Skip to main content
sharethis

iLaw เผยผู้นำเหล่าทัพที่เป็น ส.ว. ขาดการลงมติมาก 143-144 ครั้ง จาก 145 ครั้ง ด้านโฆษกกลาโหมแจงบางเรื่องไม่ใช้สิทธิเพื่อมิให้ขัดหลักการประชาธิปไตย ส่วน พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ คือมติเดียวที่ ส.ว. ทุกเหล่าทัพเข้าไปโหวตพร้อมกันมากที่สุด

ภาพจากเพจ iLaw

26 พ.ค.2563 ภายหลังจากเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้เผยแพร่รายงานที่ชื่อว่า 'ตรวจงาน 1 ปี ส.ว. ไฟเขียวทุกมติ - เหล่าทัพโหวตพร้อมหน้าแค่ 1 เรื่อง' โดยประเด็นที่ถูกสื่อนำไปไฮไลท์คือกรณีผู้นำเหล่าทัพที่เป็น ส.ว. ขาดการลงมติมาก 143-144 ครั้ง จากการลงมติทั้งหมด 145 ครั้ง เมื่อสมัยประชุมวุฒิสภาที่ผ่านมา จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของผู้นำเหล่าทัพดังกล่าว

ไทยพีบีเอส รายงานคำชี้แจงของ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา โดย ประธานวุฒิสภา ระบุว่า เนื่องจากการลงมติกฎหมายสำคัญมี 7 ครั้ง ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องร่างข้อบังคับการประชุมของวุฒิสภาที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเล็กน้อยจึงอาจมองว่าไม่สำคัญและไม่มาลงมติ ต้องขออภัยหากสมัยประชุมที่ผ่านมา ส.ว.ไม่ได้อยู่ลงมติในเรื่องข้อบังคับการประชุม หลังจากนี้จะเพิ่มความเข้มงวดกรณีการลงมติของ ส.ว.ให้มากขึ้น โดยเฉพาะหากเป็นกฎหมายสำคัญ รวมถึงการลงมติในที่ประชุมร่วมรัฐสภาด้วย สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นบทเรียนที่ ส.ว.จะต้องเรียนรู้

ขณะที่ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่าผู้นำเหล่าทัพ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน ต่างตระหนักถึงความรับผิดชอบ โดยถือเป็นหน้าที่สำคัญ เข้าร่วมประชุมให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ทุกครั้ง หากไม่อยู่ในห้องประชุมก็ติดตามการถ่ายทอดการประชุมโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมีเหตุจำเป็น หรือมีราชการสำคัญ ได้มีการลาประชุมอย่างถูกต้อง มิได้ขาดประชุมหรือละเลยหน้าที่แต่อย่างใด

สำหรับการลงมตินั้น โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวด้วยว่า เป็นการใช้สิทธิตามบทบาทโดยการพิจารณาไม่ใช้สิทธิ ก็เพื่อมิให้ขัดหลักการประชาธิปไตย ในฐานะข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่นิติบัญญัติ สอดคล้องกับที่ทุกท่านได้สละสิทธิการรับเงินเดือนสมาชิกวุฒิสภาก่อนหน้านี้แล้ว

ทั้งนี้ iLaw เผยแพร่ข้อมูลจากการสังเคราะห์เอกสารบันทึกการลงมติรายบุคคลของ ส.ว. ซึ่ง iLaw ได้ใช้สิทธิผ่าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เพื่อขอข้อมูลจากสำนักเลขาธิการวุฒิสภา โดยระบุว่า จากการตรวจสอบทั้ง 145 มติ พบว่า ส.ว.ที่เป็นผู้นำทหารและตำรวจ 5 ใน 6 คน ติดโผ 10 อันดับคนที่ขาดลงมติมากที่สุด ได้แก่

  • พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ (ผบ.ทร.) ขาด 144 มติ
  • พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ผบ.ทบ) ขาด 143 มติ
  • พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน (อดีต ผบ.ทอ.) เปลี่ยนเป็น พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ (ผบ.ทอ.) เข้าเป็น ส.ว.แทนตามตำแหน่งโดยใช้รหัส ส.ว. เดิม เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2562 ทั้งสองคนรวมกัน ขาด 143 มติ
  • พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ ขาด 143 มติ
  • ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ขาด 137 มติ
  • พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี (ผบ.สส.) ขาด 136 มติ
  • พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ (ปลัดกระทรวงกลาโหม) ขาด 135 มติ
  • พล.ต.ท.จิตติ รอดบางยาง ขาด 125 มติ
  • กูรดิสถ์ จันทร์ศรีชวาลา ขาด 117 มติ
  • พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ขาด 112 มติ

พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ คือมติเดียวที่ ส.ว. ทุกเหล่าทัพเข้าไปโหวตพร้อมกันมากที่สุด

นอกจากประเด็นนี้ iLaw เผยแพร่ข้อมูลที่น่าสนใจคือ การประชุมเรื่อง พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณของกองทัพบกไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์ iLaw เป็นเรื่องที่ที่ประชุมวุฒิสภาจะพิจารณาว่าอนุมัติให้ พ.ร.ก.มีผลเป็น พ.ร.บ.หรือไม่ มติดังกล่าวเกิดขึ้นในการประชุม สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2562 มี ส.ว. เข้าร่วมลงมติ 226 คน มีคนเห็นชอบ 223 คน งดออกเสียง 3 คน และ ไม่เห็นชอบ 0 คน มีคนขาด 24 คน ซึ่งถือว่ามีค่อนข้างต่ำมาก จากค่าเฉลี่ยแต่ละมติที่มักมีคนขาดประชุมอยู่ราว 63 คน

iLaw ระบุว่า เรื่องนี้ยังเป็นมติเดียวจาก 145 เรื่องที่ ส.ว.เหล่าทัพเข้าไปลงมติในที่ประชุมพร้อมกันมากที่สุดคือ 5 คน ได้แก่ ผบ.ทบ. ผบ.สส. ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ตร. และ ผบ.ทร ส่วน ผบ.ทอ.นั้นขาดประชุม ที่ผ่านมาไม่เคยมีมติไหนที่ ส.ว.เหล่าทัพจะเข้าไปลงมติพร้อมกันเกิน 2 คน  อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การลงมติ พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ หลังจากที่ลงมติ พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ กันจบแล้ว พบว่า ในการลงมติถัดไปซึ่งเกิดขึ้นในวันเดียวกันนั้นเอง ปรากฏว่า ส.ว.ทหารตำรวจทั้ง 5 คน ไม่มีใครอยู่ร่วมลงมติเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net