Skip to main content
sharethis

สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบให้อนุมัติพระราชกำหนดกู้เงินทั้ง 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อนำงบประมาณไปแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 'ประยุทธ์' ไม่ขัดข้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณตาม พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ

31 พ.ค. 2563 เวลา 15.42 น. ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ครบทั้ง 5 วันเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะเป็นการลงมติทีละฉบับ ทั้งนั้สมาชิกสภามีทั้งหมด 487 คน ฝ่ายรัฐบาล 276 คน ฝ่ายรัฐบาล 211

จากนั้นที่ประชุมลงมติว่าจะอนุมัติ พ.ร.ก. หรือไม่ ผลลงมติปรากฎว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผล กระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563  วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนน 274 งดออกเสียง 207

ส่วน พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ด้วยคะแน 275 งดออกเสียง 205

และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ด้วยคะแนน 274 ต่อ 195 งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนน 1 (อนึ่ง ส.ส.งดออกเสียงจำนวน 12 คน ประกอบด้วย 1.นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร 2.นางสาวธนภร โสมทองแดง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 3.นางสาวนภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 4.นายประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 5.นายเพชร เอกกำลังกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 6.นายเรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 7.นายวัชรา ณ วังขนาย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 8.นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 9.พล.ต.ท.วิศณุ ม่วงแพรสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 10.นายสมบติ ศรีสุรินทร์ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย 11.นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ 12.นายอำไพ ก้องมณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย)

อย่างไรก็ตามเมื่อสภาอนุมติแล้วจะส่งให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบต่อไป

'สุทิน' ชี้เกลี่ยงบฯ ปี 2563 -64 ลดวงเงินกู้ 1 ล้านล้าน 'อุตตม' แจง พ.ร.ก.ตั้งกองทุนอุ้มตราสารหนี้

ก่อนหน้านี้ในการอภิปรายฯ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) อภิปราย ระบุ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และอีก 2 ฉบับซึ่งเป้นการกู้เงินโดยอ้อมและสร้างภาระ 9 แสนล้านล้านบาท โดยแหล่งที่มาของเงินกู้ยังไม่ทราบแหล่งที่มาเพราะหากกู้จากต่างประเทศจะกระทบค่าเงิน ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่มีเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย ซึ่งหากทราบที่มาของแหล่งเงินกู้ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือและจะสามารถกู้เงินได้หรือไม่เนื่องจากหลายประเทศประสบภาวะเดือดร้อนจาก COVID-19 รวมถึงประเทศต่างๆจะมีแนวโน้มชาตินิยมมากขึ้นซึ่งอาจช่วยประเทศตัวเองก่อนที่จะให้ต่างชาติกู้

หากกู้ภายในประเทศก็ยังคงมีคำถาม เรื่องของดอกเบี้ยที่จะให้กับเอกชนและพันธบัตร "เราไม่ทิ้งกัน" ที่ให้ดอกเบี้ยสูงมากกว่า 3 เท่าของตลาดซึ่งจะสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นและจะเป็นภาระต่อรัฐบาลในอนาคต ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นระบาดกว่า 3 เดือนแล้ว ได้กระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจที่มีคนตกงานจำนวนมาก และด้านสังคมที่เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีสภาพสังคมก็แย่

"ท่านกำลังจะใช้ COVID-19 เป็นบัตรแข็งผ่านทุกเรื่อง ในเวลานี้ต้องชมอย่างมีสติ ตำหนิอย่างมีเหตุผล ผมก็ขอชมนายกฯท่านว่า ท่านทำเต็มที่ตัวเลขผู้ป่วยลด อย่าลืมแนวรบด้านสุขภาพเท่านั้น อีก 2 ด้านคือด้านเศรษฐกิจและสังคมยังคงมองอยู่"

ขณะที่การเตรียมการที่ผ่านมามีปัญหาหลายเรื่องทั้ง ช่วงแรกบอกว่าเป็นเพียงโรคเล็กน้อย หน้ากากอนามัยขาดแคลน หากมีการแพร่ระบาดที่ 2 อาจยากลำบากได้ ขณะที่ประเทศลาวและเวียดนาม เมียนมา กัมพูชา บรูไน ที่แก้ไขปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ดี แต่ไม่มีการกู้เงิน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ประเทศเหล่านี้แก้ไขได้ส่วนหนึ่งคือ สภาพอากาศที่ร้อนทำให้การแพร่ระบาดแตกต่างจากประเทศยุโรปที่ระบาดรุนแรง ขณะที่หากมีการระบาดรอบ 2 ในช่วงฤดูหนาวอาจยากต่อการรับมือ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ขาดแคลน นโยบายของแต่ละกระทรวงที่ไม่เป็นเอกภาพ ขณะที่การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชนควรที่จะยกเลิก

นายสุทินยังกล่าวว่า มาตรการระยะสั้นกรณีการช่วยเหลือเยียวยายังมีปัญหาคือ ยังไม่ครอบคลุม และไม่ทันเวลาผ่านมา 3 เดือนบางคนยังไม่ได้รับการช่วยเหลือซึ่งยังทำได้ไม่ดีพอ ขณะที่แผนการฟื้นฟูในระยะกลางและระยาวยังไม่ชัดเจน ขณะที่การกู้เงินจนหนี้สาธารณะต่อปีในปี 64 จะอยู่ที่ร้อยละ 57 ขณะที่จีดีพีของปี 64 ยังไม่ทราบซึ่งหากนำมาคำนวณเงินกู้ตัวเลขหนี้อาจสูงกว่าร้อยละ 60

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินดังกล่าวมีความจำเป็น แต่ควรที่จะเกลี่ยงบประมาณปี 63 ก่อนหรือไม่ หรือ นำงบกลางมาช่วยเหลือเยียวยาก่อนที่จะกู้เงิน ซึ่งขณะนี้เป็นการกู้เงินก่อนที่จะเกลี่ยซึ่งหากเกลี่ยเงินก่อนจะได้ราวร้อยละ 15 ก็จะสามารถช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างรวดเร็ว

"จะกู้แต่ต้องดูเงินในประเป๋าตัวเองก่อน เช่นงบปกติ อาจไม่จำเป็นต้องกู้ 1 ล้านล้านบาท หรือ อาจกู้ได้ลดลง ประเทศไม่ต้องรับภาระ จำเป็นต้องกู้แต่ต้องใช้เงินเก่าเกลี่ยงบ 63 ก่อน และสมควรกู้และกู้เท่าไหร่ ต้องมีหลักประกันว่ากู้มาแล้วจะฟื้นจริง หรือจำเป็นต้องกู้เพื่อเยียวยาเพียง 6 แสนล้านบาท ขณะที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจอาจใช้ช่องทางงบประมาณปกติเช่นงบประมาณประจำปี 63 หรือ งบประมาณประจำปี 64 "

นายสุทิน ยังกล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่า การช่วยเหลือเอสเอ็มอี วิธีการเช่นการพักหนี้ และให้เงินกู้ ซึ่งมีกลุ่มผู้ประกอบการที่เดือดร้อนหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนหนักจะต้องแยกกลุ่มเพื่อให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน โดยมีปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ และความต้องการที่แท้จริงคือ เนื่องจากยังมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำอย่างสูง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เสี่ยงต่อทุนต่างชาติและเทคโนโลยีต้องบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดในประเทศ 

"ควรดำเนินมาตรการที่สร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอี ทั้งการตั้งสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หลังพรรคเพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หากผ่านจะมีองค์กรหรือสภาฯของเขาในการสร้างความแข็งแกร่งจากนั้นจึงจะให้เงินช่วยเหลือเงินไม่ใช่คำตอบเพียงอย่างเดียวต้องเสริมแรงและสร้างความเข้มแข็งและป้องกันเขาด้วย"

นายสุทินยังกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ต้องการฟื้นฟู เพียงแค่ต้องการเพียงหมุนเงินอย่างรวดเร็วซึ่งต้องการให้หมุนและเกิดการทวีคูณเศรษฐกิจ และหากไม่หมุนการใช้จ่ายก็จะกลายเป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ขณะเข้ามาบริหารหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ30 และหากเศรษฐกิจไม่หมุนจีดีพีก็จะลดลงหนี้สาธารณะจะสูงขึ้นและอาจพุ่งถึงร้อยละ 70 "

นายสุทินยังกล่าวว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้อาจจะไม่ได้ผล เพราะปัจจัยเปลี่ยน 1.เศรษฐกิจจะเป็นแบบชาตินิยม ธนาคารโลกไม่ให้กู้เงิน ปัจจัยที่ 2.รัฐบาลยังปฏิรูปประเทศไม่ได้ เช่นกรณีการจ่ายเงินเยียวยา เงินประกันสังคมล่าช้า การลงทะเบียนล่าช้า เพราะระบบราชการไม่มีการปฏิรูปประเทศ

ทั้งนี้ การตรา พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชน มีปัญหาคือ ระบบการตรวจสอบ แม้ว่าจะหลักการดี วิธีการชอบ แต่ก็ควรมีการตรวจสอบเนื่องจากมีเพียงการให้รายงาน ครม. ทุก 3 เดือน และไม่มี กมธ.วิสามัญในการตรวจสอบ 

ด้านนายนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับว่า การจัดการปัญหา COVID-19 ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกและรัฐบาลก็แก้ไขได้ด้วยดี ขณะที่ปัญหาด้านเศษฐกิจมีความซับซ้อน ต้องเยียวยาและเอสเอ็มอีมีมาตรการช่วยเหลือ รวมถึงการฟื้นฟูรัฐบาลได้เริ่มดำเนินการเพื่อให้ต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งประชาชนและผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กเพื่อรับมือเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่จะมาถึง ซึ่งการดูแลมีทั้งการเยียวยาและฟื้นฟูเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ ซึ่งการฟื้นฟูมาตรการจะไม่ซ้ำกับการเยียวยาโดยส่วนหนึ่งขาดสภาพคล่อง ซึ่งขณะนี้เตรียมออกมาตรการที่ไม่ใช่ตัวเงินเช่นเสริมทักษะ สร้างบุคลากรโดยเน้นในระดับชุมชน

"มาตรการเยียวยา พยายามให้ตรงเป้าหมายที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่มี ที่จะต้องดูแลประชาชนอย่างรวดเร็วภายใต้สิ่งที่เรามี และอยากต้องการให้เร็วกว่านี้ แต่เราต้องเยียวยาให้ถูกคนและคุ้มค่า ซึ่งก็รับคำติ-ชม ทักท้วงมาปรับปรุง ดดยช่วยเหลือผ่านมาตรการแลกลไกที่เรามี แต่ในอนาคตเราจะมีข้อมูลที่ครบถ้วนมากขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยมีโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลาง"

ขณะที่การกู้เงินและจัดการภาระหนี้ของประเทศ โดยที่ผ่านมาการกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศ เนื่อจากไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้เดินหน้าต่อไป ขณะที่ในปัจจุบัน พ.ร.ก.กู้เงิน สบน.มีแผนการกู้เงินที่เป็นสากลใช้ตราสารการเงินหลายรูปแบบเพื่อกระจายความเสี่ยง สร้างความสมดุล ไม่กระทบตลาดเงินตลาดทุนมากเกินไป เช่น ระยะยาวจึงออกพันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรออมทรัพย์ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสได้ช่วยกันแก้ไขปัญหา COVID-19 ผ่านการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ เพราะกำหนดไว้ซื้อได้ไม่เกินจำนวน 2 ล้านบาท

"ที่ผ่านมากู้ไปแล้ว 1.4 แสนล้านบาท ต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยนร้อยละ 1.5 ซึ่งสอดคล้องกับภาวะตลาดเงินตลาดทุนในปัจจุบัน ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ตั้งแต่ปี 2555 อัตราส่วนอยู่ราวร้อยละ 40 ในการที่จะกู้ครั้งนี้เพราะต้องการที่จะมีเงินงบประมาณสู้ COVID-19 ทำให้อัตราส่วนมันจำเป็นต้องสูงขึ้นมิฉะนั้นจะสู้ไม่ได้ และหากไม่มีภัยนี้ก็จะอยู่ราวร้อยละ 40 ต่อไป "

นายอุตตม ยังกล่าวว่า กรณีการตั้งคำถามว่า ตาม พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีการจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้เอกชนว่าจะให้อำนาจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมากเกินควรนั้น พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวไม่ได้ให้อำจเกินควรเพราะ มาตรา 5 แม้ให้อำนาจ รมว.คลังชี้ขาดไว้เพื่อให้ดำเนินการตาม พ.ร.ก.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการใช้อำนาจของรัฐมนตรีมีความโปร่งใส และแม้ว่าจะถือเป็นที่สุดก็เพียงการบริหารเท่านั้น แต่ยังคงอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลตามอำนาจปกติมิใช่ให้อำนาจจนเทียบเท่าศาล ไม่ได้ตัดสิทธิอำนาจทางศาลแต่อย่างใด และสามารถตรวจสอบผ่านช่องทางศาลได้ทุกเวลา

ขณะที่ มาตรา 19 วรรค 1 ของพ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินฯ ที่ระบุว่า รมว.คลัง มีอำนาจในการซื้อตราสารหนี้ นั้นกำหนดเงื่อนไขให้ใช้ดุลยพินิจ กรณีตราสารหนี้ประสบภาวะสภาพคล่องอย่างร้ายแรงจากโรค COVID-19 และจำเป็นเร่งด่วนต่อการรักษาภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และมีผู้พิจารณา 2 ขั้นตอนคือธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐมนตรี บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ขัด ม.77 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

"กองทุน BSF ไม่ได้อุ้มบริษัทใด แต่จำเป็นต้องดูแลระบบตราสารหนี้ของสถาบันการเงินซึ่งดูแลประชาชนที่ลงทุนในตราสารหนี้และเงินออมของประชาชน และเป็นการช่วยเหลือผู้ออกหุ้นกู้โดยคิดดอกเบี้ยแพงเป็นพิเศษ ซึ่งพ.ร.ก.ซอฟท์โลนช่วยเอสเอ็มอีจะดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ

'สมคิด' ย้ำ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จำเป็น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ย้ำการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับมีความจำเป็นอย่างแท้จริง ซึ่งมีการหารือในช่วงที่ไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 2 ในระยะสั้นต้องเอาให้อยู่ ขณะนี้ผ่านไปแล้วแต่มีสัญญาณบางอย่างออกมาจึงต้องเตรียมการล่วงหน้า โดยในระยะแรกมีการประเมินว่าเงินเยียวยาเพียงพอหรือไม่ โดยปรับจากการงบประมาณแต่ไม่เพียงพอจึงต้องเตรียมการกู้ยืม ขั้นแรกเยียวยาในช่วง 3 เดือน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น

ขณะที่สัญญาณจากตลาดตราสารหนี้ บางกองทุนเริ่มปิดกองทุน ซึ่งที่ผ่านมามีบทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งมาแล้ว จึงเดินหน้าเชิงรุกเพื่อป้องกันก่อน จึงมี พ.ร.ก.ตั้งกองทุนดูแลตราสารหนี้ โดยอย่ามองว่าเป็นการอุ้มเจ้าสัว จากนั้นจึงมีมาตรการขยายประกันเงินฝากวงเงิน 5 ล้านบาท ขณะที่กรณีของเอสเอ็มอีทุกฝ่ายเป็นห่วงแต่ด้วยข้อจำกัดของระบบธนาคาร กระทรวงการคลังจึงเตรียมออกกองทุนซึ่งการบริหารจัดการต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก

รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ยังกล่าวว่า ระยะเวลา3 เดือนการเยียวยาเงินจะหมด หรืออยู่ในช่วงเดือน ก.ค. - ส.ค. จากนั้นเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจจะมาจากไหน เราต้องการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ในยามนี้การส่งออกย่ำแย่เห็นได้ชัดจาก สหรัฐอเมริกา ญี่ปุน และยุโรป ที่ผ่านมาดัชนีเศรษฐกิจของไทยค่อนข้างดีเพราะหนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 40 แต่ที่ผ่านมาเจอมรสุมหลายลูก ทั้งสงครามการค้า การเลื่อนออกงบประมาณรายจ่ายประจำปี และการแก้ไขปัญหา COVID-19 ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำสิบถือเป็นผลงานของรัฐบาล ซึ่งต้องเตรียมพร้อมต่อในอนาคต การออก พ.ร.ก.ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ต้องการเข้ามาเป็นคนกลาง แต่ก็เสียสละต้องเข้ามาเพื่อดูแลตลาดเงินตลาดทุน 

นายสมคิดยังระบุว่า ทางออกคือการสร้างฐานที่เข้มแข็งของประเทศไทย และการป้องกันไม่ใก้การเมืองแทรกแซงให้สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณมากลั่นกรอง และรับฟังความเห็นจากภายนอกเช่น สภาฯ แต่ด้วยวิธีการใดไม่ต้องกังวล ขณะที่การร่วมมือกับรัฐบาลและสภาฯเป็นสิ่งสำคัญมาก งบประมาณเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจำนวน 400,000 ล้านบาท ต้องใช้อย่างมีคุณภาพ และหลังจากนั้น เมื่อสถานการณ์อย่างน้อยปลายปีหน้า และด้วยการที่ประเทศไทยประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่จึงต้องเน้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและต้องจัดสรรงบประมาณลงไปจนกว่าภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวจะกลับมา ดังนั้นงบประมาณรายจ่ายปี 2564 จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะโครงการที่ไม่เกี่ยวกับการสร้างงานสร้างรายได้ ทุกกระทรวงต้องปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณมากที่สุด

"ต้องประคองไปให้ถึงปีหน้า ให้คนไทยอยู่ได้ ดึงเอกชนมาช่วยไม่ใช่ดึงมากิน ครึ่งปีหน้าจะเจอต้องเตรียมโครงการไว้ก่อน ขณะที่ EEC ถือเป็นโอกาส เพราะประเทศอื่น ๆ ไม่มีจุดแข็งเหล่านี้เลยทั้ง เวียดนาม เมียนมา สิงคโปร์หาก COVID-19 หายจะเป็นโอกาสดีของเรา เป็นโอกาสที่จะสร้างคนของเรา และจากเหตุการณ์ครั้งนี้เรามีข้อมูลมหาศาล ทุกกระทรวงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าต้องมีบิ๊กดาต้า เราต้องเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสให้คนไทยอยู่ถึงปีหน้าให้ได้ เหตุการณ์ 3 เดือนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น การจะตรวจสอบความโปร่งใสเป็นสิ่งที่ดีที่สุดชาวบ้านจะได้อุ่นใจเพราะเงินนี้เป็นก้อนที่ใหญ่มากเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงที่สุด ผมไม่ได้แก้ตัวแทนรัฐบาล แก้ตัวแทนนายกฯ ชาวบ้านอยากเห็นสภาฯสามัคคี อยากเห็นพรรคการเมืองไม่งั้นจะผ่าน COVID-19 ไปถึงปีหน้าได้อย่างไร" นายสมคิดทิ้งท้าย

'ประยุทธ์' ไม่ขัดข้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณตาม พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า รัฐบาลพยายามดำเนินมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ทุกกลุ่ม โดยในส่วนของมาตรการเงินเยียวยา 5 พันบาท นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเยียวยาเท่านั้น ซึ่งอยากให้มองภาพกว้างว่ารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ออกมาแล้วหลายด้าน ทั้งนี้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ใน 5 มิติ ประกอบด้วย การลดค่าใช้จ่าย เพิ่มสภาพคล่อง เยียวยาทุกกลุ่ม ชะลอหนี้สินและเข้าถึงแหล่งเงิน และชี้แจงถึงมาตรการฟื้นฟูและสร้างความแข็งแกร่ง 4 แสนล้านบาท ที่ฝ่ายค้านแสดงความเป็นห่วงนั้น ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีเป็นห่วงยิ่งกว่าฝ่ายค้าน ซึ่งในฐานะผู้รับผิดชอบต้องดูแลให้ดีที่สุด เพื่อสนับสนุนเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศให้ดีขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยินดีให้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณและการดำเนินการ ตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ อีกทั้งยืนยันว่าการใช้จ่ายเงินกู้นั้น มีการตรวจสอบทุกขั้นตอน เพราะเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นเงินแผ่นดิน การเบิกจ่ายเช่นเดียวกับงบประมาณปกติ และเพื่อโปร่งใสในการดำเนินการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงจัดให้มีเว็บไซต์ติดตามความก้าวหน้า ของแต่ละแผนงานและโครงการ ส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ตาม พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ นั้น นายกรัฐมนตรีไม่ขัดข้อง เพราะเป็นเรื่องที่สภาจะหารือกันต่อไป

นายกรัฐมนตรี ขอให้เชื่อมั่นและไว้วางใจรัฐบาล ยืนยันจะบริหารประเทศบนพื้นฐานข้อมูลที่รอบด้านและรับฟังทุกข้อเสนอแนะ

ที่มาเรียบเรียงจาก: สยามรัฐ | Thai PBS [1] [2] [3] | สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์





 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net