ตร.ห้าม นักศึกษารำลึกล้อมปราบเทียนอันเหมินที่หน้าสถานทูตจีน

2 มิ.ย.2563 เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล นักกิจกรรมและอดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางเข้ารับทราบคำสั่งตำรวจ สน.ห้วยขวางที่ห้ามกลุ่มนักศึกษาจัดกิจกรรมรำลึกวันครบรอบ 31 ปี เหตุการณ์รัฐบาลจีนปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ 4 มิ.ย.2532

เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาลหลังรับทราบคำสั่งห้ามจัดชุมนุม ภาพจาก Netiwit Ntw

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเพิ่มเติมกับเนติวิทย์ทราบว่าทางตำรวจได้ระบุไว้ในเอกสารว่าใช้อำนาจตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ซึ่งอาศัยอำนาจตาม มาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หากฝ่าฝืนผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 ของพ.ร.ก.ฉบับเดียวกัน

ทั้งนี้จากเอกสารแจ้งจัดการชุมนุมที่เนติวิทย์ส่งถึง สน.ห้วยขวาง ระบุรายละเอียดกิจกรรมว่าจะเป็นการยืนชูป้าย "ประเทศไทยเป็นประเทศเอกราช ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน" และ "ปกป้องแม่น้ำโขง"  ธงชาติทิเบต ธงอุยกูร์และธงฮ่องกง จากนั้นจะมีการยืนสงบนิ่ง โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 10 คน

นอกจากนั้นในหนังสือแจ้งจัดชุมนุมยังระบุถึงกระบวนการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในการชุมนุมครั้งนี้ด้วย โดยจะให้ผู้เข้าร่วมต้องสวมหน้ากากอนามัยและยื่นห่างกัน 1-2 เมตร และขอทางเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการประสานงานหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคหากเจ้าหน้าที่เห็นว่าจำเป็น

กิจกรรมนี้มีขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิต เหตุการณ์รัฐบาลจีนปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อ 4 มิ.ย.2532 ซึ่งจะครบรอบ 31 ปีในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ และเพื่อแสดงถึงการที่รัฐบาลจีนบุกรุกทิเบตและการนำตัวชาวอุยกูร์นับล้านคนไปอยู่ในค่ายกักกัน และธงฮ่องกงหมายถึงการที่รัฐบาลจีนทำลายเสรีภาพของชาวฮ่องกง

(เพิ่มเติม 18.47 น.) เนติวิทย์แจ้งว่าได้ทำคุ้กกี้รูปจตุรัสเทียนอันเหมินและ"แท็งค์แมน" (คนที่ไปยืนท้าทายรถถังตอนสลายการชุมนุมที่นั่น) พร้อมพิมพ์ลาย"เทียนอันเหมิน 1989" ไว้แจกฟรีให้แก่ผู้สนใจแทนการที่ไม่สามารถทำกิจกรรมที่หน้าสถานทูตจีนได้ในวันพฤหัสบดีนี้ โดยเขาได้ทำไว้ทั้งหมด 89 ชิ้น

ตั้งแต่รัฐบาลเริ่มใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่ 3 เม.ย.2563 ประชาไทพบการใช้กฎหมายดังกล่าวในการควบคุมการชุมนุมแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อ 28 เม.ย.2563 ตำรวจ สภ.หัวทะเล จังหวัดชัยภูมิ ติดตามจับกุมสุนทร ดวงณรงค์ นักปกป้องสิทธิจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ และตั้งข้อหาไม่แจ้งจัดชุมนุมต่อเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค จากเหตุที่เธอร่วมกับชาวบ้านอีก 20 กว่าคนอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการออกใบอนุญาตให้กับโครงการสำรวจและทำเหมืองแร่ และให้บริษัทเหมืองแร่ที่มีความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ยุติการสำรวจและทำเหมืองแร่

นอกจากนั้นในรอบเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตำรวจได้จับกุมดำเนินคดีอนุรักษ์ เจนตวนิช หรือ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง ผู้จัดงานรำลึกให้กับพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อ 13 พ.ค.2553 และอนุรักษ์ยังถูกดำเนินคดีอีกครั้งพร้อม ทศพร เสรีรักษ์ จากการทำกิจกรรมในวาระครบรอบ 6 ปี คณะรักษาความสงบแห่งชาติทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557

นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ตำรวจ สภ.ม่วงงาม จังหวัดสงขลา ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการห้ามชาวม่วงงามชุมนุมคัดค้านการสร้างกำแพงกันคลื่นที่หดม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท