Skip to main content
sharethis

จากการสืบสวนสอบสวนของสื่อบีบีซีและบริษัทวิเคราะห์โซเชียลมีเดีย "กราฟิกา" (Graphika) เผยให้เห็นว่า มีบัญชีผู้ใช้โซเชียลมีเดียมากกว่า 1,200 บัญชีที่มาจากการปลอมแปลงหรือถูกขโมยมาใช้ทำการเผยแพร่ข้อความในเชิงสนับสนุนรัฐบาลจีนเกี่ยวกับกรณี COVID-19 บัญชีผู้ใช้เหล่านี้มีทั้งในเฟสบุค, ทวิตเตอร์ และยูทูบ

บริษัทกราฟิกา (Graphika) ที่วิเคราะห์เกี่ยวกับโซเชียลมีเดียเปิดเผยว่ามีเครือข่ายของกลุ่มบัญชีผู้ใช้น่าสงสัยผุดขึ้นจำนวนมากอีกครั้งในโซเชียลมีเดียต่างๆ มากกว่า 1,200 บัญชี ซึ่งบัญชีเหล่านี้มักจะคอยตอบโต้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์จีนในเรื่องกการรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ในขณะเดียวกันก็เน้นการชื่นชมรัฐบาลจีน

ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนที่ชี้ชัดได้ว่าบัญชีเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน แต่กลุ่มเครือข่ายผู้ใช่งานเหล่านี้ที่กราฟิกาเรียกว่า "สแปมโมฟลาจ ดรากอน" ("มังกรซุ่มสแปม") ก็ทำการโจมตีกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนด้วยการสแปมใส่ โดยสิ่งที่กลุ่มๆ นี้กระทำดูเสมือน "ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร" (Information Operation หรือ IO) บัญชีผู้ใช้กลุ่มทำนองนี้เคยถูกบล็อกไปแล้วในช่วงปี 2562 ที่กำลังมีการประท้วงอย่างหนักในฮ่องกง แต่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็ดูเหมือนจะกลับมาอีก มีการตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มผู้ใช้งานเหล่านี้สร้างผลกระทบกระเทือนได้น้อย มีคนติดตามจำนวนไม่มาก

มีการยกตัวอย่างเช่นกรณีของผู้ใช้งานที่ชื่อ "Joker1999" ที่อาจจะดูเหมือนบัญชีผู้ใช้งานอื่นๆ แต่เมื่อลองพิจารณาดูดีๆ แล้วจะพบว่าเป็นบัญชีปลอมที่เอารูปมาจากดารา TikTok และถึงแม้ว่าจะอ้างว่าเป็นบล็อกเกอร์มาจากรัสเซีย แต่เนื้อหาทวีตส่วนใหญ่ก็เป็นการเมืองในจีน

Joker1999 เป็นแค่หนึ่งในหลายร้อยบัญชีผู้ใช้ที่คอยแสดงการสนับสนุนรัฐบาลจีนในโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุค ทวิตเตอร์ หรือยูทูบ

บีบีซีตั้งข้อสังเกตว่าบัญชีผู้ใช้เหล่านี้ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในช่วงระหว่างเดือน ม.ค. ถึงเดือน พ.ค. ปีนี้ บัญชีเหล่านี้คอยโพสต์วิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขปัญหา COVID-19 ของสหรัฐฯ รวมถึงโพสต์ข้อความให้ร้ายขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง รวมถึงตั้งเป้าหมายเป็นเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ชาวจีนในสหรัฐฯ กัวเหวินกุ้ย ผู้ออกปากวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน ลักษณะการโพสต์ ของกลุ่มปฏิบัติข้อมูลข่าวสารเหล่านี้มักจะเน้นพูดถึงอยู่หัวข้อเดียว หรือไม่ก็พูดถึงหลายๆ เรื่องไปสักพักหนึ่งแล้วก็หยุดจากนั้นจึงเปลี่ยนเรื่อง

บีบีซีพบว่ากลุ่มบัญชีไอโอจีนเหล่านี้มีในทวิตเตอร์มากกว่า 1,000 บัญชี มีเพจของเฟสบุค 53 เพจ บัญชีเหล่านี้มีผู้ติดตามรวมทั้งหมด 100,000 ผู้ติดตาม นอกจากนี้ยังมีบัญชีผู้ใช้เฟสบุค 61 ราย กับช่องยูทูบ 187 ช่อง ที่มีผู้สมัครรวมแล้ว 10,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอสมควรแต่ไม่มากถึงขนาดส่งอิทธิพลมาก

ในทวิตเตอร์นั้นมีการใช้บัญชีอัตโนมัติที่เรียกว่า "บ็อต" (Bots) คอยเน้นวิจารณ์กัวเหวินกุ้ย มีการรีทวีต คอมเมนต์ และไลก์กันเองในการพยายามทำใก้กลายเป็นเทรนด์ รวมถึงใช้แฮชแท็กชื่อกัวเหวินกุ้ยเป็นภาษาจีน

ผู้ใช้งานบ็อตหรือไอโอจากจีนมักจะใช้บัญชีที่ยึดเอาหรือขโมยมาจากผู้ใช้งานที่พูดภาษารัสเซียแล้วก็มีการใช้รูปโปรไฟล์ปลอม ทั้งนี้มีจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นในวันเดียวกัน อีกทั้งยังมีเงื่อนงำแสดงให้เห็นว่ากลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเดียวกัน

สำหรับไอโอจีนในเฟสบุคนั้นมักจะเน้นวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ในการจัดการปัญหาการระบาดของ COVID-19 แต่ก็มีบางบัญชีผู้ใช้งานที่เน้นพูดในแง่ลบเกี่ยวกับผู้ประท้วงชาวฮ่องกงและเกี่ยวกับกัวเหวินกุ้ย ถึงแม้ว่ามีบัญชีผู้ใช้งานจำนวนมากที่เพิ่งปรากฏเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็มีบางบัญชีที่มีประวัติมาตั้งแต่ตอนช่วงกลางปี 2562 พวกเขาเคยโพสต์วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้ประท้วงฮ่องกงที่ต่อต้านรัฐบาลจีน

มีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องที่บัญชีผู้ใช้ถูกยึดหรือขโมยไปโดยไอโอจีน จากในกรณีหนึ่งที่ผู้ใช้งานเดิมทีเป็นชาวบังกลาเทศที่ใช้ภาษาเบงกาลีในการสื่อสารกับเพื่อนๆ ชาวบังกลาเทศแบบทั่วๆ ไป แต่ต่อมาวันหนึ่งเขาก็เปลี่ยนการใช้ภาษาและการแสดงตัวตนในโซเชียลแบบกระทันหัน บ้างก็เคยเป็นผู้ใช้งานภาษารัสเซียกับภาษาอังกฤษมาก่อน

สำหรับในยูทูบนั้นบัญชีไอโออของจีนมักจะเน้นระบุถึงเรื่องตัวเลขผู้เสียชีวิต COVID-19 ในสหรัฐฯ และเรื่องกัวเหวินกุ้ย ช่องวิดีโอเหล่านี้มักจะอัพโหลด แสดงความคิดเห็น และคอยกดไลก์ พวกเดียวกันเองภายในเวลาไล่เลี่ยกัน รวมถึงสร้างเพลย์ลิสต์ให้กับช่องของตัวเองด้วย เครือข่ายไอโอเหล่านี้จะมีช่องหลักที่ทำการอัพโหลดวิดีโอหลายสิบรายการในขณะที่ช่องอื่นๆ จะอัพโหลดเพียง 1-2 รายการ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นคอยส่งเสริมช่องวิดีโอที่มีผู้สมัครรับชมมากกว่า

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าปฏิบัติการเหล่านี้มักจะมีการประสานงานกัน มีบัญชีผู้ใช้หลายสิบบัญชีที่โพสต์มีมหรือวิดีโอทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษหลายๆ ครั้ง บางครั้งก็ห่างกันไม่กี่นาที มีบางบัญชีที่สลับไปโพสต์เนื้อหาอื่นๆ บ้าง เช่นรูปสัตว์หรือรูปนางแบบแล้วสลับกลับมาโพสต์เรื่องที่เป็นการเมืองจัดมากเป็นไปได้ว่าอาจจะเพื่อเรียกแขก

ถึงแม้ว่ามีบัญชีจำนวนมากถูกลบทิ้งแต่เครือข่ายไอโอที่เหลืออยู๋ก็พยายามเพิ่มจำนวนผู้ชมและการโต้ตอบจากภายนอก มีจำนวนการโต้ตอบเช่น การไลก์ รีทวีต แสดงความคิดเห็น หรือกล่าวอ้างถึง มักจะมาจากเครือข่ายเหล่านี้ด้วยกันเองมากกว่าจากคนนอก ในเรื่องนี้ เบน นิมโม ผู้อำนวยการฝ่ายสืบสวนสอบสวนของกราฟิกากล่าวว่ากลุ่มไอโอเหล่านี้พยายามสร้างเนื้อหาสนับสนุนรัฐบาลจีนจำนวนมากแล้วก็ซ่อนมันไว้ด้วยเนื้อหาจำพวกที่เป็นสแปม อย่างไรก็ตามนิมโมวิเคราะห์อีกว่าไอโอเหล่านี้กระทำการในแบบที่ "ดูค่อนข้างเป็นมือใหม่" และ "ไม่ซับซ้อน"

นิมโมกล่าวอีกว่า ในขณะที่เครือข่ายไอโอเหล่านี้พยายามสร้างภาพว่ามีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจำนวนมากที่สนับสนุนรัฐบาลจีน แต่พวกเขาก็ทำได้แย่เพราะดูดิบๆ ทื่อๆ เกินกว่าจะทำให้คนจำนวนมากเชื่อ

ในแง่ของความเข้มข้นของปฏิบัติการนั้น นิมโมตั้งข้อสังเกตว่าไอโอกลุ่มนี้เริ่มลดการโพสต์ออนไลน์ลงในช่วงปลายปีที่แล้วและเน้นโพสต์แต่เนื้อหาสแปมในช่วงเดือน พ.ย. 2562-ม.ค. 2563 จนกระทั่งพอเกิดปัญหา COVID-19 ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของจีนพวกเขาก็กลับมาปั่นเนื้อหาอวยจีนอีกครั้ง และถึงแม้ว่าจะถูกลบทิ้งไปหลายส่วนแต่พวกเขาก็ยังพยายามสร้างบัญชีผู้ใช้ใหม่หรือไม่ก็ซื้อ เช่า หรือยืดเอาบัญชีผู้ใช้คนอื่นแล้วทำมันให้กลายเป็นเนื้อหาจีนแต่ก็มีจำนวนน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ทำให้การลบทิ้งบัญชีไอโอเหล่านี้ช่วยกำจัดจำนวนหรือบีบให้พวกเขาต้องซ่อนตัวมากขึ้นได้

โฆษกของทวิตเตอร์กล่าวในเรื่องนี้ว่า การปั่นบัญชีในพื้นที่พวกเขาเช่นนี้เป็นการละเมิดนโยบายและพวกเขาจะบังคับใช้กฎต่อบัญชีใดก็ตามที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ไม่ว่าจะมีเนื้อหาแบบใดก็ตาม ถ้าหากเมื่อใดพวกเขาสามารถเชื่อมโยงบัญชีที่ถูกระงับเหล่านี้ต่อปฏิบัติการของรัฐบาลได้พวกเขาจะเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ เพื่อเป็นตัวอย่างของโซเชียลมีเดียต่างๆ

โฆษกเฟสบุคกล่าวขอบคุณสื่อที่เปิดโปงที่ชี้ให้เห็นปัญหาในเรื่องนี้และพวกเขาได้ลบบัญชีส่วนใหญ่ที่ถูกระบุในรายงานขอบีบีซีออกแล้ว และกำลังสืบสวนบัญชีผู้ใช้ต้องสงสัยที่เหลือ

โฆษกของยูทูบพูดถึงเรื่องนี้ว่าพวกเขาได้ "พยายามต่อต้านปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารแบบนี้อยู่แล้ว" และในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการลบช่องรายการประมาณ 1,000 ช่องที่ละเมิดนโยบายห้ามสแปม ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่แล้วจะไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่ในส่วนเล็กๆ ที่ถูกลบเหล่านี้ก็เป็นช่องที่เน้นนำเสนอเรื่องการเมืองเป็นภาษาจีนที่มีลักษณะคล้ายในรายงานของกราฟิกา


เรียบเรียงจาก
Coronavirus: Inside the pro-China network targeting the US, Hong Kong and an exiled tycoon, BBC, 28-05-2020

หมายเหตุ : ประชาไท มีการปรับแก้พาดหัวเป็นปัจจุบันนี้ในวันที่ 1 มิ.ย.63 เวลา 13.20 น. เพื่อความรัดกุมเพิ่มขึ้น จากเดิมใช้พาดหัวว่า "บริษัทวิเคราะห์ไอทีเปิดโปง 'ไอโอ' อวยจีน-ด่าคนวิจารณ์ ตามโซเชียลฯ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net