Skip to main content
sharethis

มันง่ายที่จะประณามคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดว่า ‘ชั่วร้าย’ ที่ยากกว่าคือการย้อนถามว่าอะไรทำให้คนเหล่านี้เข้ามาพัวพันกับยา รู้ทั้งรู้ว่าอาจจบไม่สวย แต่ชีวิตนั้นวกวนและชะตากรรมก็ชอบตลกร้าย ความชั่วร้ายไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดสู่โลกหลังกำแพง ‘ประชาไท’ พาสำรวจกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดียาเสพติด ผ่านซีรีส์ ‘คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง’

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (1): ที่ไหนๆ ก็มีแต่ ‘พวกค้ายา’?, 21 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (2): กฎหมายปิดปาก, 22 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (3): เมื่อกฎหมายปิดปาก ความยุติธรรมก็เงียบงัน, 23 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (4): ยอดต้องได้ เป้าต้องถึง, 24 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (5): การกำจัดปีศาจร้ายโดยไม่เกี่ยงวิธีการ, 26 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (6): ผู้หญิงในคดียาเสพติด ‘สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน’, 27 พ.ค. 63

ในคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญหรือแม้แต่ทำร้ายร่างกายทั่วไปที่ผู้ถูกกระทำมีลักษณะด้อยกว่าผู้กระทำ “เลว” “ชั่ว” “ประหาร” “เดี๋ยวก็หงายการ์ดรู้เท่าไม่ถึงการณ์” หรือด่าทอชนิดเสียผู้เสียคน เป็นข้อความที่ทั้งผมและคุณเห็นเสมอตามหน้าโซเชียลมีเดีย

แน่นอน การกระทำนั้นผิด แต่การกล่าวว่าผู้กระทำชั่วร้ายไม่ใช่สิ่งที่สรุปกันได้ง่ายๆ

คำถามที่เรามักไม่ถาม อะไรหล่อหลอมให้คนคนหนึ่งมีพฤติกรรมอย่างที่แสดงออกมา อะไรคือสาเหตุที่เขาต้องทำ อะไรผลักให้คนคนหนึ่งตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องกระทำความผิด ฯลฯ

ยาเสพติดก็ไม่ต่างกัน เพียงแค่มุมมองด้าน ‘ความสุข’ ก็ไม่เหมือนกันแล้ว ผู้ใช้ยา (คนละกลุ่มกับผู้พึ่งพิงยา) ใช้เพื่อการสันทนาการ เหมือนที่ครั้งหนึ่งยาม้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวบ้านตามต่างจังหวัดเพื่อเพิ่มอรรถรสและกำลังวังชาในการดูมหรสพ กับคนที่มีวิธีหาความสุขต่างออกไปคงไม่มองผู้ใช้ยาว่ากำลังหาความสุข แต่เป็นการทำร้ายตนเอง คนรอบข้าง และสังคมเสียมากกว่า

วีระพันธ์ งามมี ผู้อำนวยการมูลนิธิโอโซน แสดงความเห็นว่า วิธีการหาความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกันคำถามนี้ควรใช้เฉพาะกับผู้ใช้ยาหรือไม่ หรือมันเป็นจริตของโลกใบนี้ การเลือกตั้งคำถามนี้อยู่บนฐานของการมีอคติกับคนกลุ่มหนึ่งที่เลือกวิถีชีวิตของเขาที่ไม่ถูกใจคนกลุ่มอื่นๆ หรือเปล่า

เอาล่ะ นี่ไม่ใช่พื้นที่ถกเถียงประเด็นเสรีภาพในการแสวงหาความสุข

ผมจะชวนสำรวจว่า อะไรผลักไสให้คนคนหนึ่งต้องเข้าไปอยู่ในวงจรยาเสพติด จนมันเสือกไสคนเหล่านั้นให้ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในคุก

บนเส้นทางสู่โลกยาเสพติด

นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระและผู้จัดการโครงการเรือนจำสุขภาวะ เล่าถึงคุณป้าคนหนึ่งที่ตัดสินใจทำหน้าที่เดินยาให้ขบวนการค้ายาเสพติดเพื่อหวังจะนำเงินมาช่วยครอบครัวไม่ให้ถูกยึดที่ดิน คิดเพียงว่าทำครั้งเดียวคงไม่เป็นไร

เหตุผลทางเศรษฐกิจน่าจะมีส่วนสำคัญอยู่มากทีเดียวที่ทำให้หลายคนยินยอมพร้อมใจเข้าสู่วงจร ไม่ว่าจะเสพหรือขาย นางสาวบีเล่าจุดเริ่มต้นบนเส้นทางยาเสพติดให้ผมฟัง

“เริ่มต้นเสพเพราะแฟน ตอนนั้นเราค่อนข้างไม่ทันคน ตอนเด็กๆ อยู่ที่บ้านก็เลี้ยงแบบโบร่ำโบราณ เรียนโรงเรียนหญิงล้วน พอมาเจอคนนี้ เขาอยู่สังคมอีกแบบหนึ่งซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้จักแยกแยะ แล้วเรากลับไปคิดว่าคนนี้แหละที่รักเราก็เลยไปอยู่กับเขา ตอนนั้นพ่อก็ร้องไห้ทีหนึ่งแล้ว แล้วมารู้ว่าติดผงอีก เราก็หมดเนื้อหมดตัว อยู่กัน 6-7 ปี เขาก็โดนจับไป เราก็กลับมาอยู่บ้าน”

มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2561 ชื่อ ‘เพศภาวะและเส้นทางสู่เรือนจำ: การศึกษาเรื่องเล่าของผู้ต้องขังหญิงและผู้ต้องขังชาย คดียาเสพติดในประเทศไทย’ โดยทำการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ต้องขัง 34 ราย เป็นหญิง 18 ราย และชาย 16 ราย จากเรือนจำและทัณฑสถาน 8 แห่ง ทั้งหมดเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดียาเสพติด ส่วนใหญ่อายุ 20-39 ปี

ผู้ต้องขังชายร้อยละ 50 ผู้ต้องขังหญิงร้อยละ 30 มีการศึกษาต่ำกว่าระดับชั้นมัธยมศึกษา ก่อนถูกจำคุก ผู้ต้องขังหญิงร้อยละ 50 ทำงานในกิจการของครอบครัวหรือธุรกิจขายบริการทางเพศ ขณะที่กว่า 1 ใน 3 ค้ายาเสพติดอยู่แล้วก่อนเข้าเรือนจำ ส่วนผู้ชายอัตราส่วนอยู่ที่ร้อยละ 80

ผู้ต้องขังทุกรายทำความผิดฐานจำหน่ายหรือครอบครองเพื่อจำหน่าย เกือบทุกรายเกี่ยวข้องกับยาบ้า โดยผู้ต้องขังชายส่วนใหญ่เป็นทั้งผู้เสพและผู้ขาย ส่วนผู้หญิงมักเป็นผู้เสพเท่านั้น แต่มียาเสพติดปริมาณมากกว่าที่กฎหมายกำหนดจึงถูกตัดสินว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย

งานศึกษานี้ระบุรูปแบบเส้นทางของเธอและเขาไว้ 6 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง-ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก สอง-การคบหาสมาคมกับเพื่อนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน สาม-การกระตุ้นเร้าทางเศรษฐกิจ ข้อ 4 เป็นปัจจัยเฉพาะผู้หญิงคือความไร้เดียงสาและการถูกหลอกลวง ขณะที่ข้อ 5 และ 6 เป็นปัจจัยเฉพาะผู้ชายคือความเคราะห์ร้ายและการแสดงอำนาจความเป็นชาย

เส้นทางสู่เรือนจำของผู้ต้องขังหญิง ข้อ 1-4 มีอัตราส่วนเรียงตามลำดับคือ ร้อยละ 44 ร้อยละ 28 ร้อยละ 17 และร้อยละ 11

เส้นทางสู่เรือนจำของผู้ต้องขังชาย ข้อ 1-3 และข้อ 5-6 มีอัตราส่วนเรียงตามลำดับคือ ร้อยละ 31 ร้อยละ 25 ร้อยละ 19 ร้อยละ 13 และร้อยละ 13

บนเส้นทางสู่โลกหลังกำแพง

ดูเหมือนว่า ‘ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก’ เป็นปัจจัยที่มีผลสูงมากที่ชักพาเธอและเขามาสู่จุดนี้
เช่นกรณีของมานี เธอเสพยาบ้าตั้งแต่อายุ 12 ปี โดดเรียนและเที่ยวเตร่กับเพื่อน เธอใช้มันหลบหนีจากความรุนแรงในครอบครัวที่พ่อกระทำต่อเธอและแม่ อายุ 16 เธอมีแฟนที่ใช้ยาเสพติด อายุ 17 มีลูก แล้วก็แยกทางกัน ชะตากรรมพาเธอมาพบสามีคนใหม่ที่ใช้ความรุนแรงไม่ต่างจากพ่อของเธอ ตอกย้ำบาดแผลวัยเด็กจนเหวอะหวะ เธอกลับไปหาเพื่อนวัยรุ่นและยาเสพติดอีกครั้ง ใช่ ก่อนหน้านี้เธอเลิกไปแล้ว แล้วมันก็พาเธอมาอยู่ในคุก

ผู้ต้องขังชาย 2 คน เติบโตมากับพ่อที่ใช้ความรุนแรง บ้านเป็นสถานที่ที่พวกเขาวิ่งหนีมากกว่าเข้าหา คบเพื่อนเสพยา ผลลัพธ์อย่างที่รู้กัน คนหนึ่งบอกว่าติดคุกเพราะเพื่อนและการติดยาของตน อีกคนบอกว่าเงินจากการทำมาหากินปกติไม่พอซื้อยา เสื้อผ้า และมอเตอร์ไซค์

การถูกพ่อหรือแฟนทำร้าย การถูกทอดทิ้งแต่เด็ก ความรู้สึกที่ไม่เคยทำอะไรถูกสักอย่างในสายตาของคนที่บ้าน บ้างก็ถูกความจนบีบบี้ ผู้ต้องขังหญิงรายหนึ่งเข้าสู่วงจรนี้ด้วยเหตุผลเดียวคือการหาเลี้ยงครอบครัว เธอแต่งงานตั้งแต่อายุ 16 มีลูก 4 คน สามีเธอทิ้งเธอและลูกไปกับหญิงอื่น ค่าแรง 700 บาทต่อเดือน เขียมเท่าไหร่ก็ไม่มีทางพอ บางรายถูกข่มขืนจึงเลือกกลับไปทำสวนที่บ้าน ลูก 1 คน และสามีที่หายสาบสูญจากการทำงานบนเรือประมง สวนสร้างรายได้เพียงเล็กน้อย หนี้สินพอกพูน ผู้ต้องขังรายนี้ผันตัวเป็นผู้ค้ายาประมาณ 2 ปี ปลดเปลื้องหนี้สินได้ มีเงินจุนเจือครอบครัว แล้วก็ถูกจับ

ผู้ต้องขังชายรายหนึ่ง เพื่อนโทรมาถามหาแหล่งซื้อยาเสพติด เขาเล่าให้ผู้ทำการศึกษาฟังว่า

“ผมไม่เคยขายยา ผมมีเงินพอใช้อยู่แล้ว ตอนนั้นแค่อยากจะช่วยเพื่อน นั่นคือเหตุผลที่ทำไมผมถึงมาโดนจับ” เขาไม่รู้ว่าการโทรมาของเพื่อนเป็นการล่อซื้อของตำรวจ

ผู้ต้องขังชายอีกรายหนึ่ง แม้จะมีอาชีพที่มีรายได้เฉียด 50,000 บาทต่อสัปดาห์ แต่มันก็ยังไม่เพียงพอให้เขาแข่งความมั่งมีกับเพื่อนที่ฐานะทางบ้านร่ำรวยได้ ทั้งแต่งรถ แต่งบ้านและคอนโดมิเนียม ซื้อมอเตอร์ไซค์ใหม่ทุกเดือน เพื่อนมีอะไร เขาจะต้องไขว่าคว้าให้ได้เหมือนกัน การขายยาเสพติดจึงเป็นวิธีเดียวที่เขาจะยังสามารถแข่งความร่ำรวยกับเพื่อนและรักษาสถานะทางสังคมไว้ได้

เรื่องราวของพวกเธอและเขาคงสร้างความคิด ความรู้สึกมากมายในใจ คุณอาจเห็นอกเห็นใจบางคน สมน้ำหน้าบางคน เข้าใจถึงแรงผลักดันต่างๆ หรือมองว่าทั้งหมดเป็นแค่ข้ออ้าง ด้วยเชื่อว่ามนุษย์มีทางเลือกเสมอ ผมขอทิ้งไว้เป็นปลายเปิด

เด็ก-เยาวชนในสถานพินิจกว่าครึ่งเป็นคดียาเสพติด

งานวิจัยข้างต้นสรุปไว้ว่า

‘ปัจจัยทางเพศภาวะมีผลต่อการกระทำผิดของผู้ชายและผู้หญิง โดยเหตุผลการกระทำความผิดของผู้หญิงและผู้ชายมีทั้งความคล้ายคลึงและความแตกต่างกัน แต่แก่นสำคัญหรือปัจจัยหลักที่นำไปสู่การกระทำผิดของผู้หญิงและผู้ชาย ได้แก่ 1) ประสบการณ์ที่เลวร้ายในวัยเด็ก 2) การคบหาสมาคมกับเพื่อนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน 3) การกระตุ้นเร้าทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ปัจจัยที่มีผลเฉพาะสำหรับผู้กระทำผิดหญิง คือความไร้เดียงสาและการถูกหลอกลวง ในขณะที่ปัจจัยที่มีผลเฉพาะสำหรับผู้กระทำผิดชาย ได้แก่ ความเคราะห์ร้ายและการแสดงอำนาจความเป็นชาย’

เราพอเข้าใจได้ว่า คำว่า ‘เพื่อนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน’ หมายถึงอะไร แต่การศึกษาว่าพฤติกรรมเบี่ยงเบนเกิดจากสาเหตุใด ไม่ได้อยู่ในกรอบของการศึกษาชิ้นนี้ อาจบางทีพฤติกรรมเบี่ยงเบนมาจากปัจจัย 6 ข้อได้เหมือนกัน มันเป็นลูกโซ่ของเหตุการณ์ที่ส่งทอดมาเรื่อยๆ

ตัวเลขจำนวนคดีเด็กและเยาวชนในฐานความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งหมด จำแนกตามประเภทของยาเสพติด ตั้งแต่ปี 2552-2556 ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่ไม่ค่อยอัพเดทสักเท่าไหร่ ระบุว่า ปี 2556 มีคดีทั้งสิ้น 15,530 คดี ประเภทยาเสพติดสูงสุด 3 อันดับแรกคือยาบ้า 10,482 คดี กระท่อม 2,047 คดี และกัญชา 1,593 คดี

ในส่วนของยาบ้า คดีในปี 2552 มี 7,224 คดีเท่านั้น ยาเสพติดอีกประเภทหนึ่งที่ตัวเลขน่าสนใจคือยาไอซ์ ในปี 2552 และ 2553 ไม่มีตัวเลขเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากยาไอซ์เลย แต่ในปี 2554-2556 กลับมีคดีขึ้นมา 762 คดี 1,444 คดี และ 1,062 คดีตามลำดับ

นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลคดีเด็กและเยาวชนของกรมพินิจฯ ช่วงปี 2558-2561 ยังพบว่าเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีร้อยละ 63 มาจากครอบครัวที่แยกกันอยู่ พ่อแม่หย่าร้าง เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ และกว่าครึ่งเป็นฐานความผิดในคดียาเสพติด

ทางออก

การทำงานเรื่องผู้ต้องขังของนภาภรณ์ ได้พูดคุยกับผู้ต้องขังหญิงไม่น้อย มีการสัมภาษณ์ผู้ต้องขังหญิงครั้งหนึ่งที่เธอยังคงจดจำอย่างยากจะเลือนลบออก เธอเล่าว่า

ผู้ต้องขังหญิงคนหนึ่งเริ่มเดินยาตั้งแต่อายุ 12 ขวบ พ่อแม่ของเธอขายยาในชุมชนแออัด เมื่อถึงเวลาส่งของพ่อกับแม่จะเอายาเสพติดใส่เป้ ให้เธอแต่งชุดนักเรียนพร้อมบอกว่าแต่ละซองต้องนำไปส่งให้บ้านหลังไหน เธอจึงแต่งชุดนักเรียนออกจากบ้านทุกวันแต่ไม่เคยไปโรงเรียน

“จากการที่เราได้คุยกับเขาทำให้เรารู้สึกว่าเขาเกิดผิดที่ผิดทาง เขาวาดรูปเก่ง หน้าตาน่ารัก ฉลาด พ่อแม่ไม่ให้พี่น้องคนอื่นทำ ให้แต่เด็กคนนี้ทำเพราะไม่เคยพลาด แล้วก็จะถูกสั่งว่าถ้าไปเจอพ่อแม่อยู่กับตำรวจไม่ต้องเข้าไป ให้กลับบ้านเลย เด็กคนนี้ก็เอาตัวรอดมาได้เรื่อยๆ จนกระทั่งพ่อแม่โดนจับ”

เรื่องควรจะจบลงตรงนี้ แต่ไม่จบ เด็กหญิงคนนี้ไปเยี่ยมพ่อในคุก ขาใหญ่ที่นั่นสังเกตเห็น คนเป็นพ่อยังอุตส่าห์เล่าเรื่องราวความเฉลียวฉลาดของเธอให้ขาใหญ่รายนี้ฟัง เมื่อเห็นว่ามีแววจึงติดต่อสายที่อยู่นอกคุกให้ไปทาบทามเธอมาร่วมขบวนการ เด็กหญิงเข้าสู่วงจรการค้ายาอีกครั้งในวัย 14 แต่ละสัปดาห์มีเงินผ่านมือ 3-4 ล้านบาท

ทุกเรื่องย่อมมีตอนจบ เธอโดนจับตอนอายุ 17 ใช้ชีวิต 14 ปีในคุก ปัจจุบัน เธอได้รับอิสรภาพแล้วและไม่ได้ข้องเกี่ยวกับยาเสพติดอีก

ส่วนบี ปัจจุบัน เธอไม่ได้ใช้เฮโรอีนอีกแล้ว แต่รักษาด้วยเมทาโดนกับยาจิตเวชที่แพทย์จ่ายให้ เธอกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ

“เราอายุมากแล้ว แล้วพ่อเราคิดตลอดว่าเราติดยาเพราะเขาไม่ให้ความอบอุ่นกับเรา เราอยากให้เขารู้ว่าไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เป็นเพราะเราเองที่มีแฟนไม่ดี ก็เลยอยากเลิก ให้เขาได้รู้ว่าเราทำได้”

ซีรีส์ชุด คนกับยา 'ปีศาจ' บนตาชั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net