COVID-19 : 30 พ.ค. ไทยติดเชื้อใหม่ 1 คน สะสม 3,077 คน คณบดีศิริราชเตือนระบาดระลอก 2

30 พ.ค. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 1 คน เป็นนักศึกษาที่เดินทางกลับมาจากประเทศซาอุดีอาระเบียและเข้ากักตัวใน State Quarantine จ.นราธิวาส จับตาผู้ป่วยใน State Quarantine หลังพบป่วย 2 สัปดาห์ 43 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 3,077 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 57 คน รวมรักษาหายสะสม 2,961 คน - รอง ผบ.ตร.ยันรู้ตัวคนเรียกหักหัวคิวสถานที่กักตัวรัฐ แต่ไม่มีเจ้าทุกข์ - 'วิษณุ' ระบุใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ แทนหลังยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน - คณบดีศิริราชพยาบาลเตือนระบาดระลอก 2 มีโอกาสแน่ และจะกระจายไปแบบยกกำลัง 2


ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เตือนถึงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 รอบ 2 มีโอกาสแน่ และจะกระจายไปแบบยกกำลัง 2

30 พ.ค. 2563 พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ COVID19 ระบุว่า วันนี้มีผู้ป่วยเพิ่ม 1 คน จากสถานที่กักตัวของรัฐ ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 3,077 คน หายป่วยกลับบ้านอีก 16 รวมหายป่วย 2,961 คน รักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 59 คน ผู้เสียชีวิตเพิ่มคงที่ 57 คน 

ผู้ป่วยใหม่ 1 คนเป็นนักศึกษา กลับจากซาอุดีอาระเบีย โดยเดินทางกลับไทยทางด่านปาดังเบซาร์ โดยมีผู้โดยสารรวม 39 คนและเข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ (State Quarantine ) ที่ จ.นราธิวาส เมื่อ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก ก่อนตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา

หลังมีมาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. - 30 พ.ค. จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14 วัน อยู่ที่ 52 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอยู่ใน 80% หรือ 43 คน ซึ่งมีเพียง 9 คน ที่ติดเชื้อในประเทศ ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า และผู้ป่วยที่ไปในสถานที่ชุมชน

“ตัวเลข 9 คน เป็นตัวเลขที่น่าพอใจ เพราะจากสถานการณ์การระบาดหนักในช่วงเดือน มี.ค. ทำให้เห็นว่ามีตัวเลขผู้ป่วยลดลงต่อเนื่อง แต่ยังต้องระวังและการ์ดยังต้องสูง ในช่วงผ่อนปรนระยะ 3”

กรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยที่รับรักษาสะสมมากที่สุด จำนวน 1,535 คน ตามด้วย ภูเก็ต 227 คน นนทบุรี 158 คน และยะลา 125 คน ขณะที่มีผู้ติดเชื้อที่พบใน State Quarantine และ Local Quarantine ในจังหวัดต่างๆ รวมสะสมแล้วอยู่ที่ 140 คน ได้แก่

- สงขลา 23 คน
- สตูล 18 คน
- กทม. 29 คน
- ปัตตานี 13 คน
- ยะลา 9 คน
- ชลบุรี 24 คน
- นราธิวาส 7 คน
- กระบี่ 3 คน
- สมุทรปราการ 14 คน

ขณะที่ สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ป่วย 6,031023 คน โดยพบผู้ป่วยใหม่วันเดียว 125,608 คน อาการหนัก 53,734 คน รักษาหายแล้ว 2,658,676 คน เสียชีวิตสะสม 366,812 คน โดยสหรัฐอเมริกายังมีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด 1,793,530 คน รองลงมาคือบราซิล และรัสเซีย ส่วนประเทศอินเดีย ล่าสุด พบผู้ป่วยมากติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกแล้ว สำหรับประเทศไทยอยู่อันดับ 77 ของโลก 

รอง ผบ.ตร.ยันรู้ตัวคนเรียกหักหัวคิวสถานที่กักตัวรัฐ แต่ไม่มีเจ้าทุกข์

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2563 พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พบมีผู้กล่าวอ้างเรียกรับผลประโยชน์จากสถานที่ที่จะใช้เป็นสถานกักตัวของรัฐ ในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 แต่ยังไม่มีผู้เสียหายหลงเชื่อจ่ายเงินให้กับกลุ่มผู้แอบอ้าง และเบื้องต้นไม่พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเข้าไปเกี่ยวข้อง

“ทราบกลุ่มบุคคลที่เรียกรับผลประโยชน์หัวคิวนี้จริง แต่เบื้องต้นไม่พบเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือสนิทสนมกับนักการเมืองคนใด”

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้สืบสวนถึงที่สุด หากพบบุคคลใดเกี่ยวข้องก็จะดำเนินคดีจนถึงที่สุด ขณะเดียวกันตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข จะนำหลักฐานเข้าแจ้งความเอาผิดฐานหมิ่นประมาทกับกลุ่มที่นำชื่อหน่วยงานไปเรียกรับผลประโยชน์ต่อไป

'วิษณุ' ระบุใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ แทนหลังยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่มีกระแสข่าวว่านายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาเพื่อรองรับกรณีหากมีการยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้ตั้งคณะกรรมการ เพียงมอบหมายให้ตนและ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอมาว่าหลังยกเลิกประกาศใช้  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้กกฎหมายใด หรือ ออกมาตรการใดมารองรับ เพราะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมีความละเอียดอ่อนหากไม่มีสิ่งใดมารองรับจะเกิดปัญหาตามมา

นายวิษณุ กล่าวว่าส่วนตัวคิดว่าเมื่อถึงเวลาเกิดปัญหาแล้ว ก็สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้อีกครั้ง ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ที่บัญญัติว่า กรณีที่จำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งการเองได้ก่อน จากนั้น จึงไปขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ภายใน 3 วัน หากไม่ขอคณะรัฐมนตรีภายในกำหนด ถือว่าประกาศสถานการณ์นั้นสิ้นสุดไป 

นายวิษณุ ย้ำว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะเป็นกฎหมายแม่ที่ยังคงอยู่  แต่เมื่อจะใช้บังคับ ต้องออกกฏหมายลูก คือ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่นายกรัฐมนตรีต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี  และหากยกเลิกประกาศใช้ไปแล้ว ต่อมาเกิดปัญหา แต่ไม่ถึงขั้นรุนแรงที่สุด ก็ไม่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกก็ได้ แต่สามารถนำมาตรการอื่นมาใช้ได้ แต่ไม่ใช่กฎหมายความมั่นคง  

“สามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ให้อำนาจผู้ว่าฯ สั่งการได้ แต่อาจเกิดความลักลั่นในบางกรณี ดังนั้น อาจจะออกมติคณะรัฐมนตรีมาอุดช่องโหว่ในเรื่องตรงนี้  เนื่องจากต้องปฎิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ส่วนมาตรการที่จะออกมารองรับนั้น คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จากสถาบันการศึกษา และจากกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกันพิจารณาด้วย” นายวิษณุกล่าว

อย่างไรก็ตาม  นายวิษณุ กล่าวว่า คณะแพทย์และด้านสาธารณสุข มีการประเมินสถานการณ์การระบาด โควิด-19 ทุกวัน โดยฝ่ายของหมอจะเป็นคนให้คำแนะนำ และในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าจะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปถึงเมื่อใด ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียึดเงื่อนไขสำคัญในการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คือ เรื่องความปลอดภัยทางสาธารณสุข ต้องเป็นที่วางใจได้ก่อน

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเตือนระบาดระลอก 2 มาแน่ ยกกำลัง 2 หากติดเชื้อ 100 คน

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ความเห็นผ่านคลิปที่เผยแพร่ทาง "Mahidol Channel" เตือนถึงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 2 มีโอกาสแน่ และมันกระจายไปแบบยกกำลัง 2 ไม่ได้คูณ 2 โดยระบุว่า ที่ผ่านมาปัจจัยที่ประเทศไทยสามารถควบคุมเชื้อโควิด-19 ได้ดี เป็นเพราะ

ปัจจัยที่ 1 เรื่องคน การที่เราส่งสัญญาณกับคนไทยว่า ให้อยู่บ้าน ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ไปดูตามท้องถนน เชื่อว่าเกือบ 100% เลย

ปัจจัยที่ 2 คือ การบริหารจัดการ ณ วันนี้เราบริหารจัดการได้ดีภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข รัฐบาล ฝ่ายวิชาการคือมหาวิทยาลัย

ปัจจัยที่ 3 คือ การตรวจ ตรงนี้คือส่วนที่เรายังทำได้ไม่ถึงกับดีนัก ถ้าเทียบกับสิงคโปร์ ตรวจไปถึง 40,000 กว่าการทดสอบ ต่อประชาชน 1 ล้านคน ของประเทศไทย 4,000 กว่าเอง 

ปัจจัยที่ 4 ตัวไวรัส ถือเป็นปัจจัยสุดท้าย มีการพูดกันเยอะมากว่า สายพันธุ์ที่เป็นที่เราต่างจากสายพันธุ์ในอเมริกา มันแตกต่างกัน ซึ่งแตกต่างกันจริง แต่มีการยืนยันแล้วว่าความแตกต่างทางสายพันธุ์ ไม่ได้มีผลกับความรุนแรงของเชื้อ

สำหรับประเทศไทย ทุกครั้งที่ผ่อนมาตรการล็อกดาวน์ คนจะออกจากบ้าน ทุกครั้งที่ออกจากบ้านมีโอกาสเสี่ยงกับการไปแพร่เชื้อ หรือรับเชื้อมากขึ้น คนเยอะๆไปอยู่ในร้าน 1 ร้าน ระยะห่างมันก็เป็นไปไม่ได้ เป็นความเสี่ยงตัวที่สอง ดังนั้นทุกคนจึงต้องสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ซึ่งอย่างน้อยก็ช่วยในระดับหนึ่ง 

ทันทีที่เราผ่อนมาตรการในระยะแรก เรารู้อยู่ว่าเรื่องอยู่บ้าน เรื่องการรักษาระยะห่างมันลดลง ดังนั้นจึงย้ำว่าเรื่องหน้ากากต้องไม่ถอย 

อีกอย่างที่กังวลคือเมื่อผ่อนมาตรการแล้วคนเก็บกดกันเยอะ ผับบาร์ยังปิดอยู่ก็นัดกันไปสังสรรที่บ้าน ดื่มเหล้ากันที่บ้านไม่มีใครใส่หน้ากากอยู่แล้ว ถ้ามีคนติดเชื้อเข้าไปแค่ 1 คน  ไวรัสก็แพร่ไปทั่ว  

บทเรียนจากการระบาดรอบ 2 ในประเทศเพื่อนบ้านมีมาแล้ว เกาหลีใต้ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเริ่มจะขึ้นรอบ 2 ต้องออกมาตรการควบคุมใหม่หมดทันที 

สิงคโปร์รอบแรกสิ้นสุด คนชื่นชมเพราะมีติดเชื้อแค่ 509 ราย วันนี้ 26,000 ไปแล้ว

ฮอกไกโด เป็นเมืองท่องเที่ยว เขาต้องการให้เศรษฐกิจกลับมาเร็ว จึงยกเลิกภาวะฉุกเฉิน เปิดให้คนเข้าไปได้ พอต้นเมษายนเปิดโรงเรียน เด็กก็เล่นกัน เด็กติดเชื้อโควิด มันเหมือนหวัด อาการเล็กๆน้อยๆ พอกลับถึงบ้านไปติดพ่อแม่ แป๊บเดียวมันเริ่มมีการกระจายใหม่ สุดท้ายต้องปิดเรียนและประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ 

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า เราจะทำให้คลื่นลูกที่ 2 ไม่รุนแรง ขึ้นกับ 3 กลุ่ม คือ "ผู้บริหารประเทศ"  ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ท่านอย่าผ่อนคลายอะไรเร็วเกินไป ค่อยๆ ผ่อนเถอะ อันนี้เราสื่อมาหลายครั้งแล้ว ดีกว่าผ่อนไปแล้วกลับมาปิดประเทศใหม่  

"ผู้ประกอบการ" ขณะนี้ท่านมีโอกาสแล้วที่จะทำให้ธุรกิจของท่านกลับมา ต้องช่วยกันอย่าทำให้เกิดการแพร่กระจาย โดยการทำตามกฎระเบียบที่มีการกำหนดไว้ ทุกร้านที่มีคนเข้าไปต้องใส่หน้ากาก เตรียมแอลกอฮอล์เจลเอาไว้ให้ จัดที่นั่งรักษาระยะห่าง

"คนไทย" ทุกคนที่ไปใช้บริการต่างๆ ต้องระวังตัวท่านเอง ต่อให้ผู้ประกอบการเขาช่วย แต่ท่านไม่ทำมันก็เกิดการแพร่กระจายอีก

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย | TNN 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท