คำ ผกา: กระดูกสันหลังของประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ฉันเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปีสองในปีที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬฯ เรียนอยู่ที่เชียงใหม่ เอกประวัติศาสตร์ ไม่ใช่คนที่เพิกเฉยกับการเมือง ตรงกันข้ามฉันติดตามข่าวการเมืองอย่างค่อนข้างใกล้ชิดมาโดยตลอด ในฐานะนักศึกษาปีสอง สิ่งที่ฉันรู้คือ รัฐบาลชาติชายถูกเรียกว่าเป็น บุฟเฟต์คาบิเน็ต

ในฐานะของ “คนไทย” ที่ตลอดชีวิตเติบโตมากับวาทกรรม นักการเมืองชั่ว นักการเมืองโกง ก็อินกับคำว่าบุฟเฟต์คาบิเน็ตเอามาก สัมผัสได้ถึงการกินรวบ แต่อีกใจหนึ่งก็ละล้าละลังอ้อยอิ่งกับความยินดีปรีดากับการที่เรามีนายกฯ ที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง

สำหรับสมัยนั้นมันยิ่งใหญ่มากเลย ฉันเติบโตมากับการมีชีวิตอยู่ภายใต้รัฐบาล “เตมีย์ใบ้” ยาวนานถึง 8 ปี เติบโตมาพร้อมกับคำถามว่า เอ... ทำไมคนนี้เขาได้มาเป็นนายกฯ ตกลงประเทศไทยของเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยใช่ไหม? เติบโตมากับการมีรัฐบาลผสมอันแสนเปราะบาง อ่อนแอ การขึ้นมาเป็นนายกฯ ของ ชาติชาย ทำให้ฉันทึ่งกับนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า และเป็นครั้งแรกที่ฉันได้เห็นการทำงานของรัฐบาลที่เป็นการทำงานเชิงรุก เป็นการผลักดันนโยบาย หรือ ไอเดียใหม่ๆ จนบางครั้งรู้สึกว่า เฮ้ย ผาดโผนจัง

เป็นครั้งแรกเห็นว่าเรามีการเมืองที่ “สนุก” อ่ะ

สนุกแต่โกง เลยมีการรัฐประหาร และ การรัฐประหารนั้นก็นำไปสู่การประท้วง ต่อต้าน ขับไล่ “เผด็จการ” วลี “สุไม่เอาให้เต้” คือวลีที่ทำให้อารมณ์ของคนลุกเป็นไฟ

แต่ฉันซึ่งสนใจการเมืองมากในขณะนั้นกลับมองเหตุการพฤษภาฯ แบบ skeptical หรือ คลางแคลงใจมากๆ จนไม่รู้สึกอยากไปเข้าร่วมหรือสนับสนุนอะไร คือคิดว่า การต่อต้านเผด็จการเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ไม่อาจจะอินกับพฤษภาทมิฬได้ เพราะมีอคติกับคำว่า “ม็อบมือถือ” การลุกขึ้นสู้ของชนชั้นกลาง (ต้องนึกภาพว่าในยุคนั้นเพิ่งผ่านยุคทองของงานเพลงและวรรณกรรมของคนที่เพิ่งออกจากป่า เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ จิระนันท์ พิตรปรีชา ได้รางวัลซีไรต์ พี่หงา คาราวาน นี่เป็นยิ่งกว่าเทพเจ้า นักเขียนเพื่อชีวิตคือนักเขียนที่ทรงคุณค่าเหนือนักเขียนอื่นใด)

ดังนั้น การลุกขึ้นสู้ทางการเมืองในภาพจำของสังคมไทยจึงเป็นภาพของนักศึกษากับชนชั้นกรรมาชีพที่สู้เพื่อคนผู้ทุกข์ยากทั้งมวล แต่ความพิเศษของพฤษภา 35 คือมันเป็นม็อบของคนชั้นกลาง หน้าขาวๆ มีมือถือ มีการศึกษา มีฐานะ (ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว พฤษภา 35 มีคนที่ไม่ใช่ชนชั้นกลางเข้าร่วมเยอะมาก มากจนอาจพูดได้ว่าเป็นกำลังหลัก กำลังสำคัญ แต่ถูกทำให้สูญหายไปจากความจำ ทุกวันนี้ เรามีชื่อคนเจ็บคนตายตอนพฤษภา 35 ครบถ้วนหรือไม่ ยังไม่แน่ใจ) 

แต่ก็นั่นแหละคำว่า “ม็อบมือถือ” ทำให้ฉันเลือกจะเป็นผู้สังเกตการณ์จากเชียงใหม่ มากกว่าจะ “อิน” กับการขับไล่เผด็จการ ที่สำคัญ ฉันไม่นับถือคนแบบ จำลอง ศรีเมือง เอาเสียเลย ก็เลยยิ่งไม่อินเข้าไปใหญ่ และยิ่งงงหนักเข้าไปอีก เมื่อทุกอย่างจบลงแบบงงๆ จนเราได้นายกฯ ชื่อ อานันท์ ปันยารชุน .เอ๊า แบบนี้ก็ได้ด้วยเหรอ

ในฐานะที่เรียนประวัติศาสตร์ ฉันจึงคิดว่าเราตั้งหน้าตั้งตาเรียนประวัติศาสตร์การเมืองต่อไปดีกว่า ทำไมการทำความเข้าใจการเมืองไทยมันยากจัง

ความยากในการทำความเข้าใจการเมืองไทยของฉันเริ่มตั้งแต่ทำไมสังคมไทยไม่ชอบ บรรหาร แต่ ชอบ อานันท์ ไม่ใช่ว่าบรรหารดีกว่าอานันท์ หรืออานันท์ ดีกว่า บรรหาร แต่งงกับสังคมไทยว่า ตกลงชอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งจริงหรือเปล่า

เรื่อยมาจนถึงปีที่มีรณงค์ติดริบบิ้นเขียวกับรัฐธรรมนูญปี 40 ตอนนั้นฉันเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโตแล้วและศึกษาประวัติศาตร์การเมืองไทยสมัยใหม่เช่นเดิม

เรื่องเนื้อหารัฐธรรมนูญปี 40 ก็เรื่องหนึ่ง แต่ฉันไม่ “อิน” อีกแล้วกับเรื่องริบบิ้นเขียว รู้สึกว่า อีเวนต์ปาหี่อะไรเนี่ยะ ตลก หน่อมแน้ม มุ้งมิ้งจัง คนสันคะยอมบ้านฉันไม่มีใครจะไปติดริบบิ้นอะไรแบบนี้หรอกนะ ตลก

การได้เรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยกับคนต่างชาติคงทำให้ฉันเป็น “ชังชาติ” เพราะอาจารย์ที่นี่ทำให้ฉันหายงงในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่อง บรรหาร เรื่องชวลิต เรื่องอานันท์ เพราะสำหรับการอธิบายการเมืองที่นี่มันง่ายมาก นายกฯ ที่ดี คือ นายกฯ ที่มาจากการเมืองตั้ง - จบ, นายกฯ ที่มาด้วยหนทางใดๆ ที่ไม่ใช่การเลือกตั้ง ต่อให้เป็น “คนดี” ก็ไม่ถือว่าเป็นนายกฯ ที่ชอบธรรม และ ถ้าเป็น “คนดี” จริง ต้องไม่ยอมรับตำแหน่งนายกฯ ที่ได้มาด้วยวิธีลักไก่ใดๆ ก็ตาม - จบ - อีกนั่นแหละ

บรรหาร ชวลิต ชาติชาย ดีไม่รู้ชั่วไม่รู้ ให้ประชาชนตัดสิน แต่ถือว่าเป็นนายกฯ ที่มาโดยทำนองคลองธรรม - จบนะ - ไม่ต้องงง

ที่ญี่ปุ่น (ฉันหมายถึงในชั้นเรียนของเรา) อาจารย์ที่ปรึกษาของฉันเกาหัวหนักที่สุดว่า ไม่เถียงว่ามันดี แต่มันมีหลายจุดมากๆ ที่ไม่โอเค แต่ทำไมปัญญาชนไทยไม่ทักท้วงจุดที่ไม่โอเค และสำคัญโคตรๆ เหล่านั้นเลย

อาทิ การกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องจบปริญญาตรี - เฮ้ย อันนี้เรื่องใหญ่นะ สิทธิทางการเมือง ทั้งของผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งและผู้เลือกตั้ง ไม่ควรถูก “จำกัด” ด้วยวุฒิการศึกษาไม่ใช่หรือ?

งงมากจ้า ทำไมปัญญาชนไทยแห่แหน ยอมรับเรื่องนี้ และบอกว่า ดีจัง เราจะได้มีแต่ ส.ส. ที่มี “การศึกษา” ในสภาฯ ซึ่งพูดออกไปปุ๊บ ก็ไม่พีซีทันที แล้วปัญญาชนไทยที่อ้างตัวว่าสนับสนุนประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการ อยากเห็นบ้านเมืองมีประชาธิปไตยดีๆ ติดริบบิ้นเขียวกันเถอะ เขาโอเคกับเรื่องนี้ได้อย่างไร?

โหดสุดคือการมี “องค์กรกลาง” และ “องค์กรอิสระ” ต่างๆ อ้างว่าเอามาคุมนักการเมืองอีกที

เราก็อภิปรายกันว่าการคุมนักการเมือง กลไกสภาก็พอแล้ว การมีองค์กรที่ไม่ได้มาจากประชาชนมาคุมนักการเมืองในสภาฯ อีกที มันก็ดูแปลกๆ รัฐธรรมนูญปี 40 พยายามจะแก้ปัญหาเรื่องความอ่อนแอของพรรคการเมือง , รัฐบาลผสม ที่ทำให้ทำงานไม่เข้าเป้า ประชาชนเสื่อมศรัทธา, แก้ปัญหาเรื่องวุฒิสมาชิกที่ไม่ได้มาจากประชาชน - สามเรื่องนี้ทำได้ดี - แต่ก็เหมือนคนห่วงหน้าพะวงหลัง ใจหนึ่งก็อยากเป็นประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ใจหนึ่งก็ไม่ไว้ใจประชาชน กลัวประชาชนไปเลือกโจรมาครองเมืองเลยมาตั้งป้อมไว้ที่วุฒิการศึกษา (ที่ไม่ได้ช่วยอะไร นอกจากช่วยสร้างวาทกรรมว่าคนเรียนสูงเท่ากับคนเก่ง) และตั้งสิ่งที่เรียกว่าองค์กรอิสระมาเป็นป้อมปราการอันใหญ่เบ้อเร่อมาโดยหวังดีแต่ไม่เชื่อมั่นนั่นแหละ

ในชั้นเรียนของเราที่เกียวโตก็งงใจกับปัญญาชนสยามกันมาก ณ ปี 40 ว่า เขาเชื่อในประชาธิปไตยจริงๆ ใช่ไหม?

กระนั้น รัฐธรรมนูญ ปี 40 ก็สำเร็จผลของมันในการสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็งจนเรามีพรรคการเมืองใหญ่แข่งกันที่นโยบายแค่สองพรรคคือ ไทยรักไทยกับประชาธิปัตย์

ภาพการเมืองไทยชัดเจนขึ้นภายใต้พรรคไทยรักไทย ทักษิณและทีมงานเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยไปอย่างยากจะจินตนาการได้ ซึ่งฉันจะสรุปไว้แค่สองประโยคก็พอคือ หนึ่ง ประชาธิปไตยกินได้ สอง การกอบกู้ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นพลเมืองไทยของคนไทย

คนไทยที่ก่อนหน้านี้คิดว่าตัวเองเป็นมดเป็นไร ตัวเล็กมาก ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียง ไม่ถูก “เห็นหัว” อยู่ๆ ภายใต้การออกแบบการบริหารประเทศแบบใหม่ การกระจายอำนาจ การ empower ทางเศรษฐกิจ อยู่ๆ พลเมืองไทยที่ไม่เคยมี self esteem ก็ถูกดันให้ยืนหลังตรง ผึ่งผาย ภูมิใจในตัวเอง ไม่อายที่จะบ้านนอก ต่างจังหวัด เฉิ่ม เชย เพราะเงินมีอยู่เต็มประเป๋า อำนาจในการบริโภค อำนาจในการ “ซื้อ” ที่มีมหาศาล ทำให้เราเลิก “กลัว” เลิกตัวสั่นงันงกเวลาเห็นคนมียศมีอำนาจ

แต่คนชั้นกลางในเมือง ไม่ได้เห็นแบบนั้น และดูจะไม่สบายใจที่เห็น “คนบ้านนอกคอกนา” เข้าถึงการบริโภคที่แต่ก่อนนี้มีแต่พวกเขาเท่านั้นที่เข้าถึง.โอ๊ย อยู่ๆ มีคน “บ้านนอก” ขึ้นเครื่องบินไปนู่นมานี่ เป็นว่าเล่น ทั้งเพราะมีเงินมากขึ้น และทั้งมีสายการบินโลว์คอสต์

คำว่า บริโภคนิยมก็มา คำว่า วัตถุนิยมก็มา คำว่า มอมเมาก็มา - คนบ้านนอกที่น่ารักของฉันหายไปไหน???

พร้อมๆ กับที่รัฐบาลทักษินถูกโจมตีในประเด็นสิทธิมนุษยชน ปัญหาภาคใต้ และการฆ่าตัดตอน (แต่ฟรีดอมเฮาส์เรตประเทศเรื่องเสรีภาพสื่อ เป็นสีเขียวลออ แปลว่า เสรีมาก อยู่ประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) วาทกรรมเรื่อง “ทรราชย์เสียงข้างมาก” ก็มา แต่วาทกรรมทรราชย์เสียงข้างมาก ไม่ได้สั่นคลอนความนิยมของพรรคไทยรักไทยเลยแม้แต่น้อย มันทำงานอยู่ในหมู่คนชั้นกลาง ปัญญาชน “คนดี” - ซึ่งมีส่วนในการสนับสนุนรัฐธรรมนูญ 40 และมีเครดิตเป็นนักประชาธิปไตยจากการเคลื่อนไหวปี 35 - คนบ้านนอก รากหญ้า นั้นพอใจกับประชาธิปไตยกินได้ หวยบนดิน และนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โอท็อป

ชนบทไทยโดยภาพรวมเฟื่องฟู เข้มแข็ง มั่งคั่ง ยกเว้นในพื้นที่มีความขัดแย้งเรื่อการจัดการทรัพยากร ที่ยังต้องต่อสู้ ต่อรองกับรัฐบาลในหลายประเด็น.แต่ก็นั่นแหละ อีท่าไหนไม่รู้ ฉันก็งงใจกับสังคมไทยอย่างหนักอีกครั้งที่ ประชาชนชั้นกลาง ผู้มีการศึกษา ผู้รักประชาธิปไตย ผู้หวงใยในสิทธิมนุษยชน ผู้ต่อสู้เพื่อชาวบ้าน และคนตัวเล็กตัวน้อยเกือบทั้งหมด กลายไปเป็นสาวก สนธิ ลิ้มทองกุล

ร้องเดี๋ยวหนักมาก เอาจริง

และร้องเดี๋ยวหนักที่สุดคือวันรัฐประหารปี 2549 ที่ปัญญาชน นักวิชาการ เอ็นจีโอ นักต่อสู้ นักเขียน เอาเป็นว่าทุกนักที่อยู่รอบตัวฉันแฮปปี้เหลือเกินกับการรัฐประหาร

แต่ชาวบ้านเขาไม่แฮปปี้ด้วย มีอะไรไม่คุยกันดีๆ ไม่ชอบทักษิณ นู่น ไปหักโค่นกันในสภาฯ การสนับสนุนรัฐประหารคือการหมุนเข็มนาฬิกาถอยหลัง คำว่า “ชาวบ้าน” ในที่นี้ไม่ได้มีแต่คนต่างจังหวัด บ้านนอกคอกนา มีนักธุรกิจ ผู้มีอันจะกินในเมืองก็ไม่น้อย กลุ่มสมาชิก นปก. ยุคแรกมีกลุ่มคนที่เป็นนักธุรกิจที่เติบโตมาในยุคหลัง 2540 จำนวนไม่น้อย แต่ก็ล้วนแต่เป็น “โนเนม”

คน “โนเนม” เหล่านี้คือ คนที่กลายมาเป็นชนชั้นกลางระดับบน หรือเกือบบน มาด้วยโอกาสของการทำมาหากินอันเป็นผลพวงจากนโยบายรัฐบาล.เปล่า - ฉันไม่ได้บอกว่าทักษิณคือนักบุญ ทักษิณ แค่คิดว่า ถ้าคนข้างล่างที่มีปริมาณเยอะมีเงิน ทำงานได้ ทำมาหากินได้ ก้อนเงินนั้นมันจะไปสะพัดเศรษฐกิจทั้งประเทศให้เคลื่อนไหว สนุกสนาน ตรงกันข้ามกับการทำให้คน 0.01% รวย ที่มันมีความมั่งคั่งในประเทศก็จริง แต่ความมั่งคั่งนั้นมีพลังขับเคลื่นทางเศรษฐกิจที่จำกัดมาก สู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุก sectors ไปพร้อมๆ กัน แล้วอีกหน่อยที่จะรวยที่สุด ก็คือคนที่บนสุดอยู่ดี และจะรวยได้มากกว่าที่เคยรวยด้วย

แต่ดูเหมือนชนชั้นกลางไทยที่สำคัญตัวเองผิดนึกว่าตัวเองเป็น “ชนชั้นบน” ไม่แฮปปี้กับการกินดีอยู่ดีของคน “รากหญ้า” เพราะรู้สึกว่าถูกตีตัวเสมอ เลยหันไปสนับสนุนรัฐประหาร กำจัดทักษิณ

สุดท้ายการเมืองไทยจึงเดินมาสู่การแบ่งขั้วแบ่งข้าง หรือ polarization

กลุ่มหนึ่ง คือ เสื้อเหลือง เห็นว่าทักษิณคือปิศาจ โกงกิน (ตามวาทกรรมนักการเมืองขี้โกง เข้ามาทำการเมืองเพราะจะมากอบโกย) วางแผนยึดประเทศเอาคนจนเป็นสมุน ยึดองค์กรอิสระมาเป็นพวกพ้อง ปูทางสู่การเป้นทรราชย์ เสียงข้างมาก เป็นเผด็จการรัฐสภา เพื่อปิดปาก นักเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เลวทรามต่ำช้าทำนโยบายฆ่าตัดตอน ไหนจะเรื่องตากใบ กรือเซะ สรุป “ระบอบทักษิณ” มันชั่วจริง แม้เราจะไม่ชอบรัฐประหาร แต่เราก็จำเป็นต้องให้กองทัพมารัฐประหาร เพื่อปฏิรูปประชาธิไตย และไม่ให้คนไทยรากหญ้าต้องถูกทักษิณล้างสมอง

อีกกลุ่มหนึ่งคือเสื้อแดง ไม่มีอะไร เรียบง่ายมาก รัฐบาลกูเลือกมากับมือ อยู่ๆ มารัฐประหารเขาออกไป แบบนี้มันตบหน้ากันชัดๆ - มันตบหน้าประชาชน - คำว่า “รัฐบาลกูเลือกมา” ก็ - represent - สิ่งที่เรียบง่ายมากเช่นกัน นั่นคือมัน represent electoral system ถ้าไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่มีประชาธิปไตย

คลื่นของคนเสื้อแดงเป็นแสนๆ คนจากทั่วประเทศที่หลั่งไหลกันมาชุมนุมที่ผ่านฟ้า คอกวัว จนมาที่ราชประสงค์ สื่อสารสิ่งนี้

สื่อสารถึงสิทธิของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง

คนชั้นกลางไร้เดียงสาจำนวนมาก มองว่า ทักษิณหลอกใช้คนเสื้อแดง แต่สำหรับเสื้อแดงคือ กูจะออกไปสู้เพื่อปกป้องคนที่กูเลือก ซึ่งมันหมายถึงการปกป้อง สิทธิและเสียงของตัวเอง

คนชั้นกลางที่ไม่เคยมีความกล้าหาญจะ “เลือก” ใคร เพราะกลัวถูกหาว่าโง่หากเลือกผิด จะไม่มีวันเข้าใจเรื่องนี้ จึงพร่ำท่องบ่นเหมือนคนบ้าว่า ทักษิณหลอกคนเสื้อแดงๆๆๆๆ

ฉันปูพื้นมายาวมากเพื่อจะตัดภาพมาที่วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ว่าฉันทำอะไรอยู่

ฉันซึ่งนิยามตัวเองว่า เป็น “เสื้อแดง” เพราะเห็นว่าการเป็นเสื้อแดงมันเรียบง่าย มันคือการเรียกร้องประชาธิปไตย ต้านรัฐประหาร ในปี 2549 ที่สำหรับปัญญาชนแล้วทักษิณ และเสื้อแดงสกปรกยิ่งกว่าขี้ คำพูดติดปากของปัญญาชนที่พอะมีสติคือ “เราไม่เอารัฐประหารนะ แต่เราไม่ใช่เสื้อแดง”

นั่นเป็นเหตุผลที่ฉันเห็นความจำเป็นที่ตนเองในฐานะนักเขียนที่มี “ทุน” ทางสังคมใช่น้อย ต้องประกาศ ต้องพูด ต้องแสดงออกให้สังคมเห็นให้ชัดที่สุดว่า “กูเป็นคนเสื้อแดงโว้ยยย”

ฉันซึ่งประกาศว่าเป็นคนเสื้อแดง แต่ไม่เคยไปร่วมทุกข์ร่วมทุกข์สุขกับม็อบคนเสื้อแดง เว้นแต่เมื่อมีโอกาสเข้ากรุงเทพฯ ก็จะไปที่ม็อบ ไปฟังปราศรัย ไปซึมซับบรรยากาศ แต่ไม่อาจแอบอ้างตัวเองว่าได้ไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับม็อบ สิ่งเดียวที่จำได้แม่นคือ วันหนึ่ง ที่นั่งกินข้าวกับเพื่อนที่ เกรย์ฮาวด์ สาขาอารี นั่งๆ อยู่ก็ได้ยินเสียงความเคลื่อนไหวอะไรบางอย่าง แล้วก็รู้ว่าคือขบวนรถมอเตอร์ไซคล์เสื้อแดงที่กำลังเคลื่อนขบวนจากทุกหนทุกแห่งเข้ามาในเมืองกรุงฯ

ฉันในคราบของมนุษย์ชนชั้นกลาง วางแก้วโพรเซคโค (ใช่ เราดื่มกันตอนกลางวันดั่งชนชั้นกลางผู้มีอันจะกินทั้งหลายนั่นแหละ) แล้ววิ่งออกไปที่ริมถนน ภาพที่ปรากฎตรงหน้าเป็นภาพที่ฉันจะไม่มีวันลืม มันคือริ้วขบวนของประชาชน - นี่คือใบหน้าของประชาชนที่ฉันรู้จักมาชั่วชีวิต - สวมเสื้อแดง โบกธงแดง ตัวหนังสือใดๆ ก็ไม่อาจจะบรรยาย พลังของประชาชนที่พาเหรดเข้าเมืองกรุงฯ เพื่อทวงหาสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของประเทศในวันนั้นได้ ถนนทั้งสายกลายเป็นถนนของมวลมหาประชาชนที่อยากจะบอกให้โลกรู้ว่า เราไม่ใช่ไพร่ แต่เราคือประชาชน และเราต้องการมาทวงสิทธิของเรา เรามีอำนาจ เรามีศักดิ์ศรี เรามีความภาคภูมิใจในความเป็น “เรา”

ท่ามกลางมนุษย์ย่านอารี ฉันตัดสินใจตะโกนออกไปว่า “เสื้อแดงสู้ สู้ๆ ” ตอนแรกก็มีคนมองแบบแปลกๆ สักพักก็มีเสียงขานรับตามมาว่า “เสื้อแดงสู้ๆ ” “ประชาชนสู้ๆ ”

แล้วเรื่องราวมันก็จบลงด้วยการยืนน้ำตาไหลอยู่ตรงนั้น

ก่อนถึงวันที่ 19 เราสัมผัสได้ว่าม็อบกำลังจะถูกบีบให้เข้าสู่ทางตัน ภาพโลงสีแดงเมื่อเดือนเมษาฯ ยังติดตา เราไม่ต้องการวีรชนอีกแล้ว เราต้องการประชาธิปไตย ฉันนึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ตอนนั้นเรามีป่าให้เข้า ปีนี้ เราจะไปไหน?

วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ฉันอยู่ที่บ้าน ตลอดสัปดาห์นั้นกอดวิทยุทรานซิสเตอร์ไว้แนบหู เงี่ยฟังว่าเกิดอะไรข้นบ้างที่กรุงเทพฯ ....เสียงจากวิทยุที่ถ่ายทอดนาทีที่แกนนำบอกให้ทุกคนกลับบ้าน ค่อยๆ เลือนลางหายไป

บ่ายเราไปรวมตัวกันที่บ้านเพื่อน ณ ปีที่เป็นปี 53 แล้วนั้น ปัญญาชน เอ็นจีโอ นักวิชาการกลุ่มหนึ่งของเชียงใหม่ประกาศตัวเป็นเสื้อแดงกันแล้ว เราไปอยู่กันที่นั่น อยู่กันเงียบๆ ไม่มีอะไรจะพูด โศกนาฎกรรมวันนั้นเป็นแผลลึก ลึกและเจ็บจนเราไม่แม้แต่อยากจะสะกิดมันออกมา เราอยากจะบอกตัวเองว่า อย่าไปคิดถึงมันมาก แล้วใช้ชีวิตต่อไปเถอะ

หากว่าประชาชนถูกฆ่าด้วยน้ำมือของรัฐก็เป็นความโหดร้ายอย่างหาที่เปรียบไม่ได้แล้ว การสนับสนุนให้รัฐฆ่าประชาชนจากประชาชนด้วยกันเองกลับโหดหินทมิฬชาติยิ่งกว่า

ภาพที่เจ็บปวดที่สุดคือภาพคนไทยจำนวนไม่น้อย ออกมาเฉลิมฉลองที่คนเสื้อแดงถูกฆ่า พากันออกมาดีใจ ว่ารัฐได้ปกป้องพวกเขาโดยการขับไล่พวก “เชื้อโรค” ออกจากเมืองไปได้สำเร็จแล้ว เชื้อโรคพวกนั้นคือพวกเผาบ้านเผาเมือง ออกมาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย ห้างฯ ถูกปิด ฉันไม่ได้ไปช็อปปิ้งมานานเหลือเกิน ถนนหนทางมีควันไฟจากการเผายางรถยนต์ของพวกควายแดง

พวกควายแดง การ์ดนปช. หน้าดำๆ มันจะออกมาปล้นฆ่า ข่มขืน ลูกหลานเราไหม โอ๊ย ดีใจเหลือเกิน พวกขายชาติของทักษิณ พวกทำลายชาติ พวกเชื้อโรคถูกปราบ ถูกฆ่า

เอาล่ะ เรามา “ฆ่าเชื้อ” Big Cleaning กันเถอะ

ภาพที่เห็นคือ คนหน้าขาวๆ ใสๆ ใส่เสื้อผ้าใหม่ เก๋ๆ พากันออกมาเป็นอาสาสมัครทำความสะอาด “กวาดล้าง” เชื้อโรค ได้กรุงเทพฯ คืน ได้พื้นที่ช้อปปิ้งคืน จะได้เดินสยาม เดินราชประสงค์ อย่างสบายใจเสียที

จะผ่านไปอีกกี่ปีๆ ฉันก็ไม่มีวันลืมความอำมหิตของคนไทยครั้งนี้

แต่สิ่งที่ยังความเจ็บปวดให้ฉันมากที่สุด ยังไม่ใช่คนไทยหน้าขาวไร้เดียงสาเหล่านั้น ทว่าคือนัก “สันติวิธี” ผู้มีทุนทางสังคมสูงยิ่งหลายต่อหลายคนในประเทศไทย

ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาไม่เพียงแต่เพิกเฉยกับความตาย และการเปลี่ยนใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นทุ่งสังหารของประชาชน แต่พวกเขายังถือหางเข้าข้างรัฐบาลเผด็จอย่างหน้าด้าน

ตลอดชีวิตของฉันไม่เคยเห็นอะไรหน้าด้าน ไร้ยางอายเท่ากับใบหน้าของนักสันติวิธีในตำนานสอง - สามคนของประเทศไทย.จนถึงวันนี้ ฉันก็ยังอยากพูดว่า เลวทรามกว่าอภิสิทธิ์ และ สุเทพ คือ นักสันติวิธี

หน้าด้าน ไร้ยางอาย อำมหิตผิดมนุษย์ คือสามคำที่จะมอบให้กับนักสันติวิธี

นับจากปี 53 มาจนถึงการรัฐประหารอีกครั้งปี 57 ก็ยังมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ปีกก้าวหน้า” ในสังคมไทยยังคงพร่ำบ่นคาถา ทักษิณทรยศประชาธิปไตย หลอกคนเสื้อแดงไปตาย สมองทุกเซลล์มีไว้เพื่อจำแค่ เรื่องฆ่าตัดตอน กรือเซะ ตากใบ และ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ท่องสามสี่เรื่องนี้วนไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่มีอีกเป็นร้อยเป็นพันความระยำให้ต้องมาประมวลกันในช่วง 20 ปีที่ผ่านของฝ่ายทำลายประชาธิปไตยและฝ่ายอีแอบที่แอบซ่อนถือหางเผด็จการผลิตซอฟแวร์ทางความคิด สนับสนุนระบอบเผด็จการในสังคมไทยอย่างเข้มแข็ง

คนเสื้อแดงไม่ใช่คนที่น่าสงสาร แต่พวกเขาคือวีรชน พวกเขาคือนักสู้ที่ไม่ต้องการความสงสาร พวกเขาต้องการศักดิ์ศรีของพวกเขาในฐานะพลเมืองไทยเจ้าของประเทศกลับมา

“ทักษิณ” สำหรับคนเสื้อแดงคือนายกฯ ที่เก่ง แต่ไม่ใช่รูปเคารพ

“ทักษิณ” สำหรับคนเสื้อแดง เป็นสัญลักษณ์แห่งการถูกกระทำด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นสำหรับคนเสื้อแดงเขาจึงชอบพูดกันว่า “อยากให้ทักษิณกลับบ้าน” เพราะสำหรับพวกเขาการที่ทักษิณกลับบ้านมาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมได้ มันแปลว่า ประเทศได้เข้าสู่ภาวะประชาธิปไตยอันเป็นปกติอีกครั้ง

นับจากปี 53 มาจนวันวันนี้ปี 60 ครบรอบทศวรรษแห่งการกดประชาชนลงไปเป็นเพียงผู้อาศัยและดูเหมือนว่าฝ่ายผู้กระทำได้รับบทเรียนมาแล้วเป็นอย่างดีว่าการปล่อยให้ประชาชนเงยหน้าอ้าปากได้มันช่างเป็นอันตรายและบั่นทอนความมั่นคงของพวกเขาเสียเหลือเกิน พวกเขาจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้การรัฐประหารปี 57 นั้นเสียของ

สำหรับฉันภาพประชาชนผู้สง่างามในวันที่ยาตราเข้าสู่เมืองกรุงฯ นั้นเลือนลางราวกับเป็นเพียงนิทานที่เราเล่ากันก่อนนอน

ประชาชนวันนี้ถูกทำให้ไปนั่งหมอบ ค้อม โค้ง คลาน ขอกินจากคิวแจกอาหารและตู้ปันสุข หมอบ โค้ง เขียนคำอุธรณ์ขอทบทวนสิทธิ์เพียงเพื่อจะเอาเงินห้าพันบาท.จากประชาชนผู้งามสง่า เราถูกทำให้กลายเป็นผู้ถือ “บัตรคนจน” ที่เฝ้ารอเงินที่จะถูกโอนมาเข้าบัญชีทีละสามร้อย ห้าร้อย

และชนชั้นกลางผู้ไม่ค่อยจะมีกินแต่มี “หน้า” ก็อิ่มใจว่า ฉันไม่คู่แข่งไม่มีไอ้อีบ้านนอกมาตีตัวเสมอ อิ่มใจที่ในความไม่ค่อยจะ “มี” ของตัวเอง แต่ก็ได้ฟินกับการแบ่งเงินไปทำทานให้ผู้ยากไร้ คนยากจน ไปตั้งตู้ปันสุข เวลาคนจนมันน่าสงสารนี่คนจนมันน่ารักน่าเอ็นดูดีจริงๆ

นาฬิกาของเราถูกหมุนทวนเข็ม ทวนแล้วก็ทวนอีกจนฉันไม่เชื่อว่าเวลาจะอยู่ข้างเรา

วันนี้ถ้ามีอะไรที่ฉันอยากจะบอกคนเสื้อแดงและทุกคนในม็อบเสื้อแดงปี 53 ฉันอยากจะบอกว่า เสื้อแดงทุกคนคือวีรชน คือนักสู้ คือผู้กล้า ต่อให้วันนี้เราต้องค้อมตัวลงไปเพียงเพื่อจะได้รับในสิ่งที่เราพึงได้ เราก็จะไม่ลืมวันที่เราสามารถยืนอยู่ด้วยกระดูกสันหลังที่เหยียดตรงทุกซี่ ทุกข้อ

ถ้าเราจะต้องแพ้อีกร้อยครั้งพันครั้ง แต่สิ่งที่ไม่มีใครพรากจากเราไปได้คือ ศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์บนกระดูกสันหลังอันเหยียดตรงของเรา

ที่สำคัญ แม้เราจะต้องแพ้อีกพันครั้ง แต่อย่างน้อยเราไม่เคยหน้าด้าน.

 

ที่มา: เฟสบุ๊ค ยูดีดีนิวส์ - UDD news

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท