Skip to main content
sharethis
 

ตอนที่ 2 ของซีรีส์ความรุนแรงทางเพศ ชวนทบทวนว่าอะไรบ้างนับเป็นความรุนแรงทางเพศ เราเคยเป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำหรือไม่ เมื่อหลักใหญ่ที่ต้องยึดคือ ความยินยอมพร้อมใจ, ความรู้สึกจากฝ่ายถูกกระทำ และบริบทแวดล้อม ขณะที่สังคมไทยยังมองความรุนแรงทางเพศเป็นเรื่องปกติ อันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมการข่มขืน

#1: หนึ่งร้อยปีแห่งประวัติศาสตร์การข่มขืนในไทยที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงใต้กรอบ 'ผู้หญิงที่ดี'

#3: 'เข้มแข็งไม่พอ ก็เป็นนักกิจกรรมไม่ได้' คำตอบต่อการถูกคุกคามทางเพศ?

#4: ความเงียบอันขมขื่นในที่ทำงาน เมื่อปัญหาคุกคามทางเพศถูกซุกไว้ใต้พรม

#5: กม.ความรุนแรงทางเพศ แม้โทษแรงขึ้น เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ก็คุ้มครองไม่ได้

 

 

จากข่าวความรุนแรงทางเพศมากมายบนหน้าสื่อทั้งออนไลน์ออฟไลน์ จนถึงกรณีล่าสุดที่ครูและรุ่นพี่ข่มขืนนักเรียนหญิงวัย 14 ติดต่อกันเป็นปี ที่จังหวัดมุกดาหาร ขอยกตัวอย่างเรื่องราวตั้งแต่เด็กจนโตของ นางสาว ก. (นามสมมติ) ปัจจุบันอายุ 32 ปี อาชีพฟรีแลนซ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนๆ หนึ่งอาจต้องเผชิญกับความรุนแรงทางเพศตั้งแต่เด็กจนโต ตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงวัยทำงาน

นางสาว ก. ยืนยันว่าการคุกคามทางเพศที่เธอเจอนั้นมาจากคนใกล้ตัวทั้งสิ้น และการถูกคุกคามทางเพศในวัยเด็กได้กลายเป็นแผลในใจที่มีผลต่อชีวิตของเธอในทุกวันนี้

 

บาดแผลวัยเด็ก

“สมัยอนุบาล ลุงเขยชอบลากเราไปแล้วเอามือจับ ‘ตรงนั้น’ ของเรา ตอนนั้นยังเด็ก ไม่รู้ความ แต่เป็นความรู้สึกว่าไม่ชอบให้ใครมาโดนตรงนั้น มันเป็นที่ที่เรารู้สึกว่าใครก็ตามไม่ควรมาแตะ น้องชายเราก็โดนลากไปทำเหมือนกัน เราก็เห็น เรารู้สึกว่าปกป้องน้องชายไม่ได้ ซึ่งเป็นตราบาปของเราตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้้เวลาเข้าใกล้ผู้ชายแล้วจะมีภาวะไม่ชอบ เวลาโดนแตะตัวจะรู้สึกแอนตี้ทันที

“เราต้องอยู่บ้านเดียวกับเขาเพราะเป็นครอบครัวใหญ่ พอเราโตเป็นสาวหน่อย ก็จะรู้สึกมีปัญหากับสายตาเขาเวลามองมา เราต้องนั่งมองหน้าเขาทุกเย็นเวลากินข้าว แล้วก็จำได้ว่าเขาเคยทำอะไรเราไว้ แต่เขาก็ดูแลเราดี ไม่ได้ตะคอก ไม่ได้ขู่ เขาให้ความช่วยเหลือ สอนทำการบ้าน แต่ก็จะทำแบบนั้นบ่อย จนเราโตประมาณประถม เขาก็เลิกไปเอง

“ตอนโตต้องมาบำบัด ปรึกษาหมอ หมอก็บอกว่าเป็นไปได้ที่คุณจะมีภาวะทางจิต เหตุการณ์ตอนเด็กๆ เป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก เราก็กินยาไป แต่ก่อนเราไม่อยากพูดถึงมัน แต่พอบำบัดเรารู้สึกว่าบางทีเราอาจต้องเผชิญหน้ากับมันตรงๆ เพื่อสู้มัน เราต้องบอกตัวเองก่อนว่าเราไม่ผิดที่เราโดนแบบนั้น และเราไม่ได้ผิดที่ปกป้องน้องไม่ได้ ซึ่งอันนี้เป็นแผลใหญ่มาก

“จนถึงตอนนี้กล้าพูดว่ามันอาจเป็นแผลในใจจนตาย แต่มันก็ปลดล็อกไปได้ประมาณหนึ่ง”

 

เซ็กส์ครั้งแรกคือการใช้กำลัง

”ตอนมีแฟนคนแรก มีอะไรกันครั้งแรก เราไม่ได้อยาก แต่เขาใช้กำลังกับเรา ซึ่งพอมันใช้ความเป็นเพศชายมา Dominate (ควบคุม) เราก็จะสมยอมแบบตัวเกร็งๆ เหมือนในหนัง แล้วตั้งแต่นั้นเวลามีแฟน คนที่ช่างสังเกตหน่อยจะรู้ว่าไม่ควรเข้าหาเราแบบจู่โจม ไม่ชอบแม้กระทั่งการจ๊ะเอ๋ หรือเวลามีคนกระชากตัวเราให้หลบรถ เราก็จะตกใจมันมากกว่ารถที่จะชนเราอีก”

 

การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

“ตอนทำงาน เราไปปาร์ตี้กับเพื่อนที่ทำงาน แล้ววันนั้นเราเมามาก รุ่นพี่ที่เราเคารพคนหนึ่งเดินมาส่งเรา ระหว่างที่เดิน มันมืดมาก รู้ตัวอีกทีเราลงไปนอนวัดพื้นแล้ว ตอนแรกนึกว่าโดนจับทุ่มด้วย แต่จริงๆ คือโดนเขาจับกด แล้วเขาก็จูบ จับนม แล้วก็ล้วงเรา เราตื่นมาด้วยอาการวิตกจริตว่าโดนเอารึเปล่าวะ แต่ไม่ เพราะเราเป็นเมนส์ เราไม่เคยคิดเลยว่าพี่เขาจะทำแบบนั้น แล้วเขาก็มีลูกมีเมียแล้ว”

“หรืออีกเหตุการณ์คือไปกินเบียร์กับที่ทำงาน แล้วก็เมากันทุกคน มีคนลุกออกไปเหลือไม่กี่คน เพื่อนร่วมงานที่นั่งอยู่ข้างๆ เราหันมาหอมแก้มเรา ในความรู้สึกคือ เราจะเอาเรื่องกับคนเมาเหรอวะ แล้วเราจะโวยวายใส่เขาตอนนั้นที่ทุกคนสภาพเมาๆ หมดแล้วเหรอวะ แล้วเขาก็ทำเป็นไม่รู้เรื่องใส่เรา เราก็ลุกหนี วันนั้นก็จิตตก ต้องเอายากรอกปากนอน”

“เคยเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ใครฟังไหม” เราถามเธอ

“เรื่องแบบนี้คนจะคิดว่ามันไม่ได้ร้ายแรงขนาดข่มขืน ต่อให้เราเชื่อว่าผู้หญิงควรพูด แต่เอาเข้าจริงมันแหกปากลำบาก อย่างเรื่องวัยเด็กมันเป็นเรื่องน่าอายมาจนถึงตอนนี้ คนที่ทำอันตรายคือคนใกล้ตัว คือผู้ชายในบ้าน คือรุ่นพี่ที่เราไว้ใจ ไม่เคยคิดเลยว่าเขาจะทำ เราสงสัยว่าเราไปให้ท่าใครรึเปล่า ทำไมเราโดนเรื่องนี้บ่อย พอเล่าให้หมอฟัง หมอก็บอกว่าคนที่เจอเรื่องแบบนี้มักจะโทษตัวเองเกินเรื่อง ต่อให้เราให้ท่า เขาก็ไม่มีสิทธิมาทำอะไรถ้าเราไม่โอเค เราต้องบอกตัวเองว่าเราไม่ผิดอะไรเลย ไม่ผิดด้วยที่จะกลับบ้านดึกๆ” เธอตอบ

 

000000

 

ลองคิดดูว่าตั้งแต่เด็กจนโต เราทุกคนอาจต้องผ่านประสบการณ์แบบนี้ไม่มากก็น้อย บางคนเลือกที่จะมองข้าม หรือเป็นเรื่องน่าอายที่จะเล่าให้ใครฟัง แต่ก็เฝ้าถามตัวเองว่าหรือฉันทำอะไรผิดไป บางคนอยากลืมมันไปเพราะเป็นบาดแผลกระทบใจใหญ่หลวงที่สร้างความหวาดระแวงอย่างไม่รู้จบให้ชีวิต

หลายคนอาจผ่านตาสถิติน่าสนใจ ปี 2556 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลพบว่า จากสถิติการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า การกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กมีแนวโน้มสูงขึ้น ในปี 56 มีจำนวน 31,866 ราย เฉลี่ยวันละ 87 ราย หรือทุกๆ 15 นาที จะมีผู้หญิงและเด็กถูกทำร้าย 1 คน

ต่อมาปี 2560 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศในรอบปีจากหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ พบว่า เกิดเหตุความรุนแรงทางเพศทั้งหมด 317 ข่าว ซึ่งช่วงอายุของผู้ถูกกระทำเกินครึ่งเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 5 ถึง 20 ปี มีถึงร้อยละ 60.6 รองลงมาอายุ 41 ถึง 60 ปีร้อยละ 30.9 ที่น่ากังวลใจ คือ อายุของผู้ถูกกระททำน้อยที่สุด เป็นเด็กหญิง 5 ขวบ ถูกข่มขืน และมากที่สุด 90 ปี มีผู้เสียชีวิต 20 ราย

ด้านกลุ่มอาชีพผู้ถูกกระทำมากที่สุดคือ นักเรียน นักศึกษา ถึงร้อยละ 60.9 ผู้กระทำความรุนแรงกว่าครึ่งเป็นคนรู้จักคุ้นเคย หรือบุคคลในครอบครัวกว่าร้อยละ 53 รองลงมาเป็นคนแปลกหน้า ไม่รู้จักกันร้อยละ 38.2 และคนที่รู้จักกันผ่านโซเชียลมีเดียร้อยละ 8.8 โดยอายุของผู้กระทำที่น้อยที่สุดคือ 12 ปีซึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศมากที่สุดคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึงร้อยละ 31.1 รองลงมาอ้างว่า มีอารมณ์ทางเพศร้อยละ 28

นี่คือสถิติเท่าที่หาได้ 

“ไทยไม่เคยมีสถิติเพราะไม่เคยทำวิจัยเรื่องพวกนี้จริงจัง” กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว เช่นเดียวกับ วิภาพรรณ วงษ์สว่าง แอดมินเพจเฟสุบ๊ค Thaiconsent ซึ่งเล่าว่าเคยพยายาหาสถิติคดีการคุกคามทางเพศและการข่มขืน ไปจนถึงสถิติที่มีคนโทรไปปรึกษากับสายด่วนหน่วยงานร้องทุกข์ แต่ก็ไม่พบ ทั้งที่นี่คือแหล่งข้อมูลปฐมภูมิที่สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อยอดได้อีกหลายอย่าง

 


กฤตยา อาชวนิจกุล

 


วิภาพรรณ วงษ์สว่าง

 

ถ้าทุกคนบอกว่าอยากอยู่ในสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกเหนือจากการกินดี อยู่ดี มีรัฐสวัสดิการรองรับ ความรุนแรงทางเพศที่หมายรวมถึงการคุกคามทางเพศและการข่มขืน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ชี้วัดเรื่องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจากสถิติแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงทางเพศในสังคมไทยยังไม่ได้รับการแก้ไข ตั้งแต่ทัศนคติของคนในสังคม ไปจนถึงการขยับเรื่องนี้ให้มีผลทางการเมือง สู่การแก้ไขเชิงโครงสร้าง 

ก่อนไปถึงตรงนั้นชวนอ่านทบทวนก่อนว่าอะไรบ้างที่นับเป็นความรุนแรงทางเพศ เราเคยเป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำหรือไม่

 

หลักสำคัญคือ consent, ความรู้สึกจากฝ่ายถูกกระทำ และบริบท

“อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเรื่องการคุกคามทางเพศ หลักของมันคือ consent หรือการยินยอมพร้อมใจ ขณะเดียวกันฝ่ายที่ถูกกระทำต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าขณะนั้นรู้สึกยังไงบ้าง รู้สึกอึดอัดไหม รู้สึกไม่สบายใจไหม” กฤตยาสรุปใจความเมื่อเราถามถึงคำนิยามของการคุกคามทางเพศ

วิภาพรรณ เสริมว่า ตัวชี้วัดมันไม่ได้อยู่ที่นิยาม แต่อยู่ที่ความรู้สึกของคนที่ถูกคุกคาม บางคนอาจอ่อนไหวมาก บางคนไม่ ซึ่งหมายความว่ามันไม่มีมาตรฐานตรงกลาง สิ่งที่จำเป็นมากในสังคมคือการสื่อสาร ถามไถ่ ไปจนถึงสังเกตว่าขนาดไหนถึงจะพอดี

“คุกคามทางเพศมันหมายถึงอะไรก็ตามที่ทำให้คนรู้สึกไม่สบายใจ ถูกคุกคาม ไม่ปลอดภัยในทางเพศ ขอบข่ายมันใหญ่มาก เช่น ถ้าเราแซวใครสักคนด้วยคำพูด หรือถูกมองนานๆ แค่นี้ก็อาจเป็นการคุกคามทางเพศแล้ว หรือการแตะเนื้อต้องตัว การแอบถ่าย ในส่วนที่เขารู้สึกไม่สบายใจ กระทั่งการเป็นแฟนกันแล้วมีเซ็กส์กัน แล้ววันหนึ่งแอบถอดถุงยางออก อันนี้ก็คือการละเมิดทางเพศกัน คือการทำในสิ่งที่ไม่ได้ตกลงกัน มีการใช้อำนาจ คิดแทนอีกฝ่าย ไม่ถามความสมัครใจ นี่ก็คือการคุกคามทางเพศ” วิภาพรรณกล่าว

นอกจากนี้ยังต้องดูบริบทแวดล้อมที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์นั้นด้วย เช่น กรณีนักศึกษาที่นอนกับอาจารย์เพื่อแลกเกรด วิภาพรรณระบุว่า ต้องดูบริบทว่ามีลักษณะที่อาจารย์กดเกรดเด็กคนนี้เป็นพิเศษด้วยหรือไม่

"แม้นักศึกษาอาจจะดูเหมือนเต็มใจยอมไปนอนแลกเกรด แต่ถ้าอาจารย์ไม่กดเกรดแต่แรก เขาจะยอมไปนอนแลกเกรดไหม หรือหากนักศึกษาคนหนึ่ง ไม่ได้ถูกเอาเปรียบอะไรจากอาจารย์เลย แต่อยากสบายขึ้นก็เลยเลือกที่จะไปนอนแลกเกรด แม้ไม่มีใครถูกบังคับ แต่เมื่ออำนาจของทั้งสองฝ่ายไม่เท่ากันแต่แรก ก็อาจกลายเป็นลักษณะของการหาผลประโยชน์อันเนื่องมาจากอำนาจที่ไม่เท่ากัน หากเป็นความสมัครใจจริงต้องลบสถานะทางอำนาจออก เช่น คิดว่าถ้าเขาไม่ใช่อาจารย์ ไม่มีคะแนนมาเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนแล้ว นักศึกษาคนนั้นยังจะไปนอนกับเขาไหม"

วิภาพรรณยังเห็นว่า การคุกคามทางเพศกับการข่มขืนไม่ควรแยกออกจากกัน เพราะไม่ว่าจะระดับไหนก็ล้วนสร้างความเสียหายแก่ตัวผู้ถูกกระทำ และเป็นความรุนแรงทางเพศทั้งสิ้น

 

ข่มขืน-คุกคามทางเพศ ‘อำนาจนิยม’ และสังคมแห่งการเดา

แล้วทำไมสังคมเรายังไม่เข้าใจเรื่อง consent กันนัก คำตอบที่เหมือนกันของทั้งคู่คือคำว่า ‘อำนาจ’

กฤตยาชี้ว่า consent ไม่มีอยู่ในวิธีคิดแบบระบอบอุปถัมภ์แบบไทย สังคมไทยหรือผู้มีอำนาจในไทยเข้าใจเรื่อง consent ยากมาก เนื่องจากคนที่อยู่ในสถานะที่มีอำนาจ มีอภิสิทธิ์ นั้นได้ประโยชน์ และส่วนใหญ่อยากรักษาอภิสิทธิ์ตัวเองไว้ มีจำนวนน้อยมากที่จะรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง 

กฤติยากล่าวต่อว่า โลกแห่งความจริงคนเรามีอำนาจไม่เท่ากัน เช่น ลูกมีอำนาจน้อยกว่าพ่อแม่ นักเรียนมีอำนาจน้อยกว่าครู พนักงานมีอำนาจน้อยกว่านายจ้าง ผู้หญิงอาจมีอำนาจน้อยกว่าผู้ชายในแง่พละกำลัง เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการละเมิดซึ่งรวมถึงการละเมิดทางเพศ ที่มักเกิดจากฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าสามารถควบคุมอีกฝ่ายหนึ่งได้ 

“ลักษณะอำนาจเหล่านี้มีความซับซ้อน บางทีเรามองไม่ออกว่ามันเป็นการใช้อำนาจ ความรักก็เป็นอำนาจอย่างหนึ่ง เช่น ผู้หญิงรักกับผู้ชาย งานวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศมีลักษณะว่าหลายครั้งผู้หญิงยังไม่มี consent ที่จะมีเพศสัมพันธ์ แต่ผู้ชายก็จะ ‘ฝืนใจ’ ทั้งหมดนี้คือละเมิดทางเพศ”

“consent ต้องดูกันเป็นขั้นๆ ในช่วงเวลานั้นๆ ต่อให้ผู้หญิงชวนผู้ชายไปกินเหล้า หรือชวนไปมีเพศสัมพันธ์ด้วยซ้ำ แต่พอถึงเวลาจะมีอะไรกันขึ้นมาจริงๆ ผู้หญิงปฏิเสธ แล้วผู้ชายยังพยายามจะทำอยู่เพราะรู้สึกว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายชวนมาเอง พยายามจะเอาให้ได้ อันนี้ก็ยังถือเป็นการข่มขืน หรือต่อให้คุณเป็นผัวเมียกัน คุณเคยมีเซ็กส์ด้วยกัน แต่ถ้าวันหนึ่งภรรยาไม่อยากมีเซ็กส์ แล้วคุณใช้วิธีการต่างๆ มีเซ็กส์กับภรรยา นี่ก็ถือเป็นการข่มขืน” กฤตยากล่าว

ขณะที่วิภาพรรณเสริมว่าการข่มขืนและการคุกคามทางเพศนั้นมีสาเหตุมาจากอำนาจที่เหนือกว่าเหมือนกัน แต่คนอาจมองสองอย่างนี้ต่างกัน เช่นเดียวกับที่คนอาจรู้สึกโกรธเมื่อทหารรัฐประหารยึดอำนาจแต่อาจจะเห็นด้วยกับระบบโซตัส ทั้งที่มันคือเรื่องเดียวกัน 

นอกจากนี้วิภาพรรณยังเห็นว่า สังคมไทยไม่ใช่สังคมแห่งการถาม แต่เป็นสังคมแห่งการเดา

“ตั้งแต่เรียนหนังสือในห้อง เด็กไม่กล้าถามครูเรื่องที่สงสัย ต้องไปเดาเอาเอง ถามเพื่อนทีหลัง หรือในความสัมพันธ์ระหว่างแฟน มันไม่มีวัฒนธรรมการถาม เขารู้สึกยังไง ต้องการอะไร เขานอกใจเรารึเปล่า เราต้องไปสืบเอาเอง ต้องมานั่งเดา มันอยู่กับการคิดแทนคนอื่นตลอดทั้งชีวิต พ่อแม่คิดแทนลูก ครูคิดแทนเด็ก คนมีอำนาจคิดแทนคนมีอำนาจน้อยกว่า รัฐบาลคิดแทนประชาชน มันไม่มีวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยน ดังนั้นพอเป็นเรื่อง consent ซึ่งต้องใช้การแลกเปลี่ยน และอำนาจที่เท่าๆ กัน เมื่ออยู่ในสังคมไทยที่การคิดแทนเป็นเรื่องปกติ มันจึงไม่เวิร์ค” วิภาพรรณกล่าว

 

มองความรุนแรงทางเพศเป็นเรื่องปกติ รากฐานวัฒนธรรมการข่มขืน


ภาพปีรามิดนำเสนอรากฐานของวัฒนธรรมการ จากเพจ Thaiconsent

วิภาพรรณอธิบายปีรามิดที่นำเสนอรากฐานของวัฒนธรรมการข่มขืนว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการคุกคามทางเพศจนนำไปสู่การข่มขืนนั้นมาจาก ขั้นแรกคือสังคมที่เพิกเฉย ยอมรับความรุนแรงทางเพศว่าเป็นเรื่องปกติ ใครๆ ก็ทำกัน ดังนั้นจึงสามารถทำกับคนอื่นได้ โดยเฉพาะคนที่ปกป้องตัวเองได้ไม่ดีพอ หรือไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ เช่น ถ้าไม่ใช่ผู้หญิงที่ดีก็สามารถละเมิดได้ ไม่มีใครรู้เห็นก็สามารถละเมิดได้ 

นำไปสู่ขั้นที่สอง คือการลดคุณค่าของอีกฝ่าย ด้วยวิธีคิดว่า เขาป้องกันตัวเองไม่ได้และไม่มีปัญญาเอาคืนแน่ๆ เพื่อตอบสนองความรู้สึก "เหนือกว่า" ของผู้กระทำ เช่น การส่งรูปโป๊ให้โดยไม่ได้ขอ ตามตื๊อ การสตอล์ค ทำตัวสนิทสนมเกินเลยจนอีกฝ่ายลำบากใจ หรือใช้วาจาคุกคาม แซวแบบน่ากลัว เพราะต่อให้อีกฝ่ายไม่พอใจ ผู้คุกคามก็สามารถพูดได้ว่า "มันยังไม่ได้รุนแรงขนาดนั้นหนิ" "เธอแหละคิดมากไป" "ใครๆ ก็ทำกัน"

เมื่อไม่มีใครห้ามหรือว่าอะไร ในขั้นถัดมาคือการลดอำนาจของอีกฝ่าย เกิดจากความชินชาในขั้นหนึ่งและขั้นสอง จนทำให้คิดว่า "ต่อให้เธอไม่โอเค ฉันก็จะทำให้เธอโอเคให้ได้" "เธอน่าจะชอบ" "เธอน่าจะโอเค" การคิดแทนเหล่านี้แสดงออกผ่านการการบังคับทางเพศด้วยเทคนิคต่างๆ มอมเหล้ามอมยา ข่มขู่ สัมผัสโดยอีกฝ่ายไม่ยอม หรือต่อให้อีกฝ่ายแสดงสัญญาณปฏิเสธก็ยืนยันที่จะทำต่อไปเพราะมั่นใจมากๆ ว่าอีกฝ่ายไม่มีทางสู้ตัวเองได้ หรือไม่ก็มั่นใจมากๆ ว่าเดี๋ยวอีกฝ่ายก็จะชอบ

และนั่นจึงนำไปสู่ใช้ความรุนแรงที่เห็นได้ด้วยตา คือ ข่มขืน รุมโทรม ลวนลาม กระทำรุนแรง ไปจนถึงการฆ่า

 

 

ผู้กระทำ ไม่รู้ตัวว่าผิด-ไม่รู้สึกผิดต่อเหยื่อ 

วิภาพรรณแบ่งผู้กระทำเป็นสองแบบ คือ คือแบบที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นสิ่งผิดปกติแล้วทำ และแบบที่รู้ตัวแต่ยังทำ

“ยกตัวอย่างเช่น ผัวเมียตีกัน เขารู้สึกว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ใครก็ทำ หรือคนที่มอมเหล้าแฟนเพื่อขอมีเซ็กส์อันนี้เขาก็เรียนรู้มาว่าสิ่งนี้ปกติ จากการพูดคุย จากสื่อ แล้วพอทำไปแล้วเหยื่อก็ดูไม่มีปัญหาอะไร ทั้งที่เหยื่ออาจจะมีปัญหา แต่สิ่งเหล่านี้มาจากการที่สังคมบอกเขาว่าทำได้ ถ้าเหยื่อไม่โวยวายหรือมีปัญหาอะไร” วิภาพรรณกล่าว

กับอีกแบบคือรู้ว่าผิดแต่คิดว่าทำได้จากภาวะความไร้อำนาจของเหยื่อ โดยวิภาพรรณยกตัวอย่างจดหมายสำนึกผิดของเด็กในบ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งทำผิดในข้อหาข่มขืน 

“จดหมายทั้งฉบับของเขา ขอโทษตัวเองที่ทำให้ตัวเองต้องมาอยู่ตรงนี้ ขอโทษพ่อแม่ที่ทำให้พ่อแม่ลำบาก แต่ไม่มีท่อนไหนเลยพูดถึงเหยื่อ เพราะฉะนั้นความคิดเขาคือถ้าทำแล้วไม่โดนจับได้ก็คือทำได้ รู้ว่ายังไงเหยื่อก็พูดยาก มันคือการลักไก่กับภาวะไร้อำนาจของเหยื่อ ทำไมเขาถึงทำ เพราะเขามีโอกาส และไม่มีอะไรกระทบอำนาจที่เขามีอยู่ เขาจะไม่มีปัญหาอะไรทีหลัง” วิภาพรรณกล่าว

 

#metoo ที่ไม่เคยเป็นกระแสในไทย 

กฤตยามองว่า กระแส #metoo ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนั้นไม่เคยเป็นกระแสในประเทศไทย เพราะกระแสหรือขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้ต้องมีขบวนการขับเคลื่อน มีสารที่จะส่ง แต่ในไทยยังมีเฉพาะเรื่องเล่า ไม่มีการขับเคลื่อน 

กฤตยาเห็นว่า แม้เรื่องความรุนแรงทางเพศจะเป็นเรื่องใหญ่อันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย แต่การขับเคลื่อนเรื่องเพศในสังคมไทยทำได้ยาก ที่ทำได้คือขับเคลื่อนเรื่องความรุนแรงทางเพศเพื่อปกป้องเด็ก อย่างนักเรียนในจังหวัดมุกดาหารที่ถูกครูละเมิด สังคมส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าผิด แต่ถ้าเป็นเรื่องการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เช่นกรณีหญิงสาวที่กล่าวหาอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยว่าข่มขืนตน แล้วเก็บหลักฐานไว้ สังคมก็ยังคิดว่าหญิงสาวคนนี้สมยอม 

“เพราะฉะนั้นกระแส #metoo ในไทย จึงยังไม่มีผู้หญิงลุกขึ้นมาสู้ด้วยตัวเอง มีคนเชื่อแล้วร่วมขับเคลื่อนกับคนๆ นั้น หรืออย่างเพจ Thaiconsent ซึ่งดีมาก แต่คนในทุกวงการยังไม่ได้ออกมาพูด และยังไม่ได้เข้าไปสู่สื่อกระแสหลัก ไม่ได้เข้าไปสู่การถกเถียงในหลายๆแวดวง” กฤตยากล่าว 

 

กรณีของหญิงสาวคนดังกล่าว ศาลฎีกาพิพากษามีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี และถือว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาท สมบัติ อุทัยสาง อดีต รมช.มหาดไทย ให้จำคุก 1 ปี รวมโทษจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ เป็นภัยต่อสังคม และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่นายสมบัติ 1 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมถึงลงโฆษณาคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับ เป็นเวลา 10 วัน อ่านต่อได้ที่: https://www.posttoday.com/social/general/342458

 

ขณะที่วิภาพรรณถามกลับว่า กระแสในเมืองไทยมีอะไรที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้จริงบ้าง แม้เราจะโกรธกันบ่อยเหลือเกินในโซเชียลมีเดีย และขณะเดียวกันการออกมาพูดในที่สาธารณะเรื่องการถูกข่มขืนเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความกล้าหาญมากขึ้นไปอีก เพราะมันคือการสู้กับอำนาจในระยะประชิด 

“ขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้นอำนาจอยู่ในระยะไกล แต่การข่มขืนส่วนมากผู้กระทำเป็นคนใกล้ตัวทั้งนั้น นั่นจึงหมายถึงการกระทบความสัมพันธ์ เปลี่ยนวิถีชีวิต หรือกระทั่งเปลี่ยนสถานะทางเศรษฐกิจของตัวเองด้วยซ้ำ มันไม่มีอะไรรับประกันว่าการออกมาเคลื่อนไหวมันจะเปลี่ยนอะไรในเชิงโครงสร้าง เพราะการออกมาแสดงความเห็นในเรื่องอื่นๆ ที่ทำได้ง่ายกว่ายังไม่เกิดผลลัพธ์เลย” 

 

เมื่อการข่มขืนถูกทำให้เป็นเรื่องระหว่างบุคคล จึงไม่ต้องแก้เชิงโครงสร้าง

“พูดไปแล้วคุ้มพูดไหม กลไกรองรับของประเทศเราพร้อมไหม ถ้าคุณอยู่ในประเทศที่ถึงพูดให้ตาย อำนาจก็ยังสามารถเมินเฉยคุณได้ คุณก็เท่ากับเจ็บตัวฟรีไปเลย ไม่มีกลไกทางการเมืองมารองรับคุณ” วิภาพรรณระบุ

วิภาพรรณยกตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศส เมื่อผู้หญิงหนึ่งคนถูกฆ่าตาย มีคนออกมาประท้วงประมาณ 200 กว่าคน ซึ่งแม้ไม่ใช่จำนวนที่เยอะ แต่เป็นข่าวใหญ่โต และกระทบถึงเลือกตั้งในท้องถิ่น เพราะแปลว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่มีความปลอดภัย นายกเทศมนตรีดูแลบริหารงานแย่  

“นี่เป็นกลไกที่การเมืองท้องถิ่นช่วยเข้ามาจัดการ หากไม่จัดการเรื่องนี้ ในสมัยหน้าคุณก็อาจจะไม่ได้รับเลือกตั้งอีก ทำให้เกิดการแข่งขันกัน เกิดการเคลื่อนไหว เป็นตัวชี้วัดความพอใจในการบริหารของผู้นำ แต่ในไทยทำอะไรไม่ได้เลย เพราะมันไปไม่ถึงปลายทางที่เป็นอำนาจที่ต้องจัดการเรื่องนี้” วิภาพรรณกล่าว

ที่เหตุการณ์เหล่านี้ไม่เคยไปกระทบผู้มีอำนาจเลย วิภาพรรณมองว่า เนื่องจากทุกความขัดแย้งระหว่างประชาชน โดยเฉพาะการคุกคามทางเพศและการข่มขืน ถูกทำให้เป็นเรื่องระหว่างบุคคล ไม่ใช่เรื่องที่รัฐมีหน้าที่แก้ไขปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือนโยบาย 

“อาชญกรรม ปล้นชิงวิ่งราว ผัวเมียทะเลาะ คนชกต่อยกัน คนถูกข่มขืน มันเป็นเรื่องระหว่างบุคคลแล้วจบที่ศาล กลไกในเมืองไทยคุณทำได้อย่างมากคือบอกว่าไม่พอใจ แต่มันไม่ไปกระทบกับคนที่อยู่ในอำนาจ แล้วเขาจะลงมาแก้ไขทำไม เพราะเดี๋ยววันหนึ่งคนก็ลืม แต่คนที่จะอยู่กับปัญหาต่อไปคือคนออกมาพูด เสียงของประชาชนไม่มีความหมายกับรัฐเลย เพราะกลไกมันไม่ได้นำเอาเสียงของประชาชนมาใส่ในสมการตั้งแต่แรก”

“เอาแค่ ผอ. โรงเรียนในจังหวัดมุกดาหารนั้น กระทบตำแหน่งหน้าที่ของ ผอ. ไหม ก็ไม่ กระทรวงศึกษาก็จะบอกว่าไม่เกี่ยวกับกระทรวง คนพวกนี้ไม่ใช่ครู เป็นอาชญกรในร่างครู เขาไม่นับว่านี่คือข้อบกพร่องที่เกิดจากโครงสร้าง มันถูกผลักให้เป็นเรื่องของคนชั่วที่กระทำต่อคนดี ครูข่มขืนนักเรียน เป็นปัญหาระหว่างครูกับเด็ก ไม่ได้เกิดจากนโยบายของโรงเรียนที่แย่ คนรับผิดชอบคือผู้กระทำ แต่โครงสร้างอำนาจที่อยู่รอบๆ ไม่รับผิดชอบด้วย เราจะเอาคนเข้าคุกได้เป็นครั้งๆ พักงานได้เป็นคนๆ แต่ระบบจะเหมือนเดิม” วิภาพรรณกล่าว

 

ต้องแก้ทัศนคติและโครงสร้างไปพร้อมกัน 

ข้อเสนอของวิภาพรรณคือหลักสูตรเพศศึกษาในระบบการศึกษา ที่ต้องสอนให้รู้จัก consent และการเคารพคนอื่น เลิกคิดแทนกัน เลิกผลิตซ้ำความคิดแบบอำนาจนิยม ควบคู่ไปกับการใช้ soft power (อำนาจอ่อน) สร้างการเรียนรู้ในสังคม นั่นหมายถึงสื่อต่างๆ ต้องมีองค์ความรู้เหล่านี้อย่างถูกต้อง และเผยแพร่เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อออนไลน์ เพราะทุกวันนี้เราเรียนรู้เรื่องเพศจากหนังโป๊ จากเพื่อน จากสื่อ มากกว่าที่จะเรียนจากพ่อแม่หรือโรงเรียน 

วิภาพรรณยกตัวอย่างที่ฝรั่งเศส เยอรมัน แก้ไขด้วยการจัดสรรงบประมาณให้องค์กรที่ทำเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศเป็นวาระใหญ่ ได้งบมาประมาณ 300 ล้านยูโร ซึ่งนำไปสร้างบ้านพักฉุกเฉิน อบรมตำรวจ หมอ พยาบาล ครู และทุกคนที่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังออกกระทรวงที่บังคับใช้อย่างเป็นระบบ มีสื่อที่พร้อมจะพูดเรื่องนี้ มีองค์ความรู้ค่อนข้างมาก มีนักกิจกรรมช่วยขับเคลื่อน 

“การจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องใช้ หนึ่ง อำนาจบังคับใช้ สองมีคนเข้าใจเรื่องนี้และทำงานเรื่องนี้เยอะขึ้น สามมีเงินมารันให้เกิดอำนาจและคน สี่ตัวชี้วัด และการพูดเรื่องนี้ไม่ใช่พูดในเชิงศีลธรรม ว่าห้ามทำ แต่มันคือการพูดว่าชีวิตเราจะดีขึ้นรึเปล่า ถ้าเราเป็นคนเคารพคนอื่น”

“เวลาพูดถึงเรื่องเซ็กส์ในสังคมไทย มันคือเรื่องเสียว แต่เรามีบทสนทนาเกี่ยวกับเซ็กส์ในแง่มุมอื่นๆ น้อยมาก อะไรคือเซ็กส์ที่ดี เซ็กส์ที่มีความหมายกับชีวิต เราคุยเรื่อง perfomance (การแสดง) แต่ไม่คุยเรื่อง story (เรื่องราว) หรือ meaning (ความหมาย) มันประกอบให้เป็นความทรงจำของคนๆ หนึ่งได้ยังไง ตอนนี้ต่อให้เราแก้ไขโครงสร้างได้ แต่ถ้าทัศนคติของคนยังไม่เปลี่ยน มันก็เหมือนการเอาอะไรมายัดเยียดให้เขา ดังนั้นทั้งโครงสร้างและทัศนคติต้องเปลี่ยนไปพร้อมกัน” วิภาพรรณกล่าวทิ้งท้าย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net