คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (8): ยา คน คุก และสาบสางที่ล้างไม่ออก

การจับผู้เสพและครอบครองเพื่อเสพเข้าคุกเท่ากับแปะป้ายอาชญากรให้เธอและเขา การบำบัดที่ไม่ได้ผล เรียนรู้วิชาอาชญากรรม สร้างเครือข่ายยาเสพติดทั้งในและนอกคุก แล้วปล่อยตัวออกมาด้วยกลิ่นคละคลุ้งของอาชญากร เมื่อโอกาสปิด สิ่งที่ได้รับจากในคุกย่อมเป็นทางเลือกที่เหลือ ‘ประชาไท’ พาสำรวจกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดียาเสพติด ผ่านซีรีส์ ‘คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง’

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (1): ที่ไหนๆ ก็มีแต่ ‘พวกค้ายา’?, 21 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (2): กฎหมายปิดปาก, 22 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (3): เมื่อกฎหมายปิดปาก ความยุติธรรมก็เงียบงัน, 23 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (4): ยอดต้องได้ เป้าต้องถึง, 24 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (5): การกำจัดปีศาจร้ายโดยไม่เกี่ยงวิธีการ, 26 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (6): ผู้หญิงในคดียาเสพติด ‘สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน’, 27 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (7): บนเส้นทางสู่โลกหลังกำแพง, 29 พ.ค. 63

จากหลายตอนก่อนหน้านี้ เห็นได้ว่าผู้ต้องขังในคดียาเสพติดส่วนมากเป็น ‘ปลาซิวปลาสร้อย’ ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ที่มีบทบาทนำในขบวนการมีน้อยมากที่จะลงเอยในคุก ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ในประเทศโคลัมเบียที่การประกาศสงครามกับยาเสพติดอย่างเด็ดขาด มีผู้ต้องขังคดียาเสพติดแค่ร้อยละ 2 เท่านั้นที่มีบทบาทระดับกลางหรือระดับใหญ่ในขบวนการ

หนังสือ ‘คู่มือนโยบายยาเสพติด’ ที่จัดทำโดยสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ระบุไว้ว่า

‘บุคคลที่มีบทบาทรองนี้ เป็นผู้เกี่ยวข้องในระดับล่างสุด [ของขบวนการยาเสพติด-ขยายความโดยผู้เขียน] โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก (ผู้ด้อยโอกาส) หรือมีความเปราะบางทั้งฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น คนยากจนและ/หรือเพศหญิง เยาวชน และเด็ก ซึ่งถูกบุคคลที่มีบทบาทนำหรือบทบาทสำคัญแสวงหาประโยชน์ในสภาพหรือฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาชญากรรมหรือกระบวนการค้ายาเสพติด จึงมีสภาพไม่เพียงเป็น “เหยื่อ” ของระบบเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น

‘หากยังเป็น “ตัวประกัน” ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างองค์กรอาชญากรรมหรือกระบวนการค้ายาเสพติดกับผู้บังคับใช้กฎหมายที่ไม่อาจจับกุมดำเนินคดีต่อตัวการใหญ่หรือผู้มีอิทธิพลซึ่งเป็นต้นเหตุที่อยู่เบื้องหลังในองค์กรอาชญากรรมหรือกระบวนการค้ายาเสพติด ทั้งที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงของผลกำไรมหาศาลจากการค้ายาเสพติดได้’

‘คุก’ ไม่ใช่สถานบำบัด

ในตอนแรก ผมบอกไว้ว่าตัวเลขผู้ต้องขังทั้งหมดในคุกไทย ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 มีประมาณ 370,000 คน เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด 298,517 หรือร้อยละ 79.57 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด เป็นความแออัดยัดเยียดที่เกินกว่าคุกไทยจะรับได้ ตามที่นายเอยืนยันว่า ห้องขังที่จุคนได้ 23 คน แต่ความจริงต้องอัดรวมกันถึง 76 คน เวลานอนต้องสลับฟันปลา ถ้าคุณลุกไปห้องน้ำตอนกลางคืน ที่นอนคุณก็จะหายไป เขาบอกว่ามันเป็นเพียงการฝากขัง และเขาเชื่อว่าชื่อของตนเข้าไปอยู่ในรายชื่ออาชญากรเรียบร้อยแล้ว

ชื่อในภาษาอังกฤษของกรมราชทัณฑ์คือ Department of Corrections หมายถึงหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดให้กลับมาถูกต้อง ทว่า สภาพคนล้นคุกเนื่องจากคดียาเสพติด ระบบจึงไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น ข้อค้นพบที่ขัดแย้งยิ่งกว่า การบำบัดในคุกไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้พึ่งพิงยา

การบำบัดผู้ต้องขังในคดียาเสพติดในเรือนจำถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ปี 2560 มีการตั้งเป้าหมายว่าจะต้องบำบัดให้ได้ 20,700 คน ทำได้จริงแค่ 14,107 คน ทั้งยังเป็นการบำบัดโดยผู้ที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข แย่กว่านั้นคือไม่เคยได้รับการบำบัด

“ไม่เห็นจะมีอะไรบำบัดเลย ผมไปอยู่ก็เหมือนกับไปรอการตัดสิน รอย้ายเรือนจำ ไม่เคยเห็นใครไปบำบัดอะไรเลย บำบัดคือการฟื้นฟูร่างกายใช่ไหม แต่นี่มีแค่ออกกำลังกายตอนเช้าแล้วก็หมดไป แล้วมันเรียกว่าการบำบัดได้ยังไง” นายซีเล่า

อ่านเพิ่มเติมที่ ผู้เสพคือผู้ป่วย(1): ส่องภารกิจสู้ยาเสพติดแบบใหม่ บำบัดฟื้นฟูแทนขังล้นคุก, 12 ก.ค. 61

อีกด้านหนึ่ง ผู้ค้ายาเสพติดกลับใช้ช่องทางการบำบัดเพื่อหลบเลี่ยงการถูกลงโทษ หรือในบางกรณีก็มีการทุจริตโดยนำผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดไปดำเนินคดีเนื่องจากใช้เวลาสั้นกว่า

นอกจากนี้ ยังพบว่าการจับผู้เสพหรือกลุ่มคนเปราะบางที่มีบทบาทรองๆ ในขบวนการไม่ได้ทำให้การค้ายาเสพติดลดลง องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ประเทศที่มีนโยบายเคร่งครัดต่อการใช้ยาเสพติดผิดกฎหมาย ไม่ได้มีระดับการใช้ยาเสพติดต่ำลงกว่าประเทศที่มีนโยบายเสรีกว่า 

ตรงกันข้าม มันเป็นการเพิ่มภาระให้กับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทั้งในแง่การลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน ทำให้คดีล้นศาล งบประมาณที่ต้องสูญเสีย บั่นทอนประสิทธิภาพในการจัดการกับระดับนำของขบวนการค้ายาเสพติด และประหนึ่งไม่เป็นการใส่ใจกับการค้ายาเสพติดที่มีในเรือนจำหลายแห่งทั่วโลก

ใช่ นอกจากจะไม่ได้รับการบำบัดแล้ว ซ้ำยังก่อให้เกิดเครือข่ายการค้ายาเสพติดในเรือนจำอีกต่างหาก

เครือข่ายยาเสพติดในคุก

เรื่องของเด็กหญิงที่ถูกขาใหญ่ในคุกติดต่อให้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายค้ายาในตอนที่แล้ว ไม่ใช่กรณีแรก แน่นอน ไม่มีทางเป็นกรณีสุดท้าย นายซีเล่าว่า เพื่อนผู้ต้องขังหลายคนในแดนเดียวกัน เมื่อกลับออกไปก็ผันตัวเป็นผู้ขาย เพราะได้ทำความรู้จักกับพ่อค้ารายใหญ่ในคุก แน่นอนว่าข้างในมีการขายยาเสพติดให้กันระหว่างผู้ต้องขัง

‘คู่มือนโยบายยาเสพติด’ กล่าวว่า ยาเสพติดมักเป็นสื่อกลางและเงินตราในวัฒนธรรมย่อยของเรือนจำ
คุณสงสัยไหมว่า มีการค้าขายยาเสพติดในคุกได้อย่างไร? พ่อค้ายาในคุกติดต่อกับเครือข่ายภายนอกได้อย่างไร? ทำไม่ได้หรอกครับ ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่คอยเอาหูไปหน้าเอาตาไปไร่

พูดลอยๆ แบบนี้เสี่ยงถูกฟ้อง ผมขอยกเนื้อหาส่วนหนึ่งจาก ‘รายงานการทบทวนสถานการณ์ปัญหายาเสพติดของประเทศไทย’ จัดทำโดยแผนงานภาควิชาการสารเสพติด (ภวส.) คณะกรรมการบริหาเครือข่ายองค์กรวิชาการสารเสพติด เมื่อปี 2557 ที่ระบุว่า ผู้ค้ายาเสพติดที่ถูกจับกุมดำเนินคดีในช่วงระยะที่ผ่านมา ยังมีการติดต่อสั่งการค้ายาจากในคุก ซ้ำผู้ต้องขังหลายรายมีศักยภาพสูง มีเครือข่ายกับผู้ต้องขังในคุกแห่งอื่นและกับบุคคลภายนอกคุก โดยใช้โทรศัพท์มือถือและซิมการ์ดแบบเติมเงินในการสั่งซื้อ-ขายจากในคุก
‘ปัญหาการค้ายาเสพติดจากภายในเรือนจำเกิดจากการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ โดยมาตรการในการจู่โจมตรวจค้นและการขยายผลเพื่อเอาผิดเครือข่ายและบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมาเป็นเพียงการจู่โจมตรวจค้นยึดสิ่งของต้องห้าม แต่ไม่ได้สามารถขยายผลไปยังเครือข่ายและผู้เกี่ยวข้องได้ จึงทำให้เครือข่ายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไม่มีความเกรงกลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังไม่มีกฎหมายรองรับในการปฏิบัติงานการเก็บข้อมูลโดยการขอข้อมูลการใช้โทรศัพท์ ข้อมูลเส้นทางการเงินเพื่อวางแผนจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดจากภายในเรือนจำที่จะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและต้องเป็นความลับ

‘การจับผู้ค้ายาเสพติดเข้าไปอยู่ในเรือนจำรวมกับผู้ต้องขังคดีอื่นๆ ทำให้ผู้ต้องขังส่วนหนึ่งโดยเฉพาะผู้ต้องขังที่มีอัตราโทษสูง หรือเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่อเห็นผู้ต้องขังคนอื่นค้ายาเสพติดและมีรายได้มาก คนเหล่านี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการค้ายาเสพติดเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งปัญหาเจ้าหน้าที่มีส่วนในการกระทำความผิดหรือเพิกเฉยต่อการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและสิ่งของต้องห้ามในเรือนจำ’

ความแออัดและเครือข่ายยาเสพติดในคุกไม่ได้ส่งผลเฉพาะการแพร่ระบาดของยาเสพติดในหมู่ผู้ต้องขังและโลกนอกกำแพงเท่านั้น มันยังสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของผู้ต้องขัง

เคยมีการศึกษาพบว่าวัณโรคมีการแพร่ระบาดในผู้ต้องขังสูงกว่าประชากรทั่วไปถึง 8 เท่า ในบางประเทศการติดเชื้อเอชไอวีในคุกสูงกว่าภายนอกถึง 100 เท่า รวมถึงไวรัสตับอักเสบซี เนื่องจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน มิพักต้องกล่าวถึงโรคอื่นๆ ที่มาพร้อมกับความหนาแน่นของประชากรในคุกและการบริการสุขภาพที่ไม่เพียงพอ

ตราบาปและสาบคุก

เมื่อ ‘คุก’ ไม่ใช่สถานที่ที่ดีที่สุดในการบำบัดรักษาอาการพึ่งพิงยาเสพติด มิหนำซ้ำยังเป็นแหล่งความรู้ในการประกอบอาชญากรรมและสร้างเครือข่ายของขบวนการค้ายา

“ในเรือนจำมีคนหลากหลาย วันๆ ก็คุยแต่เรื่องยา คนที่โกงไพ่ โกงเช็กก็สอนเราว่าทำอย่างนี้” นางสาวบีเล่า

ทันทีที่คนคนหนึ่งเดินพ้นประตูคุกออกมา ชีวิตเขาและเธอจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป เธอและเขาถูกทำให้กลายเป็นคนคุก เป็นเดนคุก เป็นอาชญากร โอกาสกลับเนื้อกลับตัวย่อมยากเย็น นายเอ เล่าการเริ่มต้นอาชีพใหม่ที่ล้มเหลวว่า

“ผมไม่แน่ใจ แต่เขาให้ผมไปทำประวัติอาชญากรรมคือให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ตอนที่ฝากขังมันก็คงจะขึ้นในประวัติอาชญากรรมว่าคนนี้มีประวัติเสพขับ เพราะผมเคยไปสอบใบขับขี่สาธารณะ พอเขาไปตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก็ไม่ผ่าน ไม่แจ้งอะไรมา ตอนนั้นคิดอยากจะขับแท็กซี่ พอสอบผ่านแล้ว ต้องส่งไปตรวจประวัติอาชญากรรมแล้วก็หายเงียบไปเลย ไม่แจ้งมาเลย แสดงว่าติดอยู่นั่นแหละ”

การกวาดต้อนผู้เสพหรือผู้ครอบครองเพื่อเสพเข้าคุก ต้องอยู่กันอย่างแออัด ระบบการดูแลสุขภาพที่ขาดประสิทธิภาพ ระบบบำบัดเยียวยาที่ไม่ได้ผล ซ้ำยังเพิ่มเครือข่ายให้กับขบวนการค้ายาและอาชญากรรมประเภทอื่น มันทำให้คนจำนวนมากกลายเป็นอาชญกร

กับคนเสพยา ตราบาปและสาบคุกไม่อาจลบเลือนง่ายดาย สังคมไม่ไว้วางใจ ปิดช่องทางที่คนกลุ่มนี้จะได้ประกอบอาชีพเหมือนคนทั่วไป แรงบีบคั้นเสือกไสให้เขาและเธอกลับเข้าสู่วงจรยาเสพติดอีกครั้ง ผันตัวเองเป็นผู้ค้าเพราะรู้จักกับเครือข่ายขาใหญ่ในคุกและนอกคุก ชีวิตวนเวียนระหว่างโลกในกำแพงกับโลกนอกกำแพงเรื่อยไป จนกว่าจะหาที่ทางเอาชีวิตรอดในสังคมโดยไม่ทำผิดกฎหมายได้ หรือไม่ก็จนกว่าชีวิตจะจบลง...ในกำแพงหรือนอกกำแพง

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การปราบปรามยาเสพติดด้วยมาตรการทางกฎหมายและการลงโทษอย่างหนัก กลับไม่ทำให้การแพร่ระบาดของยาเสพติดลดลง

เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ผู้ใช้เวลาจำนวนมากของชีวิตในคุก เคยพูดเมื่อปี 2538 ว่า

“ไม่มีใครรู้จักประเทศหนึ่งอย่างแท้จริง จนกว่าเขาจะได้เข้าไปอยู่ในคุกของประเทศนั้น เราไม่ควรประเมินประเทศจากวิธีการที่รัฐบาลปฏิบัติต่อพลเมืองชั้นสูง หากควรดูจากวิธีการที่พวกเขาปฏิบัติต่อพลเมืองซึ่งอยู่ในสถานที่ต่ำต้อยที่สุด”

ซีรีส์ชุด คนกับยา 'ปีศาจ' บนตาชั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท