วิเคราะห์ปัญหาการเรียนออนไลน์ในศิลปากร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กระแสความไม่พอใจต่อนโยบายการเรียนการสอนออนไลน์มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านความเหลื่อมล้ำ เหตุผลเรื่องความสับสน และเหตุผลด้านสภาวะด้านจิตใจ แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่และสร้างความกังวลมากที่สุคคือ ผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการเรียนของผู้เรียน และการสอนของผู้สอน

กระนั้นทางมหาลัยศิลปากรก็ไม่นิ่งเฉย แต่พยายามอุดรอยรั่วต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นสำหรับนโยบายการศึกษานี้ พร้อมกับประสานกับหน่วยต่างๆ อย่างเต็มที่เพื่อขจัดอุปสรรคทางการเรียนที่อาจจะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นด้านความขาดแคลนอุปกรณ์ การลดค่าเทอม จนไปถึงการให้ยืมเงินอุดหนุนแก่นักศึกษาที่ขาดทุนทรัพย์ 

นอกจากนี้ เราต้องไม่ลืมด้วยว่าแม้กระแสความไม่เห็นด้วยจะมากมายสักแค่ไหนก็ตาม แต่นั้นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่ปฏิเสธเสียงข้างน้อยที่เห็นด้วยกับการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งในบทความนี้ผมขอแบ่งหัวข้อที่จะนำเสนอดังนี้

1. นโยบายการจัดการเรียนการสอนของมหาลัย และผมจะพยายามดูความสอดคล้องของเหตุผลของด้านมหาวิทยาลัยด้วย

2. ปัญหาของการจัดการเรียนการสอน และชี้ให้เห็นว่านโยบายที่มหาลัยเสนอให้นั้นมีปัญหาอย่างไร

3. ความคิดเห็นของผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์

4. สรุปภาพรวม

นโยบายการจัดการเรียนการสอนของมหาลัย

อ้างอิงจากเพจสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ทำสรุปโพลล์ออกมาให้เราได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น แม้ผมจะไม่ค่อยแน่ใจว่าโพลล์มีหน้าที่ทำอะไรกันแน่ระหว่าง รวมข้อคิดเห็นต่างๆ และพยายามออกมาตอบปัญหา หรือทำหน้าที่รวบรวมความคิดเห็นและนับไปพิจารณาปรับปรุงกันแน่ อย่างไรก็แล้วแต่ เราลองมาดูนโยบายของมหาลัยที่มาแก้ปัญหากัน โดยเริ่มจากปัญหาอันดับที่หนึ่ง “ทำให้การเรียนประสิทธิภาพลดลง” ซึ่งมีจำนวนคนแสดงความคิดเห็นประเภทนี้จำนวน 462 ครั้ง

ซึ่งจากภาพข้างต้น เราเหมือนจะไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนอะไรเลย เพราะใจความของคำถามคือ ความกังวลว่าการเรียนการสอนแบบนี้จะไม่สามารถดึงความสนใจของเราได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็น ซึ่งคำตอบที่เราได้รับก็คือ “มีการจักการเรียนออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ”

ผมคิดว่าทุกคนน่าจะได้รับการไขข้อข้องใจกับคำตอบนี้นะครับ ถ้าเกิดไม่พอ ผมจะนำ Info Graphic ที่ทางเพจ PR Silpakorn University ทำออกมานำเสนอครับ

ในสไลด์ที่หนึ่งได้แบ่งออกเป็นสามระยะเวลาในการให้ความรู้สำหรับจัดการเรียนการสอนแก่อาจารย์ และคณะลูกศิษย์ 

ภายในเดือนแรกจะมีการจักอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมอาจารย์สำหรับการสอนออนไลน์ ซึ่งดูเป็นการจัดการที่ดีมากของมหาลัยเลยใช้หรือเปล่าครับ? แต่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีโอกาสได้ไปอบรมการสอนออนไลน์ เรื่องที่ผมได้รู้มีดังนี้

1. มหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นคนจัดอบรมให้แก่ทุกคณะ แต่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ให้แต่ละคณะจัดการวิธีการอบรมของตัวเอง ซึ่งผมก็เกิดคำถามว่า แล้วมันจะมีอะไรที่เป็นในลักษณะเดียวกันบ้าง หมายความว่า ถ้าแต่ละคณะจัดการกันเอง ทางมหาลัยจะมีวิธีการตรวจสอบอย่างไรว่า การอบรมของแต่ละคณะนั้นจะได้ผลจริงๆ ทีแรกผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรจะให้คณะหนึ่งรับผิดชอบและคอยซัพพอร์ทคณะอื่นๆ ที่อาจไม่มีอาจารย์ หรือเทกนิคเชี่ยนผู้เชี่ยวชาญ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอยู่เหนือความคาดหมายของผมมากเลยทีเดียว (ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ร่วมงานกับภาครัฐเลยไม่มีโอกาสเรียนรู้วิธีการทำงานมา นั้นอาจเป็นเหตุผลที่ผมตกใจมากก็ได้)

2. ด้วยกระบวนการ ‘โยนงาน’ ของมหาวิทยาลัยศิลปากรทำให้ผมไม่อาจทราบวิธีการจัดการของทุกคณะได้ ดังนั้นผมจึงสามารถบอกเล่าต่อจากปากอาจารย์คณะผมได้เท่านั้น อาจารย์เล่าว่า วิธีการของคณะนั้นเป็นในรูปแบบการจัดอบรมออนไลน์ โดยให้อาจารย์ที่สนใจสมัครเข้าร่วมอบรม ซึ่งมีอาจารย์ที่มาเข้าร่วมไม่ครบทุกคน

3. ในการอบรมเตรียมความพร้อมจัดเพียงสามชั่วโมง ซึ่งแบ่งออกเป็น ชั่วโมงแรก วิทยากรพูดถึงทฤษฎีหลักการทั่วไปการสอน ชั่วโมงที่สอง พูดยกตัวอย่างผลงานวิทยากร ชั่วโมงที่สาม เข้าเนื้อเรื่อง และอีกครึ่งชั่วโมงสุดท้ายเป็นการถามตอบ และอาจารย์ยังเน้นย้ำอีกว่า การอบรมครั้งนี้ไม่ได้ลงลึกอะไรมาก 

การอบรมเหมือนจะมีการจัดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียว เพราะในวันที่ผมเขียนบทความนี้ก็ปาไปวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 แล้ว ซึ่งมันกำลังจะเข้าสู่ระยะที่สอง หรือระยะวางระบบการเรียน และสื่อสารกับผู้เรียนในการเรียนออนไลน์ หมายความว่านอกจากอาจารย์จะต้องสอนวิชาในสาขาของอาจารย์แล้ว อาจารย์ยังต้องเป็นพี่เลี้ยงที่คอยสอนนักศึกษาเข้าโปรแกรมต่างๆ อีกด้วย 

ถ้ามองในมุมมองของทางมหาวิทยาลัยศิลปากร เขาคงพิจารณาแล้วว่าอาจารย์ทุกคนมีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำได้ ซึ่งมันอาจจะได้ก็ได้ ถ้าทางมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดการอบรมที่เป็นระบบ เหตุผลนี้ยังไม่ได้คำนึงถึงความพร้อมของอาจารย์แต่ละท่านที่อาจจะชราภาพแล้ว หรือไม่มีสถานที่ที่พร้อมใช้งาน 

ด้วยความผิดพลาดขนาดนี้ ผมว่ามันคงจะเสียเวลามากถ้าจะเข้าไปพิจารณาระยะที่สอง แต่ไหนๆ แล้ว เรามาลองดูว่า ถ้าทางมหาวิทยาลัยศิลปากรสามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขปัญหาของระยะที่หนึ่งได้สมบูรณ์ครบถ้วนจนอาจารย์ทุกคนมีความรู้ และความสามารถพร้อม ในระยะที่สองจะยังเกิดปัญหาอะไรอีกหรือไม่ ซึ่งผมเชื่อว่ามีแน่ๆ 

ในระยะที่สองจะมีตัวแปรเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ความหลากหลายของนักศึกษา วิธีการติดต่อระหว่างอาจารย์และนักเรียน การที่จะทำทั้งหมดนี้ได้ อาจารย์จะต้องเป็นสุดยอดมหาครูที่พร้อมอุทิศทุกอย่างให้แก่ลูกศิษย์ เพราะถ้ามองในแง่นี้ อาจารย์จะต้องรู้จักลูกศิษย์ทุกคน ซึ่งในคณะผมมีมากกว่าเจ็ดร้อยชีวิต (ยังไม่นับปีอื่นๆ ) และไหนจะต้องสามารถสื่อสารกับทุกคนได้ การที่มหาวิทยาลัยศิลปากรวางนโยบายแบบนี้ พวกเขากำลังเพิกเฉยต่อความเหลื่อมล้ำมากๆ โดยเขาคิดว่าทุกคนสามารถติดต่อสื่อสารได้เพราะมีมือถือ และต่อให้เป็นอย่างนั้นจริง อาจารย์จะทำอย่างไรในการที่จะสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับนักศึกษาทุกคนได้ ยกเว้นแต่ที่ผมได้บอกกับผู้อ่านทุกท่านไป ‘เขาจะเป็นสุดยอดมหาครู’

แต่ถ้า ‘สุดยอดมหาครู’ มีปัญหาทางบ้าน เช่น มีลูกพึ่งเกิด แต่งงาน เงินสินสอด งานอื่นๆ ในชีวิต อาจารย์เหล่านั้นจะเอาเวลาที่ไหนไปรับผิดชอบชีวิตเด็กคนอื่น ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยศิลปากรกำลังคาดหวังอะไรจากครูเหล่านี้กันครับ?

ระยะที่สองก็มีปัญหา ไม่ใช่แค่ปัญหาที่พ่วงต่อมากจากระยะที่หนึ่งด้วย แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่การจัดนโยบายการเรียนการสอนในแต่ละระยะแล้ว และเช่นเดิม ในระยะที่สามเองก็มีปัญหา กล่าวคือ ต่อให้ในระยะที่สองสำเร็จลุล่วง ทุกคนเป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยคาดหวัง แต่คุณกำลังคาดหวังให้เขาอยู่ในบ้านอย่างเดียวเลยอย่างนั้นเหรอ?

ถ้าจะต้องตอบปัญหานี้ เราต้องมาดูนิยามของคำว่าบ้านให้ดีเสียก่อน เพราะแม้จะเรียนออนไลน์ที่ไหนก็ได้ แต่ด้วยสถานการณ์แบบนี้ เราจะไปเรียนที่ไหนได้นอกจากบ้าน เว้นแต่ว่าคุณจะแหกกฎไปร่วมตัวกันเรียนที่อื่น ซึ่งมันก็จะพังทลายความคาดหวังของมหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะนอกจากจะไม่สามารถทำตามนโยบายการป้องกันการกระจุกรวมตัวกัน ยัง encourage ทางอ้อมเพื่อให้นักศึกษาไปเสี่ยงที่อื่นๆ ที่อาจจะควบคุมได้แย่กว่าในพื้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

บ้าน ในนิยามปกติตามสามัญสำนึก คือสถานที่ที่มีความอบอุ่น เป็นสถานที่ที่เราสบายใจที่จะอยู่ หรือเป็นที่อยู่ของครอบครัว อันประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก คนที่เรารัก หรืออย่างน้อยในอุดมคติมันก็เป็นอย่างนั้น

แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยศิลปากรกำลังทำคือการเปลี่ยนนิยามความหมายของบ้านให้กลายเป็นอื่น หมายความว่า บ้านไม่ใช่สถานที่พักผ่อน หรือหลบหนีความโหดร้ายของโลกอีกต่อไป แต่บ้านกลายเป็นห้องเรียน และเมื่อบ้านการเป็นห้องเรียน เมื่อใดที่คุณพ่อ คุณแม่เข้ามาลุกล้ำ นั้นหมายความว่าพวกเขาเองก็กำลังเข้าสู่โรงเรียน การปฏิบัติตัวก็ต้องทำเหมือนอยู่ในสังคม เช่น ห้ามทำเสียงดัง ห้ามตด ห้ามกรน เป็นต้น  

แต่อย่างน้อยในนโยบายก็ยังมีคำว่า ‘ให้ประเมินการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงกันต่อไป’ 

แหม่! มันน่าสงสัยจริงๆ นะครับว่า ถ้าวิธีการไม่รอดตั้งแต่รอบแรกๆ แล้ว คุณยังจะคาดหวังอะไรจากโครงสร้างที่ฐานแคบแต่ตัวกว้างกันละครับ 

คุณอาจจะเริ่มครวญครางแล้วว่า “ห๊ะ! นี่พึ่งสไลด์ที่สองเองเหรอ!” อดทนหน่อยเถิดครับ เพราะผมพยายามจะเสนอความเป็นไปได้ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้นะครับ แต่ถ้าใครไม่พอใจ ผมก็ขออภัยแก่ความโอหังของผมด้วย

จากสไลด์หน้านี้ ผมว่า มันเป็นเครื่องการันตีชั้นดีเลยละครับว่า ทุกคนน่าจะต้องเป็นโรคสายตาสั้นแน่นอน รับรองว่าใครที่อยากใส่แว่นก็คงได้ใส่จริงๆ ละครับงานนี้

เนื่องจากเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ มันจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราต้องหมกมุ่นอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์สีฟ้าแน่นอน และถ้าเราอ้างอิงตามในภาพข้างต้น ไม่ว่าจะทำอะไรมันก็มักจะวนเวียนอยู่บนหน้าคอม หรือโทรศัพท์เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็น ติดตามข่าวสารมหาวิทยาลัยศิลปากรจาก Website บ้าง ติดตามผลสะท้อนของนักศึกษาจากกระดานสนทนาบ้าง หากมีปัญหาให้ติดต่อผ่านทาง Facebook บ้าง Website บ้าง บ้าง บ้าง บ้าง บ้า

เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยครับ และผมยังไม่เห็นการพิจารณาการแก้ไขปัญหานี้นอกเสียจาก คุณต้องไปซื้อแว่นกรองแสงสีฟ้ามาใส่เอง ซึ่งอันนึงก็ตีไปประมาน 2,000 บาท ถ้าอยากได้ของที่มีแบรนด์ดีๆ

แต่ไม่เป็นไรครับ เราลองมาพิจารณาความเป็นไปได้กันเลยดีกว่า ซึ่งไม่มีอะไรมากเลยครับนอกจาก ถ้าเป็นไปได้ตามที่มหาวิทยาลัยศิลปากรระบุทุกอย่าง หรือมีปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ สไลด์นี้ก็จะไม่มีปัญหาอะไรเลยครับผม

เพราะจากหัวข้อแรก ‘ขั้นเตรียมการสอน’ หากทางคณะสามารถประชุมบุคลากรและสามารถแจ้งงานได้อย่างเป็นระบบจริงๆ เราก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหาทางเทกนิคขึ้นเพราะมีการคาดการล่วงหน้าจากที่ประชุมแล้ว

ข้อที่สอง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สอน ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอีกเช่นเดิม หากผู้สอนทุกคนรักใคร่กลมเกลียวด้วยเลือดสีเขียวเวอร์ริเดียน

ข้อที่สาม ก็สามารถทำได้เพราะเป็นหน้าที่ของอาจารย์ผู้สอนอยู่แล้ว แต่ถ้าหากไม่ได้ ผมก็ไม่สามารถทราบได้เหมือนกันเพราะผมยังเรียนไม่จบปริญญาตรีเลยด้วยซ้ำ ประสบการณ์การสอนของผมก็มีเพียงแค่สอนการบ้านเลข หรือภาษาอังกฤษให้รุ่นน้อง

และข้อสี่ ข้อห้า ก็ใช้เหตุผลเดียวกันกับข้อที่สาม

ในหัวข้อที่สอง ‘ขั้นดำเนินการสอน’ ก็ไม่มีอะไรมากครับ แค่ต้องติดตามผลสะท้อนของนักศึกษาจากกระดานสนทนา ไม่ได้เป็นภาระอะไรมากขึ้นกว่าเดิม

ในหัวข้อที่สาม ‘ขั้นติดตามผลการสอน’ ก็เช่นเดียวกับหัวข้อที่สองเลยครับผม เป็นการสะท้อนซึ่งกันและกันเพื่อจะนำผลลัพธ์ไปปรับปรุงแก้ไขกันต่อ และถ้ามีปัญหาอะไรที่เกิดการแก้ไขของเรา ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรก็มีเพจ Facebook และwebsite เพื่อให้การช่วยเหลือ

และจบแล้วครับสำหรับสไลด์ที่สองที่จะช่วยทำให้เราคลายกังวลกับการที่จะต้องเรียนออนไลน์แล้วไม่รู้เรื่อง หากใครอยากรู้ปัญหาของสไลด์นี้ก็ลองเติมนิเสธ (Negation) หรือเครื่องหมายเปลี่ยนค่าความจริงลงไปในแต่ละหัวข้อที่ผมอธิบายกันดูนะครับ

ในที่สุดก็มาถึงสไลด์สุดท้ายที่ทางมหาลัยศิลปากรเตรียมไว้ให้เราก่อนที่จะเริ่มวิธีการเรียนออนไลน์กันนะครับ และเหมือนเดิม ถ้าเราสามารถทำได้ตามที่มหาวิทยาลัยศิลปากรคาดหวัง มันก็ไม่มีปัญหาอะไรให้ต้องกังวลใจ

ในสไลด์นี้พูดถึงวิธีการเตรียมตัวของนักศึกษากันบ้าง ซึ่งมีด้วยกัน 3หัวข้อ แต่หัวข้อที่น่าสนใจจริงๆ คือ ‘ขั้นเตรียม’ เพราะเป็นหัวข้อใหม่ที่ปรากฏขึ้นมาเพราะปรากฏการณ์การเรียนออนไลน์ 

ในขั้นเตรียมปกติ เราก็แค่เตรียมสมุด ดินสอกันไปเรียนใช่หรือเปล่าครับ แต่ในขั้นเตรียมนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบไปนิดหน่อย 

ในการเตรียมแรกคือ การเตรียมอุปกรณ์ และสถานที่สำหรับการเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยศิลปากรต้องจัดเตรียมให้ แต่เมื่อเราไม่สามารถเข้าถึงมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ เราก็ต้องเตรียมอุปกรณ์ และพื้นที่ด้วยตนเอง เมื่อเราไม่มีอุปกรณ์ก็สามารถไปยืมใช้ที่สำนักดิจิทัลฯ ได้ ซึ่งยืมในที่นี้ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่าเราไปยืมมาใช้เลย หรือไปยืมและต้องอยู่ที่นั้นเหมือนร้านเกม -- ถ้าใครนึกภาพตามไม่ออก แล้วค่อยเรียนออนไลน์ ซึ่งทั้งสองเงื่อนไขก็ติดปัญหาที่ว่าถ้าอุปกรณ์มีไม่เพียงพอ ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรจะจัดการอย่างไร

และในภาพก็ไม่ได้บอกด้วยว่าถ้าไม่มีพื้นที่จะทำอย่างไร เช่น ที่บ้านเปิดร้านขายของชำ และอินเตอร์เน็ตจะไวพอก็ต่อเมื่อยู่ชั้นล่าง หรือชั้นที่คุณพ่อ หรือคุณแม่ขายของให้ลูกค้าเสียงดังเอิกเกริก ซึ่งหนทางแก้ไขของคุณก็คือ ปิดเสียงไมค์ของคุณไปซะ และถ้าเมื่อใดที่มีคำถามก็จงกล้ำกลืนความอายและเปิดไมค์ถาม แดกความอายของตัวเองเข้าไปซะถ้าอยากได้คำตอบ นี่คงเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรบอก ซึ่งถ้าผมกล่าวเกินจริงไปก็ขออภัยในความสะเพร่า และรู้น้อยของผม

ในส่วนของข้อสองถ้ามีอะไรให้ผมติอีก ผมก็คงชอบจับผิดมากจนเข้าขั้นบ้า

ทั้งหมดทั้งมวลที่ผมกล่าวมายืดยาวนี้ อย่างน้อยก็ทำให้คุณผู้อ่านทุกคนมีกำลังในการเรียนออนไลน์ที่มากขึ้นนะครับ เพราะเพียงแค่เราสามารถทำตามที่มหาวิทยาลัยศิลปากรวางแผนไว้ทุกประการเราก็จะสามารถเรียนรู้ได้เสมือนอยู่ในห้องเรียน หรือเผลอๆ อาจจะได้ดีกว่าด้วยซ้ำเพราะตามนโยบายแล้วดูเหมือนพวกคุณเหล่านักศึกษาจะต้องขวนขวายในการเรียนมากยิ่งขึ้น หรือไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็ต้องออกข้อสอบให้ง่ายขึ้นเพราะดูเหมือนจะมีเด็กที่ไม่สามารถฝึกวิเคราะห์ในห้องเรียนออนไลน์ได้เพราะที่บ้านขายของชำ

เนื่องจากยังมีปัญหาอีกนับไม่ถ้วนเลยครับที่ต้องมานั่งตั้งคำถามกัน และผมเองถูกปัญหาแรกดูดพลังไปเสียจนหมดสิ้น หากพระเจ้ามีจริง ได้โปรดเมตตาให้หัวข้อต่อๆ ไป ผมไม่ต้องนั่งตะบี้ตะบันเขียนด้วยเถอะครับ สาธุ!

ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรได้แสดงการช่วยเหลือนักศึกษาทุกคนด้วยการอุดหนุนเงินจำนวนกว่า 130 ล้าน เพื่อเยียวยานักศึกษาท่านใดที่ขาดทรัพยากรด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นปัญหาลำดับสองที่มีคนกล่าวถึงมากที่สุด และการคืนค่าทำเนียมบางส่วนที่เป็นปัญหาลำดับแปดที่มีคนกล่าวถึงมากที่สุดในโพลล์ที่ทางสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรได้สรุปออกมา

แต่จะคืนด้วยวิธีการใดนั้น ยังคงต้องรอต่อไปเพราะยังไม่ได้มีวิธีการออกมาแน่ชัด แต่ก็ได้มีการทำ Google Form ออกมาเพื่อให้นักศึกษาแสดงความจำนงของซิมอินเตอร์เน็ตแล้ว 

ส่วนในเรื่องของการลดค่าเทอมนั้นล่าสุดผมเห็นข่าวแว่วๆ มาว่าลดเพียงแค่ 10% จากค่าเทอมปกติ ซึ่งจริงเท็จแค่ไหน เรื่องนี้ผมไม่อาจหาแหล่งอ้างอิงมาพิสูจน์ได้ -- ขออภัยเป็นอย่างสูง

และในเรื่องของค่าหอพักที่มีเพื่อนๆ ของผมหลายคน (รวมถึงผมด้วย) กำลังโอดครวญด้วยความเครียดที่ไม่รู้จะคืนหอหรือไม่คืนดี ในที่นี้ได้คำตอบแล้วนะครับว่าทางมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ช่วยลดค่าหอพักให้เราแล้ว... เฉพาะหอใน

แต่ต้องขอบคุณทางเพจสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรอีกครั้งที่ไม่ทำให้เราเผลอพลั้งออกปากด้วยถ้อยคำแรงๆ ใส่มหาวิทยาลัยศิลปากรทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าทางเขานั้นได้ช่วยเหลือเราแล้ว  

ซึ่งนอกจากจะไม่บอกว่าลดเท่าไหร่แล้ว ยังไม่ครอบคลุมระแวกที่อาจจะมีนักศึกษาอาศัยอยู่ด้วย ทางนี้ผมเข้าใจนะครับว่าจริงๆ แล้วมันเป็นปัญหาลูกโซ่ที่เกิดขึ้นต่อๆ กันไป เช่น ในหอของเพื่อนผมคนหนึ่ง ที่พอนักศึกษาที่อาศัยอยู่ที่หอทราบข่าวมหาวิทยาลัยศิลปากรเปลี่ยนไปเรียนแพล็ตฟอร์มออนไลน์เกือบทั้งหมด พวกเขาก็เลือกที่จะคืนหอเป็นจำนวนกว่า 40คน 

ซึ่งทางมหาวิทยาลัยศิลปากรนั้นได้ทำถูกแล้วที่ประสานกับหลายๆ หอพักให้ลดค่าหอ แต่ในขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยศิลปากรเองก็ต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการด้วยว่าพวกเขาจะไม่ขาดทุน 

ปัญหาของการจัดการเรียนการสอน

การเรียนการสอนออนไลน์นั้นไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เราควรจะถกกันให้ดีเสียก่อนว่ามันควรเป็นเพียงการศึกษาทางเลือกในเวลานี้ก่อนหรือเปล่า หรือประเทศไทยควรจะพร้อมกว่านี้ ก่อนที่จะตัดสินใจเรียนแบบนี้ 

ดังนั้นในหัวข้อนี้ผมพยายามลิสต์ปัญหาข้อขัดแย้งใหญ่ๆ ที่เกิดจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนของผมมา 

ในประกาศของมหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง แนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอน ปีการศึกษา 2563 มีคำสั่งจากทางมหาวิทยาลัยศิลปากรทั้งหมด 9ข้อด้วยกัน ส่วนใหญ่ล้วนเป็นแนวทางการปฏิบัติ และการจัดบุคลากรเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การเรียนการสอน กระนั้นผมมีข้อข้องใจอยู่เพียงข้อเดียวในบรรดาคำสั่งทั้งหมด นั้นก็คือข้อแปด

“ข้อ 8 ทุกรายวิชาที่มีความจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนหรือการสอบโดยมีการรวมตัวกันของนักศึกษา รวมถึงรายวิชาที่จัดการเรียนการสอนออนไลน์โดยให้นักศึกษาเข้าใช้พื้นที่ของคณะ ให้คณะกำกับดูแลให้ใช้มาตรการสำคัญในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดให้ครบถ้วยทั้ง 5 ด้านตามเอกสารแนบท้ายประกาศโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) การวัดไข้ การใช้หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ”

เมื่ออ่านในทีแรกผมก็ไม่ได้เอะใจอะไร จนกระทั่งผมมีโอกาสได้อ่านข้อนี้ดีๆ อีกสักครั้งและก็พบว่าช่องโหว่ของข้อนี้อยู่ที่ “วิชาไหนสมควรจะได้รับการยกเว้น” แล้วถ้าสมมติทุกวิชาสมควรได้รับการยกเว้นหมดจะทำอย่างไร

มันฟังดูเป็นความเห็นแก่ตัวไม่ใช่น้อย เป็นความจริงที่จะต้องมีผู้เสียสละบ้าง ซึ่งในแง่นี้เราต้องมองว่าวิชาไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็นใช่หรือไม่ครับ? แต่อย่างที่ผมได้กล่าวไป แล้วเราใช้อะไรเป็นมาตรวัดว่าวิชาไหนควรไม่ควร วิชาพูดในคณะอักษรควรได้รับการยกเว้นมั้ย หากการพูดผ่านแอพพลิเคชั่นมันไม่สามารถตอบโจทย์ได้ แล้วถ้าดุลพินิจของอาจารย์ที่สอนวิชาพูดไม่ตรงกัน เช่น อาจารย์จากวิชาภาษาจีนเห็นว่าการพูดจีนนั้นยากกว่าภาษาตะวันตก สมควรจะต้องมาเจอกับนักศึกษาตัวต่อตัว ซึ่งเมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องแฟร์สำหรับทั้งสองฝ่าย หรือเราไม่สามารถยกเว้นได้เลยทุกคนต้องเรียนออนไลน์กันหมด ผมจึงขอวกกลับมาปัญหาแรกที่ว่า ถ้ามันไม่เวิร์คละ?

หลายท่านอาจคิดว่าผมไม่ได้ตอบคำถาม หรือมองโลกด้วยความเห็นแก่ตัวเกินไป หรือกระทั่งสิ่งเหล่านี้ต้องให้อาจารย์แก้ปัญหา แต่นี่ไม่ใช่หรือครับคือช่องโหว่ที่ตั้งคำถามได้ 

ดังนั้นแก่นของปัญหาจึงอยู่ที่ว่า วิชาไหนที่สมควรได้รับการยกเว้นบ้าง เราจะคุยกันอย่างไร และในขณะเดียวกันสำหรับวิชาที่ได้รับการยกเว้นนั้นสมควรต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาสถานที่เพิ่มหรือไม่?

ข้อขัดแย้งนี้เป็นปัญหาที่ไม่มีข้อสรุป เพราะหากจากหาข้อสรุปเราอาจจะต้องหาเกณฑ์วัดที่เป็นมาตรฐานร่วมกัน (โดยยังไม่ต้องคำนึงถึงความสำคัญเรื่องสิ่งนั้นสำคัญจริงหรือไม่) เช่น วิชาที่ต้องใช้อุปกรณ์สามารถได้รับอนุโลมได้ หรือวิชาที่จำเป็นต้องใช้ของแล็ปสามารถได้รับอนุโลมได้ แต่ในมาตรฐานนี้จำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วยเพราะคำว่าแล็ปคืออะไร? หากบ้านเป็นห้องเรียนได้แล้ว บ้านสามารถเป็นแล็ปได้หรือไม่? ซึ่งด้วยตัวอย่างนี้ก็เท่ากับว่าเราได้ข้อสรุปที่เหมือนกันหนึ่งข้อแล้วว่า ‘วิชาที่ควรได้รับการยกเว้นก็คือ วิชาที่ต้องใช้ทรัพยากรในมหาวิทยาลัยศิลปากร’ 

แล้วพื้นที่ของมหาวิทยาลัยศิลปากรไม่ใช่ทรัพยากรหรือครับ? ซึ่งแน่นอนสิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการพูดคุย และมีผลออกมาแน่ชัด ไม่เช่นนั้นแล้วมันก็จะเกิดความสับสนขึ้นว่า เราควรจะอยู่หอต่อไปหรือไม่ เพราะหอไม่ได้ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่บ้าน และมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกต่อไปแล้ว เพราะมีบางวิชาไม่จำเป็นต้องเข้าไปเรียนในพื้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร 

และเมื่อจุดเชื่อมไม่จำเป็นอีกต่อไป มันจึงกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่สามารถมีหรือไม่มีก็ได้ (ยังไม่นับนะครับว่าถ้าเรามีวิชาที่ต้องเข้าใช้พื้นที่แค่วิชาเดียว แล้วที่เหลือสามารถเรียนออนไลน์ได้จะทำอย่างไร) และเมื่อหอพักกลายสภาพเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย เราจึงต้องกลับบ้าน และสร้างให้บ้านกลายเป็นสถานที่เรียนซึ่งผิดธรรมชาติ 

นอกจากความผิดธรรมชาติ และการกลายสภาพของบ้าน และหอพักแล้ว การเรียนออนไลน์จึงกลายเป็นข้อยกเว้นบางวิชา เช่น ถ้าเราบอกว่าวิชานี้สามารถยกเว้นที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ได้ข้อยกเว้นนี้ก็จะกลายเป็นข้อยกเว้นที่ประทับตาเรียบร้อย และสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการยกเว้นครั้งต่อๆ ไปได้ และเมื่อเรายกเว้นมากๆ เข้า วิชาที่เคยถูกยกเว้นนั้นก็จะถูกด้อยค่าเพราะมันเคยถูกยกเว้นมาแล้ว

หากข้อโต้แย้งเกิดขึ้นว่า การเรียนออนไลน์นั้นเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการณ์โควิด-19 เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าหลังจากนี้เราจะไม่สร้างข้อยกเว้นเพิ่มเติมให้แก่วิชาที่เคยถูกยกเว้นให้เข้าใช้พื้นที่ แต่แน่นอนมันต้องพิจารณาอีกหลายเรื่องเช่นเดียวกัน

ถ้าหากเราลองพิจารณาตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 (เพราะ พ.ร.บ. การศึกษาปี 2562 ลงนามโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแต่การแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ. เดิมปี 2542 และในมาตราที่ 11 ใน พ.ร.บ. การศึกษาปี 2562 ก็ให้คณะกรรมการปฏิบัติตามมาตรา 35/1 อันระบุไว้ว่าให้คณะกรรมการการอุดมศึกษาคอยประเมินผล และเสนอนโยบายโดยคำนึงถึงอิสระ และความเป็นเลิศด้านวิชาการ จึงสรุปได้ว่า พ.ร.บ. การศึกษาปี 2562นั้นยังคงยึดโยงอยู่กับ พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542) ในมาตรา 4 อันระบุไว้ในบรรทัดที่สามว่า “การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคม การเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต” 

และในหมวดที่ 4 แนวการจัดการศึกษา ในมาตราที่ 22 อันระบุไว้ว่า “การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ”

ในนโยบายก็ได้ระบุเอาไว้เป็นสำคัญแล้วว่า ทางสถาบันจะต้องจัดสภาพแวดล้อมสังคม การเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต แต่การที่ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรยืนยันว่าจะจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ให้ได้ เท่ากับว่า ไม่ได้สนใจต่อการที่จะจัดสภาพแวดล้อมเพื่ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้เลย 

ซ้ำ ยังไม่เปิดให้ใช้พื้นที่อีก หรืออย่างน้อยถ้าจะใช้พื้นที่ก็ต้องได้รับคำยินยอม และถ้าหากเราสมมติว่าเราได้รับคำยินยอมให้ใช้ และทุกคนได้รับคำยินยอมนั้นสรุปแล้วอะไรคือความแตกต่างระหว่างสถานการณ์ปกติ กับสถานการณ์ปัจจุบัน หมายความว่าทุกคนกำลังใช้ชีวิตปกติเพียงแค่ไม่ได้มีมหาวิทยาลัยศิลปากรเฉยๆ

ดังนั้นการจัดการเรียนแบบออนไลน์ แม้จะแค่ชั่วคราวแต่ก็เห็นได้ว่ามันได้ละเมิด พ.ร.บ. การศึกษาเอาไว้มากมายเพราะนอกจากจะไม่ได้ทำให้ผู้ศึกษาได้เรียนตามธรรมชาติ และเต็มศักยภาพแล้ว มหาวิทยาลัยศิลปากรยังริบพื้นที่ที่สมควรได้ใช้อย่างอิสรเสรีด้วย แม้จะมีข้ออ้างวิกฤตการณ์โควิด-19 เพื่อให้ลดการพบปะสังสรรคกันของคนจำนวนมาก แต่หากเราวิเคราะห์ตามจำนวนของผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงแล้ว เราจะสามารถพิจารณาวิธีการอื่นได้หรือไม่ เพราะหากมองตามที่ผมได้อภิปรายออกมา จะพบว่ามันมีแต่คำถามเต็มไปหมด และเป็นคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบด้วย 

กระนั้นหากเรายกมุมมองของผู้เรียนเป็นตัวตั้งแล้วละก็ เราก็ไม่สามารถบอกได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นว่าทุกคนเห็นด้วยเหมือนกันในเรื่องของการเรียน หรือไม่เรียนออนไลน์ ดังนั้นเราจะลองไปสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษากันครับ

ความคิดของผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการเรียนการสอนออนไลน์

ผมเชื่อว่าทุกเสียงนั้นควรค่าแก่การรับฟัง เช่นกัน ต่อให้เสียงของอีกฝ่ายจะเยอะแค่ไหน เราก็จำเป็นจะต้องรับฟังข้อเสนอของอีกฝ่ายด้วยเพื่อให้เห็นภาพของทั้งสองมุม 


    
 

ซึ่งเพจสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรก็ได้ทำสรุปได้เห็นภาพชัดเจน

     

จากภาพเราจะเห็นว่า เหตุผลของฝั่งซ้าย หรือผู้ที่ประสงค์จะเรียนออนไลน์จะตั้งเป้าไปที่ความปลอดภัย และถ้าหากเราพิจารณาดังนี้ความผิดก็ไม่ใช่ของมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยพราะทางมหาวิทยาลัยศิลปากรก็ได้คำนึงถึงเรื่องนี้อย่างดีที่สุดแล้วจึงออกมาตรการณ์การเรียนออนไลน์

ส่วนในอีกฝ่ายหนึ่งปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องประสิทธิภาพการเรียน และความขาดแคลนด้านอุปกรณ์ ซึ่งสำหรับผมแล้ว ประสิทธิภาพในการเรียนย่อมสำคัญพอๆ กับสุขภาพของนักศึกษา ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงจำเป็นต้องปรับสมดุลของทั้งสองฝ่ายให้เท่ากันเพราะ หนึ่ง เราไม่ได้ปฏิเสธว่าเราจะไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ และหากมันกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วเราอยากได้ความแน่ใจและความชัดเจนว่าทางมหาวิทยาลัยศิลปากรจะจัดการอย่างไร และที่สำคัญทางมหาลัยศิลปากรควรออกมาแนะแนวทางสำคัญและข้อควรปฏิบัติให้ชัดเจน หมายความว่า ไม่มีใครคาดฝันว่าสถานการณ์จะเลวร้านขนาดนี้ และทุกหกทุกแห่งก็เต็มไปด้วยความสับสน และขาดแคลน ในเหตุการณ์แบบนี้จึงต้องมีการแนะแนวทางการปฏิบัติ ไม่ใช่ทิ้งไว้ให้มืดแปดด้าน แม้จะมีการอุดหนุนในอะไรหลายๆ อย่างแต่สุดท้ายก็ไม่วายทิ้งให้อยู่ภายใต้ความสับสนอีกครั้ง เช่น เรื่องเงินอุดหนุน ทุน และค่าหอพัก ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรตอนนี้กำลังพลักดันให้เราอยู่หอ หรืออยู่บ้าน หรืออะไรกันแน่ 

สรุป

เราเสียเงินเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อจะได้รับความรู้ ประสบการณ์ และสังคมดีๆ แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น เราจึงจำเป็นจะต้องตัดบางส่วนออกไปเพื่อให้ผลลัพธ์ยังคงออกมาดี ดังนั้นสำหรับผลลัพธ์ในการเรียนออนไลน์ครั้งนี้คืออะไร เพราะถ้าหากเราตัด ประสบการณ์ และสังคมดีๆ ออกไปแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้มันอาศัยการเผชิญหน้ากัน สัมผัสมันตรงๆ มากกว่าผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มันก็เหลือแค่ความรู้ใช่หรือไม่ครับ? 

แต่ความรู้ที่ผ่านสื่อแบบใหม่นั้นเราก็ยังตั้งข้อกังขากันไว้อย่างมาก และจากสไลด์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรทำออกมานั้นก็แทบไม่ได้ช่วยให้เราเกิดความมั่นใจขึ้นเลยแม้แต่น้อย 

เพราะภายในปัญหาประสิทธิภายการเรียนรู้ก็ยังมีปัญหาอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขาดแคลนทรัพยากร และพื้นที่ ซึ่งแม้มหาวิทยาลัยศิลปากรพยายามจะช่วยอุดหนุนอย่างเต็มที่ แต่จากจำนวนนักศึกษาและความหลากหลายมหาวิทยาลัยศิลปากรมั่นใจได้มากขนาดไหนกันที่จะอุดรอยรั้วทั้งหมดนี้ด้วยตัวคนเดียว 

แม้แต่อาจารย์เองก็ยังไม่มั่นใจกับสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง หมายความว่า ถ้ายกความเข้าใจของเด็กเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับการเรียน ดังนั้นเราจะคาดหวังการเรียนหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นในสภาพที่เปิดให้เราเรียนรู้ได้แค่ห้าสิบ หรือแปดสิบเปอร์เซ็นได้อย่างไร? สุดท้ายทุกอย่างก็จะต้องถูกลดทอนลงเพียงเพื่อพยุงให้ผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปให้ได้ คำถามคือ มันประสบความสำเร็จจริงหรือไม่?

และถ้าลองไปสำรวจจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ศิลปากรจะพบว่า มีการใช้นโยบายต่างๆ เพื่อสอดรับเข้าในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่การเรียนออนไลน์หนึ่งร้อยเปอร์เซ็น โดยบางมหาลัยยังคงให้นักศึกษาไปเรียนตามปกติ หรือให้เรียนแบบผสม แต่ส่วนที่น่าสนใจก็คือแต่ละมหาลัยพยายามช่วยแบ่งเบาภาระของภาคสังคมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การเปิดให้ปรึกษาเกี่ยวกับโควิด มีมาตราการณ์ช่วยเหลือ และยังคงให้ใช้พื้นที่เพียงแค่มีการป้องกันที่สอดรับกัน

มหาวิทยาลัยศิลปากรกำลังเดินก้าวที่ผิดมหันต์ หรือจะเป็นก้าวที่อยู่เหนือความคาดหมาย เราคงจะต้องรอดูกันต่อไป แต่ต้องอย่าลืมว่าสิ่งที่เรากำลังเสี่ยงดวงอยู่นั้นมันพนันด้วยชีวิตหนึ่งปีเต็มของนักศึกษาและอาจารย์ทุกคน

 

บรรณานุกรม 
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542. เข้าถึงได้จาก https://person.mwit.ac.th/01-
Statutes/NationalEducation.pdf
 เข้าถึงเมื่อ 21 พฤษภาคม 63
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 25ุ62 ฉบับที่ 4.
เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/057/T_0049.PDF เข้าถึงเมื่อ 21 พฤษภาคม 63
Thammasat University. “TU: DNA COVID-19 EDITION”. Thammasat for people. เข้าถึงได้จาก
https://www.facebook.com/photo?fbid=2938300726219438&set=a.489921317724070 เข้าถึงเมื่อ 21 พฤษภาคม 63
สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร. 
“ข้อสรุป ความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อการเรียนรู้ออนไลน์เนื่องในสถานการณ์ Covid-16” เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=1721547611316356&set=pcb.1721562137981570 เข้าถึงเมื่อ 21 พฤษภาคม 63

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท