ความตายที่เงียบงัน: 29 ศพ ก่อนรัฐประหาร 57 - เปิดผลไต่สวนการตาย 4 กปปส.  

เปิดคำสั่งในการไต่สวนการตาย 4 ผู้ชุมนุม กปปส. ธนูศักดิ์ รัตนคช ศรัทธา แซ่ด่าน จีรพงษ์ ฉุยฉาย สุพจน์ บุญรุ่ง โดนศาลสั่งว่า ไม่อาจระบุได้ว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 4 ถึงแก่ความตาย 

ก่อนเกิดการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ปรากฏความขัดแย้งทางการเมืองที่มีการใช้ความรุนแรงในหลายรูปแบบ ทั้งการสลายการชุมนุมด้วยอาวุธพร้อมกระสุนจริง การปะทะกันด้วยอาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธของผู้ชุมนุมสองฝ่าย การลอบสังหาร ข่มขู่ด้วยอาวุธในหลายเหตุการณ์ นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนคนไทยทุกฝ่ายทั้งผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนทั่วไป อันเกิดจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หรือเพื่อต้องการเห็นประเทศไทยดีขึ้นตามทัศนะของตนเอง

ในความสูญเสียของมวลชนผู้ชุมนุมจากความรุนแรงทางการเมือง ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535, 7 ตุลาคม 2551 (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย - พธม.), เมษายน 2552 และ 10 เมษายน - พฤษภาคม 2553 (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ - นปช.) มักมีการรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันครบรอบการสูญเสีย มีการรำลึกและค้นหาความจริงด้วยการพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ มีการจัดตั้งอนุสรณ์สถานหรือประติมากรรมรำลึก (ตั้งแต่กรณี 14 ตุลาฯ - พฤษภาฯ 2535) มีการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และความพยายามในการต่อสู้คดีเพื่อเอาผิดกับผู้ก่อเหตุ เป็นต้น

ทว่า ในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองก่อนการรัฐประหาร 2557 อันมีที่มาจากการชุมนุมของ กปปส. ซึ่งเริ่มต้นจากการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง ลุกลามไปถึงการโค่น “ระบอบทักษิณ” และขัดขวางการเลือกตั้ง เมื่อสำรวจตรวจสอบเปรียบเทียบกับเหตุการณ์อื่น อาจเกิดคำถามได้ว่าการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตเหล่านั้น มีอยู่น้อยเกินไปหรือไม่จากแกนนำและบุคคลสำคัญในการชุมนุมของ กปปส. เอง นอกจากการที่แกนนำ กปปส. ได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตในโอกาสครบรอบ 6 ปี เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา

เมื่อสำรวจความตายที่ค่อนข้างเงียบงันของ กปปส. เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนทั่วไป ในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี 2556 - 2557 พบการรวบรวมรายชื่อผู้เสียชีวิตในเว็บไซต์ Way Magazine ซึ่งระบุอ้างอิงจากเพจเฟซบุ๊กสายตรงภาคสนาม และ พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความกลุ่ม คปท. (หนึ่งในเครือข่ายแนวร่วม กปปส.)  ปรากฏทั้งหมด 27 ราย ทุกกลุ่มที่เสียชีวิตโดยจำแนกตามสถานการณ์

ขณะที่เว็บไซต์วิกิพีเดีย ในเรื่อง “วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556-2557” ระบุทั้งหมด 36 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 26 พ.ค. 2563) มีจำนวนผู้เสียชีวิตที่คลาดเคลื่อนกันอยู่พอสมควร โดยปรากฏถึง 7 รายชื่อ ที่ไม่ปรากฏข้อมูลความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองเลย โดยเสียชีวิตจากเหตุทะเลาะวิวาทประการอื่น แต่ถูกนำชื่อมาใส่ ส่วนอีก 2 รายชื่อ ที่เกี่ยวข้องอยู่บ้างแต่ไม่ปรากฏตามรายงานของ Way คือ ดาบตำรวจอนันต์ แลโสภา ซึ่งเสียชีวิตภายหลังในวันที่ 5 ม.ค. 2557 หลังจากเป็นลมหมดสติจากการดูแลการรับสมัครเลือกตั้งและปะทะกับผู้ชุมนุมที่กระทรวงแรงงานในวันที่ 26 ธ.ค. 2556 กับอีกรายคือ กมล ดวงผาสุก หรือไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีเสื้อแดง ซึ่งถูกลอบยิงเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2557 ถ้ารวมสองรายนี้ ก็จะมีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตปี 2556-2557 ตามความจริง รวม 29 ราย

เมื่อสำรวจเกี่ยวกับคดีความ พบรายชื่อของผู้เสียชีวิต กปปส. ที่ได้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนการตายในศาล จากข่าวหลายสำนักเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2557 จำนวน 3 ราย เป็นคดีหมายเลขดำ อช.5, 6 และ 7/2557 ของศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ประกอบด้วย ธนูศักดิ์ รัตนคช, ศรัทธา แซ่ด่าน และจีรพงษ์ ฉุยฉาย ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2557 จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมกลุ่มกองทัพธรรม (หนึ่งในเครือข่ายแนวร่วม กปปส.) บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งในวันดังกล่าวมีการปะทะกันอย่างรุนแรง ปรากฏผู้เสียชีวิตรวม 6 ราย นอกจาก 3 รายข้างต้น เป็นพลเรือนอีก 1 ราย คือ สุพจน์ บุญรุ่ง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 ราย คือ ด.ต.เพียรชัย ภารวัตร และ ส.ต.ต.ศราวุฒิ ชัยปัญหา

เหตุการณ์ ด.ต.ธีระเดช เล็กภู่ เตะระเบิดชนิดขว้างที่ถูกปาเข้ามาใส่แนวโล่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2557 ส่งผลให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บหลายนาย รวมทั้ง ด.ต.ธีรเดช ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นอีก 1 ภาพจำในช่วงเหตุการณ์นั้น (ที่มาของภาพ: จากวิดีโอของ Stephen J Boitan/Video vimeo.com )

โดยการนัดคดีนี้ที่ศาลอาญาเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2557 ได้มีการเลื่อนนัดไต่สวนคำร้องออกไปเป็นวันที่ 8 ธ.ค. 2557 เนื่องจากอัยการขอรวมสำนวนของสุพจน์ บุญรุ่ง เข้ามาด้วย ทำให้ในที่สุด จึงพบผู้เสียชีวิต กปปส. ที่มีข้อมูลปรากฏชัดในการเข้าสู่กระบวนการไต่สวนการตาย รวม 4 ราย ที่ศาลอาญา จากการสืบค้นสารบบข้อมูลคดี พบว่า หลังการนัดไต่สวนคดีนี้ตลอดทั้งปี 2558 ศาลอาญาได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2558 สรุปการไต่สวนการตายของทั้ง 4 ราย ดังนี้

  • ผู้ตายที่ 1 คือ นายธนูศักดิ์ รัตนคช ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 13.55 นาฬิกา เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย เนื่องจากอวัยวะภายในช่องท้อง ช่องอกฉีกขาดหลายแห่ง โดยถูกแรงอัดจากคลื่นการระเบิดของแก๊สหรือระเบิด ไม่ทราบชนิดใด ขณะเดินบนทางเท้าไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณหน้าบริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  • ผู้ตายที่ 2 คือ นายศรัทธา แซ่ด่าน ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 16.12 นาฬิกา เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย เนื่องจากบาดแผลกระสุนปืนบริเวณหน้าอกขวา ทะลุเข้าช่องอก ปอดและตับฉีกขาด โดยถูกยิงใต้ราวนมด้านขวา ขณะเดินบนถนนราชดำเนินกลางไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบริเวณหน้าบริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยมีทิศทางวิถีกระสุนจากขวาไปซ้าย หน้าไปหลัง และบนไปล่าง
  • ผู้ตายที่ 3 คือ นายจีรพงษ์ ฉุยฉาย ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 22.15 นาฬิกา เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย เนื่องจากบาดแผลกระสุนปืนบริเวณหน้าอกด้านขวา มีเลือดและลมรั่วในช่องอก หลอดเลือดแดงขั้วปอดขวาฉีกขาด ขณะเดินบนถนนราชดำเนินกลางไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่องทางเดินรถไปสะพานผ่านฟ้าลีลาศ บริเวณใกล้ทางม้าลายในช่องทางเดินรถที่ 4 โดยมีทิศทางวิถีกระสุนจากซ้ายไปขวา หน้าไปหลัง บนไปล่าง
  • ผู้ตายที่ 4 คือนายสุพจน์ บุญรุ่ง ถึงแก่ความตายที่ทางเท้าถนนราชดำเนินกลางหน้าร้านหยกมิวเซียมออฟ-เจด แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 เวลาประมาณ 12 ถึง 13.06 นาฬิกา เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย เนื่องจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายไขสันหลัง ขณะเดินบนทางเท้าไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและวิ่งหันหลังกลับ ถูกยิงจากด้านหลังบริเวณทางเท้าหน้าร้านหยกมิวเซียมออฟเจด โดยมีทิศทางวิถีกระสุนจากซ้ายไปขวา หลังไปหน้า ล่างขึ้นบน แต่ไม่อาจระบุได้ว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสี่ถึงแก่ความตาย

 

นอกจากทั้ง 4 รายนี้ ผู้เสียชีวิตรายอื่นจากความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2556 - 2557 ยังไม่พบเห็นว่ามีความคืบหน้าประการใดหรือไม่ในทางคดีความ อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่าทั้ง 4 ราย เสียชีวิตจากกระสุนปืนและระเบิด แต่ไม่ทราบผู้ทำให้ตาย ซึ่งในวันดังกล่าวเป็นเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้น่าตั้งคำถามถึงความพยายามของทั้งฝ่าย กปปส. และฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการหาตัวผู้ทำให้ตายมาดำเนินคดี มีอยู่มากน้อยเพียงใด หรืออย่างน้อยถ้าไม่สามารถหาได้ หากมีความพยายามค้นหาและเผยแพร่พยานหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์เท่าที่มีอยู่ เพื่อให้ความจริงปรากฏยิ่งขึ้น ก็น่าจะดีต่อความยุติธรรม

ความตายของผู้ชุมนุม พธม. ยังมีการต่อสู้คดีเพื่อเอาผิดอดีตนายกฯ และคณะ ถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงการฟ้องศาลปกครองให้มีการสั่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

ความตายของผู้ชุมนุม นปช. ยังมีการต่อสู้คดีทั้งในศาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อเอาผิดอดีตนายกฯ และคณะเช่นกัน รวมถึงการเผยแพร่ข้อเท็จจริงผ่านสื่อ เพื่อรำลึกอย่างต่อเนื่องทุกวันครบรอบ

ความตายของผู้ชุมนุม กปปส. เหมือนจะเงียบงันเกินไป สังเวยให้ “ความสงบแห่งชาติ” ณ บัดนั้นเป็นต้นมา? 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท