Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ฉันคือเด็กอักษร และเด็กอักษร ไม่ได้แปลว่า ตุ๊ด : ผู้กองเบนซ์กับวาทะ “กะเทยเรียนอักษร”

1. เบนซ์เกือบเป็นตุ๊ด แต่ฉันงงกับเบนซ์จริง ๆ

“ผมเกือบเป็นตุ๊ดนะเว้ย ผมเกือบเป็นกะเทยเชื่อป่ะ เพราะว่าอะไร เพราะว่าผมเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะอักษรศาสตร์”


 

นี่คือส่วนหนึ่งของคำพูดของบุคคลที่อ้างว่าเป็นไลฟ์โค้ชชื่อดังอย่าง “ผู้กองเบนซ์” ซึ่งเป็นกระแสที่กล่าวถึงในช่วงเวลาไม่นานในโลกสังคมออนไลน์ ที่เกี่ยวโยงไปถึงความหลากหลายทางเพศ จนเกิดคำถามหลายประการ เช่น สะท้อนแนวคิดอะไร, อักษรศาสตร์หมายถึงอะไร, อะไรทำให้มีคน “เกือบ” เป็นตุ๊ด เป็นต้น 

หลังจากที่ฉัน(ปณีต) และผม(พันธ์กวี) ฟังคลิปของ “ผู้กองเบนซ์” ฉันเข้าใจผู้พูดได้สองประเด็นว่า 1. “ผู้กองเบนซ์” ค้นพบว่าตัวเองไม่ชอบเรียนคณะอักษรศาสตร์ และ 2. “ผู้กองเบนซ์” อาจจะเข้าใจอักษรศาสตร์เพียงแค่ผิวเผิน ซึ่งถ้ายิ่งเราพยายามทำความเข้าใจ “ผู้กองเบนซ์” เราอาจจะพบกับความซับซ้อนในตัวผู้พูด ที่มีทั้งความกลัว ความทะเยอทะยาน ความไม่รู้จริง ทั้งหมดปนเปกันไป 

ในมุมมองของฉันเอง ฉันมองว่า “ผู้กองเบนซ์” มีความทะเยอทะยานเพื่อต่อสู้ให้ชนะอะไรบางอย่างที่เขาตั้งธงไว้ โดยการพยายามทำให้สังคมรอบข้างรับรู้ถึงตัวตนหรือความสำเร็จในระดับที่ “ต้องสำเร็จ” ของเขา ซึ่งเป็นปกติของสังคมมนุษย์

2. เมื่อเด็กอักษร พยายามตีความและพยายามเข้าใจในสิ่งที่เบนซ์เป็นหรือสื่อ

ผมพยายามมองแนวคิดทางมานุษยวิทยาและพบว่า “ผู้กองเบนซ์” พยายามสร้างภาพลักษณ์ออกมาด้วยการเล่าเรื่องชีวิตของเขาต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า “อัตลักษณ์การเล่าเรื่อง” (Narrative Identity) ซึ่งสาเหตุของการเกิด “อัตลักษณ์” นั้นเกิดจากสภาวะทางสังคมและตัวเขาเอง จนในที่สุด ก็กลายเป็นตัวตนของเขาในทุกวันนี้ ฉะนั้นการก่อเกิดความเป็นตัวเรา หรือ “อัตลักษณ์” มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ?


หลักสามประการที่ก่อกำเนิดความเป็นตัวเรา(และโรคทางจิตเวช) นั้นก็คือ ชีว สังคม จิต

แนวคิดการศึกษาด้านจิตเวช จิตวิทยาและพัฒนามนุษย์ ได้ดำเนินต่อเนื่องจากช่วงศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน ผ่านมุมมองของ จอร์จ เอ เกล ซึ่งได้อธิบายว่าการก่อเกิดตัวเรามีผลมาจากปัจจัย 3 ประการ (Biopsychosocial Model) คือ ชีวภาพ สภาพสังคม และ จิตใจ นอกจากนี้ ในปัจจุบันนั้น จิตแพทย์และนักจิตวิทยาหลายคนก็สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวและเพิ่มปัจจัยที่มาจาก จิตวิญญาณ (Spiritual) รวมเป็น 4 ประการด้วยกัน ฉะนั้น ถ้ามอง “อย่างง่าย” ก็จะเห็นว่าปัจจัยทั้ง 4 ได้สร้างให้เกิด  “อัตลักษณ์” (Constructed Identity) และ “อัตลักษณ์ผู้กองเบนซ์” ในที่สุด

จิตใจมนุษย์นั้นมันซับซ้อนมากเกินกว่าที่เราจะสามารถอธิบายได้ง่าย ไม่มีอะไรถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นเพียงมุมมองใช้สายตาผ่านแนวคิดของศาสตร์ต่าง ๆ ในหลาย ๆ แนวคิด แต่สำหรับ “อัตลักษณ์ผู้กองเบนซ์” นั้น สิ่งที่แสดงชัดออกมามากที่สุดคือ “ความกลัว” ผมไม่อาจสรุปได้อย่างแน่ชัดว่า “ผู้กองเบนซ์” เป็นคนประเภทกลัวกะเทยหรือรักร่วมเพศ (Queerphobia/Homophobia) อะไรแบบนี้หรือไม่ แต่หากวิเคราะห์คำพูดที่เขาพูดออกมา เป็นไปได้หรือไม่ที่สาเหตุของ “ความกลัว” ดังกล่าวเป็นผลมาจาก “อัตลักษณ์ผู้กองเบนซ์” ที่บอกกับตัวเขาว่า “อักษรศาสตร์เป็นพื้นที่ของสตรีเพศ ไม่ใช่พื้นที่ของบุรุษเพศ” และ / หรือ “อักษรศาสตร์เป็นพื้นที่ของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ” โดยทั้งหมดเป็นสิ่งที่เขาไม่พึงประสงค์ 

3. อักษรศาสตร์และอีเย็น


หนังสือที่อธิบายหัวข้อปฏิทรรศน์ของความเท่าเทียมทางเพศซึ่งเกิดขึ้นจริงในต่างประเทศ

เคยมีการทดลองในหัวข้อชื่อ Biological Stereotype (อ่านเพิ่มเติม https://www.newscientist.com/article/dn13596-male-monkeys-prefer-boys-toys/) ผ่านกระบวนการทดลองในลิง ได้ผลลัพธ์ว่า ลิงเพศเมียจะชอบของเล่นนุ่มฟู น่ารัก ส่วนลิงเพศผู้ชอบของเล่นที่มีอุปกรณ์กลไก แต่นั้นเป็นการทดลองแค่ในลิง ภายหลังได้มีการทดลองในระดับของมนุษย์ ในการทดลองหัวข้อปฏิทรรศน์ของความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality Paradox) จากการสังเกตและทดลองประชากรในหลายกลุ่มและหลายปัจจัย พบว่ามีผลลัพธ์ที่ขัดแย้งกันเอง บางการทดลองชี้ว่าผู้หญิงสนใจเรียนสายศิลป์ บางการทดลองชี้ว่าผู้หญิงสนใจสายวิทย์ อีกทั้งยังมีช่องโหว่และบทวิจารณ์จากนักวิชาการหลายแขนงที่แตกต่างกัน ทำให้เราไม่สามารถสรุปคำตอบได้แน่ชัดว่าเพศใดชอบอะไรกันแน่ เราเพียงเข้าใจได้ว่าปัจจัยของการทดลองและชีวิตจริงๆไม่ได้มีสูตรตายตัวที่สามารถแทนค่าคงที่ได้ 

อย่างไรก็รากฐานวัฒนธรรมของสังคมไทยที่ยกย่องระบบพ่อปกครองลูกตลอดจนถึงสังคมที่ชายเป็นใหญ่ (Male Dominance/Patriarchy) อาจทำให้การเกิดเหมารวม (Generalization) ว่าผู้หญิงต้องเรียบร้อยเป็น “ผ้าพับไว้” และผู้หญิงเหมาะกับการเรียนอักษรศาสตร์มากกว่าการเรียนรัฐศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นไปได้หรือไม่ว่ามีอิทธิพลต่อการเลือกสายการเรียนของผู้คน อย่างน้อยก็รุ่นพ่อแม่ แต่ในปัจจุบัน ฉันพบว่า อักษรศาสตร์ไม่ได้เป็น “ผ้าพับไว้” กันทุกคน อีกทั้งเรายังพบความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ชายและหญิงก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ใน “กรอบ” เท่าเดิมอีกต่อไป


4 อักษรศาสตร์และอีเบนซ์

“เกือบเป็นอีเบนซ์แล้ว ณ เวลานั้น ถ้าวันนั้นไม่ตัดสินใจลาออกมานะ จบ”

เขาต้องการสื่ออะไร ระหว่าง อักษรศาสตร์เปลี่ยนให้เป็นอีเบนซ์ หรือ สังคมในอักษรศาสตร์เปลี่ยนให้เป็นอีเบนซ์ ฉะนั้นก่อนอื่นเราต้องเข้าใจอักษรศาสตร์ก่อน ในเบื้องต้นวิชาอักษรศาสตร์เป็นกลุ่มวิชาสายศิลป์ซึ่งอยู่ในกลุ่มมนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และ สังคมศาสตร์ แม้ไม่มีนิยามที่ตรงตัวที่สุดเพราะมีหลายศาสตร์อยู่รวมกัน แต่โดยทั่วไป อักษรศาสตร์จะศึกษาและทำความเข้าใจความเป็นมนุษย์ 

หลายคนอาจจะเข้าใจว่าอักษรศาสตร์เรียนภาษาเป็นหลัก แต่ฉันจะชี้ให้เห็นว่าภาษาเป็นเพียงกุญแจอย่างหนึ่งในการเข้าใจมนุษย์ แต่ยังมีอีกหลายสาขามาหลอมรวมกันทำให้เกิดมนุษยศาสตร์ เช่น ปรัชญา ตรรกศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การละคร ดนตรี อารยธรรม จิตวิทยา ฯลฯ โดยบางสาขาอาจจะมีความเป็นวิทยาศาสตร์ผสมไปเพราะเนื่องด้วยความก้าวหน้าของศาสตร์นั้น แต่ก็คงความสำคัญคือ การเข้าใจมนุษย์ 

อย่างไรก็ตาม ผู้เรียนอักษรศาสตร์แน่นอนว่ายังไม่สามารถเข้าใจมนุษย์ได้สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะอักษรศาสตร์มีความซับซ้อน พลิกมุมมองตลอดจนถึงตั้งคำถามเชิงปรัชญาจนบางครั้งฉันก็ปวดหัว และสิ่งที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน คือ “เพศไหนมันก็เรียนได้”

วิชาในคณะอักษรศาสตร์ ทั้งปรัชญา การคิดเชิงวิพากษ์ การให้เหตุผล วิชาเหล่านี้ส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจตนเองและตระหนักถึงสิ่งที่ตนเองพูดมากขึ้น มีเหตุผลและตัดสินใจอย่างฉลาด ฉะนั้นถ้าหากอีเบนซ์เรียนอักษรศาสตร์ ก็น่าจะเข้าใจอักษรศาสตร์มากขึ้นและไม่พูดอะไรตามที่ “อัตลักษณ์ผู้กองเบนซ์” พูด

ส่วนตัวแล้ว ฉันมองว่า อักษรศาสตร์ไม่ได้ชี้นำให้ฉันเป็นอีเย็น แต่ชี้นำให้ฉันตั้งคำถามเกี่ยวกับคำนิยามของเพศในสังคม คำตอบที่ฉันได้รับคือ เพศเป็นไม่ได้เป็นสีใดสีหนึ่ง แต่เป็นสเปกตรัมที่ยืดหยุ่นได้ โดยเมื่อมองในมุมของ สเปกตรัมดังกล่าวเปรียบสีสันหลากสี หลากแบบ หลากรส สิ่งเหล่านี้คล้ายกับสังคมที่ยอมรับความหลากหลายของมนุษย์ จึงไม่แปลกที่ผู้เรียนอักษรศาสตร์จะกล้าบอกตัวตนที่แท้จริงที่อาจแตกต่างจาก “ผ้าพับไว้” หรือ “กรอบ” เดิม 

โลกนี่ใช่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างในซีรีย์ Boy’s love ไปทุกหนแห่ง ที่มีตัวละครชายที่บอกว่าตัวเองเป็นชายแท้อยู่ด้วยกันกับตัวละครชายอีกคนหนึ่งจนหลงรักกันในที่สุด การที่เบนซ์อยู่ใกล้ชิดกับอีเย็นเยอะแล้วจะกลายเป็นอีเบนซ์ เบนซ์เลยต้องชิงลาออกมาก่อน  ทำให้เรายิ่งต้องกลับมาวิเคราะห์กันใหม่แล้วว่าเพศคืออะไรกันแน่ อะไรหรือใครเป็นเกณฑ์กำหนดเพศ แม้มีโอกาสที่เบนซ์จะกลายเป็นอีเบนซ์ได้ แต่ทำไมเบนซ์กลัวกลายเป็นอีเบนซ์ขนาดนั้น 


5 ถ้าให้เด็กอักษรนิยามอักษรศาสตร์/ศิลปศาสตร์/มนุษยศาสตร์

ผมเองในฐานะคนที่เรียนสายนี้ผมเองก็จะบอกว่าผมไม่สามารถนิยามมันได้ถูกต้องเสียทีเดียว มันคือการศึกษารากฐานแนวคิดของมนุษย์ซึ่งมันค่อนข้างจับต้องไม่ได้สำหรับหลายๆคน แต่มันเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีพ และอย่างที่ผมและคุณปณีตบอก อักษรศาสตร์ถึงแม้จะศึกษาเพื่อเข้าใจมนุษย์ กระนั้นเราก็ไม่เข้าใจมนุษย์หมดทุกอย่างและทุกคน เพราะถ้าเราอยากศึกษาศาสตร์เพื่อเข้าใจมนุษย์จริงๆ ชีววิทยา กายวิภาค สรีรวิทยา หรือชีวมานุษยวิทยา อาจจะทำให้เราเข้าใจมนุษย์ได้ดีกว่า ถ้าหากให้อธิบายอาจจะต้องเขียนอีก 1 บทความเพิ่มเลยก็ว่าได้ว่าอะไรคืออักษรศาสตร์ กระนั้นแนวคิดมนุษย์เป็นแนวคิดที่น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งหาแนวคิดของผู้กองเบนซ์ หลายๆคนในแวดวงเดียวกับผมอาจจะมองว่า เสียเวลาๆเปล่า ในการศึกษา ทัศนคติหรือความคิดของคนแบบนี้ ซึ่งผมก็ว่าใช่มันอาจจะเสียเวลา แต่การศึกษาและพยายามอธิบายผู้กองเบนซ์โดยใช้พื้นฐานทางมนุษยศาสตร์มาอธิบายเราอาจจะเข้าใจจุดกำเนิดของความคิดเขาก็ได้ว่าทำไมผู้กองถึงเป็นผู้กองในปัจจุบันกันนะ เพราะแท้จริงๆ ในรายวิชาคณะอักษรศาสตร์ เราก็ต้องศึกษาแนวความคิดรูปแบบประชานและศีลธรรมทั้งด้านดีและไม่ดีของมนุษย์เช่นเดียวกัน และที่ผมอยากเสริมเพิ่มเติมก็คือถ้าเราศึกษารายวิชากลุ่มมนุษยศาสตร์แล้ว เราอาจจะมองสิ่งรอบข้างเราเปลี่ยนไปเลยก็ได้ ทุกอย่างมีนัยยะและความเชื่อมโยง หรือแม้กระทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศเราด้วยก็ตาม เราอาจจะเห็นความจริงบางอย่างหากเราศึกษารากฐานความคิดมนุษย์ เราอาจจะไม่แปลกใจว่าทำไมสังคมไทยถึงเป็นแบบนี้ ส่วนทางผู้กองเองนั้น ผมก็คิดเขาอาจจะมีนิยายความหมายของชีวิตหรือนิยายด้านอักษรศาสตร์ต่างไปจากผมแน่นอนครับซึ่งมันปกติ ใครจะนิยายอะไรให้เหมือนกันล่ะจริงไหม
 

6 นิยามอัตลักษณ์ผู้กองเบนซ์

หากกลับมาพูดถึงเรื่องเพศและความเป็นมนุษย์ของ “อัตลักษณ์ผู้กองเบนซ์” ผมคิดว่าน่าจะเป็นส่วนที่เขียนวิเคราะห์ยากที่สุด เพราะผทก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นและคิดอะไรทั้งหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมพบว่า “อัตลักษณ์ผู้กองเบนซ์” มีส่วนประกอบจากสังคมเพศชายเป็นใหญ่ ก่อให้เกิด “อัตลักษณ์ความเป็นชายของผู้กองเบนซ์” ซึ่งมีทั้งค่านิยมความบ้าพลังและแข็งแกร่ง ใคร่และเกี้ยวหญิง ตลอดจนถึงการต่อต้าน “อัตลักษณ์ความเป็นชาย” ที่นอกเหนือจากอัตลักษณ์ที่ตนเองก่อขึ้น โดยสิ่งเหล่านี้สร้างผลเสียทั้งต่อตัวผู้อื่นและตัวเขาเอง (Toxic Masculinity)


ความคิดและจารีตที่ถูกตีกรอบจนทำให้เกิด Toxic Masculinity 

จากย่อหน้าข้างต้น ต้องอธิบายถึง ความเอนเอียงทางประชาน (Cognitive bias) โดยอธิบายให้เข้าใจง่ายอย่างผิวเผิน หมายถึง การสร้างรูปแบบทางความคิดที่ไม่สมเหตุผลและใช้สิ่งนั้นประเมินค่าหรือตัดสินใจ สำหรับอักษรศาสตร์นั้น ให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้เช่นกัน เนื่องจากความเอนเอียงทางประชานเกิดขึ้นได้ในความคิดมนุษย์และต้องระวังให้มาก ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ “อัตลักษณ์ผู้กองเบนซ์” ยึดถือมันอยู่โดยไม่รู้ตัว

“อัตลักษณ์ความเป็นชายของผู้กองเบนซ์” เป็นกรอบทางเพศหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ เช่นเดียวกับกรอบอื่นในสังคม สิ่งนี้อาจจะไม่ได้เป็นมิตรกับคนทุกคน เช่น กลุ่มความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ก็ตาม เป็นต้น กรอบทางเพศนี้และกรอบทางเพศอื่นล้วนเคยนำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น คุณถูกข่มขืนเพราะแต่งตัวโป๊ เป็นต้น ผมไม่อยากคิดเลยว่ามันจะเลวร้ายลงแค่ไหน หากอัตลักษณ์ดังกล่าวได้ส่งสารและผลิตซ้ำเป็นอัตลักษณ์ที่มีความคล้ายกันผ่านการอบรมไลฟ์โค้ช 


7 ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่โรคร้ายหรือโรคติดต่อ


หากมองเพศเป็นเส้นสเปกตรัมที่ไม่ได้มีแค่ตัวชี้วัดแค่ตัวเดียว

ผมเชื่อว่าหลายๆคนที่เรียนสาขาสายมนุษยศาสตร์ หากเมื่อเวลาเราได้เรียนวิชาจำพวกปรัชญา มันอาจจะทำให้เราปวดหัวเป็นอย่างมากเป็นแน่ แต่ผมกลับสนุกไปกลัยมันเพราะผมได้พบเจอกับความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางแนวคิด ภาษา เชื้อชาติ หรือแม้กระทั้งสังคม หรือ เพศ หากพูดในมุมมองผม ผมไม่ได้มองเพศเป็นสีใดสีหนึ่งหรือเหรียญสองด้าน แต่ผมกลับมองมันเป็นสเปกตรัมที้ยึดหยุ่นได้ (ยกเว้นปัจจัยทางชีวภาพอะนะอันนี้เฉพาะในคนไม่รวมสิ่งมีชีวิตอื่นๆนะ) สเปกตรัมที่ประกอบมากกว่าหนึ่งเส้นแต่เป็นหลากหลายเส้นประกอบกันเส้นหนาเส้นบางเส้นไปทางซ้ายไปทางขวาหรือจะอยู่ตรงกลางก็สุดแล้วแต่ ซึ่งเมื่อเราอยู่ในสังคมที่ยอมรับความหลากหลายเหมือนสิ่งที่อักษรสอนให้เห็นความหลากหลายของมนุษย์ จึงไม่แปลกที่นิสิตนักศึกษาจะกล้าแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาหลังจากที่ถูกจองจำจากสังคมมาตั้งแต่ระบบการศึกษาประถม และที่สำคัญอย่างที่ผมบอกสเปกตรัมมันยึดหยุ่นได้แต่มันมีบางอย่างที่ตายตัวเช่นกันเช่นเพศทางชีวภาพ ต่อให้คุณเป็นดอกลิลลี่ คุณไปอยู่ในทุ่งดอกไม้มันก็เป็นดอกลิลลี่ครับ มันไม่กลายพันธุ์ (นอกสะจากโดนสารเคมีทำให้เกิดการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมอะนะ) หรอกและที่สำคัญความหลากหลายทางเพศไม่ว่าคุณจะเป็นอะไรก็แล้วแต่มันไม่ใช่โรคติดต่อ และผมเห็นด้วยกับคุณปณีตว่า มันไม่ใช่การ์ตูนหรือซีรีย์วาย ที่คนจะเปลี่ยนกันง่ายขนาดนั้นเช่นเป็นชายแท้แต่พอตกหลุมรักเป็นชายเทียม (ซึ่งผมเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าชายเทียมในบริบทปัจจุบันมันคืออะไรกันแน่) หรือการที่คุณจะไปอยู่ในคณะที่สัดส่วนผู้หญิงเยอะแล้วคุณจะบอกว่าคุณอาจจะเบี่ยงเบนกลายเป็นชายไม่แท้งั้นหรอ กลับกันเราอาจจะต้องมานิยามกันใหม่ว่าแท้จริงแล้วอะไรคือ “ชาย” “จริง” “หญิง” “แท้” ที่แท้จริง ใครกันแน่ที่กำหนด ตัวเรา สังคม หรือธรรมชาติ และสิ่งหนึ่งที่เรารู้ได้อย่างแน่ชัด รสนิยมทางเพศไม่ใช่โรคติดต่ออย่างแน่นอนและสังคมอักษรหรือสังคมก็เปลี่ยนคุณค่าหรืออัตลักษณ์ทางชีวภาพหรือรสนิยมของคุณไปได้อย่างแน่นอน และผมอยากเสริมอีกถึงผู้หญิงจะเป็นสัดส่วนที่เยอะกว่าผู้ชายในคณะอักษร กระนั้นผมจะบอกว่าว่าคณะอักษรหรือคณะสายศิลป์นั้นผู้ชายอบอุ่นและใจดีนะครับ ฮ่าๆ อยากพบเจอแบบไหนสามารถหาได้ในอักษรเลยครับ สายเหล้า สายปาร์ตี้ สายหาตัวจับยาก สายเพี้ยน สายปากจัด สายฉอด สายสุขุม หรือเสือที่พร้อมจะออกล่าเหยื่อก็มีเช่นกันครับไม่ต้องไปหาไกลครับ
 

8 ฉันไม่ยอมตกเป็นทาสของเบนซ์หรอกค่ะ

จนถึงตอนนี้ ถ้าคุณมี “ผู้กองเบนซ์” เป็นแรงบันดาลใจ ฉันมีข้อเสนอแนะให้ลองไปสำรวจความคิดอันซับซ้อนของมนุษย์กับผู้คนมากมาย เช่น การอ่านหนังสือ การออกไปผจญภัย การกล้าแสดงออก แล้วตั้งคำถามกับประสบการณ์ใหม่ของคุณเองว่าคุณพบ “อักษรศาสตร์” หรือไม่ และไม่ว่าใครหรือเพศอะไร ก็มีสิทธิเรียนรู้และท้าทายสิ่งที่ตนเองชอบได้ ไม่ว่าจะเป็นอักษรศาสตร์หรือตำรวจก็ตาม มันคงเป็นเรื่องเลวร้ายและน่าเสียดายหากคุณใช้เรื่องเพศมาทำลายประสบการณ์ของความเป็นมนุษย์ในสังคมเราเอง

บางสาขาวิชาอาจมีปัจจัยทางเพศชีวภาพที่เกี่ยวกับพฤติกรรมวิทยามาเกี่ยว บางคณะอาจมีสัดส่วนเพศไม่เท่ากัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น ชีวภาพ ค่านิยมของสังคม เป็นต้น เราอาจพบผู้ชายจำนวนมากในคณะวิศวกรรมศาสตร์หรือผู้หญิงและกะเทยจำนวนมากในคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งนั่นไม่ใช่ความสำคัญที่ฉันต้องการเสนอ ความสำคัญที่ฉันต้องการเสนอ คือ เราควรยอมรับความหลากหลายให้มาก ท้าทายความคิดเชิงวิพากษ์ เข้าใจมนุษย์ทั้งตัวเองและผู้อื่น และถ้ายิ่งอยากหาคำตอบว่า “อักษรศาสตร์เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศหรือไม่” เราอาจจะต้องมีการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ความจริงกันต่อไป


9 คำพูดและความรู้เป็นดั่งกระจก มันสะท้อนตัวเราออกมา


ภาพส่วนหนึ่งของบทวรรณกรรม รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา (A Streetcar Named Desire)
โดย Tennessee Williams 

แน่นอนสิ่งที่อักษรศาสตร์เราศึกษาความเข้าใจมนุษย์เรามีเครื่องมือศึกษาก็คือภาษา คำพูดของผู้กองเบนซ์นั้นในความรู้สึกของผมนั้นส่วนตัวมันเต็มไปด้วยความน่ากลัวและความน่ารังเกียจในเวลาเดียวกันแต่กระนั้นความคิดของมนุษย์เราก็เคารพเขาแม้เขาจะไม่เคารพเราก็ตาม (แน่นอนผู้เขียนก็โดนผู้กองบล็อคในเพจของเขาด้วย) ผมเชื่อว่าถ้าใครเรียนอักษรศาสตร์หรือสายมนุษยศาสตร์ใดๆ ถ้าเราลองมาย้อนดูคำพูดทั้งหมดของผู้กองเราอาจจะพบเรื่องที่น่าตกใจและความฉงนมากมายอย่างไม่คาดคิดเลยก็ว่าได้ ทั้งความกลัว ความคาดหวัง และอื่นๆ อีกมากมายที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ความสำเร็จของเรา ส่วนตัวผมเองก็นยินดีในความสำเร็จของเขาด้วยและแน่นอนผมยินดีด้วยที่เขาคิดถูกแล้วที่ไม่เรียนอักษรศาสตร์ สิ่งต่างๆที่เป็นตัวตนของเขาได้สะท้อนออกมาผ่านคำพูดของเขาหมดแล้วไม่มากก็นอก เราในฐานะผู้ส่องกระจก เราเห็นอะไรกันนะ เราเห็นตัวตนเหมือนในตัวเองในกระจกจริงหรือไม่ หรือแท้จริงตัวตนเราไม่ได้เหมือนกับในกระจกเลย ผมจึงอยากแนะนำให้ลองอ่านวรรณกรรมเรื่อง รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา (A Streetcar Named Desire) เพื่อให้เข้าใจความซับซอนของมนุษย์ผ่านภาพลักษณ์ สภาพสังคม และ กระจกมากขึ้น


10. บทสรุป

และสุดท้ายผม (พันธ์กวี ผู้เขียนบทความร่วม) ในฐานะคนที่ศึกษาคณะอักษรศาสตร์เหมือนกัน ผมหลังจากที่ผู้เขียนหลักในบทความนี้ (ปณีต) ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร ผมอยากจะกล่าวท้ายทิ้งสั้นๆว่า อักษรศาสตร์สอนให้เราเข้าใจมนุษย์ ถึงแม้ว่าเราจะเข้าใจมันไม่ได้หมดก็ตาม แต่สิ่งที่เราได้คือการมีความรู้สึกร่วม ความเห็นอกเห็นใจ ความโอบอ้อมอารี และความมีเมฆตา แต่เพื่อนมนุษย์และสิ่งรอบข้างดังคำประโยคหนึ่งที่ตัวผมเองใช้สอบสัมภาษณ์เข้าศึกษาต่อ ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผมถูกถามว่าอักษรศาสตร์คืออะไรกันแน่ ผมจึงตอบไปว่า


“Arts is about Empathy”

พันธ์กวี ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

ผมจึงรู้สึกมันอาจจะเป็นเส้นทางชีวิตของเขาที่ผู้กองเบนซ์ตัดสินใจลาออกจากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรที่เขาตัดสินใจถูกแล้ว

 

ที่มาภาพ:

รูปผู้กองเบนซ์ https://twitter.com/i/status/1258420826329591808)

รูปโมเดลหลัก 3 ประการ

https://www.researchgate.net/profile/Jordan_Gliedt/publication/317415046/figure/fig1/AS:503049413238785@1496947734752/2-An-illustration-of-the-biopsychosocial-model-comprised-of-biological-psychological.png

อีเย็น

https://matemnews.com/wp-content/uploads/2017/07/13152759_10154251877716929_1137950910_n.jpg

หนังสือ Nordic Gender Equality

http://nordicparadox.se/ or http://nordicparadox.se/wp-content/uploads/2016/02/gender-paradox.jpg

สเปคตรัมทางเพศ

https://4.bp.blogspot.com/-KytM9ToR-nY/T2yUcdJqtOI/AAAAAAAAAko/Msn8jrsP7A4/s1600/sex:gender+spectrum.png

Toxic Masculinity

https://www.innovationunit.org/wp-content/uploads/Henry-blog.jpg

Arts is about Empathy

https://d1pt6w2mt2xqso.cloudfront.net/AcuCustom/Sitename/DAM/029/empathy.png

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: บทความนี้ถูกแต่งโดยสองผู้เขียนด้วยกันก็คือ 

ปณีต จิตต์นุกุลศิริ ศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนภาษาไทย (เขียนพาร์ท 1 3 4 8 และตรวจสอบและเกลาภาษาโดยรวม)

พันธ์กวี ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เขียนพาร์ท 2 5 6 7 9 10 และเป็นผู้วางโครงสร้างบทความ)


 




 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net