บทความแปล: ข้อควรรู้ก่อนออกไปชุมนุม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ท่านผู้อ่านที่เห็นชื่อบทความนี้คงคิดว่าผมคงจะมาชักชวนคนให้ออกไปชุมนุมอะไรหรือชี้โพรงให้กระรอกเป็นแน่ ซึ่งผมขอเรียนว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผม คือ ในเมื่อเราเลือกการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเป็นสมาชิกของสหประชาชาติแล้ว เราต้องยอมรับว่า “เสรีภาพในการชุมนุมคือสิทธิมนุษยชน” ซึ่งในเมื่อเป็นสิทธิมนุษยชนแล้วก็ย่อมต้องมีการชุมนุมที่สงบและสันติเป็นของธรรมดา และแทนที่เราจะปล่อยให้เป็นไปชะตากรรมแล้วบานปลายจนจบด้วยโศกนาฏกรรมเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา เราควรที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าอะไรที่ควรทำและอะไรที่ไม่ควรทำ ซึ่งจะเป็นผลดีแก่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่มีหน้าที่รับผิดชอบ

การชุมนุมหรือการเดินขบวนเรียกร้องถือว่าเป็นสิทธิประการหนึ่งที่ติดตัวมนุษย์ทุกคนมาแต่กำเนิดตามแนวคิดสิทธิมนุษยชน (Human Rights) โดยเรียกชื่อสิทธิประเภทนี้ว่า “เสรีภาพในการชุมนุม (freedom of assembly)” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนเพื่อแสดงออกทางความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ไม่เฉพาะแต่เรื่องทางการเมืองเท่านั้น อาจครอบคลุมถึงเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ สิ่งแวดล้อม สุขอนามัย ซึ่งส่วนมากจะเป็นสภาพปัญหาที่กลุ่มคนดังกล่าวได้รับผลกระทบ เป็นการรวมตัวกันเพื่อสะท้อนให้รัฐบาลเห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของตน

สำหรับประเทศไทยเสรีภาพในการชุมนุมได้รับการรับรองครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 นอกจากนี้ยังได้รับความคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights 1966 (ICCPR) ) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 1996 (2539) และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมไว้ในหมวด 3 ว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุมและการสมมาคม โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 44 ว่า

 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”

ต้องรู้อะไรบ้าง

ก่อนอื่นเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ชุมนุมทุกคนต้องรู้ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมและการรวมกลุ่มอย่างสงบและสันติ/ เจ้าหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวก และไม่ขัดขวางการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบ/เจ้าหน้าที่จะต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง ตามหลักการของการไม่ใช้ความรุนแรง/หากคุณบาดเจ็บ คุณมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างทันท่วงที/คุณมีสิทธิที่จะได้รับรู้สาเหตุของข้อกล่าวหาเมื่อถูกจับ มีสิทธิในการติดต่อทนายความและครอบครัวและหากคุณถูกละเมิด คุณมีสิทธิที่จะร้องเรียนและได้รับรู้วิธีในการร้องเรียน

สิ่งที่ผู้ชุมนุมควรทำ

เตรียมกายและใจให้พร้อม เตรียมของที่จำเป็นและแผนการติดต่อหากพลัดกับเพื่อน/ตั้งสติให้ดี เตรียมพร้อมต่อเหตุไม่คาดฝันและคอยสอดส่งสัญญาณเตือนต่างๆอยู่เสมอ/หากเจอปัญหาแล้วคนรอบข้างตื่นตระหนกควรปลอบให้ใจเย็นลง/ถ่ายภาพหรือจดบันทึกเหตุการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งการบาดเจ็บลักษณะต่างๆ/ดื่มน้ำและรับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อนเข้าร่วมการชุมนุม

 

ควรนำอะไรไปบ้าง

กระบอกน้ำที่สามารถเปิดฝาได้ สำหรับใช้ดื่มและชำระล้างร่างกาย/อาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ถั่ว ช็อกโกแล็ต ฯลฯ/หลักฐานแสดงตัวตนและรายละเอียดผู้ที่ติดต่อได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน/เงินในจำนวนที่เพียงพอสำหรับการเติมเงินโทรศัพท์ ค่าอาหารและค่าเดินทาง/นาฬิกา กระดาษ ปากกา เพื่อการจดบันทึกเหตุการณ์อย่างแม่นยำ/ยาดม อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และยาประจำตัว/ผ้าอนามัย แต่ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ทิชชูเปียกและกระดาษทิชชู

 

แต่งกายอย่างไรดี

สวมใส่หน้ากาก N95 แว่นครอบตานิรภัย แว่นว่ายน้ำหรือแว่นกันแก๊ส/สวมรองเท้าที่ใส่สบาย สามารถวิ่งได้/สวมเสื้อผ้าที่ปกปิดทุกส่วนของผิวหนัง เพื่อป้องกันแดดและสเปรย์พริกไทย/เตรียมผ้าพันคอสำหรับชุบน้ำเปล่า น้ำมะนาว หรือน้ำส้มสายชู เพื่อปิดปาดและจมูก หากมีการฉีดสารเคมีในพื้นที่ชุมนุม/เตรียมเสื้อผ้าสำรองใส่ไว้ในกระเป๋า เตรียมหมวกเพื่อกันแดดและสารเคมีอื่น

สิ่งที่ไม่ควรทำ

ไม่ควรใส่คอนแท็กเลนส์ เพราะอาจเกิดการระคายเคืองหากมีการปนเปื้อนสารเคมี/ไม่ควรสวมใส่เครื่องประดับ เนคไท และควรมัดผม (ที่ยาว) อยู่เสมอ/ไม่ควรไปคนเดียว ควรไปกับกลุ่มเพื่อที่รู้จักกันอย่างดี

เมื่อจะต้องเผชิญกับแก๊สน้ำตา

เตรียมหน้ากากกันแก๊ส หากไม่มีสามารถใช้แว่นตานิรภัยและผ้าพันคอแทนได้/ไม่ทาโลชั่นที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เนื่องจากส่วนผสมนี้อาจทำปฏิกิริยากับสารเคมีได้/ทำใจให้สงบ หายใจลึกๆ อย่าแตกตื่น/สั่งน้ำมูก บ้วนปาก ไอและบ้วนน้ำลายออกมา ห้ามกลืน/ถอดคอนแท็กเลนส์ออกด้วยมือที่สะอาด/อย่าขยี้ตาเพราะแก๊สน้ำตาอาจเข้าไปในตาได้/ใช้น้ำยาล้างตา โดยใช้น้ำเปล่าผสมยาแอนตาซิด (antacid) ชนิดเหลว โดยเป็นชนิดที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (aluminum hydroxide) หรือแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (magnesium hydroxide) เท่านั้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าหากผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต่างรู้ กฎ กติกา มารยาท ในการชุมนุมอันเป็นสากลที่นานาอารยประเทศปฏิบัติแล้ว ย่อมที่ทุกฝ่ายจะได้เป็นฝ่ายทั้งคู่ (win-win solution) รวมถึงประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราด้วยน่ะครับ

 

 

ที่มา: Safety during Protest , AMNESTY INTERNATIONAL

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท