Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ชี้ ช่วงที่ผ่านมารัฐประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังเป็นเรื่องที่พอรับได้กับสถานการณ์ แต่เวลานี้สถานการณ์คลี่คลาย ไม่มีความจำแล้ว เรียกร้องหยุดต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และหยุดใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

26 พ.ค. 2563 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และให้ใช้กฎหมายปกติควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 โดยให้เหตุผลว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นับตั้งตั่นที่ 26 มี.ค. ถึงปัจจุบัน ถือเป็นมาตรการที่พอยอมรับได้ในช่วงสถานการณ์ในเวลานั้น แต่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว จึงเห็นว่าการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลในขณะนี้เป็นเรื่องเกินความจำเป็น อีกทั้งรัฐบาลยังมีเครื่องมือทางกฏหมายอื่นๆที่สามารถนำมาบังคับใช้อย่างจริงจังแทนได้ อย่างเช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ และกฎหมายคนเข้าเมือง อีกทั้งเวลานี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำลังกลายเป็นเครื่องมือที่รัฐบาล และหน่วยงานราชการกำลังใช้ไปในทางมิชอบ เพื่อปิดกั้นการแสดงออก และจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างกว้างขวาง รุนแรง ทั้งยังเป็นการใช้อำนาจที่คลุมเครือ ขาดการตรวจสอบ และมีการยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่เอาไว้ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และให้นำกฏหมายที่มีอยู่แล้วมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด

แถลงการณ์ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) เรื่อง ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และให้ใช้กฎหมายปกติควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมาเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นมาตรการที่พอยอมรับได้กับช่วงของสภาวการณ์ในเวลานั้น หากปัจจุบันเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และรัฐบาลเองก็ได้ผ่อนปรนให้มีการเปิดพื้นที่ หรือห้างร้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติได้นั้น จึงเห็นว่าการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลในขณะนี้เป็นเรื่องเกินความจำเป็น อีกทั้งรัฐบาลยังมีเครื่องมือทางกฏหมายอื่นๆที่สามารถนำมาบังคับใช้อย่างจริงจังแทนได้ อย่างเช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ และกฎหมายคนเข้าเมือง

ด้วยปัจจุบันปรากฏว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำลังกลายเป็นเครื่องมือที่รัฐบาล และหน่วยงานราชการกำลังใช้ไปในทางมิชอบ เพื่อปิดกั้นการแสดงออก และจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างกว้างขวาง รุนแรง ทั้งยังเป็นการใช้อำนาจที่คลุมเครือ ขาดการตรวจสอบ และมีการยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่เอาไว้ ดังที่ปรากฏเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้แล้วในหลายพื้นที่ จนสร้างความเดือดร้อน และความยุ่งยากในการดำรงชีวิตของประชาชนจนเกินความจำเป็น ที่สำคัญคือมาตรการของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำลังกลายเป็นเครื่องมือให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนนำไปใช้ในทางมิชอบ และยังแอบอ้างเพื่อการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนชนต่อสถานการณ์ทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคต่างๆดังที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะโครงการ หรือกิจการที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนท้องถิ่น จนทำให้เกิดความไม่เข้าใจและมีคำถามจากประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นว่า “รัฐบาลกำลังใช้กฎหมายควบคุมโรค หรือควบคุมเรา”(ประชาชน)กันแน่

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ยังเห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องสร้างมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งในปัจจุบันและอนาคตภายหน้า หากแต่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงระมัดระวัง และควรใช้เมื่อมีความจำเป็นสูงสุดเท่านั้น ดังนั้นเมื่อถึงขณะนี้ ที่สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากแล้ว และการบังคับใช้กฎหมายปกติอื่นๆดังที่กล่าวไปแล้วอย่างเคร่งครัด น่าจะเพียงพอที่จะป้องกันและควบคุมโรคระบาดได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อให้ประชาชนต้องได้รับผลกระทบโดยไม่จำเป็นอีก แต่รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการได้กลับมาดำรงชีวิตปกติของประชาชน โดยให้สามารถทำมาหากินและใช้สิทธิขั้นพื้นฐานได้ อันรวมถึงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการทั้งของรัฐและเอกชนที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่กำหนดขึ้นโดยใช้กฎหมายปกติตามความจำเป็น

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จึงเห็นพ้องกับเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค ที่ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และให้นำกฏหมายที่มีอยู่แล้วมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายดังกล่าว พร้อมกันนี้รัฐบาลจะต้องเร่งฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิทธิเสรีภาพของประชาชนในภาพรวมไปด้วย

ด้วยความนับถือ
26 พฤษภาคม 2563
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net