Skip to main content
sharethis

ประกันสังคม เร่งช่วยเหลือผู้ประกันตน ระดมกำลังเจ้าหน้าที่จ่ายเงินว่างงานเต็มที่ ชี้ยอดจ่ายแล้วกว่า 1.2 ล้านราย เป็นเงินกว่า 7 พันล้านบาท ด้าน 'อนุทิน' ต้อนรับบอร์ด สปสช.ชุดใหม่ ชี้จำนวนผู้ป่วยรักษาหาย 1,600 คนน่าพอใจ ด้านก.แรงงาน หารือกลุ่มธุรกิจ YPO เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ เยียวยาพนักงานพิษโควิด

 

ประกันสังคม เร่งช่วยเหลือผู้ประกันตน ระดมกำลังเจ้าหน้าที่จ่ายเงินว่างงานเต็มที่

27 พ.ค. 2563 จดหมายข่าวจากสำนักงานประกันสังคมรายงานว่า ทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง การช่วยเหลือผู้ประกันตนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ว่าตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่วินิจฉัยสั่งจ่ายอย่างเร่งด่วน และในขณะนี้ปรากฏว่ามีผู้ประกันตนยื่นคำขอ รับประโยชน์ทดแทนกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยวันละ 20,000 – 25,000 รายต่อวัน จึงได้สั่งการให้ มีการสนับสนุนเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจากส่วนกลางลงพื้นที่ช่วยเหลือสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ จังหวัด/สาขา เพื่อให้การปฏิบัติงานจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานแล้วเสร็จโดยเร็ว

ล่าสุดได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเป็นชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่สนับสนุนการปฏิบัติงาน ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2, พื้นที่ 3, พื้นที่ 4, พื้นที่ 9, พื้นที่ 10, พื้นที่ 12, สำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ต และสาขากระทู้ รวมถึงสำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา สำหรับในเรื่องของเอกสารการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมยังได้มีการบริหารจัดการ แบบเพื่อนช่วยเพื่อน จังหวัดเล็กช่วยจังหวัดใหญ่ ร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานเพื่อบันทึกข้อมูลวินิจฉัยสิทธิ ระหว่างสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ จังหวัด/สาขา ที่มีผู้ประกันตนมาใช้สิทธิน้อย กับพื้นที่จังหวัดที่มีผู้ประกันตนมาขอใช้สิทธิกรณีดังกล่าวจำนวนมาก เพื่อให้การดำเนินงานจ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นไปอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนกลางได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ยังสำนักงานประกันสังคม (สำนักงานใหญ่) ตั้งอยู่ที่สำนักงานประกันสังคม 88/28 หมู่ที่ 4 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เพื่อช่วยเหลือรับข้อร้องเรียน และอุทธรณ์จากการยื่นของรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยฯ จากผู้ประกันตน พร้อมรับเรื่องการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ทุกกรณีควบคู่ไปด้วย โดยจำนวนผู้ประกันตนที่มาใช้บริการ เฉลี่ยวันละ 500-600 รายต่อวัน เปิดให้บริการในวันราชการ เวลาทำการ 08.00 น. - 18.00 น.

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 มีผู้ประกันตนยื่นขอใช้สิทธิแล้ว 1,331,991 ราย ยื่นของใช้สิทธิรายใหม่ 17,903 ราย วินิจฉัยสั่งจ่ายสะสม 1,227,952 ล้านราย จ่ายสิทธิประโยชน์ว่างงานไปแล้ว 7,062.879 ล้านบาท ทั้งนี้ ตนได้เดินหน้าเร่งรัด พร้อมให้กำลังใจหน่วยปฏิบัติ จึงขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ที่พร้อมขับเคลื่อนงานการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับเงินช่วยเหลือโดยรวดเร็วที่สุด

 

'อนุทิน' ต้อนรับบอร์ด สปสช.ชุดใหม่ ชี้จำนวนผู้ป่วยรักษาหาย 1,600 คนน่าพอใจ

วันเดียวกัน จดหมายข่าวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระบุว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วาระพ.ศ. 2563-2567 ซึ่งร่วมประชุมเป็นครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า ภารกิจ บอร์ด สปสช.มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 หลายครั้งที่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ เป็นการหาทางออกให้กับประชาชน ซึ่งต้องขอแสดงความชื่นชมในความเสียสละทุกท่านที่เข้ามาทำหน้าที่นี้ โดยจากนี้เราต้องทำงานหนักร่วมกัน มั่นใจว่ากรรมการทุกท่านคงอยู่ทำหน้าที่บอร์ด สปสช. นานกว่าตน เนื่องจากมีวาระทำงาน 4 ปี ขณะที่ตนอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีมาแล้ว 1 ปี อย่างมากก็อยู่ต่ออีก 3 ปี หากรัฐบาลอยู่ครบเทอม โดยจะทำหน้าที่ประธานบอร์ด สปสช.ให้ดีที่สุด ขอให้ทุกคนวางใจตนและกระทรวงสาธารณสุขที่พร้อมจะนำความเห็นทุกคนที่ต่างมีความหวังดีไปปฏิบัติ        

“ผมมั่นใจว่าด้วยเจตรมณ์ที่ดีของเราทุกคนจะทำสิ่งที่ดีให้กับบ้านเมือง ขอแสดงความยินดีกับกรรมการทุกท่านที่เข้ามาทำหน้าที่นี้” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว

อนุทิน กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด-19 นอกจากบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) การที่บอร์ด สปสช.มีมติให้ อสม.ร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ให้บริการที่สามารถรับการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการให้บริการได้ ทำให้ อสม.ดีใจอย่างมาก ช่วยสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มที่ ซึ่ง อสม.ถือเป็นองคาพยพระบบสาธารณสุขไทยและไม่น่าขาดได้ การดูแล อสม.จึงเป็นสิ่งสมควรและที่ผ่านมาได้พยายามเพิ่มสิทธิต่างๆ ให้ อสม.อย่างเต็มที่รวมถึงการซื้อประกันความเสี่ยงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ขณะนี้ซื้อไม่ได้แล้ว เพราะ อสม.เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงก่อน ทำตั้งแต่ขับรถส่งคนไข้ รับยาและส่งยาให้ผู้ป่วย ติดตามเยี่ยมบ้าน และคัดกรองการติดเชื้อ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมามี อสม.บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน การอนุมัติเงินช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ของบอร์ด สปสช.จึงเป็นคุณูปการกับ อสม.   

ส่วนสิทธิประโยชน์คัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 ที่บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติก่อนหน้านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยพูดถึงความสำเร็จในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ได้ จากที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ารายงานผู้ติดเชื้อของไทยไม่มากเพราะมีการตรวจน้อย แต่สิทธิประโยชน์นี้ทำให้มีการตรวจคัดกรองมากขึ้น รวมถึงการตรวจติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงรับเชื้อ ทำให้มั่นใจสถานการณ์การป้องกันและควบคุมมากขึ้น ขณะนี้ส่วนตัวก็ลุ้น เราเพิ่งผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้จำนวนผู้ป่วยใหม่ยังคงที่ รวมถึงผู้ป่วยเสียชีวิต ขณะที่จำนวนผู้ป่วยรักษาหายจาก 1,600 คน เหลืออยู่ในโรงพยาบาลไม่ถึง 60 คน หากยังรักษาระดับนี้ไว้ได้ก็จะก้าวไปสู่อีกขั้นหนึ่ง ทั้งนี้รัฐบาลเองก็ไม่สบายใจในการใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการฉุกเฉิน แต่ในการควบคุมการแพร่ระบาด เฉพาะเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคและสาธารณสุขไม่พอ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงด้วย ขอเวลาไม่นานทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี ผ่อนคลายมากขึ้น   

 

ก.แรงงาน หารือกลุ่มธุรกิจ YPO เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ เยียวยาพนักงานพิษโควิด

วันเดียวกันจดหมายข่าวจากกระทรวงแรงงานระบุว่า เวลา 10.00 น. ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับกลุ่มธุรกิจ YPO (Young Presidents’ Organization)  สำหรับกลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีสมาชิกในประเทศไทยราว 200 คน และทั่วโลกกว่า 10,000 คน ในรูปแบบ Zoom Meeting เพื่อรับฟังสภาพปัญหาของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมี เธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องประชุมชั้น 10 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด – 19 อาทิ แนวทางการดำเนินการตรวจรักษาผู้ติดเชื้อโควิด – 19 การจ่านเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้าง การพัฒนาทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว จากนั้นตัวแทนสถานประกอบการต่างๆ นำโดย คเณศน์ ชาติธรรมรักษ์ นันทมาลี ภิรมย์ภักดี และคณะ ได้สอบถามประเด็นต่างๆ ในเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานในช่วงโควิด – 19 การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ การ Matching ตำแหน่งงานระหว่างธุรกิจที่ต้องการคน การฝึกอาชีพออนไลน์รองรับเทคโนโลยีที่ทันสมัย และการดูแลผลประโยชน์ของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีสถานประกอบการปิดกิจการชั่วคราวจากเหตุสุดวิสัยโควิด - 19 

ดวงฤทธิ์ กล่าวต่อว่า หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด - 19 และหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ก็จะพิจารณานโยบายต่างๆ และขยายระยะเวลาเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้าง นายจ้าง และสถานประกอบการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการ ให้สถานประกอบการกลับมาฟื้นฟูโดยเร็ว

 

ผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนเดือดร้อนตกงาน ขาดรายได้ ทำให้มูลนิธิกระจกเงา องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมหลากหลายด้าน ได้แก่ งานด้านสิทธิมนุษยชน งานพัฒนาอาสาสมัครและการแบ่งปันทรัพยากร ร่วมกับเทใจ จัดทำโครงการ “จ้างงาน-แก่ผู้ตกงานจากวิกฤติโควิด-19 กระจกเงา” เปิดให้ประชาชนที่เดือดร้อนมาลงทะเบียน เพื่อจัดส่งชุดยังชีพไปให้   และจ้างงานคนที่ตกงานในชุมชนมาแพ็คของจัดส่งชุดยังชีพไปให้ครอบครัวที่เดือนร้อน รายละเอียดที่ https://bit.ly/2ZrpexK เป้าหมายระดมทุน 660,000 บาท เพื่อสนับสนุนการจ้างงาน แก่ผู้ตกงานจากวิกฤติโควิด-19 จำนวน 50 คนต่อวัน เพื่อให้คนเหล่านี้มีอาชีพและรายได้เลี้ยงครอบครัว พร้อมทำให้คนที่รอรับถุงยังชีพกว่า15,000 ครอบครัวได้รับการช่วยเหลือที่เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ท่านสามารถพิจารณาให้การสนับสนุนด้วยการ (1) สัมภาษณ์มูลนิธิกระจกเงา หรือคณะทำงานเทใจ      (2) เผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ (ตัวอย่างข้อความและภาพประกอบตามเอกสารแนบ) เพื่อเชิญชวนคนไทยให้มาร่วมแบ่งปัน และสนับสนุนการจ้างงานคนในชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนตกงานอีกจำนวนมาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net