Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นักลงทุนดูเหมือนจะคาดการณ์ในแง่ดี หรือหิวกระหายข่าวดี แค่มีข่าววัคซีน หุ้นก็เขียวปี๋เกือบทั้งโลก มองอีกอย่างคือเงินเก็งกำไรไม่มีที่ไป เฝ้าแต่คิดว่าเมื่อไหร่จะถึงจุดต่ำสุด ๆ ซึ่งเป็นโอกาสทุ่มซื้อ

วิกฤติโควิดจึงไม่เหมือน The Great Depression เพราะประเทศต่าง ๆ ทุ่มเงินไม่อั้น ออกมาตรการ QE ตลาดหุ้นตลาดทุนไม่พัง ทั้งที่ภาคเศรษฐกิจจริงพินาศ คนตกงานมหาศาล น่าคิดว่าจะทำให้เกิดอะไรหลังจากนี้ ทั้งต่อระบบเศรษฐกิจโลก และทิศทางการเมืองโลก

ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจ ละไว้ให้คนอื่นวิเคราะห์ แต่อย่างน้อยก็ไม่เชื่อฉากทัศน์ที่ว่า ล็อกดาวน์ 3-6 เดือน แล้วจะกลับมารีสตาร์ตกันใหม่ อย่างกระชุ่มกระชวยเหมือนได้พักร้อน เหมือนแหล่งท่องเที่ยวภูเขาทะเลคืนสู่ธรรมชาติเขียวขจี

เพราะความเสียหายระหว่างนี้มันเหลือคณานับ น่าจะเปรียบได้กับปิดโรงหนังจนราขึ้นเก้าอี้เสียมากกว่า

เอาแค่ประเทศไทย ที่คลังไม่อยากประกาศจีดีพีไตรมาสสอง กลัวกระทบกระเทือนใจ ทุกฝ่ายก็เอาแต่คาดว่า ไตรมาสสามจะเงยหัวขึ้น โดยไม่มองว่าธุรกิจล้มละลายไปเท่าไหร่ คนตกงานหมดกำลังซื้อไปเท่าไหร่ เงินห้าพันคูณสามเดือน จะหมดในมิถุนายน ก็ยังไม่ยอมเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นง่าย ๆ อุตสาหกรรมบางอย่างซึ่งหนักอยู่ก่อนแล้ว เช่นรถยนต์ จะยิ่งวอดวายเป็นโดมิโน ฯลฯ

เอาง่าย ๆ ร้านอาหารในห้างเปิดแล้ว ทำรายได้เหมือนเดิมไหม ใครอยากไปนั่งกินบ้าง ครอบครัวเดียวกันนั่งรถคันเดียวกันไปถึงต้องแยกนั่งคนละโต๊ะ บางร้านติดป้าย แชร์กันว่อนจากทวิตเตอร์ “ทางร้านก็ไม่เข้าใจกฎนี้ (เจ้าหน้าที่สั่งมา อย่าหงุดหงิดทางร้านนะคะ) ถ้าหากเจ้าหน้าที่ผ่านมาเห็น ทางร้านอาจจะโดนปรับหรือสั่งปิดร้านค่ะ”

ประเทศไทยก่อนโควิด เศรษฐกิจปี 62 ก็แย่อยู่แล้ว ประธาน TDRI ประเมินว่ากว่าจะกลับมาอยู่ในระดับเดิมต้องใช้เวลา 3 ปี แล้วระหว่างนี้จะทนไหวไหม

โลกก่อนโควิด วิกฤติเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ทำให้เกิดกระแส Anti-establishment ทรัมป์ขวาสุดโต่งชนะเลือกตั้ง พรรคการเมืองฝ่ายขวาคืนชีพในยุโรป อังกฤษเกิด Brexit

หะแรกที่เกิดโควิด นักวิเคราะห์มองแนวโน้มการเมืองอำนาจนิยมจะประสบความสำเร็จ แต่ปรากฏว่าแย่ทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย บราซิล อินเดีย ความห่วยความดันทุรังของทรัมป์ ซึ่งยังหาเสียงไม่หยุด จะส่งผลต่อการเลือกตั้งอย่างไร ไม่ว่าชนะหรือแพ้ จะยิ่งขัดแย้งรุนแรง

โบลโซนาโร ประธานาธิบดีขวาจัดของบราซิล ผู้คัดค้านการล็อกดาวน์ ถึงขั้นเรียกทหารออกมารัฐประหาร ก็ขึ้นสู่อำนาจเพราะม็อบคนชั้นกลางและ “นิติสงคราม” โค่นพรรคแรงงานฝ่ายซ้าย

เห็นมีแต่จีนที่ประสบความสำเร็จ แล้วก็จะออกกฎหมายบังคับฮ่องกง ใครต่อต้านจีนมีความผิด เหมือนเป็นคอมมิวนิสต์ในเมืองไทยยุค 6 ตุลา

และเห็นจะมีแต่ประเทศไทยที่ดีใจถึงขั้นทำโพลเท็จ 96.99% ให้ประยุทธ์อยู่ต่อ 20 ปี ทั้งที่ใช้ยาแรงเกินกว่าเหตุ จนทำให้เกิดความเสียหายเกินกว่าเหตุ อาการป่วยน้อยกว่าชาวโลก แทบจะหายสนิทแล้ว แต่ยังใช้คีโม ฉุกเฉิน เคอร์ฟิว ห้ามเดินทาง ป้องกันระบาดรอบสองจนกว่าโควิดจะหมดไปจากโลก

ในทางการเมืองแม้ดูเหมือนประยุทธ์ประสบความสำเร็จชั่วขณะ แต่ก็เป็นประยุทธ์กับฝ่ายความมั่นคง ที่ใช้อำนาจ “รัฐประหารโควิด” ไม่ใช่รัฐบาลผสม พรรคการเมือง ที่ลงจากฉุกเฉินเมื่อไหร่ก็ล้มเหลวยิ่งกว่าเดิม ภายใต้วิบัติเศรษฐกิจหนักหนาสาหัส

ทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย การเมืองโลก การเมืองไทย จะผันผวนครั้งใหญ่ด้วยวิกฤติที่มีอยู่ก่อนโดยโควิดเป็นตัวเร่ง แต่กลับมีคนมองว่าโควิดเป็น “พักร้อน” หลังจุดต่ำสุดจะพุ่งพรวด ไม่รู้มองได้อย่างไร

 

ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/content/364686

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net