Skip to main content
sharethis

ยามที่ความหวาดกลัวปีศาจขึ้นสูงสุด เรามักไม่ตรวจทานความกลัว ความชั่วร้ายของปีศาจ แต่เลือกใช้ทุกวิถีทางเพื่อกำจัดมัน กระทั่ง ผู้หวาดกลัวก็กลายเป็นปีศาจเสียเอง ‘ประชาไท’ พาสำรวจกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดียาเสพติด ผ่านซีรีส์ ‘คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง’

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (1): ที่ไหนๆ ก็มีแต่ ‘พวกค้ายา’?, 21 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (2): กฎหมายปิดปาก, 22 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (3): เมื่อกฎหมายปิดปาก ความยุติธรรมก็เงียบงัน, 23 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (4): ยอดต้องได้ เป้าต้องถึง, 24 พ.ค. 63

ยาเสพติดถูกทำให้เป็น ‘ปีศาจ’

วีระพันธ์ งามมี ผู้อำนวยการมูลนิธิโอโซน พูดเช่นนี้เสมอยามสนทนากัน หน้าที่ของปีศาจคือเป็นตัวแทนความชั่วร้าย การหลอกหลอน และสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้อื่น มันก็น่าแปลก เพราะเมื่อมนุษย์ปักใจเชื่อว่าสิ่งใดชั่วร้ายและหวาดกลัวมากๆ บางครั้งผู้ที่เคยถูกหลอกลอนจะเปลี่ยนสถานะเป็นปีศาจเสียเอง และจ้องจะกำจัดปีศาจโดยไม่เกี่ยงวิธีการ

ปีศาจเองก็รู้ว่าตนเป็นที่รังเกียจและหวาดกลัว ถ้าเลือกได้ ขอเล่นบท ‘เหยื่อ’ มากกว่าติดคุกติดตะราง หรือเลือกติดคุกติดตะรางมากกว่าความตาย

ในตอนที่ 2 ผมเล่าไว้ว่า ยาบ้าเป็นปัญหาเฉพาะของประเทศไทย มันไม่ถูกนับเป็นยาเสพติดในบัญชีของอนุสัญญาฯ 3 ฉบับ นอกจากไม่บ้านแล้ว มันยังเป็นยาชนิดหนึ่งที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือไอซีเอโอ (International Civil Aviation Organization: ICAO) มีกฎบังคับว่าเครื่องบินพลเรือนจะต้องมีแอมเฟตามีนบนเครื่องสำหรับแก้อาการ panic ของผู้โดยสาร

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตั้งขึ้นในปี 2519 ยุครัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร นโยบายปราบปรามยาเสพติดมีมาตลอด 15 รัฐบาล (ผมนับรัฐบาล คสช. กับรัฐบาลประยุทธ์รวมกัน) 40 กว่าปี ยาเสพติดไม่เคยหายไป ต่างกันที่ว่าในยุคต้นๆ ยาเสพติดที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือเฮโรอีนและฝิ่น
สงครามยาเสพติด การกำจัดปีศาจโดยไม่เกี่ยงวิธีการ

ทว่า ต้นทศวรรษ 2540 ยาบ้าถูกทำให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งแก้ไข ปรากฏข่าวคนคลั่งยาบ้าแทบจะทุก 3 วัน 7 วัน แล้วทำไมตอนนี้กลับแทบไม่เป็นข่าว?

ขณะที่ผู้เสพยาบ้าไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นรู้ดีว่ามันมีอันตรายน้อยกว่าที่สื่อประโคมมาก คนที่คลั่งขนาดเผาบ้าน จับเด็กเป็นตัวประกัน หรือวิ่งเป็นกิโลๆ มีน้อยมาก ซึ่งเกิดจากการเสพเกินขนาดหรือร่างกายอ่อนไหวต่อตัวยาอย่างมาก ตรงกันข้าม ยาบ้าหรือแอมเฟตามีนเป็นยาที่ช่วยให้พวกเขาอ่านหนังสือสอบหามรุ่งหามค่ำได้ มีแรงทำงาน ขยัน ช่วยให้สนุกสนานกับปาร์ตี้หรืองานมหรสพ เป็นความปกติในวิถีชีวิตทั่วไปทั้งในชนบทและเมือง

การขยายความน่ากลัวของปีศาจตนนี้ประสบความสำเร็จ ผ่านการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ สื่อบางรายถึงกับระบุตัวเลขที่อ้างอิงจากหน่วยงานรัฐว่า ในปี 2546 มีผู้เสพและค้ายาบ้าสูงถึง 30 ล้านคน ขณะที่จำนวนประชากรไทยเวลานั้นมีประมาณ 60 ล้านคน ถ้าตอนนั้นคุณยังเรียนหนังสืออยู่ เพื่อนในห้องครึ่งหนึ่งหรืออาจจะรวมครูที่สอนคุณด้วยจะต้องเป็นผู้เสพ หรือผู้ค้า หรือทั้งสองอย่าง คุณเชื่อตัวเลขนี้หรือเปล่า?

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีระหว่าง 9 กุมภาพันธ์ 2544 ถึง 19 กันยายน 2549 ภาพช่วงปราศรัยหาเสียงให้พรรคไทยรักไทยที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี เมื่อ 6 มีนาคม 2549 (ที่มา: YouTube/HmongthaiTV)

เมื่อความกลัวปกคลุมมากพอ การปราบปรามยาเสพติดที่ยังจำกัดขอบเขตและกฎเกณฑ์ก็ถึงเวลาประกาศเป็น ‘สงครามยาเสพติด’ ขั้นแตกหักในช่วง 1 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน 2546 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

“สำหรับคนค้า ท่านต้องใช้ Iron fist หรือกำปั้นเหล็ก ใช้ความเด็ดขาดอย่างชนิดที่ไม่ต้องปราณี”

“วันนี้ขอร้องให้ท่านทั้งหลายให้ช่วยกันทุ่มเทการทำงาน การทำงานหนักของท่าน 3 เดือน ถ้าจะมีผู้ค้ายาตายไปบ้างก็เป็นเรื่องปกติ”

2 ข้อความนี้เป็นคำพูดของทักษิณ ชินวัตร ในห้วงยามที่สงครามยาเสพติดกำลังลุกโชน มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ มีการสั่งการลงไปในทุกระดับให้ปฏิบัติตามนโยบายให้สำเร็จ หากทำไม่ได้จะมีบทลงโทษ ประกาศอำเภอบ้านแพ้ว เรื่อง แจ้งแนวปฏิบัติในการรายงานตัว เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นภาพสะท้อนการ “ไม่ต้องปราณี” ค่อนข้างชัด ย่อหน้าสุดท้ายของประกาศเขียนว่า

‘จึงประกาศ มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน หากผู้ใดฝ่าฝืน ศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดอำเภอบ้านแพ้วจะไม่รับรองความปลอดภัยในทุกกรณี’

นอกจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ยังมีการดึงกองทัพซึ่งปกติมีบทบาทสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดบริเวณชายแดนอยู่แล้ว สภาความมั่นคง และกองกำลังรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสงครามยาเสพติด

ที่ชวนหดหู่ กระแสสังคมตอนนั้นพัดโหมไปทางฝั่งทักษิณและสงคราม นำมาซึ่งการสังหารชีวิตโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมจำนวนมาก

ฆ่าตัดตอน=วิสามัญฆาตกรรม

รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) ระบุว่า ในสงครามยาเสพติดมีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้น 2,604 คดี มีผู้เสียชีวิต 2,873 ราย แยกออกเป็นคดีฆาตกรรม 2,559 คดี มีผู้เสียชีวิต 2,819 ราย ในจำนวนนี้เป็นคดีฆาตกรรมที่ผู้ตายมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1,187 คดี มีผู้เสียชีวิต 1,370 ราย คดีที่ผู้ตายไม่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 834 คดี มีผู้เสียชีวิต 878 ราย และมีคดีฆาตกรรมที่ไม่ทราบสาเหตุการตาย 538 คดี มีผู้เสียชีวิต 571 ราย

ในส่วนของคดีวิสามัญฆาตกรรมมี 45 คดี มีผู้เสียชีวิต 54 ราย ในจำนวนนี้เป็นคดีวิสามัญฯ ที่ผู้ตายมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 35 คดี มีผู้เสียชีวิต 41 ราย มีคดีวิสามัญฯ ที่ผู้ตายไม่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 2 คดี มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีคดีวิสามัญฯ ที่ไม่ทราบสาเหตุการตาย 8 คดี มีผู้เสียชีวิต 11 ราย

พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตไว้ในงานศึกษาเรื่อง ‘ปฏิบัติการสงครามของการรณรงค์ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย’ ว่าตัวเลขข้างต้น “ดูเหมือนจะน้อยกว่าความเข้าใจโดยทั่วไป”

อีกข้อสังเกตหนึ่งของพวงทองคือ เมื่อทักษิณถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการตายจำนวนมากว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้คำว่า วิสามัญฆาตกรรม ถูกอธิบายใหม่เป็น การฆ่าตัดตอนหรือฆ่ากันเองของเครือข่ายยาเสพติด เพราะไม่ต้องการให้มีการสืบสาวมาถึงตน ภายหลังการฆ่าตัดตอนกลายเป็นคำที่ประหนึ่งจะใช้แทนกันได้กับคำว่าวิสามัญฆาตกรรม

‘ทหาร’ ควรอยู่ตรงไหน?

รัษฎา มนูรัษฎา รองประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

รัษฎา มนูรัษฎา รองประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน อธิบายว่า วิสามัญฆาตกรรมหมายถึงความตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นกฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงาน 4 ฝ่าย มีหน้าที่ร่วมกันตรวจสอบ ชันสูตรพลิกศพ ได้แก่ พนักงานอัยการ พนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปในท้องที่ พนักงานสอบสวน และแพทย์

“ถ้าเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อป้องกันตัวตามสมควรแก่เหตุโดยชอบ เช่น คนร้ายมีอาวุธปืน แล้วยิงใส่ การป้องกันตัวโดยสมควรแก่เหตุไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่กฎหมายไม่ได้เปิดให้เจ้าหน้าที่วิสามัญได้ทุกกรณี ดังนั้น การที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่าให้คนร้ายมอบตัวโดยเร็ว มิฉะนั้น เจ้าหน้าที่อาจจะทำการวิสามัญ แบบนี้พูดไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีอำนาจยิงคน แต่ต้องจับกุมคนร้าย แต่ถ้าเข้าทำการจับกุมแล้วมีเหตุจำเป็นต้องป้องกันตัวก็ทำได้

“ไม่ใช่คนร้ายถือมีดอยู่ห่างไป 10 เมตรเจ้าหน้าที่บอกว่าจำเป็นต้องป้องกันตัว ยิงเสียชีวิตอย่างนี้ก็ไม่สมควร แต่ถ้าเป็นมีดอันใหญ่ระยะห่าง 1 เมตร เงื้อมีดจะฟัน อาจจะมีความจำเป็นต้องป้องกันตัว อย่างนี้จึงจะเรียกว่าสมควรแก่เหตุ”

‘กกล.ผาเมือง วิสามัญแก๊งขนยาเสพติดตาย 4 ศพ ยึดไอซ์ 120 กก. ชายแดนเชียงราย’

‘ทหารกองกำลังผาเมืองวิสามัญฯ ผู้ค้ายาเสพติดใน จ.เชียงราย เสียชีวิต 2 คน’

‘ทหารปะทะกลุ่มลักลอบขนยาเสพติดที่เชียงใหม่ ยึด 'ยาบ้าได้ 2.9 ล้านเม็ด-เฮโรอีน 32 กก.'’

‘เชียงราย-ทหารปะทะแก๊งยาเสพติด วิสามัญ 8 ศพ’

พาดหัวข่าวทำนองนี้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะทางภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งลำเลียงยาเสพติดที่สำคัญ และด้วยบทบาทของทหารที่ประจำการบริเวณแนวชายแดน ทั้งการปราบปรามยาเสพติดถือเป็นหนึ่งภารกิจหลัก การยกเลิกบทบาทของกองทัพในด้านนี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน ถ้าอีกฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน จะไม่ให้เจ้าหน้าที่ทหารป้องกันตัวก็ดูแปลกประหลาดเกินไป

เพียงแต่ว่ากระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังจากนั้นต้องรอบคอบ รัดกุม เที่ยงตรง และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ประสบการณ์ทำงานของรัษฎาพานพบกรณีที่ทหารเรียกตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบสวนในค่ายทหาร และกลับออกมาด้วยสภาพที่ชวนคลางแคลงว่าเกิดอะไรขึ้นในค่าย

คำถามของรัษฎานับว่าน่าสนใจ

“ปัญหาก็คือว่าอำนาจการสอบสวนควรเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือแม้แต่การจับกุมก็ควรเป็นเรื่องของตำรวจ ไม่ใช่ทหารซึ่งไม่ได้ฝึกมาเรื่องการสอบสวน นี่คือข้อบกพร่องของการให้อำนาจทหารในการจับกุมตัวและสอบสวน”

“คนที่ตายเกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ตายสมควรตาย”

นอกจากนี้ ทหารยังได้ ‘สิทธิพิเศษ’ ต่างจากพลเรือนคือหากเกิดกรณีวิสามัญฯ โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ชาวบ้านไม่สามารถฟ้องคดีในศาลยุติธรรมได้ ต้องให้อัยการศาลทหารเป็นผู้ฟ้องต่อศาลทหาร อีกทั้งพ่อ แม่ ภรรยา และบุตรของผู้เสียชีวิตก็ไม่สามารถเป็นโจทก์ร่วมในศาลทหารได้อีกเช่นกัน

“ทั้งที่ควรให้ชาวบ้านสามารถฟ้องได้ในศาลยุติธรรม ตามกฎหมายทหาร ถ้าทหารทำความผิดต้องฟ้องศาลทหาร เว้นเสียแต่เป็นการร่วมกระทำความผิดกับพลเรือนถึงจะฟ้องศาลยุติธรรมได้” รัษฎา กล่าว

ทหารตรวจสอบที่เกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ อายุ 17 ปี และจับกุมเพื่อนอายุ 19 ปีที่โดยสารมาด้วยกัน หลังจากตรวจค้นรถยนต์ที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อ 17 มีนาคม 2560 (ที่มา: แฟ้มภาพ/TNN)

การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ 4 ฝ่ายเพื่อตรวจสอบที่เกิดเหตุ ชันสูตรพลิกศพ ในกรณีวิสามัญฯ บางครั้งก็ชวนตั้งคำถาม รัษฎา ยกกรณีของชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ที่เป็นข่าวโด่งดังเมื่อปี 2560 เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตบริเวณด่านบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยทหารอ้างว่าชัยภูมิขัดขืนการตรวจค้นรถยนต์ที่เขานั่งมาและพยายามหลบหนี เมื่อพบยาเสพติดจำนวน 2,800 เม็ดซุกซ่อนในส่วนกรองอากาศในรถยนต์ ชัยภูมิพยายามต่อสู้ด้วยมีดและจะปาระเบิดใส่จึงจำเป็นต้องยิง

“พนักงานอัยการเวลามีข้อสงสัยต้องค้นหาความจริงให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือประชาชน แต่ในตัวอย่างของคดีชัยภูมิ ป่าแส พนักงานอัยการมีอำนาจที่จะสอบสวนเพราะร่วมทำสำนวนวิสามัญ การที่เจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่าชัยภูมิจะเอามีดฟัน แล้วก็ไปหยิบระเบิดจะขว้างใส่ทหาร จะไปยากอะไรกล้องวงจรปิดที่ด่านของทหารมีอยู่ ก็เอาพยานหลักฐานเข้าไปในสำนวน แต่พนักงานอัยการจังหวัดไม่ทำ เพราะถ้าคุณได้ภาพจากกล้องวงจรปิดซึ่งมี 6 ตัวคุณก็จะเห็นว่าชัยภูมิขัดขืนเจ้าหน้าที่หรือไม่ แต่พนักงานอัยการไม่พยายามแสวงหาหลักฐานทั้งที่มีอำนาจสามารถสั่งตำรวจให้ทำได้ อันนี้เป็นข้อสังเกต”

รัษฎายังบอกอีกว่าเจ้าหน้าที่ 4 ฝ่ายต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ต้องตรวจสถานที่เกิดเหตุ เก็บหลักฐานอย่างละเอียดถี่ถ้วน และต้องสอบปากคำเอาข้อมูลให้ได้ความว่าคนร้ายยิงต่อสู้อย่างไร

“แต่มักจะมองว่าคนที่ตายเกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ตายสมควรตาย”

สังคมไทย ยาเสพติดถูกทำให้เป็นปีศาจ นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับมันคือปีศาจ พวกเขายังคงเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิได้พิสูจน์ตัวเองผ่านกระบวนการยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ทหารควรมีอำนาจ บทบาท หน้าที่อย่างไรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยเฉพาะคดียาเสพติด เป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงและวางกรอบเกณฑ์ให้ชัด ทว่า ในวันที่กองทัพมีบทบาทสูงยิ่งทางการเมือง ผู้บัญชาการระดับสูงสามารถลอยหน้าลอยตาแสดงความเห็นทางการเมืองได้ การรอคอยอาจเป็นทางเลือกชั่วคราวที่พอทำได้

ทั้งหมดนี้ ผมพูดถึงการกำจัดปีศาจ ในส่วนการลงโทษปีศาจ กฎหมายไทยเลือกจะลงโทษอย่างหนัก เกิดสภาพไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด ทนายและจำเลยในคดียาเสพติดเข้าใจคำว่า ‘สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน’ ดี การยอมรับสารภาพเพื่อให้ได้รับการลดโทษเป็นทางเลือกที่ฉลาด แต่บางคนไม่เข้าใจและไม่มีทางเข้าใจถึงเหตุผลของคำนี้

โดยเฉพาะ ‘ผู้หญิง’

ซีรีส์ชุด คนกับยา 'ปีศาจ' บนตาชั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net