#3: 'เข้มแข็งไม่พอ ก็เป็นนักกิจกรรมไม่ได้' คำตอบต่อการถูกคุกคามทางเพศ?

 

ตอนที่ 3 ของซีรีส์ความรุนแรงทางเพศ พาสำรวจการคุกคามทางเพศในแวดวงนักกิจกรรม เมื่อพวกเขาต้องรับมือกับการคุกคามทางเพศทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ คนทั่วไป รวมถึงคนในวงการเดียวกัน กลายเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นในการออกมาเคลื่อนไหวชุมนุม ในสังคมที่มีวาทกรรมว่า 'ถ้าเข้มแข็งไม่พอ ก็เป็นนักกิจกรรมไม่ได้' ที่ไม่ต่างจากการวิธีคิดแบบโทษเหยื่อ

 

 

#1: หนึ่งร้อยปีแห่งประวัติศาสตร์การข่มขืนในไทยที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงใต้กรอบ 'ผู้หญิงที่ดี'

#2: เมื่อการข่มขืนถูกทำให้เป็นเรื่องระหว่างบุคคล จึงไม่ต้องแก้เชิงโครงสร้าง

#4: ความเงียบอันขมขื่นในที่ทำงาน เมื่อปัญหาคุกคามทางเพศถูกซุกไว้ใต้พรม

#5: กม.ความรุนแรงทางเพศ แม้โทษแรงขึ้น เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ก็คุ้มครองไม่ได้

ล่าแม่มดออนไลน์-คุกคามทางเพศ

“มีคนโทรมาหาแม่เรา บอกว่า ‘จะข่มขืนลูกสาวแล้วจะส่งศพไปให้มึงดู’ ทำให้เราหวาดกลัวและหวาดระแวงไปหมด มันเป็น trauma (ความบอบช้ำทางใจ) สำหรับเรา นอกจากคุณจะเป็นนักกิจกรรมทางเมืองที่ต้องระวังเรื่องการถูกคุกคาม ดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ รวมทั้งจากบุคคลทั่วไปแล้ว ในความเป็นผู้หญิงคุณยังต้องระวังการถูกคุกคามทางเพศอีก” คือคำบอกเล่าของ ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมหญิงด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

สาเหตุที่เธอโดนคุกคามมาจากมีคนตัดต่อภาพเธอใส่เสื้อสีส้มไปลงชื่อไว้อาลัย ช่วงสวรรคตของรัชกาลที่ 9 หลังจากนั้นกระแสล่าแม่มดออนไลน์กับเธอก็เริ่มต้น และลามสู่การโทรไปข่มขู่แม่ของเธอ 

นอกจากการโดนโจมตีว่าหมิ่นสถาบัน เธอยังถูกคำพูดรุนแรงสารพัดคุกคาม เช่น “เดี๋ยวกูก็ข่มขืนมึงเลยหนิ” “หน้าตาก็ไม่ดียังจะทำตัวแรด ร่าน” ชลธิชาเล่าว่า เวลาถูกโจมตีเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ เธอรู้สึกเหมือนถูกทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างมาก และรู้สึกว่าความเป็นตัวตนของเธอไม่ปลอดภัยในสังคมนี้ 

“บางทีเป็นการมองที่เรารู้สึกถูกคุกคาม หรือเดินเข้ามาในลักษณะคุกคาม มองหน้า แล้วถุยน้ำลายใส่ ด่าเรา ‘มึงไม่รักในหลวงเหรอ หน้าตาก็ทุเรศ แต่งตัวก็ทุเรศ’”

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมหญิงอีกหลายคน กรณีล่าสุด สิรินทร์ มุ่งเจริญ นิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักกิจกรรมกลุ่มจุฬาฯรวมพล ที่ ‘ชักธงดำครึ่งเสา’ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมจากรัฐบาลเผด็จการทหาร สิรินทร์ถูกล่าแม่มดออนไลน์ และมีคนคอมเมนต์ในเชิงคุกคามทางเพศเช่นเดียวกัน

หรือกรณีของ โบว์-ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ก็ถูกคุกคามทางเพศจากคอมเมนต์ หรือข้อความทางเฟสบุ๊ค ตัวอย่างเช่น "ผู้หญิงคนนี้มองแล้วก็มีประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นที่ระบายอารมณ์ให้ผู้เห็นต่างทางความคิดและระบายความใคร่ให้กับบางคน" หรือ "ผู้หญิงหน้าด้าน ไร้ค่า วุ่นวายบ้านเมือง คอยจับหาผัวของชาวบ้าน ร่านราคะ ปัญหาไม่มีลด" หรือ "ตุ๊กตายาง" ซึ่งณัฏฐาบอกว่ามีข้อความแบบนี้ส่งมาทุกวัน

 


ชลธิชา แจ้งเร็ว

 

การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ

“นักกิจกรรมหญิงถูกคุกคามในมิติทางเพศ มันเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย ยังไม่ค่อยเห็นใครพูดถึงกันว่าพอคุณโดนแล้วคุณควรจัดการกับมันยังไง” 

ชลธิชาเล่าว่า เวลาเธอไปเคลื่อนไหวตามม็อบ มักเจอเจ้าหน้าที่พูดทำนองว่า “วันนี้ใส่กระโปรงสั้น น่ารัก เซ็กซี่” หรือหนักหน่อยคือ มองหน้าอกเธอแล้วก็บอกว่า “ทำไมนมใหญ่จังวันนี้” และการที่เธอมีแฟนเป็นคนต่างชาติ ก็จะเจอคำพูดทำนองว่า “ติดใจฝรั่งเหรอ” “ชอบกินฮอทดอกเหรอ” พอเธอบอกกับเจ้าหน้าที่ไปตรงๆ ว่าไม่ชอบ บางคนก็หยุด บางคนไม่

“เรารู้สึกไม่ปลอดภัย ทั้งในมิติเรื่องเพศและเรื่องความเป็นส่วนตัว นอกจากจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับจ้องเรื่องกิจกรรมที่เราทำ เขายังจับจ้องอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเราด้วย พอแล้วถูกคุกคามเรื่องนี้มากๆ มันทำให้เราเกิดภาวะแพนิค ต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้นว่าเราจะถูกข่มขืนไหม จะถูกคำพูดที่ลดทอนคุณค่าความเป็นตัวเราอีกไหม เวลาเราไปร่วมชุมนุม เดินทางไปสถานที่ต่างๆ เราจะระแวงไปหมด”

การคุกคามจากทั้งเจ้าหน้าที่และบุคคลทั่วไปส่งผลกระทบต่อจิตใจของชลธิชาอย่างมากในช่วงแรก เธอยอมรับว่ามืดแปดด้านไม่รู้ว่าควรจัดการอย่างไร และต้องไปพบจิดแพทย์เพื่อบำบัดสุขภาพทางจิต

 

“ถ้าเข้มแข็งไม่พอ ก็เป็นนักกิจกรรมไม่ได้” วิธีคิดที่ไม่ต่างจากการโทษเหยื่อ

ทั้งหมดนี้ทำให้ชลธิชารู้สึกว่าต้นทุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองสำหรับผู้หญิงสูงขึ้น 

“หลายๆครั้งในวงการนักกิจกรรมไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมิติเรื่องสุขภาพจิต ใครถูกคุกคามก็ต้องไปหาทางจัดการเอง แต่ทุกคนไม่ได้มีต้นทุนหรือความเข้มแข็งเท่ากัน พอถูกบอกว่าให้ไปจัดการตัวเอง ยิ่งทำให้นักกิจกรรมหญิงมีเงื่อนไขมากขึ้นในการจะเข้ามาเคลื่อนไหว”

“สิ่งหนึ่งที่เราเจอในสังคมไทยคือวัฒนธรรมเชิดชูฮีโร่ ซึ่งเรารังเกียจมาก เราไม่ได้ต้องการให้ใครเชิดชูความเข้มแข็งของเรา แต่เราอยากให้คนเห็นว่านี่คือภาวะไม่ปกติที่มีคนถูกละเมิดทางเพศ ถ้าเราทำให้ใครสักคนเป็นฮีโร่ที่เข้มแข็งที่เผชิญเรื่องแบบนี้ได้ มันก็จะไม่มีใครให้น้ำหนักกับปัญหาตรงนี้ เพราะมันหมายถึงถ้าคนคนหนึ่งอยากเคลื่อนไหวทางการเมือง คุณต้องสามารถแบกรับการถูกคุกคามทุกรูปแบบ ถ้าไม่ คุณก็ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ และเรื่องเหล่านี้กำลังถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ ถ้าคุณไม่เข้มแข็งพอ คุณก็เป็นนักกิจกรรมไม่ได้ ซึ่งมันเป็นวิธีคิดที่ผิด ไม่ต่างจากการโทษเหยื่อ” ชลธิชากล่าว

เธอเห็นว่าสิ่งที่ควรทำมากกว่าคือการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ การทำให้ทุกคนเข้าใจว่าเรื่องเหล่านี้ไ่ม่ใช่เรื่องตลก ไม่ควรนำมาใช้โจมตี เพราะท้ายสุดมันส่งผลต่อสิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการชุมนุม และจะมีอีกหลายคนที่ไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหวหรือมีส่วนร่วมทางการเมือง

“เราควรต้องเอาปัญหานี้มาคลี่กางและบอกว่าการคุกคามมันผิดนะ การล่าแม่มดออนไลน์มันผิดนะ แล้วหาวิธีแก้ปัญหา ป้องกันปัญหา ให้สิทธิทางการเมืองมันเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้จริงๆ ไม่ต้องคำนึงถึงต้นทุนอื่นใด” ชลธิชากล่าว

ชลธิชายังเห็นว่า บางครั้งภาพลักษณ์ของนักกิจกรรมหญิงก็ถูกทำให้ดูเป็นเหมือนผ้าขาว เป็นคนสูงส่ง จนเกินไป 

“เราจำได้ว่าหลังจากเข้าไปอยู่ในเรือนจำ 14 วัน พอออกมาจากคุกเราถูกคนในมูฟเมนต์จำนวนหนึ่งบอกว่า ‘ลูกเกด ตอนนี้เอ็งเป็นเหมือนความหวังของประชาชนแล้ว ไม่ควรเมาข้างถนน ไม่ควรใส่กางเกงขาสั้น ใส่เสื้อสายเดียว ต้องวางภาพลักษณ์ตัวเองใหม่’ ซึ่งเรางงมาก” ชลธิชาเล่า

 

ถูกกีดกัน-คุกคามจากนักกิจกรรมด้วยกันเอง

ชลธิชามองว่า แม้ขบวนการเองมีเป้าหมายเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตย และเกิดความเท่าเท่าเทียม แต่หลายครั้งก็ยังไม่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้เท่าที่ควร

“มันยังมีประเด็นเรื่องการเหยียดเพศบ้าง คุกคามทางเพศบ้าง บางทีทำให้เรารู้สึกว่าเรากลายเป็นคนกลุ่มน้อยของพื้นที่ตรงนี้ โดยส่วนตัวเรายังไม่เคยเจอการคุกคามทางเพศโดยตรงจากคนในมูฟเมนต์เดียวกัน แต่เคยไปลงพื้นที่แล้วเจอเหตุการณ์ว่า พอจะนั่งประชุมกัน เขาจะให้ผู้หญิงไปทำกับข้าว ล้างจาน แล้วผู้ชายก็นั่งประชุมกัน หรือผู้หญิงจะถูกแบ่งหน้าที่เป็นฝ่ายสวัสดิการหรือเป็นเลขาโดยอัตโนมัติ ขณะที่ในการประชุมหรือการต้องตัดสินใจอะไรที่สำคัญ ผู้หญิงไม่ค่อยได้รับการเปิดพื้นที่ให้มีสิทธิมีเสียงมากพอ รวมไปถึงการบูลลี่ แซว กลุ่มที่เป็น LGBT ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าเราอยากจะสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เท่าเทียมกันจริงๆ ทำไมในขบวนมันถึงยังไม่สามารถสร้างความรู้สึกปลอดภัย เท่าเทียม ให้ทุกคนได้” ชลธิชาเล่า

เช่นเดียวกันกับ แบงค์ซี่ (นามสมมติ) นักกิจกรรมสมาชิกกลุ่ม Queer Riot เล่าเหตุการณ์ที่เคยถูกล้อเลียนว่า ช่วงแรกที่เข้ามาทำกิจกรรมตนจะโดนล้อเลียนเรื่องท่าทางออกสาว ทำให้กลายเป็นเรื่องตลก และทำให้รู้สึกแย่ 

“มีอยู่ครั้งหนึ่งในงานปีใหม่เราก็โดน จนเราทนไม่ไหว เราพูดไปว่าไม่ชอบ แต่ผลคือทุกคนรอบตัวพยายามห้ามเราไม่ให้โวยวาย แต่ไม่ได้ห้ามคนที่ล้อ เขาอาจจะคิดว่าเรากำลังเมา แต่ทำให้เรารู้สึกเฟลมาก ตัวคนที่กระทำเขาเป็นที่รู้จักในหมู่นักกิจกรรม พอเราบอกเขาว่าเราไม่ชอบ กลายเป็นเขาก็พยายามจะอยู่ห่างๆ กับเราไปเลย เหมือนคิดว่าเราเป็นมนุษย์พีซี (PC- Political Correctness) ทั้งที่เราแค่ไม่ชอบการกระทำของเขาแค่นั้น”

หรือเหตุการณ์หนึ่งที่เขาถูกคุกคามทางเพศ

“ครั้งหนึ่งไปออกค่ายทำกิจกรรม ช่วงที่หมดกิจกรรมแล้ว ทุกคนกินเหล้า นั่งคุยกัน สักพักผู้หญิงที่นั่งข้างเราเอามือมาจับอวัยวะเพศเรา คนอื่นเห็นแล้วหัวเราะ สำหรับเราเรารู้สึกเจ็บมาก แล้วมันเชื่อมโยงกับวัยเด็ก ตอนอยู่ในที่สาธารณะมีคนเอามือมาจับอวัยะเพศเรา กลายเป็นช่วงหนึ่งเรากลัวการอยู่ในที่คนเยอะๆ รู้สึกไม่ปลอดภัย”

แบงค์ซี่ไม่กล้าเล่าความรู้สึกนี้ให้ใครฟัง เพราะเขากลัวความรู้สึกของการกลายเป็นตัวตลกที่โดนคนหัวเราะเยาะจะกลับมาซ้ำเติมเขาอีกครั้ง และต้องใช้เวลา 3 ปี จึงกล้าเล่าเรื่องนี้ให้คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งฟัง ซึ่งโชคดีที่เขาได้รับการเข้าใจ และให้กำลังใจ จนทำให้เขากล้าหาญที่จะพูดเมื่อเขาไม่พอใจกับเหตุการณ์เหล่านี้

“หากเป็นสามปีที่แล้ว ความเป็น LGBT จะถูกกีดกันในหมู่นักกิจกรรมเพศชาย คุณจะทำกิจกรรมหรือออกความเห็นได้ คุณต้องทิ้งความเป็น LGBT ไป เพราะมันไม่เป็นที่ยอมรับเท่าคนที่เป็นเพศชาย อย่างที่เราเจอในกลุ่มเราคือ อยู่ดีเขาก็พูดขึ้นมาว่าสมาชิกกลุ่มเรามีคนเป็น LGBT เยอะเกินไป แต่สมัยนี้มันดีขึ้น การเล่นมุกเหยียด หรือการคุกคามทางเพศน้อยลง อาจจะเพราะเฟมินิสต์เริ่มมีบทบาทมากขึ้น” 

“ง่ายๆ คือหลักการ consent หรือการยินยอมพร้อมใจ ถ้าเราเล่นมุกอะไรแล้วเขารู้สึกตลก หัวเราะไปกับมัน ก็โอเค แต่ถ้าเมื่อไหร่เขาแสดงท่าทีอึดอัด ไม่สบายใจ เราต้องหยุด หรือถ้าเขาบอกว่าเขาไม่สบายใจ เราก็ต้องหยุด และขอโทษเขา” แบงค์ซี่กล่าว

เมื่อถามว่า เห็นยังไงกับคนที่บอกว่าไม่ควรเอาเรื่องภายในมาพูดเพราะจะทำให้ ‘เสียขบวน’ แบงค์ซี่ตอบว่า “เรารู้สึกคนพูดแบบนี้งี่เง่า ถ้าคุณทำตัวแบบนี้ก็ไม่ต่างจากสังคมแบบปิดที่ไม่เปิดรับการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งคุณค่าแบบประชาธิปไตยไม่สอดคล้องกับไอเดียแบบนี้ การไม่เรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ มันก็ไม่ต่างจากสังคมเผด็จการ ไม่ต่างจากการซุกเรื่องไว้ใต้พรมของรัฐบาลที่คุณกำลังวิพากษ์วิจารณ์ และภายในขบวนก็จะถูกแช่แข็งไม่มีการเปลี่ยนแปลง”

ขณะที่ชลธิชาตอบคล้ายกันว่า “เสียขบวนมันเกิดขึ้นแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ขบวนการเคลื่อนไหวไม่ได้ปลอดภัยสำหรับทุกๆคน”

 

มาตรการป้องกันเยียวยา สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกกลุ่ม

ชลธิชามองว่า ต้องตั้งคำถามกับพื้นที่สำหรับนักกิจกรรมการเมือง ที่อาจจะมีพื้นที่ให้กับเพศหญิงหรือเพศอื่นๆ ไม่มากพอ ทำให้หลายคนเข้ามาทำกิจกรรมแล้วก็รู้สึกไม่มีพื้นที่ ไม่ปลอดภัย ไม่สบายใจ หลายคนเลือกที่จะออกไป หลายครั้งเมื่อเธอไปถามเหตุผลที่ตัดสินใจออกจากกลุ่ม คำตอบของพวกเขาก็เกี่ยวกับประเด็นทางเพศ 

“เราต้องกลับมาทบทวนตัวเอง มูฟเมนต์ของเราต้องการนำไปสู่เป้าหมายการมีสังคมแบบไหน สังคมที่มีความปลอดภัย เท่าเทียม มีประชาธิปไตย ใช่ไหม ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ หนึ่งกลับมารื้อทบทวนการทำงานภายใน ซึ่งอาจจะไม่ใช่เฉพาะมิติทางเพศ แต่รวมถึงมิติอื่นๆ กลุ่มคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนพิการ เราให้พื้นที่ทุกคนเท่ากันไหม เพราะมันเหมือนตอนนี้พื้นที่ของเราคือคัดแต่คนเข้มแข็ง มีต้นทุนทางสังคมสูง"

“สองคือในขบวนการยังขาดการสร้างพื้นที่ปลอดภัย นอกจากทางร่างกาย เช่น การไม่ถูกคุกคามทางเพศ ยังรวมถึงด้านจิตใจ คือพื้นที่ปลอดภัยในการที่เราได้รับการเคารพในความเป็นตัวตนของเรา” ชลธิชากล่าว 

นอกจากนี้ชลธิชามองว่า แม้เราอาจไม่เคยเห็นนักกิจกรรมชายถูกคุกคามทางเพศ แต่ที่จริงแล้วก็มี เป็นการถูกคุกคามจากคนในมูฟเมนต์ด้วยกันเอง เพียงแต่เจ้าตัวไม่พร้อมจะพูดประเด็นนี้ เพราะสภาพสังคมแบบนี้เองก็ทำให้ผู้ชายไม่พร้อมที่จะพูด และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการเก็บข้อมูล สถิติ การคุกคามทางเพศของนักกิจกรรมเลย 

“ในมูฟเมนต์เองควรมีมาตรการในการดูแลเรื่องความปลอดภัย ทั้งทางร่างกาย  จิตใจ และทางโลกออนไลน์ รวมถึงมาตรการป้องกันและการเยียวยา ไม่ควรเป็นความคิดว่า ถ้าคุณเจอปัญหา คุณต้องดูแลตัวเอง ซึ่งมันเป็นหนึ่งในจุดอ่อนที่ทำให้มูฟเมนต์ไม่เข้มแข็งเท่าที่ควรจะเป็น ควรต้องเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่หน้าที่ของคนที่โดน ต้องเปลี่ยนในเชิงวัฒนธรรม โครงสร้าง วิธีคิด และนโยบาย” ชลธิชากล่าวทิ้งท้าย 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท