Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ด้านหนึ่งของศาสนาที่ประกาศความดีงามของการปล่อยวาง “อัตตาตัวตน” ก็คือการขับเน้น “อัตตาตัวตน” หรืออัตลักษณ์ให้โดดเด่นสะดุดตา โดยใช้ทุกสรรพสิ่งเป็นเครื่องมือในการขับเน้นอัตตาตัวตน ใช่แต่พุทธศาสนาเท่านั้น ประวัติศาสตร์ศาสนาหลักๆ ของโลกล้วนแต่แสดงความอลังการของศาสนสถานคู่กับปราสาทราชวังของกษัตริย์ เพราะประวัติศาสตร์ของศาสนาก็คือประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของระบบอำนาจชนชั้นนำทางศาสนาที่สนับสนุนกันกับอำนาจทางการเมืองของระบบกษัตริย์มายาวนาน

ดังนั้น วัง วัด ศาสนสถาน รูปเคารพของพระศาสดา สาวก รูปปั้นเทพต่างๆ (จนมาถึงรูปเคารพของบรรดาเกจิอาจารย์) จึงเป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมศาสนา ที่แสดงความหรูหราอลังการท่ามกลางสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ สังคมเมือง และบ้านเรือนซอมซ่อของบรรดาไพร่ ทาส แน่นอนว่า ความหรูหราอลังการเหล่านั้นย่อมมาจากการเกณฑ์แรงงานไพร่ ทาสจำนวนมหาศาล 

จะว่าไปแล้วในยุคปัจจุบัน ระบบทุนนิยมได้ช่วยให้ศาสนาดูมีคุณธรรมมากขึ้น เพราะศาสนาได้ใช้เงินจากศรัทธาของประชาชนจ้างแรงงานสร้างศาสนสถานและรูปเคารพใหญ่โตอลังการตามราคามาตรฐานของตลาดุทน แทนการเกณฑ์แรงงานไพร่ ทาสมาใช้ฟรีๆ แบบยุคศักดินา อันเป็นยุคที่ศาสนารุ่งเรืองมากที่สุด

แต่กระนั้น ในศตวรรษที่ 21 ปราชญ์พุทธก็ยังอ้างอารยธรรมพุทธแบบยุคศักดินามาเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า พุทธศาสนาควรเป็น “ศาสนาประจำชาติไทย” เพราะว่าพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทยมาช้านาน เช่น ในด้านภาษา ไม่ว่าชื่อคน ชื่อสถานที่ราชการ ศัพท์บัญญัติในสาขาวิชาต่างๆ ล้วนแต่เป็นภาษาบาลีสันสฤต ซึ่งมีแหล่งที่มาจากพุทธศาสนาแทบทั้งสิ้น 

แต่เมื่อผมได้ฟังคลิปบรรยายของผู้เชี่ยวชาญ “พุทธปรัชญา” ท่านหนึ่งว่า “ในทางปรัชญา ภาษาแบบพุทธศาสนาที่ใช้กันอยู่ในสังคมไทยไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากนัก” ทำเอาผมหลุดหัวเราะจนกาแฟหกแก้ว! 

แท้จริงแล้ว ภาษาและวัฒนธรรมที่มาจากพุทธศาสนานั้นได้ถูกใช้ปลูกฝังรูปการณ์จิตสำนึกหรืออุดมการณ์ (ideology) และระเบียบควบคุมทางสังคมในยุคศักดินาและสมบูรณาญาสิทธิราชย์มายาวนาน ภาษาแบบพุทธศาสนาคือเครื่องมือที่ทรงอำนาจในการกำหนดสถานะสูง-ต่ำทางชนชั้น และความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมของสังคมสยามไทยเอาไว้อย่างลึกซึ้งที่สุดเท่าที่มนุษย์จะสามารถจินตนาการถึงได้ ถ้าไม่คิดว่านี่เป็นปัญหาในทางปรัชญา ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังกวล ยกเว้นจะถือว่างานทางปรัชญาไม่เกี่ยวกับการถอดรื้ออำนาจครอบงำใดๆ เท่านั้น 

ตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือ การใช้ภาษาบาลีสันสกฤตตั้งชื่อยาวๆ หลายบรรทัดของกษัตริย์, พระบรมวงศานุวงศ์, ชื่อฐานันดรศักดิ์ของขุนนาง, ฐานันดรศักดิ์หรือสมณศักดิ์ของพระราชาคณะชั้นต่างๆ นั้น เมื่อแปลออกมาแล้วแต่ละคำแต่ละความล้วนมีความหมายบ่งบอกและตอกย้ำถึงความประเสริฐสูงส่งด้วยอำนาจ บุญบารมี คุณธรรม ความศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์ธรรมดาสามัญ กระทั่งเน้นถึงความเป็นเทพ หรือเทวดาบนแผ่นดินเลยทีเดียว 

ขณะที่ภาษาที่ใช้แทนตัวไพร่ ทาส เช่น “ใต้ฝ่าละลองธุลีพระบาท” นั้น เป็นการตอกย้ำความต่ำต้อยไร้ตัวตนของสามัญชน เพราะ “ละอองธุลี” หมายถึง “ละอองของฝุ่น” ซึ่งแปลว่า ไพร่ ทาส หรือสามัญชนไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่แม้แต่ฝุ่น หากเป็นได้เพียง “ละออง” ของฝุ่นเท่านั้น

ยิ่งคิดก็ยิ่งน่าอัศจรรย์ว่า นักปราชญ์ราชบัณฑิตและพระสงฆ์ในยุค “รัฐพุทธศักดินา” ต้องใช้ความเพียรพยายามทุ่มเทสติปัญญามากมายเพียงใด จึงสามารถคิดบัญญัติศัพท์บาลีสันสฤตที่มาจากภูมิปัญญาพุทธศาสนาให้มีความหมายแบ่งแยกความสูง-ต่ำทางสถานะ อำนาจ และชนชั้นได้ ถึงขนาดที่ทำให้ “คนเหมือนกัน” มีช่วงชั้นความเป็นคนที่สูง-ต่ำ ห่างกันสุดๆ แบบสูงส่งเทียมฟากฟ้า และต่ำต้อยไร้ตัวตนจนกลายเป็นเพียงละอองของฝุ่นได้ขนาดนั้น

ดังนั้น ด้วยอำนาจของภาษาอันศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากพุทธศาสนาดังกล่าว เพียงแต่คนเหมือนกันได้ใช้ภาษาเรียกอีกคนในความหมายที่บ่งถึงเขาว่าเป็นเทวดาอยู่บนฟ้า หรือเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน กับภาษาที่เรียกตนเองเป็นเพียงละอองของฝุ่นใต้ “ตีน” ของผู้สูงศักดิ์ ก็ย่อมสะกดจิตสามัญชนให้ศิโรราบได้โดยอัตโนมัติ แทบจะไม่ต้องใช้อำนาจกำลังบังคับอื่นๆ เลย (หากไม่จำเป็น) นี่นับว่าเป็นผลงานเอกอุของพุทธศาสนาไทยโดยแท้

อีกอย่างหนึ่งคือ “มารยาทไทย” ที่ทุกวันนี้โรงเรียนต่างๆ ยังสอนกัน และวัดบางแห่งยังร่วมกับโรงเรียนจัด “ประกวดมารยาทไทย” กันอยู่นั้น มันคือมารยาทไทยที่ผสมผสานระหว่างค่านิยม “สมบัติผู้ดี” กับพุทธศาสนา เริ่มในยุคที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้จัดวางหลักสูตรพระปริยัติธรรมของพระเณรทั่วราชอาณาจักร และวางแผนการศึกษาชาติ ซึ่งเริ่มจัดให้ศีลธรรมพุทธศาสนาเป็น “ศีลธรรมแห่งชาติ” ที่เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 

น่าสนใจที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ แปลคำทางศีลธรรมพุทธอย่างเช่น “กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต” ว่าหมายถึง “ความสุจริต หรือความเรียบร้อยทางกาย วาจา ใจ” ซึ่งเป็นการรวม “ศีลธรรม” กับ “มารยาท” เข้าด้วยกัน และดังที่เราทราบกันดีว่าช่วงเวลานั้นหนังสือ “สมบัติผู้ดี” กำลังเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ชนปกครองนำใช้ในการกล่อมเกลาผู้ใต้ปกครองควบคู่กับการปลูกฝังศีลธรรมพุทธศาสนา

มารยาทไทยก็คือส่วนผสมของสมบัติผู้ดีกับคติความเชื่อแบบพุทธไทย สาระสำคัญเป็นการแสดงความเคารพต่อกันตามลำดับช่วงชั้นสูง-ต่ำทางสังคม เพราะการกราบไหว้กษัตริย์มีชื่อเรียกและวิธีปฏิบัติแบบหนึ่ง การกราบไหว้พระสงฆ์, พ่อแม่, ครูอาจารย์, คนเสมอกัน และการรับไหว้คนต่ำกว่าก็มีชื่อเรียกและวิธีปฏิบัติต่างกัน เช่น ไหว้พระสงฆ์ต้องให้หัวแม่มือทั้งสองอยู่ตรงกลางระหว่างคิ้วทั้งสอง ที่มีความหมายว่าพระคือผู้ให้ “ปัญญา” แก่เรา ไหว้พ่อแม่หัวแม่ครูอาจารย์หัวแม่มือเสมอปลายจมูก หมายถึงพ่อแม่ให้ลมหายใจ ครูอาจารย์คือพ่อแม่คนที่สอง ถ้าคนเสมอกัน คนที่ต่ำกว่าตนก็ลดมือต่ำลงมาเรื่อยๆ

น่าสนใจว่าในวัฒนธรรมที่เรียกว่า “มารยาทไทย” อันเป็นสัญลักษณ์กำหนดความสูง-ต่ำตามสถานะและชนชั้นเช่นนี้ การไหว้พระสงฆ์เป็นการตอกย้ำความทรงจำหรือสำนึกที่ว่าพระสงฆ์คือผู้ให้ “ปัญญา” แต่ปัญญาแบบไหนกันที่พระสงฆ์ให้แก่สังคมไทยมาช้านาน บังเอิญว่าการไหว้พระสงฆ์กำหนดให้หัวแม่มืออยู่ระหว่างคิ้ว ดังนั้น “คิ้ว” จึงเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงปัญญา

แต่เมื่อพูดถึง “คิ้ว” ก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า ทำไมคิ้วของพระสงฆ์ไทยจึงหายไป หรือทำไมพระไทยจึงโกนคิ้วทั้งๆ ที่ไม่มีธรรมวินัยบัญญัติให้โกน (ที่พูดถึง “ธรรมวินัย” ก็เพราะว่าพระสงฆ์นิกายเถรวาทไทยอ้างความเคร่งครัดในธรรมวินัยเป็นความชอบธรรมสูงสุด) ทว่าเมื่อสืบค้นที่มาว่าทำไมพระสงฆ์ไทยโกนคิ้ว กลับพบเรื่องเล่าที่ไม่เกี่ยวใดๆ กับธรรมวินัยเลย

เป็นเรื่องเล่ากันว่าในสมัยอยุธยามีทหารพม่าบวชปลอมเป็นพระมาเป็น “ไส้สึก” ปะปนอยู่กับพระสงฆ์ไทย กษัตริย์จึงสั่งให้พระสงฆ์ไทยทั้งหมดโกนคิ้ว เพื่อให้แตกต่างจากพระพม่า ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่แปลกดี เพราะถ้าทหารพม่าจะปลอมตัวเป็นพระไทยก็ทำได้ไม่ยาก แค่โกนคิ้วตามพระไทยเท่านั้นเอง แต่นี่ก็เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับประเพณีการโกนคิ้วของพระสงฆ์ไทยที่ว่าเริ่มมาแต่สมัยอยุธยา

แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า “คิ้วที่หายไป” บ่งนัยสำคัญอะไร ผมคิดว่านัยสำคัญคือ พระสงฆ์ไทยได้สูญเสียอิสรภาพในการกำหนดตัวเองตามธรรมวินัยไป เพราะธรรมวินัยที่พุทธะบัญญัติขึ้นได้ให้อำนาจสิทธิ์ขาดแก่ “สังฆะ” ในการประชุมลงมติในเรื่องว่าจะคงแนวทางปฏิบัติหรือเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ต่างๆ (identities) และวิถีชีวิตของนักบวชในพุทธศาสนา แต่ในกรณีนี้อำนาจกษัตริย์สั่งให้โกนคิ้ว ซึ่งตอกย้ำความจริงที่ว่า กษัตริย์พุทธมามกะในรัฐไทยมีอำนาจเหนือพระสงฆ์มาก จนกระทั่งสามารถที่จะแทรกแซง หรือเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของพระสงฆ์ได้เลยทีเดียว

ไม่เพียงแต่กษัตริย์พุทธมามกะจะมีอำนาจเปลี่ยนอัตลักษณ์ของพระสงฆ์ในระดับร่างกาย เช่น สั่งให้พระสงฆ์โกนคิ้วได้ ยังเปลี่ยนในเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญๆ แทบทั้งหมด เช่น เปลี่ยนรูปแบบการห่มจีวร ออก “กฎพระสงฆ์” ควบคุมวัตรปฏิบัติตามธรรมวินัย ออกกฎหมายวางระบบปกครองคณะสงฆ์ แต่งตั้งยศ ถอดยศ และฯลฯ 

ผมจึงแปลกใจมากที่ปราชญ์พุทธยืนยันว่า “พระสงฆ์อยู่เหนือการเมือง” จะอยู่เหนือได้อย่างไรครับ แม้แต่คิ้วของตัวเองพระสงฆ์ยังไม่สามารถจะมีอิสรภาพรักษาไว้ได้ และยิ่งรู้สึกขำขื่นมากขึ้น เมื่อปราชญ์พุทธท่านนั้นยืนยันว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เชิดชูอิสรภาพทางปัญญา” และว่า “พวกที่อ้างประชาธิปไตยก็ดีแต่วิจารณ์พุทธศาสนา แต่ไม่กล้าวิจารณ์ศาสนาที่เขารุนแรง ประชาธิปไตยมันต้องวิจารณ์ได้หมดสิ” ผมลองไล่อ่านงานของท่านดู ก็พบว่าท่านวิจารณ์คุณภาพนักการเมือง คุณภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไว้มากทีเดียว ขณะที่เห็นหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษของท่านเกี่ยวกับการพรรณาคุณของกษัตริย์และเจ้าคนอื่นๆ แต่ไม่พบเลยว่าท่านวิจารณ์กษัตริย์หรือเจ้าคนอื่นๆ ไว้อย่างไรบ้าง

ทำให้ผมคิดถึงวัฒนธรรมหรือมารยาทไทยที่กำหนดว่า ไหว้พระให้หัวแม่มือเสมอคิ้ว เพราะถือว่าพระคือผู้ให้ปัญญา แต่ปัญหาคือคิ้วของพระได้ถูกกษัตริย์สั่งให้หายไปนานหลายศตวรรษแล้ว แล้ว “ปัญญา” แบบไหนที่พระสงฆ์ให้แก่ผู้คนในสังคมไทย จากที่กล่าวมา (เป็นต้น) เราย่อมจะเห็นได้ชัดว่า ปัญญาที่พระสงฆ์ให้แก่สังคม ก็คือปัญญาในแบบที่ปลูกฝังให้ชนชั้นผู้ถูกปกครองเชื่อฟังและจงรักภักดีต่อชนชั้นปกครองเป็นด้านหลัก

ส่วนที่ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เชิดชูอิสรภาพทางปัญญา ย่อมหมายถึง การใช้อิสรภาพทางปัญญาในเรื่องใดๆ ก็ได้ แต่จะใช้อิสรภาพทางปัญญาตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบกษัตริย์พุทธมามกะผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนาไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าระบบภูมิปัญญาแบบพุทธไทยทั้งระบบ ถูกจัดวางเอาไว้แล้วอย่างรัดกุมโดยราชสำนัก นับตั้งแต่การจัดระบบการปกครอง, การจัดการศึกษาสงฆ์, วางขนบการแปลคัมภีร์พุธศาสนาที่เน้นแบบแผนการใช้ราชาศัพท์อย่างเคร่งครัด เป็นต้น 

ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ทำให้พระสงฆ์ไทยต้องยึดจารีตเชื่อฟังและตอบสนองต่อความประสงค์ของกษัตริย์พุทธมามกะ ผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภกอย่างเคร่งครัด แม้พระสมัยใหม่ กระทั่งพระนักปราชญ์ที่มีความคิดก้าวหน้าในหลายๆ เรื่อง แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่อาจหลุดพ้นจากระบบพุทธศาสนาแบบรัฐที่พระสงฆ์ต้องยึดจารีตเชื่อฟังและจงรักภักดีต่อกษัตริย์บนสำนึกที่ว่า สถาบันพุทธศาสนา (สงฆ์) กับสถาบันกษัตริย์แยกจากกันไม่ได้

ประวัติศาสตร์ของคิ้วที่หายไป จึงเป็นประวัติศาสตร์อิสรภาพในการกำหนดตนเองตามธรรมวินัย และอิสรภาพทางปัญญาที่หายไปจากพระสงฆ์ไทย และด้วยเหตุนี้ภูมิปัญญาพุทธศาสนาที่กลั่นออกมาจากอัจฉริยภาพทางปัญญาของปราชญ์และผู้รู้พุทธ จึงหมดพลังลงอย่างสิ้นเชิงในการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับคุณค่าของเสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตย

  

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/photo.php?fbid=3511781965518112&set=a.1451806594849003&type=3&theater

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net