Skip to main content
sharethis

ไม่ใช่ว่าผู้หญิงทำผิดในคดียาเสพติดไม่ได้ ได้แน่นอน บางคนตั้งใจเข้าสู่วงจรเพื่อเงิน แต่อีกไม่น้อยติดร่างแหจากความไม่รู้ การตกอยู่ในภาวะพึ่งพิง ความต้องการช่วยเหลือครอบครัว บทบาทของเพศหญิงที่หล่อหลอมโดยสังคม บ้างยอมติดคุก บ้างสู้คดีและจบลงที่ ‘สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน’ ‘ประชาไท’ พาสำรวจกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดียาเสพติด ผ่านซีรีส์ ‘คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง’

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (1): ที่ไหนๆ ก็มีแต่ ‘พวกค้ายา’?, 21 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (2): กฎหมายปิดปาก, 22 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (3): เมื่อกฎหมายปิดปาก ความยุติธรรมก็เงียบงัน, 23 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (4): ยอดต้องได้ เป้าต้องถึง, 24 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (5): การกำจัดปีศาจร้ายโดยไม่เกี่ยงวิธีการ, 26 พ.ค. 63

นักศึกษาหญิงคนหนึ่งเดินทางจากต่างจังหวัดมาเช่าหอพักในกรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อ ระหว่างนั้นชายคนหนึ่งเดินเข้ามาในชีวิต ด้วยความรัก ฝ่ายหญิงยินยอมให้ฝ่ายชายย้ายเข้ามาอยู่ร่วมกัน ความรักดำเนินต่อไป วันดีคืนดี ฝ่ายชายขอให้เธอช่วยเปิดบัญชีและทำบัตรเอทีเอ็มให้เขา เธอยินยอม

วันร้ายคืนร้าย ตำรวจบุกเข้าค้นห้อง นอกจากตัวเธอและเขา ยังพบยาบ้าจำนวนหนึ่ง ทั้งสองถูกดำเนินคดีฐานมียาเสพติดในครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้ว่าเธอจะไม่เคยรู้มาก่อนว่าชายที่อยู่ร่วมห้องเป็นผู้ค้ายา
ฝ่ายชายรับสารภาพโดยไม่ซัดทอดฝ่ายหญิง แต่...

ตอนที่ตำรวจบุกเข้าค้นห้องแล้วพบยาบ้าและผู้ค้ายาที่เป็นแฟนเธอ เธออยู่ด้วย ห้องเช่าเป็นชื่อเธอ บัญชีที่ใช้รับเงินซื้อขายยาเป็นชื่อเธอ บัตรเอทีเอ็มก็เป็นชื่อเธอ แม้อัยการจะรับรู้ข้อเท็จจริง แต่หลักฐานแวดล้อมแน่นหนาเหลือเกิน หากไม่ส่งฟ้องก็อาจเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

เธอ ครอบครัว และทนายรู้ว่าเธอบริสุทธิ์ แค่อยู่ผิดที่ ผิดทาง และผิดคน เธอจึงตัดสินใจสู้คดี ขณะที่ฝ่ายชายซึ่งสารภาพไปแล้ว ศาลพิพากษาจำคุกโดยลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ส่วนคดีของเธอ ลงเอยที่คุกเหมือนกัน แต่เธอต้องติดคุกเต็มอัตราโดยไม่มีการลดโทษ เนื่องจากไม่ยอมรับสารภาพ

เรื่องราวทำนองนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นและไม่ได้มีแค่เรื่องเดียว อย่างน้อยก็ 3 เรื่องจากคำบอกเล่าของจิตรนรา นวรัตน์ ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เขายอมรับกับผมว่ามันคือตราบาปในใจ

“3 คดีนี้ทำผมสะเทือนใจ รู้สึกว่าในชีวิตเราเอาคนไม่ผิดเข้าคุกไปก็เยอะอยู่ เพราะว่าเขาสู้ด้วยพยานหลักฐานไม่ขึ้น เพราะหลักฐานมันเอื้อให้เชื่อว่าเขาทำผิดจริง ทั้งที่เรารู้เต็มอกว่าเขาไม่ได้ผิด แต่มันจะแก้ตัวยังไง เรื่องนี้ถามศาลศาลก็สะเทือนใจไม่แพ้กัน”

ยืนยันคำพูดที่ว่า 'สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน'

สอดคล้องกับเรื่องราวที่นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระและผู้จัดการโครงการเรือนจำสุขภาวะ พบเจอเสมอจากการทำวิจัยผู้ต้องขังหญิง จนถือเป็นกรณี ‘คลาสสิก’ เธอสมมติเหตุการณ์ให้ฟังว่า ผู้ชายซึ่งทำหน้าที่ขนยาชวนผู้หญิงนั่งรถไปด้วย เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสงสัย โดยที่ผู้หญิงไม่รู้เรื่องใดๆ พอโดนจับ ผู้ชายจะยอมรับ แต่ผู้หญิงจำนวนมากจะปฏิเสธและเลือกสู้คดี สุดท้าย ผู้หญิงต้องติดคุกนานกว่า 

ผู้ต้องขังหญิงไทย ติดอันดับโลก

งานศึกษาเรื่อง ‘ผู้ต้องขังหญิง: สถานการณ์และข้อเสนอเชิงนโยบาย’ โดยกฤตยา อาชวนิจกุล และกุลภา วจนสาระ เมื่อปี 2558 ระบุว่า ข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังหญิง 47,623 คน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่ในแง่สัดส่วนผู้ต้องขังหญิงต่อแสนประชากร ไทยติดอันดับสูงที่สุดของโลก

รายงานดังกล่าวยังให้ข้อมูลอีกว่า ในจำนวนผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศกว่า 3 แสนคน ผู้ต้องขัง 100 คนจะเป็นผู้หญิง 14.5 คน และผู้ชาย 85.5 คน เมื่อเทียบกับทั้งโลกแล้ว ไทยมีสัดส่วนผู้ต้องขังหญิงต่อชายสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก รองจากฮ่องกง มาเก๊า โมนาโค พม่า และกาตาร์ แต่ถ้าเอาจำนวนผู้ต้องขังหญิงของทั้ง 5 ประเทศรวมกันแล้วก็ยังเป็นจำนวนแค่ 1 ใน 4 ของผู้ต้องขังหญิงไทยเท่านั้น

สถิติกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 มีผู้ต้องขังชายทั้งหมด 327,375 คน ผู้ต้องขังหญิง 47,773 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังชายในคดียาเสพติด 258,791 คน ผู้ต้องขังหญิงในคดียาเสพติด 39,726 คน จะเห็นว่าผู้ต้องขังหญิงในคดียาเสพติดคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 หากตัดคดียาเสพติดออกไปทั้งหมด คุกไทยจะเหลือผู้ต้องขังหญิงประมาณ 8,000 คนเท่านั้น

นภาภรณ์ หะวานนท์ กล่าวว่า สถานภาพของผู้หญิงในสังคมไทยมีลักษณะสำคัญบางประการที่อาจต่างจากชาติอื่นและในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาก็ไม่ค่อยคำนึงหรือละเอียดอ่อนต่อเพศสภาพของผู้หญิง ทำให้มีการผลักให้ผู้หญิงตกอยู่ในสถานะเปราะบางที่จะถูกดำเนินคดีและถูกจำคุกเป็นเวลานาน

‘พวกเธอ’

เดิมทีคุกถูกออกแบบเพื่อขังผู้กระทำความผิดที่ใช้ความรุนแรงและเป็นภัย ซึ่งมักเป็นผู้ชาย คุกจึงไม่ได้ถูกออกแบบไว้สำหรับขังผู้ต้องขังหญิงตั้งแต่ต้น การเป็น น.ญ. จึงอาจเป็นการลงโทษที่รุนแรงมากเกินกว่าที่กฎหมายตั้งใจ ความเข้มข้นของการปราบปรามยาเสพติดที่มากขึ้นทั่วโลกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมายังทำให้ผู้หญิงจำนวนมากตกเป็นเหยื่อและเครื่องมือของขบวนการค้ายาเสพติด

นักอาชญาวิทยาจำนวนหนึ่งเห็นพ้องว่า ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจะเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับเพศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมันเป็นช่องทางที่ผู้หญิงจะหารายได้ได้มากกว่าที่พวกเธอหาได้ในระบบเศรษฐกิจปกติ ทั้งยังช่วยให้พวกเธอยังคงทำหน้าที่เป็น ‘แม่’ และ ‘เมีย’ ที่ดูแลครอบครัวได้

นภาภรณ์ กล่าวว่า ยกตัวอย่างผู้ชายเป็นผู้ค้ายา ผู้หญิงก็รับเงินจากสามี กฎหมายไทยไม่ได้คิดว่าผู้หญิงผิดหรือเปล่า เพราะบางกรณีผู้ชายทำโดยที่ผู้หญิงไม่รู้ แต่จับผู้หญิงด้วยเพราะถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งถือเป็นความไม่ละเอียดอ่อน

“แล้วในสังคมไทยผู้ชายอาจจะมีรายได้จากตรงนี้ แต่ไม่ได้บอกผู้หญิง เราก็ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติในวัฒนธรรมไทยสักเท่าไหร่ เลวร้ายยิ่งกว่านั้นเกิดผู้ชายเอายาเข้ามาไว้ในบ้าน ซึ่งในสังคมไทยก็ไม่ได้ให้ผู้หญิงต้องเข้าไปตรวจตราอะไร แต่ถ้าตำรวจเข้าค้นเมื่อไหร่ ผู้ชายอาจจะไม่อยู่บ้าน อยู่แต่ผู้หญิงก็จับเลยและมีโทษสูงสุดเหมือนกับคนขาย ประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ได้ศึกษาและพบผู้หญิงที่ต้องคดีแบบนี้จำนวนไม่น้อย”

หรือผู้หญิงไม่รู้มาก่อนว่าผู้ชายค้ายา แต่พอตัดสินใจอยู่ด้วยกันไปแล้วก็เริ่มสงสัยว่าฝ่ายชายค้ายา คำถามคือผู้หญิงคนนี้จะเลิกลากับผู้ชายคนนี้หรือไม่ขณะที่ตนเองกำลังตั้งครรภ์ เธอจึงจำเป็นต้องตกกระไดพลอยโจน เนื่องจากอยู่ในภาวะพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ การถอนตัวไม่สามารถทำได้ง่ายๆ แต่กฎหมายก็ลงโทษเท่ากันในฐานะผู้ค้า

“ประเด็นต่อมา เวลาที่เกิดปัญหาในครอบครัว ผู้หญิงจะถูกคาดหวังพอสมควรให้ต้องรับผิดชอบ ยิ่งถ้าผู้ชายไม่ทำมาหากิน ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมในเรื่องเศรษฐกิจค่อนข้างสูง เมื่อเกิดวิกฤตในครอบครัว ขบวนการยาเสพติดก็จะมีวิธีการ อย่างการส่งยาหมายความว่าเราอาจจะไม่มีทุนอะไร แต่สามารถรับยาจากจุดนี้ไปให้อีกคนหนึ่งที่ต้องการ เรียกว่าเป็นคนเดินยา ซึ่งคนจะรู้ว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ได้มียาอยู่กับตัว แต่ถ้ามีคนต้องการ เขารู้ว่าจะไปเอาได้ที่ไหน เงินที่ได้ก็ไม่ได้มาก”

