Skip to main content
sharethis

นักศึกษาจับมือองค์กรแรงงานยื่นหนังสือจี้รัฐ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ‘หยุดใช้เชื้อโรคเป็นข้ออ้างในการเหยียย่ำประชาชน’ หลัง ครม.มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลา ถึง 30 มิ.ย. 63 ขณะที่ 'ศูนย์ทนายสิทธิฯ' ตั้ง 3 ข้อสังเกตทาง กม.ที่ไม่ฉุกเฉิน-ไม่ยึดโยง ปชช.

28 พ.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงสายวันนี้ (28 พ.ค.63) ที่ทำเนียบรัฐบาล บริเวณทางออก 4 เครือข่ายนักศึกษาและกลุ่มองค์กรแรงงาน รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมี จุฑาทิพย์ สิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ยืนอ่านจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่อง ‘รัฐบาลต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และแจกเงินเยียวยาให้ประชาชนอย่างถ้วนหน้า’ ก่อนที่ทางกลุ่มดังกล่าวจะเดินทางไปยื่นหนังสือที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมี สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนในการรับหนังสือ

กลุ่มนักศึกษาและองค์กรแรงงาน ยืนชูจดหมายเปิดผนึกที่ทำเนียบรัฐบาล บริเวณทางออก 4

กลุ่มนักศึกษาและองค์กรแรงงาน ยืนอ่านจดหมายเปิดผนึกที่ทำเนียบรัฐบาล ประตู 4 ท่ามกลางสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ

จดหมายดังกล่าวมีใจความว่า ในตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พบว่ารัฐบาลมีการจับกุม ข่มขู่ดำเนินคดีกับประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่มักอ้างถึงเหตุผลความสงบเรียบร้อยของสังคม ไม่ได้อ้างถึงการควบคุมโรคแต่อย่างใด ทางกลุ่มจึงมองว่าการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ เป็นการฉวยโอกาสและปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนโดยใช้โรคระบาดเป็นข้ออ้าง อีกทั้งขณะนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทุเลาความรุนแรงลงมาก เครือข่ายนักศึกษาและองค์กรแรงงานจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล ‘หยุดใช้เชื้อโรคเป็นข้ออ้างในการเหยียบย่ำประชาชน’ โดยทางกลุ่มดังกล่าวมีข้อเรียกร้องดังนี้

1.ยกเลิกการใช้พรก.ฉุกเฉินและนำกฎหมายที่สามารถใช้ควบคุมโรคแต่ไม่สามารถใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเช่นพระราชบัญญัติโรคระบาดร้ายแรง พ.ศ. 2558 มาใช้แทน

2.เยียวยาประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้า โดยผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนเช่นแรงงานนอกระบบประกันสังคม แรงงานที่จ้างตัวเอง แรงงานในภาคเกษตรกรรม ต้องได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างทั่วถึงเท่าเทียมและทันท่วงที

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบากเช่นนี้รัฐบาลจะยึดถือประโยชน์ของประชาชนมากกว่าการรักษาอำนาจตัวเองเพราะประเทศไทยย่อมเป็นของประชาชนไทยทุกคน

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

จดหมายเปิดผนึก

“รัฐบาลต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และแจกเงินเยียวยาให้ประชาชนอย่างถ้วนหน้า”

เรียน นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

          ดังที่เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2563 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้                  พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) พ.ศ.2548 ซึ่งมีการประกาศใช้                มาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 โดยรัฐบาลได้อ้างว่าการขยายเวลาดังกล่าวว่าเป็นไปเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) มิได้มีจุดประสงค์ทางการเมืองแอบแฝงนั้น

ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น กลับมีเหตุการณ์จับกุมหรือข่มขู่ดำเนินคดีข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินกับนิสิตนักศึกษา นักเคลื่อนไหวทางสังคม และแม้กระทั่งประชาชนทั่วไป                            ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่มักจะกล่าวหาว่านิสิตนักศึกษาและประชาชนเหล่านั้นกระทำการอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือสร้างความวุ่นวายในสังคม มิได้กล่าวถึงการควบคุม                      การแพร่ระบาดของโรคเลย แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าที่ผ่านมารัฐบาลมิได้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรค                แต่ใช้เพื่อควบคุมประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล การขยายระยะเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงเป็นการฉวยโอกาสปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยใช้สถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นข้ออ้างแต่เพียงเท่านั้น

การขยายระยะเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังสร้างความยากลำบากให้แก่ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะ                ผู้ใช้แรงงานที่ต้องขาดแคลนรายได้เนื่องจากถูกเลิกจ้างหรือไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ อีกทั้งมาตรการจำกัด               การออกจากเคหะสถานในยามวิกาล (เคอร์ฟิวส์) ยังส่งผลให้ประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ทำงานช่วงกลางคืนต้องประสบความยากลำบากในการเดินทาง หรือกระทั่งไม่สามารถทำงานได้เลย นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่ให้ความสำคัญกับการเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชน ดังจะเห็นได้ว่า มาตรการเยียวยาของรัฐที่ดำเนินไปแล้วนั้นเต็มไปด้วยความล่าช้าและความไร้ประสิทธิภาพ เป็นผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องตกหล่นไปจากมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบและแรงงานในภาคเกษตรกรรม การขยายอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพียงเพื่อให้รัฐบาลได้รักษาอำนาจของพวกตนไว้นั้นจึงถือเป็นการซ้ำเติมประชาชนอย่างเลือดเย็น และยังเป็นการดูถูกประชาชนอย่างถึงที่สุด

          ในขณะนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดได้ทุเลาความรุนแรงลงไปมากแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด 19 ในประเทศไทยน้อยกว่าประเทศอื่นมาก แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากความอดอยากและสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ พวกเรา นักเรียน นิสิตนักศึกษา และ                ผู้ใช้แรงงาน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดใช้เชื้อโรคเป็นข้ออ้างในการเหยียบย่ำประชาชน และขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และนำกฎหมายที่สามารถใช้ควบคุมโรคแต่ไม่สามารถใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น พระราชบัญญัติโรคระบาดร้ายแรง พ.ศ.2558 มาใช้แทน

2. เยียวยาประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้า โดยผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน เช่น แรงงานนอก                   ระบบประกันสังคม แรงงานที่จ้างตัวเอง แรงงานในภาคเกษตรกรรม ต้องได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และทันท่วงที

          พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบากเช่นนี้ รัฐบาลจะยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่าการรักษาอำนาจของตนเอง ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยย่อมเป็นของประชาชนไทยทุกคน

 

“นักศึกษา ชาวนา และกรรมกร จงรวมตัวกัน”

กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก

กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง

เครือข่ายสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เครื่องเรือน และคนทำไม้แห่งประเทศไทย

สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และเครื่องหนังแห่งประเทศไทย

สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย

27 พฤษภาคม พ.ศ.2563


กลุ่มนักศึกษา/องค์กรแรงงาน ยืนชู 3 นิ้ว พร้อมกับยื่นหนังสือกับ สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเว้นระยะห่างป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

'ศูนย์ทนายสิทธิฯ' ตั้ง 3 ข้อสังเกตทาง กม.ที่ไม่ฉุกเฉิน-ไม่ยึดโยง ปชช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ก่อน ครม.มีมติต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 1 เดือน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกข้อสังเกตทางกฎหมาย 3 ประเด็นว่าทำไมรัฐบาลไม่ควรต่ออายุประกอบด้วย 1. สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 ในปัจจุบันอาจไม่เข้านิยามองค์ประกอบของ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอีกต่อไป 2. การหยุดใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และเปลี่ยนมาใช้มาตรการตามกฎหมายปกติที่มีอยู่แล้วแทน ย่อมทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการประกันมากกว่า เนื่องจากศาลปกครองสามารถตรวจสอบได้ และ 3. การต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินที่ขาดการมีส่วนร่วมจากองค์กรนิติบัญญัติย่อมไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย (อ่านรายละเอียดความเห็นของศูนย์ทนายฯ ได้ที่ https://www.tlhr2014.com/?p=17920 )

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net