Skip to main content
sharethis
  • ก้าวไกล จี้รัฐทบทวน ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังครม. เลื่อนใช้พ.ร.บ.บังคับข้อมูลส่วนบุคล ชี้ ไทยชนะส่อล้มเหลว หลังข้อมูลหลุดลงทะเบียนห้างสรรพสินค้า
  • อภิปรายฤาแท้จริง คือ ความมั่นคงทางการเมืองนำสุขภาพและเศรษฐกิจ ตั้งคำถาม เอไอ - รัฐบาลดิจิทัล 4.0 มีจริงหรือไม่ ชี้เยียวยากลุ่มผู้เปราะบางไม่ครอบคลุม - ยังต้องพิสูจน์สิทธิ์ จี้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน- แนะปรับ ครม.โดยเฉพาะคลัง
  • ชำแหละประกาศ ก.แรงงงาน จูงใจหยุดกิจการ-เลิกจ้าง อัดมาตรการเยียวยา รบ.เปรียบฝนตกไม่ทั่วฟ้าและไม่ตรงฤดูกาล - ไร้เหลียวแลแรงงานในระบบ แจงยิบรายได้ลดทุกเดือนแต่ค่าใช้จ่ายคงเดิม แนะอัดเม็ดเงินอุดหนุนค่าจ้าง - แลกรักษาสภาพงานไม่ปลดคน

จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ และสุเทพ อู่อ้น ส.ส.พรรคก้าวไกล 

29 พ.ค.2563 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า วันนี้ ที่อาคารรัฐสภา ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ รองเลขาธิการพรรคฝ่ายกฎหมาย พรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนจากกรณีที่รัฐบาลให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปไทยชนะ และลงทะเบียนชื่อ-สกุล ก่อนเข้าห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ แต่กลับมีข้อมูลของประชาชนรั่วไหลว่า พรรคก้าวไกลขอเรียกร้องให้รัฐบาลพัฒนาระบบแอป หรือการเก็บข้อมูลของประชาชนให้รัดกุมมากกว่านี้ เพราะแอปไทยชนะถือเป็นตัวการสำคัญที่จะช่วยให้ข้อมูลกับประชาชนและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบที่ 2 ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาระบบเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เพราะขณะนี้ประชาชนไม่มีความมั่นใจและไม่ลงข้อมูลตามความเป็นจริงเนื่องจากเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ดังนั้นเมื่อประชาชนไม่ลงข้อมูลตามข้อเท็จการป้องกันการแพร่ระบาดจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยในส่วนของข้อมูลประชาชนที่หลุดออกมากว่า 8,300 ล้านข้อมูล แม้จะไม่ใช่ข้อมูลส่วนตัวที่ระบุตัวตนชัดเจน แต่ก็เป็นข้อมูลที่ระบุถึงอุปกรณ์ที่ประชาชนใช้ จึงถือว่าเข้าข่ายข้อมูลส่วนตัวเช่นกัน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขในเรื่องนี้ และไม่นำข้อมูลของประชาชนไปใช้ในทางการเมืองโดยเด็ดขาด เพราะจะถือเป็นการละเมิดข้อมูลที่เป็นสิทธิส่วนบุคคล

ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้เเพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชั่นสำเร็จได้ คือ ความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนในการใช้เเพลตฟอร์ม ที่หากสร้างความเชื่อมั่นน้อยลง จะส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์โควิดได้ 1.รัฐจะต้องไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลหรือควบคุมการเดินทางของประชาชน 2.รัฐจะต้องโปร่งใส ตั้งคณะกรรมการในการตรวจสอบข้อมูล 3.ต้องมีตั้งคณะกรรมธิการทั้งรัฐ เอกชน และให้ฝ่ายค้านร่วมด้วยในการตรวจสอบ , 4.รัฐต้องคิดแอปฯมาเพื่อทุกคน โดยไม่มีการใช้แอปซ้ำซ้อน การออกเเบบเเพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชั่นของรัฐบาลจะต้องสามารถให้เข้าถึงประชาชนในทุกระดับทั้งไทยชนะ เเละหมอชนะ และภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลสามารถรักษาระดับการควบคุมโรคของผู้ติดเชื้อได้เเล้วในขณะนี้ เพราะเหตุรัฐบาลจึงต้องคงพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เเละละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน

จิรวัฒน์ ในฐานะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า จากหนังสือราชการของกระทรวงกลาโหม เลขที่  กห0207/1549 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 ที่มีการประชุมของผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาโหม ในการเรียกบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านสื่อ ( กสทช.) เพื่อให้ทางส่วนราชการประกอบโทรศัพท์ ขอข้อมูลของบุคคลที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้นั้น โดยสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังจะคลี่คลาย เมื่อมองถึงตัวเลขของผู้ติดเชื้อ เเละผู้เสียชีวิตแล้ว เหตุใดยังคงต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมเเละลิดรอนสิทธิเเละเสรีภาพประชาชน ข้อสังเกตต่อมาเหตุใด การตั้งคณะกรรมการศบค. เป็นบุคคลในกองทัพทั้งสิ้น ประเด็นที่สำคัญ คือ พรรคก้าวไกล ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกพระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ให้อำนาจรวบเบ็ดเสร็จขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี  เเละคืนอำนาจให้กับประชาชน เพื่อให้เข้าสู่สถานการณ์ปกติ

อัดชัยประเทศไทยอยู่บนคราบน้ำตาประชาชน

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ในการอภิปรายกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563, พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นกฎหมายจำเป็นเร่งด่วนและมีการบังคับใช้แล้วก่อนที่จะส่งให้สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งดำเนินการอภิปรายมาเป็นวันที่ 2 แล้วนั้น จิรวัฒน์ กล่าวว่า พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทรับมือโควิด-19  กรณีวงเงิน 5.5 แสนล้านบาท ที่จะนำมาเยียวยาประชาชนนั้น ตนอยากขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ย้อนกลับไปดูการทำงานเยียวยาในช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาลว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด โดยให้ย้อนดูจำนวนตัวเลขทั้งผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อย ซึ่งตนยอมรับว่าจัดการได้ดีในส่วนนี้ แต่ถ้าถามถึงชัยชนะต่อสถานการณ์ตนไม่อาจตอบได้ ต้องขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเพราะประชาชนและระบบเศรษฐกิจคือผู้แบกรับต้นทุนของการใช้อำนาจกฎหมายและนโยบายมาตรการปิดเมืองของรัฐบาล ในขณะที่ตัวเลขกระทรวงการคลัง 98-99% เป็นความดีใจบนคราบน้ำตาของความหิว ความหวัง ความโกรธในความเชื่องช้าของการเยียวยา

เอไอ- รบ.ดิจิทัล หรือแค่โฆษณาชวนเชื่อ - ทั้งที่ทุ่มงบมหาศาล

จิรวัฒน์ กล่าวว่า ยิ่งกว่านั้น ในกระบวนการลงทะเบียนเพื่อรับการเยียวยา เกิดกรณีเว็บล่มตั้งแต่วันแรกที่มีการลงทะเบียนเยียวยา สิ่งที่รัฐเคยประกาศว่าใช้ระบบ AI ในการคัดกรอง ประชาชนต้องพบเจอการปฏิเสธสิทธิ์อย่างผิดพลาดกับการระบุสถานะ อาชีพ ฯลฯ และที่เลวร้ายที่สุดคือประชาชนมากมายไม่อาจเข้าถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่มีทั้งอุปกรณ์ ไม่มีทั้งอินเทอร์เน็ต ต้องเดือดร้อนไปจ้างวานผู้อื่นให้ลงทะเบียนแทน สิ่งที่ง่ายที่สุดที่ทำได้ ณ ตอนนั้นคือส่วนราชการต้องให้บริการประชาชนอย่างที่พรรคก้าวไกลเองตั้งจุดบริการรับกรอกข้อมูลส่วนนี้  ตนจึงมีคำถามว่า AI ที่ว่านั้นมีจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการโฆษณาว่าเป็นรัฐบาลดิจิตัล 4.0 ในขณะที่ผู้ทำระบบเองซึ่งผ่านการทำ ชิมช้อปใช้, เราไม่ทิ้งกัน มาแล้ว ออกมาเปิดเผยผ่านการไลฟ์ว่า AI ที่ใช้เป็นแบบพื้นฐาน ยังต้องอาศัยแรงงานคนกรอกข้อมูล หมายความว่าสุดท้ายรัฐต้องนำข้อมูลกว่า 28 ล้านข้อมูลนั้นไปให้ข้าราชการตรวจสอบอยู่ดี ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่ใช้ฐานข้อมูลที่รัฐมีอยู่แล้วมาตั้งแต่ต้นอย่างที่หลายๆ ประเทศทำกัน ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนงานรวดเร็วโดยอาจใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ถ้ารัฐทำตามฐานข้อมูลมาตั้งแต่ต้น งบประมาณที่ใช้วันนี้กับสิ่งที่จ่ายตรงไม่ต่างกัน สรุปได้เลยว่าการดำเนินงานของกระทรวงการคลัง ล่าช้า ผิดพลาด และไม่มีประสิทธิภาพ

ย้อนกลับมาที่งบลงทุนของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใน 6 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบโครงสร้างไอซีทีมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นล้านบาท ตนขอถามว่ารัฐบาลดิจิตัล 4.0 นั้นมีจริงไหม ทั้งๆ เคยประกาศวิสัยทัศน์รัฐบาลดิจิตัล เมื่อ 8 มีนาคม 2560 ว่าภายใน 5 ปีรัฐจะต้องมีการทำงานแบบอัจฉริยะ มีการบริการประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ 5 พฤษภาคมที่เพิ่งผ่านมานี้ รัฐยังประกาศพัฒนาระบบคลาวด์กลางต่อเนื่อง 3 ปี 2563-2565 เป็นเงิน 4.7 พันล้านอีกด้วย

ชี้เยียวยากลุ่มผู้เปราะบางไม่ครอบคลุม - ยังต้องพิสูจน์สิทธิ์

จิรวัฒน์ กล่าวว่า การทำงานที่ไม่รัดกุมในการเยียวยา ยังส่งผลให้เห็นเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยต้องมีมติ ครม.ถึง 4 ครั้ง ขยายผู้ได้รับการเยียวยาเรื่อยๆ จาก 3-9-14 และ 16 ล้าน แสดงให้เห็นถึงความไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่เคยใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการคิด และยังเกิดกรณีการจ่ายเงินเยียวยาที่ล่าช้า แสดงให้เห็นประสิทธิภาพในการทำงานและยังมีการหยุดชะงักในวันหยุดราชการ จากวันที่เริ่มจ่ายวันแรก 8 เมษายน ถึงขณะนี้มีวันหยุดที่ประชาชนจะต้องบวกเพิ่มการรอไปแล้วถึงกว่า 10 วัน ตนอยากจะบอกว่าราชการหยุดแต่ความหิวของคนไม่มีวันหยุด จะอ้างว่าโอนเงินไม่สะดวกระบบธนาคารปิดก็ไม่อาจอ้างได้ เพราะพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นให้อำนาจเต็ม ในขณะที่ผู้ปฏิบัติราชการมากมายกลับเอาอำนาจจาก พ.ร.ก. นี้มาใช้หาประโยชน์จากประชาชน

"ในฐานะที่เป็น ส.ส. ขอเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ไปพบกับประชาชนผู้พิการกว่าร้อยคนในบ้านของพวกเขาเองจากการที่ไปเยี่ยมพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงที่ยิ่งลำบากในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งแม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติเมื่อ 6 พฤษภาคม เพิ่มเงินผู้พิการจาก 800 เป็น 1,000 บาท 2 ล้านคน แต่จะจ่ายเดือนตุลาคม 2563 อย่างไรก็ตาม 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ครม.เพิ่งมีมติเยียวยากลุ่มผู้เปราะบาง ประกอบด้วยเด็ก 0-6 ปี 1.4 ล้าน ผู้สูงอายุ 9 ล้านคน ผู้พิการ 2 ล้านคน แต่ทั้งหมดนั้นก็ช้าไปและไม่ทั่วถึง คิดเพียงจำนวนเด็กอย่างเดียวก็เกินที่รัฐระบุตัวเลขจะเยียวยาแล้ว แสดงว่าแม้ในเด็กก็ยังต้องมีการพิสูจน์ความจน ซึ่งถ้าเป็นพรรคก้าวไกลขอเสนอว่า เด็ก อายุ 0-18 ปี ให้จ่ายเยียวยารายละ 3,000 บาท /3 เดือน ถ้วนหน้า" จิรวัฒน์ กล่าว

จี้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน- แนะปรับ ครม. โดยเฉพาะคลัง

จิรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในขณะที่ ศบค. แถลงอย่างดีใจในชัยชนะของการมีตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตน้อย รัฐต้องอย่าลืมมองประชาชนที่อยู่ในความยากลำบาก ลองคิดถึงตัวเลขของผู้ที่เสียชีวิตจากผลกระทบสถานการณ์เศรษฐกิจบีบคั้น เกิดซึมเศร้าในคนหลายๆ อาชีพจนตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองไปแล้วไม่น้อยกว่า 20 คน โดยล่าสุด 23 พฤษภาคมที่เพิ่งผ่านมา ความเครียดจากการรับทราบข่าวขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินทำให้เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งกระโดดตึก 3 ชั้นบาดเจ็บสาหัส พอหรือยังกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่บอกว่า สุขภาพนำเสรีภาพนั้น ที่จริงตนคิดว่ามัน คือ ความมั่นคงทางการเมืองนำสุขภาพและเศรษฐกิจ มากกว่า ซึ่งหากรัฐอยากให้ภาพลักษณ์ดีขึ้น ตนแนะให้ปรับ ครม. กระทรวงการคลัง โดยเฉพาะถ้าอยากให้ดีที่สุดต้องปรับให้เป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชนบนกติกาที่ถูกต้องและบริหารงานเป็น  และขอฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า เงินเยียวยาเหล่านี้คือเงินของประชาชน ไม่มีความจำเป็นต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณรัฐบาล เพราะมันคือหนี้ของทุกคนที่จะต้องชดใช้กันไปรุ่นสู่รุ่น

อัดมาตรากรเยียวยา เปรียบฝนตกไม่ทั่วฟ้าและไม่ตรงฤดูกาล

สุเทพ อู่อ้น ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวในการในการอภิปรายกฎหมาย 3 ฉบับ ดังกล่าวด้วยว่า วิกฤตโควิดในครั้งนี้ได้สร้างผลกระทบกับพี่น้องประชาชนอย่างถ้วนหน้า ไม่มีเลือกปฏิบัติ แต่ด้วยเหตุใดความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลถึงได้เลือกปฏิบัติ มาตรการของรัฐบาลต่างๆ ที่ออกมามีปัญหาไม่ถ้วนหน้าและล่าช้าไม่ทันการณ์ เหมือนฝนที่นอกจากจะตกไม่ทั่วฟ้าแล้ว ยังจะไม่ตกตามฤดูกาลอีกด้วย ประชาชนได้รับความเดือดร้อนโดยตรงจากการประกาศปิดสถานประกอบการต่างๆ ของรัฐบาล และยังมีผลกระทบโดยอ้อมจากการที่เศรษฐกิจถดถอย คนไม่มีกำลังที่จะใช้จับจ่ายใช้สอยได้ เพราะขาดรายได้ ความละเลย เพิกเฉยต่อหน้าที่ในการช่วยเหลือเยียวยาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล มีราคาที่ประชาชนเป็นผู้จ่าย ทั้งการจ่ายเป็นคราบน้ำตา ความหิวโหย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น สำหรับบางคนต้องจ่ายด้วยชีวิต วิกฤตครั้งนี้ที่รัฐบาลประกาศว่า ไทยชนะ โดยต้นทุนของชัยชนะประชาชนคนหาเช้ากินค่ำต้องเป็นผู้จ่ายและแบกรับ

ชี้ไร้เหลียวแลแรงงานในระบบ - ทั้งที่พบปัญหารายได้ลดลงทุกเดือน

ส.ส.ปีกแรงงาน พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทของรัฐบาล มีให้กับประชาชน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกพี่น้องแรงงานนอกระบบ ได้รับ 5,000 บาทต่อคนต่อเดือนที่กว่าจะได้รับก็ล่าช้า ต้องให้พี่น้องประชาชนพิสูจน์ความจนและต้องรอคอย หนำซ้ำต้องรอลุ้นเหมือนซื้อล๊อตเตอรี่ว่าตัวเองจะโชคดีได้รับหรือไม่ กลุ่มที่สองคือเกษตรกร ที่ได้ครัวเรือนละ 5,000 บาท ต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน แต่ก็มีข้อเท็จจริงคือกลุ่มที่สาม คือ แรงงานในระบบประกันสังคมกลับเป็นกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งไม่ได้อะไรเลยจากการเยียวยา พี่น้องแรงงานในระบบประกันสังคมก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน ไม่ได้อยู่ดีมีสุขแบบที่รัฐบาลคิด โดยปกติได้ค่าแรงวันละ 325 บาท ซึ่งพี่น้องแรงงานจะทราบกันดีว่าชีวิตอยู่ได้ด้วยโอที และเงินพิเศษจิปาถะ เช่น ค่าชิ้นงาน ค่ากะ ค่าข้าว และจำเป็นต้องทำโอทีให้ได้เพิ่มวันละ 3 ชั่วโมง นอกเหนือจากที่ต้องทำ 8 ชั่วโมงอยู่แล้ว เพื่อให้มีรายได้ตกวันละ 500 บาท และจะต้องทำงานเดือนละ 26 วัน เดือนนึงจะมีรายได้ตกอยู่ประมาณ 13,182 บาท เพื่อให้มีรายได้พอมีชีวิตยังชีพไปได้ ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำและค่าใช้จ่ายที่สูงขนาดนี้

"แต่เศรษฐกิจเริ่มไม่ดีมาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว จะเห็นได้ว่าพอเริ่มปี 2563 โรงงานหลายแห่งเริ่มลดการผลิตลง ซึ่งจะไม่ต้องทำงานล่วงเวลา ไม่มีโอที  เงินเดือนก็จะลดไปราวๆ 3,000 บาทต่อเดือน เหลือเพียงเดือนละ 10,010 บาท พอช่วงกุมภาพันธ์ สถานการณ์โควิดเริ่มระบาดในจีน เศรษฐกิจยิ่งแย่ลงอีก คราวนี้โรงงานหลายแห่งเริ่มลดชั่วโมงทำงาน และซ้ำร้ายยังลดวันทำงานลงอีก อาจเหลือเพียงรับเดือนละ 7,700 บาท  จากนั้นมีนาคม สถานการณ์เริ่มเลวร้ายหนักเข้าไปอีกมีโรงงานบางแห่งที่เริ่มประกาศให้บางคนหยุดงาน ทั้งนี้ ถ้านายจ้างให้หยุดงาน แรงงานจะได้รับค่าชดเชยจากนายจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 ที่ทำให้เพื่อนๆ แรงงานจะได้เงิน ร้อยละ 75 ของเงินเดือนที่ได้รับ แต่แรงงานก็ยังต้องแบกภาระไม่ได้เงินเองอีกร้อยละ 25 ทำให้รายได้ตลอดทั้งเดือนมีนาคมจะเหลือเพียง 6,337 บาท" สุเทพ กล่าว

ประกาศ ก.แรงงาน แรงงจูงใจผู้ประกอบการหยุดกิจการ - เลิกจ้าง

สุเทพ กล่าวต่อว่า พอประกาศกฎกระทรวงแรงงานว่า กิจการสามารถอ้างเหตุสุดวิสัยในการสั่งหยุดงานได้ ทีนี้โรงงานต่างๆได้ปิดกันเป็นดอกเห็ด  เมื่อประกาศนโยบายเช่นนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ นายจ้างมีแรงจูงใจที่จะประกาศหยุดงานมากขึ้น เนื่องจากจากเดิมที่หลายแห่งก็พยายามประคับประคองให้ยังจ้างงานอยู่ เพราะการที่นายจ้างสั่งหยุดงานแล้วก็ยังต้องจ่ายค่าจ้างเองอยู่ร้อยละ 75  ตามมาตรา 75 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่เมื่อกิจการหลายแห่งอ้างเหตุสุดวิสัยในการปิดชั่วคราว นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเอง แต่ลูกจ้างจะไปรับเงินจากกองทุนชดเชยการว่างงานของประกันสังคม และได้เงินร้อยละ 62 ของค่าแรงตามเพดานของประกันสังคมแทน ทำให้พี่น้องแรงงานที่ต้องประสบชะตากรรมร่วมกันจากมาตรการของรัฐบาล จะเหลือเงินที่จะใช้แต่ละเดือนเพียงเดือนละ 5,239 บาท เท่านั้น ซ้ำร้ายรัฐบาลเองก็ไม่ได้เอางบประมาณมาจ่าย แต่ใช้เงินของกองทุนชดเชยการว่างงานที่เงินหลัก ๆ มาจากการสมทบของพี่น้องแรงงานและนายจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งรัฐสมทบเพียงแค่ร้อยละ 0.25 และรัฐบาลยังไม่ได้ตั้งงบประมาณมาคืนในภายหลังด้วย

"ดูทางฝั่งรายได้ว่าเศร้าแล้วที่รายได้ลดลงเรื่อยๆในแต่ละเดือน แต่รายจ่ายยังคงที่ คือหากพี่น้องแรงงานที่ยังไม่มีลูก ค่าใช้จ่ายจะตกอยู่ประมาณ 7,000 บาทต่อเดือน ฝนตกไม่ทั่วฟ้ามันเป็นอย่างไร สามารถดูได้จาก การแก้ปัญหาวิกฤตโควิด 19 จากมาตรการเยียวยาของรัฐบาลต่อพี่น้องแรงงานและประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก” สุเทพ กล่าว

แนะอัดเม็ดเงินอุดหนุนค่าจ้าง - แลกรักษาสภาพงานไม่ปลดคน 

สุเทพ กล่าวด้วยว่า วิกฤตโควิดยังเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบสวัสดิการสังคมในประเทศนี้ รัฐบาลประกาศชัยชนะแต่เต็มไปด้วยประชาชนที่พ่ายแพ้ การเยียวยาประชาชนเป็นได้เพียงการสงเคราะห์และการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง ไม่ถ้วนหน้า ทิ้งคนไว้ข้างหลังมากมาย ดังนั้น ทางออกของการแก้ปัญหานี้คือ รัฐสวัสดิการที่ถ้วนหน้าเท่าเทียม เงินกู้เงินจำนวนมหาศาลในครั้งนี้ จะสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชนทุกคนโดยครอบคลุม ไม่ต้องพิสูจน์ความเดือดร้อน ไม่ต้องพิสูจน์ความจน โดยจะให้เงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือนแก่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป หากครอบครัวใดมีสมาชิกที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ก็จะได้เสริมอีกรายละ 1,000 บาท เพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชนทุกค นสามารถดำรงชีพได้อยู่เหนือเส้นความยากจนทุกคนอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี แม้จะต้องใช้งบประมาณมากขึ้น แต่จะตัดปัญหาเรื่องวุ่นวายในการพิสูจน์สิทธิ ปัญหาการบริหารจัดการ งานธุรการ แปลว่าเมื่อถึงเวลาทุกคนจะได้รับเงินเยียวยาทันที ประชาชนจะมีความมั่นใจว่าไม่อดตาย วางแผนได้ว่าจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร

"นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการเพื่อรักษาการจ้างงาน ป้องกันไม่ให้คนต้องตกงานด้วย เพราะเมื่อลูกจ้างตกงานจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก พรรคก้าวไกลจึงเสนอจัดงบประมาณอีก 1 แสนล้านบาท เพื่ออุดหนุนค่าจ้างงานให้ลูกจ้างในระบบ 50% แต่ไม่เกิน 5,000 บาทต่อราย และฐานเงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท เพื่อให้สภาพการจ้างยังคงอยู่ ข้อแม้ของเงินอุดหนุนนี้คือนายจ้างจะต้องรักษาการระดับการจ้างงานให้เท่าเดิม ไม่ปลดคนออก ทำให้แรงงานยังคงมีรายได้ และยังคงมีงานทำต่อไป ข้อเสนอดังกล่าว จะทำให้พี่น้องประชาชนกลับมารู้สึกมั่นคง วางแผนได้และจะให้ความร่วมมือ เกิดเป็นความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชน ไม่กลัว Lockdown หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลก็จะได้รับความเชื่อถือจากประชาชน  อีกทั้งนี่จะเรียกได้เต็มปากว่าคือความมั่นคงที่แท้จริง ที่ไม่ได้มาจากการใช้อำนาจ ไม่ได้มาจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เป็นความมั่นคงของพี่น้องประชาชนทุกคน" สุเทพ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net