Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา George Floyd ชายผิวดำวัย 46 ปีได้เสียชีวิตลงด้วยภาวะขาดอากาศหายใจในเมืองมินเนอาโพลิส มลรัฐมินเนโซต้า หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม เอามือไพล่หลังใส่กุญแจมือ ก่อนจะใช้หัวเข่ากดบริเวณต้นคอลงกับพื้นเป็นระยะเวลา 8 นาที 46 วินาที ซึ่งการใช้กำลังในรูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นแม้ว่า Floyd จะไม่มีการตอบสนองต่อเจ้าหน้าที่ประมาณ 3 นาทีก่อนหน้านั้นแล้ว เหตุการณ์นี้ได้กลายมาเป็นหนึ่งในชนวนเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการจลาจลาของคนผิวดำและกลุ่มผู้ต่อต้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ (police brutality) ในหลายเมืองทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ 

ในบทความนี้ ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงการจลาจลที่เกิดขึ้นในฐานะปฏิกิริยาตอบสนองดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องลึกซึ้งและยาวนานกับโครงสร้างสังคมอเมริกันที่เชื้อชาติ (race) เป็นสิ่งที่กำหนดความเป็นไป ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ผ่านมิติเชื้อชาติเป็นพลวัตที่มีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยความขัดแย้งอันเป็นผลมาจากการที่คนขาวมีอิทธิพลมากกว่าคนเชื้อชาติอื่นๆ และใช้อำนาจของตนเองครอบงำและกดขี่กลุ่มอื่นทั้งในระดับปัจเจกและสถาบัน ข้อเขียนต่อไปนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรก ผู้เขียนอธิบายความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ในสหรัฐอเมริกาแบบคร่าวๆ ส่วนที่สอง ผู้เขียนพิจารณาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้และเป็นความคิดเห็นของตนเองเป็นหลัก และส่วนที่สามเป็นส่วนสรุป


1

นักสังคมวิทยามีความเห็นสอดคล้องกันว่า เชื้อชาติเป็นสิ่งสรรสร้างทางสังคม (social construct) อันเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของคนกลุ่มต่างๆ แต่กระบวนการสรรสร้างดังกล่าวได้ทำให้เชื้อชาติกลายเป็นความจริง (reality) และก่อให้เกิดผลกระทบตามมา (consequence) นานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนกลุ่มต่างๆ ยึดถือเชื้อชาติเป็นสรณะ

การสรรสร้างเชื้อชาตินำมาซึ่งการสร้างอุดมการณ์ว่าด้วยเชื้อชาติ (racial ideology) อันเป็นกรอบที่คนแต่ละเชื้อชาติใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์ต่อกัน อย่างไรก็ดี การถือกำเนิดของอุดมการณ์ว่าด้วยเชื้อชาติโดยเฉพาะในสังคมอเมริกันเริ่มต้นจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนขาวและคนผิวดำเป็นหลักและมีวิวัฒนาการต่อเนื่องยาวนาน ประกอบด้วยกระบวนการสรรสร้างความเป็นคนขาว (whiteness) ควบคู่กันไปกับการสรรสร้างความเป็นคนดำ (blackness) และต่อมาก็มีการสรรสร้างความเป็นคนลาตินและคนเอเชีย อย่างไรก็ดี ผลจากความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจระหว่างคนแต่ละเชื้อชาติก็ทำให้ประชากรเชื้อชาติหนึ่งมีอิทธิพลมากกว่าประชากรเชื้อชาติอื่นๆ ส่งผลให้อุดมการณ์ว่าด้วยเชื้อชาติของกลุ่มที่มีอำนาจมากกว่ากลายเป็นสิ่งที่จัดความสัมพันธ์ของคนในสังคมและนำมาซึ่งการครอบงำทางเชื้อชาติ (racial domination) ซึ่งในสังคมอเมริกัน คือ คนผิวขาวครอบงำและมีอิทธิพลเหนือกลุ่มคนที่มิใช่คนขาว

การครอบงำทางเชื้อชาติยังนำมาซึ่งการแบ่งแยกระหว่างคนที่มีเชื้อชาติต่างกันตามเส้นแบ่งระหว่างเชื้อชาติ (racial line) อันเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อการสร้างทัศนคติของคนกลุ่มหนึ่งต่อคนกลุ่มอื่นๆ และนำมาซึ่งการเหยียดเชื้อชาติในระดับบุคคล (individual racism) และ ระดับโครงสร้าง (structural racism)

การเหยียดเชื้อชาติในระดับบุคคล สามารถแจกแจงออกเป็น หนึ่ง การเหยียดเชื้อชาติแบบเปิดเผย (overt racism) อันเป็นการแสดงออกทางสีหน้า อารมณ์ และพฤติกรรมที่ชัดเจน และเกิดขึ้นโดยความตั้งใจของสมาชิกกลุ่มที่มีอำนาจมากกว่าต่อกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติแตกต่างและมีอำนาจโดยเปรียบเทียบน้อยกว่า และ สอง การเหยียดเชื้อชาติแบบไม่เปิดเผย (covert racism) อันเป็นการแสดงออกทางพฤติกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นโดยมิได้มีเจตนาในการเหยียดเชื้อชาติ แต่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือการไม่ตระหนักรู้ หลายครั้งการเหยียดเชื้อชาติในระดับบุคคลเป็นการใช้ความรุนแรงระดับย่อม (microaggression) อันเป็นการดูแคลนที่เกิดขึ้นจนดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์ปกติ แต่ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อผู้ถูกกระทำ

การเหยียดเชื้อชาติระดับโครงสร้าง เป็นการเหยียดเชื้อชาติในระดับมหภาคซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอำนาจเชิงสัญลักษณ์ (symbolic power) และ อำนาจทางการเมือง (political power) การเหยียดเชื้อชาติในเชิงสัญลักษณ์เกิดขึ้นผ่านการใช้ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ (symbolic violence) อันเป็นผลมาจากการที่คนแต่ละเชื้อชาติมีอำนาจที่ไม่เท่ากัน (power differential) ซึ่งหากอธิบายความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์นี้ภายใต้กรอบคิดของ Pierre Bourdieu และ Loïc Wacquant จะได้ว่าเป็นกระบวนการที่คนผิวสีรับเอาเงื่อนไขการกดขี่ของคนผิวขาวมาโดยที่พวกเขาแทบจะไม่รู้ตัว (unconsciously agreed) ตัวอย่างเช่น Tracking ซึ่งเป็นการจัดนักเรียนให้เข้าเรียนในโรงเรียนตาม track ที่แตกต่างกันบนพื้นฐานของผลการเรียน นักเรียนที่เรียนเก่งก็ได้อยู่ห้องเก่ง ส่วนนักเรียนที่เรียนอ่อนก็ได้อยู่ห้องอ่อน ซึ่งการจัดการเรียนแบบนี้โดยมากก็ส่งผลให้เด็กผิวสีที่เรียนมีผลการเรียนไม่ดีเนื่องจากหลายปัจจัยที่ไม่ส่งเสริมให้พวกเขาประสบความสำเร็จในการเรียนต้อง เผชิญกับอุปสรรคในการเรียนมากขึ้น หลายคนต้องลาออกจากโรงเรียนเพราะโอกาสประสบความสำเร็จในการเรียนริบหรี่ และไม่สามารถเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้จน เป็นต้น สถานการณ์เช่นนี้ก็เปิดช่องให้เด็กนักเรียนผิวสีต้องตกไปอยู่ในลำดับชั้นล่างสุดของโครงสร้างสังคม ส่วนการเหยียดเชื้อชาติผ่านการใช้อำนาจทางการเมืองก็เป็นกระบวนการที่คนผิวขาวจำกัดสิทธิพื้นฐานของคนผิวสีโดยใช้เครื่องมือของรัฐ ทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐ อันก่อให้เกิดการแบ่งแยกเชื้อชาติ (segregation) และความเหลื่อมล้ำ (inequality) ในมิติต่างๆ

ข้อสังเกตว่าด้วยการที่เชื้อชาติเข้าไปเกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ต่างๆ แทบจะในทุกมิติของสังคมอเมริกันก็นำพาให้ Michael Omi และ Howard Winant อธิบายในหนังสือ Racial Formation in the United States ว่า เชื้อชาติกลายเป็น “การจัดหมวดหมู่หลัก (master category)” ที่มีผลต่อทิศทางทางประวัติศาสตร์อเมริกัน รวมถึงกำหนดโครงสร้างและวัฒนธรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ Eduardo Bonilla-Silva เรียกโครงสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าวว่า ระบบสังคมที่ถูกทำให้เป็นเรื่องของเชื้อชาติ (racialized social system) ซึ่งภายใต้ระบบนี้ เชื้อชาติเป็นสิ่งที่มีผลต่อการจัดสรรทรัพยากรตามเส้นแบ่งระหว่างเชื้อชาติ เช่น การปฏิรูปสวัสดิการ และ Affirmative Action นอกจากนี้ Bonilla-Silva ยังอธิบายว่า ระบบสังคมที่ถูกทำให้เป็นเรื่องของเชื้อชาติได้นำมาซึ่งการกำหนดสถานะของแต่ละเชื้อชาติในลำดับชั้น (hierarchy) ที่แตกต่างกันในโครงสร้างสังคมอีกด้วย


2

หลังจากทำความเข้าใจโครงสร้างความสัมพันธ์ในสังคมอเมริกันโดยใช้เชื้อชาติเป็นกรอบความคิดแบบคร่าวๆ ข้างต้นแล้ว ในส่วนนี้ ผู้เขียนพิจารณาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นสองส่วน ส่วนแรก คือ พิจารณาการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าตำรวจต่อคนผิวสี และส่วนที่สอง คือ พิจารณาปฏิกิริยาตอบสนองต่อการใช้ความรุนแรงดังกล่าว

2.1

หากกลับไปพิจารณาว่าโครงสร้างสังคมอเมริกัน คือ สังคมที่คนขาวเป็นผู้กำหนดทิศทางความสัมพันธ์และลำดับชั้นของกลุ่มประชากร การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมิใช่เรื่องแปลกใหม่และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สภาวการณ์ดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนการกดขี่ที่ไม่จบสิ้นของคนผิวขาวต่อคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีอยู่ต่อเนื่อง ยาวนาน ไม่นับแม้แต่ในรั้วมหาวิทยาลัย ตอนผู้เขียนศึกษาระดับปริญญาเอกในสหรัฐอเมริกา ก็ได้พบเจอการใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อคนผิวสีในรั้วมหาวิทยาลัย ในกรณีดังกล่าว นักศึกษาระดับปริญญาตรีคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวจับกุม ก่อนกดร่างร่างของเขาลงกับพื้นหน้าห้องสมุด เอามือไพล่หลัง และใส่กุญแจมือ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า การจับกุมดังกล่าวมีเหตุจากการที่นักศึกษาคนนั้นใช้ชอล์กสีเขียนข้อความประท้วงการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย ผู้เขียนมองว่าการใช้ความรุนแรงเช่นนั้นของตำรวจเกินกว่าเหตุและเป็นภาพสะท้อนภาพการเหยียดเชื้อชาติที่เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า

ทั้งนี้ งานวิจัยเรื่อง Black Lives and Police Tactics Matter ของ Rory Kramer Brianna Remster และ Camille Z. Charles ซึ่งอาศัยข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของมหานครนิวยอร์ก (NYPD) รายงานเกี่ยวกับการสุ่มตรวจผู้คนบนท้องถนน พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แนวทางปฏิบัติที่มีระดับความรุนแรงต่างกันต่อกลุ่มเชื้อชาติที่แตกต่างกัน โดยตำรวจจะใช้ความรุนแรงกับกลุ่มคนดำมากกว่ากลุ่มคนขาว ไม่ว่าพวกเขาจะทำความผิดหรือไม่ ไม่ว่าจะถูกสุ่มตรวจในช่วงเวลาใด ไม่ว่าพวกเขาจะมีอายุหรือเพศสภาพใด ทั้งนี้ แม้ว่า NYPD จะลดการหยุดและตรวจค้น (stop-and-frisk) นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา นักวิจัยกลุ่มดังกล่าวพบว่าความแตกต่างในแง่ของการใช้ความรุนแรงระหว่างเชื้อชาติมิได้ลดลง แต่กลับเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยเชื้อชาติจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ความรุนแรงของตำรวจ และการครอบงำทางเชื้อชาติของคนผิวขาวในโครงสร้างสังคมอเมริกันก็ยังเป็นสิ่งที่กำหนดว่าตำรวจจะใช้ความรุนแรงระดับใดต่อคนเชื้อชาติใด

ผลจากการใช้ความรุนแรงเหล่าของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำให้ คนผิวดำจำนวนมากเกิดความรู้สึกไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะตำรวจผิวขาว หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงและหลบหนีแม้มิได้กระทำความผิด เพราะไม่ต้องการถูกหยุดและตรวจค้น แม้แต่นักศึกษาผิวสีเองก็ไม่รู้สึกว่าตนเองปลอดภัยมากขึ้นเมื่อตำรวจตระเวนตรวจตราในเขตมหาวิทยาลัย ด้วยเกรงว่าการใช้ความรุนแรงอาจจะเกิดขึ้นกับตน งานวิจัยเรื่อง On the Run ของ Alice Goffman พบว่า การใช้ความรุนแรงของตำรวจส่งผลให้คนผิวสีที่ต้องคดีจำนวนหนึ่งมีวิถีชีวิตที่ไม่แน่นอน นอกจากนี้ยังทำให้พวกเขามีความเปราะบางต่อความรุนแรงอื่นๆ เพราะไม่สามารถพึ่งพาและขอความช่วยเหลือจากตำรวจได้ นอกจากนี้ งานวิจัยของ Matthew Desmond Andrew V. Papachristos และ David S. Kirk ที่ใช้กรณีของเมือง Milwaukee มลรัฐวิสคอนซินสำหรับการศึกษา พบว่า คนผิวสีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีคดีติดตัวหลีกเลี่ยงที่จะรายงานการเกิดอาชญากรรมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะไม่เชื่อมั่นในตัวเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะหลังจากเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงต่อคนสมาชิกในชุมชนของพวกเขา นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวจำนวนมากที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุจำนวนมากก็ได้รับโทษเพียงเล็กน้อย บางส่วนที่ถูกลงโทษจำคุกก็ได้รับการปล่อยตัวในระยะเวลาไม่นานนัก

ทั้งนี้ การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังเชื่อมโยงโดยตรงกับการจับขังผู้คนจำนวนมาก (mass incarceration) ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ถูกคุมขังก็มักจะเป็นคนดำ ผู้ชาย และมีฐานะยากจน ซึ่ง Loïc Wacquant เรียกการเลือกสรรจับกุมเช่นนี้ว่า การเลือกแบบสามประสาน (Triple selectivity) เพื่อตอบสนองต่อการเจริญเติบโตของ ธุรกิจการแสวงหากำไรจากคุก (The Prison-Industrial Complex) เพราะคุกจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาบริหารงานโดยภาคเอกชนและแน่นอนว่าผลกำไรจากคุกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุกมีจำนวนผู้ต้องขังมาก และการแสวงหากำไรจากการคุกนี้ยังทำให้บริษัทบริหารคุกทำการวิ่งเต้น (lobby) กับผู้ออกกฎหมายทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐเพื่อให้ผ่านกฎหมายที่สนับสนุนการจัดการอาชญากรรมแบบเข้มข้น

2.2

เมื่อพิจารณาการตอบสนองต่อการใช้ความรุนแรงของตำรวจอันเป็นเหตุจลาจลาในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ ในขณะนี้ ผู้เขียนมองว่าประเด็นเรื่องเชื้อชาติยังคงมีความสำคัญอยู่ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเสนอว่า การจลาจลดังกล่าวควรถูกพิจารณาควบคู่ไปพร้อมๆ กับการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากตกงาน และอดอยาก โดยกลุ่มคนในสังคมอเมริกันที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากสภาวการณ์ดังกล่าวก็คือคนผิวสีโดยเฉพาะคนดำ เมื่อผนวกรวมความคับแค้นจากการจัดการเชื้อโรคที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลอเมริกันทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐ กับการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจแบบไม่จบไม่สิ้น ผู้เขียนไม่แปลกใจที่ปฏิกิริยาตอบสนองของคนผิวดำรวมถึงกลุ่มที่ต่อต้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเสมือนภาพสะท้อนการเรียกร้องของคนผิวสีว่า “อะไรๆ ก็กระทบพวกเรา พวกเราจะไม่ทนอีกต่อไป” ประหนึ่งเป็นการระบายพลังความขุ่นเคืองที่สะสมมาจากมรสุมต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงมองว่า การพิจารณาการใช้ความรุนแรงของกลุ่มผู้ประท้วง รวมไปถึงเหตุจลาจลไม่ควรถูกมองว่าเป็นเพียงการตอบสนองต่อการเหยียดเชื้อชาติ และการเสียชีวิตของ George Floyd แต่ควรพิจารณาว่าเป็นผลมาจากความเครียดและผลกระทบจากการจัดการโรคระบาดของภาครัฐและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำด้วย

อย่างไรก็ดี การตอบสนองของคนผิวสีด้วยความรุนแรงดังกล่าวก็ส่งผลให้รัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐตอกกลับด้วยใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจรวมไปถึงกองกำลังคุ้มกันประเทศ (National Guard) ของแต่ละมลรัฐที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์มีท่าทีสนับสนุนการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ และเมินเฉยต่อผลกระทบของการใช้ความรุนแรงต่อคนผิวดำ ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าการใช้ความรุนแรงฝ่ายผู้ประท้วงที่กลายเป็นเหตุจลาจลค่อยๆ ถูกใช้เป็นข้ออ้างสำหรับกลุ่มคนผิวขาวเพื่อเพิ่มการครอบงำทางเชื้อชาติของตนและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุดมการณ์คนขาวเป็นใหญ่ (White Supremacy)


3

ผู้เขียนมีความเชื่อส่วนตัวว่า ความขัดแย้งในประเด็นเชื้อชาติในสังคมอเมริกันไม่มีทีท่าจะสงบลงในเร็ววัน ยิ่งในสภาวการณ์ที่สหรัฐฯ และหลายมลรัฐเป็นเสมือนรัฐล้มเหลว (failed state) ที่ไม่สามารถควบคุมหรือจัดการปัญหาต่างๆ ได้ การจะกลับมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเด็นเชื้อชาติจึงเป็นสิ่งที่มีความท้าทายยิ่ง นักวิเคราะห์หลายคน รวมถึงผู้เขียนเองด้วยหวังว่าหาก Joe Biden ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงปลายปีนี้ การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างคงเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมองว่าการเปลี่ยนแปลง “อาจจะ” เกิดขึ้น แต่ก็คงไม่เร็วมากนัก ยิ่งถ้ามองในประเด็นการเหยียดเชื้อชาติแล้ว ก็น่าจะไม่เร็วเลย เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่เคยจางหายไปจากสังคมอเมริกัน หากเพียงแต่เปลี่ยนแปลงรูปแบบตามกาลเวลา และยังคงเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมอเมริกาได้อยู่เสมอ ท้ายที่สุดแล้ว คงไม่มีใครให้คำตอบได้อย่างชัดเจนว่าความขัดแย้งในประเด็นเชื้อชาติจะดำเนินต่อไปอย่างไรหรือส่งผลกระทบอย่างไร แต่สิ่งที่สังคมอเมริกันพึงตรองให้หนักคงเป็นดังที่ Michelle Obama อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคนผิวสีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว กล่าวว่า “คงขึ้นอยู่กับทุกคนที่จะถอนรากถอนโคนการเหยียดเชื้อชาติ” แต่กระนั้น การเหยียดเชื้อชาติในสังคมอเมริกันก็เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกจนไม่รู้ว่าโคนอยู่ตรงไหน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net