ปัญหาของบทความสโมฯ ในยุคเปลี่ยนผ่าน ของอดีตสโมฯ สิงห์ดำท่านหนึ่ง (1)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ดิฉันได้มีโอกาสไปอ่านซีรี่ย์ของบทความของอดีตสโมฯ สิงห์ดำท่านหนึ่ง ขอใช้ตัวย่อว่า อสส (อดีตสโมฯ สิงห์ดำ) และเนื่องจากเคยเห็นวัฒนธรรมแลกเปลี่ยนความคิดผ่านเว็บไซต์ประชาไท ดิฉันจึงขอใช้พื้นที่แห่งนี้ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำข้อเสนอของดิฉันร้อยเรียงเป็นตัวอักษรผ่านบทความนี้

กราฟของอดีตสโมฯ สิงห์ดำ

อสส ทำกราฟระบุลักษณะของนิสิตในคณะรัฐศาสตร์ หากเทียบจากกราฟแล้ว ดิฉันเป็นนิสิตในคณะคนหนึ่งที่ถูกเรียกว่าเป็นพวกปัจเจกนิยม, วิชาการ (แม้ว่าดิฉันจะไม่ค่อยเข้าเรียนก็ตาม), และมีแนวโน้มที่จะต่อต้านกิจกรรม (เพราะดิฉันไม่ค่อยเข้าร่วมกิจกรรมของคณะ) ตามนิยามของกราฟนี้ อสส ยังระบุตำแหน่งของสโมฯ ที่ผ่านมาว่าเป็นพวกนิยมวิชาการระดับกลาง, มีความเป็นชุมชนนิยมสูง, และมีความคลั่งไคล้ในการทำกิจกรรมเป็นอย่างมาก และได้ทำนายว่าสโมฯ 63 ในปีหน้าจะเป็นพวกปัจเจกนิยมสูง, สนับสนุนวิชาการสุดขั้ว, และต่อต้านการทำกิจกรรมของคณะ

กราฟมีอคติ?

สิ่งแรกที่ดิฉันเห็นว่ากราฟมีความผิดปกติและทำให้ดิฉันสนใจที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ คือ อสส เลือกที่จะใส่ค่าสุดโต่งให้กับสโมฯ 63 และยังรวมถึงการวางตำแหน่งในกราฟที่ในแนวแกน X,Y,Z ของสโมฯ ที่ผ่านมาอยู่ในค่า +,+,+ ในขณะที่ตำแหน่งของสโมฯ 63 กลับเป็นตำแหน่ง +,-,- ที่ + เป็นค่าสุดโต่ง แม้ อสส จะระบุว่าไม่มีตัวแปรไหนถูกผิด แต่เราสามารถเห็นได้ถึงการมีสัญญะที่แฝงด้วยอคติบางประการ แน่นอนว่าดิฉันไม่สามารถตัดสินทั้งบทความทั้งหมดของ อสส ได้ด้วยภาพกราฟ 1 ภาพ ดังนั้นดิฉันจึงได้นำหลักฐานอื่นๆ มาพิจารณาร่วมด้วย

ปัญหาของการนิยามคำว่ากิจกรรมและชุมชนนิยม

อสส นิยามกิจกรรมในคณะว่า “กิจกรรมนอกหลักสูตรต่างๆ เป็นในเชิงกีฬา ศิลปะและวัฒนธรรม หรืออาจรวมไปถึงชอบการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่สโมฯ จัดขึ้น โดยส่วนใหญ่กิจกรรมที่กล่าวถึงจะเน้นไปในเชิงสันทนาการ บันเทิง และไม่ได้มีสาระทางวิชาการมากนัก” [1] อสส ระบุว่าสโม 63 เป็นกลุ่มที่ต่อต้านการทำกิจกรรม และนิสิตในคณะมีความสนใจในกิจกรรมที่เขานิยามน้อยลง และมีความเป็นปัจเจกนิยมสูงขึ้น ดังนั้นปัญหาของการนิยามแบบนี้จึงอยู่ที่

การนิยามสโมฯ 63 ว่าเป็นพวกปัจเจกนิยมสุดขั้ว แม้ว่าดิฉันจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสโมฯ ชุดนี้มาก แต่โดยทั่วไปแล้ว คงจะเป็นเรื่องตลกหากบอกว่าคนที่มีความเป็นปัจเจกนิยมสูงขนาดที่กราฟบอกไว้เลือกมาทำสโมสรนิสิตที่ต้องพบปะผู้คนเป็นจำนวนมาก ต้องมีความสัมพันธ์ทางสังคมสูง รวมถึงต้องจัดกิจกรรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

การไม่ทำกิจกรรมภายในคณะไม่ได้หมายความว่าไม่สนใจที่จะทำกิจกรรม ดิฉันและเพื่อนจำนวนไม่น้อยไม่ทำกิจกรรมในคณะ แต่ก็ทำกิจกรรมภายนอกคณะอีกมาก เช่น บ้านรับน้อง ชมรมส่วนกลาง กิจกรรมออกค่ายของจุฬาฯ หรือ บางคนแม้กระทั่งสนใจกิจกรรมนอกหลักสูตรภายนอกมหาวิทยาลัย ดิฉันจึงขอตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า กิจกรรมในคณะต้องมีปัญหาบางประการที่ทำให้คนบางส่วนเลือกที่จะทำกิจกรรมภายนอกคณะแทน มากกว่าจะเป็นเรื่องของปัจเจกนิยมที่สูงขึ้นเพียงอย่างเดียว 

ความน่าสนใจอีกประการอยู่ที่การจัดวางว่าสโมฯ 63 ต่อต้านการทำกิจกรรม ดิฉันจึงได้ไปทำการบ้านมาและพบว่ากรณีหนึ่งที่มักถูกยกเรื่องการต่อต้านการทำกิจกรรม คือ ประชามติยกเลิกการประกวด ดาว-เดือน ดาวเทียม ที่นำโดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับสโมฯ 63 จากนั้นดิฉันได้ทำการค้นคว้าเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของกิจกรรมดังกล่าว และดิฉันได้พบบทความ ‘เนติวิทย์’ รวมรายชื่อจี้รัฐศาสตร์จุฬาฯเลิกประกวดดาวเดือน ไม่เสริมศักยภาพนิสิตอย่างแท้จริง ในมติชน [2] จะพบว่า ไม่เคยมีข้อเสนอให้ยกเลิกกิจกรรมไปทั้งหมด แต่กลับกลายเป็นการเสนอกิจกรรมทางเลือกที่ส่งเสริมศักยภาพนิสิตทุกคน ประเด็นนี้สะท้อนความเป็นชุมชนนิยมที่ อสส อ้างว่านิสิตในคณะ หรือ สโมฯ 63 ไม่สนใจ และหากพูดให้ถูกต้อง นิสิตในคณะไม่ได้ต่อต้านการทำกิจกรรมไปทั้งหมด แต่ต่อต้านการทำกิจกรรมบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับนิสิตส่วนใหญ่เสียมากกว่า ปัญหาจึงอยู่ที่การนิยามกิจกรรมในลักษณะนี้ อสส จึงไม่สามารถแปะป้ายว่าพวกเขาเป็นพวกปัจเจกนิยมที่ “ปฏิเสธการต้องทำบางอย่างโดยอ้าง ถ้านั่นไม่ได้ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของตนเอง” [3] เพียงเพราะพวกเขาอาจกำลังขอแก้ไขระเบียบของชุมชม

การทำกิจกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการนิยาม เช่น กิจกรรม workshop, วงพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น, กิจกรรมทางการเมือง, กิจกรรมวิจารณ์ภาพยนต์ ฯลฯ หากใช้กรอบของ อสส จะนับว่าตรงนี้เป็นกิจกรรมด้วยหรือไม่ หรือ จะกลายเป็นด้านของการเรียน, วิชาการไปเสียทั้งหมด และคงจะฟังดูแปลกไม่ใช่น้อยหากกิจกรรมทางการเมืองถูกจัดประเภทเป็นกิจกรรมเชิงวิชาการ กิจกรรมตามนิยามของ สส จึงเป็นความหมายที่แคบและผูกโยงกับสันทนาการบันเทิงตามรูปแบบเดิมที่สโมฯ เคยจัดมากเกินไป อสส ตีกรอบว่าคนที่ไม่ทำหรือวิจารณ์กิจกรรมตามนิยามเป็นพวกต่อต้านกิจกรรม ทั้งๆ ที่พวกเขาอาจมีกิจกรรมนอกหลักสูตรอีกรูปแบบหนึ่ง หรือตามข้อสังเกตในข้อที่ 3 ว่าเป็นการต่อต้านบางกิจกรรมที่เกี่ยวกับส่วนรวมเสียมากกว่า (ดิฉันไม่เคยเห็นการต่อต้านกิจกรรมเฉพาะกลุ่ม เช่น การแข่งกีฬา หรือ คอนเสิร์ต) และดิฉันยังได้เล็งเห็นปัญหาของการนิยามคำว่า วิชาการ ของ อสส เป็นอีกประเด็น

 

ปัญหาของการนิยามคำว่าวิชาการ

อสส นิยามว่า “คนที่เน้นการเรียนการสอนเป็นความสำคัญลำดับต้น ๆ รวมไปถึงการมุ่งให้สโมฯ มีบทบาททางการเมืองและสังคมในระดับประเทศ” [4] คือ ผู้สนับสนุนวิชาการในคณะรัฐศาสตร์ ในความเข้าใจของคนทั่วไปวิชาการของคณะรัฐศาสตร์ คือ การเมือง ดิฉันขอยกประโยคสั้นๆ ที่ว่า Everything is political (ทุกอย่างเป็นเรื่องของการเมือง) ซึ่งมีความหมายอย่างมีนัยสำคัญสำหรับผู้ที่เรียนรัฐศาสตร์ เพราะ สำหรับนักรัฐศาสตร์อย่างเช่น อสส หรือคนทั่วไป ไม่ควรผูกขาดเรื่องการเมืองให้เป็นแค่วิชาการในห้องเรียนเท่านั้น นักรัฐศาสตร์ที่มีคุณภาพย่อมรู้ดีว่าเรื่องการเมืองไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการเรียน วิชาการเป็นเพียงการนำการเมืองมาศึกษาอย่างมีแบบแผนแต่ไม่ใช่การเมืองทั้งหมด กราฟของ อสส จึงไม่อาจอธิบายนิสิตในคณะที่สนใจการเมืองในฐานะอื่นที่ไม่ใช่ในวงวิชาการได้ หากยอมรับว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญของคณะรัฐศาสตร์ การจะอธิบายนิสิตในคณะอย่างครอบคลุมและแม่นยำมากขึ้น กราฟของ อสส ควรใช้ตัวแปร สนับสนุนการเมือง และ ต่อต้านการเมือง แทน สนับสนุนวิชาการ และ ต่อต้านวิชาการ

ดิฉันเห็นว่า ผู้ที่สนับสนุนการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ทางการเมืองที่แตกฉานหรือติดตามการเมืองทุกวัน แต่ผู้ที่สนับสนุนการเมืองนั้น เป็นผู้ที่ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ของการเมืองในชีวิตประจำวัน เป็นคู่ตรงข้ามกับผู้ต่อต้านการเมือง (ignorance) ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดิฉันได้หาข้อมูลเกี่ยวกับการเรียกร้องยกเลิกเก็บเงินรุ่นและเจอกับข้อสนับสนุนการเก็บเงินรุ่นชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจของแอคเคาท์ทวิตเตอร์ที่ใช้ชื่อว่า สิงห์ไดอารี่ Singhdiary (@alwayssupport68)

ดิฉันเห็นว่า การนำเงินสนับสนุนใครเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรม ความผูกผันกับคนอื่นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ประโยค “พักตรรกะไว้ในห้องเรียน แล้วใช้หัวใจคุยกัน” เมื่อลองวิเคราะห์และเรียบเรียงคำใหม่จะได้ว่า “งดใช้เหตุผลหรือสติปัญญา และใช้อารมณ์ความรู้สึก” ดิฉันไม่แน่ใจว่าเจ้าของแอคเคาท์ทวิตเตอร์นี้เป็นนิสิตในคณะจริงหรือไม่ เพราะนิสิตคณะรัฐศาสตร์ไม่น่าจะสามารถผลิตวาทกรรมที่ดูสูญเปล่าทางการศึกษาได้ถึงเพียงนี้ ส่วนข้อถกเถียงอื่นๆ ของแอคเคาท์นี้ขอให้ผู้อ่านได้ลองพิจารณาด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าหากนำแอคเคาท์นี้ใส่ในกราฟก็จะจัดได้ว่าเป็นตัวอย่างของพวกต่อต้านการเมืองในคณะที่เรียนการเมืองเป็นหลัก และหากลองสมมติว่าสโมฯ ที่ผ่านมามีผู้มีทัศนคติเช่นนี้ ตำแหน่งในกราฟของสโมฯ ที่ผ่านมาก็คงต้องเลื่อนออกไปทางซ้ายมากกว่าที่ อสส กำหนดไว้

(โปรดติดตามต่อในตอนที่ 2)

 

เชิงอรรถ
[1] Phichaphob Seagames, “สโมฯ ในยุคเปลี่ยนผ่าน : ตอนที่ 1 ซ้ายขวาในรั้วสิงห์ดำ : เข้าใจ spectrum ความคิดนิสิตต่อกิจกรรมนอกหลักสูตร,” 21 พฤษภาคม 2020, https://www.facebook.com/notes/phichaphob-seagames/สโมฯ-ในยุคเปลี่ยนผ่าน-ตอนที่-1-ซ้ายขวาในรั้วสิงห์ดำ-เข้าใจ-spectum-ความคิดนิสิต/3097503213633249/
[2]‘เนติวิทย์’ รวมรายชื่อจี้รัฐศาสตร์จุฬาฯเลิกประกวดดาวเดือน ไม่เสริมศักยภาพนิสิตอย่างแท้จริง”, มติชน, 22 ตุลาคม 2561, https://www.matichon.co.th/education/news_1190287
[3] “สโมฯ ในยุคเปลี่ยนผ่าน : ตอนที่ 1”
[4] เรื่องเดียวกัน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท