Skip to main content
sharethis

ศ.นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 92 ปี ฝากผลงาน "เกลือเสริมไอโอดีน" ที่ จ.แพร่ และริเริ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นำร่องที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ก่อนขยายผลทั่วประเทศและบรรจุในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 ทั้งนี้ อสม. กลายเป็นกำลังสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และในห้วง COVID-19 ระบาด อสม. ก็มีบทบาทลงเคาะประตูบ้าน 13 ล้านครัวเรือนและสอบโรคผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดและกลับเข้าภูมิลำเนา 5 แสนราย

2 มิ.ย. 2563 รายงานในเว็บไซต์ Hfocus นพ.วรเชษฐ เตชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 2 มิ.ย. นพ.อมร นนทสุต ได้เสียชีวิตลงจากภาวะเลือดออกทางเดินอาหาร ประกอบกับท่านมีโรคประจำตัวหลายอย่าง ซึ่งที่ผ่านมาท่านดูแลสุขภาพดีมาก แต่ด้วยอายุที่มากขึ้น ทำให้มีโรคประจำตัวและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลประมาณช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับพิธีศพ นพ.อมร จะมีการรดน้ำศพอย่างเรียบง่ายในวันที่ 3 มิ.ย. 2563 ที่ รพ.นครพิงค์ ก่อนจะเคลื่อนย้ายร่างมาบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

นพ.อมร นนทสุต (แฟ้มภาพ)

สำหรับประวัติของ ศ.นพ.อมร นนทสุต ในบล็อก Medical Master of the Month นพ.อมร เกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2471 ที่ตำบลรองเมือง อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร หรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน เป็นบุตรคนสุดท้องของนาวาเอกพระแสงสิทธิการ (แสง นนทสุต) กับนางประชิต นนทสุต (ปายะนันท์) จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก

ปี พ.ศ. 2495 จบปริญญาตรีแพทยศาสตร์บัณฑิตศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ รุ่นที่ 57
ปี พ.ศ. 2504 จบปริญญาโทด้านสาธารณสุขศาสตร์ จาก Harvard  University สหรัฐอเมริกา

เส้นทางรับราชการสาธารณสุข - ส่งเสริมเกลือไอโอดีน ริเริ่ม อสม.

สำหรับเส้นทางวิชาชีพเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2496  รับราชการในกรมอนามัยเป็นนายแพทย์ตรีกองอนามัยโรงเรียน  หนึ่งเดือนต่อมาก็ไปเป็นอนามัยจังหวัดแพร่ (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในปัจจุบัน) ได้สร้างต้นแบบ "โครงการเกลืออนามัย" ควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนในจังหวัดแพร่และเชียงใหม่โดยใช้เกลืออนามัยจนสถิติผู้ป่วยลดลงอย่างชัดเจนและค่อยๆ หมดลงไปในที่สุดในหลายๆ พื้นที่

6 มีนาคม พ.ศ. 2498 สมรสกับ พญ.อนงค์ บุญยังพงศ์ ทั้งสองมีบุตรบุญธรรม 1 คนคือนายประจักรา นนทสุต

พ.ศ. 2504 จบปริญญาโทสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา

1 ตุลาคม พ.ศ. 2506 กลับมารับตำแหน่งอนามัยจังหวัดเชียงใหม่
3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการกองโภชนาการ

พ.ศ. 2511 อาจารย์สมบูรณ์ วัชโรทัยและอาจารย์กำธร สุวรรณกิจ ทำโครงการส่งเสริมบริการอนามัยชนบทอยู่ที่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลกโดยจ้างคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านมาช่วยกันทำเรื่องสุขภาพในชุมชน ทั้งสองมีความคิดจะขยายงานไปยังจุดต่างๆ ของประเทศจึงมาชวนให้ นพ.อมรทำ

โดย นพ.อมร เริ่มโครงการนี้ที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ แต่วิธีการต่างกันคือไม่ใช้การจ้างคนหนุ่มสาวมาทำ นพ.อมร นำเทคนิค social metric ที่ได้จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมาใช้ โดยเข้าไปคุยกับชาวบ้านแล้วสอบถามว่าเวลาเจ็บป่วยมักจะไปปรึกษาใคร เมื่อทำแผนภาพออกมาจะพบว่าเป็นผู้อาวุโสหรือผู้ที่ได้รับการนับถือจากชาวบ้านกระจายไปโดยเฉลี่ยแล้วทุก ๆ 15 หลังคาเรือนจะมีหนึ่งคน โครงการจึงให้ความรู้แก่บุคคลเหล่านี้เพื่อนำไปกระจายต่อในชุมชนเรียกว่าเป็น “ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.)” เมื่อทำไปสักระยะเห็นว่าชาวบ้านมีความสามารถในการรักษาพยาบาลได้ด้วยจึงสอนวิชาการรักษาเบื้องต้นเพิ่มเติมให้และยกฐานะเป็น “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)”  ที่ไม่ใช้เงินจ้างแต่ให้เป็นอาสาสมัครแทนเพราะอยากให้ภูมิใจในสิ่งทำโครงการจะได้ยั่งยืน

ทั้งนี้มีการดำเนินการไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา และ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น และในปี พ.ศ. 2517 ยกระดับดำเนินการระดับจังหวัดคือโครงการลำปาง ที่ จ.ลำปาง ต่อมาประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ร่วมประชุมนานาชาติว่าด้วยการสาธารณสุขมูลฐานที่ นครอัลมา-อตา สหภาพโซเวียต หรือปัจจุบันคือกรุงอัลมาตี ประเทศคาซักสถาน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2521 และลงนามในคำประกาศอัลมา อตา ว่าด้วยการสาธารณสุขมูลฐาน และมีมติคณะรัฐมนตรี 12 เมษายน พ.ศ. 2522 บรรจุ "โครงการการสาธารณสุขมูลฐานแห่งชาติ" ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524) พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐานแห่งชาติ และมีการจัดตั้งหน่วยสาธารณสุขมูลฐาน ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรับรองกิจการดังกล่าว

21 ตุลาคม พ.ศ. 2513 รับตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่กรมอนามัย
1 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นรองอธิบดีส่งเสริมสาธารณสุข (กรมอนามัย)
1 ตุลาคม ค.ศ. 2517 เป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข

พ.ศ. 2520 หลังได้รับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มีส่วนร่วมในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 4 (ค.ศ. 2520-2544) จึงนำเรื่อง ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน บรรจุเข้าไปด้วยรวมถึงงานสาธารณสุขมูลฐานด้วย

ปีต่อมา พ.ศ. 2521 แพทย์ชาวเดนมาร์ก Halfdan T. Mahler ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกในเวลานั้นประกาศนโยบาย “สุขภาพดีถ้วนหน้า (Health for all)” ซึ่งใช้หลักของสาธารณสุขมูลฐานให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตัวเอง  ประเทศไทยก็เริ่มงานสาธารณสุขมูลฐานอย่างจริงจังนับแต่นั้นมา แต่การผลักดันเรื่องสุขภาพดีถ้วนหน้าพบว่ามีอุปสรรคเนื่องจากชาวบ้านไม่สนใจเรื่องสุขภาพเท่าไหร่ จึงเปลี่ยนนโยบายเป็น “คุณภาพชีวิตดีถ้วนหน้า (Quality of life for all)” แทนแล้วแทรกเรื่องสุขภาพลงไปโครงการ

1 ตุลาคม พ.ศ. 2523 เป็นอธิบดีกรมอนามัย นพ.อมร เป็นผู้นำสาธารณสุขมูลฐานเข้ามาใส่ในงานของกองโภชนาการ

1 ตุลาคม พ.ศ. 2526 ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนการสร้างโรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอและสร้างสถานีอนามัยตำบลทุกตำบล  นอกจากนี้ยังผลักดันเป้าหมายความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) เป็นเครื่องชี้วัดสถานภาพและความสำเร็จของการพัฒนาในแผนการส่งเสริมสุขภาพ

พ.ศ. 2529 ได้รับปริญญาสาธารณสุขศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับรางวัล Sasakawa Health Prize ขององค์การอนามัยโลก (WHO) จากผลงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รางวัลนี้

1 มกราคม พ.ศ. 2530 ลาออกจากราชการด้วยเหตุรับราชการนาน

แนวคิดที่ นพ.อมร ยึดถือในการทำงานเสมอคือ “ต้องเชื่อว่าชาวบ้านเขาทำได้ อันนี้สำคัญมาก อย่าดูถูกเขาเป็นอันขาด อย่าไปนึกว่าเราใหญ่กว่าเขา เรามีความรู้เยอะแยะอะไรแบบนี้จะไปไม่รอด ถ้าทำงานกับสังคมอย่าไปถือว่าตัวเองเหนือกว่า ชาวบ้านเขาก็เป็นครูเราได้"

ยอมรับพันธกิจ อสม. ยังไม่บรรลุผลสมบูรณ์

นอกจากบทบาทของ อสม. ที่เป็นกำลังสำคัญของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคแล้ว ในห้วงการระบาดของโรค COVID-19 อสม. ยังมีบทบาทสำคัญด้วย โดยเมื่อ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์รายการคมชัดลึก ของเนชั่นทีวี โดยระบุว่า อสม. มีบทบาทในการป้องกันการระบาด COVID-19 ในระดับชุมชน โดยจนถึงวันที่ให้สัมภาษณ์ อสม. ลงสำรวจและเคาะประตูบ้าน 13 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ รวมทั้งมีบทบาทสอบสวนโรคกลุ่มเสี่ยงของผู้ที่มาจากพื้นที่ระบาดกลับเข้าชุมชนในช่วงต้นของการระบาด เช่น ผู้ที่เดินทางกลับมาจากกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ และผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ฯลฯ

อนึ่งเมื่อปี 2558 นพ.อมร นนทสุต ให้สัมภาษณ์ทางอีเมล์กับเดอะอีสานเรคคอร์ด ถึงพันธกิจของ อสม. ว่า เดิมทีนั้นเขาเองหวังที่จะเห็น "ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการวางแผนและการจัดการด้านสุขภาพ" แต่ นพ.อมรยอมรับว่า “ปัจจุบันพันธกิจดังกล่าวยังไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้สมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์”

ในช่วงท้ายของชีวิต นพ.อมร ทำงานต่อเนื่องในแวดวงสาธารณสุขโดยทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสนับสนุนและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น  ผลงานสำคัญชิ้นสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือการผลักดันการจัดทำแผนที่ยุทธศาสตร์ในงานสาธารณสุขนั่นเอง โดยหลังจากเกษียณอายุราชการ ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านใน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ แต่ก็ยังขึ้นลงกรุงเทพเพื่อเป็นที่ปรึกษา และ มีส่วนสำคัญในการวางยุทธศาสตร์งานสาธารณสุขของประเทศไทย รวมถึงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net