หรือในกรณีคุณป้าคนหนึ่งที่ที่ดินของครอบครัวกำลังจะหลุดจำนอง จึงต้องการช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤต เธอได้รับข้อเสนอจากขบวนการค้ายาให้นำถุงใบหนึ่งไปส่งด้วยค่าจ้าง 100,000 บาท คุณป้าคนนี้คงคิดเหมือนผู้หญิงอีกหลายคนที่คิดว่า ‘ทำครั้งเดียวคงไม่เป็นไร’

“หรือในกรณีที่แม่รับโทษแทนลูกก็มีพอสมควร โดยเฉพาะคนสูงอายุ สมมติว่ามียาอยู่ในบ้าน แล้วคนที่อยู่ในบ้านเป็นแม่ แม่ก็จะไม่ซัดทอดและยอมติดคุกไปด้วยความเป็นแม่ในวัฒนธรรมไทยที่ถูกเลี้ยงดูปลูกฝังมา เราพบว่าในเรือนจำผู้หญิงสูงอายุจำนวนมากติดคุกแทนลูก”

บทบาทในขบวนการยาเสพติด สิ่งที่กฎหมายไทยยังไม่คำนึงถึง

เมื่อ ‘พวกเธอ’ เป็นผู้เดินยา ในตัวอาจจะมียาบ้าไม่มาก แต่ทันทีที่ถูกล่อซื้อ ฐานความผิดจะกลายเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งมีโทษสูงกว่าการเสพหรือครอบครองเพื่อเสพ

“ในวัฒนธรรมไทยผู้ชายเป็นฝ่าย Active ในเชิงเศรษฐกิจได้มากกว่าผู้หญิง เพราะฉะนั้นพวกที่ขายของอยู่บ้านเล็กๆ น้อยๆ มักจะเป็นคนเดินยาซึ่งจะไปตกอยู่กับผู้หญิง ใช่ ถ้าผู้ชายทำก็ควรได้รับการลดโทษเหมือนกัน แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเมื่อกฎหมายเป็นเช่นนี้ มันส่งผลกระทบกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อันเนื่องมาจากสถานะในสังคม เราไม่ได้บอกว่าการกระทำนี้ไม่ผิด แต่มันไม่ควรมีโทษมากขนาดนี้เมื่อเทียบกับการกระทำที่ต้องปากกัดตีนถีบและก็ไม่ได้ไปซื้อยามาเก็บไว้จำนวนมากเพื่อขาย” นภาภรณ์ เล่า

เรื่องราวประมาณนี้ไม่เกิดเฉพาะในไทย งานวิจัย ‘ผู้ต้องขังหญิงในประเทศอาร์เจนตินา: สาเหตุ สภาพ และผลกระทบ’ ระบุว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในขบวนการค้ายาเสพติด มักจะอยู่ในฐานะผู้ส่งยาไปยังผู้ใช้หรือเป็นผู้ลำเลียงยา ซึ่งในฐานะผู้ลำเลียง มันเป็นบทบาทที่เปิดเผยที่สุดที่เชื่อมโยงพวกเธอกับขบวนการ เหตุนี้ พวกเธอจึงมีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะถูกตรวจพบและจับกุม

เช่นกัน การวิเคราะห์ข้อมูลผู้ต้องขังหญิงในประเทศลาตินอเมริกายังพบว่า ผู้หญิงที่ถูกดำเนินคดีและรับโทษเกี่ยวกับยาเสพติด ส่วนใหญ่แล้วมีบทบาทรองอย่างมาก พวกเธอไม่ได้มีบทบาทนำหรือบทบาทสำคัญในขบวนการค้ายาเสพติดที่ควรเป็นเป้าหมายหลักของการบังคับใช้กฎหมาย

และกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดของไทยก็ยังขาดมิติเรื่องการพิจารณาบทบาทของผู้กระทำความผิดหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในขบวนการ

เงินคือแรงจูงใจ

คุณคิดว่าผมหรือนภาภรณ์กำลังบอกว่า ผู้หญิงเป็นแค่เหยื่อของขบวนการยาเสพติดและควรได้รับโทษน้อยกว่าผู้ชายอยู่ใช่หรือไม่?

เปล่า ไม่ใช่เลย มีผู้หญิงที่พาตัวเองเข้าไปพัวพันกับยาเสพติดอย่างจงใจ นภาภรณ์ เล่าว่า

“ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ค้ายามักจะไม่ได้ปุ๊บปั๊บมาขายเลย อาจจะเริ่มจากเล็กๆ หรือเสพมาก่อน ขายนิดๆ หน่อยๆ ทีนี้ก็มีช่องทางก็ทำเป็นอาชีพ การเข้าถึงเงินที่ค่อนข้างง่ายและเยอะทำให้มีผู้หญิงที่ตัดสินใจเข้าสู่ขบวนการ ซึ่งผู้หญิงกลุ่มนี้บอกเลยว่าเขาเตรียมตัวติดคุก เขาพูดว่าถ้าเขาแจ็คพอต เขาก็เกม เขารู้อยู่แล้วว่าเขากำลังเล่นอะไรอยู่

“ผู้หญิงที่ค้ายา แรงจูงใจส่วนใหญ่เป็นความอยากได้เงิน แต่คนเหล่านี้จะต้องมีช่องทางด้วย ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เขาอยากขายยา แล้วจะเดินไปขายได้ มันต้องมีช่องทาง ถ้าเขาได้ช่องทางเมื่อไหร่ คนเหล่านี้ถอนตัวไม่ขึ้นเพราะเงินไหลมาเทมาอาทิตย์หนึ่งจับเงินเป็นล้าน มีกรณีหนึ่งเขาพูดว่าจากที่ไม่เคยจับเงินเยอะๆ มาก่อนจะซื้อหม้อหุงข้าวสักหม้อหนึ่งต้องคิดแล้วคิดอีกกลายเป็นว่าซื้ออะไรก็ได้ แล้วทุกคนที่ทำก็จะคิดว่าขอทำอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็หยุดไม่ได้ ดังนั้น โอกาสถอนตัวจึงแทบไม่มีเลย จนกว่าจะโดนจับ”

นภาภรณ์ยังได้พูดคุยกับผู้หญิงที่กระทำความผิดซ้ำในคดียาเสพติด ส่วนสาเหตุนั้นไม่ต่างจากที่เรามักได้ยิน สาบคุกกลิ่นมันแรงและโอกาสก็ไม่ชอบกลิ่นของมัน

“พอเข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้วก็ออกมาอยู่ที่เดิม ออกมาแบบไม่มีอะไรติดตัวมาเลย ไม่มีทั้งทุนทางเศรษฐกิจและสังคม ออกมาแบบติดลบ โอกาสที่จะก้าวพ้นออกไปมันยากมาก อีกอย่างคือมีช่องทางอยู่แล้ว เพราะออกไปปุ๊บคนที่เคยขายด้วยกันก็จะมาถามอีกว่าจะทำไหม บางคนถึงขั้นที่พูดว่าที่หนูกลับไปทำเพราะคิดว่าตอนนี้หนูรู้อะไรมากขึ้นแล้วคงไม่โดนจับ”

ไม่ใช่การปกป้อง ‘ผู้หญิง’ จากคดียาเสพติด แต่มันหมายถึงความละเอียดอ่อนในการพิจารณามิติทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ บทบาททางเพศที่พัวพันกันอย่างแยกไม่ออก

กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ต้องเพิ่มมุมมองเรื่องบทบาทของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและลงโทษให้ได้สัดส่วน ไม่ใช่เฉพาะกับผู้หญิงเท่านั้นหรอก แต่กับทุกๆ เพศ

ว่าแต่ทำไมคนเหล่านี้จึงต้องพาชีวิตมายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่รู้หรือว่ากำลังเล่นกับไฟ หรือเพราะพวกเขาชั่วร้ายโดยกมลสันดาน

หรือว่าพวกเขาคือ ‘เหยื่อ’?

ซีรีส์ชุด คนกับยา 'ปีศาจ' บนตาชั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net