Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความขนาดสั้นนี้เกิดขึ้น จากความพยายามผลักดันสวัสดิการภายในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งให้มีความสมเหตุสมผลและครอบคลุมกับแรงงานมหาวิทยาลัย นำไปสู่การค้นข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบสิทธิ์ที่พึงจะได้ของพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับสิทธิ์จากระบบประกันสังคม ปรากฏว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิ์การตรวจสุขภาพประจำปีแบบข้าราชการนั้นครอบคลุมกว่าและสมเหตุสมผลกว่า


ผู้เขียนเห็นว่า ข้อสังเกตนี้ไม่พึงจะถูกเสนอภายในองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นข้อสังเกตที่ควรโยนเข้าไปในพื้นที่สาธารณะที่มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจำนวนมหาศาลได้รับผลกระทบ หากสิทธิ์เหล่านี้มิได้เป็นที่รับทราบและถกเถียงกันอย่างที่ควรจะเป็น บทความนี้อาจมิได้เน้นไปที่การทำให้สิทธฺเท่าเทียมกับสวัสดิการข้าราชการเท่ากับชี้ให้เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลที่ดำรงอยู่ในสิทธิ์ดังกล่าว

 


ภาพจาก: https://www.prachachat.net/csr-hr/news-320858


ปัญหาสำคัญของสิทธิ์ตามระบบประกันสังคมมีอยู่อย่างน้อย 2 ประการ นั่นคือ การตรวจสุขภาพหลายรายการไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของอายุผู้ประกันตน กับ ความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ และอีกประการคือ การตรวจบางรายการไม่มีสิทธิ์ตรวจในทุกปี หากมีเว้นระยะไป ทั้งที่ประสิทธิภาพการตรวจสุขภาพสำหรับบางรายการนั้นจำเป็นต้องตรวจและมีการติดตามผลอยู่ไม่ว่าจะเป็นการตรวจไขมันในเลือด การตรวจน้ำตาลในเลือด เป็นต้น

 

จากตารางที่ 1 จะแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างสำคัญของการใช้สิทธิ์ตรวจสุขภาพประจำปีของข้าราชการและประกันสังคมนั่นคือ สิทธิ์ข้าราชการตรวจได้ทุกปีและครอบคลุมทุกช่วงอายุ แต่สำหรับประกันสังคมบางรายการเท่านั้นที่สามารถตรวจได้ทุกปี ทั้งยังมีเงื่อนไขอายุอีกด้วย นั่นคือ
 

  1. รายการที่ 3 ตรวจปัสสาวะ แต่มีเงื่อนไข คือ อายุ 55 ปีขึ้นไป
     
  2. รายการที่ 4 ตรวจอุจจาระ แต่มีเงื่อนไข คือ อายุ 50 ปีขึ้นไป
     
  3. รายการที่ 5 ตรวจเลือด แต่มีเงื่อนไข คือ อายุ 50 ปีขึ้นไป 55-70 ปี ตรวจได้ทุกปี หากอายุ 18-54 ปี จะตรวจได้เพียง 1 ครั้งตลอดช่วงอายุ
     
  4. รายการที่ 8 ดูภาวะเสี่ยงเบาหวาน แต่มีเงื่อนไข คือ อายุ 55 ปีขึ้นไป หากอายุ 35-54 ปี มีสิทธิ์ทุก 3 ปี
     
  5. รายการที่ 11-12 ค่าการขับของเสียจากไต, ภาวะไตวาย แต่มีเงื่อนไข คือ อายุ 55 ปีขึ้นไป

ไม่เพียงเท่านั้น สิทธิ์ในบางรายการก็ถือว่าไม่สามารถตรวจได้ทุกปี ขณะที่สิทธิข้าราชการสามารถตรวจได้ทุกปี เช่น

  1. รายการที่ 1 เอ๊กซเรย์ทรวงอก  อายุ 15 ปีขึ้นไปมีสิทธิ์เพียง 1 ครั้งตลอดช่วงอายุ
     
  2. รายการที่ 5 ตรวจเลือด อายุ 18-54 ปี มีสิทธิ์ตรวจได้เพียง 1 ครั้งตลอดช่วงอายุ
     
  3. รายการที่ 6-7 ตรวจภายใน อายุ 30-54  ปี มีสิทธิ์ตรวจทุก 3 ปี
     
  4. รายการที่ 8 ตรวจน้ำตาลในเลือดที่อายุ 35-54 ปี ก็เป็นการตรวจทุก 3 ปี ทั้งที่ค่าน้ำตาลเพื่อดูความเสี่ยงโรคเบาหวาน ควรจะตรวจทุกปี
     
  5. รายการที่ 9-10 ตรวจไขมันในเลือด แม้จะเริ่มที่อายุ 20 ปี แต่กลับเป็นการตรวจทุก 5 ปี

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสิทธิ์ของข้าราชการนั้นครอบคลุมการตรวจทั้งอายุต่ำกว่า 35 ปีและอายุ 35 ปีขึ้นไป ขณะที่ประกันสังคมนั้นสิทธิ์จะเอื้อให้แก่ผู้สูงวัยมากกว่าโดยเฉพาะผู้มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ทั้งที่แรงงานผู้ประกันตนจำนวนมากมีอายุไม่ถึง 55 ปี และการได้รับสิทธิ์ยังมีความลักลั่นในช่วงอายุ นั่นคือ หากเป็นแรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี แทบจะไม่ได้รับสิทธิ์ตรวจอะไรเลย มีเพียงการตรวจทรวงอก (รายการที่1-2) ได้ 1 ครั้ง, การตรวจเลือด (รายการที่ 5) 1 ครั้ง (ไปจนถึงอายุ 55 ปี), การตรวจภาย (รายการที่ 6-7) ทุก 3 ปี, การตรวจไขมันในเลือด (รายการที่ 9-10) ตรวจทุก 5 ปี, คัดกรองการได้ยิน (รายการที่ 17) 1 ครั้งต่อปี, ตรวจเต้านม (รายการที่ 18) ทุก 3 ปี, ตรวจมะเร็งปากมดลูกวิธี VIA (รายการที่ 21) ทุก 5 ปี หรือสรุปได้ว่า มีเพียงรายการคัดกรองการได้ยินเท่านั้นที่พนักงานอายุต่ำกว่า 35 ปีจะตรวจได้ทุกปี

ตาราง แสดงเปรียบเทียบการใช้สิทธิ์ตรวจสุขภาพประจำปีของข้าราชการและประกันสังคม[1]

ลำดับที่

รายการ

สิทธิข้าราชการ

ประกันสังคม

1

Film Chest (เอ๊กซเรย์ทรวงอก ดูปอดและหัวใจ)

อายุต่ำกว่า 35 ปี 1 ครั้ง/ปี

อายุ 15 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง

2

Mass Chest (เอ๊กซเรย์ทรวงอก ดูปอดและหัวใจ)

อายุต่ำกว่า 35 ปี 1 ครั้ง/ปี

3

Urine Examination/Analysis (31001) (ตรวจปัสสาวะ ดูการติดเชื้อ และ screening นิ่วในทางเดินปัสสาวะคร่าวๆ)

อายุต่ำกว่า 35 ปี 1 ครั้ง/ปี

อายุ 55 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี

4

Stool Examination-Routine direct smear (31201) ร่วมกับ Occult blood (31203) (ตรวจอุจจาระ ดูพยาธิในลำไส้และ screening ภาวะเลือดออกในลำไส้ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากมะเร็งลำไส้)

อายุต่ำกว่า 35 ปี 1 ครั้ง/ปี

อายุ 50 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี

5

Complete Blood Count: CBC แบบ Automation (30101) (ตรวจเลือดดูภาวะเลือดจาง ซีด หรือ screening โรคเลือด)

อายุต่ำกว่า 35 ปี 1 ครั้ง/ปี

อายุ 18-54 ปี 1 ครั้ง

อายุ 55-70 ปี 1 ครั้ง/ปี

6

ตรวจภายใน (55620) (ตรวจภายในและ screening ภาวะผิดปกติและมะเร็งปากมดลูก)

อายุต่ำกว่า 35 ปี 1 ครั้ง/ปี

อายุ 30-54  ปี ทุก 3 ปี

อายุ 55 ปีขึ้นไป ตามความเหมาะสมหรือมีความเสี่ยง

7

Pap Smear (38302) (ตรวจภายในและ screening ภาวะผิดปกติและมะเร็งปากมดลูก)

อายุต่ำกว่า 35 ปี 1 ครั้ง/ปี

 

 

 

 

1-7

รายการตรวจอายุไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ทุกรายการ

อายุ 35 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี

-

8

Glucose (32203) (ดูภาวะเสี่ยงเบาหวาน)

อายุ 35 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี

อายุ 35-54 ปี ทุก 3 ปี

อายุ 55 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี

9

Cholesterol (32501) (ไขมันในเลือด)

อายุ 35 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี

อายุ 20 ปีขึ้นไป ทุก 5 ปี (ไขมันในเลือดชนิด Total & HDL cholesterol (ไขมันในเลือด แต่ถือว่าพอเทียบกันได้)

10

Triglyceride (32502) (ไขมันในเลือด)

อายุ 35 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี

11

Blood Urea Nitrogen:BUN (32201) (ค่าการขับของเสียจากไต, ภาวะไตวาย)

อายุ 35 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี

อายุ 55 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี

 

12

Creatinine (32202) (ค่าการขับของเสียจากไต, ภาวะไตวาย)

อายุ 35 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี

13

SGOT (AST) (32310) (ดูค่าตับ)

อายุ 35 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี

-

14

SGPT (ALT) (32311) (ดูค่าตับ)

อายุ 35 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี

-

15

Alkaline Phosphatase (32309) (ดูค่าตับ)

อายุ 35 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี

-

16

Uric Acid (32205) (กรดยูริก หาภาวะโรค Gout)

อายุ 35 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี

-

 

ตรวจทั่วไป

 

 

17

การคัดกรองการได้ยิน (Finger Rub test)

-

อายุ 15 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี

 

การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข

-

 

อายุ 30-39 ปี ทุก 3 ปี

อายุ 40-54 ปี ทุกปี

อายุ 55 ปีขึ้นไป ตามความเหมาะสมหรือมีความเสี่ยง

18

การตรวจตาโดยความดูแลของจักษุแพทย์

-

 

อายุ 40-54 ปี 1 ครั้ง/ปี

อายุ 55 ปีขึ้นไป ทุก 1-2 ปี

19

ตรวจตาด้วยสาย Snellen eye Chart

-

อายุ 55 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี

 

ตรวจอื่นๆ

 

 

20

เชื้อไวรัสตับอักเสบ HBsAg

-

สำหรับผู้ที่เกิดก่อน พ.ศ.2535 1 ครั้ง

21

มะเร็งปากมดลูกวิธี VIA

-

 

อายุ 30-54  ปี ทุก 5ปี

อายุ 55 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจ Pap Smear

สิทธิประกันสังคมเพื่อตรวจสุขภาพประจำปีเช่นนี้จึงแสดงความเหลื่อมล้ำทางด้านการให้บริการทางด้านสุขภาพและไม่มีความสมเหตุสมผลเอาเสียเลย เป็นที่น่าสงสัยว่า การตั้งเกณฑ์ดังกล่าวนั้นอยู่บนฐานคิดอะไร ในก้อนเงินจำนวนเท่ากันที่ประกันสังคมใช้ไปนั้น สามารถจะจัดสรรให้การตรวจสุขภาพประจำปีมีความสมเหตุสมผลกว่านี้ได้หรือไม่ นั่นคือ โจทย์ที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป.

 

อ้างอิง

[1] กรมบัญชีกลาง, คู่มือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ, หน้า 11-12 และ “ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 136 ตอน 91 ง, 10 เมษายน 2562, หน้า 38-40

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net