Skip to main content
sharethis

เผย Nikon จะเลิกจ้างคนงานในไทย 500 คน หลังยอดขายกล้องไม่ดีนัก

Nikkei รายงานว่า Nikon ได้เลิกจ้างคนงานในพื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างธุรกิจกล้องดิจิทัลเนื่องจากรายได้ที่หายไปอย่างต่อเนื่องในช่วงการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา

การลดจำนวนพนักงานในส่วนของสายพานผลิตนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา ลากบาวจนถึงปลายเดือนมีนาคม โดย Nikon ปลดพนักงานออกทั้งสิ้น 700 คน ประเทศไทยได้รับผลกระทบมากที่สุดที่ 500 คน ส่วนในประเทศลาวมีการปลดทั้งหมด 200 คน โดยตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นจำนวน 10% ของพนักงานทั้งหมดในแต่ละประเทศ

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนากระทบยอดขายของ Nikon อย่างมหาศาล โดยบริษัทประกาศกำไรสุทธิในวันพฤหัสบดี ลดลงไปถึง 88% เป็นเงิน 7.6 พันล้านเยน (70 ล้านดอลลาร์) ในไตรมาสที่ผ่านมา

นอกจากยอดขายจะลดแล้ว การแพร่ระบาดของไวรัสทำให้ Nikon ต้องเลื่อนการเปิดตัวกล้องรุ่นใหม่อย่าง D6 ซึ่งนับเป็นกล้องที่่ช่างภาพหลายคนต่างรอคอย ย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขายไปด้วย

Hiroyuki Ikegami รองประธานอาวุโสของ Nikon กล่าวว่า “เราจะปรับขนาดการผลิตให้เหมาะสมยิ่งขึ้น” เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้

ที่มา: beartai.com, 30/5/2563

จ.ภูเก็ต ส่งแรงงานชาวเมียนมา กว่า 100 คน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลับไปตั้งหลักที่ประเทศบ้านเกิด

29 พ.ค. 2563 ที่สถานีขนส่งจังหวัดภูเก็ตแห่งที่ 2 ต.รัษฎา อ.เมือง นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยว่าที่ ร.ต.วิกรม จากที่ ปลัดจังหวัดภูเก็ต นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ นายอำเภอเมืองภูเก็ต นายสันติ นันตสุวรรณ จัดหางานจังหวัดภูเก็ต นายบัญญัติ คันธา ขนส่งจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ต สมาคมมิตรภาพอันดามัน สมาคมไทย-เมียนมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันอำนวยความสะดวกแก่แรงงานชาวเมียนมาใน จ.ภูเก็ต ที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศ หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากสถานประกอบการได้ปิดกิจการ โดยก่อนออกเดินทางกลับภูมิลำเนา แรงงานชาวเมียนมาทุกคนต้องได้รับการตรวจคัดกรองจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และต้องผ่านการตรวจคนเข้าเมืองทุกคน

สำหรับแรงงานชาวเมียนมา ที่เดินทางกลับประเทศรอบแรก วันนี้ ทั้งหมดจะเดินทางโดยรถบัส จำนวน 6 คัน ออกจาก บขส.ภูเก็ต ไปส่งยังจังหวัดระนองเพื่อข้ามชายแดนกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมของตัวเอง

นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานชาวเมียนมาเดินทางกลับประเทศไทยครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่กระทรวงมหาดไทยได้มีการประสานความร่วมมือกับทางสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ในการที่จะนำผู้ใช้แรงงานสัญชาติเมียนมาเดินทางกลับประเทศ ผ่านช่องทางเข้า-ออก 3 ช่องทาง ที่ด่านแม่สอด , แม่สาย และด่าน จ.ระนอง

วันนี้จังหวัดโดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสมาคมไทย-พม่า ขนส่งจังหวัด สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สาธารณสุขจังหวัด อำเภอเมือง ได้ดำเนินการในเรื่องการจัดลงทะเบียน ของแรงงานต่างด้าว ที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศ แล้วก็ส่งไปขออนุญาตทางสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ได้รับแจ้งให้จัดส่งคนผ่านไปทางด่านท่าเรือที่ระนอง ได้ในวันนี้

“ในส่วนของ จ.ภูเก็ต จากที่ลงทะเบียนไว้โดยสมาคมไทย-เมียนมาเป็นผู้ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ จะมีผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมาเดินทางออกจาก จ.ภูเก็ต ทุกวันพุธและวันศุกร์ เราคาดการณ์ว่ามีผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมาอยู่ในพื้นที่ประมาณ 60,000 คน แล้วก็คาดว่าลงทะเบียนเพื่อที่จะกลับเมียนมาประมาณ 5,000 คน มีการเปิดจุดให้ลงทะเบียนใน 3 จุดด้วยกัน ขบวนแรกที่ได้เดินทางออกไปแล้ว เราได้แจ้งไปที่ปลายทางคือระนอง และรายงานกระทรวงมหาดไทยแล้ว เนื่องจากบางคนไม่มีพาสปอร์ตตัวจริง แต่ทางด่านที่ระนองผ่อนผันให้ ถ้าออกไปที่เกาะสองไม่ได้ก็จะเป็นภาระของ จ.ระนองในการกักตัวอีก” นายภัคพงศ์ กล่าว

ที่มา: เสียงใต้รายวัน, 30/5/2563

ราชกิจจาฯ ประกาศให้ 'พรรคพลังแรงงานไทย' สิ้นสภาพเป็นพรรคการเมือง

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่องพรรคพลังแรงงานไทยสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตามที่นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่องรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคพลังแรงงานไทยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 นั้น พรรคพลังแรงงานไทยต้องดำเนินการตาม มาตรา33 วรรคหนึ่ง(1)และ(2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นายทะเบียนพรรคการเมืองรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า

พรรคพลังแรงงานไทยไม่สามารถดำเนินการ ตามมาตรา33 วรรคหนึ่ง(2)แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดจึงเป็นเหตุให้พรรคพลังแรงงานไทยสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตามมาตรา91 วรรคหนึ่ง(1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ.2560

คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงประกาศให้พรรคพลังแรงงานไทยสิ้นสภาพความเป็น พรรคการเมืองตามมาตรา91 วรรคหนึ่ง(1) และวรรคสองแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ.2560 ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปประกาศณวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2563 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง

ที่มา: Spring News, 29/5/2563

กมธ.แรงงาน ชี้รัฐบาลควรเร่งช่วยเหลือกรมแรงงานที่รับผลกระทบช่วงโควิด-19 โดยไม่เลือกปฏิบัติ และปรับการบริหารงบฯ ประกันสังคมให้ทันเหตุการณ์

นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าได้รับหนังสือร้องเรียนจากนายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาลูกจ้างยานยนต์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบตามที่รัฐบาลได้กำหนดมาตราการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัฐโคโรนา-19 โดยการออกกฎกระทรวงของรมว.แรงงาน เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 63 เรื่องการรับประโยชน์ทดแทน ในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดมาจากการระบาดโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 เพื่อนำเงินกองทุนประกันสังคม กรณีว่างงาน มาช่วยเหลือผู้ประตนตามมาตรา 33 ในขณะเดียวกัน กฎกระทรวงดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานกระทบต่อความมั่นคงโครงการลงทุนประกันสังคมและทำให้นายจ้างสถานประกอบการเพื่อให้ตกเป็นภาระจากกองทุนประกันสังคม

นายสุเทพกล่าวว่า การเยียวยาผู้ใช้แรงงานที่กระทบจากการแพทยระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต้องไม่เลือกปฏิบัติ และรัฐบาลต้องไม่แทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคมต้องการใช้เงินกองทุนประกันสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานอย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ และเสนอกระทรวงแรงงานตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการระบาดของโรคปลอดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วยตัวแทนนายจ้างลูกจ้าง ภาครัฐองค์กรณ์เอกชัน และวิชาการ ทั้งหมดนี้คณะกรรมาธิการจะได้รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ที่ได้รับผลกระทบรวมไปถึงจะได้นำไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อดำเนินการต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 29/5/2563

คสรท.นำคนงานวิงสแปนขอความเป็นธรรม รมว.แรงงาน หลังถูกเลิกจ้าง 896 คน

28 พ.ค. 2563 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดยนายชาลี ลอยสูง รองประธานฯ พร้อมด้วยนางสาวอำไพ วิวัฒนสถาปัตย์ ประธานสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์และคนทำงานสนามบินแห่งชาติ ได้เข้ายื่นหนังสือ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (หม่อมเต่า) กรณีการเลิกจ้างคนงาน และประเด็นที่ได้รับผลกระทบหยุดปฏิบัติงานชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย บริษัทวิงสแปนที่เป็นบริษัทเอาต์ซอร์ซให้กับการบินไทย ได้ให้มีการประกาศหยุดงาน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 ในประเด็นมาตรการให้ความช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน กรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ประเด็นปัญหาหลักๆ คือ เรื่องสิทธิประกันสังคม และการเลิกจ้างอันจะนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาและป้องกันการใช้โอกาสในการเลิกจ้างพนักงาน มาตราการเงินช่วยเหลือ 13 % และ เรื่องการขยายสิทธิ์ประโยชน์ประกันสังคมเหตุสุดวิสัย 62%

นางสาวอำไพ วิวัฒนสถาปัตย์ กล่าวว่า เนื่องจากมีปัญหาการเลิกจ้างคนงาน 896 คน โดยอ้างถึงผลกระทบจากปัญหาเศราฐกิจและโรคระบาด ซึ่งคนงานทำงานบริษัทวิงสแปนฯ ที่เป็นบริษัทเอาต์ซอร์ซให้กับการบินไทย ซึ่งได้ให้มีการประกาศหยุดงาน 3 เดือนแล้ว(1เม.ย.-มิ.ย.63) โดยให้คนงานไปรับสิทธิแรงงานในระบบประกันสังคมตั้งแต่ 7 พ.ค.63และมีหนังสือสิ้นสุดสัญญาจ้างส่งถึงคนงาน 896 คนเป็นรายบุคคล ปัญหาคือคนงานที่ส่งประกันสังคมครบ 6 เดือน ให้ไปขอหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทน ฯ ได้ที่บริษัทและนำไปยื่นให้ประกันสังคมพื้นที่ 2 เพื่อรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฏหมายว่าด้วยโรคติดต่อ 62%เป็นเวลา 90 วัน ถ้าถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธขอให้ด่วน เนื่องจากผู้ตรวจแจ้งสิทธิ์เกิดตั้งแต่นายจ้างหักเงินสมทบ

โดยสำหรับลูกจ้างที่ส่งประกันสังคมไม่ครบ 6 เดือนให้ไปขอคำสั่ง ประโยชน์ทดแทนได้ที่ประกันสังคมในแต่ละพื้นที่ และให้ไปยื่นทบทวนสิทธิ์ เราไม่ทิ้งกัน 5,000 บาทที่ธนาคาร กรุงไทย ออมสิน ธกส ภายในวันที่ 29 พ.ค. นี้เท่านั้น ทางประกันสังคมแจ้งว่าส่งรายชื่อผู้ประกัน 80,000 รายให้กับกระทรวงการคลัง ในส่วนของผู้ประกันตนที่ส่งประกันสังคมไม่ครบ 6 เดือน ให้ไปรับเราเงินไม่ทิ้งกัน 5,000 บาท

ทั้งนี้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานได้ประสานกับทางรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เพื่อให้คนงานเข้าพบเพื่อรับสิทธิเราไม่ทิ้งกัน 5,000 บาทในส่วนของคนงานที่ส่งเงินสมทบประกันสังคมไม่ครบ 6 เดือน

ที่มา: ว๊อยซ์เลเบอร์, 28/5/2563

กลุ่มส่งอาหารเดลิเวอร์รี่เมืองพัทยา ไม่พอใจศูนย์การค้าชื่อดังห้ามใส่เครื่องแบบเข้าพื้นที่หวั่นแพร่โควิด-19

กลุ่มส่งอาหารเดลิเวอร์รี่เมืองพัทยา โวยศูนย์การค้าชื่อดังย่านพัทยาเหนือ ห้ามใส่เครื่องแบบที่มีโลโก้บริษัทเข้าส่งของและสั่งสินค้าพื้นที่ด้านใน อ้างอาจเป็นพาหะแพร่เชื้อโควิด-19 เหตุเดินทางไปหลายที่ แจงก่อนหน้าก็ส่งสินค้าตามปกติแต่เมื่อมีมาตรการผ่อนปรนกลับทำไม่ได้

จากกรณีที่ผู้ให้บริการส่งอาหารเดลิเวอร์รี่ในเมืองพัทยา ได้ร้องเรียนต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับมาตรการของศูนย์การค้าชื่อดังแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนถนนพัทยาเหนือ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ที่สั่งห้ามไม่ให้พนักงานรับส่งของเดลิเวอร์รี่สวมชุดเครื่องแบบพนักงานประจำค่ายต่างๆ เข้าไปภายในศูนย์การค้าฯ โดยอ้างว่าได้รับคำสั่งจากเมืองพัทยา เรื่องการไม่อนุญาตให้กลุ่มเดลิเวอร์รี่ใส่ชุดเข้าไปสั่งและส่งของในห้าง เพราะอาจเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความงุนงงให้กับผู้ให้บริการส่งอาหารเดลิเวอร์รี่ในเมืองพัทยาเป็นอย่างมากนั้น

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก น.ส.วันวิสาข์ พละกาบ อายุ 23 ปี พนักงานส่งอาหารเดลิเวอร์รี่เครือข่ายแกร๊บไบค์ ว่าในการทำงานของพนักงานจะต้องมีการถ่ายภาพเสื้อคู่กับสินค้าเพื่อส่งให้กับลูกค้าได้ตรวจสอบทุกครั้ง ซึ่งชุดที่สวมใส่พนักงานจะต้องซื้อกับบริษัทในราคาชุดละ 300 บาท

แต่สุดท้ายกลับถูกทางศูนย์การค้าฯ ห้ามไม่ให้ใส่เครื่องแบบเข้าไปสั่งและส่งของ และเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยของศูนย์การค้าฯ สั่งให้ถอดเสื้อผ้าที่มีสัญลักษณ์ของบริษัทออกทั้งหมดก่อนจะเข้าห้าง

โดยให้เหตุผลเพียงว่าเป็นคำสั่งของผู้บริหาร ซึ่งตนเองในฐานะที่เป็นผู้หญิงคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่จะต้องถอดเสื้อคลุมออกจนเหลือเพียงเสื้อผ้าบางๆ ชั้นใน

เช่นเดียวกับ นายณรงค์ศักดิ์ สุขสงวน 30 ปี ที่เผยว่ากลุ่มผู้ส่งอาหารเดลิเวอร์รี่จะมารอรับออเดอร์กันในศูนย์การค้าเป็นปกติแล้ว และส่วนใหญ่ก็จะสวมแจ็กเก็ตเข้าไปแจ้งรหัสสินค้าเพื่อรอรับสินค้าจากร้านค้า หรือในกรณีที่บุคคลภาย ในศูนย์การค้าสั่งของจากร้านค้าภายนอก พนักงานก็ต้องไปส่งโดยเป็นการทำงานตามปกติแม้จะอยู่ในช่วงที่มีคำสั่งปิดห้าง ฯ หรือศูนย์การค้าตามปกติ

กระทั่งมีการผ่อนผันให้ห้างฯ และศูนย์การค้าเปิดให้บริการได้ พนักงานเดลิเวอร์รี่ที่สวมแจ๊กเก็ตหรือเสื้อที่มีโลโก้ค่ายสินค้ากลับถูกห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่ภายใน โดยให้เหตุผลว่าพนักงานส่งอาหารเดลิเวอร์รี่เป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะเดินทางไปหลายที่จึงไม่สามารถตรวจสอบได้

ที่สำคัญยังมีการอ้างคำสั่งของเมืองพัทยา ที่ทางห้างฯ และศูนย์การค้าแจ้งว่ามีข้อตกลงร่วมกัน แต่เมื่อถามหาเอกสารคำสั่งกลับไม่สามารถนำมาให้ตรวจสอบได้

อย่างไรก็ดีในวันนี้ ( 29 พ.ค.) นายมาโนชย์ หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยาได้ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า เมืองพัทยา ไม่เคยทำข้อตกลงกับห้างสรรพสินค้าใดๆ เรื่องห้ามให้พนักงานส่งของเข้าไปรับสินค้าและส่งสินค้าภายในห้างฯ หลังมาตรการผ่อนปรนระยะ 2 เพียงแต่ขอความร่วมมือให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดไข้ และใช้เจลล้างมือ รวมทั้งเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด

" ก็ไม่รู้ได้ว่าเกิดเหตุนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ขอยืนยันว่าไม่มีการออกคำสั่งใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเรื่องมาตรการเป็นเรื่องของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าคณะทำงาน และหากมีมาตรการนอกเหนือในการผ่อนปรนหรือบังคับใช้ใหม่ๆก็จะต้องมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร แต่การกำหนดพื้นที่สำหรับพนักงานส่งของในศูนย์การค้าแห่งนี้ก็ไม่ทราบได้ว่าเป็นมาตรการเฉพาะหรือมีการป้องกันพิเศษอย่างไร" รองนายกเมืองพัทยา กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 29/5/2563

การค้ามนุษย์พุ่ง หลังแรงงานกัมพูชาหาทางข้ามแดนเข้าไทยช่วงปิดด่านเฝ้าระวังโควิด-19

กัมพูชากำลังเผชิญกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ระลอกใหม่เมื่อบรรดาคนงานที่สิ้นหวังกำลังใช้วิธีผิดกฎหมายในการข้ามแดน เพื่อหางานทำในไทย เนื่องจากด่านชายแดนยังห้ามคนเข้าออกเพราะการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ชาวเขมรราว 90,000 คน เดินทางกลับบ้านเกิดจากไทยก่อนประกาศปิดด่านชายแดนห้ามคนเข้าออกในเดือน มี.ค. เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และพวกลักลอบค้ามนุษย์กำลังช่วยชาวเขมรเหล่านี้หาทางกลับเข้าไปหางานทำ จัว บุน เอง หัวหน้าหน่วยต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลกัมพูชา กล่าว

“ผู้ที่ข้ามพรมแดนกำลังทำผิดกฎหมาย แต่พวกค้ามนุษย์ที่สมรู้ร่วมคิดกับบริษัทเอกชนในไทยทำผิดยิ่งกว่า” จัว บุน เอง กล่าวกับนักข่าว

ซาร์ เค็ง รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ประจำการอยู่ใกล้ชายแดนกำลังเฝ้าระวังอย่างเต็มที่

คาดว่ามีชาวเขมรมากกว่า 2 ล้านคน ที่ประมาณครึ่งหนึ่งไม่มีเอกสารรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กำลังทำงานอยู่ในไทย โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ประมง และการผลิต ที่เต็มไปด้วยรายงานเกี่ยวกับการใช้แรงงานทาสและการละเมิดสิทธิแรงงาน

เนื่องจากด่านพรมแดนยังไม่เปิดให้คนเข้าออกและการรับสมัครงานตามปกติยังไม่เปิดดำเนินการ ‘นายหน้าท้องถิ่น’ กำลังหาประโยชน์จากกลุ่มคนเหล่านี้ที่กำลังดิ้นรนจากปัญหาหนี้สินและเริ่มอับจนหนทางมากยิ่งขึ้น กลุ่มสิทธิมนุษยชน กล่าว

“พวกนายหน้ารู้ช่องทางผิดกฎหมาย พวกเขามีเครือข่ายทั้งสองฝั่งชายแดน นี่เป็นโอกาสทองของพวกเขา” เจ้าหน้าที่จากศูนย์พันธมิตรแรงงานและสิทธิมนุษยชน ระบุ

“บางครั้งพวกเขามีงานให้ บางครั้งก็ไม่มี ไม่ว่าทางใดก็ตาม ไม่ช้าแรงงานต่างด้าวที่ก้าวข้ามเขตแดนโดยไม่มีเอกสารรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พวกเขาก็ได้กลายเป็นบุคคลที่มีความเปราะบางโดยสมบูรณ์” เจ้าหน้าที่จากศูนย์พันธมิตรแรงงาน กล่าว

และเมื่อแรงงานเขมรอยู่ในไทย พวกเขาก็อาจถูกเอาเปรียบจากทั้งนายหน้าและนายจ้างที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่สูงมากสำหรับการเดินทาง เอกสาร และการหาตำแหน่งงาน จนหลายคนติดอยู่ในกับดักหนี้สิน

ผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบองที่มีพรมแดนติดกับไทย กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ทางการสามารถจับกุมชาวเขมร 2 คนที่เป็นผู้บงการการค้ามนุษย์ และบรรดาผู้ที่ลอบข้ามแดนผิดกฎหมายนั้น พวกเขากำลังตอบสนองต่อความต้องการแรงงานอย่างเร่งด่วนของฟาร์มในฝั่งไทย

เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานการโยกย้ายถิ่นฐานของสหประชาชาติในกัมพูชา ระบุว่า ความจำเป็นเรื่องการจัดการหนี้สินก้อนใหญ่เป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ชาวเขมรเข้าสู่การโยกย้ายอย่างไม่ปลอดภัยนี้ หนี้สินจากการกู้เงินโดยเฉลี่ยของกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 3,800 ดอลลาร์ต่อผู้กู้ นับว่าสูงที่สุดในโลก และมากกว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีถึง 2 เท่า

กัมพูชาจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ถึง 229 คนในปี 2562 ตามการระบุของหน่วยงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาล เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 224 คนในปีก่อนหน้า ในช่วงเวลาเดียวกัน มี 456 คน เป็นอิสระจากการตกเป็นทาสในกัมพูชา เพิ่มขึ้นจาก 230 คน ขณะที่ 290 คน ได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่ถูกบังคับแต่งงานในจีน

กัมพูชาถูกปรับลดอันดับให้อยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อปีที่ผ่านมาในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่ากัมพูชาต้องแสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงหรือเผชิญต่อมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ.

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 29/5/2563

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจฯ ตั้ง 'คณะทำงานฟื้นฟูการบินไทย' ขับเคลื่อนคู่ขนานกับรัฐบาล

27 พ.ค. 2563 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 'มติเอกฉันท์องค์กรสมาชิก สรส. แต่งตั้งคณะทำงานฟื้นฟูการบินไทย' ระบุว่าตามที่รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติในการฟื้นฟูบริษัทการบินไทย โดยผ่านกระบวนการล้มละลายอันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการฟื้นฟูการบินไทยตามแผนที่ฝ่ายบริหารได้จัดทำขึ้น และได้เสนอผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สังกัดกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และผ่านคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปก่อนหน้านี้กว่า 2 ปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าทุกฝ่ายมีการรับรู้ในการดำเนินการทำแผน มีการรายงานทุกครั้งในการประชุม คนร. ยกเว้น สหภาพแรงงานและพนักงานที่ไม่มีส่วนรับรู้แต่ประการใด

จนในที่สุดกระบวนการฟื้นฟูตามแผนเดิมที่ผู้บริหาร สคร. คนร. และ ครม. รับรู้และมีส่วนร่วมนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิงแต่ปราศจากผู้รับผิดชอบจนในที่สุดต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและจะค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทยฟื้นฟูอีกเป็นจำนวน 54,000 ล้านบาท จนสังคมต้องก่นด่าผ่านสื่อออนไลน์รวมทั้งสื่อมวลชนต่างพร้อมใจกันเสนอข่าวและเป็นช่วงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และรัฐบาลต้องออก พ.ร.ก. กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทเพื่อเยียวยาประชาชน และยังไม่ทันเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ยังไม่ยื่นต่อศาลล้มละลาย ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะทำงานในการฟื้นฟู กระทรวงการคลังก็ได้ขายหุ้นบริษัทการบินไทยออกไปทันทีจำนวน 69 ล้าน หุ้น ๆ ละ 4.03 บาท จำนวนเงิน 278 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.17 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง ๆ ที่การบินไทยมีหนี้สินสูงถึง 276,000 ล้านบาท

ซึ่งการขายหุ้นออกไปจำนวนดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้สถานะหนี้ของการบินไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแต่ประการใด แต่การขายหุ้นออกไปจนกระทรวงการคลังถือหุ้นน้อยว่าร้อยละ 51 ทำให้บริษัทการบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ และทำให้การตรวจสอบ การมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูจากพนักงานการบินไทยสิ้นสุดลงตามนัยของกฎหมายเพราะจะทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยสิ้นสภาพไปด้วย จากนี้ไปการดำเนินการก็ปราศจากการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบจากคนการบินไทย

จากที่กล่าวมาคงกล่าวได้ว่านี่คือ “ขบวนการปล้นการบินไทย สายการบินแห่งชาติ” “คือขบวนการล้มสหภาพแรงงาน” ซึ่งได้พยายามทำมาก่อนหน้านี้และมาบรรลุในสถานการณ์ไวรัสโควิด-๑๙ และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และที่สำคัญ “คนที่พยายามทำลายการบินไทย สายการบินแห่งชาติ ตั้งแต่ต้น นับแต่ปี พ.ศ.2544 ก็ยังเป็นเสนาบดีในรัฐบาลชุดนี้” ทั้งที่จริงแล้ว เมื่อมีเหตุที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยผ่านกระบวนการโดยศาลล้มละลายทุกอย่างต้องหยุด เพื่อรอคำสั่งของศาลว่าให้ดำเนินการอย่างไร แต่กรณีนี้เร่งรีบในการขายหุ้น เร่งรีบแย่งชิงในการเสนอคนของตนเองเข้าไปเป็นคณะทำงาน และคณะกรรมการในการตรวจสอบของรัฐมนตรีและพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง...ซึ่งชี้ให้เห็นถึงเงื่อนงำที่ไม่น่าไว้วางใจ

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มีนโยบายที่แจ่มชัดในการต่อต้านการแปรูปรัฐวิสาหกิจ ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ มีองค์กรสมาชิกที่เป็นสหภาพแรงงานทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชนและลูกจ้างภาครัฐ จำนวน 44 แห่ง และมีสาขาภูมิภาค 9 สาขาและศูนย์ประสานงาน สรส. ประจำจังหวัดเกือบทุกจังหวัดได้สื่อสารและหารือกันเป็นระยะในสถานการณ์ที่ผ่านมา และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดและรัฐวิสาหกิจเป็นกำลังอันสำคัญในการเป็นเครื่องมือของรัฐบาล

แต่สำหรับเรื่องการบินไทยกับการตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก สรส. จึงได้เชิญประธานสหภาพแรงงานองค์กรสมาชิกทุกแห่ง ที่ปรึกษา และ “คนการบินไทย” มาร่วมประชุมหารือเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่เป็นทิศทางเดียวกันคือ “ไม่ไว้วางใจต่อกระบวนการในการฟื้นฟูของรัฐบาล” เพราะการฟื้นฟูนั้น ไม่ได้เริ่มที่การค้นหาความจริงและการทำความจริงให้ปรากฏ เพราะทราบกันดีว่าปัญหาที่แท้จริงของการล้มละลายของบริษัทการบินไทย สายการบินแห่งชาติ คือการทุจริต ของนักการเมืองและผู้บริหาร ทั้งทุจริตเชิงนโยบายและการบริหารงานในการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่นการจัดซื้อเครื่องบิน การเปลี่ยนเครื่องยนต์ การให้ผู้แทนจำหน่ายบัตรโดยสาร การตั้งบริษัทลูกเพื่อแข่งขันในสายการบินต้นทุนต่ำ เป็นต้น แต่สุดท้ายมาจบลงที่การลดเงินเดือน ใส่ร้ายพนักงานที่ตั้งใจทำงานและยุบสหภาพแรงงาน คือเงื่อนงำที่ไม่อาจไว้วางใจและยอมรับได้

ที่ประชุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะต่อสู้ร่วมกันจนถึงที่สุด เพื่อให้บริษัทการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ ที่เป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติต่อไป และได้มีการตั้ง “คณะทำงานฟื้นฟูการบินไทย” โดยคณะทำงานประกอบด้วยประธานสหภาพแรงงานองค์กรสมาชิกของ สรส. และ “คนการบินไทย” ที่ยังมีจิตใจต่อสู้ โดยมีเลขาธิการ สรส. เป็นประธานคณะทำงาน และจะเชิญภาคี แนวร่วม พันธมิตร ทั้งที่เป็นองค์กรภาคประชาชน องค์การแรงงาน นักวิชาการ ที่ยังคงรัก หวงแหนการบินไทย สายการบินแห่งชาติ และวางจังหวะก้าวในการขับเคลื่อนคู่ขนานกับรัฐบาล และจะแถลงให้ทราบการดำเนินงานเป็นระยะต่อไป ขอให้องค์กรสมาชิกติดตามและร่วมกันขับเคลื่อนตาม มติ สรส. และคณะทำงานต่อไป

“ร่วมปกป้องการบินไทยให้เป็นสายการบินแห่งชาติ เพื่อความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติ” สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ระบุ

ที่มา: สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.), 27/5/2563 

สื่อเผยพบ 3 ใน 4 ของแรงงานเมียนมาที่ตกงานเพราะ COVID-19 เดินทางกลับประเทศ เผยจะไม่กลับมาเมืองไทยอีก

27 พ.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ที่จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 บ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ขบวนรถบัสที่พาแรงงานชาวเมียนมาจากสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ส่งกลับมาจำนวน 22 คัน 504 คน ต่างทยอยเข้ามาส่งแรงงานที่ด่านพรมแดน

ทั้งนี้ มี นายศุภภิมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จ.ตาก ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองตาก ต่างอำนวยความสะดวกในการผ่านแดน ซึ่งทุกคนจะต้องเข้ากระบวนการคัดกรองโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้น ก่อนที่จะเข้าไปทำพิธีการทางด่านตรวจคนเข้าเมืองเป็นเสร็จพิธี

โดยจะมีเจ้าหน้าที่ใช้ภาษาเมียนมาสอบถามแรงงานทุกคนว่าจะกลับมาอีกหรือไม่ เพราะจะเข้าช่องทางตรวจคนละช่อง ปรากฏว่าแรงงาน 3 ใน 4 คนต่างบอกว่า จะไม่กลับมาอีก หลายๆ คนบอกกับผู้สื่อข่าวว่า "ปัจจุบันงานหายากมากขึ้น เพราะโรงงานปิด ค่าใช้จ่ายสูง แถมโดนมาเฟียสัญชาติเดียวกันเก็บค่าคุ้มครอง จิปาถะ แม้แต่เช่าบ้านยังต้องเสียค่านายหน้า ทำให้เหลือเงินไม่มาก จะกลับไปหางานทำในประเทศดีกว่า"

นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานที่ไม่ผ่านสถานทูตเมียนมา ที่ถือโอกาสกลับด้วยมีจำนวนมากกว่าเกือบ 3 เท่าตัว เช่นเมื่อวันที่ 26 พ.ค. มีแรงงานผ่านโควตาสถานทูตจำนวน 504 คน แต่แรงงานที่กลับมาเองมี 1,331 คน เช่นเดียวกับวันนี้ แรงงานที่กลับมาเองมีจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงบ่ายจะมีจำนวนมาก เพราะออกเดินทางจาก กทม.ช่วงเช้าจะมาถึงช่วงบ่าย ยังทันด่าน เพราะไม่ต้องติดเคอร์ฟิว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 27/5/2563 

'บุคลากร สธ. -สหพันธ์แบคออฟฟิศ' แถลงการณ์หลังไม่ได้รับความเป็นธรรมตำแหน่งงาน ความก้าวหน้าวิชาชีพ ขู่เคลื่อนไหวหยุดงาน รพ.ทุกระดับทั่วประเทศ หลังยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน

ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ทำหนังสือที่นร1008.3.3/58 ลงวันที่ 18 พ.ค. 2563 ถึงสหพันธ์แบคออฟฟิศกระทรวงสาธารณสุข หลังจากที่ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยใจความสำคัญ ระบุว่า หากภายหลังบริบทของงานเปลี่ยนแปลงไป กระทรวงสาธารณสุขสามารถปรับเปลี่ยนสายงานของอัตราข้าราชการตั้งใหม่ เป็นสายงานบริการทางการแพทย์อื่นๆ ได้ตามความจำเป็น แต่ต้องไม่เกินจำนวนกรอบอัตรากำลังตามที่กำหนด ส่งผลให้บุคลากรสายงานสนับสนุน หรือแบคออฟฟิศ ต่างกังวลเรื่องดังกล่าว

ความคืบหน้าล่าสุดวันที่ 26 พ.ค. นายชาติชาย เดชรัตน์ ประธานสหพันธ์แบคออฟฟิศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากหนังสือ กพ. ทาง สหพันธ์แบคออฟฟิศ กระทรวงสาธารณสุข และชมรมลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศไทย จึงออกแถลงการณ์ ดังนี้ สหพันธ์แบคออฟฟิศฯ ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องความก้าวหน้ามาตลอดและกระทรวงสาธารณสุขก็รับรู้เวลาเคลื่อนไหวหรือเวลาไปยื่นหนังสือเรียกร้องร้องทุกข์ แต่ไม่เคยเรียกตัวแทนสหพันธ์แบคออฟฟิศ กระทรวงสาธารณสุขรวมถึงเครือข่าย 31 องค์กรเข้าไปพบชี้แจง แต่อย่างใด สำหรับข้อเรียกร้องที่ยื่นนายกรัฐมนตรีวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 นั้นและหนังสือที่สำนักงาน กพ.ตอบมานั้น แสดงว่าสำนักงานกพ.ไม่รู้เรื่องการปฏิบัติงานของสายงานสนับสนุนบริการและลูกจ้างสายสนับสนุนว่าปฏิบัติงานกันอย่างไร และไม่เห็นความสำคัญของสายงานสนับสนุนบริการ และลูกจ้างสายสนับสนุน เพราะไม่มีลายเซ็นของ เลขาธิการ กพ.

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ขอให้เลขาธิการ กพ. ทบทวนหนังสือที่ตอบมา ถึงสหพันธ์แบคออฟฟิศกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 1. การบรรจุเป็นข้าราชการของสายสนับสนุนบริการ (ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราวที่มีวุฒิการศึกษา )ตามมติครม. โรคโควิด-19 นั้น ข้อเรียกร้องของสหพันธ์แบคออฟฟิศ กระทรวงสาธารณสุข ชี้ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ได้แย่งตำแหน่งของสายวิชาชีพตามมติครม. แต่ขอความเมตตาถ้ามีตำแหน่งที่เหลือหรือสายงานวิชาชีพ ที่ไม่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การบรรจุข้าราชการก็ขอให้เป็นของสายสนับสนุนบริการด้วย 2. ข้อ3 ไม่ยุบตำแหน่งลูกจ้างประจำเวลาเกษียณ โดยให้บรรจุจากพนักงานราชการหรือพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว ขึ้นมาทดแทน ส่วนลูกจ้างประจำเดิมให้มีความก้าวหน้าสามารถเลื่อนระดับ เป็น ส.3 ส. 4 ได้ทุกตำแหน่ง

“ 3. อัตราเงินเดือนของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ต้องรับจากเงินงบประมาณเท่านั้นและคิดอัตราจำนวนวัน 30 วันเท่ากับกฎหมายแรงงาน(ปัจจุบันคิด22 วันทำการ) อัตราใหม่อย่างน้อย 420x30 วัน = 12,600 บาทต่อเดือน 4.เรื่องความก้าวหน้าของสายงานสนับสนุน ตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มบริหารงานทั่วไปโรงพยาบาลชุมชน ที่เรียกร้องขอเป็นชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่แตกต่างจากตำแหน่ง นักจัดการงานทั่วไปของกระทรวงอื่นๆ เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบมากกว่ากระทรวงอื่น ทำหน้าทีด้านบริหารทุกอย่างแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาล” นายชาติชาย กล่าว

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ดังนั้น สำนักงานกพ.โปรดพิจารณาด้วยความเป็นธรรม อย่าไปเหมารวมกับกระทรวงอื่นๆที่ตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไป ทำหน้าที่เป็นเพียงหัวหน้างานสารบรรณ ธุรการเท่านั้น 5.ขอความเมตตา รับพิจารณาเรื่องความก้าวหน้าของข้าราชการสายสนับสนุนในประเภททั่วไป ให้มีความก้าวหน้าในระดับอาวุโส เช่น เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีชำนาญงาน, เจ้าพนักงานพัสดุชำนาญงาน,เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน,เจ้าพนักงานเวชสถิติชำนาญงาน,นายช่างเทคนิคชำนาญงานนายช่างโยธาชำนาญงาน และ 6.พิจารณาความก้าวหน้าของ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล(บริหาร) ของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ให้เลื่อนระดับได้ถึง ระดับเชี่ยวชาญ เหมือนตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเหมือนตำแหน่งอื่นๆ

ส่วนมาตรการตอบโต้หลังจากนี้ 1. สหพันธ์แบคออฟฟิศ กระทรวงสาธารณสุขจะเคลื่อนไหวหรือหยุดงานทั้งประเทศ ทั้งในโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และจะชุมนุมเรียกร้องที่กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงาน กพ. หลังจากประกาศยกเลิกพรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน จนกว่าจะได้รับความเป็นธรรมและคำตอบที่ชัดเจนเป็นที่น่าพอใจ 2. จะไม่มีการเจรจาใดๆกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกองบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข อีกต่อไป

ที่มา: Hfocus, 26/5/2563

ขอนแก่น มีแรงงานเพื่อนบ้านเตรียมกลับประเทศหลังด่านเปิด มากว่า 400 คน หลังครบกำหนดสัญญาจ้าง 4 ปี

ที่สำนักงานจัดหางาน จ.ขอนแก่น ชั้น 2 ศาลากลาง จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังคงมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านทยอยเดินทางมาติดต่อเพื่อขอรับอนุญาตทำงานในประเทศอย่างถูกต้องตามระเบียบที่กรมการจัดหางานกำหนด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้แนะนำขั้นตอนการดำเนินงานของนายจ้างและลูกจ้าง ตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ตามแผนการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

นายวินัย ทองอุบล จัดหางาน จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันขอนแก่นมีแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาทำงานรวม 7,469 คน โดยแยกเป็นกลุ่มช่างฝีมือ และชำนาญการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูสอนภาษา 581 คน,กลุ่มแรงงาน 3 สัญชาติ 6,836 คน กลุ่มส่งเสริมการลงทุน 35 คน และ กลุ่มที่เข้ามาทำงานตามมาตรา 63/1 จำนวน 17 คน ซึ่งในกลุ่มแรงงาน 3 สัญชาตินั้นจะพบว่า มากที่สุดที่เข้ามาทำงานที่ขอนแกน คือเมียนมาร์ รองลงมาคือ สปป.ลาว ส่วนใหญ่มาทำงานในกลุ่มธุรกิจต่อเนื่องกับภาคการเกษตร ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนั้น พรก.ฉุกเฉินได้อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในประเทศไทยได้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งเมื่อครบกำหนดและด่านพรมแดนเปิดแรงงานต่างด้าวที่ต้องเดินทางกลับประเทศจะต้องเดินทางออกนอกประเทศทันทีภายใน 15 วัน

นายวินัย กล่าวต่ออีกว่า นายจ้างที่ต้องการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานนั้นสามารถมายื่นเรื่องเพื่อขอรับแรงงานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ซึ่งมีเจ้าหน้าที่แนะนำ และอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆอย่างถูกต้องและครบถ้วนตามขั้นตอนของกฎหมาย ขณะเดียวกันแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในไทยนั้น จะอนุญาตครั้งละ 2 ปี ต่ออายุได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ซึ่งเท่ากับว่าแรงงาน 1 คนนั้นสามารถทำงานในประเทศไทยติดต่อกันได้ 4 ปี จากนั้นเมื่อครบก็จะต้องกลับประเทศเป็นเวลา 30 วัน ก่อนที่จะทำเรื่องกลับมาทำงานใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตามนายจ้างและแรงงานต่างด้าวจะต้องตรวจสอบใบอนุญาตทำงานให้ละเอียดโดยจะต้องมาต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนครบกำหนดวันหมดอายุเท่านั้น ซึ่งหากเกินกว่าวันที่กำหนดก็จะมีโทษตามกฎหมายทันที

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 26/5/2563

จ.ระนอง อำนวยความสะดวกส่งแรงงานชาวพม่ากลับประเทศ 124 คน

26 พ.ค. 2563 จากกรณีชาวพม่า ลงทะเบียนไว้กับ สอท.พม่า ประจำประเทศไทย จำนวน 124 คน มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศผ่านช่องทางจังหวัดระนอง นายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ ผวจ.ระนอง จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ และพาหนะ (เรือ) ที่ใช้รับส่งชาวพม่าที่ลงทะเบียนไว้ทั้งหมดให้เรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่จาก สสจ.ระนอง จะมาตรวจคัดกรองชาวพม่าก่อนเดินทางออก

ในขณะที่การอำนวยความสะดวกด้านการตรวจคนเข้าเมือง พ.ต.อ.สมชาย จิตสงบ ผกก.ตม.จว.ระนอง ได้สั่งการให้ จนท.ตม. จัดเตรียมพื้นที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าเทียบเรือสะพานปลา โดยมีการทำความสะอาดพื้นที่ อุปกรณ์เครื่องมือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ จัดที่นั่งพักคอยระหว่างรอรับการตรวจตามหลักการ social distancing

อีกทั้งได้ประสานงานกับ ตม.เกาะสอง พม่า ตรวจสอบรายชื่อให้ถูกต้องตรงกัน เพื่อให้ชาวพม่าสามารถเดินทางกลับประเทศได้อย่างสะดวกปลอดภัย ในส่วนเรือที่ใช้รับชาวพม่ากลับนั้น ครั้งนี้ทูตแรงงานพม่าจะนำเรือขนาดใหญ่มาใช้รับจำนวน 1 ลำ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร โดยฝ่ายไทย จะมี จนท.ศรชล. เป็นผู้กำกับดูแลความเรียบร้อย

ทั้งนี้ ขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่มีชาวพม่าทำงานอยู่ในพื้นที่ภาคใต้และชาวพม่า ที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศผ่านช่องทางระนอง-เกาะสอง ขอให้ลงทะเบียนกับสถานเอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศไทย ให้เรียบร้อยก่อนจะเดินทางมาที่จังหวัดระนอง เพื่อจะได้เดินทางกลับตามวัน เวลาที่กำหนดต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 26/5/2563

เผย ต.ค.2562-เม.ย. 2563 ไทยส่งคนไปทำงานต่างประเทศแล้ว 47,368 คน

25 พ.ค. 2563 ว่านายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยตามที่กรมการจัดหางานมีนโยบายในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี มุ่งส่งเสริมการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศที่มีศักยภาพ มีโอกาสได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ

เพื่อนำกลับมาใช้ในประเทศโดยเฉพาะในสาขาที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ขณะนี้ (ตุลาคม 2562-เมษายน 2563) ส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศแล้ว 47,368 คน คิดเป็นร้อยละ 47.37 ของเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศที่ตั้งไว้ 100,000 คน

โดยจัดส่งไปทำงานไต้หวันมากที่สุด 14,071 คน รองลงมาคือ สาธารณรัฐเกาหลี 5,755 คน มาเลเซีย 5,059 คน ญี่ปุ่น 4,481 คน และ อิสราเอล 3,273 คน สร้างรายได้เข้าประเทศ 76,362 ล้านบาท ซึ่งหากประเทศไทยสามารถส่งแรงงานไทยได้ตามเป้าหมาย จะมีรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่าปีละ 140,000 ล้านบาท นับเป็นแนวทางในการส่งเสริมการมีงานทำที่สามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้จำนวนมาก

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอาจต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการมากกว่าเดิม และการปฏิบัติงานต่างๆ ของกรมการจัดหางาน ได้ดำเนินการอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรค และประกาศกำหนดของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ขอย้ำให้แรงงานไทยที่สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ควรไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน นายสุชาติฯ กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 25/5/2563 

หลังมีข่าวการย้ายฐานการผลิต กลุ่มพานาโซนิคแจงยังเหลือ 18 ธุรกิจในเครืออยู่ในไทย

24 พ.ค. 2563 พานาโซนิค ได้ออกแถลงการชี้แจง กรณีการย้ายฐานการผลิตเครื่องซักผ้าและตู้เย็นจากไทยไปยังเวียดนาม โดยระบุว่า ตามที่ได้มีข่าวในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับกลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทย และเพื่อป้องกันการสับสน กลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทย ขอชี้แจงว่า

บริษัท พานาโซนิค แอ็พไลแอ็นซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ดำเนินการผลิตเครื่องซักผ้าและตู้เย็น และบริษัท พานาโซนิค แอ็พไลแอ็นซ์ อาร์ แอนด์ ดี เซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในส่วนเครื่องซักผ้าและตู้เย็น โดยทั้งสองบริษัทดังกล่าวมีที่ตั้งปัจจุบัน ณ นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรล์ จะมีการควบรวมการผลิตเครื่องซักผ้าและตู้เย็นไปที่ประเทศเวียดนาม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ทั้งสองประเภท ภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทย อีก 18 บริษัท ยังคงดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตามปกติ รวมทั้งดำเนินการจัดจำหน่ายและการบริการหลังการขาย ผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงเครื่องซักผ้าและตู้เย็น เช่นเดิม

ทั้งนี้ตามข้อมูลบนเว็บไซต์ของพานาโซนิค ระบุว่า ปัจจุบันกลุ่มบริษัท พานาโซนิค ในประเทศไทยประกอบด้วยบริษัท 20 บริษัท แบ่งเป็นสำนักงานใหญ่ 1 บริษัท บริษัทขาย 4 บริษัท โรงงานผลิต 11 บริษัท และธุรกิจอื่น ๆ อีก 4 บริษัท โดยพานาโซนิค แอ็พไลแอ็นซ์ (ประเทศไทย) และ พานาโซนิค แอ็พไลแอ็นซ์ อาร์ แอนด์ ดี เซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) อยู่ในกลุ่มโรงงานผลิต ซึ่งเมื่อกระบวนการควบรวมไปยังเวียดนามเสร็จสิ้นจะทำให้เหลือบริษัทในไทย 18 บริษัท

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/5/2563 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net