Skip to main content
sharethis

ที่ประชุมบริหาร ตร.อนุมัติหลักการ ตั้ง 'กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์' เตรียมเสนอ ก.ตร และ กตช. แนวทำงานร่วมกันเป็นแขนขาร่วมกันทั้ง ตร.และกระทรวงดิจิทัล ศูนย์ทนายฯชวนจับตา หวั่นเปิดช่องละเมิดสิทธิคน ตจว.

28 พ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อหลายสำนัก เช่น วอยส์ออนไลน์ ไทยโพสต์ ฯลฯ รายงานความคืบหน้าการตั้งกองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือที่สื่อเรียกว่า 'กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์' ตรงกันว่า พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. และโฆษก ตร. กล่าวว่า หลังนำเรื่องเข้าที่ประชุมบริหาร ตร. โดยมี รอง ผบ.ตร. ทุกคนร่วมพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเป็นต้องมีหน่วยนี้ครอบคลุมภารกิจทั่วประเทศ ประสานงานโรงพัก ซึ่งพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้อนุมัติหลักการแล้ว ขณะนี้ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร.(บร.) เป็นหัวหน้าทีมศึกษาวิเคราะห์จำนวนตำแหน่งที่เหมาะสม การกำหนดตำแหน่ง เพื่อนำเสนอคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.), คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (กตช.) และออกเป็นกฎกระทรวงต่อไป

โฆษก ตร. กล่าวว่า คาดว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อสอดรับกับการแก้ปัญหาให้ได้ แม้ขณะนี้ยังไม่มีกองบัญชาการดังกล่าว แต่การจับกุมอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์มี บก.ปอท.และ บก.สืบสวนภาค ทำอยู่ ส่วนแรกเริ่มบุคลากรที่จะปฏิบัติงานในกองบัญชาการนั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตร.ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกระทรวงดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและภาคเอกชน ทำงานร่วมกันเป็นแขนขาร่วมกันทั้ง ตร.และกระทรวงดิจิทัล

โดยเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเกี่ยวกับความคิดที่จะจัดตั้งหน่วยงานนี้ โดย โฆษก ตร. กล่าว ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ในการจัดตั้ง กองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยจะพิจารณาถึงขีดความสามารถในการอำนวยความยุติธรรมและการให้บริการประชาชนเป็นหลัก

พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวต่อว่า ไม่ได้ดำเนินการเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนแต่อย่างใด แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมุ่งมั่นทุ่มเทและพัฒนาขีดความสามารถ เพื่อพิทักษ์ปกป้อง ประชาชน เยาวชน สังคม และประเทศชาติ ให้ปลอดภัยจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงเป็นหลักประกันความยุติธรรมในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มีมาตรฐานสากล 

ศูนย์ทนายฯชวนจับตา หวั่นเปิดช่องละเมิดสิทธิคน ตจว.

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกรายงานเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ภายหลังจาก เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 63 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางไปยัง บมจ.ทีโอที (TOT) เพื่อตรวจเยี่ยมการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย และรับฟังแถลงผลการดำเนินงานนับตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ฯ ขึ้นมาเมื่อพฤศจิกายน 2562

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุว่า สิ่งที่สังคมควรจับตามองใกล้ชิดจากการมาเยือนครั้งนี้คือถ้อยแถลงนโยบายจัดตั้งหน่วยงาน “ตำรวจไซเบอร์” ซึ่งจะประกอบไปด้วยกองบัญชาการเจ้าหน้าที่ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีประจำอยู่ในทุกจังหวัด เพื่อจัดการกับคดีความที่สืบเนื่องมาจากการเผยแพร่ข่าวปลอมและอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วเด็ดขาด โดยพล.อ.ประวิตร มอบหมายให้ สตช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบร่วม

โดยรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ มีรายละเอียดและข้อสังเกตดังนี้

หรือจะรองรับกรณี “เจ้าทุกข์คือรัฐ” ?

พุทธิพงษ์ ปณณกันต์ รมต. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวถึงบทบาทของ  “ตำรวจไซเบอร์” ในแต่ละท้องที่ว่ามีอำนาจตรวจสอบ ตรวจจับสอบสวนผู้กระทำความผิด ซึ่งจะทำให้ติดตามตัวผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็ว เพราะเดิมหน่วยงานบังคับคดีประเด็นข่าวปลอมมีไม่เพียงพอและครอบคลุม รัฐจึงพยายามอุดช่องโหว่ด้วยการเพิ่มหน่วยงานใต้บังคับบัญชาของ สตช. เพื่อให้ประชาชนร้องทุกข์เรื่องข่าวปลอมได้ง่าย

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณารายละเอียดการแถลงข่าวของนายพุฒิพงษ์พบว่าหน่วยงานใหม่นี้ดูราวกับมุ่งรองรับกรณี “เจ้าทุกข์คือรัฐ” ดังส่วนหนึ่งในแถลงข่าวที่ว่า

“ประเด็นปัญหาที่ศูนย์ฯ (ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย) เจอคือเมื่อตรวจพบข่าวปลอมสร้างความเสียหายให้กับหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานไหนก็ตาม ทางศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศจำต้องให้เจ้าทุกข์นั่นคือตัวแทนของหน่วยงานนั้นเดินทางเข้ามาเพื่อแจ้งความร้องทุกข์ ถึงจะครบองค์ประกอบในการดำเนินคดีได้ บ่อยครั้งทำให้เกิดความล่าช้า เราได้ทำการร้องไปกับทางท่านรองนายกฯ วันนี้ท่านเลยเข้ามาเพื่อมอบนโยบายใหม่เพื่อจัดการอุดช่องโหว่ตรงนั้น ถึงแม้จะมี บก.ปอท. แต่เฟกนิวส์จริงๆ แล้วมีอยู่ทั่วทุกจังหวัด มีผู้กระทำผิดกระจายไปทุกอำเภอ ก่อนหน้านี้ การจะร้องทุกข์เรื่อง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เจ้าทุกข์จำเป็นต้องเดินทางมาที่ บก.ปอท. ที่มีศูนย์อยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ทำให้เกิดความล่าช้า”

ทบทวนสามพันเรื่องที่ตรวจสอบไปแล้ว แนวโน้มมุ่งดำเนินคดีระหว่างประชาชนกับรัฐมากขึ้น

ในงานแถลงข่าววันเดียวกัน ตัวแทนของทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ยังได้สรุปผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ พร้อมแสดงสถิติการเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลบนโลกออนไลน์ตลอดระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่มีคำสั่งจัดตั้ง  รวบรวมโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กะในแต่ละวัน คอยมอนิเตอร์โลกออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยแต่ละเรื่องจะใช้เวลาตรวจสอบราว 2 ชั่วโมง

เมื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวปลอมประเด็นโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ ซึ่งกินเวลาตั้งแต่มกราคม-เมษายน ทาง รอง ผบ.ตร. แถลงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานเข้ามายังศูนย์ฯ เพื่อตรวจสอบข้อมูลข่าวว่าเป็นเท็จหรือไม่ อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ นำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ที่เผยแพร่ข่าวปลอมกว่า 40 คดี

หนึ่งในคดีที่สะท้อนความเปราะบางของรัฐบาลต่อคำวิพากย์วิจารณ์เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนที่จะมีการประกาศใช้ พ,ร.ก. ฉุกเฉินฯ คือคดีของดนัย หรือ Mr.Zen ศิลปินกราฟิตี้ ผู้ตกเป็นผู้ต้องหาคดี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการเผยแพร่สเตตัสเฟซบุ๊กวิจารณ์การคัดกรองโรคโควิด-19 ในสนามบินสุวรรณภูมิ

น่าสนใจว่า ก่อนมีงานแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เมื่อ 1 พ.ย. 62 มีการจับกุมดำเนินคดีกับนักกิจกรรมรายหนึ่งที่แสดงความคิดเห็นต่อประเด็น #ขบวนเสด็จ ซึ่งกลายเป็นเทรนด์อันดับ 1 ในโลกทวิตเตอร์เมื่อเดือนตุลาคม 2562 และเพียงหนึ่งวันหลังงานแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ฯ ปรากฏมีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งชื่อ @99CEREAL ออกมาเปิดเผยเรื่องราวการถูกเจ้าหน้าที่ไม่ทราบหน่วย นำตัวไปยัง สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อซักถามเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ปมรีทวีตข้อความเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ และจากสถิติกว่า 3,000 เรื่องที่ศูนย์ฯ ตรวจสอบ อาจตีความได้ว่า แนวโน้มการดำเนินคดีเกี่ยวกับข่าวปลอมในลักษณะที่คู่ขัดแย้งคือประชาชนกับรัฐมีจำนวนมากขึ้น

“มีคนจับตาดูเราอยู่จริง ๆ”

ทั้งนี้ 23 เม.ย. 63 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ออกรายงาน “มีคนจับตาดูอยู่จริง ๆ: ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทย” ตั้งข้อสังเกตต่อการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ว่าเป็นหนึ่งในกลไกรัฐที่กำหนดเนื้อหาการสนทนาบนโลกออนไลน์ “อย่างเป็นระบบ” สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ทำให้ประชาชนไม่กล้าที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก มากกว่ามุ่งลดผลกระทบของข่าวปลอมต่อสังคม ทางแอมเนสตี้ฯ ยังได้เรียกร้องมาตรการจากรัฐบาล ดังนี้

  • ยุติกระบวนการทางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิฯ และบุคคลอื่น ๆ ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ
  • ยุติการฟ้องคดีอาญาต่อผู้ที่แค่แสดงออกในโลกออนไลน์
  • ยุติการตรวจสอบข่าวปลอมโดย DES และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และมอบหมายให้องค์กรภายนอกที่เป็นอิสระเข้ามาทำงานตรงนี้แทน
  • สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการแสดงออกในโลกออนไลน์ โดยไม่ข่มขู่หรือคุกคาม
  • ให้รัฐสภาวพิจารณายกเลอกกฎหมายที่จำกัดสิทธิในการแสดงออกบนโลกออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net