Skip to main content
sharethis

ทั่วโลกเดินขบวนวันแรงงานต่อแม้ COVID-19 ระบาด

บรรยากาศวันแรงงานทั่วโลกเงียบเหงา และปรับเปลี่ยนเป็นการเดินขบวนออนไลน์ ท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์ลดการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก

การเดินขบวนเนื่องในวันแรงงานกลายเป็นเหตุวุ่นวายในหลายประเทศซึ่งทางการระบุให้การเดินขบวนในช่วงนี้ถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรการห้ามรวมกลุ่มช่วงการระบาดของ COVID-19 เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2020 ขณะที่หลายพื้นที่ทั่วโลกเลือกใช้ช่องทางออนไลน์ในการรณรงค์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานรายได้ต่ำ ทั้งพยาบาล คนเก็บขยะ คนขายของริมทาง และคนขับรถส่งของ ซึ่งต้องทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องแม้จะมี COVID-19 ระบาดทั่วโลกในตอนนี้

เริ่มที่ตุรกี ทางการจับกุมผู้ประท้วงหลายสิบคนที่สวมหน้ากากมาประท้วงในนครอิสตันบูล ที่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ และที่กรีซ มีผู้คนหลายร้อยคนร่วมนำผ้าพันคอสีแดงคลุมหน้าไปชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อสนับสนุนบทบาทของบุคลากรการแพทย์

ที่ฟิลิปปินส์ ตำรวจจับกุมอย่างน้อย 3 คนที่ออกมาเคาะหม้อกระทะ เรียกร้องให้รัฐบาลเพื่อความช่วยเหลือและมาตรการความปลอดภัยแต่คนงานในประเทศ ซึ่งตอนนี้ชาวฟิลิปปินส์เกือบ 23 ล้านคน หรือเกือบ 25% ของประชากร ไม่มีงานไม่มีเงินช่วง COVID-19 ระบาด และที่อินโดนีเซีย ผู้ประท้วงจุดไฟเผาโรงอาหารของโรงงานอุตสาหกรรมตอนเหนือของจังหวัดมาลุกุ เพื่อเรียกร้องสวัสดิการแรงงานที่ดีขึ้น ส่วนที่ฮ่องกง ตำรวจปราบจลาจลยิงปืนยางและแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามรวมตัวช่วง COVID-19 ระบาดมาเดินขบวนด้วย

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง แห่งฝรั่งเศส กล่าวผ่านคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ทางทวิตเตอร์ว่านี่คือวันแรงงานแตกต่างจากที่เคยเป็น แต่ความแข็งแกร่งเป็นหนึ่งเดียวของภาคแรงงานในฝรั่งเศสยังคงเหมือนเดิม และให้คำมั่นว่าจะผ่อนคลายล็อคดาวน์ได้หลัง 11 พ.ค. ไปแล้วแบบค่อยเป็นค่อยไป

โดยในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ของฝรั่งเศส ทำให้ไม่มีการเดินขบวนเนื่องในวันแรงงานตามท้องถนนตามธรรมเนียมเหมือนทุกปี แต่ปรับเปลี่ยนมาเป็นการประท้วงออนไลน์แทน ทั้งการประท้วงเคาะหม้อเคาะกระทะออนไลน์ เพื่อกดดันรัฐบาลให้เร่งผ่อนคลายล็อคดาวน์ที่กินเวลาเกือบ 2 เดือนในประเทศ มีการปิดป้ายรณรงค์เนื่องในวันแรงงานตามระเบียงบ้าน ในช่วงที่ผู้คนกักตัวอยู่แต่ในบ้านช่วงนี้ และก่อนหน้านี้ บุคลากรการแพทย์บางส่วนสวมหน้ากากออกมาเดินขบวนในกรุงปารีส ก่อนวันแรงงานล่วงหน้า 1 วัน

ผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้จีดีพีฝรั่งเศสหดตัว 5.8% ในไตรมาสแรกของปีนี้ และอัตราว่างงานพุ่ง 7.1% ในเดือน มี.ค. ร้านรวงที่ขายของตามข้างทางสูญเสียรายได้ถึง 70% และต้องเร่งปรับช่องทางมาทำธุรกิจออนไลน์กันในช่วงนี้

ส่วนที่รัสเซีย ปีนี้เป็นปีแรกที่สหภาพแรงงานรัสเซีย เปลี่ยนการเดินขบวนวันแรงงานที่เคยทำประจำทุกปี ไปเป็นการเคลื่อนไหวด้านสังคมออนไลน์ครั้งใหญ่แทน ขณะที่หลายประเทศในยุโรป จะมีการปิดกั้นถนนบริเวณพรมแดนเยอรมนีกับสาธารณรัฐเช็ก เพื่อประท้วงมาตรการล็อกดาวน์ และคาดว่าจะยังมีการเดินขบวนในกรีซ โปรตุเกส และออสเตรีย ซึ่งหลายพื้นที่ออกมาเดินขบวนด้วยการใส่หน้ากาก และรักษาระยะห่างทางสังคมระหว่างประท้วง

อีกด้านหนึ่ง ที่ฟินแลนด์ การจัดปิกนิกวันแรงงานเปลี่ยนมาเป็นการชิมไวน์แบบถ่ายทอดสดออนไลน์ หรือไลฟ์สตรีม รวมทั้งยังมีชั้นเรียนสอนการทำค็อกเทล และยังมีบริการส่งอาหารตามธรรมเนียมในวันที่ 1 พ.ค. ด้วย และที่อิตาลีเปลี่ยนมาจัดคอนเสิร์ตแบบไลฟ์สตรีมและถ่ายทอดสดการแสดงทางโทรทัศน์ต่อเนื่อง 4 ชั่วโมงจนถึงเที่ยงคืนวันที่ 1 พ.ค.

ที่มา: VOA, 1/5/2020

แรงงานต่างชาติในไต้หวันเข้ารับการกักตัว 14 วันกว่า 3,000 คน หากไม่ได้รับค่าจ้างและไม่หนีกักตัว ยื่นขอรับเงินชดเชยวันละ 1,000 เหรียญจากรัฐบาลได้

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการพบว่า ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 16 เม.ย. 2020 ที่ผ่านมา แรงงานต่างชาติที่เดินทางเข้าไต้หวันจำนวนทั้งสิ้น 3,169 คน ในจำนวนนี้ เป็นแรงงานภาคการผลิต ซึ่งนายจ้างเป็นผู้จัดหาสถานที่กักตัว 14 วัน จำนวน 2,975 คน และแรงงานต่างชาติในภาคสวัสดิการสังคม ได้แก่ผู้อนุบาล ผู้ช่วยงานบ้าน รวมถึงแรงงานต่างชาติที่กลับจากการเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวที่ต้องไปกักตัวในสถานที่กักตัวรวมของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการจำนวน  374 คน แรงงานต่างชาติที่เข้ารับการกักตัวเหล่านี้ ระหว่างที่กักตัว 14 วัน หากไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างและไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโรค หลังพ้นการกักตัวแล้ว สามารถยื่นขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลได้ ในอัตราวันละ 1,000 เหรียญไต้หวัน

ที่มา: Radio Taiwan International, 1/5/2020

ตัวเลขว่างงานสหรัฐฯ ทะยานทะลุ 30 ล้านคนใน 6 สัปดาห์

รายงานของกระทรวงแรงงานระบุว่าตัวเลขว่างงานในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 30.3 ล้านคนภายใน 6 สัปดาห์ แม้ว่าจะมีบางรัฐที่เริ่มเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปบ้างแล้วก็ตาม ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ประเมินว่าจะยังมีผู้ยื่นของสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า อันเป็นผลพวงจากการระบาดของ COVID-19 ต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานโดยเฉพาะ

ตัวเลขการว่างงานที่ทะยานทะลุ 30 ล้านคนในช่วงนี้ นับว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 และตัวเลขว่างงานรอบนี้ได้ทำลายตำแหน่งงานที่จ้างใหม่ในสหรัฐฯ ย้อนกลับไปตั้งแต่อเมริกาเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ถดถอยหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี ค.ศ. 2008 ซึ่งในช่วงนั้น มีผู้คนตกงานราว 8.6 ล้านคนเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ทางการสหรัฐฯ เปิดเผยว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯหดตัวราว 4.8% ในไตรมาสแรกของปีนี้ และคาดว่าจะหดตัวรุนแรงในไตรมาส 2 ของปี ซึ่งเป็นจังหวะที่เศรษฐกิจอเมริกันได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยตรง ทั้งการปิดเมือง การว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น และอาจจะเป็นการหดตัวรุนแรงกว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก

โดยเครดิตสวิส ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 ของปีนี้อาจหดตัวถึง 33.5% ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ ประเมินว่าจะหดตัวราว 34% และอัตราว่างงานในประเทศจะมากถึง 15% แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ ที่การเติบโตราว 19%

ที่มา: VOA, 1/5/2020

มาเลเซียกวาดจับ 'ผู้อพยพ-แรงงานผิดกฎหมาย' อ้างเพื่อยับยั้ง COVID-19

นาย Abdul Hamid Bador ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย เผยว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการควบคุมผู้อพยพและแรงงานต่างชาติที่ไม่ได้อยู่ในระบบจำนวนมาก มาอาศัยอยู่รวมกันในพื้นที่แห่งเดียว โดยมีเหตุผลเพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานเหล่านี้เดินทางไปยังพื้นที่อื่นในช่วงที่ทางการออกมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการระบาด เพราะหากปล่อยไปจะไม่สามารถตามหาพวกเขาได้โดยง่าย โดยจะกักตัวไว้จนกว่ามาตรการปิดเมืองของรัฐบาลมาเลเซียจะสิ้นสุดอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม นาย Abdul Hamid Bador ไม่ได้ระบุชัดจนว่ามีผู้อพยพผิดกฎหมายและรงงานที่อยู่ภายใต้การควบคุมมีจำนวนเท่าไหร่ พร้อมย้ำว่าปฏิบัติการดังกล่าวจำเป็นต้องทำ เพราะบุคคลเหล่านี้ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนอย่างเป็นทางการ ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลของภาครัฐ ทำให้การติดตามตัวจะเป็นไปอย่างลำบากหากพบการติดเชื้อ COVID-19

ขณะที่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งฮิวแมนไรท์วอทช์ และเครือข่ายผู้ลี้ภัยเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Refugee Rights Network) เผยว่าเจ้าหน้าที่ได้บุกค้นย่านใจกลางเมืองแห่งหนึ่งที่มีแรงงานต่างชาติและผู้ขอลี้ภัยอาศัยอยู่และควบคุมตัวคนไปกว่า 700 คน ในนั้นมีทั้งเด็กและผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจากพม่ารวมอยู่ด้วย โดยชาวมาเลเซียละแวกนั้นแสดงความไม่พอใจที่คนเหล่านี้มาอาศัยอยู่ และถูกกล่าวหาว่าเป็นพาหะนำโรค COVID-19 ซึ่งจะเป็นภาระของรัฐบาล

ที่มา: The Tiger, 2/5/2020

พนักงานคอลเซ็นเตอร์ในญี่ปุ่นยังคงเสี่ยงติดโรคติดเชื้อ COVID-19

พนักงานศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าหรือคอลเซ็นเตอร์ในญี่ปุ่นยังคงเสี่ยงติดโรคติดเชื้อ COVID-19 แม้ทางการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ เพราะยังคงต้องทำงานในสภาพแออัด เนื่องจากบริษัทให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของข้อมูลมากกว่าความปลอดภัยของคนทำงาน ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามีพนักงานคอลเซ็นเตอร์ของการไปรษณีย์ 17 คน ในจังหวัดฮอกไกโดและพนักงานธุรกิจสั่งซื้อทางไปรษณีย์ในเมืองเกียวโต 11 คน ติด COVID-19 พนักงานคอลเซ็นเตอร์ในกรุงโตเกียวคนหนึ่งเผยว่า ยังคงต้องทำงานในที่แออัดและเสี่ยงติดเชื้อ แม้ว่าน้อยลงจากช่วงปกติที่มีพนักงานเกือบ 80 คนนั่งห่างกันไม่ถึง 1 เมตรและไม่มีฉากกั้นก็ตาม พนักงานอีกคนตั้งคำถามว่า เหตุใดต้องเสี่ยงชีวิตมารับสายที่โทรมาถามเรื่องไม่เร่งด่วนทั้งวันเพราะคนอยู่บ้านกันมากขึ้นจึงมีเวลาว่างมากขึ้น

ญี่ปุ่นมีคอลเซ็นเตอร์ประมาณ 250,000 แห่ง พนักงานส่วนใหญ่เป็นสัญญาจ้าง มีความมั่นคงในอาชีพน้อยกว่าพนักงานประจำ สหภาพแรงงานเผยว่า พนักงานที่ขอหยุดงานได้รับคำเตือนว่าจะเป็นอันตรายต่อหน้าที่การงาน พนักงานสัญญาจ้างคนหนึ่งเผยว่า บริษัทอ้างว่าไม่สามารถให้คนทำงานจากบ้านได้เพราะลูกค้าจะร้องเรียนหากไม่มีพนักงานประจำอยู่ที่ร้าน รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนาน 1 เดือนใน 7 จังหวัดรวมทั้งจังหวัดโตเกียวตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.-6 พ.8. ก่อนขยายเป็นทั่วประเทศและขยายไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค. ตั้งเป้าลดการติดต่อระหว่างบุคคลลงร้อยละ 70-80 แต่ข้อมูลของกูเกิลพบว่า การเดินทางไปทำงานลดลงเพียงร้อยละ 27 เท่านั้น ผลการสำรวจเมื่อปีก่อนพบว่าคอลเซ็นเตอร์เกือบร้อยละ 80 ไม่มีโครงการให้พนักงานทำงานจากบ้าน ส่วนใหญ่อ้างเรื่องเกรงข้อมูลรั่วไหล

ที่มา: Japan Times, 6/5/2020

ไต้หวันปกป้องสิทธิแรงงานฟิลิปปินส์ที่มาทำงานในประเทศ หลังวิจารณ์ 'ดูเตอร์เต'

ผู้ว่าการเมืองหยุนหลินป้องสิทธิผู้อนุบาลฟิลิปปินส์ด่าผู้นำของตน ย้ำแรงงานต่างชาติในไต้หวันได้รับการคุ้มครองเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น หากไม่ได้บกพร่องในหน้าที่และไม่ผิดกฎหมายไต้หวัน ห้ามส่งกลับประเทศโดยไม่สมัครใจ

เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2020 นางเอลาเนล ออร์ดิโด้ (Elanel Egot Ordidor) แรงงานฟิลิปปินส์ ทำงานอยู่ที่เมืองหยุนหลิน ในตำแหน่งผู้อนุบาลในครัวเรือน ได้ไลฟ์สดผ่านเฟสบุ๊คโดยใช้ถ้อยคำน่ารังเกียจและน่าขยะแขยงใส่ร้ายผู้นำประเทศ เพื่อสร้างความเกลียดชังรัฐบาลให้เกิดขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่บานปลายไปทั่วโลก ต่อมาในวันที่ 25 เม.ย. 2020 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานฟิลิปปินส์ออกแถลงการณ์ว่าผู้อนุบาลฟิลิปปินส์ผู้นี้ เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต จึงจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้เอลาเนลถูกเนรเทศกลับประเทศ โดยเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2020 ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานแรงงานฟิลิปปินส์ในไต้หวัน เดินทางไปพบนางเอลาเนล และแจ้งให้ทราบถึงความผิดดังกล่าว แถลงการณ์กล่าวว่า นางเอลาเนล มีแอคเคานต์เฟซบุ๊กหลายแอคเคานต์ และได้ตั้งกลุ่มเฟสบุ๊คเพื่อใส่ร้าย ทำลายชื่อเสียงผู้นำและบ่อนทำลายประเทศ เนื่องจากละเมิดกฎหมายฟิลิปปินส์ในลักษณะร้ายแรง สำนักงานแรงงานฟิลิปปินส์ในไต้หวันจึงได้ประสานกับนายจ้างและ บจง.ที่จัดส่ง เพื่อหารือเรื่องการส่งตัวนางเอลาเนลกลับประเทศ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2020 ว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์สามารถดำเนินการโดยเรียกร้องผ่านกระบวนการความช่วยเหลือระหว่างกันทางตุลาการ ฝ่ายไต้หวันจะได้มีหลักอ้างอิงช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ การจะจับแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานอยู่ในไต้หวันโดยพลการ ไต้หวันไม่อาจให้ทำเช่นนั้นได้ หลังกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันออกแถลงการณ์ ทางสำนักงานตัวแทนของฟิลิปปินส์ในไต้หวัน ออกแถลงการณ์ขอโทษต่อกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน โดยบอกว่า ไม่ได้รับรายงานให้ส่งแรงงานรายนี้กลับประเทศ

จากนั้น Radio Taiwan International ได้รายงานในช่วงเดือน พ.ค. 2020 ว่านางจางลี่ซ่าน ผู้ว่าการเมืองหยุนหลิน หลังรับทราบเรื่องนี้แล้ว ได้สั่งการให้กองแรงงานเมืองหยุนหลิน ให้การดูแลและปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้อนุบาลฟิลิปปินส์รายนี้ โดยกล่าวว่าแรงงานต่างชาติในไต้หวันได้รับการคุ้มครองเรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น หากไม่ได้บกพร่องในหน้าที่การงาน ห้ามมีการส่งกลับโดยไม่สมัครใจ และการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือไม่ เป็นเรื่องที่นายจ้างเป็นผู้ตัดสินใจ ไม่ใช่เป็นหน้าที่การตัดสินใจของเจ้าหน้าที่สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมะนิลา

นายจางซื่อจง ผอ. กองแรงงานเมืองหยุนหลินกล่าวว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่ยึดหลักนิติรัฐ จะไม่การส่งกลับหากแรงงานต่างชาติไม่ได้ทำผิดกฎหมาย กองแรงงานเมืองหยุนหลินเคารพการตัดสินใจของนายจ้างและความสมัครใจของแรงงานต่างชาติ ขณะเดียวกันจะปกป้องสิทธิประโยชน์ของนายจ้างและแรงงานต่างชาติเช่นกัน ด้านนายจ้างและบริษัทจัดหางานกล่าวว่า นางเอลาเนล ออร์ดิโด้ ไม่ได้บกพร่องในหน้าที่ จึงไม่มีการส่งกลับอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ในไต้หวัน มีแรงงานฟิลิปปินส์ทำงานอยู่จำนวน 158,790 คน มากเป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม โดยทำงานในภาคการผลิต 127,905 คน และตำแหน่งผู้อนุบาล ผู้ช่วยงานบ้านจำนวน 30,885 คน

ที่มา: Radio Taiwan International, 8/5/2020

จับโกงผู้แอบอ้างขอเงินกู้ช่วยลูกจ้างอเมริกันช่วง COVID-19 ระบาด

อัยการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ดำเนินการเอาเรื่องผู้ที่แอบอ้างขอความช่วยเหลือ ทางการเงินจากโครงการเงินกู้ ที่รัฐสภาอเมริกันอนุมัติ เพื่อช่วยธุรกิจขนาดเล็ก ช่วงเกิดการระบาด COVID-19 ครั้งนี้ถือเป็นครั้งเเรกที่ทางการเอาผิดผู้แอบอ้างรับเงินกู้ในโครงการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างไม่ถูกต้อง

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กล่าววันอังคารว่า มีการจับกุมตัวนักธุรกิจสองรายคือ เดวิด บัตซีเกอร์ ในรัฐโรดไอส์แลนด์ และนายเดวิด สตาเวลีในรัฐเเมสซาชูเสทส์ ที่หลอกลวงขอให้ได้รับเงิน 500,000 ดอลลาร์​สหรัฐฯ ทั้งสองกล่าวว่าจะใช้เงินกู้ไปช่วยพยุงลูกจ้างหลายสิบคน แต่ในความเป็นจริงไม่มีการจ้างงานบุคคลตามที่อ้าง

ที่มา: VOA, 7/5/2020

Hyatt Hotels ประกาศเริ่มต้นเลิกจ้างพนักงานจำนวน 1,300 คนทั่วโลก

Hyatt Hotels ประกาศเริ่มต้นเลิกจ้างพนักงานจำนวน 1,300 คนทั่วโลก เพื่อรับมือกับวิกฤต COVID-19 พร้อมประกาศตัดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูง คณะกรรมการบริหาร และพนักงานที่เหลือทั้งหมด myh'ouhพนักงานที่ถูกเลิกจ้างสามารถรับเงินชดเชยได้ ทั้งนี้การปรับลดเงินเดือนและพนักงานครั้งนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่ 1 มิ.ย. นี้เป็นต้นไป

ที่มา: CNBC, 11/5/2020

อินโดนีเซียเตรียมอนุญาตให้คนที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี กลับมาทำงานได้อีกครั้ง

อินโดนีเซียเตรียมอนุญาตให้คนที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี กลับมาทำงานได้อีกครั้ง เพื่อลดโอกาสในการปลดพนักงานและช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจที่แทบจะหยุดชะงักมานานหลายเดือน โดยให้เหตุผลว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรงงานที่สำคัญของประเทศ ทั้งยังมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปที่อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 45%

ทั้งนี้แรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปีใน 11 ภาคธุรกิจ ในด้านความมั่นคง สุขภาพ อาหาร การเงิน การสื่อสาร และโลจิสติกส์จะเริ่มกลับมาทำงานก่อน โดยยังคงมาตรการคุมเข้มทางสังคมที่จำเป็นเอาไว้เพื่อป้องกันการระบาด ระลอกใหม่ นอกจากนี้ชาวอินโดนีเซียรายใดก็ตามที่ละเมิดคำสั่งเว้นระยะห่างทางสังคม อาจถูกลงโทษด้วยการขัดห้องน้ำสาธารณะและปรับเงิน ซึ่งหน้าที่ทำความสะอาดห้องน้ำเป็นหนึ่งมาตรการลงโทษต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในกฎระเบียบใหม่ซึ่งมีเป้าหมายสกัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19

ที่มา: The Jakarta Post, 12/5/2020

TUI บริษัทท่องเที่ยวใหญ่สุดในโลก จะเลิกจ้างพนักงาน 8,000 คน

TUI บริษัทท่องเที่ยวใหญ่สุดในโลกสัญชาติเยอรมนี เปิดเผยว่าจะเลิกจ้างพนักงาน 8,000 คน และจะลดค่าใช้จ่าย 30% ขณะที่บริษัทได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลในประเทศต่างๆ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทั้งนี้ TUI เผชิญแรงกดดันทางการเงิน ขณะที่บริษัทยังคงมีค่าใช้จ่ายราว 250 ล้านยูโรต่อเดือน แม้ไม่มีรายได้เข้ามาในช่วงที่มีการล็อกดาวน์

ที่มา: CNBC, 13/5/2020

บุคลากรทางการแพทย์เม็กซิโกประท้วงเรียกร้องรัฐบาลเร่งจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน

บุคลากรทางการแพทย์จาก 3 โรงพยาบาล ได้รวมตัวกันปิดกั้นถนน เรียกร้องรัฐบาลเร่งจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในเม็กซิโก กลุ่มผู้ประท้วงระบุว่านอกจากขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ และชุดในการป้องกันแล้ว อุปกรณ์ที่มีอยู่ยังไม่มีคุณภาพส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ที่มา: Mexico News Daily, 14/5/2020

COVID-19 ทำยอดจำนวนแรงงานต่างชาติในไต้หวันลดลงเป็นครั้งแรก

เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่บานปลายไปทั่วโลก ประเทศผู้ส่งออกแรงงาน ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลปปินส์ต่างประกาศมาตรการปิดประเทศหรือยกเลิกเที่ยวบิน ส่งผลให้แรงงานต่างชาติที่เดินทางมาทำงานในไต้หวันลดลง จากที่ผ่านมา ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติในไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ลดลงเป็นครั้งแรก โดยลดจำนวนลงร่วม 1,000 คน เมื่อไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้ตามปกติ กระทรวงแรงงานไต้หวันเรียกร้องนายจ้างที่ได้รับผลกระทบ การผลิตลดลง หากอนุญาตให้แรงงานต่างชาติโอนย้ายไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ที่ต้องการว่าจ้างแรงงานต่างชาติภายในวันที่ 17 มิ.ย. 2020 จะไม่ถูกจำกัดหรือเสียโควตาเป็นเวลา 2 ปีตามกฎระเบียบเดิม

เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 รุนแรงขึ้น ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ประเทศต่างๆ ประกาศใช้มาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศ ในจำนวนนี้ประเทศผู้ส่งออกแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างอินโดนีเซีย ประกาศห้ามแรงงานเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เวียดนามและไทยห้ามอากาศยานบินเข้าประเทศ ชาวเวียดนามและชาวไทยที่จะขอเดินทางเข้าประเทศต้องได้รับอนุญาตก่อน ส่วนฟิลิปปินส์มีการจำกัดการทำงานและหยุดเรียน ทำให้แรงงานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ไม่สามารถยื่นเรื่องได้ สำหรับไต้หวันเอง ก็มีมาตรการควบคุมโรค ด้วยการประกาศให้ผู้เดินทางเข้าไต้หวัน ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างชาติด้วย จะต้องกักตัวสังเกตอาการตนเองเป็นเวลา 14 วัน มาตรการทั้งของไต้หวันและประเทศผู้ส่งออกแรงงาน ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันของแรงงานต่างชาติทั้งสิ้น

จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติในไต้หวัน ที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือน ต.ค. 2019 ทะลุหลัก 700,000 คน เฉพาะปี 2019 ปีเดียว ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติในไต้หวันเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 คน เดิมคาดว่าปี 2020 นี้ ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติในไต้หวันเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ด้วยเหตุที่รัฐบาลผ่อนปรนนโยบายการนำเข้าแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ เพื่อดึงดูดให้นักธุรกิจไต้หวันกลับมาลงทุนในมาตุภูมิเพิ่มขึ้น แต่สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติในไต้หวัน ณ สิ้นเดือน มี.ค. อยู่ที่ 718,531 คน ลดลงกว่าเดือน ก.พ. 956 คน นับเป็นสภาพการณ์ครั้งแรกในรอบ 6-7 ปีที่ผ่านมา

ที่มา: Radio Taiwan International, 15/5/2020

สายการบิน Emirates เตรียมเลิกจ้างพนักงาน 30,000 คน

สายการบิน Emirates เตรียมเลิกจ้างพนักงาน 30,000 คน ปรับโครงสร้างองค์กรรับมือภาวะถดถอยของอุตสาหกรรมการบินโลก หลังวิกฤตโรคระบาด COVID-19 โดยการเลิกจ้างนี้เป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 105,000 คน นอกจากปรับลดพนักงานแล้ว Emirates ยังมีแผนขายเครื่องบิบแบบ A380 ทั้งฝูงบินอีกด้วย

ที่มา: The Economic Times, 17/5/2020

Mastercard Inc. ไม่ให้พนักงานทั่วโลกกลับไปทำงานยังสำนักงานของบริษัท จนกว่า COVID-19 จะควบคุมได้

Mastercard Inc. ประกาศว่าจะไม่ให้พนักงานทั่วโลกกลับไปทำงานยังสำนักงานของบริษัท จนกว่าพวกเขาจะสบายใจว่า สามารถควบคุม COVID-19 ได้แล้ว ไม่ว่าจะด้วยวัคซีน หรือมาตรการอื่น ๆ  ทั้งนี้ Mastercard Inc. มีพนักงานเกือบ 20,000 คนทั่วโลก โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในย่านชานเมืองของนครนิวยอร์ก และขณะนี้พนักงานประมาณ 90% ทำงานจากบ้าน รวมถึงที่สำนักงานในต่างประเทศ อย่างปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ก็เช่นกัน ส่วนพนักงานที่เข้าทำงานในสำนักงาน ก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการเว้นระยะทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย และตรวจวัดอุณหภูมิ

ที่มา: Yahoo Finance, 21/5/2020

แรงงานต่างชาติในไต้หวันประสบอันตรายจากการทำงานในอัตราสูงเฉลี่ยทุก 2 ชั่วโมง พิการ 1.6 ราย/วัน

แรงงานต่างชาติกลายเป็นแหล่งกำลังแรงงานสำคัญของไต้หวันไปแล้ว แต่จากรายงานการตรวจสอบของนางหวางโย่วหลิงและหวางเหม่ยอวี้ สองสมาชิกสภาตรวจสอบของไต้หวันพบว่า อัตราการประสบอุบัติเหตุจากการทำงานของแรงงานต่างชาติจะสูงกว่าแรงงานท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัด จากสถิติพบว่า แรงงานต่างชาติในไต้หวันเฉลี่ยทุก 2 ชั่วโมง จะประสบอันตรายจากการทำงาน 1 ครั้ง และเฉลี่ยทุกวันจะมีแรงงานต่างชาติ 1.6 รายพิการหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน และช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค. ปี 2019 ที่ผ่านมามีแรงงานต่างชาติเอาชีวิตมาทิ้งในต่างแดนถึง 12 ราย ดังนั้นสภาตรวจสอบจึงผ่านมติให้กระทรวงแรงงาน เร่งหามาตรการที่ได้ผลในการลดและควบคุมอุบัติเหตุจากการทำงานของแรงงานต่างชาติ

สำหรับการรายงานเกิดเหตุอันตรายจากการทำงานต่อหน่วยงานตรวจสอบด้านแรงงาน ตามกฎหมายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยกำหนดให้สถานประกอบการที่ลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานข้อใดข้อหนึ่งดังนี้ ได้แก่ เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 3 รายหรือส่งรักษาที่โรงพยาบาล 1 ราย จะต้องรายงานภายใน 8 ชั่วโมง แต่จากการตรวจสอบพบว่า แรงงานต่างชาติที่ประสบอันตรายจากการทำงานร้อยละ 56 เกิดขึ้นในสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีจำนวนแรงงานไม่ถึง 50 คน ซึ่งไม่อยู่ในขอบข่ายบังคับใช้ของข้อกำหนดดังกล่าว อีกทั้งยังพบว่า มีนายจ้างบางรายใช้รถส่วนตัวพาแรงงานส่งรักษาโรงพยาบาลโดยรายงานว่าเกิดจากอุบัติเหตุการจราจร หรือไม่ให้แรงงานต่างชาตินอนรักษาที่โรพยาบาล เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบที่จะต้องรายงานต่อหน่วยงานตรวจสอบด้านแรงงาน

ที่มา: Radio Taiwan International, 22/5/2020

ดูเตอร์เต เร่งรัดดำเนินการให้แรงงานฟิลิปปินส์ที่กลับจากต่างประเทศได้กลับบ้าน

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ สั่งการให้หน่วยงานของรัฐบาลดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์เรื่องแรงงานฟิลิปปินส์ประมาณ 24,000 คน ที่กลับมาจากต่างประเทศและถูกกักตัวดูอาการโรคติดเชื้อ COVID-19 เพื่อให้พวกเขาได้กลับบ้าน แรงงานเหล่านี้ถูกกักตัวบนเรือสำราญ 29 ลำที่ลอยลำนอกชายฝั่งอ่าวมะนิลา โรงแรม หรือสถานพยาบาลแออัด บางคนไม่พอใจที่ผลตรวจหาเชื้อเป็นลบและกักตัวมาครบ 14 วันแล้วแต่ยังไม่ได้กลับบ้าน

ที่มา: Al Jazeera, 26/5/2020

แรงงานต่างชาติยากจนจำนวนมากตกค้างอยู่ในมัลดีฟส์

หลังจากรัฐบาลมัลดีฟส์สั่งปิดรีสอร์ททุกแห่งเพื่อควบคุมโรค COVID-19 พบว่าแรงงานต่างชาติจำนวนมากตกค้างอยู่ในมัลดีฟส์ต้องอาศัยอย่างแออัดเสี่ยงติดโรค ทั้งนี้มัลดีฟส์มีรายได้หลักจากธุรกิจรีสอร์ทตามเกาะต่าง ๆ และอาศัยแรงงานต่างชาติเป็นหลัก เมื่อรัฐบาลสั่งปิดรีสอร์ททุกแห่งทุกคนจึงมารวมกันอยู่ในกรุงมาเลที่มีพื้นที่เพียง 2 ตารางกิโลเมตร ครึ่งหนึ่งของประชากร 150,000 คน ในกรุงมาเลเป็นแรงงานต่างชาติจากบังกลาเทศ อินเดีย และศรีลังกา

ที่มา: FRANCE 24, 26/5/2020

Boeing เลิกจ้างงาน 12,000 ตำแหน่งในสหรัฐฯ

บริษัทผู้ผลิตเครื่อง Boeing ระบุว่าจะเลิกจ้างงาน กว่า 12,000 ตำแหน่งในสหรัฐฯ เนื่องจากพิษเศรษฐกิจท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 บริษัทเปิดเผยด้วยว่า ยังอาจปลดพนักงานต่อเนื่องในอีก 2-3 เดือนจากนี้ แต่ไม่ได้ให้รายจะเอียดว่าเป็นตำแหน่งงานในประเทศใด ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเม.ย. บริษัทประกาศเป้าลดพนักงาน 10% ของพนักงานทั้งหมดทั่วโลก 160,000 คนก่อนสิ้นปีนี้

Boeing ได้อนุมัติพนักงานที่ลาออกโดยสมัครใจจำนวน 5,520 คนในสหรัฐฯ และเตรียมที่จะบอกเลิกจ้างพนักงานอีก 6,770 คน ทั้งนี้ Boeing วางแผนที่จะส่งมอบเครื่องบินรุ่น 737 MAX ในไตรมาสสามของปีนี้ และตั้งเป้าว่าจะสามารถผลิตเครื่องบินรุ่นดังกล่าวได้ 31 ลำต่อเดือนในปีหน้า

ที่มา: VOA, 28/5/2020

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net