“เสื้อแดง” ในฐานะ “รุ่นทางการเมือง”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความคิดต่อจากบทความชิ้นนี้ ความทรงจำของ ‘ปืนลั่นแสกหน้า’: ว่าด้วยคนกรุงเทพฯ เสื้อแดง และปี 2553

ความทรงจำของ ‘ปืนลั่นแสกหน้า’: ว่าด้วยคนกรุงเทพฯ เสื้อแดง และปี 2553

“เสื้อแดง” ตอนนี้อาจไม่ใช่ “ขบวนการทางการเมือง” (political movement) แล้ว มันไม่มีขบวนอะไรที่เรามองเห็นชัดในตอนนี้ แต่มันยังเป็น “ชนชั้นทางการเมือง” (political class – โดยเฉพาะเมื่อถูกคนอื่นมองมา ในเซนส์ “อี๋ ไอ้พวกเสื้อแดง”) หรือ “กลุ่มความสำนึกรู้ทางการเมือง” (political consciousness) แบบนึงอยู่ ในลักษณะที่คนยังระบุได้อยู่ว่า “ฉันเป็นคนเสื้อแดง”

อย่างไรก็ตามมันอาจมีลักษณะผูกกับเหตุการณ์ในเวลาอยู่เหมือนกัน ถ้าเรามองว่ามันต้องอาศัยประสบการณ์ร่วม เพื่อจะกลายสภาพตัวเองมาเป็นเสื้อแดง ในแง่นี้ ความเป็นเสื้อแดงจึงไม่ได้อยู่เฉพาะตรงอุดมการณ์ทางการเมือง แต่มันมีลักษณะของการมีความทรงจำร่วมกัน และไม่ใช่ความทรงจำเกี่ยวกับคนอื่นในอดีต แต่เป็นความทรงจำที่มีร่วมกันก็เพราะได้สร้างร่วมกันในขณะเวลานั้น ซึ่งการโฆษณาชวนเชื่อใดๆ ไม่สามารถลบหรือเปลี่ยนความทรงจำนี้ได้ เพราะนี่เป็นความทรงจำที่เกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง

“คนเสื้อแดง” จึงมีลักษณะเป็น “รุ่นทางการเมือง” (political generation?) ด้วย ในลักษณะเดียวกับ “คนเดือนตุลา(16+19)” “คนรุ่นพฤษภา(35)” เพียงแต่ความขัดแย้งยาวนาน รวมถึงการชุมนุมและการล้อมปราบต่างๆ ประกอบกับการที่การเมืองระดับรากหญ้ามันลงหลักแพร่หลาย มันเลยทำให้คนร่วมรุ่นนี้ มีจำนวนมากกว่ามาก

ทำนองเดียวกับที่คนรุ่นถัดมาอาจร้องและเต้นเพลง “เกรงใจ” ของแรพเตอร์ได้ แต่ไม่รู้หรอกว่า การใช้ชีวิตอยู่ในสมัยที่เพลงนี้เปิดทุกที่ทุกผับมันเป็นยังไง แต่โอเค เราดีใจที่ผับยังเปิดเพลงนี้อยู่ และคนยังเต้นกับมันอยู่ แม้จะเป็นคนที่ไม่ได้เกิดในยุคสมัยนั้น แต่เราก็ร่วมความทรงจำนี้ได้ คือไม่ได้กีดกัน ไม่ได้แนวว่า อี๋ พวกเด็กอยากเรโทร (ทำนองที่ไปแซะ “ติ่งส้ม”) เพียงแต่ เฮ้ย มันมีความต่างอยู่จริงๆ ในแง่การเคยไปอยู่ตรงนั้น แต่เราไม่ได้หวงนะ ถ้าชอบก็มาเต้นด้วยกัน เต้นหลายคนก็สนุกหลายคน และนับจากตรงนี้ไป เราก็เป็นพวกเดียวกันได้ เต้นด้วยกันได้

การนับว่า “คนเสื้อแดง” คือรุ่นทางการเมืองแบบหนึ่ง น่าจะทำให้คำอธิบายมันง่ายขึ้นด้วย เพราะในแง่อุดมการณ์ทางการเมือง คนเสื้อแดงเองก็มีเฉดต่างๆ กันไป

การอธิบายแบบนี้ไม่ได้ต้องการลดความซับซ้อนของความต้องการและแรงขับดันของแต่ละคนที่เคยอยู่หรือยังอยู่ในขบวน(ที่ใดที่หนึ่ง) แต่น่าจะช่วยรวมคนเสื้อแดงเข้าด้วยกันได้สะดวกขึ้น และอาจต้อนรับคนเข้ามาร่วมได้มากขึ้น ถ้าเรามองว่าภาวะที่เราอยู่กันตอนนี้ มันยังไม่จบ เป็นภาวะยาวนาน สามารถกินเวลาได้เป็นชั่วรุ่นคน

 

ที่มา: https://bact.cc/2020/red-shirt-generation

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท