เปิดเรียนกันดีไหม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ทำให้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการต่ออายุจนถึงสิ้นเดือน มิถุนายน 2563 และมีการปิดเรียนของโรงเรียนมาตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม จนถึงตอนนี้ นับเป็นเวลา 72 วัน มากกว่าระยะเวลากักตัวตามปกติของผู้ป่วยต้องสงสันที่มีกำหนด 14 วัน แต่ถ้านับถึงวันที่ 1 กรกฎาคม ที่เป็นกำหนดเปิดภาคเรียนตามที่รัฐบาลกำหนด เด็กนักเรียนจะถูกกักตัว ทั้งหมด 105 วัน ซึ่งก็น่าจะเป็นที่คลายกังวลในเรื่องที่เด็กจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามความคิดของคนทั่วไป

จากการรับฟังปัญหาของประชาชนโดยทั่วไป แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มความคิด

กลุ่มที่ 1 กลุ่มชนชั้นกลางที่ไม่มีปัญหาในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตหรือยังพอรับได้กับรายจ่ายที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของ สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 คนกลุ่มนี้ไม่ต้องการให้ลูกหลานไปโรงเรียน ต้องการให้อยู่กับบ้านหรือเรียนอยู่ที่บ้านก็ได้ คนกลุ่มนี้สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนออนไลน์หรือการปิดสถานศึกษา แต่ก็มีบ้างที่พบว่า คนกลุ่มนี้แอบให้ลูกหลานเรียนพิเศษล่วงหน้าไปแล้ว

กลุ่มที่ 2 เป็น กลุ่มคนยากจน หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาดูแลลูกหลาน หากจำเป็นต้องหยุดทำงานมาสอนลูก ตามที่กระทรวงศึกษา กำหนดบทบาทให้เป็นผู้ช่วยครู ในการจัดการเรียนการสอนทางไกลออนไลน์ ก็คงแย่ คนกลุ่มนี้อยากที่จะให้โรงเรียนเปิดเรียนไวๆ อย่างน้อยการที่ลูกหลานไปโรงเรียนก็เป็นการลดค่าใช้จ่าย ค่าขนม ค่าอาหารกลางวัน ที่แน่ๆ ลูกหลานปลอดภัย ไม่ต้องปล่อยทิ้งไว้ตามลำพังในขณะที่ผู้ปกครองต้องออกไปทำงาน และคนกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ด้วย ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มี จานดาวเทียม ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีโทรศัพท์ ผู้ปกครองไม่อยู่บ้าน สาระพันปัญหา แต่คนกลุ่มนี้เสียงไม่ดัง พูดไปก็ไม่มีใครได้ยิน ที่สำคัญคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่รัฐไม่เคยมองเห็นและรับฟังปัญหา

เป็นที่แปลกใจหลังจากที่ได้พูดคุยและรับฟังปัญหาจาก ผู้อำนวยการโรงเรียนท่านหนึ่ง ที่มีนักเรียนในเขตบริการ อาศัยอยู่ตามชายเขาและเป็นพื้นที่ทุรกันดาร และที่แปลกยิ่งกว่า คือ โรงเรียนนี้มีที่ตั้งอยู่หากจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ไม่ถึง 10 กิโลเมตร ผู้อำนวยการโรงเรียนท่านดังกล่าวเล่าว่า ที่โรงเรียนแบ่งความพร้อมของนักเรียนออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านผู้เรียน ผู้ปกครอง และสื่อการเรียนการสอน เช่น โทรทัศน์ มือถือ อินเตอร์เน็ต จากนักเรียนทั้งหมดเกือบ 300 คน มีเพียง 15 คน ที่มีความพร้อมครบทั้ง 3 ด้าน คือคิดเป็นร้อยละ 5 ของนักเรียนทั้งโรงเรียน ที่มีความพร้อมในการเรียนทางไกลออนไลน์

จากทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่กักตัวนักเรียนไว้ที่บ้านแล้ว 72 วัน และจะกักตัวต่อไปจนครบ 105 วันหรือไม่ ปัญหาปากท้องของผู้ปกครองนักเรียนที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยากที่จะทนไหว ปัญหาของนักเรียนที่ขาดความพร้อมอย่างชัดเจน แต่ไม่มีใครยอมจะรับฟัง ปัญหาของครูที่ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อแก้ปัญหาตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา โดยปราศจากการสนับสนุนจากหน่วยงาน

ถึงเวลาเปิดเรียนแล้วหรือยัง นักเรียนได้ถูกกักตัวไว้เกิน 14 วันแล้ว เพราะฉะนั้นคงไม่มีนักเรียนคนไหนที่ป่วย หรือติดเชื้อ นอกจากเสียว่า จะมีผลประโยชน์ใด ที่ทำให้โรงเรียนต้องปิดต่อไปอย่างไม่มีกำหนด หรืออาจจะต้องปิดกันทั้งปีไปเลย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท