถ้าประชาชนเป็นฝ่ายชนะ (ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการล้อมปราบอย่างเหี้ยมโหด) จะเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย

ประการแรก ผู้เขียนเชื่อว่า ชนชั้นล่าง (ซึ่งผู้เขียนเคยวิเคราะห์ไว้แล้วว่าคือคนชั้นกลางระดับล่าง) จะมีที่ทางอย่างเด่นชัดในการเมืองไทย พวกเขาคงจะยึดเอาการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการมีส่วนทางการเมือง เพราะจำนวนที่มาก แม้ขาดการจัดองค์กรที่กระชับ ก็จะประกันสิทธิเท่าเทียมทางการเมืองของพวกเขา และด้วยเหตุดังนั้นพรรคการเมืองและ"ฝ่ายการเมือง"กลุ่มต่างๆ จะ"เห็นหัว"พวกเขายิ่งขึ้น ไม่เฉพาะแต่พรรคไทยรักไทยเท่านั้น แต่รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย เจ้าสัวทั้งหลายต้องเร่งทำ CSR มากขึ้น หรือเบน CSR ที่ทำอยู่ให้"ดัง"ในหมู่ชนชั้นกลางระดับล่างมากกว่าการบริจาคโครงการสังคมสงเคราะห์ระดับบน

ประการต่อมา ในระยะเวลาเพียง 18 ปีจาก 2535 กองทัพพิสูจน์ให้เห็นว่า กำลังทางทหารของตนไม่สามารถกำหนดทิศทางทางการเมืองได้ กองทัพจึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนักของชนชั้นนำ อย่างน้อยก็มีขีดจำกัดที่ใช้ล้มกระดานไม่ได้ผล คือถึงล้มกระดานได้ แต่ก็ไม่สามารถสร้างกระดานใหม่เพื่อตอบสนองอุดมการณ์และผลประโยชน์ของชนชั้นนำได้เต็มที่นัก อย่างไรเสียระบอบปกครองที่เกิดจากการล้มกระดาน ก็ต้องประนีประนอมกับอุดมการณ์และผลประโยชน์ของชนชั้นอื่นอยู่มาก

เมื่อกองทัพไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพมากนัก

การเมืองไทยที่"คาดเดาได้"มากขึ้นนี้ ย่อมเป็นผลดีแก่เศรษฐกิจไทยด้วย อาจเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยซึ่งเริ่มทรุดลงตั้งแต่ 2549 จะเริ่มทรงตัวและอาจผงกขึ้นได้ นอกจากนี้ สิทธิประชาธิปไตยซึ่งมั่นคงขึ้นก็จะบีบบังคับให้ฝ่ายทุนต้องปรับตัว ซึ่งในระยะหนึ่งคงเกิดความเจ็บปวดแก่สังคมด้วย เช่นขยับเทคโนโลยีการผลิตให้สูงขึ้นเพื่อลดการจ้างแรงงานลง เพราะไม่สามารถกดราคาแรงงานได้ต่อไป ความจำเป็นที่บีบบังคับให้เกิดการปฏิรูปของฝ่ายทุนนี้เอง อาจเป็นไกปืนที่ผลักให้เกิดการปฏิรูปในด้านอื่นเช่นการศึกษาด้วยเป็นต้น

ที่กล่าวข้างต้นนี้มาจากความเชื่อของผู้เขียนว่า สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ, สังคม, และการเมืองต่างหาก ที่บีบบังคับให้เกิดการปฏิรูปได้จริง ไม่ใช่คำสั่งของเผด็จการหรือนโยบายของพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว

เมื่อชนชั้นนำไม่เห็นประโยชน์ทางการเมืองของกองทัพมากนัก ก็น่าจะแทรกแซงกองทัพน้อยลง "การเมือง"ของกองทัพก็จะเปลี่ยนไป จากการเกาะกลุ่มเป็น"สาย"ในกองทัพ เพื่อแข่งกันชิงตำแหน่งระดับสูง ก็จะเป็นโอกาสมากขึ้นของทหารอาชีพที่มีสมรรถภาพจริง ได้ไต่เต้าสู่ระดับบังคับบัญชาขั้นสูงได้ ถึงนายทหารเหล่านี้ไม่เป็นผู้นำในการล้มเลิก"ทุนสีเขียว"เสียเอง แต่ในภาวะที่"การเมืองนำการทหาร"ก็เป็นไปได้ว่า "ทุนสีเขียว"จะถูกบ่อนทำลายลงทีละเล็กละน้อย จนหมดความสำคัญลงในที่สุด ซึ่งอาจใช้เวลานานแต่ก็เป็นไปอย่างราบรื่น

ประการที่สาม เป็นไปได้อย่างมากที่สุดที่รัฐธรรมนูญ 2540 จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากเป็นข้อเสนอหนึ่งของผู้นำ นปช.บางคนแล้ว ยังเป็นหนทางที่จะล้มล้างความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นระหว่างการรัฐประหาร 2549-2553 ด้วย ทั้งในทางการเมือง, ตุลาการ, กฏหมาย, และกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นในการเลือกตั้งซึ่งจะเกิดขึ้นหลังชัยชนะของประชาชน พรรคการเมืองที่เลือกจะชิงการสนับสนุนจากกลุ่ม"เสื้อแดง" ย่อมใช้การนำเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ใหม่เป็นนโยบายหาเสียง ทั้งนี้ไม่ได้จำกัดแต่พรรคเพื่อไทยเท่านั้น หากรวมพรรคการเมืองอื่นๆ อีกหลายพรรคที่ต้องการคะแนนเสียงเหมือนกัน

ผลของการเลือกตั้งสร้างปราการอันแข็งแกร่งขึ้นปกป้องรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ผลของความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่าง 2549-2553 ก็ยังอยู่ และกลายเป็นอุปสรรคทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 พอสมควร เช่นนักการเมืองที่เจนจัดในเวทีการเมืองจำนวนเป็นร้อยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง

จะแก้ปัญหานี้อย่างไร โดยไม่บั่นรอนสถาบันตุลาการ และสถาบันทางการเมืองอื่นๆ จนทำให้สังคมสูญเสียศรัทธาไปจนหมดสิ้น เหลือหนทางจะทำได้ก็โดยการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม (ซึ่งก็แก้ปัญหาไปได้เพียงส่วนเดียว และจำกัดอยู่แต่ทางด้านการเมืองเท่านั้น) หรือหันกลับมารับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ คือถือว่าการรัฐประหารในปี 2549 ไม่เป็นผลใดๆ ทั้งสิ้นในทางกฏหมาย มีคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นเพื่อพิจารณากฏหมายและคำสั่งบางข้อ ให้มีผลต่อไปตามคำรับรองของรัฐสภาเท่านั้น

ไม่ว่าจะใช้วิธีใด ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าคุณทักษิณ ชินวัตรจะกลับประเทศไทย ส่วนจะกลับมาเป็นผู้นำทางการเมืองอีกหรือไม่ ก็ต้องผ่านการเลือกตั้ง (ที่จัดขึ้นใหม่หลัง 2553 หรือที่ค้างเก่ามาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารที่ถูก"ตุลาการภิวัตน์"ตัดสินว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ)

คุณทักษิณคนใหม่ก็จะใช้ถุงมือกำมะหยี่แทนถุงมือเหล็กอย่างที่เคยใช้มา เป็นผลให้ลดศัตรูลง แม้ยังเหลืออยู่บ้างก็เป็นจำนวนน้อย (เช่นตัวผู้เขียนเอง ซึ่งไม่ไว้วางใจถุงมือทุกชนิด)

ด้วยเหตุดังนั้น ชนชั้นนำกลุ่มใหญ่ก็จะยอมรับคุณทักษิณได้มากขึ้น อย่างน้อยนโยบาย Dual Tracks หรือนโยบายสองวิถีของคุณทักษิณ ก็ไม่บั่นรอนผลประโยชน์ของฝ่ายทุน และในระยะยาวก็อาจเป็นคุณด้วย เพราะทำให้การเอารัดเอาเปรียบของฝ่ายทุนแหลมคมน้อยลงในความรู้สึกของคนชั้นกลางระดับล่าง

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณทักษิณเป็นนายกฯ ต่อมาอีก 16 ปีอย่างที่ประกาศว่าจะเป็นต่อกันถึง 20 ปี สองวิถีก็อาจค่อยๆ เปลี่ยนจากเส้นขนานมาทับเป็นเส้นเดียวกัน โดยที่วิถีของคนเล็กคนน้อยจะเหลืออยู่แต่เป็นลูกจ้างหรือเอเย่นต์รายย่อยของทุนระดับใหญ่ – ของไทยหรือของโลก – เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยคงได้เป็นรัฐบาลสืบเนื่องมาอีกอย่างน้อยหนึ่งหรือสองสมัยเป็นอย่างน้อย โอกาสที่จะเกิดพรรคคู่แข่งที่พอจะถ่วงดุลอำนาจของไทยรักไทยได้ คงเกิดได้ยากใน 4-8 ปีต่อมา แม้จะมีพรรคอนาคตใหม่ ก็คงต้องใช้เวลานานกว่าที่ผ่านมาอีกมาก กว่าจะตั้งตัวติดบนเวทีการเมือง ส่วนปชป.นั้นไม่ต้องพูดถึง คงสูญพันธุ์ไปเท่านั้น

เสถียรภาพนี้น่าจะทำให้การกระชับระบบราชการให้รวมศูนย์ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายปฏิรูประบบราชการของไทยรักไทย ประสบความสำเร็จ คือไม่ใช่รวมศูนย์อย่างเดียว แต่มีเอกภาพภายใต้"ซีอีโอ"ด้วย พลังของราชการรวมศูนย์ที่มีเอกภาพเช่นนี้ จะบ่อนทำลายการเติบโตของอำนาจปกครองตนเองของท้องถิ่นมากน้อยเพียงไร ตอบได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับว่าคุณทักษิณจะประสาน"สองวิถี"ของการพัฒนาไปอย่างไร

แม้ว่า ชัยชนะของประชาชนในปี 53 จะนำมาซึ่งความมั่นคงทางการเมืองแก่พรรคไทยรักไทยสักเพียงไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความตึงเครียดในพรรคไทยรักไทยอยู่ไม่น้อยเลย จำนวนไม่น้อยของ ส.ส.คือเครือข่ายของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ในขณะที่ส่วนยอดของปิรามิดคือคุณทักษิณและกลุ่ม"นักปฏิรูป"จากหลายสาขาอาชีพ ที่แวดล้อมคุณทักษิณอยู่ โดยแทบไม่มีคะแนนนิยมทางการเมืองของตนเองเลย เช่น ปัญญาชนอิสระบ้าง, หมอชนบทบ้าง, เกษตรกรแผนใหม่บ้าง, ผู้บริหารการศึกษาระดับสูงบ้าง, ฯลฯ

ความคิด ความเชื่อและความคาดหวังระหว่างคนในส่วนยอดปิรามิด กับส่วนใหญ่ของ ส.ส.ซึ่งมาจากกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่น แตกต่างกันอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในวิธีปฏิบัติต่อนโยบายซึ่งอาจเห็นพ้องต้องกันอยู่แล้วก็ได้

คุณทักษิณต้องประนีประนอมคนสองพวกนี้ให้เดินไปด้วยกันให้ได้ หากจะให้ประเมินว่า จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ามีกลุ่ม"นักปฏิรูป"ลาจากพรรคไทยรักไทยไปจำนวนหนึ่ง กลุ่มนักการเมืองส่วนหนึ่งก็เช่นกัน และบางคนถึงประกาศตนเป็นอริกับคุณทักษิณในตอนท้ายเลย (ขอให้สังเกตด้วยว่า นักการเมืองและผู้ที่เข้าร่วมใน ค.ร.ม.ของ คสช.และพรรค พปชร.จำนวนไม่น้อย ก็ล้วนเคยอยู่กับคุณทักษิณใน ไทยรักไทยมาก่อน) แม้กระนั้นคุณทักษิณก็สามารถนำพรรค ไทยรักไทยกวาดคะแนนเสียงไปได้อย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไปสมัยที่สอง (ที่ถูกตัดสินให้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไป) ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า คุณทักษิณจะสามารถประนีประนอมคนสองจำพวกนี้ต่อไปอีก 16 ปี โดยไม่ให้เกิดผลเสียต่อคะแนนเสียงของพรรค ไทยรักไทยได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อนโยบายจะนำเอาความเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้นกว่าที่ผ่านมาเข้าสู่สังคม และเมื่อเกิดพรรคฝ่ายค้านใหม่ที่น่าเกรงขามกว่าพรรคฝ่ายค้านเดิมที่มีมา

นอกจากนี้การขยายตัวของความคิดเสรีนิยมในประเทศไทย โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ (ซึ่งจะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่เกิดการรัฐประหารในพ.ศ.2557 ผู้เขียนก็เดาไม่ถูก) จะเป็นคุณหรือเป็นโทษทางการเมืองแก่พรรค ไทยรักไทยของคุณทักษิณ? ถ้าเป็นโทษ คุณทักษิณจะอยู่รอดทางการเมืองถึงอีก 16 ปีตามที่คาดหวังไว้ละหรือ

แต่ที่แน่นอนก็คือ ไม่ว่าชะตากรรมทางการเมืองของพรรค ไทยรักไทยจะลงเอยอย่างไร การเปลี่ยนผ่านไปสู่พรรคใหม่ นโยบายใหม่ และบุคลิกภาพใหม่ จะเกิดขึ้นตามครรลองประชาธิปไตย ซึ่งจะยิ่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นในสังคม จนกระทั่งชนชั้นนำต้องเลือกวิธีอื่นที่ไม่ขัดแย้งกับกระบวนการประชาธิปไตย ในการรักษาอุดมการณ์และผลประโยชน์ของฝ่ายตน อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงเป็นอื่นได้

แต่ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ข้อสมมติว่าประชาชนชนะในปี 2553 นั้นไม่จริง ตรงกันข้าม กลับพ่ายแพ้ยับเยิน แม้กระนั้นการสมมตินี้ก็มีประโยชน์ เพราะทำให้เราหยั่งได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทย ซึ่งจมดิ่งไปสู่แนวทางเดียวของความรุนแรงนั้น นำเรามาถึงจุดที่ไม่อาจหาทางออกทางอื่นได้อีกแล้วในปัจจุบัน ท่ามกลางความสูญเสีย ไม่เฉพาะแต่ชีวิตและสวัสดิภาพของผู้คนจำนวนมากในเหตุการณ์ล้อมปราบ แต่ยังรวมถึงโอกาสแห่งความรุ่งเรือง, เสรีภาพ และความสงบที่คนไทยควรได้รับด้วย

 

ที่มา: Facebook ยูดีดีนิวส์ - UDD news

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท