Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


ที่มาภาพ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1627118660787937&set=a.110770115756140&type=3&theater

การที่ปราญ์พุทธยืนยันว่า “ประวัติศาสตร์ชนชาติไทยคือประวัติศาสตร์ของชนชนผู้นับถือพุทธศาสนา หรืออาจกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ชนชาติไทยก็คือประวัติศาสนาพุทธศาสนาด้วย” โดยให้เหตุผลหลักๆ ว่าคนไทยส่วนใหญ่กว่าร้อยละเก้าสิบเป็นชาวพุทธ พุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นเอกลักษณ์ของชาติ เป็นหลักแห่ความสามัคคีของคนในชาติ เป็นสถาบันหลักหนึ่งในสามคือ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ของประเทศไทย และเป็นศาสนาประจำชาติไทยที่เป็นหลักการแห่งเสรีภาพทางศาสนาของสังคมไทย เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเสรีภาพ ใจกว้าง ไม่รังเกียจศาสนาอื่นๆ ที่เข้ามาเผยแพร่ในไทย มีหลายประเด็นที่ควรวิพากษ์

ประเด็นหลักเลยคือ การโอเวอร์เคลมเช่นนั้น อาจนำไปสู่การสร้าง “ความเป็นอื่น” (otherness) ว่า ศาสนาพราหมณ์ฮินดู ศาสนาผี คริสต์ อิสลาม และอื่นๆ ที่คนไทยนับถือไม่ใช่ศาสนาของคนไทย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น เพราะมักจะมีคำอธิบายจากฝ่ายพุทธว่า คริสต์ศาสนาเป็นของตะวันตก อิสลามเป็นของแขกอาหรับ ส่วนพราหมณ์ ผี ก็คือความเชื่อที่เข้ามา “ปนเปื้อน” พุทธศาสนา ทำให้พุทธศาสนาไม่บริสุทธิ์ หรือมีส่วนผสมของความงมงายต่างๆ ที่เป็นเปลือกกระพี้มากขึ้น 

โดยการยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทยและเอกลักษณ์ของชาติไทย ก็มักเป็นการยืนยันเพื่อสร้างความเป็นอื่นแก่ “วัฒนธรรมตะวันตก” ด้วย โดยอ้างว่าวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาคุกคามและครอบงำ จนทำให้วัฒนธรรมอันดีงามของไทยเลอะเลือนไป

สุดท้ายการโอเวอร์เคลมข้างต้น ย่อมเป็นการสร้าง “มายาคติ” ทำให้คนไทยมองตัวเองเป็น “มนุษย์พิเศษ” ที่ไม่เหมือนใครในโลก มองคนชาติเดียวกันที่ถือศาสนาอื่นๆ อย่างแปลกแยก มองเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว กัมพูชาแบบต่ำเตี้ยเรี่ยดิน มองคนเอเชียด้วยกันเองแบบงั้นๆ ขณะที่มองชาวตะวันตกแบบกึ่งเทวดากึ่งปีศาจ เพราะดูเหมือนจะคิดว่าการเป็นคนไทยและความเป็นไทยมีลักษณะเฉพาะที่ไม่ปนเปื้อนกับสิ่งอื่นๆ ซึ่งก็ไม่เคยจะชัดเจนว่า “หน้าตาแท้จริง” ของเอกลักษณ์เฉพาะที่ว่านั้นเป็นอย่างไรแน่ แท้จริงแล้วอัปลักษณ์หรือสวยงามกันแน่ เมื่อเปรียบเทียบอย่างสมเหตุสมผลกับวัฒนธรรมอื่นๆ

เราควรจะเลิกโอเวอร์เคลมหลอกตัวเองแบบนั้นเสียที เพราะที่จริงแล้วประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของชนชาติที่นับถือพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เป็นประวัติศาสตร์ชนชาติที่มีหลายศาสนา หลายวัฒนธรรม 

เดิมทีเรานับถือผี ส่วนพุทธ พราหมณ์ คริสต์ อิสลาม ซิกข์ และศาสนาอื่นๆ รวมทั้งวัฒนธรรมอาเซียนและวัฒนธรรมตะวันตก ล้วนเป็น “ของนำเข้า” เหมือนกัน เมื่อคนไทยรับมาเป็นศาสนาของตน เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนมันก็กลายเป็นของคนไทยเท่าเทียมกัน เพราะพุทธ พราหมณ์ คริสต์ อิสลาม ซิกข์ วัฒนธรรมอาเชียน/เอเชีย และวัฒนธรรมตะวันตกที่คนไทยรับมา ล้วนถูกปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตคนไทยและสังคมไทยไปแล้ว ไม่มีอะไรสักอย่างที่เป็นเหมือนเมื่ออยู่ในแหล่งกำเนิดเดิมของศาสนาและวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านั้น 

ไม่เฉพาะระดับสังคมไทยโดยรวมและท้องถิ่นต่างๆ เท่านั้นที่มีส่วนผสมผสานของหลายศาสนา หลายวัฒนธรรม แม้แต่สถานะและอำนาจของ “กษัตริย์พุทธมามกะ” ก็มีส่วนผสมของพุทธ พราหมณ์ ผี เช่น มีสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์แตะไม่ได้ตามหลักคัมภีร์ธรรมศาสตร์ และใช้อำนาจเด็ดขาดตามคัมภีร์อรรถศาสตร์ของพราหมณ์ฮินดู ทรงทศพิธราชธรรมตามคติพุทธ ขณะเดียวกันก็นับถือผีบรรบุรุษในชื่อต่างๆ กระทั่งสร้างพระสยามเทวธิราชรักษาบ้านเมือง พิธีกรรมของราชสำนักก็มีทั้งพิธีพุทธ พิธีพราหมณ์ มีทั้งการใช้โหราศาสตร์ และไสยศาสตร์ในบางสถานการณ์ ขณะเดียวกันกษัตริย์สมัยใหม่ก็มีภาพลักษณ์ความทันสมัยแบบวัฒนธรรมตะวันตกรวมอยู่ด้วยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะระบบทุนของวังย่อมยึดโยงอยู่กับตลาดเศรษฐกิจทุนนิยมที่สัมพันธ์กับเครือข่ายกลุ่มทุนอื่นๆ เป็นต้น

ยิ่งกว่านั้น แม้แต่สถานะอำนาจทางวัฒนธรรมและชนชั้นชั้นของพระสงฆ์เอง ก็มีส่วนผสมของพุทธ พราหมณ์ ผีอย่างแยกไม่ออก เช่น เดิมทีพระสงฆ์สาธยายพระสูตรต่างๆ เพื่อท่องจำรักษาคำสอนในไตรปิฎกเป็นหลัก แต่ต่อมาได้นำบทสาธยายพระสูตรต่างๆ นั้นมาใช้ในพิธีกรรมของราชสำนัก และพิธีกรรมของชาวบ้าน ซึ่งเป็นการเลียนแบบประเพณีการประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์ฮินดู ส่วนศาสนาผีก็มีอยู่ในวัดต่างๆ เช่น ศาลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่เสี่ยงเซียมซี รวมทั้งพิธีสวดศพอันเป็นรายได้หลักของวัดส่วนใหญ่ ก็มีมิติของศาสนาผีอันเป็นความเชื่อเรื่องส่งวิญญาณไปสู่สุคติอยู่ด้วย เพื่อไม่ให้วิญญาณผู้ตายเวียนวนมาหลอกหลอน เพราะถ้าแปลบทสวดพระอภิธรรมและบทสวดอื่นๆ ออกมาเป็นภาษาไทย ก็ไม่มีแม้แต่ข้อความเดียวที่มีความหมายเป็นการสวดส่งวิญญาณ แต่คนทั่วไปก็เชื่อว่านั่นคือการสวดส่งวิญญาณ ซึ่งน่าจะเป็นความเชื่อแบบศาสนาผีแต่เดิมที่นำเข้ามาผสมกับพุทธแบบเนียนๆ และย่อมเป็นไปในทางเอื้อประโยชน์แก่พุทธเอง

พูดตรงๆ คือ ถ้าสถานะ อำนาจทางวัฒนธรรมของพระสงฆ์ไม่มีส่วนผสมของพราหมณ์และผีในระดับเข้มข้นมากพอสมควร พระสงฆ์ก็คงจะทำหน้าที่เพียงศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และสอนธรรมเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงแล้วส่วนใหญ่พระสงฆ์ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมเป็นด้านหลัก และนั่นก็คือที่มาของรายได้หลักของพระสงฆ์และของวัดต่างๆ 

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่ใช่พุทธศาสนาเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นศูนย์รวมความสามัคคีของคนในชาติ เพราะความสามัคคีเกิดจากการต่อรอง ประนีประนอม และผสมผสานที่ลงตัวกันได้ระหว่างศาสนาต่างๆ รวมทั้งประนีประนอมและผสมผสานลงตัวกันได้ระหว่างความเป็นไทยกับความเป็นตะวันตกที่ถูกรับมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและสังคมสมัยใหม่ หากต่อรอง ประนีประนอม ผสมผสานให้ลงตัวกันไม่ได้ ก็ย่อมจะเกิดความขัดแย้ง ดังเช่นคริสต์กับพุทธเคยขัดแย้งกัน ปัจจุบันพุทธกับอิสลามกำลังระแวงกัน และสำนึกความเป็นไทยแบบคลั่งชาติ ศาสน์ กษัตริย์กับสำนึกเสรีภาพและประชาธิปไตยก็มักจะขัดแย้งกันมาตลอด 

เพราะอะไร ก็เพราะเมื่อโอเวอร์เคลมว่า ความเป็นไทยคือความเป็นพุทธ มันก็ผลักศาสนาที่ไม่ใช่พุทธเป็นศาสนาที่ไม่ใช่ของคนไทย เมื่อโอเวอร์เคลมว่าความเป็นไทยต้องยึดอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์สูงสุดเหนืออื่นใด มันก็ผลักความเป็นไทยในมิติที่คนไทยมีสิทธิเป็นเจ้าของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้กลายเป็นว่าคนไทยที่ยืนยันสิทธิเช่นนั้นเป็นพวกคลั่งตะวันตก หรือผลักคนไทยด้วยกันเองที่ยืนยันความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคให้กลายเป็นคนอื่น เป็นพวกทำลายชาติ ทำลายศาสนา และสถาบันกษัตริย์ 

ดังนั้น การโอเวอร์เคลมดังกล่าว มันคือทางสุดโต่ง ไม่ใช่ทางสายกลางแบบพุทธ และไม่ใช่ทางสร้างความสามัคคี มีแต่สร้างความขัดแย้งแตกแยกระหว่างคนไทยด้วยกันเอง

อีกอย่าง การอ้างว่าถ้ายึดถือพุทธศาสนาเป็น “ศาสนาประจำชาติ” แล้ว จะเท่ากับเป็นการสถาปนาหลักเสรีภาพทางศาสนาในสังคมไทย นี่ยิ่งสร้างมายาคติหนักขึ้นไปอีก เพราะที่ว่าคนไทยมีเสรีภาพทางศาสนาในเชิงวัฒนธรรม และความมีนิสัยใจกว้างของคนไทยนั้นก็ไม่ใช่เป็นผลมาจากคำสอนพุทธศาสนาอย่างเดียวตามที่มักอ้างกัน ที่จริงแล้วเป็นความใจกว้างของศาสนาผีที่ทำให้คนไทยเปิดรับทุกศาสนา ต่อมาความใจกว้างก็เกิดจากการต่อรอง ประนีประนอม และการให้ความร่วมมือที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเคารพกันและกันของคนทุกศาสนา เพราะต่างยอมรับว่าศาสนาต่างๆ ในไทยก็คือศาสนาของคนไทยเหมือนกัน 

ยิ่งกว่านั้น การสถาปนาพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาประจำชาติหรือเป็นสถาบันหลักของรัฐต่างหาก ที่ทำให้พุทธศาสนามีอำนาจกีดกันศาสนาอื่นๆ ได้ และที่แน่ๆ ยังกีดกันพระสงฆ์และชาวพุทธด้วยกันเสียเอง ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มชาวพุทธภายใต้มหาเถรสมาคมกับกลุ่มชาวพุทธนอกมหาเถรสมาคม และมีพุทธศาสนาแบบที่รัฐอุปถัมภ์กับแบบรัฐไม่อุปถัมภ์ ฯลฯ ในสภาวะของการแบ่งแยกเช่นนี้ ย่อมไม่มีทั้งเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาในความหมายสมัยใหม่

ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของศาสนา ไม่ว่าศาสนาใดๆ ก็ตามหากเป็นศาสนาประจำชาติ หรือเป็นสถาบันหลักของรัฐ ไม่แยกจากรัฐ ก็มักจะเกิดการโอเวอร์เคลมว่าศาสนาของตนเป็นศาสนาที่ดีที่สุด มีความสำคัญต่อชาติต่อประชาชนมากที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นที่จะกีดกันศาสนาอื่นๆ ในแง่ต่างๆ กระทั่งกีดกันศาสนาเดียวกันเองที่ต่างนิกาย ต่างความคิด เป็นต้น

ดังนั้น การสร้างสามัคคีของคนในชาติและการวางหลักประกันเสรีภาพทางศาสนา จึงไม่อาจทำให้เป็นจริงได้ด้วยการโอเวอร์เคลมว่าศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นแกนหลักทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติ กระทั่งเป็นหลักการพัฒนาชาติ (ดังที่ปราชญ์พุทธยืนยัน) แต่จำเป็นต้องยอมรับความจริงว่าทุกศาสนา วัฒนธรรมอาเชียน/เอเชีย และวัฒนธรรมตะวันตกที่คนไทยรับมาใช้กันอยู่จริงในวิถีชีวิตและสังคมไทยล้วนเป็นของคนไทยเท่าเทียมกัน และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเฉกเช่นกัน

ป่วยการที่จะตั้งแง่ว่า ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคทางเพศ และคุณค่าสมัยใหม่อื่นๆ เป็นของตะวันตก ไม่ใช่ของไทย เหมือนป่วยการที่จะตั้งแง่ว่าภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่เป็นของตะวันตก ไม่ใช่ของไทย เพราะมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต วิถีสังคมการเมืองและเศรษฐกิจไทยไปนานแล้ว และวิถีชีวิตตามเป็นจริงคนไทยก็อยู่กับสิ่งที่เรียกกันว่าเป็นของตะวันตกมากยิ่งกว่าพุทธศาสนาไทย นาฏศิลป์ไทย หรืออะไรที่เรียกว่าความเป็นไทยและเอกลักษณ์ไทยเสียอีก 

มันจึงเป็นเรื่องประหลาดที่คนไทยจะหลอกตัวเองว่า พวกตนเป็นเจ้าของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงน้อยกว่า และมักจะเกี่ยวข้องในเชิงนามธรรมและพิธีกรรมมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ขณะที่ไม่เคยเป็นและไม่อาจเป็นเจ้าของสิ่งที่จำเป็นและต้องเกี่ยวข้องในวิถีชีวิตตามเป็นจริงมากกว่า 

การอ้างความเป็นไทยที่ผูกโยงกับ “ชาติ (พุทธ)ศาสนา กษัตริย์” ราวกับเป็นความจริงและความดีสูงสุด เพื่อกีดกันเบียดขับและผลักไสความเป็นไทยในมิติอื่นๆ โดยเฉพาะความเป็นไทยในมิติที่ประชาชนเป็นเจ้าของชาติเท่าเทียมกันในฐานะที่ทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยอย่างเสมอภาคกัน ในที่สุดแล้วมักจะนำไปสู่การปราบปรามเข่นฆ่าคนไทยด้วยกันเอง 

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่พุทธศาสนาและคตินิยมเกี่ยวกับสถานะอำนาจของสถาบันกษัตริย์แบบที่เป็นของนำเข้าจากอินเดียเท่านั้นที่ควรเป็นของคนไทยโดยชอบธรรม ของนำเข้าจากตะวันตกและที่ไหนๆ ในโลกก็ย่อมเป็นของคนไทยและเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทยได้โดยชอบธรรมเท่าเทียมกัน

จึงควรที่จะหยุดเสียทีกับการโอเวอร์เคลมความเป็นพุทธ ความเป็นไทยในความหมายเฉพาะใดๆ ในทางที่ขัดกับความมีอยู่จริงของความแตกต่างหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม และขัดกับหลักเสรีภาพ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน อันเป็นหลักประกันให้ความแตกต่างหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างเคารพกันและกัน
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net