Skip to main content
sharethis

'FTA Watch' ชี้ 'ประยุทธ์' ช่วยฟื้น SME จากโควิดโดยให้รัฐช่วยจัดซื้อไม่ได้ หากไทยเข้า 'CPTPP' เหตุต้องเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้กับผู้ประกอบการจากประเทศภาคี ยังห้ามให้แต้มต่อหรือสิทธิพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแก่ผู้ประกอบการไทยเหนือกว่าสมาชิกด้วย ขณะที่ 'ประยุทธ์' ไฟเขียวตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย 

ภาพจากเพจ 'FTA Watch'

26 พ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ 'FTA Watch' ของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ที่เกาะติดประเด็นความพยายามเจราจาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของรัฐบาลไทย โพสต์รายงานว่า เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา (26 พ.ค.63) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย กรณีหารือพบกับสมาคมต่าง ๆ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 โดยสั่งการให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้างจากเอกชนภาค SME เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยนั้น เป็นนโยบายที่ทำไม่ไม่ได้ หากไทยเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP


เพจ 'FTA Watch' ให้ความเห็นว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้ศึกษาเนื้อหาความตกลง CPTPP ให้มากเท่าที่มีความพยายามจะผลักดันประเทศไทยให้เข้าเจรจา หรือ อย่างน้อย รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้นำสาระในเอกสาร 19 หน้าที่จ่อจะเข้าวาระจรของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ก่อนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้อ่าน ก็จะพบว่า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไทยต้องตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อรองรับการเข้าร่วมความตกลง CPTPP

"เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ไม่ใช่มีเพียงแต่รัฐวิสาหกิจ อย่าง องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในระบบสาธารณสุขไทยจะได้รับผลกระทบ เพราะใน CPTPP นอกจากจะให้เปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้กับผู้ประกอบการจากประเทศภาคี ยังระบุว่า ห้ามให้แต้มต่อหรือสิทธิพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแก่ผู้ประกอบการไทยเหนือกว่าสมาชิก CPTPP" เพจ 'FTA Watch' โพสต์

เพจกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ระบุอีกว่า สิ่งที่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทำไม่ได้ อาทิ ห้ามกำหนดให้ใช้บัญชีนวัตกรรมไทยที่ทำขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เน้นการผลิตคิดค้นสินค้าบริการที่มีนวัตกรรม, ห้ามกำหนดให้ใช้สินค้าไทย และห้ามกำหนดว่าต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ประเด็นนี้ขัดกับสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งแถลงไป และยังขัดกับทิศทาง Local Economy ของรองนายกฯสมคิด ที่จะใช้เป็นทิศทางหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ความหวังของสภาอุตสาหกรรม ที่เสนอให้ระบบจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่กรมบัญชีกลางดูแลมุ่งเน้นการใช้สินค้าไทยเป็นอันดับแรกนั้น ไม่สามารถทำได้ถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP

เพจ 'FTA Watch' โพสต์ต่อว่า แม้ทางกรมเจรจาฯ จะอ้างว่า จะไปเจรจาขอผ่อนผัน ทั้งวงเงิน และรายอุตสาหกรรม แต่การที่ไทยไม่ได้เป็นสมาชิกก่อตั้งอย่างมาเลเซีย และยังมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าเวียดนาม การเจรจาขอผ่อนผันจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจประสบความสำเร็จง่ายๆ ถ้าขอผ่อนผันไม่ได้ นี่จะเป็นเงื่อนไขให้ไม่เข้าร่วมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากการขอมติคณะรัฐมนตรีที่ได้กล่าวในข้อ 3 ไปแล้ว กระทรวงพาณิชย์ต้องการให้หน่วยงานต่างๆเตรียมปรับตัวแก้ไขกฎหมายเลย ซึ่งที่ผ่านมา กรมบัญชีกลาง ที่ดูเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นน้ำมันขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศก็แจ้งจุดยืนต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศแล้วว่า ไม่ควรรับข้อบทการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้รับเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเท่านั้น แต่ประเด็นนี้มักจะถูกอ้างว่าจะไปเจรจาผ่อนผัน

'ประยุทธ์' ไฟเขียวตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย 

แนวหน้า รายงานด้วยว่า รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องการเจราจาการเข้าร่วม CPTPP แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่าเวลานี้เรายังอยู่ในขั้นตอนว่าจะไปเจรจาหรือไม่  สิ่งสำคัญคือต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม จะได้เข้าใจข้อมูลทุกด้านและหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศที่สุด โดยจะมีการประสานไปยังฝ่ายนิติบัญญัติให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย เปิดกว้างให้ผู้แทนประชาชนได้แสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่

“นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่าข้อสรุปจากกรรมาธิการจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของ ครม.อย่างยิ่งว่าจะไปเจราจาหรือไม่ และมีเงื่อนไขอย่างไร คาดว่าน่าจะใช้เวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จในหนึ่งเดือน หรืออาจมากกว่านั้นหากจำเป็น” รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net